ฮิญาบกลิ่นควันไฟ

 |  ศิลปะ ผัสสะ และสุนทรียภาพ
ผู้เข้าชม : 5242

ฮิญาบกลิ่นควันไฟ

1

           ผ้าคลุมผมลายลูกไม้เบาบางสีครีมอ่อนฉลุและปักลายดอกพิกุลผืนเก่าของย่าถูกหยิบออกมาจากตู้ไม้อัดเก่าที่เป็นสมบัติชิ้นใหญ่ชิ้นสุดท้ายที่ยังหลงเหลือมาจากบ้านย่า ตอนนี้มันอยู่ในบ้านของน้าสาวลูกสาวคนที่ 5 ในบรรดาลูกทั้ง 11 คนของย่า มัยมุนค่อย ๆ บรรจงยกผ้าคลุมผมของย่าออกมาด้วยกลัวว่ามันจะขาดรุ่ยออกเนื่องด้วยความยาวนานของอายุมัน รอยพับสามทบยังคงปรากฏร่องรอยอย่างเด่นชัด มันคงถูกพับเก็บและซ้อนทับด้วยผ้าชิ้นอื่น ๆ มานานเลยทำให้ร่องรอยแห่งความเรียบเป็นช่วงห่างประมาณช่วงละ 15 เซนติเมตรยังคงอยู่ เธอคำนวณด้วยสายตาคร่าว ๆ คาดว่าผ้าผืนนี้น่าจะมีความกว้างของผืนผ้าราว 30 เซนติเมตร ยาวประมาณ 90 เซนติเมตร ดูเหมือนหากเอาไปคลุมศีรษะยังแทบจะคลุมไม่มิด ส่วนความบางของผ้าที่คล้ายผ้าซาตินแต่มีเนื้อผ้าที่หนากว่านิดหนึ่งและรอยฉลุลายปักดอกพิกุลนั้นเล่าก็แทบจะทำให้เส้นผมคนที่คลุมทะลุเล็ดลอดออกมา

           เธอเคยได้ยินย่าและผู้ใหญ่หลาย ๆ คนเล่าให้ฟังว่าผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้สมัยก่อนราว 50 กว่าปีขึ้นไปไม่ได้มีรูปแบบการสวมใส่ฮิญาบหรือผ้าคลุมเหมือนเช่นทุกวันนี้ แต่จะใช้ผ้าคลุมผมพาดที่ไหล่หรือวางบนศีรษะอย่างหลวม ๆ เวลามีงานสำคัญต้องออกไปนอกบ้าน โดยส่วนใหญ่แล้วสาว ๆ สมัยก่อนมักจะสวมเสื้อบานงและมีผ้าคลุมผมพาดบนไหล่ และเธอยังเคยเห็นเสื้อบานงตัวจิ๋วของย่าในตู้ไม้เก่า ผู้หญิงสมัยนั้นเอวบางร่างน้อย ย่าของเธอเองก็ตัวเล็กเอวบางแต่แข็งแรงทะมัดทะแมงยิ่งนัก

           “จะเอาผ้าคลุมผม ไปทำอะไรเหรอ ของมันเก่าขนาดนั้นจะใช้ทำอะไรได้อีก” เสียงน้าสาวของมัยมุนตะโกนมาจากในครัว “จะเอาไปดูเป็นที่ระลึกหน่อย เผื่อได้ใช้สำหรับการทำงานด้วย” มัยมุนตอบ “เอาไปสิ แต่จับเบา ๆ หน่อย มันบางและเริ่มกินเนื้อผ้าตัวเองแล้ว” น้าสาวโต้ตอบอีกครั้งบอกถึงสภาพ ผ้าคลุมผมในตู้ที่มีสภาพเนื้อผ้าเริ่มจะรุ่ยตามวันเวลา ใช่สิน่ะ หากนับวันเวลาอายุของผ้าผืนนี้น่าจะเกือบ 70 กว่าปี แล้ว ย่าเธอจากไปในวัยเกือบ 91 ปี 70 ปีสำหรับอายุผืนผ้า บาง ๆ มันก็ไม่ใช่น้อยแล้ว เธอรำพึงกับตัวเอง

           ระหว่างเก็บผ้าชิ้นอื่น ๆ ลงในตู้เสื้อผ้า สายตาของมัยมุนเหลือบไปเห็นกรงนกกรงหัวจุกเก่าแก่ของน้าเขยที่แขวนไว้ที่ระเบียงหน้าบ้าน ผ่านไปเกือบ 19 ปี แต่เหตุการณ์ ความทรงจำเก่า ๆ ยังคงหวนกลับมาหาเธออยู่เสมอ เธอจำได้ว่าน้าเขยเป็นผู้ชายที่หน้าตาดีคนหนึ่งในหมู่บ้าน เรียกได้ว่าเป็นที่หมายปองของสาว ๆ หลายคน ด้วยความที่ผิวขาว ร่างสูง หน้าตาคมสันแบบฉบับชายมุสลิมแนวปนอาหรับ นัยน์ตาโศกซึ้งสีน้ำตาลอ่อนที่ลือกันว่ามีเสน่ห์เหลือเกินบวกกับความขยันขันแข็งในการทำงาน น้าเขยจึงเป็นชายหนุ่มอันดับต้น ๆ ที่สาว ๆ หลายคนในหมู่บ้านและหมู่บ้านข้างเคียงสนใจแต่ท้ายสุดน้าสาวของเธอก็ได้กุมหัวใจและแต่งงานกับเขา

2

           ในตอนนั้นเธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้นแล้ว จึงยังคงจดจำรายละเอียดเกือบทุกอย่างได้ดี กรงนกกรงหัวจุกทำให้เธอนึกถึงบรรยากาศในร้านน้ำชาที่ดูมีสีสันชีวิตชีวาด้วยบรรดาผู้ชายในหมู่บ้าน เวลาที่เธอไปซื้อข้าวยำในช่วงเช้า ๆ จะได้เห็นบรรยากาศการพูดคุยสนทนาอย่างออกรสชาติ เช่นเดียวกันกับวันนั้น “บือลีกาปอมัยมุน มารีเมะดูวิซีนี” เสียงน้าเขยทักเธอเป็นภาษามลายูว่า “ซื้ออะไรและมาเอาเงินที่นี่” มัยมุนกล่าวขอบคุณน้าเขยและตอบกลับไปว่าย่าให้เงินมาแล้ว ร้านน้ำชาในพื้นที่ชายแดนใต้ถือเป็นแหล่งสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของบรรดาผู้ชายในหมู่บ้าน บางครั้งก็มีผู้ชายจากหมู่บ้านข้าง ๆ มาร่วมวงด้วย ในช่วงเช้า ๆ กลิ่นยาสูบใบจาก บุหรี่ก้นกรองต่าง ๆ คละคลุ้งปนเปจนแทบแยกชนิดไม่ออกลอยอ้อยอิ่งมาจากร้านน้ำชาปะทะกับแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้าดูมีเสน่ห์ในแบบของมัน

           ร้านน้ำชาเมาะเต๊ะห์ที่ใหญ่สุดของหมู่บ้านตั้งอยู่ในห้องแถวชั้นเดียวสีปูนดิบดูเทาทึม แต่แปลกบรรยากาศกลับดูคึกคัก มีชีวิตชีวาด้วยเสียงพูดคุย ด้านหน้าร้านจะเห็นร่างท้วม ๆ ของเมาะเต๊ะห์ยืนห่อข้าวยำลงในใบตองอย่างทะมัดทะแมง สามีร่างผอมของแกเดินไปมารอบร้านเพื่อเสิร์ฟน้ำชากาแฟแก่ลูกค้า ข้าง ๆ ร้านมีราวไม้ไผ่แบบง่าย ๆ สูงจากพื้นดินประมาณช่วงหัวคนประมาณ 3-4 ลำ เพื่อใช้แขวนนกกรงหัวจุก “กวิ๊ก กวิ๊ก กะ กวี๊กกือ กะ กวี๊กกือ” เสียงนกกรงหัวจุกเบิ้ลเสียงร้องสดใส ที่แขวนเรียงรายบนราวไม้ไผ่สีนวลค่อนเก่ามีตะไคร้น้ำเขียวอ่อน ๆ จับอยู่บาง ๆ กลางลำไผ่ เป็นภาพที่ทุกคนคุ้นตาที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ในทุก ๆ วัน

