สนามของภาพถ่าย: มานุษยวิทยาระหว่างโลกและเลนส์

 |  ศิลปะ ผัสสะ และสุนทรียภาพ
ผู้เข้าชม : 3780

สนามของภาพถ่าย: มานุษยวิทยาระหว่างโลกและเลนส์

ความจริงแล้ว เลนส์ ซึ่งเรียกกันว่าดวงตาที่เป็นกลาง อนุญาตให้การบิดเบือนทุก ๆ ความจริงเป็นไปได้ ภาพถ่ายที่เป็นผลผลิตจากเลนส์ถูกกำหนดโดยทัศนะของช่างภาพ ตลอดจนความต้องการของผู้อุปถัมภ์ ความสำคัญของภาพถ่ายมิได้ดำรงอยู่ในศักยภาพของรูปแบบทางศิลปะ แต่เป็นความสามารถในการก่อรูปความคิด นำอิทธิพลมาสู่การกระทำ รวมถึงนิยามสังคมที่เราอาศัยอยู่

จิเซล ฟรอนด์ (Gisele Freund) (1974)

           ตลอดพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ มนุษย์ไม่เคยเผชิญหน้ากับภาพถ่ายจำนวนมหาศาลอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก่อน นักทฤษฎีสื่อ นิโคลัส เมอร์เซิร์ฟ (Nicolas Mirzoeff) (2016) บอกว่าในทุก ๆ สองนาที มีภาพถ่ายเกิดขึ้นมากเสียกว่าที่เคยเกิดในช่วงศตวรรษที่ 19 สภาพการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากการพัฒนาและแพร่หลายของเทคโนโลยีการถ่ายภาพ จากกล่องชักภาพจนถึงกล้องถ่ายภาพ จากฟิล์มจนถึงดิจิทัล จากคอมแพ็คจนถึงโทรศัพท์มือถือ เลนส์ของกล้องถูกใช้มองโลกเพื่อสร้างภาพถ่ายในหลายลักษณะและหลากวัตถุประสงค์ ภาพถ่ายเป็นมากไปกว่าผลผลิตของโลกและเลนส์ นั่นคือเป็นสื่อที่บันทึกการตกกระทบของแสงและเงาของวัตถุอันถ่ายทอดเรื่องราวทางสายตา ณ พื้นที่และขณะเวลาหนึ่ง ๆ ได้แบบข้ามพื้นที่และเวลา

           ก่อนที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพจะพัฒนาและแพร่หลายอย่างในปัจจุบัน ด้วยตระหนักว่าเลนส์และกล้องเป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลที่เป็นกลาง ดังเช่นการใช้สร้างภาพถ่ายเพื่อบันทึกเรื่องราวในลักษณะของข้อมูลทางสายตา ภาพถ่ายถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อบันทึกความทรงจำผ่านภาพ เพื่อสร้างสุนทรียภาพทางสายตาในเชิงศิลปะ ตลอดจนเพื่อสร้างหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในแง่ของการมีอยู่จริงของสิ่งต่าง ๆ ในเชิงประจักษ์ ในการใช้งานทางวิชาการ ภาพถ่ายถูกใช้เล่าเรื่องเหตุการณ์และปฏิบัติการต่าง ๆ ในพื้นที่หนึ่ง ๆ ซึ่งเคยเกิดจริงหน้าเลนส์กล้อง ณ ขณะเวลาหนึ่ง ๆ ในการใช้ประโยชน์เช่นนี้เอง มานุษยวิทยาจึงสัมพันธ์กับภาพถ่ายทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และวิธีวิทยามาตั้งแต่ยุคสมัยที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพเข้าถึงได้อย่างจำกัด จนกระทั่งถึงสมัยปัจจุบันที่เทคโนโลยีดังกล่าวแพร่หลายไปในระดับชีวิตประจำวัน


มานุษยวิทยา ภาพถ่าย และงานสนาม

           แม้สนามจะเป็นอัตลักษณ์และพื้นที่แสวงหาความรู้ที่สำคัญของมานุษยวิทยา แต่ในทางประวัติศาสตร์ของสาขาวิชา ภาพถ่ายถูกใช้งานในทางมานุษยวิทยามาตั้งแต่ก่อนมีการทำงานภาคสนาม ความสัมพันธ์ระหว่างมานุษยวิทยากับภาพถ่ายในระยะแรก ๆ วางอยู่บนหลักคิดที่มองภาพถ่ายในฐานะหลักฐานของการผลิตสร้างความรู้ นอกจากบันทึกของนักเดินทางและมิชชันนารีแล้ว ภาพถ่ายยังเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่นักมานุษยวิทยายุคแรก ใช้ศึกษาและอธิบายสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์จากยอดหอคอยงาช้าง เอเวอราร์ด อิม เธิร์น (Everard im Thurn) ข้าหลวงผู้ปกครองดินแดนอาณานิคมของสหราชอาณาจักร และภายหลังได้รับเลือกให้เป็นประธานราชสถาบันมานุษยวิทยา (Royal Anthropological Institute) สนับสนุนให้ใช้กล้องถ่ายภาพบันทึกเรื่องราวของชนพื้นเมือง (im Thurn 1896) ความคิดใช้กล้องสร้างภาพถ่ายเพื่อบันทึกความจริงดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในบรรยากาศของความรู้แบบวิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตก ซึ่งให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงองค์ประกอบต่าง ๆ แบบองค์รวมเช่นเดียวกับนิเวศวิทยา การใช้ประโยชน์จากกล้องและภาพถ่ายในการบันทึกองค์ประกอบทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างคำอธิบายระบบทางวัฒนธรรมแบบองค์รวม จึงถูกนำมาใช้ร่วมกับการศึกษาทางมานุษยวิทยาด้วย (Edward 2015)

           บนสมมุติฐานที่ตั้งไว้ก่อนว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ ประกอบกับความคิดที่เห็นว่าสิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีอย่างกล้องถ่ายภาพเป็นสิ่งที่สามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมได้อย่างตรงไปตรงมา มีความเป็นกลาง ปราศจากอคติและไม่ต้องอาศัยสติปัญญาของมนุษย์เข้าไปผสมผสาน ภาพถ่ายอันเป็นผลผลิตของกล้องถ่ายภาพ กลายเป็นหลักฐานและข้อมูลที่นำมาซึ่งความน่าเชื่อถือ ข้อสันนิษฐานดังกล่าวนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการมาถึงของเทคโนโลยีการถ่ายภาพ นักมานุษยวิทยาพยายามนำภาพถ่ายซึ่งเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์วิจัย อธิบาย และสร้างแนวคิดทฤษฎีที่สัมพันธ์กับข้อมูลที่ได้รับมา

           การใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือในการสร้างคำอธิบายสัมพันธ์กับความเชื่อมั่นในผัสสะการมองเห็นเหนือผัสสะอื่น ๆ โดยเชื่อมโยงกับวิธีวิทยาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งให้ความสำคัญกับการแสวงหาข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ เพราะภายหลังการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ดวงตาเนื้อของมนุษย์เป็นแหล่งที่มาหลักของการรับรู้ความจริงแบบประจักษ์นิยม (empiricism) เทคโนโลยีที่สัมพันธ์กับการมองเห็นช่วยให้การเข้าถึงความจริงแม่นยำขึ้น หลักการใช้ดวงตาเข้าถึงความจริงดังกล่าวไม่เว้นแม้แต่มานุษยวิทยา ภาพถ่ายที่บันทึกแสงและเงาซึ่งบรรจุไปด้วยข้อมูลทางสายตากลายเป็นหลักฐานที่ให้รายละเอียดถึงการมีอยู่จริงของสังคมวัฒนธรรมอื่น จนกระทั่งในเวลาต่อมา การทำงานภาคสนามกลายเป็นวิธีการเก็บข้อมูลพื้นฐาน นักมานุษยวิทยาเข้าไปสังเกตการณ์สนามในสังคมต่างถิ่นและจดบันทึกลักษณะทางวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปด้วยตนเอง นอกจากภาพถ่ายจะเป็นหลักฐานในลักษณะข้างต้นแล้ว ภาพถ่ายยังคงสถานะเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานการไปอยู่ที่นั่น (being there) นั่นคือการเป็นประจักษ์พยานของสิ่งที่เกิดขึ้นในสนามด้วยตนเองอันนำมาซึ่งอำนาจชอบธรรม (authority) ในการสร้างคำอธิบายทางวัฒนธรรม


ภาพถ่ายในฐานะหลักฐานของโลก

           เมื่อการทำงานภาคสนามกลายเป็นวิธีการหลักในการศึกษาทางมานุษยวิทยาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยบรอนิสลอฟ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) (1922) ภาพถ่ายถูกใช้ในฐานะสื่อที่ได้จากการบันทึกเหตุการณ์หน้าเลนส์ ณ พื้นที่และขณะเวลาหนึ่ง ๆ ความจริงของโลกถูกนำเสนอผ่านภาพถ่ายในฐานะสื่อแบบโปร่งใส (transparent) เลนส์หรือดวงตาจักรกลที่เป็นกลางได้สร้างวิถีแห่งการจำลองความจริงเบื้องหน้าตัวมันเอง ส่งผลให้ภาพถ่ายถูกใช้ในแง่ของการรักษาแง่มุมทางวัฒนธรรมที่ปรากฏในสนาม นักมานุษยวิทยาคนสำคัญที่ใช้ภาพถ่ายทำงานภาคสนาม อาทิ จอห์น โคลลิเยอร์ (John Collier) (1967) และมาร์กาเร็ต มี๊ด (Margarette Mead) (1942)

           โคลลิเยอร์ถือเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญในการใช้ภาพถ่ายเพื่อทำงานภาคสนาม ภาพถ่ายครอบครัวชาวอเมริกันพื้นเมือง ตลอดจนข้าวของต่าง ๆ ในที่พักอาศัย เผยให้เห็นการปรับตัวของชนพื้นเมืองต่อการตั้งถิ่นฐานและวัฒนธรรมครั้งใหญ่ อาจกล่าวได้ว่า การใช้ภาพถ่ายของเขาบอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรมที่ชาวอเมริกันพื้นเมืองอพยพเข้ามาอาศัยอยู่เมืองในฐานะที่เป็นประจักษ์พยานของเหตุการณ์ในชีวิตอันปรากฏผ่านภาพถ่าย

           ในขณะเดียวกัน งานบุกเบิกอีกชิ้นหนึ่งได้แก่งานของมี๊ด ความเป็นธรรมชาติของผู้คนและภาพถ่ายเป็นสาระสำคัญของงานชิ้นดังกล่าวในแง่ของการนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติและเกิดขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ ความเป็นธรรมชาติเสมือนไม่มีกล่องที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่าย ชวนให้เชื่อว่าภาพถ่ายจากสนามของการศึกษานั้นมีความโปร่งใส เป็นกลาง และปราศจากการชี้นำและการปรับแต่งใด ๆ การใช้งานภาพถ่ายในลักษณะนี้เป็นการนำเสนอว่าภาพที่ปรากฏเป็นความจริงที่ถูกบันทึกไว้โดยไม่มีทางป็นอื่น

           กระนั้นเอง จากบทสนทนาระหว่างมี๊ดกับเกรกอรี่ เบตสัน (Gregory Bateson) (as cited in Brand 1976) นักมานุษยวิทยาและอดีตสามีของมี๊ด...

           เบตสัน           ยังไงซะ ฉันก็ไม่ชอบกล้องบนขาตั้งเอาเสียเลย

           มี๊ด               แล้วทำไมคุณถึงไม่ชอบล่ะ

           เบตสัน           มันคือหายนะ

           มี๊ด               ทำไม

           เบตสัน           เพราะฉันคิดว่าภาพถ่ายควรเป็นศิลปะ

           มี๊ด               โอ้ ทำไม ทำไมคุณไม่คิดล่ะว่าบางทีภาพถ่ายก็ไม่ใช่ศิลปะนะ เพราะถ้ามันเป็นศิลปะ มันต้องถูกปรับแต่งสิ

           เบตสัน           ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันถูกปรับแต่ง ฉันไม่คิดว่าภาพถ่ายมีอยู่โดยไม่ถูกปรับแต่ง

           บทสนทนาหลังจากที่มี๊ดใช้ภาพถ่ายในการศึกษาวัฒนธรรมของชาวบาหลีไปแล้วกว่า 30 ปี กระตุกให้เกิดการพิจารณาภาพถ่ายในหนทางที่แตกต่างออกไปจากเมื่อราว 30 ปีก่อนหน้า แม้จะปราศจากอุปกรณ์ช่วยเหลื่ออื่นใด การนำเสนอความจริงผ่านภาพถ่ายอาจไม่โปร่งใสอย่างที่คิดอีกต่อไป ภาพถ่ายอาจถูกปรับแต่งได้ตั้งแต่แรกเริ่มว่าผู้ถ่ายเลือกที่จะถ่ายอะไรหรือไม่ถ่ายอะไร อีกทั้งในการเลือกที่จะถ่ายนั้น ความจริงที่ถูกนำเสนออาจเป็นความจริงเพียงบางลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นแสง สี มุม การจัดท่าทาง สถานที่ ตลอดจนรูปแบบการนำเสนอผ่านวิธีการเล่าเรื่องแบบใช้ภาพประกอบคำบรรยาย ในภาวะที่ภาพถ่ายอาจไม่โปร่งใสและไม่ใช่หลักฐานของโลกซึ่งถูกบันทึกอย่างเที่ยงตรงในการทำงานภาคสนาม สถานะของภาพถ่ายในการทำงานสนามจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร


ภาพถ่ายในฐานะเรื่องเล่าผ่านเลนส์

           วิกฤตภาพแสดงแทน (crisis of representation) และการเมืองวัฒนธรรม (cultural politics) ของมานุษยวิทยาในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อสถานะของภาพถ่ายในการทำงานภาคสนาม การถ่ายภาพในฐานะการสร้างหลักฐานจากสนามเพื่อการเล่าเรื่องของนักมานุษยวิทยา ถูกกล่าวถึงและวิพากษ์อย่างกว้างขวาง เพราะภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม ภาพถ่ายแฝงไปด้วยมุมมองของผู้ถ่ายต่อผู้ถูกถ่าย ความสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกันมีส่วนอย่างมาในการทำให้ผู้คนและสิ่งของที่ถูกถ่าย กลายเป็นวัตถุประกอบการเล่าเรื่องของพวกเขาเอง ตัวอย่างข้างต้นนี้ยังไม่รวมถึงความเป็นธรรมชาติแบบประดิษฐ์ที่ผู้ถูกถ่ายภาพแสดงตัวตนบางลักษณะเมื่อรับรู้ว่าตนเองกำลังถูกจับจ้องและบันทึกภาพในเชิงตอบสนอง

           ความคิดเรื่อง ความจริงบางส่วน (partial truths) ถูกกล่าวถึงโดยเจมส์ คลิฟฟอร์ด (James Clifford) เขาบอกว่าในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชาวคิริวินันในหมู่เกาะโทรเบียนด์ของมาลินอฟสกี มีการนำเสนอภาพถ่ายของเต็นท์หลังหนึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางที่พักอาศัยของชนพื้นเมือง ทว่าหลายสิบปีถัดมา ปรากฏว่ามีภาพถ่ายอีกภาพหนึ่งที่เผยให้เห็นการเขียนงานชาติพันธุ์วรรณนาของเขาในเต็นท์ดังกล่าวซึ่งถูกจับจ้องโดยชาวพื้นเมืองผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรมจากภายนอก นัยของภาพถ่ายในช่วงเวลาเดียวกันแต่ปรากฏตัวต่างยุคสมัยกัน เผยให้เห็นสิ่งที่ถูกนำเสนอและไม่ถูกนำเสนอในงานของมาลินอฟสกี การนำเสนอความจริงผ่านการสร้างคำอธิบายจึงไม่ใช่ความจริงที่สมบูรณ์ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จำเพาะต่อช่วงเวลาและสถานที่ที่เคยเกิดขึ้น ประเด็นดังกล่าวนี้นำไปสู่การตั้งคำถามถึงลักษณะ แนวคิด และวิธีการในการทำงานของ นักมานุษยวิทยาในการทำงานสนามเพื่อสร้างภาพแสดงแทนให้กับวัฒนธรรมของคนอื่น (Clifford 1986)

           หากการ “เขียนวัฒนธรรม” เป็นหนึ่งในวิธีการสร้างภาพแสดงแทนผ่านการเลือกใช้คำ ภาษา โวหาร การเปรียบเปรย ตลอดจนวิธีการเล่าเรื่อง ภาพถ่ายที่นักมานุษยวิทยาใช้นำเสนอผู้คนและเรื่องราวจากสนามก็เกิดขึ้นผ่านการ “ถ่ายวัฒนธรรม” โดยอาศัยเครื่องมือและเทคนิคต่าง ๆ ดังกล่าวไปแล้วในหนทางที่ไม่ต่างกัน คลิฟฟอร์ดเห็นว่าในกระบวนการดังกล่าว เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการนำเสนอภาพแสดงแทนทางมานุษยวิทยาเป็นการสร้างอำนาจผ่านการทำให้สิ่งที่ถูกนำเสนอเป็นความรู้ทางวัฒนธรรมขึ้นมา เขาจึงเสนอให้การทำงานทางมานุษยวิทยาจำเป็นต้องตระหนักถึงตัวตนในการทำงานของตนเอง ตลอดจนตระหนักว่าภาพแสดงแทนหรือความรู้ทางวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นไม่อาจเป็นอิสระจากเงื่อนไข ความเข้าใจ และการทำงานเพื่อสร้างความรู้ทางวัฒนธรรมนั้น

           ในกระบวนคิดเช่นนี้ การเล่าเรื่องผ่านการถ่ายวัฒนธรรมจึงไม่ได้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ความรู้ทางวัฒนธรรมและสิ่งที่ภาพถ่ายนำเสนออาจไม่ใช่เรื่องตายตัว เลนส์กล้องหรือดวงตาจักรกลซึ่งดูเหมืองจะเป็นดวงตาที่เป็นกลางและนำเสนอความจริงแบบวัตถุวิสัย (objectivity) ถูกควบคุมโดยวัฒนธรรมและมุมมองแบบอัตวิสัย (subjectivity) ของตาเนื้ออีกชั้นหนึ่ง ส่งผลให้เรื่องราวที่ถูกบันทึกในภาพถ่ายเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่ถูกบันทึกอย่างมีเป้าหมาย เมื่อการนำเสนอภาพถ่ายเป็นเรื่องของการนำเสนอความคิดของช่างภาพตลอดจนองค์ประกอบทางศิลปะ นักมานุษยวิทยาก็ใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่มองดูภาพถ่ายคิดว่าสิ่งต่าง ๆ ในภาพเป็นความจริง การพิจารณาภาพถ่ายในลักษณะนี้คล้ายกับว่าภาพถ่ายเป็นเพียงเครื่องมือในการเล่าเรื่องจากสนามของนักมานุษยวิทยาในการใช้งานแบบแรก แต่แฝงไปด้วยการปรับแต่งของผู้ถ่ายเพื่อนำเสนอเรื่องราวแบบถัดมา บนข้อเท็จจริงที่ภาพถ่ายเองมีศักยภาพในการนำเสนอเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นสนาม เช่นเดียวกับที่มีศักยภาพในการเล่าเรื่องอย่างมีเป้าหมายผ่านมุมมองทางวัฒนธรรม การบรรจบกันระหว่างสนามกับภาพถ่าย วัตถุวิสัยกับอัตวิสัย ความจริงกับศิลปะ รวมถึงโลกและเลนส์ควรเป็นอย่างไร


มานุษยวิทยาระหว่างโลกและเลนส์

           การพิจารณาภาพถ่ายในภาวะดังกล่าวอาจจำเป็นต้องพิจารณาความจริงที่ปรากฏร่วมกับความเป็นศิลปะในการเล่าเรื่อง หลักความคิดของอัลเฟรด เจล (Alfred Gell) (1998) ช่วยให้เราพิจารณาภาพถ่ายในฐานะวัตถุที่มีศักยภาพในการสื่อสาร ภาพถ่ายถูกสร้างขึ้นในบริบททางวัฒนธรรมผ่านการบันทึกข้อเท็จจริงของโลก ณ ขณะเวลาและพื้นที่หนึ่ง ๆ ร่วมกับความพยายามในการบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารของผู้รังสรรค์อย่างเป็นศิลปะ ท่าทีที่เราควรมีต่อภาพถ่ายคือการไม่ปฏิเสธการดำรงอยู่ของสนามและการเล่าเรื่องราวที่เป็นภาพแสดงแทนของสนาม ทั้งสองสิ่งสามารถปรากฏตัวได้ภายใต้การตระหนักรู้และเป็นส่วนหนึ่งของงานสร้างสรรค์ บนขอบเขตและเส้นแบ่งที่พร่ามัวของการทำงานในสนามและการเล่าเรื่อง การมองภาพถ่ายในฐานะส่วนผสมของความจริงและศิลปะที่ถูกปรับแต่ง ซึ่งวัตถุได้รับศักยภาพจากผู้สร้างในบริบทของสนาม นำไปสู่การผสมผสานของทั้งโลกและเลนส์ในสัมพันธภาวะ (relationality) อันนำไปสู่การยืดขยายศักยภาพของตาเนื้อและตาจักรกลผ่านภาพถ่ายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร

           ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพแพร่หลายและสามารถเข้าถึงได้ทั่วไป ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความร่วมมือในการวิจัยทางมานุษยวิทยา ผู้คนจากสาขาวิชารวมถึงวิชาชีพที่หลากหลาย ที่ผ่านมา มานุษยวิทยาเน้นการเล่าเรื่องผ่านการเขียนเป็นหลัก ข้อวิจารณ์สำคัญต่อการเล่าเรื่องในลักษณะดังกล่าวคือการเสนอความจริงอันนำไปสู่การหดแคบของความหมายในการสื่อสารผ่านตัวอักษร ในความเป็นจริงแล้ว การเล่าเรื่องเพื่อนำเสนอเรื่องราวสามารถทำได้หลายวิธี ภาพถ่ายที่เคยเป็นส่วนประกอบของการเล่าเรื่องผ่านการเขียนอาจพลิกบทบาทขึ้นมาเป็นวิธีการหลักในการเล่าเรื่องได้ในยุคสมัยที่การรังสรรค์ภาพถ่ายเป็นเรื่องทั่วไป ในมิติที่การสื่อสารและประสบการณ์ทางมานุษยวิทยาอาจมีวิธีการนำเสนอได้มากกว่าการใช้ตัวอักษร การเล่าเรื่องโดยใช้ภาพถ่ายเป็นวิธีการหลักเป็นความท้าทายอย่างใหม่ของมานุษยวิทยาที่จุดบรรจบระหว่างโลกและเลนส์


สนามของภาพถ่าย

           จอห์น เบอร์เจอร์ (John Berger) (2013) บอกว่า โดยทั่วไปแล้ว เรามักจะตัดสินว่าภาพถ่ายที่ดีต้องเป็นไปตามองค์ประกอบของภาพ อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่าสาระสำคัญที่จะบอกว่าภาพถ่ายใดเป็นภาพที่ดีคือสิ่งที่มองไม่เห็นซึ่งดำรงอยู่ในภาพถ่าย จังหวะของการได้มาซึ่งภาพถ่ายเป็นสิ่งสำคัญในการบ่งชี้ว่าภาพถ่ายใดเป็นภาพที่ดี (good picture) เพราะในความหมายนี้ ภาพถ่ายเป็นผลรวมของประสบการณ์ มุมกล้อง เทคนิค การเล่าเรื่อง และเงื่อนไขเชิงวัตถุในพื้นที่และขณะเวลาหนึ่ง ๆ ในแง่ที่ภาพถ่ายที่ดีเกิดขึ้นจากบทสนทนาของประสบการณ์และจังหวะของการถ่ายภาพ ภาพถ่ายที่ดีในทางมานุษยวิทยาจึงเกิดขึ้นจากบทสนทนาของจังหวะและการเผชิญหน้าในสนามเบื้องหน้าเลนส์กล้อง (Leon-Quijano 2022)

           นิทรรศการ สนามของภาพถ่าย: เรื่องเล่าระหว่างโลกและเลนส์ทางมานุษยวิทยา จัดแสดงชุดภาพถ่ายอันเป็นผลงานของผู้เข้าร่วมกิจกรรม Shutter Stories: เล่าโลกหลังเลนส์ มองภาพผ่านเลนส์มานุษยวิทยา ซึ่งจัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) โดยมีจารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ ทิพาวรรณ วรรณมหินทร์ และผู้เขียน ร่วมเป็นภัณฑารักษ์ กล่าวได้ว่าจากชุดภาพถ่ายทั้งหมด 10 ชุดที่จัดแสดงในนิทรรศการ ชุดภาพถ่ายแต่ละชุดประกอบไปด้วยภาพถ่ายที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คน สังคม และวัฒนธรรม ในจังหวะเวลาที่เหมาะสมของการได้มาซึ่งภาพถ่าย ในการบรรจบกันของโลกและเลนส์ทั้ง 10 นี้ สัมพันธภาวะของประสบการณ์ มุมกล้อง เทคนิค การเล่าเรื่อง และเงื่อนไขเชิงวัตถุในพื้นที่และขณะเวลาหนึ่ง ๆ กลายเป็นบทสนทนาให้กับการนำเสนอความจริงจากสนามในภาพถ่ายทางมานุษยวิทยา

           ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติปรากฏอยู่รอบตัวของมนุษย์ บ้างก็เกื้อกูล แต่บ้างก็เป็นภัยคุกคาม ชุดภาพถ่าย Parallel World ของสาธิตา ธาราทิศ บอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ หมู่บ้านแห่งนี้เผชิญหน้ากับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ในขณะที่เด็กชายคนหนึ่งลอยตัวอยู่บนผิวน้ำที่ผันเข้ามาจากผืนทะเลซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผืนแผ่นดิน บ้านหลังน้อยของสามีภรรยาคู่หนึ่งถูกย้ายหนีน้ำกัดเซาะชายฝั่งมาแล้วกว่า 6 ครั้ง ความจริงจากชุดภาพนี้เตือนเราว่า ในโลกคู่ขนานที่ห่างไกลออกไปจนเหมือนไม่เคยมาบรรจบกับโลกที่เราอยู่ เราคงมองไม่เห็นภัยคุกคาม หากวิกฤตสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราโดยตรง


ตัวอย่างภาพของสาธิตา ธาราทิศ

           ขณะเดียวกันนั้น ในด้านที่เกื้อกูลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ชุดภาพถ่าย PILLARS ของวัชรวิชญ์ ภู่ดอก บอกเล่าความจริงในอีกด้านหนึ่งที่ผู้คนในชุมชนคลองโคลน จังหวัดสมุทรสงคราม ดำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติของสายน้ำแบบพึ่งพาอาศัย เสาถูกใช้ในฐานะที่เป็นเทคโนโลยีแบต่าง ๆ อันช่วยให้มนุษย์อาศัยอยู่ได้ร่วมกับธรรมชาติ ตั้งแต่เสาเอกประกอบพิธีกรรมความเชื่อ เสากั้นเขตหาปลา เสาอาคารบ้านเรือน เขาโมบายกังหันลม ตลอดจนถึงเสาโซล่าเซลล์

ตัวอย่างภาพของวัชรวิชญ์ ภู่ดอก

           ก่อนที่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคจะถูกประกาศใช้ในรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ลึกเข้าไปในชุมชนบ่อนไก่ คลินิกบ้านแพทย์ของแพทย์หญิงประกายพฤกษ ขจิตสุวรรณ เป็นอดีตคลินิกราคาถูกที่เก็บเงินค่ารักษาพยาบาลตั้งแต่ 0-100 บาท นับตั้งแต่วันเวลาที่คลินิกขวักไขว่ไปด้วยผู้คนที่พยายามเข้าถึงการรักษาจากผู้คนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ไปจนถึงวันที่คลินิกปิด ทำการถาวรด้วยความชราภาพของแพทย์ผู้รักษา เหลือแต่เพียงห้องน้ำที่ถูกทิ้งร้างและถูกพันธนาการด้วยรากไทร ชุดภาพถ่าย Lost in time ของวรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ บอกเล่าความจริงผ่านกาลเวลาของอดีตผู้อยู่อาศัยในชุมชนบ่อนไก่ที่กลับกลายเป็นคนอื่นเมื่อเขาย่างเท้ากลับเข้าไปในชุมชนอีกครั้งหนึ่ง

ตัวอย่างภาพของวรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

           ชุดภาพ ผู้คน สิ่งของ และพื้นที่ นำเสนอความจริงที่แตกต่างหลากหลายในการทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยา ภาพถ่ายแต่ละภาพสื่อสารถึงการใช้ชีวิตของผู้คน สิ่งของ และพื้นที่ ทั้งในเชิงเดี่ยวและจับคู่กัน ตลอดจนมีความเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างหลากหลาย ตั้งแต่อารมณ์ความรู้สึก สีหน้าท่าทาง พื้นที่และการดำเนินกิจกรรม รวมถึงการมีอยู่ในความเชื่อมโยงของสถานที่และห้วงเวลา โดยรวมแล้วกล่าวได้ว่า ชุดภาพของของพสิษฐ์ ปานแร่ ไม่ต่างไปจากความหมายของภาพโคมกระดาษหลากแบบหลายลวดลายที่เขาเห็นว่าชี้ชวนให้คิดถึงความหลากหลายของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในดินแดนเยาวราช ซึ้งแม้จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนแตกต่างหลากหลาย แต่เมื่อความหลากหลายนั้นมารวมกัน พวกมันก็อยู่ร่วมกันอย่างสวยงาม

ตัวอย่างภาพของพสิษฐ์ ปานแร่

           ท่ามกลางสื่อบันเทิงสมัยใหม่มากมายในปัจจุบัน กิจกรรมที่เคยให้ความสนุกเร้าใจในอดีตซึ่งหากไร้ซึ่งผู้สืบทอด มันคงเหลือเพียงแต่ชื่อเท่านั้น ชุดภาพ รถไต่ถัง: ความเสี่ยงบนแผ่นไม้ที่กำลังเลือนหาย ของธัชธรรม โตสกุล บอกเล่าชีวิตของคณะนักแสดงรถไต่ถัง วรวุฒิ กระดูกเหล็ก ที่ผูกไว้กับความเสี่ยงบนรถกระบะและรถจักรยานยนต์ ความท้าทายที่สุ่มเสี่ยง เสียงพาหนะดังระงม และแรงสั่นสะเทือนจากการขับเคลื่อนด้วยความเร็วในแนวตั้งบนถังไม้จนมือของผู้ขับขี่แทบจะจับกับผู้ชมได้เผยให้เห็นความจริงของการแสดงผาดโผนที่หาชมได้ยากและค่อย ๆ ถูกลืมเลือนหายไปตามกาลเวลา

ตัวอย่างภาพของธัชธรรม โตสกุล

           ควายเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่กับวิถีเกษตรกรรมไทยมานาน ทว่าในปัจจุบันแทบไม่ใครเลี้ยงควายเพื่อใช้งานในไร่นาอีกแล้ว ผลจากการขยายตัวของเมือง นิคมอุตสาหกรรม และสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ว่างสำหรับเลี้ยงควายน้อยลง กระนั้นประเพณีวิ่งควายสืบทอดกันมานับร้อยปียังคงถูกรักษาไว้ในจังหวัดชลบุรี ชุดภาพ Folk life – วิถีคน วิถีควาย ของชุตินันท์ มาลาธรรม บอกเล่าประเพณีของคนกับควาย ตลอดจนความผูกพันใกล้ชิดที่ทั้งคนและควายที่ต้องรู้ใจกัน ความจริงที่ถูกนำเสนอในชุดภาพนี้เผยให้เห็นความสัมพันธ์และการดำรงอยู่คู่กันของคนกับควายในฐานะที่ควายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตที่ผูกพันกันมายาวนานและผันเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ตัวอย่างภาพของชุตินันท์ มาลาธรรม

           ในขณะที่ควายเป็นตัวแทนของสัตว์เลี้ยงในวิถีชีวิตเกษตรกรรม การทํานาของชาวสามจังหวัดภาคใต้ คือนราธิวาส ยะลาและปัตตานี เป็นวิถีที่สืบทอดกันมาแต่อดีตโดยอาศัยแรงงานคนเป็นหลัก อย่างไรก็ดี พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มมีนาร้างปรากฏให้เห็นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา ชุดภาพ ภูมิทัศน์แห่งท้องทุ่ง: การฟื้นฟูนาร้างเป็นนาปลอดสารในสามจังหวัดภาคใต้ ของศจี กองสุวรรณ บอกเล่าสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารที่ส่งผลให้เด็ก ๆ ประสบปัญหาขาดสารอาหารมีนํ้าหนักตํ่ากว่าเกณฑ์มาตรฐานและมีภาวะเตี้ยในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น ๆ ภายใต้บริบทอันเป็นสาเหตุสำคัญคือการหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจตัวอื่น การอพยพของผู้คนออกไปจากทำงานนอกพื้นที่จนขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงเหตุการณ์ความไม่สงบที่รุนแรงขึ้น ความจริงที่ชุดภาพนี้สื่อสารคือการฟื้นฟูนาร้างเป็นนาอินทรีย์โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูพื้นที่นา ระบบนิเวศ ตลอดจนวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น อันนําไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและการยกระดับคุณค่าทางโภชนาการในพื้นที่ดังกล่าว

ตัวอย่างภาพของศจี กองสุวรรณ

           พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยเป็นผืนดินที่กั้นกลางระหว่างสองผืนน้ำใหญ่ของโลก คือมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ข้อมูลและหลักฐานทางโบราณคดีในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนพบว่ามีการใช้เส้นทางจากหลายอำเภอในจังหวัดระนอง เดินลัดคาบสมุทรและลงเรือมาออกยังทะเลที่ปากคลองตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ ชุดภาพถ่าย คน ถ้ำ ลูกปัด ของคณณัฐ ประเสริฐวิทย์ บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของผู้คนในยุคปัจจุบันกับถ้ำถ้วยและถ้าปลาในบริเวณใกล้ปากคลองตะโก จังหวัดชุมพร ซึ่งมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุหลากหลายลักษณะ อาทิ ภาชนะดินเผา กระดูกมนุษย์และสัตว์ ลูกปัดแก้ว และลูกปัดหิน อายุราว 3000-4500 ปี ความจริงที่ชุดภาพถ่ายนำเสนอคือผลกระทบต่อกระบวนการรักษาพยานวัตถุทางประวัติศาสตร์ในเส้นทางลัดคาบสมุทรของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ตัวอย่างภาพของคณณัฐ ประเสริฐวิทย์

           ฮวงซุ้ย หรือสุสานสำหรับชาวไทยเชื้อสายจีน เป็นสถานที่ใช้รวมญาติเพื่อกราบไหว้และระลึกถึงดวงวิญญาณตามเทศกาล ร่างของบรรพบุรุษจะถูกฝังไว้ในหลุมศพที่มีขนาดและรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว แต่เมื่อวัฒนธรรมการฝังศพตกทอดมาถึงลูกหลาน บริบทการกลับมารวมตัวกันเพื่อเคารพศพแตกต่างไปจากเดิม ฮวงซุ้ยจำนวนมากถูกปล่อยร้าง ในขณะที่ลูกหลายคนไทยเชื้อสายจีนหลายครอบครัวเปลี่ยนการฝังบรรพบุรษมาเป็นการเผาแทน ชุดภาพ จาก “การฝัง” สู่ “การเผา” ของปิติวัฒน์ อังวัฒนพานิช บอกเล่าเรื่องราวการขุดกระดูกเก่าขึ้นมาเผาซึ่งสะท้อนให้เห็นพิธีกรรมและความเชื่อเกี่ยวกับความตายที่เปลี่ยนไปในหมู่ลูกหลานคนจีน ซึ่งเลือกที่จะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้สอดคล้องกับบริบทสังคมไทยมากขึ้น ความจริงที่ถูกนำเสนอผ่านชุดภาพชี้ชวนให้ครุ่นคิดถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรมและอนาคตของการฝังและการไหว้บรรพบุรุษ

ตัวอย่างภาพของปิติวัฒน์ อังวัฒนพานิช

           ในขณะที่สุสานและวัฒนธรรมการจัดการศพของชาวจีนกำลังเปลี่ยนไป พื้นที่สำหรับคนตายหรือสุสานของชาวคาทอลิกเหนี่ยวรั้งให้ครอบครัวกลับมารวมตัวกันอีกครั้งหนึ่ง ชุดภาพ Before I close your eyes ของนันทณัฐ ดวงธิสาร บอกเล่าเรื่องราวระหว่างตัวเขา ครอบครัวคาทอลิก และความทรงจำที่ตายไปแล้ว ความจริงของชุดภาพนี้เผยให้เห็นว่าการกลับไปยังสุสานนอกจากจะเป็นการรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกบครอบครัวแล้ว การจัดการศพในพื้นที่ของคนตายช่วยสร้างพื้นที่และความสัมพันธ์ให้กับคนเป็นด้วย

ตัวอย่างภาพของของนันทณัฐ ดวงธิสาร

           นิทรรศการ สนามของภาพถ่าย: เรื่องเล่าระหว่างโลกและเลนส์ทางมานุษยวิทยา นำเสนอภาพถ่ายและความจริงที่หลากหลายจากสนามแห่งต่าง ๆ การอยู่ในสนามช่วยให้ช่างภาพได้สัมผัสใกล้ชิดกับชีวิตของผู้คน รับรู้ถึงความสุข ความทุกข์ และความเป็นมนุษย์ที่อาจแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และเวลา ในบทสนทนาระหว่างโลกและเลนส์ทางมานุษยวิทยา ภาพถ่ายแต่ละภาพที่ถูกร้อยเรียงในแต่ละชุดภาพทั้ง 10 ชุดถือได้ว่าเป็นภาพถ่ายที่ดีที่นำผลรวมของประสบการณ์ มุมกล้อง เทคนิค การเล่าเรื่อง และเงื่อนไขเชิงวัตถุในพื้นที่และขณะเวลาหนึ่ง ๆ จากสนาม ไปสู่การขบคิด ชี้ชวนให้ตั้งคำถาม กระตุ้นเตือนการกระทำ ตลอดจนนิยามสังคมวัฒนธรรมที่เราอาศัยอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน


รายการอ้างอิง

Freund, G. 1974. Photography and Society. Massachusetts: D. R. Godine.

Mirzoeff, N. 2016. How to See the World: An Introduction to Images, from Self-portraits to Selfies, Maps to Movies, and More. New York: Basic Books.

im Thurn, E. 1896. Anthropological Uses of the Camera. Journal of Royal Anthropological Institute 22. 184-203.

Edward, E. 2015. Anthropology and Photography: A Long History of Knowledge and Affect. Photography 8(3). 235-252.

Collier, J. 1967. Visual Anthropology: Photography as a Research Method. New York: Holt, Rinehart and Winston.

Mead, M. & Bateson, G. 1942. Balinese Character: A Photographic Analysis. New York: New York Academy of Science.

Brand, S. 1976. For God’s Sake, Margaret!: Conversation with Gregory Bateson and Margaret Mead. CoEvolutionary Quarterly 10. 32-44. Malinowski, M. 1922. Argonauts of the Western Pacific: An Account of Native Enterprise and Adventure in the Archipelagoes of Melanesian New Guinea. London: London, G. Routledge & Sons.

Clifford, J. 1986. Introduction: Partial Truths. In Writing Culture: The Poetics and Politics of Ethnography, Clifford, J. & Marcus, G. (eds.). California: University of California Press.

Gell, A. 1998. Art and Agency: An Anthropological Theory. Oxford: Clarendon Press.

Berger, J. 2013. Understanding Photograph. London: Penguin Books.

Leon-Quijano, C. 2022. Why Do “Good Pictures” Matter in Anthropology. Cultural Anthropology 37(3). 572-598.


ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ Shutter stories เล่าโลกหลังเลนส์ ภาพเก่า ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา