ประวัติศาสตร์อุทยานแห่งชาติภายใต้ยุคสมัยแห่งทุน (Capitalocene)
หากกล่าวถึงอุทยานแห่งชาติ (National Park) ทุกคนคงจินตนาการได้ว่าเป็นป่าที่มีความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง เพราะประกอบไปด้วยภูเขาลำเนาไพรและสัตว์ป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ที่ปราศจากการดำเนินกิจกรรมของมนุษย์ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสรรพสิ่งในป่าโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในอีกมุมมองหนึ่งจะพบว่าสิ่งนี้มีความขัดแย้งในตัวเอง เพราะอุทยานแห่งชาติคือพื้นที่ที่ตอบสนองต่อธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของมนุษย์ และนับวันธุรกิจดังกล่าวก็ยิ่งขยายตัว กล่าวโดยสรุปแล้ว อุทยานแห่งชาติเป็นเพียงผลผลิตของยุคสมัยแห่งทุนหรือ Capitaloceneเพราะอุทยานแห่งชาติคือการทำให้ป่ากลายเป็นสินค้า (Commodification) ภายใต้การทำงานของอำนาจทุนนั่นเอง
ในบทความชิ้นนี้ จะกล่าวถึงประวัติศาตร์ของอุทยานแห่งชาติอย่างสังเขปโดยชี้ชวนให้เห็นว่าอุทยานแห่งชาตินั้นมิได้ถือกำเนิดขึ้นมาลอย ๆ และก็มิได้ถือกำเนิดขึ้นเพียงเพื่อสนับสนุนแนวคิดการมองป่าเป็นพื้นที่ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ผุดผ่องเท่านั้น หากแต่ถือกำเนิดขึ้นจากการทำงานของอำนาจทุนด้วย
จาก มนุษยสมัย (Anthropocene) สู่ ยุคสมัยแห่งทุน (Capitalocene)
ช่วงคริสต์ทศวรรษ 2000 มีคำศัพท์คำหนึ่งซึ่งปรากฏขึ้นและได้รับความสนใจอย่างมากในแวดวงวิชาการหลายศาสตร์ที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ คำศัพท์คำนั้นก็คือ Anthropocene หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่ามนุษยสมัย มนุษยสมัยคือยุคสมัยที่มนุษย์เป็นศูนย์กลางในการกระทำการต่อธรรมชาติและส่งผลให้ธรรมชาติเกิดความเปลี่ยนแปลงไปในเชิงลบอย่างเห็นได้ชัด มนุษยสมัยกลายเป็นคำที่มีความสำคัญในแวดวงวิชาการเมื่อ Paul J. Crutzen และ Eugene F. Stoermer (2000) เสนอให้มีการปรับปรุงการแบ่งยุคสมัยของโลกเสียใหม่ โดยทั้ง Crutzen และ Stroermer ชี้ให้เห็นว่าในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถเรียกยุคสมัยของโลกในปัจจุบันได้ว่าเป็นยุคสมัยแห่งโฮโลซีน (Holocene) หรือยุคสมัยอากาศอบอุ่นหลังยุคธารน้ำแข็งได้อีกต่อไป เพราะตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปจนกระทั่งถึงปัจจุบันนั้น โลกอยู่ในยุคสมัยที่มนุษย์กลายเป็นศูนย์กลางของการควบคุมธรรมชาติไปแล้ว หลักฐานก็คือความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบเชิงลบของธรณีและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจากการพัฒนาอุตสาหกรรมของมนุษย์ นับจากนั้นมา ข้อเสนอเรื่องมนุษยสมัยของ Crutzen และ Stoermer ก็ได้รับการศึกษาต่อยอดองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องมนุษยสมัยก็เริ่มได้รับการวิพากษ์ในคริสต์ทศวรรษ 2010 เมื่อ W. Moore เสนอให้ใช้คำว่า Capitalocene หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่ายุคสมัยแห่งทุน จะดูมีความเหมาะสมมากกว่า ยุคสมัยแห่งทุนคือยุคสมัยที่ระบบทุนนิยม (Capitalism) เป็นฝ่ายกำกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติจนเกิดผลกระทบเชิงลบต่อทั้งสองฝ่ายอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับ Moore แล้ว แนวคิดมนุษยสมัยนั้นมองมนุษย์เป็นศูนย์กลางในฐานะผู้กระทำการ (Actor) ต่อธรรมชาติมากเกินไป เพราะมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติต่างก็เป็นผู้กระทำการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ภูมิทัศน์ของโลก และต่างก็เชื่อมโยงกันจนเสมือนเป็นโครงข่ายใยแห่งชีวิต (Web of Life) ของโลกใบนี้อยู่แล้ว ดังนั้น Moore จึงเชื่อว่าทุนนิยมต่างหากที่นำเอากลไกของตนมากำกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่งในธรรมชาติจนกลายเป็นปัญหา ทุนนิยมทำให้เกิดการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากให้กลายมาเป็นสินค้าราคาถูก และรวมถึงการขูดรีดแรงงานทั้งที่เป็นมนุษย์และไม่เป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่างมหาศาลอยู่เสมอ (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2564; W. Moore, 2015)
กล่าวโดยสรุป ยุคสมัยแห่งทุนเป็นข้อเสนอที่มองว่าเราไม่ได้อยู่ในยุคที่มนุษย์เป็นศูนย์กลางในการจัดการธรรมชาติ หากแต่เป็นยุคซึ่งอำนาจของทุนเข้ามาคอยกำกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเพื่อให้ดำเนินไปตามทิศทางที่ระบบทุนนิยมต้องการ เช่นเดียวกับการทำให้ป่าเป็นสินค้าในฐานะอุทยานแห่งชาติซึ่งจะได้กล่าวถึงในหัวข้อถัดไป
เยลโลว์สโตน อุทยานแห่งชาติ และการเป็นพื้นที่ป่าคุ้มครองของโลก
เยลโลว์สโตน (เป็นป่าซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางประมาณ 8,000 ตารางกิโลเมตร และตั้งอยู่ในพื้นที่ของ 3 รัฐ (ไวโอมิง มอนทานา และโอไฮโอ) ของสหรัฐอเมริกา เยลโลว์สโตนถือเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของสหรัฐฯ และยังถือเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของโลกซึ่งเป็นต้นแบบให้แก่ประเทศอื่นนำไปปฏิบัติตาม สำหรับในปัจจุบัน แนวคิดการสถาปนาอุทยานแห่งชาติในทุกหนแห่งของโลก ก็ยังคงเหมือนกับแนวคิดการสถาปนาอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนเมื่อ ค.ศ.1827 นั่นคือการคุ้มครองพื้นที่ป่าให้ยังคงความบริสุทธิ์ โดยอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนนั้นจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของตนว่าส่วนหนึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวบุกเบิกดินแดนใหม่ ๆ ทางตะวันตกของสหรัฐฯ ซึ่งเคยพบกับพื้นที่ธรรมชาติแห่งหนึ่งที่มีความสวยงาม รุ่มรวยไปด้วยสัตว์ป่า และชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองซึ่งคนภายนอกไม่เคยพบเห็นมาก่อน จากประสบการณ์เหล่านั้น ทำให้รัฐบาลต้องการคุ้มครองพื้นที่ธรรมชาติแห่งนั้นไว้ให้บริสุทธิ์ดังเดิม และต้องการถ่ายทอดสิ่งนี้ให้ประชาชนรุ่นหลังได้สัมผัสโดยการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวทัวร์ป่า นับจากนั้นมา พื้นที่ธรรมชาติดังกล่าวก็กลายมาเป็นอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน ก่อนที่จะส่งต่อความสำเร็จให้แก่ประเทศอื่น ๆ โดยอ้างถึงการเป็นต้นแบบพื้นที่ป่าบริสุทธิ์ซึ่งได้รับการคุ้มครอง (Dan Brockington et al., 2008, p.18-19)
อย่างไรก็ตาม ณภัค เสรีรักษ์ ชี้ให้เห็นว่า การที่อุทยานแห่งชาติสถาปนาตนเองเป็นพื้นที่ป่าคุ้มครองของโลกนั้น มองข้ามข้อเท็จจริงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ว่ามนุษย์รู้จักการทำพื้นที่ป่าคุ้มครองมาก่อนที่จะมีอุทยานแห่งชาติแล้ว และการเป็นพื้นที่ป่าคุ้มครองก็มีวัตถุประสงค์และแนวทางที่หลากหลาย ตัวอย่างเช่น อินเดีย ช่วง 300-400 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีพื้นที่คุ้มครองให้แก่ช้างในฐานะที่เป็นสัตว์เลี้ยงสายพันธุ์หนึ่ง หรือแม้กระทั่งยุคสมัยที่จักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ สังคมก็รู้จักการวางระบบคุ้มครองพื้นที่ป่าและการจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งให้แก่สัตว์ป่าเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น กลุ่มชาติพันธุ์หรือสังคมชนเผ่าในหลายแห่ง ต่างก็มีแนวทางเป็นของตนเองในการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ธรรมชาติ โดยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่ และแนวทางเหล่านั้นยังเกี่ยวโยงกับพิธีกรรมทางจิตวิญญาณซึ่งมีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน (ณภัค เสรีรักษ์, 2566, น.80-81)
ถึงแม้จะพบว่ามีการมองข้ามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการคุ้มครองพื้นที่ป่า แต่เมื่อมีการพูดถึงป่าคุ้มครอง เราก็มักนึกถึงพื้นที่ป่าบริสุทธิ์ที่ได้รับการคุ้มครองในรูปแบบอุทยานแห่งชาติก่อนเป็นลำดับแรก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้เพราะการทำงานของทุนนิยม กล่าวในเชิงรายละเอียดแล้ว อุทยานแห่งชาติคือพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จึงไม่แปลกที่จะมีการใช้กลไกบางอย่างเพื่อทำให้สังคมยอมรับในแนวคิดของอุทยานแห่งชาติอันส่งผลดีต่อกระแสการบริโภคต่อไป (ณภัค เสรีรักษ์, 2566, น.82) ทั้งนี้ Jim Igoe และ Dan Brockington ยังได้ขยายความเพิ่มเติมว่า กลไกการดำเนินงานของอุทยานแห่งชาติ มีลักษณะของการเป็นเครือข่ายเชิงสถาบันอย่างเห็นได้ชัด1 อุทยานแห่งชาติจะไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากขาดการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และรวมถึงองค์การระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำหน้าที่สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องคุณค่าของป่าบริสุทธิ์ รวมถึงหากขาดการสนับสนุนจากกลุ่มทุนและสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งในและระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในเรื่องการพัฒนาพื้นที่อุทยานและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Jim Igoe and Dan Brockington, 2007, p.438-442)
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอุทยานแห่งชาติถือกำเนิดขึ้นมาภายใต้การกำกับของอำนาจทุนมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ความสัมพันธ์อันดีระหว่างอุทยานแห่งชาติและทุนนิยมมีจุดเริ่มต้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และจากจุดเริ่มต้นดังกล่าวก็ได้รับการแพร่ขยายไปสู่ประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทย
อุทยานแห่งชาติในประเทศไทย: ผลผลิตจากอำนาจทุนในสมัยสงครามเย็น
ผู้บรรยาย: อุทยานเขาใหญ่นี่เปิดเมื่อปีไหน
เจ้าหน้าที่: ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2505 ครับ สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์ ท่านมาเป็นประธานพิธีเปิด ตอนนั้นผมมาเที่ยว แต่ยังไม่ได้มาประจำที่นี่ ที่จริงเริ่มเตรียมให้เขาใหญ่เป็นสถานที่พักผ่อนมาตั้งแต่ปี 2502 แล้ว
ผู้บรรยาย: เห็นมีบ้านพักหลายแห่ง
เจ้าหน้าที่: ครับ มีบ้านพักไว้หลายแห่ง เป็นของกรมป่าไม้สร้างไว้ก็มี และของสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างไว้ก็มี อยู่ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองปิง สนามกอล์ฟก็มีครับ
ผู้บรรยาย: สถานที่เต้นรำมีบ้างไหม
เจ้าหน้าที่: อะไรครับ ผมฟังไม่ถนัด
ผู้บรรยาย: เปล่า เปล่า ถามไปอย่างนั้นแหละ ผมไม่ได้หายใจเป็นเรื่องเต้นรำหรอก มาที่นี่ก็เพื่อมาหาความสงบเงียบ มาหาบรรยากาศธรรมชาติ มาฟังเสียงธรรมชาติ
(จากบทละครทางวิทยุเมื่อ พ.ศ.2512 เรื่อง ท่องเมืองไทยเรื่องอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่)
อุทยานแห่งชาติของไทยถือกำเนิดในพุทธทศวรรษ 2500 เขาใหญ่ถือเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรก โดยได้รับการสถาปนาเมื่อ พ.ศ.2505 และในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเล็กน้อย รัฐบาลยังได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ซึ่งถือได้ว่าเป็นกฎหมายคุ้มครองพื้นที่ป่าในฐานะอุทยานแห่งชาติฉบับแรกของประเทศไทย นอกจากนั้น หากย้อนหลังกลับไปอีก ใน พ.ศ.2503 รัฐบาลยังได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าด้วย จากข้อมูลโดยย่อนี้ หากพิจารณาอย่างผิวเผินแล้ว สิ่งนี้เป็นเพียงเรื่องนโยบายของรัฐในการคุ้มครองป่าเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์ การถือกำเนิดของอุทยานแห่งชาติของไทย มีความสัมพันธ์กับการไหลทะลักเข้ามาของอำนาจทุนในสมัยสงครามเย็น
ประเทศไทยในพุทธทศวรรษ 2500 คือช่วงเวลาที่สถานการณ์สงครามเย็นกำลังทวีความรุนแรง พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ตลอดจนพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคอินโดจีนซึ่งตั้งอยู่รอบข้างไทย แผ่ขยายอิทธิพลต่อเนื่อง รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเริ่มนโยบายกระชับความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อขอรับการสนับสนุนยุทธศาสตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งการสนับสนุนในครั้งนั้น ยังได้นำพาทุนจำนวนมหาศาลจากสหรัฐฯ ไหลทะลักเข้ามาสู่ประเทศไทยด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีความเติบโต ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง ใน พ.ศ.2502 รัฐบาลสถาปนาองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นหน่วยงานสร้างภาพลักษณ์ให้แก่สังคม (โดยเฉพาะสหรัฐฯ) ได้เห็นว่าประเทศไทยคือดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติและวัฒนธรรมอันแสนสวยงามสงบสุข เปรียบเสมือนดินแดนแห่งโอเอซิส (ท่ามกลางความวุ่นวายของสงคราม (Matthew Phillips, 2015, p.145-178) แม้กระทั่งการท่องเที่ยวแบบทัวร์ป่าซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบาก ก็กลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับการรณรงค์เชิญชวนอย่างคึกคัก ทั้งยังมีกระแสการตอบรับดีในฐานะที่ช่วยปลุกจิตวิญญาณการผจญภัยของคนหนุ่มสาวในเวลานั้น (ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, 2563, น.124-125)
อุทยานแห่งชาติก็ถือกำเนิดขึ้นจากความต้องการของรัฐบาลไทยในการทำให้ป่าเป็นสินค้าเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตามบริบทยุคสมัยของสงครามเย็นเช่นเดียวกัน โดยใน พ.ศ.2498 รัฐบาลได้ส่งข้าราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านการป่าไม้ ไปศึกษาดูงานต้นแบบ ณ อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนของสหรัฐฯ และจากการไปศึกษาดูงานดังกล่าว ส่งผลให้กลไกการดำเนินงานของอุทยานแห่งชาติประจำประเทศไทยซึ่งเริ่มมีการวางแผนในช่วง พ.ศ.2502-2503 มีความเป็นเครือข่ายเชิงสถาบันไม่ต่างจากของสหรัฐฯ เพราะนอกจากการสนับสนุนโดยหน่วยงานรัฐแล้ว ยังมีการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง The International Union for Conversation of Nature (IUCN) ซึ่งในขณะนั้นได้ส่ง George D. Ruhel เจ้าหน้าที่ประจำ U.S. National Park Service เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอุทยานแห่งชาติ นอกจากนั้น ยังมีการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งในขณะนั้นคือนิยมไพรสมาคมอันนำโดย บุญส่ง เลขะกุล นักรณรงค์อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า นอกจากองค์การระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชนแล้ว กลุ่มทุนก็มีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินงานของอุทยานแห่งชาติด้วย ตัวอย่างเช่น สมาคมโรงแรม ซึ่งส่งผู้แทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติชุดแรก เป็นต้น (สำนักอุทยานแห่งชาติ, 2548, น.6-7) ทั้งนี้ ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า และนับจากพุทธทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา ประเทศไทยยังคงได้รับการสนับสนุนทั้งเงินทุนและข้อเสนอทางวิชาการจากองค์การระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมเสมอมา ตัวอย่างเช่น Food and Agriculture Organization (FAO), United Nations Development Programme (UNDP), United States Agency for International Development (USAID), World Wildlife Fund (WWF) เป็นต้น (Pinkaew Laungaramsri, 2002, p.76)ซึ่งผู้สนับสนุนเหล่านี้เอง จะช่วยเพิ่มโอกาสให้อุทยานแห่งชาติกลายเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จ
เมื่อกลไกการดำเนินงานปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 และ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ในกฎหมายฉบับหลังนี้ มีการกำหนดไว้ในมาตราที่ 6 ว่าการกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาตินั้น จะเป็นพื้นที่ซึ่ง “มีสภาพธรรมชาติเป็นที่น่าสนใจ” และจะคงให้อยู่ในสภาพเดิมเพื่อ “เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน” (พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504, มาตรา 6) กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นว่าอุทยานแห่งชาติคือพื้นที่ป่าซึ่งต้องมีลักษณะดึงดูดสายตาคน และต้องได้รับการคุ้มครองเพื่อคงความบริสุทธิ์ไว้ โดยสาเหตุที่ต้องมีการนิยามเช่นนั้นก็เพื่อสนับสนุนกระแสการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ความรื่นรมย์ของประชาชน) นั่นเอง แม้จะต้องใช้กฎหมายเพื่อบีบบังคับให้ชาวบ้านออกไปจากพื้นที่ก็ตาม
การสิ้นสุดของสงครามเย็นในช่วงปลายพุทธทศวรรษ 2520 ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ และรวมถึงกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ยิ่งทำให้พื้นที่ป่าจำนวนมาก แปรสภาพจากสมรภูมิมาเป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, 2562) ขณะที่ในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2530 รัฐบาลยังได้ประกาศปิดป่าสัมปทาน ปรับปรุงสัดส่วนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้เป็นร้อยละ 25 (จากร้อยละ 15) ดังนั้น จึงไม่แปลกหากจะพบว่าในช่วงสองทศวรรษนี้ ประเทศไทยจะมีอุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วราวดอกเห็ด โดยในช่วงก่อนพุทธทศวรรษ 2520 ประเทศไทยมีอุทยานแห่งชาติ 12 แห่ง แต่ในช่วงพุทธทศวรรษ 2520 - ต้นทศวรรษ 2530 ประเทศไทยมีอุทยานแห่งชาติเพิ่มขึ้นอีก 51 แห่ง รวมกับของเดิมเป็น 63 แห่ง (Ghimire, 1991, p.6) นอกจากนั้น กระแสความนิยมของการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ในช่วงพุทธทศวรรษ 2540 ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อุทยานแห่งชาติขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน2 โดยในปัจจุบัน (พ.ศ.2568) ประเทศไทยมีอุทยานแห่งชาติที่ประกาศในราชกิจนานุเบกษาแล้วเป็นจำนวน 133 แห่ง และควรกล่าวด้วยว่า วัตถุประสงค์สำคัญของการตั้งอุทยานแห่งชาติก็ยังคงเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองป่าให้เป็นพื้นที่บริสุทธิ์เพื่อตอบสนองต่อธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเช่นเดิม ทั้งนี้ สำนักอุทยานแห่งชาติได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการตั้งอุทยานแห่งชาติซึ่งสอดคล้องกันกับวัตถุประสงค์ดังกล่าวไว้ว่าจะต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองพื้นที่ธรรมชาติที่มีลักษณะโดดเด่น เพื่อการศึกษา และเพื่อพักผ่อนหย่อนใจโดยมีการจัดกิจกรรมสันทนาการตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว (สำนักอุทยานแห่งขาติ, 2548, น.8)
ดังนั้น หากกล่าวโดยสรุปแล้ว อุทยานแห่งชาติของไทยก็เหมือนกับอุทยานแห่งชาติของประเทศอื่น ๆ คือเป็นป่าคุ้มครอง โดยมุ่งเน้นความเป็นป่าบริสุทธิ์ปลอดมนุษย์ แต่อยู่ภายใต้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ตามวิถีทางของระบบทุนนิยม สิ่งนี้คือตัวตนของอุทยานแห่งชาติมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้ตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง
ความส่งท้าย
อุทยานแห่งชาติ มิใช่ป่าที่เกิดขึ้นเพียงภายใต้แนวคิดการทำให้ป่าคงความบริสุทธิ์ หากแต่เป็นป่าคุ้มครองซึ่งเกิดขึ้นจากการกำกับของอำนาจทุนมาตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งนี้ บทความชิ้นนี้ยังมิได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องความรู้และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการจัดจำแนกประเภทของป่าซึ่งสมควรแก่การคุ้มครองด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะใช้เครื่องมือใดก็ตาม ป่าคุ้มครองแบบนี้ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในป่ามาก่อน ในทางกลับกัน ชาวบ้านกลายเป็นบุคคลที่รัฐมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองป่า จึงต้องใช้กฎหมายเพื่อขับออกไปจากพื้นที่ และถึงแม้ในปัจจุบันเราจะมีพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 แต่กฎหมายฉบับนี้ก็กำหนดให้พื้นที่ป่าของชุมชนคือพื้นที่ที่อยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์ อุทยานแห่งชาติจึงยังคงเป็นพื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งต้องการจ่ายเงินเข้ามาเพื่อชมความเขียวขจีของภูเขาลำเนาไพรและสัตว์ป่าหายากเท่านั้น ถึงที่สุดแล้ว โครงการอุทยานแห่งชาติภายใต้ยุคสมัยแห่งทุน (ตลอดจนความขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่) จึงจะยังคงดำเนินต่อไปเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต และคงจะเป็นเช่นนั้นต่อไปหากไม่มีการหันกลับมาวิพากษ์ถึงที่มา รูปแบบ และปัญหาในการดำเนินงานของอุทยานแห่งชาติอย่างจริงจัง
บรรณานุกรม
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2564). “ยุคสมัยแห่งทุน: ข้อถกเถียงว่าด้วยมนุษยสมัยในโลกวิชาการมาร์กซิสต์” ใน Anthropocene บทวิพากษ์มนุษย์และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยแห่งทุน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ณภัค เสรีรักษ์. (2566). ธรรมชาติสถาปนา: การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสมัยของทุน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ถนอม เปรมรัศมี. (2514). “ท่องเมืองไทยเรื่องอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ออกอากาศทางสถานีวิทยุศึกษา วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม 2512.” ใน คำบรรยายเรื่องป่าไม้คือความอยู่ดีมีสุขของประชาชน และ เรื่องป่าไม้ทางสถานีวิทยุศึกษา จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานศพคราวประชุมเพลิงคุณพ่อยิน วิภาตะโยธิน ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 24 เมษายน 2514, พระนคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย.
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504, สืบค้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 จาก http://kromchol.rid.go.th/person/main/images/low_rid_pdf/007.pdf
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, “การแปลงฐานที่มั่นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว: การเมืองเชิงพื้นที่ในทศวรรษ 2520” ใน วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 15: 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562).
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2563). ประวัติศาสตร์แห่งการเดินทางและภูมิศาสตร์การเมืองในรอบศตวรรษ: ว่าด้วยการท่องเที่ยวในฐานะมรดกแห่งการสร้างชาติของรัฐไทย จากรัฐจารีต สงครามเวียดนาม สู่ยุครัฐประหาร 2549. กรุงเทพฯ: สมมติ.
สำนักอุทยานแห่งชาติ. (2548). อุทยานแห่งชาติในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักอุทยานแห่งชาติ.
Brockington, D., Rosaleen, D. and Igoe, J. (2008). Nature Unbound: Conservation, Capitalism the Future of Protected Areas. London Sterling: Earthscan.
Crutzen, Paul J. and Stoermer, Eugene F. “The Anthropocene” in Global Change Letter, 41 (May 2000).
Ghimire, Krishna B. (1991). Parks and People: Livelihood Issue in National Parks Management in Thailand and Madagascar. United Nations Research Institute for Social Development.
Igoe, J. and Brockington, D. “Neoliberal Conservation: A Brief Introduction” in Conservation and Society, Volume 5 No.4 (2007).
Moore, Jason W. (2015). Capitalism in the Web of Life: Ecology and the Accumulation of Capital. London and New York: Verso.
Pinkaew Laungaramsri. (2002). Redefining Nature: Karen Ecological Knowledge and the Challenge to the Modern Conservation Paradigm. Chennai: Earthworm Books.
Phillips, Matthew. (2015). Thailand in The Cold War. New York: Routledge.
1 ควรกล่าวด้วยว่า Jim Igoe และ Dan Brockington เน้นไปที่การทำงานเป็นเครือข่ายเชิงสถาบันภายใต้กรอบคิดแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism).
2 การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ไม่ใช่เพียงแค่การไปเที่ยวเพื่อให้รู้ถึงความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้น หากแต่เป็นการเที่ยวเพื่อให้ได้สัมผัสถึงประสบการณ์บางอย่างที่นักท่องเที่ยวไม่สามารถหาได้ทั่วไปในเมือง ตัวอย่างเช่น การเที่ยวป่าแบบผจญภัย ซึ่งนักท่องเที่ยวมองว่าเป็นการให้ปรัชญาชีวิตเรื่องการไขว่คว้าหาความสุขที่มากกว่าเรื่องของวัตถุ เป็นต้น.
ผู้เขียน
ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข
นักวิจัย. ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ประวัติศาสตร์ อุทยานแห่งชาติ ยุคสมัยแห่งทุน Capitalocene ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข