ความมั่นคงบนรอยร้าว: ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และผู้คนในพลวัตความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้

 |  รัฐ และวัฒนธรรมอำนาจ
ผู้เข้าชม : 2784

ความมั่นคงบนรอยร้าว: ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และผู้คนในพลวัตความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้

รูปที่ 1 ปกหนังสือ ความมั่นคงบนรอยร้าว: ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และผู้คนในพลวัตความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้ หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

           หนังสือความมั่นคงบนรอยร้าว: ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และผู้คนในพลวัตความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้ เป็นการรวมบทความงานวิจัยของโครงการ กรอบงานวิจัยประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Research Issue: SRI) ลำดับที่ 13 ในเรื่อง “จังหวัดชายแดนภาคใต้” (SRI13) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี และมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นผู้สนับสนุนการวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์การดำเนินงานในด้านการทำความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จึงสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมให้ความเห็นต่องานวิจัยในโครงการกรอบงานวิจัยประเด็นเชิงยุทธศาสตร์นี้ รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ

           ในหนังสือมีบทความที่จะช่วยสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ยังได้เสนอให้เห็นถึงความซับซ้อนและมุมมองที่หลากหลายของปัญหาและสถานการณ์ดังกล่าว เป็นแนวทางในการกำหนดหนทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความเข้าใจถึงความแตกต่างของวัฒนธรรม ร่วมกันสร้างความมั่นคงบนรอยร้าวที่เกิดจากความขัดแย้งกัน เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

           หนังสือเล่มนี้ได้รวมบทความวิจัยจำนวน 8 เรื่อง โดยเริ่มจากบทความแรกที่ทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านบทความ ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับปัต (ปา) ตานีก่อนรัฐสมัยใหม่จนถึงสนธิสัญญาแองโกลสยาม พ.ศ. 2452 (ค.ศ. 1909): มุมมองที่แตกต่างหลากหลาย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของรัฐไทยกับปัต (ปา) ตานี ตั้งแต่ยุครัฐจารีตจนถึงสนธิสัญญาแองโกลสยาม พ.ศ. 2452 โดยตลอดมารัฐไทยมีมุมมองว่าปัต (ปา) ตานีเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย เช่นนั้นการร่วมกันของดินแดนปัต (ปา) ตานีมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยจึงเป็นความชอบธรรม ในทางตรงกันข้ามประวัติศาสตร์ของชาวมลายู ปัต (ปา) ตานี กล่าวว่าปัต (ปา) ตานี เป็นรัฐที่มีเอกราชและอธิปไตยมายาวนาน แต่กลับถูกยึดครองโดยรัฐไทยอย่างไม่ชอบธรรม ตามคำกล่าวนี้จึงได้ถูกหยิบยกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านรัฐไทยโดยขบวนการแบ่งแยกดินแยก

           หลังจากบทความแรก ในส่วนบทความส่วนที่เหลือจะแบ่งบทความออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก มีจำนวน 4 บทความ กล่าวถึง การทำความเข้าใจความเคลื่อนไหวในความรุนแรง และกลุ่มที่สอง จำนวน 3 บทความ กล่าวถึง การหาวิธีการในการหาความสงบและความมั่นคงในพื้นที่ โดยไม่ใช่ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

           โดยบทความกลุ่มแรก เริ่มจากบทความ กฎหมายความมั่นคงและการบังคับใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัด ชายแดนใต้ และพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา โดย ดร.กัลยา แซ่อั้ง, รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมิ มูลศิลป์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาโนชญ์ อารีย์ และ ดร.รุสตั้ม หวันสู อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ศึกษาเนื้อหาและวิเคราะห์พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 จากการศึกษาพบว่า การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงทั้ง 3 ฉบับในพื้นที่ 3 จังหวัด ชายแดนใต้ และพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา รวมถึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและอื่น ๆ ยังคงไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และเกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศ เช่น การขัดต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้คน จากการถูกจับกุมโดยไม่มีหมายศาล การถูกกักตัวไว้ยาวนานขึ้นกว่าข้อตกลงตามกฎหมาย เช่นนั้นการใช้กฎหมายดังกล่าวจึงเป็นความพยายามขยายอำนาจของรัฐผ่านกฎหมาย ที่ส่งผลให้ผู้คนในพื้นที่ 3 จังหวัด ชายแดนใต้ และพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลารู้สึกถึงความไม่เท่าเทียบกันภายใต้กฎหมาย

           นักการเมืองก็เป็นปัจจัยหนึ่งในกระบวนการเคลื่อนไหวในความรุนแรง ดังการอภิปรายจากบทความ พลวัตความเคลื่อนไหวของนักการเมืองมลายูมุสลิมท่ามกลางความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ โดย อิมรอน ซาเหาะ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยาสมิน ซัตตาร์ นักวิจัยสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ศึกษานักการเมืองมลายูมุสลิมในช่วงหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัด ชายแดนใต้ โดยตั้งคำถามว่า การต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภาสามารถเรียกร้องสิทธิของชาวมลายูได้หรือไม่ การศึกษาพลวัตความเคลื่อนไหวของนักการเมืองมลายูนี้ทำให้รับรู้ถึงปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงความคิดของนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่พบกับความผิดหวังทางการเมืองจึงเข้าสู่การเส้นทางขบวนการติดอาวุธของผู้ก่อการ แต่ถึงอย่างนั้นก็มีนักการเมืองที่เชื่อและยังคงมีความหวังในระบบรัฐสภา ว่ายังคงเป็นพื้นที่ต่อรองทางการเมืองของความเป็นมุสลิมหรือมลายู

           นอกจากนักการเมืองก็ยังมีการศึกษาผู้นำศาสนาผ่านบทความ กิจกรรมที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิม และชาวพุทธภายใต้บทบาทผู้นำศาสนาของชุมชนหนึ่ง ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปัญญา เทพสิงห์, รองศาสตราจารย์ ดร.เกษตรชัย และหีม อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฮัสบุลเลาะ อาศิสสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งเป็นการศึกษาความคิดผ่านบทบาทผู้นำศาสนา 2 ศาสนา คือ พระสงฆ์และผู้นำศาสนาอิสลาม ภายใต้ความขัดแย้งและความรุนแรง ยังมีผู้นำศาสนาที่คอยเชื่อมความสัมพันธ์อยู่ ผ่านความพยายามในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสามัคคี และหลีกเลี่ยงกิจกรรมกระทบต่อความรู้สึกของผู้คน เช่น กิจกรรมตลาดนัดในเขตวัดหรือการมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม

           มุมมองของผู้ก่อการความรุนแรงก็เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ เพื่อเข้าใจปัญหาและหาวิธีทางแก้ไข จากบทความ ความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของผู้คนในพื้นที่สีแดง: ความชอบธรรมสำนึกชาตินิยมมลายูปตานี และจุลอัตบัญญัติ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาทิตย์ ทองอินทร์ อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้เขียนได้เข้าไปศึกษาและทำความเข้าใจในความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองใน “พื้นที่สีแดง” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกนิยามว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเคลื่อนไหวในเชิงต่อต้านอำนาจรัฐสูง1  โดยเดิมพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่มีแนวคิดเรื่องชาตินิยมมลายูปตานีและขยายแนวคิดสู่รากฐานประชาชน และจากใช้อำนาจในการรวมศูนย์ที่ส่วนกลางของรัฐ โดยไม่ให้ชุมชนและท้องถิ่นได้เข้าไปจัดการดูแล จึงเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง ทั้งนี้ผู้เขียนยังได้เสนอแนวทางแก้ไขระยะสั้นที่ปกครองความชอบธรรมในการปกครองพื้นที่ของชุมชนและระยะยาวเพื่อความสงบที่ยั่งยืนได้ในพื้นที่สีแดงในอนาคต

           ในส่วนบทความกลุ่มสองจะเป็นบทความที่จะเสนอหนทางในการหาความสงบและความมั่นคงในพื้นที่ โดยไม่ใช่ความรุนแรงในการแก้ปัญหา บทความเรื่อง สันติศึกษาในพื้นที่ความขัดแย้งและความรุนแรง: กรณีศึกษาความเป็นไปได้ของพิพิธภัณฑ์สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัยอิสระ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการเข้าไปสังเกต สัมภาษณ์ ร่วมกิจกรรมกับชุมชน และเขียนบันทึกประจำวันของกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด โดยมีความตั้งใจว่าจะสามารถหาหนทางใหม่แก่การสร้างสันติในพื้นที่ได้ การศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นความหวังและเครื่องมือหนึ่งที่สามารถสื่อสารไปยังรัฐได้ถึงอารมณ์และความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงการแก้ไขความรุนแรงได้

           ในบทความ การกลับคืนสู่สังคมของกองกำลังติดอาวุธในจังหวัดชายแดนใต้: ศึกษาเปรียบเทียบกับกลไกของอาเจะห์และมินดาเนา โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุทธิชัย งานชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เสาวนีย์ แก้วกุลกาญจน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ร่วมกันทำการศึกษากลับคืนสู่สังคมของกองกำลังติดอาวุธในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเปรียบเทียบกับกระบวนการกลับคืนสู่สังคมของกองกำลังติดอาวุธในกรณีของอาเจะห์ ประเทศอินโดนิเซีย และกรณีมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ จากบทความทั้ง 2 ได้อาศัยกระบวนการกลับคืนสู่สังคม โดยใช้วิธีการ 3 ขั้นตอน คือ การปลดอาวุธ (Disarmament) การปลดประจำการ (Demobilization) และการกลับคืนสู่สังคม (Reintegration) หรือเรียกโดยย่อว่า DDR เมื่อเปรียบเทียบ พบได้ว่ามีทั้ง 2 กรณี มีการใช้กระบวนการ DDR ในข้อตกลงสันติภาพอย่างชัดเจน แต่แตกต่างกันที่ในกระบวนการปลดอาวุธ อาเจะห์จะมีการระบุจำนวนอาวุธที่น้อยกว่าความเป็นจริงแต่มินดาเนาจะระบุจำนวนอาวุธที่ต้องปลดมากกว่าความเป็นจริง แสดงถึงความจริงใจระหว่างกองทัพติดอาวุธและรัฐบาล การปลดประจำการอาเจะห์ไม่มีโปรแกรมปรับเปลี่ยนสถานะหรือทำความเข้าใจสังคม ทำให้การเปลี่ยนบทบาทของผู้นำทหารสู้ผู้นำการเมืองเกิดความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรง มินดาเนามีการวางระบบทำให้สามารถได้รับความยอมรับจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ ไม่ยืดหยุ่นแบบมินดาเนา การกลับคืนสู่สังคมของกองกำลังติดอาวุธในจังหวัดชายแดนใต้ ผ่านการศึกษาเปรียบเทียบกับกลไกของอาเจะห์และมินดาเนา พบว่า ควรจะมีหลักนิติที่มั่นคงและข้อตกลงกระบวนการกลับคืนสู่สังคมที่ชัดเจน เช่น ในกระบวนการ DDR จำเป็นต้องมีการครอบคลุมดูแลทั้งทางรัฐ กลุ่มขบวนการ เหยื่อจากความขัดแย้ง และประชาชน ทั้งนี้ต้องมีการขบวนการเจรจาสันติภาพควบคู่กับกระบวนการ DDR รวมถึงต้องมีความไว้วางใจระหว่างคู่ขัดแย้ง โดยไม่ใช้กระบวนการนี้ทำลายคู่ขัดแย้ง

           อย่างไรก็ตาม การพยายามหาวิธีการสร้างความสงบสุข โดยไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ได้ถูกเสนอผ่านบทความ บทสนทนาระหว่างสยบใต้เขตขัณฑ์กับการปลดปล่อยพ้นเขตแดน: การถกเถียงเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองในพลวัตความขัดแย้งชายแดนใต้/ปาตานีร่วมสมัย โดย รอมฎอน ปันจอร์ นักวิจัยอิสระและเจ้าหน้าที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ที่ศึกษาในการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 15 ปี ผ่านวิธีการถกเถียงและโต้แย้งเกี่ยวกับความขัดแย้ง และสุดท้ายได้ผลิตข้อเสนอแนะวิธีการในการสร้างสันติภาพร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้งทุกฝ่าย เช่น ทุกฝ่ายควรตระหนักความสำคัญในการสร้างพื้นที่ถกเถียงเกี่ยวกับอนาคตอย่างเปิดเผย เพื่อบรรเทาผลกระทบ การกระจายอำนาจให้เหมาะสม รวมถึงการใช้ระบอบประชาธิปไตยเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพ

           หนังสือความมั่นคงบนรอยร้าว: ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และผู้คนในพลวัตความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้ เป็นหนังสือที่รวมบทความในประเด็นต่าง ๆ ของเรื่อง จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพได้อย่างชัดเจน โดยสร้างความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านบทความที่อธิบายเกี่ยวกับประวัติความสัมพันธ์ของรัฐไทยและปัต (ปา) ตานี และได้แยกบทความในหนังสือออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะรวมบทความที่พยายามทำความเข้าใจ ความเคลื่อนไหวในความรุนแรงที่มาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น กฎหมายที่บังคับใช้ในสังคม นักการเมืองและผู้นำศาสนา รวมถึงผู้ก่อการเอง ส่วนบทความกลุ่มที่สองจะเป็นกลุ่มบทความที่พยายามหาวิธีการการแสวงหาความสงบและความมั่นคงในพื้นที่ โดยไม่ใช่ความรุนแรงในการแก้ปัญหา โดยศึกษาผ่านแนวคิดการใช้เครื่องมือ เช่น พิพิธภัณฑ์ เพื่อสร้างแนวคิดความสันติร่วมกัน การศึกษาผ่านกรณีศึกษาการกลับคืนสู่สังคมของไทยเทียบกับกองกำลังติดอาวุธในต่างประเทศ เช่น กรณีของอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และกรณีมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ชี้ให้เห็นว่า หลักนิติธรรมที่มั่นคงจะสามารถสร้างสันติภาพได้ชัดเจน หรือการอาศัยวิธีการดีเบตเพื่อให้เห็นหนทางร่วมกันหรือข้อเสนอแนะในการสร้างสันติภาพร่วมกัน จากการอ่านหนังสือเล่มนี้สิ่งที่รู้สึกได้อย่างแรก คือ ความประสงค์ของผู้เขียนบทความทั้งหมดที่ต้องการหาวิธีการแก้ไขในความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ การพยายามหาหนทางที่สร้างความมั่นคงทางสันติภาพให้แก่สังคม เพื่อความสงบต่อไป

           และจากการอ่านหนังสือเล่มนี้สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้ คือ การเข้าใจกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรมหรือการใช้ชีวิต เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการค้นหาหนทางการสร้างความสงบสุข เพราะถ้าหากไม่ทำความเข้าใจกัน อาจส่งผลสู่การเกิดอคติและนำไปสู่ชนวนที่เป็นสาเหตุความรุนแรงต่าง ๆ ได้ ซึ่งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้มีพื้นที่การเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ในนิทรรศการเรียนรู้ อยู่ร่วม Culture Learning, Living Together ที่มีวัตถุประสงค์ที่สร้างความเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้คนเข้าใจถึงความแตกต่างและอยู่ร่วมดันได้ เปิดให้บริการแล้ว ณ ชั้น 1 อาคารสุข กาย ใจ เวลาวันจันทร์ - วันศุกร์ 08.00 - 18.00 น. และ วันเสาร์ 08.00 - 17.00 น. หยุดวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์


รูปที่ 2 นิทรรศการเรียนรู้ อยู่ร่วม Culture Learning, Living Together จัดแสดงที่ชั้น 1
อาคารสุข กาย ใจ หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสืออื่นของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทางFacebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library

           หนังสือ ความมั่นคงบนรอยร้าว: ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และผู้คนในพลวัตความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้ มีจำหน่ายที่ SAC Shop และ SAC Shop Online ราคา 210 บาท สามารถสั่งซื้อได้ทางเว็บไซต์ https://shop.sac.or.th/th/product/99/


1  ความมั่นคงบนรอยร้าว: ประวัติศาสตร์ กฎหมาย และผู้คนในพลวัตความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้. (2564). กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), (หน้า 104)


ผู้เขียน
วรินกานต์ ศรีชมภู
นักบริการสารสนเทศ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ความมั่นคงบนรอยร้าว ความขัดแย้ง ความมั่นคงชายแดนใต้ เรียนรู้อยู่ร่วม วรินกานต์ ศรีชมพู

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา