หลังฤดูเก็บเกี่ยวบ้านแม่ปอคี
หลังฤดูเก็บเกี่ยวของชุมชนบ้านขุนแม่เหว่ย หรือแม่ปอคี ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอดั้งเดิม ที่มีระบบการผลิตแบบไร่หมุนเวียนจะนำผลผลิตจากไร่หมุนเวียนมาแปรรูปเพื่อถนอมอาหารและบริโภคโดยเปลี่ยนพื้นที่กลางหมู่บ้าน บนหลังคา เป็นพื้นที่ตากอาหารเพื่อการถนอมชั่วคราวโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นวิถีของชุมชนแห่งนี้ และนี่คือเรื่องราวของบ้านแม่ปอคี หลังฤดูเก็บเกี่ยว
01. แม่ปอคี เป็นชุมชนปกาเกอะญอตั้งเดิม อายุ 423 ปี ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก มีพื้นที่ทั้งหมด 8,386 ไร่
02. ที่นี่ทำไร่หมุนเวียนเป็นหลักและลักษณะการทำเป็นแปลงใหญ่ คือทำที่เดียวทั้งหมู่บ้าน ไร่หมุนเวียนมีพื้นที่ทั้งหมด 4,388.17 ไร่ แบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 รอบการหมุน หรือ 5 ปี
03. แหล่งความมั่นคงทางอาหาร ข้าวไร่หมุนเวียนเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน 2566
04. ลานกลางหมู่บ้าน เปลี่ยนเป็นลานตากข้าวชั่วคราวเพื่อลดความชื้นในข้าว ป้องกันการบูดเสีย
05. มึก่า หรือ ป้า ลุกขึ้นมาตำข้าวด้วย “กลิ” หรือครกกระเดื่องที่ต้องอาศัยกำลังขาเป็นสำคัญ เพราะที่นี่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีเครื่องจักรหรือเครื่องสีข้าว
06. พีพี หรือ ยาย กำลังฟัดข้าวเพื่อแยกข้าวออกจากข้าวเปลือก ทักษะนี้ต้องอาศัยการฝึกฝน ให้เชี่ยวชาญ สำหรับมือใหม่ข้าวอาจจะหกออกจากกระด้งขณะฟัดข้าวก็เป็นได้
07. คัดแยกข้าวเปลือกออกจากข้าวสารอีกที ต้องใช้สมาธิในการเก็บ วิธีการนี้เป็นการฝึกสมาธิของคนชราได้เป็นอย่างดี
08. บนหลังคาหรือลานกว้างหน้าบ้าน ถูกเปลี่ยนเป็นที่ตากยาสูบ ซึ่งชาวบ้านปลูกเอง
09. หลังฤดูเก็บเกี่ยว มักเป็นช่วงเวลาของการแต่งงงาน ขึ้นบ้านใหม่ หรือพิธีมงคล แม่บ้านจะใช้เวลาว่างช่วงนี้ในการทอผ้า เตรียมผ้าไว้ให้กับลูกสาว นอกจากนี้ยังทอจำหน่ายในแบรนด์ “ชอเดอ” ซึ่งเป็นแบรนด์ของเยาวชนในชุมชน
10. ทอผ้ากี่เอว ใช้เวลานานต้องอาศัยความรู้ภูมิปัญญาด้านเทคนิคการทอ และจินตนาการ ในการขึ้นลวดลาย โดยส่วนใหญ่แล้ว ลวดลายของผ้าทอปกาเกอะญอมาจากตำนานเรื่อง “หน่อมื่อกับงูยักษ์”
11. บือพอ หรือ ยุ้งฉางข้าว ที่ไว้เก็บข้าวเปลือกของชาวปกาเกอะญอ
12. ฟืนจากไร่หมุนเวียนถูกนำมาเก็บไว้ใต้ถุนบ้าน สำหรับเชื้อเพลิงในการก่อไฟหุงข้าวในครัวเรือน และต้องเตรียมให้พอก่อนฤดูฝนจะมาถึง
13. แม่ปอคียามสาย ของเดือนมีนาคม ที่นี่สงบและร่วมเย็น ได้ยินเสียงของชะนี นก สัตว์ป่า ร้อง ประหนึ่งวงออเคสตร้ากลางผืนป่าใหญ่
นี่คือภาพเล่าเรื่องของชุมชนบ้านแม่ปอคีที่สะท้อนวิถีอัตลักษณ์ชุมชนชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่ควบคู่กับผืนป่า และสามารถรักษาวัฒนธรรมและสิ่งแวเล้อมให้สมดุลมายาวนานกว่า 400 ปี
ผู้เขียน
ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี
ผู้เข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ Shutter Stories: เล่าภาพย่านเก่าในความทรงจำผ่านเลนส์มานุษยวิทยา ปี 2567