           น้าเขยของเธอก็มาใช้พื้นที่แห่งนี้ในการนั่งดื่มชาเพื่อพูดคุยผ่อนคลายแขวนนกกรงหัวจุกเพื่อฟังเสียงอยู่บ่อย ๆ แต่หลังจากที่น้าเขยของเธอจากไปเนื่องด้วยสถานการณ์ความไม่สงบ ร้านน้ำชาแห่งนั้นก็ดูซบเซาเงียบเหงาลงไปมาก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้แม้แต่บรรยากาศการผ่อนคลายง่าย ๆ ที่ผู้ชายทุกคนสามารถทำได้ตามร้านน้ำชาในชุมชนเป็นเรื่องตึงเครียดและน่าหวาดระแวง ใครที่เข้าไปนั่งดื่มชากาแฟก็จำต้องระมัดระวังคำพูดคำจาและการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และความมั่นคงในพื้นที่

           สถานการณ์ความร้อนแรงที่เกิดขึ้นในปีนั้นก็ทำให้มัยมุนที่สูญเสียน้าเขยไป น่าจะเป็นเหตุการณ์แรก ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปัตตานี สถานการณ์อุกอาจที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตเมือง ชุมชนที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน โดยเฉพาะเหตุเกิดหน้าร้านกาแฟที่มีผู้คนหลายสิบคนนั่งกินดื่ม แข่งนกกรงหัวจุก ดูจะเป็นเรื่องที่กระตุกขวัญผู้คนไม่น้อย ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้น้าสาวและคนในครอบครัวฟังว่า ช่วงสาย ๆ ของวันนั้นเวลาประมาณเกือบ 8 โมงเช้า น้าเขยหิ้วกรงนกหัวจุกมาแขวนที่หน้าร้านน้ำชาเมาะเต๊ะห์เป็นปกติเหมือนเกือบทุกวัน ตอนขากลับยังได้แวะซื้อข้าวเหนียวสมันกุ้ง 3 ห่อไปฝากลูก ๆ และน้าของเธอ เพราะลูกสาวคนเล็กเปรยว่าอยากกินข้าวเหนียวสมันกุ้งมาสองสามวันแล้ว ระหว่างนั้นโดยไม่คาดคิดมีคนขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านมาและจอดหน้าร้านจากนั้นได้ชักปืนยิง 3 นัดไปยังร่างน้าเขย และขี่รถหนีไปท่ามกลางความตกตะลึงของผู้คนในร้าน กว่าจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก็ผ่านไปหลายนาที ทิ้งไว้เพียงร่างน้าเขยที่ล้มฟุบลงหน้าร้านพร้อมหยดเลือดที่ไหลท่วมห่อใบตองข้าวเหนียวสมันกุ้งที่ซื้อไปฝากลูกสาวที่ยังคงกำแน่นอยู่ในมือ

3

           ตั้งแต่น้าเขยจากไป น้าสาวผู้ที่เคยทำหน้าที่เป็นแม่บ้านดูแลลูก ๆ เต็มตัวก็จำต้องเปลี่ยนบทบาทตนเอง จากที่ทำกับข้าวไม่ค่อยเป็นเพราะจากเมื่อก่อนน้าเขยจะเป็นพ่อครัวหลัก เนื่องจากเป็นคนที่เข้มงวดในรสชาติอาหารที่อร่อยและเป็นคนลงมือทำเองอยู่เสมอ น้าสาวก็จำเป็นต้องหันมาทำกับข้าวเอง การหาเลี้ยงชีพตนเองและลูก ๆ ที่ยังเล็ก ๆ อีก 4 คน ดูเป็นเรื่องไม่เล็กสำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่เกือบทั้งชีวิตสามีทำหน้าที่ในการหารายได้มาจุนเจือดูแลครอบครัว

           จักรเย็บผ้าเก่าแก่ที่เป็นมรดกที่สามีเคยซื้อไว้ให้ถูกรื้อปัดฝุ่นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหารายได้มาจุนเจือครอบครัว ทักษะการตัดเย็บผ้าฮิญาบที่พอมีพื้นฐานอยู่บ้างถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ การปักผ้าฮิญาบเป็นสิ่งที่น้าสาวใช้สำหรับดูแลเลี้ยงดูลูก ๆ ในช่วงแรก และขยับขยายมาช่วยงานกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองในเวลาต่อมา หลาย ๆ ครั้งที่ มัยมุนเห็นผ้าคลุมผมของน้าสาวเปียกชุ่มด้วยเหงื่อและกลิ่นควันไฟเมื่อยามเฉียดผ่านยามเธอกำลังนั่งทำกับข้าวให้ลูก ๆ และทอดข้าวเกรียบปลาหลังเขียวเพื่อแบ่งใส่ถุงเล็ก ๆ ไปฝากขายในร้านน้ำชาในหมู่บ้าน บางวันน้าสาวของเธอก็นั่งฉลุปักลูกไม้ลงบนผ้าฮิญาบหลายคืนติดต่อกันทั้งวันทั้งคืน โดยเฉพาะในช่วงใกล้เปิดเทอม ฮิญาบปักชื่อโรงเรียนของเด็กนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหลากหลายโรงเรียน ดูเหมือนจะสร้างรายได้ที่ดีในช่วงเวลาหนึ่ง ดีพอที่จะเลี้ยงตัวเธอและลูก ๆ ได้ “ครึก ๆ ๆ แคร๊ ครึก ๆ ๆ แคร๊” เสียงปักจักรลงบนผืนฮิญาบสีขาวผืนแล้วผืนเล่า สายตาและความพยายามที่มุ่งมั่นต่อการมีชีวิตรอดเหมือนจะทะลุผ่านผ้าคลุมผมบางเบาสีฟ้าอ่อนแซมดอกไม้สีแดงเล็ก ๆ ผืนโปรดของน้าสาว

           ในตอนนั้นผู้หญิงในหมู่บ้านและหมู่บ้านอื่น ๆ อีกหลายชีวิตในพื้นที่ชายแดนใต้ก็มีชีวิตที่คล้ายคลึงกันกับน้าสาวของเธอ ส่วนผู้ชายหลายคนหากยังพอมีแรงก็ข้ามฝั่งไปขายแรงงานยังประเทศมาเลเซีย คนที่มีอายุน้อยและพอมีการศึกษาจบชั้น ม.3 หลายคนไปสมัครเป็น รปภ.ที่กรุงเทพฯ ควันไฟแห่งเหตุการณ์ความไม่สงบ กระสุนปืน และเสียงระเบิด ดูเหมือนจะคงอยู่เนิ่นนานไม่สูญสลายหายไปง่าย ๆ มันคงอยู่และดูทึมเทาไร้ที่มาชัดเจนมากกว่าควันไฟที่ทำอาหารในครัวและร้านน้ำชาประจำหมู่บ้านเสียอีก

4

           น้าสาวมัยมุนเคยบอกกับเธอภายหลังสูญเสียสามีว่า “เมื่อก่อนผู้หญิงแถวบ้านเราเคยแต่เลี้ยงลูก เป็นแม่บ้าน รอรับเงินเลี้ยงดูจากสามีอย่างเดียว เดี๋ยวนี้พอเจอเหตุการณ์แบบนี้ รู้เลยว่า แค่นั้นไม่เพียงพอเลยสำหรับผู้หญิงอย่างเรา ๆ หากอยากมีชีวิตรอด การมีความรู้ ทักษะเรื่องอาชีพ การใช้ชีวิตกับโลกยุคปัจจุบัน การยึดมั่นในศาสนาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราอยู่ได้และหล่อเลี้ยงชีวิตเราให้อยู่ต่อเพื่อลูก ๆ และตัวเอง” แม้เรื่องราวและเหตุการณ์เหล่านั้นจะผ่านมาหลายปีราวกับจะหายไปกับกาลเวลา แต่คำพูดเหล่านั้นมัยมุนยังคงจำได้อยู่ จำได้ พอ ๆ กับคราบน้ำตาบนผ้าคลุมผมสีขาวผืนใหญ่ลายดอกชบาแดงเล็ก ๆ ผืนเก่าของน้าสาวที่ยังคงมีหยดเลือดจากการอุ้มกอดร่างที่ไร้วิญญาณของสามีเธอในวันนั้น หยดเลือดที่ค่อย ๆ ไหลซึมลงไปในผืนผ้าสีขาวและกระจายลามไล้ไปยังดอกชบาเล็ก ๆ จนกลายเป็นดอกชบาแดงใหญ่กว่าเดิมหลายเท่าตัว และน้าสาวเธอก็ยังคงเก็บผ้าคลุมผมผืนนั้นไว้โดยไม่ยอมซักจนถึงทุกวันนี้

5

           ขวบวัยที่เติบโตขึ้น และโอกาสในชีวิตทำให้มัยมุนมีโอกาสไปร่ำเรียนนอกพื้นที่ ได้ทำงานกับผู้คนที่หลากหลาย หลายครั้งเธอก็มองย้อนถามคำถามตนเองและสังคมในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง พื้นที่แห่งนี้ผู้หญิงยังคงต้องดิ้นรนเพื่อปากท้องของตนเอง ครอบครัว การออกไปทำงานนอกบ้านดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงชายแดนใต้ในทุกวันนี้ แต่ก็นั่นแหละ ผู้ชายก็ยังคงต้องทำงานทั้งในพื้นที่บ้านเกิดด้วยค่าแรงอันน้อยนิด บางคนมุ่งแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าก็ยังคงไปขายแรงงาน หรือหาทุนรอนไปเปิดร้านอาหารเล็ก ๆ หรือที่เรียกกันติดปากว่าร้านต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย

           ผู้ชาย เยาวชนอีกหลาย ๆ คนก็หลงเข้าไปในวังวนยาเสพติดจนถึงขนาดไม่ทำงานทำการ เธอเคยพูดคุยกับน้าสาวในประเด็นนี้ “ ทำไมผู้ชายบ้านเราทุกวันนี้หาคนที่ปกติ ไม่ติดยา ขยันทำงาน ไม่เป็นภาระผู้หญิงกันยากนัก” เธอพูดเชิงเปรย ๆ กับน้าสาวที่ปัจจุบันได้ผันบทบาทตนเองมาทำงานภาคประชาสังคมและทำงานเพื่อชุมชนมาหลายปีแล้ว “พูดยาก ก็คงมีหลายแบบ หลายเหตุผล บางทีพวกเขาก็คงไม่ได้อยากเป็นแบบนั้น แต่อาจมีหลายปัจจัยและเหตุผลที่เขาหาทางออกไม่ได้ ทำให้ต้องหลงติดอยู่ในวงจรนั้น บางทีเขาก็ไม่ได้บอกเราหรอก ยิ่งผู้ชายน่ะปากหนัก การบอกเรื่องราวปัญหาของตัวเองและครอบครัวก็เป็นศักดิ์ศรีของเขาน่ะ ผู้หญิงอย่างเราถึงต้องเลือกคนให้ดีก่อน ต้องดูคนให้ดี ดูกันทั้งครอบครัว นิสัยใจคอ ศาสนา” น้าสาวเธอตอบ และยกตะกร้าเห็ดฟางที่ฉีกเตรียมสำหรับทำต้มยำกุ้งเดินเข้าไปในครัว “อีกเดี๋ยวมาเอาต้มยำไปให้ซีตีด้วยน่ะ ช่วงนี้เห็นลำบากอยู่ เห็นว่าลูกสาวเพิ่งตกงาน ลูกชายที่มีก็ติดยาอีก นอกจากรายได้เสริมจากการเพาะเห็ดของกลุ่ม ก็งานปักผ้าฮิญาบนั่นล่ะที่พอช่วยได้บ้าง” น้าสาวพูดถึงเพื่อนของเธอที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวสมาชิกกลุ่มเพาะเห็ดอีกคนในหมู่บ้าน

6

           มัยมุนถือถุงต้มยำกุ้งใส่เห็ดนางฟ้าที่น้าสาวทำเสร็จใหม่ ๆ ลงบันไดบ้านเพื่อเข้าไปในหมู่บ้าน เป้าหมายของเธอคือบ้านซีตีเพื่อนของน้า กลิ่นของต้มยำกุ้งที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ ๆ ส่งกลิ่นหอมของตะไคร้ ใบมะกรูดราวกับจะทะลุออกมาจากถุง ถ้าไม่ติดว่ากินข้าวมาก่อนแล้ว เธอคงกินข้าวอีกรอบ มัยมุนคิดในใจระหว่างสวมรองเท้าแตะสีขาวสายคีบสายสีน้ำเงินตราช้างดาว เดินย่ำเท้าฉับ ๆ ไปในซอยเล็ก ๆ ที่ค่อนข้างอับแสงและชื้นแฉะไปด้วยดินสีดำปนน้ำขังนองพื้น น้ำเหล่านั้นไหลลงมาจากก๊อกน้ำที่ใช้ล้างจานและอาบน้ำของบรรดาเพื่อนบ้านสองฝั่งข้างทาง บางช่วงของเส้นทางจมูกของมัยมุนกระทบกับกลิ่นชื้นค่อนข้างอับ เกือบท้ายซอยก่อนถึงบ้านซีตีมัยมุนได้เจอกับ อับดุล ลูกชายคนเล็กของซีตีที่น้าสาวเล่าให้ฟังว่าติดยาเสพติด อับดุลอายุราววัยประถมศึกษาตอนปลาย “อับดุล เนาะกีมานอ” มัยมุนถามเป็นภาษามลายูว่าอับดุลจะไปไหนหรือ เด็กชายร่างผอมแห้งยิ้มตอบแบบอาย ๆ ว่า จะไปเล่นที่สวนสาธารณะหน้าหมู่บ้านกับเพื่อน ๆ พร้อมทั้งแบมือขอเงินจากมัยมุน “ก๊ะ มีเตาะดูวิดูวอปูโละห์โก๊ะแอะห์” ขอตังค์ 20 บาท มัยมุนยื่นเงิน 50 บาทให้ พร้อมบอกอับดุลว่า เอาไปซื้อของกินให้อิ่ม ๆ น่ะ อย่าเอาไปซื้อของไม่ดี อับดุลรีบรับเงินและวิ่งออกไปจากซอย

           “อัสลามุอาลัยกุม” มัยมุนส่งเสียงสลามทักทายเจ้าของบ้าน ซีตีหญิงค่อนวัยชราร่างผอมอายุหกสิบกว่าค่อย ๆ เดินกระย่องกระแย่งมาหน้าบ้านพร้อมกล่าวรับสลาม อ้าวมัยมุน มาทำอะไรรึ มาขึ้นบ้านมา มัยมุนเดินขึ้นบันไดไม้เก่าโยกเยกอย่างระมัดระวัง ประมาณการด้วยสายตาบ้านหลังนี้น่าจะอายุมากกว่าอายุของเธอเสียอีก เมื่อถึงตัวเรือน เธอยื่นถุงต้มยำกุ้งให้ซีตีพร้อมบอกว่า น้าฝากมาให้ ซีตีกล่าวขอบคุณและบอกว่าไม่เห็นต้องลำบากเอามาส่งเองเลย คราวหลังโทรให้ลูก ๆ เธอไปรับก็ได้

           มัยมุนกวาดสายตาไปยังรอบบ้านไม้เก่าแสงทึมทึบที่มีของอยู่ในบ้านแค่ไม่กี่อย่าง พัดลมสีฟ้าเก่าที่ถอดฝาครอบด้านหน้าออกหนึ่งตัว ทีวีขนาด 14 นิ้ว และตู้เย็นสีขาวสนิมเขรอะอีกตัวหนึ่ง น่าจะนับได้ว่าเป็นเครื่องเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ดูมีราคาที่สุดในบ้านหลังนี้แล้ว “ซีตี เมื่อกี้ตอนเดินเข้ามามัยมุนเดินสวนกับอับดุล ตอนนี้อับดุลเป็นยังไงบ้าง” ซีตีเดินไปเปิดตู้เย็นและเทน้ำจากขวดพลาสติกสีขาวค่อนเหลืองลงไปในแก้วน้ำที่แถมมากับการซื้อผงซักฟอกยี่ห้อหนึ่ง ไอเย็นจากน้ำเกาะรอบ ๆ แก้ว จนเห็นเป็นหยดน้ำ และค่อย ๆ ละลายลงบนโต๊ะญี่ปุ่นตัวเล็ก เหมือนท่าทางของซีตีที่ราวกับกำลังกลืนความรู้สึกและถ้อยคำบางอย่างลงไปในลำคอ มัยมุนแอบเห็นแววตาเศร้าถ่ายทอดมากับน้ำเสียงของเธอ “ดีขึ้นมากแล้ว ช่วงนี้ไม่ค่อยก่อเรื่องเท่าไหร่ แต่ก็ยังคงใช้ยา และยังอยากขายยาอยู่ เขาบอกว่าอยากขายยาให้ได้เงินเยอะ ๆ จะได้เอาเงินให้แม่กับพี่สาวได้ใช้จ่ายอย่างสบาย จะได้ไม่ต้องลำบาก แม่จะได้ไม่ต้องอดหลับอดนอนทำงานปักผ้าคลุมจนปวดหลัง มือเท้าชา เราก็บอกเขาว่าไม่ต้องทำอย่างนั้น เพราะเรายังสามารถทำงานได้ แต่เขาไม่ยอม เขาบอกเพื่อน ๆ เขาหลายคนก็ทำแบบเขาและเก็บเงินได้เยอะ ๆ เขาบอกถ้าเขาไม่ทำงาน แล้วใครจะช่วยแม่กับพี่สาว” ซีตีเล่าพร้อมยกชายผ้าคลุมผมปาดน้ำตาที่เริ่มพรั่งพรู

7

           มัยมุนกล่าวคำลาซีตีหลังจากส่งถุงต้มยำและไถ่ถามทุกข์สุขของเธอและลูก ๆ มือของเธอสลามมือซีตี ซึ่งสัมผัสได้ถึงผิวหนังที่เหี่ยวย่นเย็นชืดด้วยอาการเฉพาะของโรคประจำตัวของซีตีซึ่งเป็นมาหลายปีแล้ว เธอรีบย่ำเท้ากลับบ้านสู่เส้นทางเดิมที่เดินมา ระหว่างทางได้ยินเสียงโหวกเหวกโวยวายของสามีภรรยาที่เช่าบ้านอยู่ในซอยแห่งนั้น เสียงปาข้าวของหล่นกระจายในบ้านหลายชิ้น น่าจะไม่ใช่แค่เธอคนเดียวที่ได้ยินเสียงนี้ ด้วยความที่บ้านเรือนปลูกติด ๆ กันในซอยที่มีพื้นที่เพียงน้อยนิดในชุมชนแห่งนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินเช่าจากราชพัสดุ การมีบ้านให้อยู่ในราคาเช่าที่ไม่แพงมากนักก็ถือว่าดีมากแล้วสำหรับชาวบ้านหลาย ๆ คน

           “เคร้ง ครึ่กๆๆๆ” ลังไม้ที่ประกอบเป็นทรงสี่เหลี่ยมมีช่องตรงกลางสำหรับใส่ปลาสดกระเด็นออกมาจากหน้าประตูสังกะสีบ้านเช่าไม้เก่า ๆ ระหว่างทางเดินที่มัยมุนกำลังย่ำเท้าเพื่อกลับบ้าน ภาพอามีนะห์วิ่งกระโดดออกมาจากประตูบ้านหลังนั้นทำให้มัยมุนตกใจ “เกิดอะไรขึ้นอามีนะห์ มัยมุนถามอามีนะห์เด็กสาวในหมู่บ้านอายุราวๆ 18 ปีที่เคยเห็นวิ่งเล่นในหมู่บ้านแต่เล็กแต่น้อย” อามีนะห์ร้องไห้ปาดน้ำตาพร้อมรีบหยิบลังไม้สำหรับคัดปลามาถือไว้แนบอก ตาของเธอแดงก่ำและบอกมัยมุนว่า “ไม่มีอะไร มะยากีมันบ้า มันไม่มีเงินซื้อยาบ้าเลยขอเงินจากฉัน ๆ แต่ฉันไม่มีเงิน ทั้งเนื้อทั้งตัวตอนนี้มีแค่ 50 บาท จะเก็บไว้ให้ลูกซื้อข้าวกับขนมกิน มันโมโหจะเอาเงินให้ได้เลยทุบตีฉันและขว้างข้าวของในบ้านอย่างที่เห็น ฉันไปก่อนล่ะต้องรีบไปคัดปลา รถคัดปลามารอแล้วฉันต้องไปทำงานหาเงินให้ลูกกับตัวเองได้มีอาหารกินและจ่ายค่าเช่าบ้าน ฉันกลัวเดี๋ยวมะยากีมันไล่อาละวาดมาทุบตีฉันอีก ไปล่ะก๊ะมัยมุน”

