สำนึกจากอดีต: ตุลาการลำเอียง พลั้งเพลี่ยงลงนรก!
1. ยุติธรรม: ความถูกต้องเหมาะสมเพื่อค้ำจุนสังคม
“วิกฤตตุลาการ” (crisis of justice) เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม เมื่อการรับฟ้อง หรือคำตัดสินของศาล ค้านกับความรู้สึกของสังคมที่เห็นว่าการรับฟ้องหรือคำตัดสินนั้นไม่ชอบธรรมตามประจักษ์พยานและหลักฐาน แต่กระนั้น เนื่องจากผู้ตัดสินความถูกผิดของสังคมต้องมีฐานะอยู่สูงสุดในระบบอำนาจดูแลความสงบของสังคม ดังนั้น คำวิพากษ์วิจารณ์จึงต้องไม่ก้าวล่วงไปดูหมิ่นคำตัดสิน เพราะตุลาการเองก็ย่อมได้รับการคุ้มครองเพื่อให้เป็นองค์กรแห่งความยุติธรรมซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของสังคม
ด้วยเหตุว่า ผู้ที่จะมาเป็นผู้พิพากษานั้นก็ย่อมเป็นปุถุชนทั่วไป มีกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง อยู่ในกมลสันดานมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป แต่เมื่อได้รับตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาแล้วคนผู้นั้นต้องกระทำตนให้ไร้ซึ่งความลำเอียง ตั้งตนให้มั่นคงในหลักยุติธรรมแต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาเช่นเดียวกัน ที่มีคนที่ยังคงความลำเอียงไว้ในกมลสันดาน แก้ไม่ได้ ลดไม่ได้ ละไม่ได้ เลิกไม่ได้ หลุดรอดผ่านกระบวนการคัดเลือกเข้ามาเป็นผู้พิพากษาได้ และบ่มเพาะเชื้อความลำเอียงนั้นจนกลายเป็นบ่อเกิดของ “วิกฤตตุลาการ” ดังนั้น ความลำเอียงจึงเปรียบได้เป็น “มะเร็ง” ในระบบยุติธรรมของสังคม และสมควรอย่างยิ่งที่ต้องกำจัด “เซลล์มะเร็ง” เหล่านี้ ให้ออกไปจากอวัยวะ นั่นคือให้ออกไปจากระบบยุติธรรมของสังคม มิเช่นนั้นสังคมจะป่วยตายด้วย “มะเร็งยุติธรรม”
สถานการณ์การคัดเลือกผู้พิพากษาหรือคณะตุลาการใด ๆ ในปัจจุบันเป็นเช่นไรผมไม่ทราบ แต่ผมทราบว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เน้นหนักในคุณสมบัติใดของผู้ที่จะได้มาเป็นผู้พิพากษา กล่าวคือ ในกระบวนการคัดเลือกตุลาการของอยุธยานั้น เน้นหนักที่เรื่อง “อคติ 4” หรือ “การขจัดความลำเอียง” อันเกิดจาก ชอบพอ เกลียดชัง ขลาดกลัว และ โง่เขลา ให้หมดไปจากกมลสันดานก่อนเป็นเบื้องแรก ถัดมาจึงต้องเป็นคน “มีสติปัญญา” คือเป็นคนมันสมองดี คิดอย่างมีเหตุผล ไม่คิดเองเออเอง เท่าทันคำฟ้องคำให้การ แยกแยะข้อเท็จจริงอย่างเฉียบขาด สุดท้าย “มีความเมตตา” ตามสมควรแก่เหตุ รู้ระดับการลงโทษให้เหมาะสมกับความผิดและเจตนาตามตัวบทกฎหมายที่ว่าไว้
ดังนั้น จึงไม่แปลกว่าทำไมผู้มีความลำเอียงแล้วบังเอิญหลุดรอดได้มาเป็นผู้พิพากษาจึงถูกระบบตุลาการของอยุธยา “วางโทษทางสังคม” ไว้หนักหนาสาหัสว่า หากตัดสินชนะเป็นแพ้หรือแพ้เป็นชนะแล้ว เมื่อยังไม่ตายลาภยศจะเสื่อมถอยเหมือนเดือนดับ เมื่อตายแล้วย่อมตกนรก นั่นก็เพราะการตัดสินคดีด้วยความลำเอียง ถือเป็น “กองบาปใหญ่” เพราะเป็นบาปหนักกว่าฆ่าสัตว์หรือคนดีนับร้อยพัน แม้ทำบุญหนักสักเท่าใดก็มิอาจลดหย่อนกองบาปใหญ่นี้ได้เลย โบราณว่าไว้เยี่ยงนี้ อันสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยตั้งแต่โบราณมีโลกทัศน์ต่อผู้ดำรงความยุติธรรมว่าเป็น “เสาหลัก” ที่ค้ำจุนให้สังคมอันดีงามดำรงอยู่ได้
