โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 5662

โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร

รูปที่ 1 ปกหนังสือ โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

“เมืองเก่าแก่ของโลกกำลังเผชิญหน้ากับการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ เพื่อพัฒนาบ้านเมือง แม้ในกรุงเทพฯ เองมักพบโบราณวัตถุสถานใต้ดินเป็นจำนวนมาก โบราณคดีเมืองจึงเป็นการศึกษโบราณคดี เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟู
และพัฒนาเมืองไปพร้อม ๆ กัน”

           คำนิยามสั้น ๆ เพียงสามบรรทัดที่ปรากฏอยู่บนปกหลังของหนังสือโบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร ทำให้รู้สึกต้องรีบพลิกกลับมาเปิดอ่านยังหน้าสารบัญของหนังสือเล่มนี้ เพราะคำว่า “โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร” เป็นชื่อที่ชวนตั้งคำถามว่าเมืองหลวงของประเทศไทยที่เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างระฟ้าแทบทุกกระเบียดนิ้ว และมีจำนวนประชากรมากที่สุดอย่างกรุงเทพมหานครจะมีความเก่าแก่ และขุดค้นเจอวัตถุโบราณคดีอะไรบ้าง?

           หนังสือ โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร โดย รองศาสตราจารย์ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหนังสือที่พัฒนามาจากโครงการวิจัยสถานภาพความรู้ด้านโบราณคดีกรุงเทพมหานคร: ข้อมูล ทิศทาง และแผนการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ในอนาคต จึงถือได้ว่าเป็นหนังสือที่จะช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความสำคัญของงานทางด้านโบราณคดีเมืองที่ถูกรวบรวม กลั่นกรองและเล่าผ่านประสบการณ์ของผู้เขียนหนังสือไว้อย่างครบรสภายใต้ 4 บทสำคัญ ดังนี้

บทที่ 1 : โบราณคดีเมืองในบริบทสากล

           ทำไมต้องเป็นโบราณคดีเมือง? ในบทแรกของหนังสือผู้เขียนได้พาผู้อ่านย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของ โบราณคดีเมืองที่ได้อธิบายถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้การศึกษาเมืองได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นในทางการศึกษาโบราณคดี เนื่องจากในราวคริสต์ศตวรรษที่ 19 เฮนรี่ ลายาร์ด (Henry Layard) นักโบราณคดีชาวอังกฤษได้มีโอกาสขุดค้นเมืองโบราณ และได้พบกับซากพระราชวังของกษัตริย์เซนนาเคอริบ (Sennacherib) ของอัสซีเรีย เมโสโปเตเมีย ดินแดนที่เต็มไปด้วยอารยธรรมอันเก่าแก่ การขุดค้นเมืองโบราณนี้เองกล่าวได้ว่าเป็นขุมทรัพย์แห่งประวัติศาสตร์ซึ่งนอกจากจะสามารถศึกษาเรื่องของพื้นที่เมือง โบราณสถาน ยังนำมาซึ่งการค้นพบโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ

           เพราะในอดีตนักโบราณคดีมักพุ่งเป้าไปที่การศึกษาในยุคก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 18 และเห็นว่าการขุดค้นในพื้นที่เมืองที่มีผู้คนอาศัยอย่างหนาแน่นถือว่ายากต่อการขุดค้นทางด้านโบราณคดี ผู้เขียนจึงนำเสนอให้เห็นว่าเมืองในงานทางด้านโบราณคดีจะประกอบดัง 2 ประเภท ดังนี้

           1. เมืองร่วมสมัย (contemporary city) คือ เมืองที่เคยมีผู้คนอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน หรือมีการทิ้งร้างชั่วคราวแล้วกลับเข้ามาอยู่อาศัยใหม่ มีการพัฒนาพื้นที่ให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางสังคมได้ เช่น ลอนดอน ปารีส

           2. เมืองโบราณ (ancient city) คือ เมืองที่ถูกทิ้งร้างแบบถาวรจากภัยสงคราม โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติจนไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยได้แต่ยังคงทิ้งซากปรักหักพักของสิ่งปลูกสร้างอาคารเอาไว้

           ซึ่งผู้เขียนได้สรุปไว้ว่า จุดร่วมสำคัญของทั้ง 2 ประเภทนี้ คือ พื้นที่เมือง (urban spaces) และ วิถีชีวิตเมือง (urban lives) ที่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของการพัฒนาของเมืองได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นทางด้านความสัมพันธ์โครงสร้าง วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และสิ่งปลูกสร้างของสังคม ณ ขณะนั้น จึงกล่าวได้ว่า นักโบราณคดีไม่เพียงแต่ศึกษาพื้นที่เมืองแต่ยังศึกษาความสัมพันธ์ของเมืองไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จับได้ หรือจับต้องไม่ได้เพื่อนำมาวิเคราะห์และตีความให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

บทที่ 2 : “เรื่องอดีต” ของกรุงเทพมหานคร

           จากบทที่ 1 ได้นำเสนอให้เห็นว่าหากนักโบราณคดีจะศึกษาโบราณคดีเมืองนั้นต้องวิเคราะห์ความสัมพันธ์และตีความอะไรบ้าง ในขณะที่บทที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอให้เห็นว่า นักโบราณคดีต้องศึกษาประวัติศาสตร์จากสื่อความรู้ในรูปแบบใดบ้าง เพื่อนำมาวิเคราะห์ และตีความเรื่องราวในของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากผู้เขียนเคยขุดค้นพื้นที่โบราณคดีในกรุงเทพมหานครจึงทำให้มีการค้นคว้า และเรียบเรียงเอกสารประวัติศาสตร์ และบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับกรุงเทพมหานครเพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวในอดีตของกรุงเทพมหานครว่าเกิดขึ้นเมื่อใด? ด้วยเหตุใด? เพื่อนำมากำหนดแนวทางการศึกษา และเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการเกิดการเรียนการสอนทางด้านโบราณคดี โดยมีเกณฑ์การแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้ 1. ช่วงก่อน พ.ศ. 2498 และ 2. ช่วงหลัง พ.ศ. 2498-2559 (เริ่มการเรียนการสอนภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ พ.ศ 2490) ผู้เขียนได้ค้นคว้าและเรียบเรียงเอกสารประวัติศาสตร์ และบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับกรุงเทพมหานครไว้อย่างหลากหลายรูปแบบ เช่น

           - พระราชนิพนธ์ด้านประวัติศาสตร์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

           - พระราชนิพนธ์ของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่นิพนธ์เกี่ยวกับประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร

           - พงศาวดาร จดหมายเหตุ ตำนาน นิทาน เรื่องเล่าเกี่ยวกับศิลปกรรม และ สถานที่ต่าง ๆ ของสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร เช่น เรื่องเล่าท่าเตียน , เรื่องเล่าตำหนักแพ และจดหมายเหตุความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี เป็นต้น

           ซึ่งการเรียบเรียงวรรณกรรมผ่านการแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 2 ช่วงของผู้เขียนทำให้ได้ค้นพบว่า การศึกษาอดีตของกรุงเทพมหานครผ่านสื่อความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ มีพัฒนาการเริ่มต้นค้นคว้าเอกสารตามแบบตะวันตก หรือคำว่า “History” ต่อมาเป็นคำว่า “พงศาวดาร” และ “ประวัติศาสตร์” ตามลำดับ นอกจากนี้ผู้เขียนยังสรุปว่า

           ช่วงก่อน พ.ศ. 2498 สื่อความรู้ที่ถูกผลิตออกมาเน้นหนักไปที่ความเป็นชาติ สถาบัน ศาสนา ประเพณี มักบันทึกเรื่องราวในลักษณะการพรรณนาตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นช่วงที่เริ่มพบเห็นการหยิบเอาวิธีการศึกษาด้านศิลปะมาศึกษาวัตถุสถานเพื่อนำมาวิเคราะห์วัตถุ

           ในขณะที่ช่วงหลัง พ.ศ. 2498 เริ่มมีการรับเอาวัฒนธรรมการวิจัยแบบตะวันตกเข้ามาทำให้สื่อที่ถูกผลิตออกมามีความเป็นเหตุเป็นผล และเริ่มสะท้อนประเด็นทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และมีการนำองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและผังเมืองเข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนและพัฒนากรุงเทพมหานครในช่วงเวลานั้น ฉะนั้น หากจะศึกษาประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร จึงสามารถศึกษาได้จากศิลปกรรมของวัดวาอารามหรือศิลปกรรมวัตถุที่ได้จากการขุดค้นในสถานที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานครได้อย่างในปัจจุบัน

บทที่ 3 : โบราณคดีในกรุงเทพมหานคร

           มาถึงบทนี้แล้วผู้อ่านอาจจะพอเข้าใจความสำคัญของงานโบราณคดีกรุงเทพมหานครมากยิ่งขึ้นแล้วว่า ทำไมต้องขุดค้น? ขุดค้นเจอโบราณวัตถุแล้วจะนำไปศึกษาต่ออย่างไร? แล้วการขุดค้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่? จะสามารถตอบได้ในบทนี้ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลสำคัญตั้งแต่พัฒนาการของงานโบราณคดีในกรุงเทพมหานคร การขุดพบหลักฐานใต้พื้นดินและโบราณคดีในกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

           ซึ่งงานโบราณคดีกรุงเทพมหานครมีพัฒนาการมาจากการขยายตัวของประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ชุมชนเกษตรกรรมริมน้ำในอดีตค่อย ๆ ขยายกลายเป็นเมืองหลวงขนาดใหญ่และจึงถือได้ว่าเป็นเมืองร่วมสมัย (contemporary city) ตั้งแต่อยุธยามาจนถึงปัจจุบันดังจะเห็นได้จากกำแพงเมือง และอาคารสถานเก่าแก่ต่าง ๆ ที่ยังคงเห็นอยู่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งบางสถานที่ก็ได้ถูกทดแทนด้วยอาคารที่แสดงออกถึงความใหญ่โตตามยุคสมัย

           นักโบราณคดีเมืองจึงมีบทบาทสำคัญในการขุดค้น และสำรวจพื้นที่ทางโบราณคดีในกรุงเทพมหานคร เมื่อต้องมีการรื้อถอน ปรับปรุง และก่อสร้างอาคารใหม่เพื่อสำรวจสิ่งที่อยู่ใต้พื้นดินว่ามีหลักฐานใดเกี่ยวกับพื้นที่ขุดค้นนั้นบ้าง และเป็นการลดผลกระทบของการรื้อถอน ปรับปรุง และก่อสร้างอาคารซึ่งในหนังสือเล่มนี้ได้ระบุรายชื่อพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดีในกรุงเทพมหานครมากถึง 26 แหล่ง เช่น กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) , ศาลเจ้าพ่อเสือ , โรงเรียนราชินี , มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , สถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ และพื้นที่อื่น ๆ

           จากจำนวนรายชื่อที่เคยมีการขุดค้นในคดีกรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่า การขุดค้นในพื้นที่เมืองเริ่มได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น และเป็นเรื่องที่ท้าทายนักโบราณคดีเมืองอยู่ไม่ใช่น้อยนอกจากพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและตีความกับสิ่งที่ได้จากการสำรวจและขุดค้นแล้ว ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างการขุดค้นโบราณคดีเมืองที่มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Museum Siam: Discovery Museum) หรือกระทรวงพาณิชย์ (เดิม) ภายใต้สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ที่ในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่เดินทางสะดวกมีรถไฟฟ้ามหานคร MRT (สถานีสนามไชย) ให้บริการอยู่ด้านหน้าตึกมิวเซียมสยาม หากย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติครั้งที่ 1 ภายในพื้นที่ของกระทรวงพาณิชย์ และให้กระทรวงพาณิชย์ย้ายไปยังที่ทำการแห่งใหม่จึงทำให้มีการขุดค้นทางโบราณคดีและพบฐานรากของวังเจ้านายในสมัยก่อนรวมถึงการขุดพบหลักฐานโบราณวัตถุใต้พื้นดิน

รูปที่ 2 ภาพมิวเซียมสยาม หรืออาคารกระทรวงพาณิชย์ (เดิม)
หมายเหตุจาก. https://m.museumsiam.org/about.php

 

รูปที่ 3 ภาพอาคารกระทรวงพาณิชย์ (เดิม)

หมายเหตุจาก. https://www.facebook.com/museumsiamfan/photos/a.387596445214/10164170091005215/?type=3

 

รูปที่ 4 ภาพการขุดค้นวังเจ้านาย สมัย ร.3-5 หน้าอาคารมิวเซียมสยาม (ภาพจาก. ภาควิชาโบราณคดี 2550)

หมายเหตุจาก. https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/767

 

รูปที่ 5 ภาพพื้นที่ขุดค้นและผลการขุดค้นหน้าอาคารมิวเซียมสยาม เมื่อปี 2550
(ภาพจาก. ภาควิชาโบราณคดี 2550)
หมายเหตุจาก. https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/767

 

รูปที่ 6 ภาพแหล่งผลิตเครื่องมุก ชิ้นส่วนหอยมุกบางส่วนที่พบจากการขุดค้นหน้าอาคารมิวเซียมสยาม
(ภาพจาก. ภาควิชาโบราณคดี 2550)
หมายเหตุจาก. https://db.sac.or.th/archaeology/archaeology/767

 

บทที่ 4 : ทิศทางของงานโบราณคดีกรุงเทพมหานคร : การศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เมืองในอนาคต

           ผู้เขียนได้กล่าวว่างานโบราณคดีกรุงเทพมหานครเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2500 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการขุดพบโดยบังเอิญ และขยายการขุดค้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนจึงได้ประมวลรวมเป็นบทนี้เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นข้อจำกัดต่าง ๆ ในการทำงานด้านโบราณคดีเมือง 4 ด้าน ดังนี้

           ด้านที่ 1 ปัญหาและข้อจำกัดของการทำงาน : ในเรื่องของงบประมาณ สัญญาจ้าง และระยะเวลาในการทำงานของโครงการก่อสร้างที่ไม่เอื้อต่องานด้านโบราณคดี เช่น โครงการก่อสร้างนำรถไปขุดหรือตักดินออกเพื่อให้เป็นไปตามระยะเวลาของสัญญาจ้างโครงการก่อสร้าง ทำให้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการทำงานทางด้านโบราณคดีไม่เป็นไปตามขั้นตอนการวิจัย

           ด้านที่ 2 คุณค่าและความน่าเชื่อถือของข้อมูลหลักฐานทางโบราณคดี : จากกระบวนการดำเนินงานของโครงการก่อสร้าง และทางด้านโบราณคดีที่ไม่สอดรับกัน อาจจะทำให้หลักฐานทางโบราณคดีสูญหาย หรือไม่มีการบันทึกตามกระบวนการทางโบราณคดี ส่งผลให้คุณค่าและความน่าเชื่อถือของหลักฐานทางโบราณคดีลดน้อยลงไปด้วย

           ด้านที่ 3 ความรู้ด้านโบราณคดี : จากรายงานทางโบราณคดีทั้ง 26 แห่งในกรุงเทพ อธิบายหลักฐานทางโบราณคดีตามลักษณะของกายภาพทำให้ความรู้ที่ได้เห็นเพียงประวัติศาสตร์ในด้านเดียว

           ด้านที่ 4 ข้อเสนอแนะทิศทางในการวิจัย และทำงานโบราณคดีเมืองในกรุงเทพมหานคร : งานโบราณคดีเมืองในกรุงเทพมหานครยังขาดการศึกษาในระดับภาพรวมของเมือง ระดับภูมิภาค และยังไม่มีแนวทางในการปฏิบัติงานทางด้านโบราณคดีเมืองที่ชัดเจน

           ซึ่งทั้ง 4 ด้านล้วนเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน จากที่ได้นำเสนอไปในข้างต้นว่า ในกรุงเทพมหานครมีการขุดค้นไปแล้ว 26 แหล่ง ซึ่งผู้เขียนได้สะท้อนในประเด็นนี้ว่า เกือบทั้งหมดของงานโบราณคดีในกรุงเทพมหานครที่เคยขุดค้นไปแล้วมีความเกี่ยวข้องกับความเร่งด่วนของโครงการก่อสร้าง และงานโบราณคดีมักเข้ามามีบทบาทภายหลังที่ได้เริ่มดำเนินการรื้อถอนไปแล้ว ผู้เขียนมองว่า หากไม่มีแผนการดำเนินที่ชัดเจนร่วมกันอาจจะส่งผลให้หลักฐานทางโบราณคดีถูกทำลายไปก่อนที่จะดำเนินงานโบราณคดีกู้ภัย ฉะนั้น ปัญหาเรื่องของเวลาที่ต้องเร่งรีบในการทำงาน และขาดการวางแผนในการจัดการจึงกล่าวได้ว่า ส่งผลต่อคุณค่าและความน่าเชื่อถือของหลักฐานทางโบราณคดี และเหนือสิ่งอื่นใดยังไม่สามารถบริหารงบประมาณได้อย่างคุ้มค่าคุ้มทุน ซึ่งผู้เขียนได้สะท้อนไว้ว่า โดยส่วนมากแล้วการดำเนินงานของโครงการก่อสร้างมักให้บริษัทเอกชนเหมาดำเนินงาน ยังไม่รวมงานด้านโบราณคดีเข้าไปด้วย งบประมาณจึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่การมาลดทอนบทบาท และความละเอียดในการทำงานด้านโบราณคดี

           ในขณะที่องค์ความรู้ทางด้านโบราณคดี ผู้เขียนมองว่า ยังถูกครอบไว้ด้วยการอธิบายเพียงลักษณะทางกายภาพของวัตถุทางโบราณคดีเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการศึกษาจากหลักฐานโบราณคดีประเภทเดียว ทำให้งานศึกษาโบราณคดีในกรุงเทพมหานครยังไม่เห็นความสัมพันธ์ในมิติอื่น ผู้เขียนจึงได้เสนอถึงแนวทางในการวิจัยและทำงานโบราณคดีเมืองในกรุงเทพมหานคร เพื่อลดปัญหาที่ได้กล่าวถึงในข้างต้นออกมาเป็น 5 ข้อ ดังนี้

           1. กำหนดขอบเขตของพื้นที่ ตามลำดับความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

           2. กำหนดมาตรฐานในการทำงานโบราณคดีในกรุงเทพมหานคร

           3. จัดทำคู่มือการทำงานโบราณคดีเมือง

           4. จัดให้มีนักโบราณคดีประจำเมือง

           5. บรรจุแผนงานด้านโบราณคดีและการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรทางโบราณคดีในแผนแม่บทกรุงรัตนโกสินทร์

           ในบทที่ 4 จึงเป็นการขมวดปัญหาในแต่ละด้านที่ผู้เขียนได้พบระหว่างทำงานขุดค้นโบราณคดี ในกรุงเทพมหานคร ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า แม้งานโบราณคดีเมืองจะเต็มไปด้วยข้อจำกัดที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่หากได้รับการแก้ไข และทุกภาคส่วนเข้าใจถึงความสำคัญของโบราณคดีมากขึ้นก็จะช่วยให้ลดปัญหาในแต่ละด้านของการทำงานโบราณคดีเมืองทั้งในกรุงเทพมหานคร และที่อื่น ๆ ได้

           จากเนื้อหาสำคัญทั้ง 4 บท จะทำให้ผู้อ่านได้เห็นว่า การศึกษาทางด้านโบราณคดีสามารถช่วยสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวในอดีตได้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านประเพณี วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนความเชื่อในอดีต โดยเฉพาะโบราณคดีในกรุงเทพมหานครถือเป็นหลักฐานสำคัญที่คนเมืองอาจจะมองไม่เห็น และควรได้รับการอนุรักษ์ไว้ เพราะหากหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ ถูกทำลายจากการรื้อถอนโดยขาดการพิจารณาถึงความสำคัญอาจจะทำให้สูญเสียหลักฐานทางด้านโบราณคดีที่สะท้อนประประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้โบราณคดีเมืองกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับคนทุกคน หนังสือเล่มนี้ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาโบราณคดีในกรุงเทพมหานคร และผู้ที่สนใจงานโบราณคดีในกรุงเทพมหานคร ท่านสามารถสืบค้นดูรายละเอียดและรูปภาพเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีที่เคยขุดค้นในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทยได้ที่ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย  https://db.sac.or.th/archaeology/

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสืออื่นของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library

           หนังสือ โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร มีจำหน่ายที่ SAC Shop และ SAC Shop Online ราคา 250 บาท สามารถสั่งซื้อได้ทางเว็บไซต์  https://shop.sac.or.th/th/product/31/


บรรณานุกรม

แย้มปิ๋ว, ศ. (2563, กรกฎาคม 2). นักขุดเมือง คุยกับ ผศ. ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีเมืองหนึ่งเดียวของกรุงเทพฯ กับคำตอบที่ว่าทำไมเมืองจึงต้องมีนักโบราณคดีเมือง. วัฒนา, กรุงเทพฯ, ประเทศไทย. เข้าถึงได้จาก https://readthecloud.co/urban-archaeology-kannika-suteerattanapirom/

สุธีรัตนาภิรมย์, ก. (2558). โบราณคดีเมือง: แนวคิดและวิธีการ. Veridian E-Journal, Silpakorn University, 8(2). เข้าถึงได้จาก https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/view/45479

สุธีรัตนาภิรมย์, ก. (2562). โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).


ผู้เขียน
วิภาวดี โก๊ะเค้า
นักบริการสารสนเทศ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ โบราณคดีเมือง โบราณคดีกรุงเทพมหานคร ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โบราณคดีและประวัติศาสตร์ วิภาวดี โก๊ะเค้า

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา