ศรัทธากับความเชื่อ [Faith and Belief]
ระหว่าง "เชื่อ" กับ "ศรัทธา" ค่อนข้างใกล้เคียงกับคำว่าหลงและงมงาย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ไปจนถึงการใช้ชีวิตของคนบางจำพวก บางกลุ่ม และบางครอบครัว รวมถึงเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพหรือผู้มีมิจฉาทิฐิฉวยโอกาสสร้างประโยชน์อยู่ในสังคมไทยทุกวันนี้
ศรัทธาที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต ได้แก่ ความเชื่อในพุทธศาสนาหรือศรัทธาในคุณค่าทางพระพุทธศาสนา ความเชื่อไสยศาสตร์ ความเชื่อและศรัทธาในความดีหรืออิทธิปาฏิหาริย์ ศรัทธาเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและการกระทำของบุคคลในชีวิตประจำวัน การเชื่อและศรัทธาได้สร้างพื้นฐานทางจิตวิญญาณและมุมมองต่อชีวิตที่มีความหมายอันสำคัญในสังคมไทย
ความเชื่อและศรัทธามีบทบาทสำคัญในการนำทางชีวิตและพฤติกรรมของคนไทย ความเชื่อมักเกี่ยวข้องกับความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การทำความดีและการเชื่อมั่นในความดีของสิ่งที่ทำ ในขณะเดียวกัน ความศรัทธามักเน้นที่การเชื่อในสิ่งที่มีเหตุผลและตามกำลังของสติปัญญา ความเชื่อหรือศรัทธาในบางสิ่ง บางครั้งมาในรูปของบุคคลและมาในนามของศาสนา ที่เชื่อว่าจะนำพาเราให้รอดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ก็มีหลายคนที่ตั้งคำถามหรือต่อต้านกับความเชื่อและศรัทธาเหล่านั้น ถือว่าคือความงมงายและเป็นสิ่งที่มิอาจพิสูจน์ได้
ภาพที่ 1 สะท้อนเงานวกะ
พระบวชใหม่ เรียกว่าพระนวกะ ต้องอยู่ในความดูแลของพระอุปฌาย์
ภาพที่ 2 ไหว้ครับหลวงพี่
การไหว้เคารพกับพระ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ เป็นการแสดงความน้อมนำและเคารพ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองขึ้นของตน
ภาพที่ 3 ธงตระขาบ
ธงตะขาบ ใช้ประดับเพื่อแจ้งว่า วัดนี้มีคนมาจองกฐินแล้ว ให้ผู้จะมาปวารณาทอดกฐินผ่านไปวัดอื่นเลยไม่ต้อง เสียเวลามาถาม
ภาพที่ 4 ให้พระ
การให้ของที่ระลึกกับผู้ที่มาร่วมงานบุญแทนความขอบคุณเป็นสิ่งที่พบเห็นในสังคมไทยเสมอ
ภาพที่ 5 พระลักษณ์หน้าทอง
ใบหน้าโค้งมนของชายรูปงาม คิ้วโก่ง ตาโต ริมฝีปากโค้งยิ้มละไมภายใต้ไรหนวดสีเขียว ตรงกลางหว่างคิ้วมีรอยเจิมสีแดง ประกอบกับลวดลายเส้นสายหยักพลิ้วอ่อนช้อยวิจิตรงดงามแบบไทย วิชาพระลักษณ์หน้าทองเป็นวิชาสายเมตตามหานิยม สายขาว มีอานุภาพสูงส่ง ในอดีตนักแสดงโขนหรือนักแสดงละครในนับถือกันมาก เชื่อว่าใครได้ครอบแล้วจะเกิดเดชะเมตตามหานิยมแก่ตนเอง ไปที่ใดใคร ๆ ก็รัก จะร้องรำทำเพลงอย่างไรใคร ๆ ก็ชมชอบ เชื่อว่าเมื่อครอบวิชานี้แล้วจะช่วยให้มีวาสนาดี มีคนอุปถัมภ์ค้ำชู และบังเกิดความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตอย่างสูงสุด
ภาพที่ 6 เป่าควันเทียน
สิ่งสำคัญในพิธีทำขวัญนาค พ่อครูโหราจะรวมเทียนทั้ง 3 แว่นเข้าด้วยกัน เอาใบพลูรองล่างแล้ววนเวียนรอบหลักบายศรีทูนขึ้นเหนือศีรษะและลดต่ำลงมาดับควันเทียนแล้วเป่าควันเทียนใส่หน้านาค โดยให้นาคอ้าปากรับควัน ทำจนครบ 3 ครั้ง
ภาพที่ 7 ช่างฟ้อนล้านนา
การฟ้อนโดยคนรุ่นใหม่ เพื่ออนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีล้านนา เป็นการแสดงพื้นบ้านในงานบูชาเมือง
ภาพที่ 8 สักยันต์โบราณ
เหล็กผ่าปาก เขม่าไฟ ว่านยา ดีสัตว์ ความเจ็บปวด ศิลปะ ความเชื่อและความศรัทธา โดยอาจารย์จะเป็นผู้วางยันต์ให้ โดยมีความเชื่อว่า รูปแบบลายสักหรือยันต์แต่ละชนิดจะให้คุณที่ต่างกัน และผู้ที่ได้รับการสักยันต์จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่แต่ละสำนักกำหนดไว้ ยันต์ที่สักไว้บนส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีการเสกเป่าอัญเชิญครูบาอาจารย์มาคุ้มครองรักษากำกับไว้ทุกครั้งที่สักยันต์ เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้เพิ่มขึ้น และเป็นการระลึกถึงครูบาอาจารย์ที่ประสาทประสิทธิ์ยันต์นั้นให้แก่เรา
ภาพที่ 9 หลั่งเลือดชโลมธรรม
โกนผมนาค โดยจะให้ครอบครัวและญาติพี่น้องของนาค มาตัดปอยผมก่อน จากนั้นพระพี่เลี้ยงก็จะทำการโกนผมนาคเป็นลำดับต่อไปทันที ผมนาคที่โกนแล้วจะห่อด้วยใบบัวแล้วนำไปลอยที่แม่น้ำหรือวางไว้ใต้ต้นโพธิ์ โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข
ภาพที่ 10 ปัดชง
การปัดชงและเสริมดวงให้ลูกหลานที่เข้ามาไหว้อากงโดยเหล่าซือ การขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายร้าย สิ่งที่ไม่ดีที่ติดตัวมา เคราะห์โศกทั้งปวงให้หมดสิ้น
ภาพที่ 11 รับประเคน
การมอบให้ด้วยความเคารพ ใช้ปฎิบัติต่อพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น มีวินัยบัญญัติห้ามพระภิกษุสงฆ์รับหรือหยิบสิ่งของมาเอง ผู้ชายสามารถประเคนให้พระได้โดยตรง แต่หากเป็นผู้หญิงให้วางลงบนผ้ารับประเคน
ภาพที่ 12 กรวยดอกไม้
กรวยดอกไม้เป็นหนึ่งในเครื่องสักการะบูชาของชาวล้านนา มักใช้ในพิธีกรรมหรือเพื่อนำไปวัดบูชาพระ กรวยที่ทำขึ้นส่วนใหญ่ทำจากใบตองหรือกระดาษ โดยม้วนเป็นกรวยเย็บด้วยไม้กลัด ส่วนประกอบที่สำคัญของกรวยดอกอยู่ที่ กาบ หรือ กลีบ ที่พับเป็นรูปต่าง ๆ และเย็บติดกรวย
ภาพที่ 13 สาธุ
สาธุ เป็นคำที่ใช้ในการแสดงความเคารพและอนุรักษ์ในศาสนาพุทธ โดยมักใช้เมื่อเสร็จสิ้นการทำบุญหรือการทำพระธาตุ หรือเมื่อได้ยินเรื่องดี ๆ หรือเห็นเหตุการณ์ที่ดี ๆ ซึ่งเป็นการแสดงความยินดีและความเชื่อในการสร้างความสุขและความเจริญรุ่งเรืองให้กับผู้อื่น
ภาพที่ 14 โปรยทาน
การสละและการไม่ยึดติดถือเป็นสิ่งที่พึงกระทำ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่กำลังจะเข้ารับการอุปสมบท ได้สละแล้วซึ่งทุกสิ่งด้วยการให้ทานคนอื่น และตั้งมั่นที่จะบวชด้วยใจอันบริสุทธิ์
ภาพที่ 15 โปรยข้าวตอก ดอกไม้
ในงานไหว้ครู การโปรยข้าวตอกและดอกไม้มีความหมายที่สำคัญ คือความเจริญรุ่งเรืองและมีความมงคล
ผู้เขียน
ปณต สุสุวรรณ
ผู้เข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Shutter Stories: เล่าภาพย่านเก่าในความทรงจำผ่านเลนส์มานุษยวิทยา ปี 2567
ป้ายกำกับ ศรัทธา ความเชื่อ Faith Belief ปณต สุสุวรรณ