คำว่า “ยุติธรรม” (ยุด-ติ-ทำ) หากเป็นคำนามย่อมหมายถึง ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม ความชอบด้วยเหตุผล เช่น ศาลย่อมทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม หรือ หากเป็นคำวิเศษณ์ก็ย่อมหมายถึง เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ชอบด้วยเหตุผล เช่น ราคายุติธรรม กรรมการตัดสินอย่างยุติธรรม (ราชบัณฑิตสภา 2566: ยุติธรรม) แต่หากพิจารณารากคำแล้วจะพบว่า ยุติธรรม เป็นคำสมาธิลูกครึ่งบาลี-สันสกฤต คือ
ยุตฺติ (ป.) + ธรฺม (ส.) แปลตามศัพท์ว่า “ความถูกต้องเหมาะสม”
ยุตฺติ (ป. yutti), ยุกฺติ (ส. yukti) แปลว่า ความเหมาะสม (suitableness) ความพอดี (fitness) ความพอเหมาะพอดี (propriety) ความเที่ยงตรง (correctness) (Monier-Williams 2003: 853) เมื่อถูกนำมาใช้ในภาษาไทยว่า “ยุติ” ซึ่งเราใช้เป็นคำกริยา จึงมีความหมายว่า “สิ้นสุดแล้วอย่างเหมาะสม” นั่นคือ หยุด หรือ ล้มเลิก กระทำสิ่งนั้นเพราะมีเหตุผลที่เหมาะสมและชอบธรรม แต่ในการใช้จริงในภาษาไทยนั้น เรามักใช้เป็น “คำยกระดับ” ของการใช้คำว่า หยุด ล้มเลิก จบสิ้น สิ้นสุด ให้ฟังดูดีขึ้น ทั้ง ๆ ที่การหยุดกระทำสิ่งนั้น เป็นการหยุดแบบไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรม คือ ควรหยุดนานแล้ว แต่ไม่ยอมหยุด แล้วอยู่ ๆ อยากจะหยุดก็หยุดเอง หรือ ไม่ควรต้องหยุด แต่อยู่ ๆ ถูกสั่งให้หยุดอย่างมีพิรุธ ที่มักเห็นกันบ่อยๆ คือวลีที่ว่า ยุติบทบาททางการเมือง
ธมฺม (ป. dhamma), ธรฺม (ส. dharma; เทียบ: ละติน: firmus, อังกฤษ: firm) คำนี้มีหลายความหมายตามบริบท เช่น (1) ความมั่นคงหนักแน่น มักใช้ในความหมายว่า เป็นหลักการ หรือกฎระเบียบข้อบังคับ(อันถูกต้องดีงาม); (2) แนวทางปฏิบัติ หรือหน้าที่; (3) ความถูกต้องเที่ยงตรง ความเที่ยงธรรม ความชอบธรรม; (4) คุณงามความดี คุณธรรม ความดีงาม; หรือ (5) ภาวะอันดำรงอยู่ (= ธรรมชาติ) คุณลักษณะพิเศษ (Monier-Williams 2003: 510) ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าความหมายกลางของ “ธรรม” นั่นคือ “ภาวะอันมั่นคงด้วยความถูกต้อง” เพราะภาวะนี้เกิดขึ้นจากความถูกต้องและดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงก็ด้วยความถูกต้อง ถ้าไร้ซึ่งความถูกต้องเป็นแก่นสารของภาวะแล้ว ภาวะแห่งธรรมจะไม่เกิดแต่จะกลายเป็นภาวะที่เรียกว่า “อธรรม” คือ “ภาวะอันอ่อนยวบจากความถูกต้อง”
“ยุติธรรม” จึงมีความหมายตามรากคำว่า “ภาวะที่มั่นคงได้ด้วยความถูกต้องเหมาะสม” นั่นคือเป็นภาวะที่ตั้งอยู่ในความถูกต้องเที่ยงตรงดุจตราชู ผิดว่าผิด ถูกว่าถูก ไร้ซึ่งความลำเอียง ดังนั้น ความยุติธรรมจึงเป็นหลักสำคัญที่สุดของสังคม ยังให้สังคมนั้นดำรงอยู่ได้ด้วยความถูกต้อง หากสังคมใดไร้ซึ่งความยุติธรรมแล้วสังคมนั้นก็ย่อมเข้าสู่ความเสื่อมทรามทางจริยธรรม อนึ่ง ความยุติธรรมจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วย “ปัญญา” ของผู้มีอำนาจชี้ถูกผิดของสังคมนั้น ซึ่งก็คือผู้พิพากษา หรืออีกนัยคือตุลาการ ดังนั้น “ผู้มีปัญญา” จึงควรเป็นตุลาการ ส่วน “ผู้ด้อยปัญญา” ห้ามเป็นตุลาการ! ที่กล่าวเช่นนี้เพราะอะไร?
นั่นก็เพราะ หากตุลาการใช้ “ปัญญา” ตัดสินคดี ชี้ถูกเป็นถูก ชี้ผิดเป็นผิด ไม่ลำเอียงด้วยอำนาจจากอคติในใจตนแล้ว สังคมก็ย่อมวัฒนาจำเริญงาม แต่หากตุลาการใช้ “อคติ” ตัดสินคดี ชี้ถูกเป็นผิด ชี้ผิดเป็นถูก ค้านพยานและหลักฐานแล้ว สังคมนั่นก็ย่อมเสื่อมทรามลงด้วยคนถ่อยคนชั่วขึ้นมามีอำนาจบงการตุลาการได้ บ้านเมืองก็จะไร้ขื่อแปง ไม่มีเสาหลักแห่งความยุติธรรมค้ำจุนไว้ วันหนึ่งบ้านเมืองก็ย่อมจะยุบพังเพราะเสาผุผังเสียแล้ว และนี่คือหลักการทั่วไปเกี่ยวกับความมั่นคงของกระบวนการยุติธรรมที่ค้ำจุนความมั่นคงทางสังคมและจริยธรรม
เรื่องการใช้ “ปัญญา” เป็นหลักในการตัดสินคดีนี้ ผมไม่ได้อ้างขึ้นมาลอย ๆ แต่เรื่องนี้มีสั่งมีสอนไว้ในคัมภีร์กฎหมายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และสืบเนื่องปรากฏอยู่ใน “กฎหมายตราสามดวง” อันได้แก่ “หลักอินทภาษ” (= หลักคำองค์อินทร์) และ “พระธรรมศาสตร์” (= หลักรู้เที่ยงธรรม) ดังนั้น การร่ำเรียนเพื่อเป็นตุลาการในสมัยโบราณ ซึ่งมีอำนาจชี้ถูกชี้ผิดให้แก่ชีวิตคนคนหนึ่ง จึงไม่ใช่จะได้มาเพียงเพราะโชคช่วย เกิดมาท่องเก่งจำเก่ง จำตัวบทกฎหมายได้ขึ้นใจ แต่หลักสำคัญอันเป็น “หลักไชย” แห่งความยุติธรรมที่ตุลาการพึงต้องมีและสำนึกไว้เสมอก็คือ การเอาชนะใจตนเอง ให้ไร้ซึ่ง “อคติ 4” ให้กลายเป็น “ผู้มีปัญญา” (intellectuals) ในการตัดสินคดี ไม่ใช่เอาแต่ท่องจำอย่างไรเมตตา หรือหลงละเลิงไปกับลาภยศสรรเสริญที่ได้จากตำแหน่งตุลาการ จนหลงลืมขจัดอคติในใจตนกระทั่งกลายเป็น “ผู้เสมือนมีปัญญา” (pseudo-intellectuals)1 ที่เอาแต่ตัดสินคดีด้วยความลำเอียง เอาใจผู้มีอำนาจ รังจะสร้างแต่กองบาปกองกรรมให้แก่ตน สะสมไว้ดุจเป็นพาสปอร์ตผ่านสู่ประตูนรก ดังนั้น เราควรมาทำความรู้จักว่า “หลักอินทภาษ” คืออะไร? อคติ 4 ที่ว่านี้คืออะไร? แล้วเกี่ยวอะไรกับการที่เหล่าตุลาการผู้โฉดเขลาต้องตกนรก?
2. หลักอินทภาษ: หลักธรรมไร้กาลเวลาของผู้พิพากษาตุลาการ
โครงสร้างเนื้อหาของ “หลักอินทภาษ” นั้น ประกอบด้วยเนื้อเรื่อง 4 ส่วน คือ (1) บทนำ ซึ่งเล่าเรื่องภูมิหลังของคำสั่งสอน (2) ว่าด้วยเรื่องอคติ 4 และผลกรรมของอคติ (3) คุณลักษณะของการตัดสินคดีและบทอุปมา และ (4) บทส่งท้าย คือการสรุปและบอกที่มาของชื่อเอกสาร
คำว่า “อินทภาษ” เป็นคำสมาสลูกครึ่งบาลี-สันสกฤต คือ อินฺท (ป.; ส. อินฺทฺร) + ภาษ (ส.; ป. ภาส) แปลตามศัพท์ว่า “คำประกาศของพระอินทร์” ดังปรากฏความในช่วงท้ายเรื่องว่า
“. . . อันเรากล่าวในปฐม กับทั้งบริยายโวหารอันพรรณนานี้ ได้ชื่อว่า เป็นหลักอันประเสริฐสำหรับผู้พิพากษาตุลาการ แลนามของเราชื่อว่า อินท์ กับทั้งถ้อยคำอันเรากล่าวนี้ ประกอบกันเข้าชื่อว่า หลักอินทภาษ จงถาวรวัฒนา ยืดยืนไปตราบเท้ากัลปาวสาน . . .”
(ราชบัณฑิตยสถาน 2550: 207)
ภูมิหลังตามเรื่องราวนั้น เป็นเรื่องของเทวบุตรตนหนึ่งได้จุติลงมาเป็นตุลาการ พระอินทร์ ในฐานะผู้ดำรงความยุติธรรมของสวรรค์จึงลงมาสั่งสอนให้โอวาสแก่ตุลาการผู้นั้น โดยมีเหล่าทวยเทพเข้าร่วมรับฟังด้วย เนื้อหาที่เป็นการสั่งสอนเรื่องแรกคือ “อคติ 4” ซึ่งให้นิยามด้วยคำบาลีว่า ฉันทะ โทสะ ภยะ และ โมหะ
เรื่องอคติ 4 นี้ เป็นคำในหลักปรัชญาพุทธศาสนา ทั้งนี้ “พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม” อธิบายความหมายของอคติ 4 ไว้ว่า อคติ คือ ฐานะอันไม่พึงถึง ทางความประพฤติที่ผิด ความไม่เที่ยงธรรม ความลำเอียง ประกอบด้วย (1) ฉันทาคติ คือ ลำเอียงเพราะชอบ (2) โทสาคติ คือ ลำเอียงเพราะชัง (3) โมหาคติ คือ ลำเอียงเพราะหลง, พลาดผิดเพราะเขลา และ (4) ภยาคติ คือ ลำเอียงเพราะกลัว (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) 2559: 149) แต่กระนั้น “หลักอินทภาษ” ได้นำมาใช้กับบริบททางนิติศาสตร์ จึงลำดับใหม่และตีความอธิบายว่า (1) ฉันทาคติ คือ ลำเอียงเพราะความชอบใจในสินบน นั่นคือ ชอบพอคนผิด เพราะตนชอบสินบน (2) โทสาคติ คือ ลำเอียงเพราะความแค้นใจแต่เก่าก่อน นั่นคือ เกลียดชังคนถูก เพราะตนเป็นคนใจดำมีจิตอาฆาตพยาบาท (3) ภยาคติ คือ ลำเอียงเพราะความหวั่นเกรงต่อผู้มีกำลังอำนาจเหนือกว่าตน นั่นคือ เกรงกลัวคนผิด เพราะตนเป็นคนขี้ขลาด และ (4) โมหาคติ คือ ลำเอียงเพราะความหลงผิดในความคิดตน นั่นคือ โง่เขลาเบาปัญญา เพราะตนเป็นคนโง่เง่า แยกแยะถูกผิดไม่เป็น ผลกรรมจากความลำเอียง ถือเป็น “กองบาปหนัก” เมื่อกระทำกรรมแล้วต้องตกนรกอบายภูมิแต่เพียงอย่างเดียวลดหย่อนไม่ได้
การสั่งสอนส่วนที่ 2 คือ การพรรณนาหลักการการพิจารณาคดีความ ตั้งแต่แนวทางการหาข้อเท็จจริงจากการเปรียบเทียบคำกล่าวหาของโจทก์ กับคำให้การของจำเลยว่าอะไรเป็นข้อเท็จ อะไรเป็นข้อจริง อะไรเป็นพิรุธ หากความจริงยังไม่ชัด ให้ใช้พยานโจทก์จำเลย และหากยังตัดสินไม่ได้ ให้ใช้วิธีสุดท้ายคือ “ขันพิสูจน์” มีดำน้ำลุยเพลิง เป็นอาทิ นอกจากนี้ ยังเปรียบเทียบองค์ประกอบของสำนวนคดี เป็นดุจส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ และยังกล่าวถึงคุณลักษณะของการตัดสินคดีด้วยการอุปมาว่า
(1) ผู้พิพากษาพึงไต่สวนและสืบสวนตัดสินคดีให้ถึงที่สุดแห่งความสามารถของตน ไม่ตัดสินแบบขอไปที ต้องมองหาข้อพิรุธ และไม่ปล่อยผ่านข้อพิรุธนั้น เมื่อเห็นพิรุธ ต้องสืบสวนจนกระทั่งได้คนผิดมาลงโทษ ดุจพรานล่าเนื้อ หากยิงเนื้อโดนจุดตาย ก็ได้เนื้อตรงนั้น แต่หากยิงโดนเนื้อเพียงบาดเจ็บแล้วหนีไปได้ ให้ตามสะกดรอยเลือดรอยหนีไป ดุจเห็นพิรุธแล้วต้องซักข้อพิรุธ ต่อเมื่อพรานนั้นตามไปเจอเนื้อตรงที่ซ่อนตัวก็ยิงเนื้อนั้นตาย ได้เนื้อตรงที่ซ่อนนั้นดุจผู้พิพากษาวินิจฉัยสำนวนคดีเห็นข้อเท็จจริงแล้ว ก็ชี้คนผิดได้
(2) ผู้พิพากษาพึงใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นข้อเท็จจริง และชี้ความผิดอย่างชัดเจนและเด็ดขาดในการลงโทษ ดุจพญาเหยี่ยวบินอยู่บนท้องฟ้า เมื่อแลเห็นปลาลอยตัวขึ้นมา ดุจผู้พิพากษาเห็นความผิดปรากฏชัดแล้วว่าเป็นของผู้ใด พญาเหยี่ยวนั้นก็โฉบจับปลาตัวนั้นไปกินเป็นอาหารอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ดุจผู้พิพากษาตัดสินคดีชี้คนผิดอย่างถูกต้องและแม่นยำ
(3) ผู้พิพากษาพึงมีความองอาจและกล้าหาญในการพิพากษาและลงโทษผู้กระทำผิด ดุจพญาราชสีห์ผู้ทรงศักดิ์ ออกไปจับเหยื่อได้กินเป็นอาหารทุกครา นั่นคือ ให้ผู้พิพากษาระลึกถึงเกียรติแห่งตน ดุจเกียรติอันพญาราชสีห์พึงมี เมื่อผู้พิพากษาต้องตัดสิน ก็ให้ชี้ถูกเป็นถูก ชี้ผิดเป็นผิด ลงโทษเหมาะควรแก่ความผิด ดุจพญาราชสีห์ออกจับเหยื่อได้กินเป็นอาหารไม่มีพลาดพลั้ง
3. อคติ 4: บ่อเกิดความลำเอียง
หากแปลความหมายตามศัพท์แล้ว “อคติ”2 คือ “อาการที่ไม่เป็นไปตามแนวทาง” ซึ่งตรงกับความหมายในภาษาไทยว่า “ความลำเอียง” เพราะคำว่า “ลำ” คือ อาการของสิ่งที่มีลักษณะเป็นแนวยาว หรือ แนวตรง โดยนัยก็คือ เที่ยงตรง หรือ เที่ยงธรรม เหตุนี้ “ลำเอียง” จึงหมายถึง แนวนั้นไม่ตรง แต่เอนเอียงโน้มไปข้างใดข้างหนึ่ง ดุจตุลาการตัดสินคดีด้วยใจอคติ โน้มเอียงไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เกิดเป็น “อธรรม”
ในหลักอินทภาษนั้น พระอินทร์ได้ยกเอาหลักการนี้มาสั่งสอนผู้พิพากษาตุลาการ ให้ตั้งอยู่ในความยุติธรรม ไม่หวั่นไหวต่อ “อคติ 4” ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความลำเอียง ดังนี้
(1) ฉันทะ (ป.-ส. ฉนฺท)3 คือ ความยินดี หรือความพึงพอใจ ที่เกิดจากสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งเร้า ซึ่งโดยทั่วไปคือ อาการรัก หรือชอบบุคคลหรือสิ่งใด เพราะมีเหตุมากระตุ้นให้เร้าใจ แต่ในหลัก อินทภาษอธิบายว่า ความยินดีนี้ เปรียบได้กับความอยากได้ หรือความโลภเมื่อเห็นสินบน นั่นคือ มูลค่าของสินบนเป็นสิ่งเร้าให้เกิดความอยากได้ หากตุลาการผู้ใดรู้สึกยินดีและพึงพอใจในทรัพย์ที่โจทก์หรือจำเลยนำมามอบให้ แล้วรับไว้เป็นสินบน ตุลาการผู้นั้นย่อมถึงแล้วซึ่งฉันทาคติ ดังความว่า
“อันว่าบุคคลอันไปตามฉันทาคตินั้น คือพิจารณาความถึงซึ่งอำนาจแห่งโลภ เห็นแก่ลาภโลกามิส ยินดีในสินจ้างสินบน เข้าด้วยฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย เป็นเหตุจะได้ซึ่งวิญาณกทรัพย์แลอวิญาณกทรัพย์ ถ้าผู้ต้องคดีฝ่ายใดบนบานให้ทรัพย์แก่ตนแล้ว ถึงคดีนั้นจะแพ้ ก็ไม่ละอายแก่บาป เบือนหน้าเสียจากสุจริตธรรม กดขี่ผู้ที่ไม่บนนั้น กลับเอาคดีอันชนะเป็นแพ้ เอาแพ้เป็นชนะ มิได้ไปตามธรรมศาสตร์ราชศาสตร์ ดั่งนี้ชื่อว่า ไปตามฉันทาคติ ตั้งอยู่ในอคติเป็นปฐม” (ราชบัณฑิตยสถาน 2550: 203)
(2) โทสะ (ป. โทส; ส. เทวฺษ)4 คือ ความเกลียดชัง กระทั่งเก็บมาเป็นความเคียดแค้น ผูกใจพยาบาท หากตุลาการผู้ใด ผูกใจเจ็บโจทก์จำเลยมาแต่เก่าก่อน แล้วตัดสินคดีให้ผู้ถูกเกลียดชังนั้นแพ้ทั้งที่ต้องเป็นฝ่ายชนะ ตุลาการผู้นั้นย่อมถึงแล้วซึ่งโทสาคติ ดังความว่า
“แลประพฤฒิโดยโทสาคตินั้น คือบุคคลมากไปด้วยความโกรธ พิจารณาความฟุ้งซ่านไปด้วยอำนาจโทโส อันมีลักษณ์อันร้าย ถ้าผู้ต้องคดีผู้ใดเป็นคนผิดกับตนในก่อนแล้ว ถึงมาทว่าผู้นั้นจะชนะ ก็กดขี่ให้พ่ายแพ้ ด้วยกำลังพยาบาทจองเวร มิได้คิดละอายเกลียดกลัวแก่บาป ละเสียซึ่งโบราณราชนิติศาสตร์ อันเป็นบรรทัดฐาน ทำได้ด้วยสามารถแห่งโทษจิต ดั่งนี้ได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในโทสาคติ ประพฤติตามอคติเป็นคำรบสอง” (ราชบัณฑิตยสถาน 2550: 203)
(3) ภยะ (ป.-ส. ภย)5 คือ ความเกรงกลัวต่อผู้มีอำนาจและพลังกำลังเหนือกว่าตน ตุลาการผู้ใดถูกผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ มีพละกำลัง หรือมีวิชาอาคม มาข่มขู่คุกคามให้เกิดความหวาดกลัว และเปลี่ยนคำตัดสินแก่ผู้คุกคามจากแพ้ให้เป็นชนะแล้ว ตุลาการผู้นั้นย่อมถึงแล้วซึ่งภยาคติ ดังความว่า
“แลบุคคลอันถึงซึ่งภยาคตินั้น คือพิจารณาความมีจิตอันหวาดไหวแต่ภัยความกลัว[จาก]ฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลย ถ้าผู้ต้องคดีผู้ใด เป็นคนอธิบดีมียศถาศักดิ์ แลคนมีวิทยาคมกำลังกาย แลฝีมือกล้าแล้ว ก็เข็ดขามคร้ามกลัว ถึงมาทคดีผู้นั้นจะแพ้ ก็กดขี่ผู้น้อยนาศักดิ์ แลผู้หาวิทยาคมกำลังกายมิได้ ซึ่งมีคดีควรชนะนั้น กลับให้อัปภาคย์ พ่ายแพ้แก่ผู้มียศศักดิ์ มิได้ดำเนินโดยธรรมศาสตร์ราชศาสตร์อันเป็นหลัก ทำด้วยสามาถความสะดุ้งกลัวดั่งนี้ ชื่อว่าประพฤติตามภยาคติ ตั้งอยู่ในอคติเป็นคำรบสาม”(ราชบัณฑิตยสถาน 2550: 203)
(4) โมหะ (ป.-ส. โมห)6 คือ ความหลงผิด หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความโง่เขลาเบาปัญญา ตุลาการผู้ใด แม้มิได้รับสินบน ไม่เคยผูกใจอาฆาต และไม่เกรงกลัวต่อการคุกคาม หากแต่มีความโง่ในกมลสันดาน ยังให้ตัดสินคดีผิดพลาดด้วยความโง่และความเบาปัญญาที่คิดว่าตนรู้ดี ทำให้แยกแยะถูกผิดไม่เป็น ตุลาการผู้นั้น ย่อมถึงแล้วซึ่งโมหาคติ ดังความว่า
“แลบุคคลอันถึงซึ่งโมหาคตินั้น คือพิจารณาความมีโมหะ หลงละเมอเป็นเบื้องหน้า มีแต่มืดโมหันทการครอบงำโดยรอบคอบ มิได้รู้จักว่า สิ่งนี้เป็นบาปบุญคุณโทษ สิ่งนี้เป็นประโยชน์แลใช่ประโยชน์ ทั้งธรรมศาสตร์ ราชศาสตร์ แลราชนิติคดีใด ก็มิได้รอบรู้ เมื่อพิพากษานั้น ผู้ใดจะแพ้ผู้ใดจะชนะ ก็มิรู้ได้ บัญชาไปตามอำนาจโมหะ คือ อวิชชา เอาแพ้เป็นชนะ กลับชนะเป็นแพ้ จะเห็นแก่ทรัพย์สินจ้าง แลกลัวเกรงโกรธผู้ใด ก็หามิได้ กระทำด้วยกำลังหลงดั่งนี้ ชื่อว่าประพฤติตามโมหาคติ ตั้งอยู่ในอคติธรรมเป็นคำรบสี่” (ราชบัณฑิตยสถาน 2550: 203)
4. โทษทัณฑ์ของตุลาการลำเอียง
อาจกล่าวได้ว่า โลกทัศน์ทางนิติศาสตร์ของสังคมอยุธยา มองว่า “ตุลาการลำเอียง” เป็น “โมฆบุรุษ”7 คือเป็นคนเปล่าประโยชน์ โง่เขลา และพลาดจากประโยชน์อันพึงได้พึงถึง เพราะนอกจากทำหน้าที่แห่งตนได้ไม่สมบูรณ์แล้ว ความบกพร่องที่ตนก่อขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้อื่น เหตุนี้ หลักอินทภาษจึงพรรณนาโทษทางสังคมสำหรับตุลาการลำเอียงไว้ในลักษณะของ “การปรามไว้” โดยชี้ให้เห็นผลกรรมของการตัดสินคดีอย่างลำเอียงว่าเป็นกรรมหนักให้ผลแรงทั้งในชีวิตชาตินี้และชีวิตหลังความตาย นั่นคือ หากตุลาการผู้ใดอยู่ในคลองธรรมตัดสินคดีอย่างยุติธรรมไร้อคติ 4 แล้ว ตุลาการผู้นั้นย่อมมีชีวิตที่เจริญดุจจันทร์เดือนเพ็ญ แต่ตุลาการผู้ใดประพฤติตนด้วยอคติ 4 แล้ว ตุลาการผู้นั้นย่อมมีชีวิตตกต่ำมืดมนดุจจันทร์เดือนดับ และเมื่อตายไปก็จะตกไปสู่อบายภูมิ8 อันมีนรกเป็นอาทิ เพราะว่าผลกรรมนั้นหนักยิ่งกว่าฆ่าสัตว์ฆ่าคน และแม้ว่าจะทำบุญหนักหนาสักเพียงใดก็มิอาจลดหย่อนบาปกรรมนี้ได้ การที่หลักอินทภาษห้ามปรามเหล่าผู้พิพากษาตุลาการไว้เช่นนี้ ก็เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ตัดสินชีวิตคนมีความละอายชั่วกลัวบาป จะได้ไม่เพลี้ยงพลั้งตกนรก ดังความว่า9
“ . . . ธรรมที่กล่าวมานี้ (= อคติธรรม 4) ชื่อว่า กัณหธรรม (= สิ่งที่เป็นไปด้วยความมืด) มิควรบุคคลอันสะอาดจะพึงถึง ถ้าผู้ใดเสพสันนิจยาการประพฤติเนือง ๆ แล้วเมื่อใด อันว่าอิสรียยศ (= ฐานะอันใหญ่โต) แลบริวารยศ (= ฐานะอันมากด้วยผู้แวดล้อม) แห่งบุคคลผู้นั้น ก็จะเสื่อมสูญไป ประดุจดั่งพระจันทร์เมื่อวันกาลปักข์ (= ข้างแรม เดือนดับ) แลผู้นั้นครั้นดับชีวิตีนทรีย์ (= ชีวิต + อินทรีย์; องค์รวมแห่งชีวิต) แล้ว ก็จะไปเสวยเวทนาสาหัส อยู่ในอบายภูมิ (= แดนแห่งความฉิบหาย มีนรก เป็นอาทิ) อันหาโอกาสแห่งความสุขมิได้
ดูกรมานพ อันว่าบุรุษ (= ตุลาการ) เมื่อไปสู่อคติธรรมด้วยประการดั่งกล่าวมานี้ อันว่าบุรุษผู้นั้น ประกอบไปด้วยโทษคือ เป็นที่ติเตียนแก่ผู้มีปัญญา จะนิราศขาดจากยศจากลาภ ในทิฐธรรม (= ความเที่ยงธรรมที่พึงรู้เห็น) เห็นประจักษ์ ดับชีวิตสังขารแล้ว ก็มีแต่จะไปเสวยทุกข์ในอบาย (= ความฉิบหาย) เป็นเบื้องหน้า เหตุดั่งนั้น บุคคลผู้เป็นปราชญ์ มีพยายามแลปัญญาอันมาก จะเป็นผู้พิพากษาตุลาการ พึงแวะเว้นเสียซึ่งอคติธรรมทั้งสี่ อย่าให้มีในสันดานได้ แล้วพึงวินิจฉัยคดีการของประชาราษฎร ให้ต้องโดยคลองยุติธรรม ตามธรรมศาสตร์ราชศาสตร์
เมื่อสมเด็จอัมรินทร์จะตรัสสำแดงซึ่งโทษแห่งบุคคลอันบังคับความ อันมิได้ซื่อสุจริตว่ามีผลเป็นอันหนักสืบไป จึ่งตรัสด้วยพระคาถาว่า . . . ในอรรถาธิบายตามแปลพระบาฬีนั้นว่า ดูกรมานพ อันว่าบุคคลผู้ใด แม้นเป็นมหาบุรุษอันอุดมถึงที่บรมกษัตริย์ กอปรด้วยพระฤทธิศักดานุภาพแลวรเดโชพล มีพระสันดานอันกอปรด้วยศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา ให้กระทำซึ่งพระสถูปทองเป็นถ่องแถวเต็มติดกันไปในสกลชมพูทวีป แล้วก็รจนาซึ่งพระบรมปฏิมากรแก้ว ประดับด้วยวิเชียรรัตน์บรรจุใส่ในพระสถูป กระทำสักการะบูชาด้วยสัตพิธมณีรัตน์ มีประการเจ็ดต่างๆ กัน แลมีพระราชหฤทัยนั้น ปราศจากกังขาสงสัยในการกองกุศล ทรงบริจาคทรัพย์บำเพ็ญทานมีประการต่าง ๆ อันว่า ผลานิสงส์อันไหลมาแต่บุญอันพระองค์ทรงสร้างนั้น จะนับจะประมาณมิได้ ก็ไปบ่มิอาจจะกลบลบได้ซึ่งกองบาปกองกรรม อันเกิดแต่บังคับความบ่มิตรง เหตุอคติทั้งสี่ อนึ่ง แม้นบุคคลใด บาปจะพิฆาตฆ่าเสียซึ่งหมู่นิกรนารี นางอันหาผิดมิได้ ได้แลพัน ฆ่าพราหมณ์อันทรงพรตพรหมจรรย์ ได้แลสิบร้อย ฆ่าคชสาร โคคาวีก็ได้ถึงพัน แลกองบาปกองกรรมนั้นก็เป็นอันหนัก ถึงฉะนั้น ก็ไม่ทันเท่าบาปกรรม อันบุคคลบังคับความมิเที่ยงตรง . . .” (ราชบัณฑิตยสถาน 2550: 203-204)
และนี้คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า กระบวนการยุติธรรมของสังคมจะดำรงอยู่ได้นั้น ตุลาการก็ต้อง รักษา “หลักศีลธรรมของตุลาการ” ให้มั่นคง เพราะหากคนทั่วไปที่มีปัญญามองเห็น “ข้อพิรุธ” ในคำตัดสินแล้วต่างพากันติเตียนตุลาการผู้นั้นก็ย่อมสงสัยได้ว่าตุลาการผู้นั้นลำเอียงด้วยอคติ 4 ได้หรือไม่? หากข้อเท็จจริงคือตัดสินลำเอียงเพราะตัดสินขัดแย้งกับพยานและหลักฐาน หากตุลาการลำเอียงรักชอบอีกฝ่าย เกลียดชังอีกฝ่าย แล้วตัดสินลำเอียง ก็เข้าข่าย “ฉันทาคติ-โทษาคติ” คือ ใช้ความรักชอบส่วนตัวชี้ถูกชี้ผิด แบบนี้ต้องห้ามเป็นตุลาการโดยเด็ดขาด หากตุลาการกลัวการข่มขู่คุกคามแล้วตัดสินลำเอียงก็เข้าข่าย “ภยาคติ” คือ ขี้ขลาดที่จะตัดสินอย่างตรงไปตรงมาแต่กลับอาจหาญตัดสินอย่างฉ้อฉล หรือ ตุลาการผู้นั้นไม่รู้ตัวเพราะหลงคิดไปว่าที่ตัดสินไปนั้นถูกต้องแล้ว ตุลาการผู้นั้นก็เข้าข่าย “โมหาคติ” คือ โง่ แต่ไม่รู้ตัวว่าโง่ ไม่พิจารณาเจตนาและหลักฐาน ไม่ไต่ถามผู้รู้ เหล่านี้ก็เตรียมท่องอบายภูมิหลังสิ้นชีพได้! ... ผมไม่ได้ทึกทักเอาเอง แต่องค์อินทร์ว่าไว้เยี่ยงนี้ !
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร, 2526. ประชุมโคลงโลกนิติ. อุดรธานี: พิมพ์อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเหรียญ แก้ววิเชียร ณ เมรุวัดสระแก้ว ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2526.
ราชบัณฑิตยสถาน, 2550. “หลักอินทภาษ.” ใน กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, หน้า 196-207.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), 2559. พจนานุรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 34. กรุงเทพฯ: มูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต).
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2561. พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 32. งานบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน (บุญอัฏฐะ) อุทิศให้ นายกอง ศรีสมุทร และ นางพูล ศรีสมุทร.
สำนักงานราชบัณฑิตสภา, 2566. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. เข้าถึง: 20 กรกฎาคม 2566. url: https://dictionary.orst.go.th/
Monier-Williams M., 2003. A Sanskrit-English Dictionary: Etymologically and Philologically Arranged with Special Reference to Cognate Indo-European Languages. AES 3rd reprint. New Delhi: Asian Educational Services.
Pali Text Society, 1921-1925. The Pali Text Society's Pali-English dictionary. London: Chipstead.
1 Pseudo-intellectual จาก pseudo- (= ปลอม เทียม ไม่แท้) + intellectual (= ผู้มีปัญญา); หมายถึง คนไม่มีความรู้ แต่ทำตนเสมือนเป็นคนมีความรู้ เพื่อหลอกล่อให้ผู้อื่นเชื่อถือ ดังคำกล่าวใน “โคลงโลกนิติ” ที่ว่า
๕๖๏ รู้น้อยว่ามากรู้ เริงใจ
กลกบเกิดอยู่ใน สระจ้อย
ไป่เห็นชเลไกล กลางสมุทร
ชมว่าน้ำบ่อน้อย มากล้ำลึกเหลือ (กรมศิลปากร 2526: 36)
2 อคติ / agati (บาลี): ใช้ชีวิตผิดทาง (practising a wrong course of life) ประพฤติชั่ว (evil practice) ทำผิด (wrong doing) (Pali Text Society 1921-1925: 3); อคติ / agati (สันสกฤต): ไม่ไปไหน (not going) หยุดอยู่ (halting) ไร้หนทาง (without resource) ไร้ทางช่วย (helpless) (Monier-Williams 2003: 4); จากคำว่า “อ” (ป. ส. = ไม่) + “คติ” ซึ่งมีหลายความหมายตามแต่บริบท: คติ / gati (บาลี): การไป (going), การออกไป (going away), ทิศทาง (direction), แนวทาง (course), ความประพฤติ (behaviour), สภาพชีวิต (state or condition of life), มณฑลแห่งการดำรงอยู่ (sphere of existence) คือ สุขคติ และ ทุกขคติ (Pali Text Society 1921-1925: 243); คติ / gati (สันสกฤต): (1) การไป (going), การเคลื่อนที่ (moving), การก้าวเดิน (gait), กริยาท่าทาง (deportment), การเคลื่อนไหว (motion in general); (2) หนทาง (path), เส้นทาง (way), แนวทาง (course); (3) ความสุข (happiness); (4) กริยามารยาท (manner) เป็นอาทิ (Monier-Williams 2003: 347).
3 ฉนฺท / chanda (บาลี): ความเร้าใจ/ความตื่นตาตื่นใจ (impulse), ความตื่นเต้น/ความดีอกดีใจ (excitement); ความตั้งใจ/ความมุ่งมั่น (intention), ความแน่วแน่ (resolution), ความต้องการ (will); ความปรารถนา (desire for), ความมุ่งหวัง (wish for), ความพึงพอใจ (delight in) (Pali Text Society 1921-1925: 275); ฉนฺท / chanda (สันสกฤต): ความยินดี (pleasure), ความพอใจ (delight), ความอยาก (appetite), การชอบพอ (liking), การชื่นชอบ (predilection), ความปรารถนา (desire), ความต้องการ (will) (Monier-Williams 2003: 404).
4 โทส / dosa (บาลี): โมโห/โกรธ (anger), ริษยา (ill-will), เจตนาร้าย/มาดร้าย (evil intention), ความเลวทราม (wickedness), ความเสื่อมทราม (corruption), ความเคียดแค้น/ความอาฆาต/ความพยาบาท (malice), ความเกลียดชัง (hatred) (Pali Text Society 1921-1925: 332); เทฺวษ / dveṣa (สันสกฤต): ความเกลียดชัง (hatred), ความไม่ชอบ (dislike), ความรังเกียจ (repugnance), ความเป็นศัตรูแก่กัน (enmity to) (Monier-Williams 2003: 507); ต้นฉบับหลักอินทภาษสะกดแบบลูกผสมเป็น โทษะ และ โทษาคติ บทความนี้จึงขอปรับการสะกดคำให้เป็นแบบภาษาบาลีคือ โทสะ และ โทสาคติ.
5 ภย / bhaya (บาลี): ความเกรงกลัว (fear) ความหวาดกลัว (fright) ความขลาดกลัว (dread) (Pali Text Society 1921-1925: 498);ภย / bhaya (สันสกฤต): ความเกรงกลัว (fear), ความตื่นตระหนก (alarm), ความขลาดกลัว (dread), ความหวาดวิตก (apprehension) (Monier-Williams 2003: 747).
6 โมห / moha (บาลี): ความโง่เขลา (stupidity), ความโง่เง่า/ความเบาปัญญา (dullness of mind & soul), ความหลงผิด (delusion), ความงุนงง/ความงงงวย (bewilderment), ความลุ่มหลง (infatuation) (Pali Text Society 1921-1925: 543); โมห / moha (สันสกฤต): ความหลงใหล (loss of consciousness), ความงุนงง/ความงงงวย (bewilderment), ความสับสน (perplexity), ความฟุ้งซ่าน (distraction), ความลุ่มหลง (infatuation), ความหลงผิด (delusion), ความผิดพลาด (error), ความโง่เง่า (folly) (Monier-Williams 2003: 836).
7 โมฆบุรุษ บุรุษเปล่า, คนเปล่า, คนที่ใช้การไม่ได้, คนโง่เขลา, คนที่พลาดจากประโยชน์อันพึงได้พึงถึง (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต), 2561: 354).
8 อบายภูมิ คือ แดนไร้ความเจริญ หรืออีกนัยคือ อบาย 4 (ภาวะหรือที่อันปราศจากความเจริญ) ประกอบด้วย
1. นิรยะ (นรก, สภาวะหรือที่อันไม่มีความสุขความเจริญ, ภาวะเร่าร้อนกระวนกระวาย)
2. ติรัจฉานโยนิ (กำเนิดดิรัจฉาน, พวกมืดมัวโง่เขลา)
3. ปิตติวิสัย (แดนเปรต, ภูมิแห่งผู้หิวกระหายไร้สุข)
4. อสุรกาย (พวกอสูร, พวกหวาดหวั่นไร้ความรื่นเริง (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) 2559: 149-150).
9 ข้อความที่ยกมานี้ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น ผมได้ปรับรูปศัพท์ให้เป็นการสะกดแบบปัจจุบัน ตัดบทบาลีออก (ซึ่งต้นฉบับแทรกไว้เพื่อเป็นวลีนำการแปลเป็นภาษาไทย) และอธิบายความหมายด้วยวงเล็บ.
ผู้เขียน
ดร.ตรงใจ หุตางกูร
นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ตุลาการ ลำเอียง นรก ดร.ตรงใจ หุตางกูร