นายูดือแปราม : ชาวมลายูไกลบ้านในกรุงเทพฯ

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 4758

นายูดือแปราม : ชาวมลายูไกลบ้านในกรุงเทพฯ

           บทความนี้มาจากข้อสงสัยส่วนตัวของผู้เขียนคือ เพราะเหตุใดชาวมลายูที่มาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงกระจุกตัวอยู่มากบริเวณถนนรามคำแหง-เสรีไทย โดยเฉพาะหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง2 ผู้เขียนจะชวนสำรวจบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาเกี่ยวกับชาวมลายูที่เดินทางพลัดถิ่นจากบ้านเกิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงบนพื้นที่ที่เรียกว่า “หน้าราม”

อดีตของชาวมลายูไกลบ้าน: จาก “ชายแดนใต้” สู่ “หน้าราม”

           ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มลายูกับศูนย์กลางบางกอกมีประวัติศาสตร์บันทึกมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยปลายคริสตศตวรรษที่ 18 หรือช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีการต้อนเชลยบางส่วนมาตั้งรกรากบริเวณทุ่งบางกะปิ เชลยเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการขุดคลองแสนแสบหรือที่ชาวมลายูเรียกว่า “ซูไงเซอญัป”3 ช่วงเวลานี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อร่างสร้างตัวของชุมชนมลายูในบางกอก โดยชาวมลายูพลัดถิ่นยังคงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ แต่จะถูกเรียกว่าเป็น “นายูบาเก๊าะ” หรือมลายูบางกอก (วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์, 2556; ชัยวัฒน์ มีสันฐาน, 2559)

           กระนั้น ประวัติศาสตร์สังคมในช่วงรอยต่อหลังจากการเทครัวจากมลายูสู่ทุ่งบางกะปิกลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นที่หายไปในประวัติศาสตร์นิพนธ์มลายู ทั้งนี้อาจมาจากเหตุผลเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่การล่มสลายของอาณาจักรปาตานี สนธิสัญญาแองโกลสยาม การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ตลอดจนยุครัฐนิยมสมัยแปลก พิบูลสงคราม ทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบมลายูเบนความสนใจไปที่ประวัติศาสตร์บาดแผลเป็นหลัก มิติทางสังคมและความสัมพันธ์ของคนพลัดถิ่นกับมาตุภูมิกลับไม่ปรากฏ4

           ข้ามมาในยุคหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาเรื่อยไปถึงยุคสงครามเย็น การเดินทางย้ายถิ่นของชาวมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเยาวชนที่เข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาสายสามัญ5 ของไทย พิจารณาบริบทภูมิหลังพบว่า ในทรรศนะของรัฐไทยในช่วงนั้นมองว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่เปราะบาง โดยมีภัยคุกคามทั้งอิทธิพลของขบวนการปลดแอกอาณานิคมของกลุ่มชาตินิยมมลายู เช่น PULO, BRN (ซึ่งรัฐไทยมองว่าเป็นพวกแบ่งแยกดินแดน) และอุดมการณ์คอมมิวนิสต์จากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและพรรคคอมมิวนิสต์มลายา

           รัฐจึงแสวงหาแนวทางป้องกันโดยใช้โครงการพัฒนาสู่ภูมิภาค โดยเฉพาะโครงการพัฒนาด้านการศึกษา ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา รัฐไทยมีความพยายามปฏิรูประบบการศึกษาสายสามัญ มีการจดทะเบียนโรงเรียนปอเนาะเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามที่ภายหลังกลายเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และในระดับอุดมศึกษามีการจัดโครงการสิทธิพิเศษในสถาบันอุดมศึกษา โดยกระทรวงมหาดไทยจะมอบทุนการศึกษาและสิทธิเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาแก่เยาวชนที่นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ทุนมหาดไทย” เริ่มตั้งแต่ปี 1971

           ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่าบริบทของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยก็มีส่วนสำคัญ แม้ว่าในภาคใต้จะมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในปี 1968 หรือแม้จะมีนักศึกษามุสลิมบางส่วนเข้ามาศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ แต่ด้วยนโยบายการควบคุมจำนวนนักศึกษาและคุณภาพการศึกษาทำให้จำนวนที่นั่งในสถาบันการศึกษาไม่เพียงพอต่อความต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาของเยาวชน จึงกลายเป็นที่มาของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิดคือ มหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี 1971 ด้วยเหตุนี้ทำให้เยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มเข้ามาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยรามคำแหงมากขึ้น

           นักศึกษาได้มีการจัดตั้งกลุ่มรวมตัวเฉพาะด้านเพื่อรวมนักศึกษาที่มีอัตลักษณ์เดียวกัน เช่น ชมรมนักศึกษามุสลิม องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม (ส.น.ท.) กลุ่มสลาตัน เป็นต้น การรวมตัวกันของนักศึกษาจากมาตุภูมิเดียวกัน และด้วยอุดมการณ์ชุดเดียวกันทำให้การก่อตัวของชุมชนชาวมลายูไกลบ้านในพรมแดนทางชาติพันธุ์ (Ethnic boundaries) เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง (รอมฎอน ปันจอร์, 2551; เอกรินทร์ ต่วนศิริ, 2552: 85-94; อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์, 2558)

           บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงเริ่มมีการพัฒนาชุมชนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 อาทิ การตัดถนนสายพระโขนง คลองตัน บางกะปิ หรือถนนสุขุมวิท 71 ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นถนนรามคำแหง การก่อสร้างสนามกีฬากิตติขจร ปัจจุบันคือ อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก เพื่อรองรับการจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 6 การก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี 1971 และห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ รามคำแหงในปี 1983 ทำให้จำนวนประชากรในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น หลักฐานหนึ่งที่บ่งบอกจำนวนประชากร (มุสลิม) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือ หลักฐานการต่อเติมอาคารมัสยิดยามีอุลอิสลาม (สุเหร่าวัดตึก) ในปี 1969 เพื่อรองรับผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น (สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพ, ไม่ปรากฏปี)

           หากพิจารณาในเชิงปรากฏการณ์จะพบว่า ชาวมลายูมุสลิมมักจะเลือกเดินทางไปใช้ชีวิตในแหล่งชุมชนที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมสอดคล้องหรือใกล้เคียงกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน เช่นกรณีของทุ่งบางกะปิตั้งแต่ถนนรามคำแหง (หลังจากนี้จะเรียกว่าหน้าราม) ยาวไปจนถึงถนนเสรีไทยเป็นที่ตั้งของชุมชนมลายูมุสลิมที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน เป็นพื้นที่มีชาวมลายูมุสลิมหรือชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีร้านอาหารฮาลาล มีมัสยิดสำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมเหล่านี้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของชาวมลายูไกลบ้านได้เป็นอย่างดี แม้ว่าชุมชนมลายูมุสลิมหรือชุมชนมุสลิมจะกระจายตัวอยู่รอบกรุงเทพมหานครและฝั่งธนบุรี6 แต่การเลือกใช้ชีวิตอยู่หน้ารามเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยเชิงภูมิวัฒนธรรม การเข้าถึงสถาบันอุดมศึกษา-มหาวิทยาลัยเปิด รวมถึงปัจจัยด้านการดำรงรักษาพรมแดนทางชาติพันธุ์ในฐานะที่เป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม

“นายูดือแปราม” ใกล้หรือไกลบ้าน?

           ชุมชนชาวมลายูพลัดถิ่นรุ่นใหม่บริเวณหน้ารามประกอบด้วยประชากรหลากหลายกลุ่ม ทั้งในแง่ของช่วงวัย เพศวิถี และภูมิลำเนา ประชากรกลุ่มใหญ่ที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้คือ เยาวชนมลายูมุสลิมพลัดถิ่นในเมือง (Young melayu-muslim urban migrant) ครอบคลุมตั้งแต่นักศึกษา นักศึกษาที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เยาวชนที่ว่างงาน ไปจนถึงคนที่พึ่งสำเร็จการศึกษา (Fresh graduate) ที่ประกอบอาชีพในเมือง

           แบมิง (นามสมมติ)7 ชายชาวมลายูมุสลิมที่ผู้เขียนได้พูดคุยเมื่อครั้งไปรับประทานอาหารในซอยรามคำแหง 61 เล่าว่า ส่วนใหญ่เป็นแวรุง (วัยรุ่น) จากสามจังหวัดเข้ามาเรียนหรือมาทำงาน ส่วนใหญ่จะเช่าอพาร์ทเมนต์หรือบ้านพักอยู่แถวหน้าราม ยาวไปถึงบางกะปิ เสรีไทย มีนบุรี อยู่คนเดียวบ้าง อยู่กับแฟนบ้าง หรืออยู่รวมกันกับเพื่อนบ้าง มีจำนวนน้อยมากที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษารามฯ ถ้าคนทำงานก็ทำงานรับจ้างทั่วไป เป็นยาม ทำงานร้านอาหาร บางคนก็เปิดแบกะดินขายของหน้าราม แฮปปี้แลนด์ ไม่ก็ตลาดนัดจตุจักร บางคนก็ขายของที่ตลาดนัดกกท. (การกีฬาแห่งประเทศไทย)

           การเข้ามาหางานทำในเมืองหลวงชวนให้ผู้เขียนนึกถึงปรากฏการณ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันคือ แรงงานร้านต้มยำและแรงงานอพยพสู่เคดาห์และกลันตันของประเทศมาเลเซีย รากฐานสำคัญของการเดินทางอพยพของผู้คนจากมาตุภูมิสู่อีกพื้นที่คือ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการพัฒนาซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองและการดำเนินนโยบายการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม (ชลิตา บัณฑุวงศ์, 2560) ปฏิเสธไม่ได้ว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เกิดภาวะสมองไหล (Brain drain) มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทำให้ชาวมลายูมุสลิมบางส่วนเลือกไปแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจนอกภูมิภาค โดยที่จุดหมายปลายทางก็ยังเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนได้ อาจกล่าวได้ว่า การใช้ชีวิตของชาวมลายูพลัดถิ่นในย่านมลายู-อิสลามบางกอกสร้างความรู้สึก “ใกล้บ้าน” กับพวกเขา

           ขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเดินทางออกมาได้สร้างระยะห่างและความไกลบ้าน หมายถึง สภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศที่คุ้นเคย ก๊ะฟา (นามสมมติ) อดีตนักศึกษา ม.รามคำแหงเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าการมาอยู่กรุงเทพฯ ทำให้เธอมีอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการแต่งตัวและการมีแฟน การอยู่ไกลบ้านทำให้เธอสามารถใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นได้เต็มที่ หรืออามีน (นามสมมติ) เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า การเป็น LGBTQ เป็นเรื่องใหญ่ในชุมชนที่เขาจากมา แต่การมาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้เขารู้สึกสบายใจมากขึ้น เพราะไม่ต้องเจอคำพูดกดดัน หรือคำดูถูกต่อว่าทั้งจากคนในครอบครัวและคนรอบข้าง

           เช่นเดียวกันในงานศึกษาของอัมพร หมาดเด็น ที่ศึกษาพฤติกรรมทางเพศของนักศึกษามุสลิมที่จากบ้านเกิดจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเรียนในกรุงเทพฯ พบทั้งนักศึกษาที่อยู่กินกับแฟนหนุ่มที่ไม่ได้ผ่านการแต่งงาน การทำแท้ง นักศึกษาที่มีเพศวิถีแบบ LGBTQ เป็นต้น (Marddent, 2007) การได้อาศัยอยู่ในที่ที่ไกลจากสภาพแวดล้อมที่ตีกรอบคุณค่าในการใช้ชีวิต ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ แบบที่เป็นสิ่งต้องห้าม (Taboo) ในสังคมที่พวกเขาจากมา ผู้ให้ข้อมูลคนหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า “การได้อยู่ไกลบ้าน ทำให้เขารู้สึกสบายใจมากกว่าการได้อยู่ที่บ้านจริง ๆ อีก”

           คำถามสุดท้ายที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับผู้ให้ข้อมูลทั้งสามคนคือ “พวกเขาคิดจะกลับบ้านอีกไหม” คำตอบแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งอยากชัดเจนคือ ฝั่งที่กลับและไม่กลับ โดยให้เหตุผลที่แตกต่างกันคือ กลับไปหาสังคมที่เราคุ้นเคย ไปหาญาติพี่น้องที่รออยู่ที่บ้าน ที่ที่เรารู้สึกว่าเป็นที่ของเรา ขณะที่ฝั่งไม่กลับมองว่าบ้านไม่ได้ยึดติดอยู่กับพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เป็นพื้นที่ที่เราอยู่แล้วมีความสุข ความสบายใจ ถ้าในอนาคต ที่ที่เราจากมาไม่ได้ทำให้เรารู้สึกสบายใจได้ เราก็ไม่รู้ว่าจะกลับไปทำไม…

บทสรุป

           ประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายของประชากรชาวมลายูเริ่มต้นตั้งแต่ยุคเชลยสงคราม ยุคพัฒนาการศึกษา เรื่อยมาจนถึงยุคแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ งานศึกษาในประเด็นเหล่านี้จะทำให้เห็นปัจจัยหรือเงื่อนไขของการเดินทางหรือการไหลเวียน (Mobility) ของผู้คนจากมาตุภูมิสู่พื้นที่อีกแห่ง ดังในกรณีของชาวมลายูไกลบ้านมีเบื้องหลังจากทั้งปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจและการพัฒนา รวมถึงสังคมวัฒนธรรม ชีวิตของออแรนายูดือแปรามทั้งแบมิง ก๊ะฟา และอามีน เป็นเพียงแง่มุมหนึ่งของสังคมมลายูพลัดถิ่นในกรุงเทพฯ การเดินทางออกจากบ้านเกิดอาจเป็นการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดียิ่งขึ้น แต่ก็อาจเป็นการหนีออกจากคุณค่าที่สังคมบ้านเกิดสร้างมากรอบพวกเขาไว้ บทความนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เห็นพลวัตและความลื่นไหลของอัตลักษณ์มลายูที่ไม่ได้ผูกติดอยู่เพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น หากมีการศึกษาต่อในประเด็นนี้ในทางมานุษยวิทยาอาจทำให้เห็นชีวิตที่หลากหลายของชาวมลายูไกลบ้านหน้ารามก็เป็นได้

 

เอกสารอ้างอิง

ชลิตา บัณฑุวงศ์. (2560). เศรษฐกิจและการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้: การสำรวจเชิงวิพากษ์. ใน อนุสรณ์ อุณโณ. (บรรณาธิการ). หนึ่งทศวรรษมานุษยวิทยาและสังคมวิทยากับการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้. (น. 29-68). กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ชัยวัฒน์ มีสันฐาน. (2559). ทบทวนความสัมพันธ์ สยาม-มลายู และการเข้ามาของชาวมลายู ในภาคกลางของประเทศไทย. วารสารรูสะมิแล, 37(2): 44-63.

ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2556). และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

รอมฎอน ปันจอร์. (2551). 'ฮารับปัน บังซากู': นักศึกษามลายูใน 'สนามความขัดแย้ง'. ใน มูฮัมหมัดอายุบ ปาทาน แลพปกรณ์ พึ่งเนตร (บรรณาธิการ). Deepsouth Bookazine (เรียนรู้และเข้าใจแดนใต้) เล่ม 3 สงครามความรู้สึก ปม-ลึก-ไฟใต้. (น.170-191). กรุงเทพฯ: ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้.

สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพ. (ไม่ปรากฏปี). มัสยิดยามีอุลอิสลาม (รามคำแหง). สืบค้น 11 ธันวาคม 2565. https://masjid.islamicbangkok.or.th/masjid/id/23909.

อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์. (2558). “กลุ่มสลาตัน” กลางกระแสประชาธิปไตยเบ่งบาน: ขบวนการนักศึกษามลายู
ปาตานี พ.ศ. 2515-2520. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการศึกษาพัฒนาเด็กและเยาวชน.

เอกรินทร์ ต่วนศิริ. (2552). บทสำรวจ: ขบวนการนิสิตนักศึกษามุสลิมใน 14 ตุลา 16. ใน เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (บรรณาธิการ). หมายเหตุเดือนตุลา#2: เดือนตุลาใต้เงาสงครามเย็น. (น.78-103). กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา.

Marddent, A. (2007). Sexual culture among young migrant Muslims in Bangkok. Chiang Mai: Silkworm Books.


1  หมายถึง มลายูหน้าราม

2  คำถามนี้ยังมาจากบทสนทนาบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น moopeepink (นามปากกา). (2563, 30 สิงหาคม). แถว ๆ หน้า ม.ราม ตอนนี้กลายเป็นสังคมมุสลิมไปแล้วหรือคะ. Pantip. https://pantip.com/topic/40164674.

3  ชื่อนี้เป็นหนึ่งในข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ว่าเป็นที่มาของชื่อคลองแสนแสบ

4  กรณีดังกล่าวหากใช้กรอบแนวคิดเรื่อง “พรมแดนทางอัตลักษณ์” (Ethnic boundaries) หรือคนพลัดถิ่นศึกษา (Diaspora studies) ในการศึกษาอาจขยายภาพเพิ่มเติมว่า ชาวมลายูที่อยู่ในบางกอกอาจดำรงรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไปพร้อมกับสายสัมพันธ์กับชาวมลายูในมาตุภูมิ ทั้งนี้ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนในส่วนนี้

5  สายสามัญในที่นี้หมายถึง การศึกษาในระบบทางโลก (Secular) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับการศึกษาในทางศาสนาซึ่งเป็นที่นิยมในชาวมลายูมุสลิม ในอดีตจะมีการส่งลูกหลานไปเรียนต่อในต่างประเทศ เช่น ตะวันออกกลาง มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันเริ่มมีการเปิดสถาบันที่ทำการเรียนการสอนทางศาสนาในสถาบันอุดมศึกษาไทยเช่นเดียวกัน เช่น วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี เป็นต้น

6  เช่น ชุมชนบริเวณถนนเพชรบุรี ซอยกิ่งเพชร เป็นต้น ดู รอมฎอน ปันจอร์ (2551) หรือชุมชนมุสลิมฝั่งถนนบริเวณบ้านแขก อิสรภาพ บางกอกน้อย บางอ้อ บางพลัด ดู สำราญ ผลดี (2561) หรือชุมชนชวามุสลิมย่านสาทร ดู สุนิติ จุฑามาศ (2564) แม้ชุมชนเหล่านี้จะมีอัตลักษณ์ร่วมกันคือ ความเป็นชุมชนของผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็มีความแตกต่างเชิงสภาพแวดล้อม หรือแม้กระทั่งความแตกต่างทางวัฒนธรรมเช่นกัน

7  ผู้เขียนใช้นามสมมติเพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูล


ผู้เขียน

นิฌามิล หะยีซะ

นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ นายูดือแปราม ชาวมลายู นิฌามิล หะยีซะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share