สะท้อนความตายผ่านมานุษยวิทยา

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 14450

สะท้อนความตายผ่านมานุษยวิทยา

           ความเป็นสากลของมนุษย์ปรากฏอยู่ในการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย การใช้ชีวิต การกินอยู่ การเจ็บป่วย ฯลฯ ที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบของการเป็นมนุษย์ สำหรับ “ความตาย” ที่มนุษย์หลีกหนีไม่พ้นนี้  แม้ว่ามันจะเป็นเหตุการณ์ตามธรรมชาติ แต่วิธีจัดการกับความตายของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมล้วนต่างกัน ในความรู้วิทยาศาสตร์และการแพทย์ ความตายคือ สภาวะของการหยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น และสมองหยุดการทำงานโดยสิ้นเชิง ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2468 มาตรา 15 วรรค 1 กล่าวว่า  “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย” นอกจากนั้น กฎหมายยังระบุถึง การตายโดยการสาบสูญ (Disappearance)  หมายถึง   บุคคลที่สูญหายไปโดยไม่มีผู้ใดพบเห็นอย่างน้อย 5 ปี   ในทางปรัชญาและศาสนา ความตายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต เพราะยังมีเรื่องราวต่อจากการสิ้นสุดของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโลกหลังความตาย สวรรค์ นรก พลัง วิญญาณ แม้ว่าความตาย จะเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ในการศึกษาทาง “มานุษยวิทยา” ความตายมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับสังคม ชุมชน ตลอดจนประเทศชาติทั้งมิติที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม


Death: ความตาย พัฒนาการ ทัศนคติและลักษณะทางสังคม

           ความตายเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่คู่กับสิ่งมีชีวิตบนโลกมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตายของ“มนุษย์” ที่มีอยู่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากการขุดค้นพบทางโบราณคดี อาทิ โครงกระดูก เครื่องใช้ เครื่องประดับต่าง ๆ ที่ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับความตาย เกิดเป็นกระบวนการจัดการศพ และถูกพัฒนาจนเกิดเป็นแบบแผนทางวัฒนธรรม หรือที่เรียกว่า “พิธีกรรม” ลักษณะพิธีกรรมของการจัดการศพนั้น มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสังคม ความเชื่อ และศาสนา อาทิ การฝังศพ การเผาศพ และการเก็บรักษาศพ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวิญญาณที่เป็นอมตะ และโลกหลังความตายที่สะท้อนผ่านการทำมัมมี่ ซึ่งเป็นคติความเชื่อในวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ ภายใต้ความเชื่อว่าเมื่อมนุษย์ตายไปแล้ว วิญญาณจะหลุดออกจากร่างไปชั่วขณะ เพื่อที่จะไปเจอพระเจ้าในโลกหน้า และจะกลับมาในวันหนึ่ง ดังนั้น การเก็บรักษาร่างกายของผู้ตายให้คงสภาพเดิมไว้ก็เพื่อให้วิญญาณสามารถกลับมาที่ร่างได้เหมือนเดิม (Rafaella & Dong Hoon Shin, 2021)

           การจัดการศพตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาจสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องโลกหลังความตายของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และก่อนยุคที่จะมีศาสนา รวมไปถึงความเชื่อที่มีพลังงาน ดวงจิต หรือบางสิ่งบางอย่างสิงสู่อยู่ ถึงแม้ร่างกายจะตายไปแล้ว แต่พลังงาน หรือดวงจิต ยังคงดำรงอยู่โดยการเปลี่ยนรูปแบบเป็นพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ นอกจากนี้กระบวนการจัดการศพของมนุษย์ยังส่งผลให้เกิดพื้นที่เฉพาะในการจัดการร่างกายมนุษย์ หรือโรงมหรสพทางกายวิภาค พิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์และอื่น ๆ โดยพื้นที่เหล่านี้ได้ถูกสถาปนาให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้การทำงานของร่างกายมนุษย์

           มนุษย์มีทัศนคติเกี่ยวกับความตายที่หลากหลาย ในอดีต มนุษย์จะมีทัศนคติว่าเมื่อมนุษย์ถึงแก่ความตายจะเท่ากับการสิ้นชีวิต ความตายจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายระหว่างคนตายกับคนเป็น เนื่องจากความตายไม่ใช่เรื่องราวของบุคคลเพียงคนเดียว แต่เป็นเรื่องของกลุ่มคนขนาดเล็กไปจนถึงกลุ่มคนขนาดใหญ่ คนที่ยังมีชีวิตอยู่จะกลายเป็นผู้ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องและจัดการ อาทิ ครอบครัว ชุมชน สังคมตลอดจนประชาชนภายในประเทศ  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทัศนคติเรื่องความตายเปลี่ยนไปจากอดีต มนุษย์ในปัจจุบันอาจมองเรื่องความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวและไม่ซับซ้อน การให้ความหมายกับความตายอาจเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์และรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต่างกัน เกิดเป็นการเรียนรู้และการตระหนักรู้เรื่องความตายแบบใหม่ เช่นการเกิดขึ้นของ Death Café หรือ ร้านกาแฟตื่นรู้ “มรณานุสติคาเฟ่” คาเฟ่ที่สร้างขึ้นโดยคนไทย โดยนำหลักคิดทางพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ประกอบสร้างให้เกิดเป็นธุรกิจคาเฟ่ โดยอาศัยความตายเป็นแก่นเรื่อง  และเป็นจุดดึงดูดให้กลุ่มคนเข้ามาใช้บริการในพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ที่ถูกออกแบบให้รู้สึกว่ามนุษย์อยู่ใกล้กับความตาย  ตัวอย่าง Death Café อาจเป็นภาพสะท้อนทัศนคติเกี่ยวกับความตายของมนุษย์ในปัจจุบัน และอาจกลายเป็นเครื่องมือที่จะทำให้มนุษย์ตระหนักถึงความตาย ตลอดจนปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของตน

           จากที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ลักษณะทางสังคมเป็นตัวบ่งบอกทัศนคติของมนุษย์ที่มีต่อเรื่องความตายและการปฏิบัติต่อความตายในรูปแบบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น พิธีศพของคนจีน มีความเชื่อที่ว่าวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วไม่ได้สูญไปตามร่างกายของตน แต่จะถูกพาไปเป็นหนึ่งเดียวกับผืนแผ่นดิน จึงเป็นธรรมเนียมของคนจีนที่จะใช้วิธีการฝังศพแทนการเผาศพ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป เมื่อชาวจีนได้รับการสืบทอดศาสนาพุทธนิกายมหายานและวัฒนธรรมจากอินเดีย ชุมชนจีนบางพื้นที่เปลี่ยนจากการฝังเป็นเผาแทน ตลอดจนการเผากระดาษเงินกระดาษทอง การป้อนข้าวป้อนน้ำแก่ผู้ตาย และพิธีกงเต๊ก ที่ถือเป็นส่วนสำคัญในธรรมเนียมปฏิบัติของคนจีน เป็นต้น โลกทัศน์ของความตายจึงแตกต่างกันออกไปตามความเชื่อของยุคสมัย ถึงแม้พิธีกรรมเกี่ยวกับคนตายจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ยังคงสืบทอดมาโดยตลอดคือความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นกับคนตาย  มีการส่งดวงวิญญาณของผู้ตายให้ไปสู่สุคติ  การไว้ทุกข์ และการเยียวยาจิตใจของคนที่สูญเสีย ซึ่งช่วยผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้


Anthropology of Death: มานุษยวิทยาว่าด้วยความตาย

           มานุษยวิทยาว่าด้วยความตาย (Anthropology of Death) ให้ความสนใจต่อรูปแบบของความตายอันไม่ธรรมดาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มของสาขาวิชามานุษยวิทยา (Abramovitch, 2015) งานบุกเบิกของ James Frazer (1854-1941) เรื่อง Golden Bough แสดงถึงพิธีพระบรมศพของกษัตริย์ที่ปรากฏยังวิหารศักดิ์สิทธิ์ของเทพธิดาไดอาน่าในอิตาลี ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ส่งต่อความคิดสู่นักมานุษยวิทยารุ่นต่อ ๆ มา อาทิ Marcel Mauss (1972-1950) , Robert Hertz (1881-1915) , Bronislaw Malinowski (1884-1942) ในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นช่วงที่นักมานุษยวิทยาตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับความตายจำนวนมาก เช่น  เรื่อง Celebrations of Death: The Anthropology of Mortuary Ritual ของ Hutington and Metcalf (1979) เรื่อง Death and the Regeneration of Life ของ Bloch and Parry (1982) , เรื่อง How Others Die: Reflections on the anthropology of Death ของ Johannes Fabian (1973) การศึกษาเหล่านี้ช่วยอธิบายให้เห็นมิติวัฒนธรรมของความตาย ซึ่งบ่งชี้ว่ามนุษย์จัดการและให้ความหมายกับความตายที่เชื่อมโยงถึงการมีชีวิตอยู่บนโลกนี้และโลกหน้า นอกจากนั้น นักมานุษยวิทยายังชี้ให้เห็นความรู้ที่หลากหลายที่มีผลต่อการจัดการกับความตาย ไม่ว่าจะเป็น ศาสนา จิตวิทยา รัฐศาสตร์ การแพทย์ ความรุนแรง ผัสสะและร่างกายตลอดจนมหันตภัยหรือกระทั่งความทรงจำที่เป็นบาดแผลของผู้คนในสังคม (ดำรงพล อินจันทร์,  2560)

           ทุกสังคมมีวิธีการเฉพาะในการเผชิญและรับมือกับการสูญเสียบุคคลที่สำคัญ หรือบุคคลอันเป็นที่รัก นักวิชาการหลากหลายสาขาต่างสนใจศึกษาความตายด้วยแนวคิดทฤษฎีที่ต่างกัน  สำหรับการศึกษาทางมานุษยวิทยาสนใจศึกษาความตายในเชิงเปรียบเทียบความข้ามวัฒนธรรม เพื่อทำความเข้าใจว่าในแต่ละสังคมปฏิบัติต่อคนตายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร นักมานุษยวิทยาได้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของรูปแบบวิธีการจัดการศพ พิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาย พฤติกรรมที่คาดหวังของผู้ที่สูญเสีย ความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องระหว่างคนเป็นกับคนตาย นอกจากนั้น ยังชี้ให้เห็นระบอบอำนาจที่เกี่ยวข้องกับความตายที่ปรากฎอยู่ในการนิยามของรัฐ ทัศนคติของผู้ปกครอง การแบ่งแยกทางชนชั้นและการกีดกันทางสังคม ทำให้ความตายของคนบางกลุ่มได้รับการยกย่องหรือถูกมองข้าม การศึกษาทางมานุษยวิทยาจะช่วยขยายความเข้าใจว่าการจัดการกับคนตายมีความสัมพันธ์โดยตรงกับบริบทเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ตลอดจนอุดมการณ์ต่าง ๆ


ทำไมต้องเรียนรู้เรื่อง “ความตาย” ?

           มีหลากหลายเหตุผลที่ทำให้เราต้องศึกษาและเรียนรู้เรื่องความตาย  ที่น่าสนใจคือ ความตายบางแบบถูกทำให้กลายเป็นเรื่องต้องห้าม ถูกปกปิด และห้ามเปิดเผยต่อสาธารณะ ความตายถูกสร้างให้กลายเป็นคู่ตรงข้ามกับระหว่างสีดำกับสีขาว , คนเป็นกับคนตาย , เรื่องมงคลกับเรื่องอัปมงคล อีกทั้งยังมีการแยกคนตายออกจากพื้นที่ชีวิตและที่อยู่อาศัยของคนเป็น กำหนดให้โรงพยาบาลและวัดเข้ามาจัดการกับศพคนตายนอกจากนี้ความตายยังถูกแบ่งแยกอารมณ์ของผู้คนในสังคม ระหว่าง ความเศร้ากับความสุข  แบ่งแยกออกจากพื้นที่ทางสังคมปกติ อาทิ การจัดพื้นที่สุสาน ความตายไม่ได้เป็นเรื่องของเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกของผู้คน มานุษยวิทยาว่าด้วยความตายจึงต้องทำความเข้าใจมิติที่ทับซ้อนกันของความรู้ที่ถูกใช้เพื่อจัดการความตาย

           ความตายในฐานะเป็นภาพสะท้อนกฎระเบียบสังคมและวัฒนธรรม พิจารณาได้จากการแต่งกายในพิธีศพ สถาปัตยกรรมและอนุสาวรีย์ที่ถูกสร้างจากความทรงจำเพื่อระลึกถึงคนตาย การจารึกคนตายลงในเอกสารประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์สำคัญ เป็นต้น ความตายมักถูกมองด้วยทัศนคติที่หลากหลาย อาทิ หมอ คนทั่วไป นักวิชาการ ชาวบ้านหรือพระ บุคคลเหล่านี้มีทัศนคติต่อความตายที่แตกต่างกันออกไปตามความรู้ ประสบการณ์และโลกทัศน์ของตน ความตายต้องเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษาที่หลากหลาย ความตายในแต่ละบริบทและเงื่อนไขจะมีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของอารมณ์ ความเชื่อ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้เข้าใจถึงความตายในแต่ละบริบท การเรียนรู้เรื่องความตายถือเป็นทักษะอย่างหนึ่ง เนื่องจากการศึกษาเรื่องความตายไม่ได้เป็นเพียงแต่การค้นหาความจริงและนิยามที่ตายตัว แต่เป็นการแสวงหาพลวัตและการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความหมายและคุณค่าของความตาย วิธีจัดการการตายจึงเป็นสิ่งที่มีชั้นเชิงและศิลปะที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย การเรียนรู้เรื่องความตายจะต้องเรียนรู้ทั้งมิติทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ รวมถึงอารมณ์และความรู้สึก ความตายจึงไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลแต่เป็นเรื่องของชุมชนและสังคม ดังนั้น มานุษยวิทยาว่าด้วยความตาย จึงเป็นการทำความเข้าใจมนุษย์ผ่านการศึกษาเรื่องความตายที่สัมพันธ์กับบริบทอำนาจและความรู้ที่เปลี่ยนไป


ทิศทางมานุษยวิทยาว่าด้วยความตายในอนาคต

           การวิจัยศึกษาเรื่องความตายในอนาคตอาจจะต้องศึกษาและตรวจสอบว่าแบบแผนวัฒนธรรมท้องถิ่นมีปฏิสัมพันธ์กับบริบทโลกที่กว้างขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างไร ตัวอย่างเช่นการศึกษาการตายจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากโรคระบาด ภัยธรรมชาติ ตลอดจนความรุนแรงทางการเมือง อีกทั้งผลกระทบที่หลากหลายของเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ที่มีผลต่อการนิยามควาตาย อาจเป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการทำความเข้าใจความหมายเรื่องความตายที่เปลี่ยนไป เช่น การบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยให้คนมีชีวิตอยู่ต่อได้ การนิยามการตายที่ไม่ดีไปเป็นการตายที่ดี การโต้เถียงกันเรื่องจุดเริ่มต้นและจุดจบของชีวิต ค่านิยมที่เปลี่ยนไปต่อการจัดพิธีกรรมศพ ตลอดจนความตายในฐานะเหตุการณ์กับความตายในฐานะกระบวนการการวิจัยและการศึกษาข้ามวัฒนธรรมของการตายอาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้นหาสาระข้อมูลเชิงลึกที่คาดไม่ถึงว่าแท้จริงแล้ว มนุษย์จะตอบสนองต่อปริศนาความตายนั้นได้อย่างไร” (Robben, 2004)

(ปรับปรุงแก้ไขบทความ วันที่ 4 เมษายน 2566)


เอกสารอ้างอิง

ดำรงพล อินจันทร์. (2560). มรณะ มรตฺ และมานุษยวิทยาว่าด้วยความตาย. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2566.
เข้าถึงได้จาก https://www.academia.edu/34346186/มรณะ_มรตฺ_มานุษยวิทยาว่าด้วยความตาย

ดำรงพล อินจันทร์. (2565). มานุษยวิทยาว่าด้วยความตาย (Anthropology of Death) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์. นวัตกรรมประกอบการเรียนการสอนรายวิชา 320 346-59 มานุษยวิทยาว่าด้วยความตาย (Anthropology of Death) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2566. เข้าถึงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=wIr2rHTAlGk

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ. (2558). มานุษยวิทยาที่รู้สึก. สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2566, จาก https://socanth.tu.ac.th/wp-content/uploads/2015/08/B42-sorayut.pdf

Abramovitch, H. (2015). Death, Anthropology of. In: James D. Wright. (Ed.) International Encyclopedia of the Social & Behavioral Sciences, 2nd edition, Vol 5. (pp. 870–873). Oxford: Elsevier.

Antonius C.G. M. Robben. (2017). Death, Mourning, and Burial. (Second Edition). Blackwell, Oxford.

Bob Simpson. (2018). Death. Retrieved 2 March, 2023, from https://www.anthroencyclopedia.com/entry/death

Cohen, Milton. “Death Ritual: Anthropological Perspectives.” Available at http://www.qcc.cuny.edu/SocialSciences/ppecorino/DeathandDying_TEXT/Death%20Ritual.pdf.

Gila S. Silverman; Aurélien Baroiller; & Susan R. Hemer. (2020). Culture and grief: Ethnographic perspectives on ritual, relationships and remembering. DEATH STUDIES, 45(1), 1-8.

Henry Abramovitch. (2008). Anthropology of Death. Annual Review of Anthropology. Annual Review of Anthropology, 5, 870-873.

Kalliopi M Christodoulaki; & Aubrey Thamann. (2021). Beyond the Veil: What Anthropology can Teach us About Death. Retrieved 2 March, 2023, from https://www.talkdeath.com/beyond-the-veil-what-we-can-learn-from-the-anthropology-of-death/

Matthew Engelke. (2019, 21 May). The Anthropology of Death Revisited. Annual Review of Anthropology, 48: 29-44.

Metcalt, P. & Huntington, R. (1991). Celebrations of Death: The Anthropology of Mortuary Ritual. Cambridge: Cambridge University Press.

Rafaella, B. & Dong Hoon Shin. (Eds.). (2021). The Handbook of Mummy Studies. Singapore: Springer.

Robben, A.C.G.M., (2004b). State terror in the netherworld: disappearance and reburial in Argentina. In: Robben, A.C.G.M. (Ed.), Death, Mourning and Burial: A Cross-Cultural Reader. Blackwell, Oxford, pp. 134–148


ผู้เขียน

ภานรินทร์ น้ำเพชร
เจ้าหน้าที่สนับสนุนวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ความตาย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Posthuman Anthropology Death ภานรินทร์ น้ำเพชร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา