สิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์กับกระบวนการทำให้เชื่อง

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 2464

สิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์กับกระบวนการทำให้เชื่อง

           ในช่วงศตวรรษที่ 19 หรือประมาณหนึ่งหมื่นปีที่ผ่านมา โลกเข้าสู่ยุคการปฏิวัตินีโอลิทิค (Neolithic Revolution) หรือการปฏิวัติยุคหินใหม่ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปฏิบัติการทางภูมิทัศน์ (landscape practices) จากการล่าสัตว์สู่การเลี้ยงปศุสัตว์ จากการอาศัยอยู่ตามธรรมชาติสู่การมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นแหล่ง และจากการหาของป่าไปสู่การทำเกษตรกรรม การปฏิวัติที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลโดยตรงต่อวิธีการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์ สัตว์ และพืช ในลักษณะที่โลกทางธรรมชาติถูกทำให้อยู่ภายใต้ “กระบวนการทำให้เชื่อง (domestication)” ที่มีมนุษย์เป็นผู้เข้ามาจัดการควบคุมชีวิตของพืชและสัตว์ด้วยความรู้ด้านการทำเกษตรกรรม ที่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาอย่างซับซ้อนผ่านการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการขยายตัวของการผลิตในระบบทุนนิยมที่ทำให้พืชตกอยู่ใต้การควบคุมและขูดรีดในระบบเกษตรแปลงใหญ่ (plantation) (Swanson et al., 2018; Tsing, 2018) ขณะที่สัตว์ถูกจับมากักขัง ทำให้เชื่องและแปลงสภาพกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อจุดประสงค์ทางเศรษฐกิจบางประการ (Anneberg and Vaarst, 2018)

           แม้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางองค์ความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งนำไปสู่การเติบโตของจำนวนประชากรมนุษย์ การแบ่งแยกแรงงาน ทรัพย์สินส่วนตัว อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานหนึ่งของการก่อตั้งรัฐชาติ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกลับมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมนุษย์มีแนวโน้มที่จะตั้งตนเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีอำนาจในการควบคุมสิ่งมีชีวิตอื่น (Haraway, 2015;Haraway et al., 2016; Latour et al., 2018) นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา โลกเผชิญกับวิกฤตการณ์สำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศแปรปรวน วิกฤติโรคระบาด รวมไปถึงสัญญาณการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 ของโลกกำลังเริ่มต้นขึ้นจากการขึ้นทะเบียนสัตว์สูญพันธุ์โดยการจดบันทึกขององค์กรสหประชาชาติ ที่รายงานว่าในปัจจุบันมีสัตว์สูญพันธุ์ไปแล้วกว่าสองแสนสายพันธุ์จากเกือบสองล้านสายพันธุ์ทั้วโลก (UN Environment programme, 2019) แวดวงวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จึงเสนอให้กลับมาทบทวนถึงการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นใหม่อีกครั้ง และพิจารณาการจัดหมวดหมู่สปีชีส์ที่จัดแบ่งประเภทของสิ่งมีชีวิตผ่านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้พืชและสัตว์ต่าง ๆ อยู่พื้นที่ทางธรรมชาติที่แน่นอนตายตัว อีกทั้งยังทำให้ไม่เห็นความยืดหยุ่นของความสัมพันธ์ในโลกแห่งความเป็นจริงที่มนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นต่างร่วมกันสร้างโลกของสิ่งมีชีวิตที่สลับซับซ้อน (Benson et. al, 2017) ดังนั้นการจัดวางสิ่งมีชีวิตที่แยกมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างตายตัว จึงทำให้เรื่องเล่าว่าด้วยความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ตั้งอยู่บนการควบคุมและจัดการธรรมชาติผ่านการผลิตซ้ำกระบวนการทำให้เชื่อง

           Anna Tsing นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันผู้ให้ความสนใจกับการศึกษาสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์การเมืองและนิเวศวิทยา กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่ดำเนินไปภายใต้กระบวนการทำให้เชื่องตามเรื่องเล่าในกระแสหลัก เป็นจุดตั้งต้นซึ่งนำไปสู่การสร้างความแปลกแยก (alienation) และเป็นไปเพื่อการผูกขาดองค์ความรู้และผลประโยชน์ต่อระบบการผลิตแบบทุนนิยมเท่านั้น ภายหลังจากการที่เธอเข้าไปติดตามกลุ่มอาสาสมัครซึ่งร่วมกันฟื้นฟูชีวิตเห็ดมัสซึตาเกะในป่าที่ถูกทิ้งร้างบริเวณรอบเมืองโตเกียวเป็นประจำทุกสัปดาห์ เธอจึงนำเสนอมุมมองของกระบวนการทำให้เชื่องในแง่มุมที่แตกต่างไว้ว่า หากจะเริ่มต้นสร้างความเปลี่ยนแปลง มนุษย์ต้องทบทวนถึงตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว และจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ มากกว่าที่จะมุ่งตั้งตนเป็นศูนย์กลางเพื่อควบคุมและจัดการสิ่งต่าง ๆ เธอจึงเสนอสิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการทำให้เชื่องในรูปแบบของการฟื้นคืนชีวิตให้ธรรมชาติ” (domestication-as-rewilding) ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มนุษย์ไม่เพียงแต่ชื่นชมธรรมชาติในระยะไกล แต่เข้ามาร่วมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างกระตือรือร้นผ่านการใส่ใจดูแลที่มุ่งไปสู่การลงมือกระทำมากกว่าแค่เพียงการห่วงใย (Tsing, 2018)

           นอกจากการศึกษากระบวนการทำให้เชื่องที่ปรากฏในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพืชแล้ว ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ในเขตแห้งแล้งอย่างพื้นที่แถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พืชทางเศรษฐกิจในแถบยุโรปและเอเชียไม่สามารถเจริญเติบโตได้ งานศึกษาเรื่อง Duck Into House โดย Marianne Lien เผยถึงวิธีการเลี้ยงสัตว์ประจำถิ่นอย่างเป็ดไอเดอร์ (eider duck) ในหมู่เกาะเวก้า ประเทศนอว์เวย์ ที่ปรากฏในบันทึกภาคสนามของ Bente Sundsvold นักมานุษยวิทยาชาวนอร์เวย์ เขาระบุว่าเป็ดเหล่านี้จะขึ้นมาวางไข่ปีละหนึ่งครั้ง ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่โดยทั่วไปแล้วเป็ดเหล่านี้มักจะเลือกวางไข่ในหมู่เกาะที่เงียบสงบและไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ผู้ช่วยของ Sundsvold และคณะจึงทดลองฟื้นฟูรังเป็ดไอเดอร์ โดยพวกเขาทดลองสร้างรังจากกล่องไม้จำนวนทั้งหมด 150 รังซึ่งมากกว่าจำนวนเป็ดถึง 3 เท่าเพื่อให้เป็ดได้เลือกรังที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด โดยลักษณะรังจากกล่องไม้จะมีหลังคาด้านบนและมีสาหร่ายแห้งอยู่ภายในเพื่อป้องกันสภาพอากาศที่เลวร้ายและชะลอการโจมตีจากผู้ล่าอย่างนากและนกอินทรีย์ การมีอยู่และการปรากฎตัวของมนุษย์จึงเข้ามาช่วยให้เป็ดปลอดภัยจากผู้ล่าตามธรรมชาติและสามารถฟักไข่ได้อย่างปลอดภัยที่สุด (Sundsvold, 2010; Lien, 2018)

ภาพ รังจากกล่องไม้สำหรับฟักไข่ สร้างโดยผู้ช่วยของ Sundsvold และคณะ (Sundsvold, 2010; Lien, 2018)
 

           ในขณะเดียวกันเมื่อถึงช่วงเวลาฟักไข่การปรากฎตัวของเป็ดทำให้กิจกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป ทั้งผู้ใหญ่และเด็กในพื้นที่หากออกมานอกบ้านจะถูกจำกัดให้เดินเฉพาะบนทางเท้า ได้รับการตักเตือนให้เคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดควัน เช่น การจุดเตาผิง อีกทั้งได้รับการส่งเสริมให้ตั้งใจฟังกันและกันมากขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ต้องลดใช้เสียง และหากเดินเจอรังเป็ดต้องค่อย ๆ ถอยห่างออกมาอย่างเงียบที่สุด ในบางกรณีคนที่เลี้ยงเป็ดก็เลือกที่จะไม่ซักเสื้อผ้าเพื่อให้เป็ดรู้สึกคุ้นชินกับตนเองง่ายขึ้น วิธีต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้มนุษย์ได้รับความไว้วางใจจากเป็ดไอเดอร์เป็นอย่างมาก เมื่อถึงฤดูการวางไข่ในปีถัดไปแม่เป็ดต่างกลับขึ้นมาฟักไข่ในรังจากกล่องไม้อย่างล้นหลามอีกครั้ง แม้การฟักไข่ในกล่องไม้จะไม่เงียบสงบและเป็นส่วนตัวเท่ากับการฟักไข่ในเกาะที่ห่างไกล แต่เป็ดเหล่านี้กลับรู้สึกปลอดภัยจากผู้ล่ามากกว่าเมื่ออยู่ใกล้กับมนุษย์ ในขณะเดียวกันการดูแลเป็ดเหล่านี้ก็ช่วยให้มนุษย์มีขนเป็ดและไข่เป็ดไปค้าขายเพื่อการดำรงชีพเป็นประจำทุกปี (Sundsvold, 2010; Lien, 2018) จะเห็นได้ว่า การศึกษาเรื่องราวการเลี้ยงเป็ด ไอเดอร์ในพื้นที่แถบสแกนดิเนเวียเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างเป็ด สัตว์นักล่า และมนุษย์ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ การปรับตัว และการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันเพื่อสร้างสรรค์วิธีการดูแลให้เหมาะสมกับเงื่อนไขและบริบทเฉพาะในพื้นที่นั้น ๆ

           นอกจากนี้ Inger Anneberg และ Mette Vaarst นักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาการเลี้ยงสุกรในฟาร์มอุตสาหกรรมแบบปิด ของประเทศเดนมาร์กซึ่งเป็นประเทศมีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ในการส่งออกเนื้อหมูเบคอนไปทั่วโลก พวกเขาเปิดเผยให้เห็นแง่มุมที่น่าสนใจของกระบวนการทำให้เชื่องที่นอกจากจะนำแนวคิดสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) มาใช้ในแง่ของข้อปฏิบัติทางกฎหมาย (legal guideline) ในการควบคุมสัตว์แล้ว ผู้เลี้ยงหมูยังนำมาใช้ในฐานะปฏิบัติการของการดูแลในชีวิตประจำวันที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เลี้ยงหมูกับหมูดำเนินไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ โดย Anneberg เปิดเผยว่าการศึกษาการเลี้ยงสุกรในอุตสาหกรรมของประเทศเดนมาร์กเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมามีเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ (cc398-mrsa) ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในฝูงสุกร ทำให้สุกรและคนที่ทำงานภายในฟาร์มติดเชื้ออย่างรุนแรงและรวดเร็ว รัฐบาลจึงมีข้อบังคับด้านความปลอดภัยทางอาหารและการปนเปื้อนระหว่างฟาร์มสุกร ให้สุกรทุกตัวนอกจากจะเลี้ยงในพื้นที่ปิด ควบคุมอุณหภูมิภายในให้เหมาะสมแล้ว ยังต้องมีการจำกัดการเข้า-ออกของมนุษย์อย่างเข้มงวดจึงทำให้ฟาร์มสุกรเป็นสถานที่ที่เข้าถึงยากและมีความเสี่ยงต่อการติดโรคระบาดในมุมมองของบุคคลทั่วไป (Anneberg and Vaarst, 2018)

           ในการศึกษาครั้งนี้ Anneberg ได้รับอนุญาตให้เข้าติดตามการดูแลสุกรของ Anton ผู้จัดการฟาร์มแห่งหนึ่ง เขากำลังดูแลสุกรที่ตั้งครรภ์และใกล้คลอดซึ่งถูกแบ่งกลุ่มไว้กลุ่มละ 30-35 ตัว เมื่อแม่สุกรคลอด Anneberg พบว่าการจัดกลุ่มการเลี้ยงสุกรแรกเกิดมีความซับซ้อน ต้องอาศัยการสังเกตุและเรียนรู้นิสัย ความต้องการ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่ลูกสุกรต้องการอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากในคอกสุกรแรกเกิดมักจะมีสุกรที่พยายามตั้งตนเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือกว่าสุกรตัวอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาการรับประทานอาหาร โดยลูกสุกรที่ตัวเล็กกว่าจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอเพราะถูกลูกสุกรที่ตัวใหญ่กว่าเบียดและแย่งรับประทานไปจนหมด หลายครั้งผู้เลี้ยงหมูจึงแอบทำผิดกฎของฟาร์มโดยจับลูกสุกกรที่ตัวเล็กกว่าแยกออกมาเพื่อให้อาหารซ้ำอีกครั้งและหากเขาสังเกตุว่าคอกแน่นจนเกินไปจะแยกสุกรออกมาเลี้ยงในคอกใหม่ เนื่องจาก Anton พบว่าคอกสุกรที่ไม่มีการแบ่งแยกพื้นที่พักผ่อน พื้นที่ขับถ่าย และพื้นที่รับประทานอาหารจะทำให้คอกสกปรกส่งผลให้สุกรในคอกมีอารมณ์หงุดหงิดและทะเลาะกับสุกรตัวอื่น ๆ ในคอก และหากสุกรถูกผู้เลี้ยงดูทุบตีสุกรเหล่านี้จะแสดงอารมณ์ก้าวร้าวเช่นเดียวกับมนุษย์ผู้กระทำมันอย่างเห็นได้ชัด (Anneberg and Vaarst, 2018: 97-98) จะเห็นได้ว่าประสบการณ์การดูแลสุกร ซึ่งเป็นสัตว์ในสภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกของประเทศเดนมาร์ก เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เข้ามาท้าทายและรื้อถอนเรื่องเล่าของกระบวนการทำให้เชื่องในกระแสหลัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการใส่ใจอารมณ์ ความรู้สึกและความต้องการของสัตว์เป็นแง่มุมที่จำเป็นและทำให้การใส่ใจดูแลสัตว์ในกระบวนการผลิตแบบทุนนิยมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

           กล่าวโดยสรุป กระบวนการทำให้เชื่อง เป็นกระบวนการที่มนุษย์ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นผลพวงจากความก้าวหน้าของการปฏิวัติเกษตรกรรมในการควบคุม ขูดรีดและครอบงำพืชและสัตว์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในลักษณะตายตัวอย่างชัดเจน ทั้งที่จริงแล้วการสร้างเขตแดนระหว่างมนุษย์ พืช และสัตว์ ไม่ได้เกิดขึ้นและเป็นไปโดยธรรมชาติ การศึกษากระบวนการทำให้เชื่องผ่านรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายจากกรณีศึกษาต่าง ๆ ข้างต้น นอกจากเป็นไปเพื่อเสนอแง่มุมเชิงวิพากษ์ต่อกระบวนการทำให้เชื่องที่มีรากฐานมากจากระบบการผลิตแบบทุนนิยมตามกระแสหลักแล้ว อีกด้านหนึ่งยังชักชวนให้มนุษย์หันมาทบทวนตำแหน่งแห่งที่ของตนเอง เพื่อรื้อถอนฐานคิดที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง หันมาทำความเข้าใจความสัมพันธ์และความสำคัญของสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ที่สรรพชีวิตมีส่วนร่วมกันสร้างสิ่งต่าง ๆ ร่วมกันกับมนุษย์ เพื่อนำเสนอให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติรอบตัว


บรรณานุกรม

Anneberg, I., & Vaarst, M. Farm Animals in a Welfare State Commercial Pigs in Denmark. Domestication Gone Wild: Politics and Practices of Multispecies Relations (pp. 95-112). Durham and London: Duke University Press.

Benson, E. S., Braun, V., Langford, J. M., Münster, D., Münster, U., & Schmitt, S. 2017. Introduction. In B. Black, H. Robertson, S. Rothbart, H. Windley (Eds.), Troubling Species Care and Belonging in a Relational World (pp. 5-10). Rachel Carson Center.

Haraway, D. 2015. Anthropocene, Capitalocene, Plantationocene, Chthulucene: Making Kin. Environmental Humanities, 6(1), 159-65.

Haraway, D., Ishikawa, N., Gilbert, S.F., Olwig, K., Tsing, A.L., & Bubandt, N. 2016. Anthropologists are talking – about the Anthropocene. Ethnos, 81(3), 535-564.

Latour, B., Stengers, I., Tsing, A., & Bubandt N. 2018. Anthropologists Are Talking About 107Capitalism, Ecology, and Apocalypse. Ethnos, 83(3), 587-606

Lien, E. M., 2018. Duck Into Houses Domestication and its Margins. Domestication Gone Wild: Politics and Practices of Multispecies Relations (pp. 118-138). Durham and London: Duke University Press.

Sundsvold, B., 2010. “Stedets herligheter—Amenities of Place: Eider Down Harvesting through Changing Times.” Acta Borealia 27, no. 1: 91–115.

Swanson, H. A., Lien, M. E., & Ween, G. B. 2018. Introduction : Naming the Beast – Exploring the Otherwise. In H. A. Swanson, M. E. Lien & G. B. Ween, (Eds.), Domestication Gone Wild: Politics and Practices of Multispecies Relations (pp. 1-30). Durham and London: Duke University Press.

Tsing, A. 2018. Nine Provocations for the Study of Domestication. In H. A. Swanson, M. E. Lien & G. B. Ween, (Eds.), Domestication Gone Wild: Politics and Practices of Multispecies Relations (pp. 231-251). Durham and London: Duke University Press.

UN Environment programme, 2019. Warning: a sixth mass species extinction is on the cards Retrieved from  https://www.unep.org/news-and-stories/story/warning-sixth-mass-species-extinction-cards


ผู้เขียน
ณัฐนรี ชลเสถียร
ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ สิ่งมีชีวิตนอกโลก ต่างสายพันธุ์ กระบวนการทำให้เชื่อง domestication ณัฐนรี ชลเสถียร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา