สืบทฤษฎี สาววิธีคิด : การเดินทางของมานุษยวิทยา

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 2008

สืบทฤษฎี สาววิธีคิด : การเดินทางของมานุษยวิทยา

รูปที่ 1 ปกหนังสือ สืบทฤษฎี สาววิธีคิด : การเดินทางของมานุษยวิทยา
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


           การศึกษาทางมานุษยวิทยาในประเทศไทยยุคบุกเบิกนั้นเริ่มต้นขึ้นในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเป็นการเข้าไปทำความรู้จักสังคมไทยในรูปแบบสังคมชาวนา สังคมชนบท แล้วจึงขยายพื้นที่เข้าไปยังสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ขณะที่บริบทของสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเสมอ นักมานุษยวิทยาจึงไม่หยุดนิ่งในการเดินทางเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ และพัฒนากระบวนการสร้างความเข้าใจในรูปแบบของวิธีวิจัยที่ปรับเปลี่ยนไปให้เข้ากับบริบทของสังคม

           เพื่อให้การประมวลความรู้ในการศึกษาทางมานุษยวิทยาในประเทศไทยและช่วยสะท้อนการเดินทางของนักมานุษยวิทยาไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 30 ปีที่ก่อตั้งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) ขึ้น ศมส. จึงได้จัดการเสวนาออนไลน์ชุด “ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทย ผ่านการศึกษาของนักมานุษยวิทยา” รวมทั้งสิ้น 15 ครั้ง โดยเชิญชวนนักมานุษยวิทยากว่า 40 คน ร่วมกันสะท้อนความคิดเห็นต่อพัฒนาการของงานมานุษยวิทยา ทบทวน และทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาท้าทายองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยาอยู่เสมอ


รับชมบันทึกการสนทนาทั้ง 15 ครั้งได้ที่  https://bit.ly/41HYDJQ


           เนื้อหาของการเสวนาออนไลน์ชุด “ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทย ผ่านการศึกษาของนักมานุษยวิทยา” ทั้ง 15 ครั้ง ถูกรวบรวมและเรียบเรียงใหม่ในรูปแบบของหนังสือ “สืบทฤษฎี สาววิธีคิด : การเดินทางของมานุษยวิทยา” เล่มนี้

           การเดินทางของงานมานุษยวิทยาในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นด้วยเรื่องของ ชนบทศึกษา ในหัวข้อเรื่อง พัฒนาหรือไม่พัฒนา: ชนบทศึกษาในประเทศไทย ที่มุ่งอภิปรายถึงชนบทศึกษาในสังคมไทย – ทุ่งหญ้าและป่าเขาลำเนาไพร - ชนบทไทยเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ หรือเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อครอบงำกรอบความคิดที่มีต่อผู้คนในชนบท รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการรุกคืบของทุนนิยมที่ส่งผลกระทบต่อสังคมชนบท จึงทำให้นักมานุษยวิทยาหันมาศึกษาศักยภาพของชนบทเพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

           ถัดจากการศึกษาชนบทของสังคมไทย เป็นการอภิปรายของนักมานุษยวิทยาที่ให้ความสนใจกับการศึกษาชาติพันธุ์ หรือ ชาติพันธุ์วิทยา (Ethnology) ในหัวข้อ ชาติพันธุ์: ความรู้-ผู้คน แนวทางการศึกษาและนัยที่หลากหลาย ที่กล่าวถึง ข้อถกเถียงเรื่องคำเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ มายาคติที่รัฐไทยมีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ปรากฏการณ์ข้ามชาติข้ามพรมแดนที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ก้าวข้ามข้อจำกัดทางพื้นที่ทางกายภาพ ตลอดจนการใช้ความรู้ทางมานุษยวิทยาในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายทางด้านชาติพันธุ์ ซึ่งสอดคล้องไปกับการอภิปรายในหัวข้อ มานุษยวิทยาการเมือง บทบาทของความรู้ที่ยกระดับสังคม ที่ผู้ร่วมอภิปรายได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความรู้ทางมานุษยวิทยาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การสร้างคุณค่าและบรรทัดฐานใหม่ ตลอดจนการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย

           ขณะที่ การศึกษามานุษยวิทยาศาสนาก็เป็นประเด็นหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจในฐานะสถาบันที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน การอภิปรายในประเด็น ผี/พระ/เจ้า: ความเชื่อ ศรัทธา และศาสนาในบริบทสังคมไทย จึงพูดถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับผีกับศาสนา ความสัมพันธ์ของศาสนากับการเมือง การอธิบายเรื่องของศาสนา ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างในมิติอื่น ๆ ทางสังคม

           ในหัวข้อ มานุษยวิทยา-คติชนวิทยา: สองศาสตร์พี่น้องท้องเดียวกันในแนวทางการวิจัย เมื่อความท้าทายของนักคติชนวิทยาถูกนำมาถกเถียงในมิติของพัฒนาการของคติชนวิทยาตั้งแต่ชนบท – ชาติพันธุ์ - คนเมือง - สังคมอินเทอร์เน็ต ที่ส่งผลให้เกิดการต่อยอดโดยการนำความรู้ทางคติชนวิทยามาประยุกต์ใช้จนสามารถนำ “วัฒนธรรม” มาเป็น “สินค้า”

           โบราณคดีหลากเจน: จากเพิงผาสู่มหานคร เป็นการร่วมกันอภิปรายการทำงานของนักโบราณคดีในมิติที่หลากหลาย ซึ่งความท้าทายหนึ่งของงานโบราณคดีคือการตีความวัตถุหลักฐานเพื่ออธิบายระบบความคิดและวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดลงในโบราณวัตถุต่าง ๆ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสื่อสารงานโบราณคดีและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรมได้

           การทำความเข้าใจมนุษย์นั้นไม่อาจสมบูรณ์ได้หากขาดความรู้ทางมานุษยวิทยากายภาพ กายวิภาคของ “มานุษยวิทยากายภาพ” จึงเป็นการอภิปรายการศึกษามานุษยวิทยากายภาพที่บูรณาการความรู้จากหลายสาขาวิชาไม่ว่าจะเป็น โบราณคดี กายวิภาคศาสตร์ พันธุศาสตร์ นิติเวช ทันตกรรม มาร่วมให้คำอธิบายพัฒนาการและวิวัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งสอดรับไปยังหัวข้อการอภิปรายลำดับถัดไป เรื่อง มานุษยวิทยาการแพทย์: โรค ร่างกาย และรัฐ ในมิติสังคมวัฒนธรรม ที่ผู้ร่วมอภิปรายได้ชี้ให้เห็นถึงร่องรอยความรู้เรื่องวัฒนธรรมสุขภาพภายใต้อิทธิพลของชาวตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย บทบาทและนโยบายทางด้านสาธารณสุขของรัฐที่ส่งผลถึงระบบสุขภาพของประชาชน และวิธีวิทยาของมานุษยวิทยาการแพทย์ที่ถูกท้าทายด้วยบริบทรอบด้าน

           เมื่อความเข้าใจเรื่องเพศในสังคมไทยยังคงอยู่ภายใต้กรอบความคิดของความรู้ทางชีววิทยาแบบตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับ เพศสรีระ รื้อถอนกล่องเพศ “ชายหญิง” ด้วยทัศนะมานุษยวิทยา จึงเป็นการท้าทายองค์ความรู้และความเข้าใจเรื่องเพศในสังคมไทยในเข้าสู่การทำความเข้าใจเรื่องเพศในมิติสังคมวัฒนธรรม ให้สอดคล้องกับยุคสมัยและสร้างความเข้าใจใหม่เรื่องความหลากหลายทางเพศร่วมกัน ไม่เพียงแต่ความหลากหลายทางเพศที่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจ แต่ความหลายหลากทางชีวภาพก็เป็นสิ่งที่ถูกท้าทายสืบเนื่องจากนโยบายของรัฐในการพัฒนาเมืองและฉกฉวยผลประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น การอภิปรายเรื่อง มานุษยวิทยากับความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม จึงเป็นการชี้ชวนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศกับวิถีชีวิตของมนุษย์ ความสูญเสียจากการพัฒนาของรัฐและการรุกคืบของนายทุนจึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของท้องถิ่นทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ

           การศึกษาสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาให้ความสนใจ ในการอภิปรายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ถูกถ่ายทอดในหัวข้อ วัฒนธรรมป๊อป ดนตรี ปาร์ตี้ยา และโลกคู่ขนานของคนไร้บ้าน , ผัสสะ อารมณ์ และสุนทรียะในงานมานุษยวิทยา , ข้าม (ไม่ข้าม) และการเชื่อมต่อในโลกที่เคลื่อนย้าย , มานุษยวิทยาบนคลื่นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและโลกดิจิทัล

           โดย วัฒนธรรมป๊อป ดนตรี ปาร์ตี้ยา และโลกคู่ขนานของคนไร้บ้าน กล่าวถึง การศึกษาวัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) ที่สะท้อนผ่านวัฒนธรรมเพลงและปาร์ตี้ของวัยรุ่นที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการส่งผ่านความต้องการของคนรุ่นใหม่ ขณะที่ฝั่งคนไร้บ้านมักถูกสังคมตีตราว่าเป็นกลุ่มน่ารังเกียจ การสร้างความเข้าใจต่อคนกลุ่มนี้จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายในการศึกษาคนเมืองในสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัย ขณะที่ ผัสสะ อารมณ์ และสุนทรียะในงานมานุษยวิทยา เป็นอีกกลวิธีหนึ่งในการสร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรมและลดอคติที่มีต่อกันผ่านการศึกษารูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส โดยที่นักมานุษยวิทยาต้องพาตัวเองเข้าไปอยู่ใกล้กับสิ่งที่กำลังศึกษามากที่สุดเพื่อให้ได้คำอธิบายที่ตรงตามปรากฏการณ์อย่างลึกซึ้ง

           ต่อมาเป็นการอภิปรายถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลกับการศึกษาทางมานุษยวิทยาในหัวข้อ มานุษยวิทยาบนคลื่นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและโลกดิจิทัล เป็นการทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และมานุษยวิทยาเคลื่อนที่เข้าหากัน โดยเฉพาะเมื่อโลกดิจิทัลและโซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อผู้คนมากขึ้น การศึกษาวัฒนธรรมในโลกดิจิทัลจะทำให้การศึกษาทางมานุษยวิทยามีขอบเขตที่กว้างขวาง แต่จำเป็นต้องตระหนักถึงความละเอียดอ่อนและความเหมาะสมของข้อมูลที่นำมาใช้

           และเมื่อโลกในยุคปัจจุบันไม่ใช่สังคมที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ดังเช่นโลกที่เคยเป็นมา การเคลื่อนย้ายของผู้คนจึงเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน ข้ามวัฒนธรรม ข้ามชาติ ข้ามถิ่น ข้าม (ไม่ข้าม) และการเชื่อมต่อในโลกที่เคลื่อนย้าย จึงเป็นการอภิปรายที่ทำให้เห็นว่า การไหลเวียนของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปและนักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องตอบคำถามสำคัญเรื่องการเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมและการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่เดิมกับพื้นที่ใหม่ เพื่อลดการกีดกันในการเคลื่อนย้ายรูปแบบต่าง ๆ

           การอภิปรายในประเด็นสุดท้ายว่าด้วยเรื่องของการศึกษามนุษย์และการศึกษาสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่นที่อยู่ล้อมรอบนั้นส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อกันอย่างไร ข้อถกเถียงระหว่างจุดกำเนิดของ ธรรมชาติ - มนุษย์ - วัฒนธรรม นั้นเป็นอย่างไร และการศึกษาชาติพันธุ์นิพนธ์หลากหลายสายพันธุ์มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจสังคมมนุษย์ในรูปแบบไหน ประเด็นเหล่านี้ถูกนำมาวิเคราะห์ในหัวข้อ ความสูงส่งของมนุษย์ที่ถูกตั้งคำถามกับการศึกษาสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์

           สืบทฤษฎี สาววิธีคิด : การเดินทางของมานุษยวิทยา จึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่จะช่วยให้นักมานุษยวิทยาสามารถออกเดินทางตามรอยเส้นทางการศึกษาที่ผ่านมาแล้ว ทบทวนการเดินทางของนักมานุษยวิทยาว่ายังสามารถให้คำตอบกับการศึกษาในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้หรือไม่ และเป็นตัวช่วยในการคาดเดาปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยใช้คำตอบจากงานมานุษยวิทยาที่ศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมที่ผ่านมา

           หนังสือเรื่องนี้ รวมถึงหนังสืออื่นของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทางFacebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library

หนังสือ สืบทฤษฎี สาววิธีคิด : การเดินทางของมานุษยวิทยา มีจำหน่ายที่ SAC Shop และ SAC Shop Online ราคา 350 บาท สามารถสั่งซื้อได้ทางเว็บไซต์ https://shop.sac.or.th/th/product/98/


ผู้เขียน

จรรยา ยุทธพลนาวี
รักษาการผู้จัดการฝ่ายบริการสารสนเทศ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ สืบทฤษฎี ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร นักมานุษยวิทยา จรรยา ยุทธพลนาวี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share