           มัยมุนถอนหายใจกับภาพที่เห็นตรงหน้า สงสารอามีนะห์เด็กสาวที่ต้องเผชิญเหตุการณ์บาดแผลในชีวิตคู่ตั้งแต่อายุยังน้อย เธอคิดไปถึงเด็กสาวและผู้หญิงมุสลิมอีกหลายคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้โดยที่ยังไม่สามารถถอนตัวออกมาตั้งหลักใหม่ได้ ชีวิตในแต่ละวันจึงยังคงต้องแบกรับภาระเต็มบ่าทั้งเลี้ยงดูตัวเอง ลูก ๆ และครอบครัวจนแทบจะไม่เจอทางออกที่ดีให้ชีวิตของตนเอง “เมื่อไหร่หนอผู้หญิงบ้านเราจะมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น” มัยมุนกล่าวกับตนเองภายในใจพร้อมชำเลืองมองเศษเสี้ยวของแสงอาทิตย์ยามเย็นที่กำลังสาดส่องสะท้อนน้ำครำสีดำในซอยระหว่างบ้านเรือนที่แออัดบนเส้นทางที่เธอย่ำเท้าก้าวเดินออกมาอย่าง ช้า ๆ


ศัพท์เฉพาะ

*Harum kain lepas เป็นชื่อเรื่องภาษามลายูที่ผู้แต่งแปลเป็นภาษาไทยตามรูปประโยคในชื่อภาษาไทยว่า “ฮิญาบกลิ่นควันไฟ”

Harum: เป็นภาษามลายูหมายถึง “กลิ่มหอม”

kain lepas: ผ้าคลุมผมหรือไหล่ของผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ในสมัยก่อน

ฮิญาบ: ผ้าคลุมศรีษะของผู้หญิงมุสลิม

เมาะเต๊ะห์ : คำเรียกในภาษามลายูใช้เรียกแทนป้าหรือผู้สูงวัยผู้หญิง (ผู้เขียน)

สลาม: การสัมผัสมือเพื่อทักทายหรือกล่าวอำลาของชาวมุสลิม * (ผู้เขียน)


ผู้เขียน

รอฮานี ดาโอ๊ะ

นักวิจัย ประชาสังคม ผู้ทำงานด้านงานพัฒนาในหลากหลายประเด็นโดยเฉพาะประเด็นผู้หญิง เยาวชน วัฒนธรรมฯ มุ่งหวังอยากให้เกิดความหวังและการเปลี่ยนแปลงต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน ผู้หญิงในพื้นที่เกิดความเข้มแข็ง และผู้คนต่างถิ่นรู้จักพื้นที่ชายแดนใต้ในหลากหลายมุมมองที่เป็นความจริง


แรงบันดาลใจ มุมมอง หรือสิ่งที่ต้องการนำเสนอ

           ความทรงจำในวัยเยาว์ ประสบการณ์ชีวิตที่ได้พบเจอทั้งจากการทำงานและการอยู่ในพื้นที่ โดยต้องการนำเสนอสิ่งที่ได้พบเห็นผ่านเรื่องสั้นที่เป็นเรื่องจริงผ่านการสมมุติตัวละครและการเติมแต่งเพียงบางส่วน เป็นการเขียนและเล่าในสิ่งที่รู้สึก สัมผัสในบางมุมในพื้นที่ที่มีทั้งด้านสว่างและมุมสลัว การดิ้นรน ต่อสู้ของผู้คนผ่านตัวละครฯ และเพื่อเป็นการบันทึกความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนเองในห้วงเวลาหนึ่ง


ความรู้สึกหรือมุมมองในการเขียนหลังจากเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมวรรณกรรมสนาม

           ยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งการร่วมเรียนรู้เพื่อเปิดความคิด เปิดใจร่วมกับวิทยากร เพื่อน ๆ ผู้แสวงหาและใฝ่รู้ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่สามารถต่อยอดทางความคิด อารมณ์ในการเขียนเรื่องสั้นเชิงมานุษยวิทยาได้เป็นอย่างดี ขอบคุณสำหรับการให้ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน


 

ป้ายกำกับ วรรณกรรมสนาม ฮิญาบ รอฮานี ดาโอ๊ะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share