“ชีวิตที่เปลือยเปล่า” มองผู้ลี้ภัยทางการเมืองผ่านคนรุ่นใหม่ และประสบการณ์จริงของผู้ไร้แผ่นดิน

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 8702

“ชีวิตที่เปลือยเปล่า” มองผู้ลี้ภัยทางการเมืองผ่านคนรุ่นใหม่ และประสบการณ์จริงของผู้ไร้แผ่นดิน

“อายุ 15 ปี ต้องไปทำบัตรประชาชนได้ทุกคน . . . ผมก็ไปเพราะผมเกิดที่เมืองไทย คนอื่นได้หมด พอมาถึงผม อันนี้สัญชาติไม่ได้นะคะ ยังขอสัญชาติไม่ได้ ไม่มีกฎหมายรองรับนะคะ . . . หน้าผมนี่ชาไปหมดเลย”

 

           บทสัมภาษณ์จากตัวอย่าง Becoming Home (2021) หนังสารคดีขนาดสั้นที่เล่าถึงเรื่องราวของ “คนไร้สัญชาติ” กลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไทยที่มีความปรารถนาที่จะมีชีวิตทางสังคมที่ดีเหมือนกับพลเมืองไทยทุกคน หากแต่มีปัจจัยสำคัญที่สร้างความแตกต่างจนทำให้พวกเขานั้นไม่สามารถเป็นเหมือนกับพวกเราได้ คือ การที่รัฐไทยตัดสินใจที่จะไม่ออกสัญชาติให้กับพวกเขา ในสังคมสมัยใหม่ที่ “รัฐ-ชาติ” กลายมาเป็นแนวคิดการปกครองกระแสหลักที่ได้ให้ความสำคัญกับ “สัญชาติ” มากจนหน้ามืดตามัว มากจนถึงขั้นที่สามารถเปลี่ยนให้สัญชาติซึ่งเดิมเป็นเพียงแค่สิ่งประกอบสร้างทางสังคม กลายเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจที่สามารถสร้างกำแพงแบ่งแยกระหว่างพวกเขากับพวกเราออกจากกันอย่างเบ็ดเสร็จ ยิ่งไปกว่านั้น มันยังส่งผลให้พวกเขาที่ปราศจากสัญชาติต้องใช้ชีวิตด้วยความ “จำยอม” ต่อความอยุติธรรมภายในสังคม และ “จำทน” กับชีวิตที่ไม่มีทางเลือก – ชีวิตที่มีโอกาสทางสังคมมากมายแต่กลับหลุดลอยออกไปโดยที่พวกเขาไม่มีโอกาสที่จะเอื้อมมือไปคว้าเอาไว้ตั้งแต่แรกเสียด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ตัวอย่างบทสัมภาษณ์เป็นเพียงแค่ประโยคบอกเล่าธรรมดา แต่มันกลับแฝงไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากมายที่คนทั่วไปที่มีสถานะพลเมืองไทยตั้งแต่กำเนิดไม่อาจทำความเข้าใจได้ ด้วยการมองพวกเขาผ่านเลนส์แว่นของตนเองที่มีสถานะพลเมืองรองรับ ถึงกระนั้น ประโยคดังกล่าวกลับทำให้ผู้เขียนสัมผัสถึง “ความหวัง” ที่ต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมภายในประเทศไทย ประเทศที่พวกเขาล้วนเชื่อว่าดินแดนแห่งนี้เป็นแผ่นดินเกิดของตนเอง ขณะเดียวกัน มันยังสะท้อนให้เห็นถึงความเศร้าที่มิอาจพรรณนาได้จากการที่ความหวังและความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีเหมือนกับพลเมืองไทยถูกทำลายลงเพียงเพราะพวกเขาไม่มี “สัญชาติ”

 

ทบทวนรากฐานทางความคิดของมโนทัศน์ว่าด้วยชีวิตที่เปลือยเปล่าของจิออร์จิโอ อากัมเบน

           จากการได้อ่านเอกสาร Sovereign Exception: Notes of the Thought of Giorgio Agamben (2015) โดย Amy O’Donoghue สามารถทำให้ผู้เขียนเข้าใจรากฐานทางความคิดและข้อเสนอของนักปรัชญาการเมืองชาวอิตาเลียนอย่างจิออร์จิโอ อากัมเบน (Giorgio Agamben) ที่มีการเสนอเอาไว้ในหนังสือเรื่อง Homo Sacer: Sovereign Power and Bare Life (1995) โดยเอกสารฉบับนี้ก็พยายามสร้างกรอบคำอธิบายแนวคิดอย่างง่าย (conceptualize) โดยการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตย ชีวอำนาจ สภาวะยกเว้น ชีวิตที่เปลือยเปล่า ผู้ลี้ภัย รวมถึงแคมป์ อากัมเบนเริ่มต้นจากการหยิบมโนทัศน์ว่าด้วยชีวิต (life) ของอริสโตเติลขึ้นมาวิพากษ์ โดยแนวคิดดังกล่าวอธิบายว่าชีวิตของมนุษย์สามารถแบ่งออกเป็นเพียงแค่สองประเภทเท่านั้น 1) Zoe หมายถึง ชีวิตที่ไม่ต่างอะไรไปจากสัตว์ที่อาศัยตามธรรมชาติ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง 2) Bios หมายถึง ชีวิตที่มีภาพแบบแผนทางการเมืองชัดเจน เป็นชีวิตที่มีคุณค่า หรือ “ชีวิตทางการเมือง” (Owens, 2010, p. 569) อากัมเบนปฏิเสธคำอธิบายของอริสโตเติลด้วยการอธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นชีวิตแบบใดล้วนต่างมีนัยทางการเมืองและไม่สามารถแยกขาดจากการเมืองได้ทั้งสิ้น ยิ่งกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” ซึ่งมีเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตย่อมไม่สามารถหนีพ้นจากความเป็นการเมืองได้ โดยเฉพาะกับรัฐสมัยใหม่ที่พยายามควบคุมทุกสิ่งมีชีวิตภายในสังคมให้อยู่ภายใต้ระเบียบทางการเมืองแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหนีพ้นจากการเมือง สิ่งนี้ยังถือเป็นลักษณะสำคัญของรัฐสมัยใหม่ที่ต้องการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นประเด็นทางการเมือง (politicization of everything) เพื่อจะควบคุมและบงการสมาชิกในสังคมได้อย่างชอบธรรม (Löwith, 1984 as cited in Agamben, 1998, p. 120) สอดคล้องกับทัศนะของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่มีอิทธิพลต่ออากัมเบนที่อธิบายว่าในสังคมสมัยใหม่นั้นไม่มีสิ่งใดที่หลุดพ้นไปจากอำนาจการสอดส่องดูแลของรัฐ ทุกสรรพสิ่งในเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมล้วนแต่มีความเป็นการเมืองแอบแฝงอย่างแยบยล แม้แต่บางสิ่งบางอย่างที่ดูจะหลุดพ้นไปจากพื้นที่ทางการเมืองก็ยังมีนัยทางการเมืองซุกซ่อนอยู่เสมอ เช่น ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่กลายเป็นคนไร้สัญชาติ ซึ่งดูเหมือนว่าพวกเขาจะเป็นตัวตนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตย ไม่มีความสัมพันธ์กับรัฐอีกต่อไป แท้จริงแล้ว พวกเขาก็ยังถูกดึงกลับเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตย ถึงแม้ว่าร่างกายของพวกเขาจะอยู่นอกขอบเขตการใช้อำนาจแล้วก็ตาม (เช่น กรณีของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการชาวไทยที่ถูกทำร้ายร่างกายขณะที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศญี่ปุ่น1)

 

ชีวิตที่เปลือยเปล่าและสภาวะยกเว้น

           อากัมเบนได้อธิบายข้อเสนอของเขาต่อด้วยการยกกฎหมายโรมันอย่าง Homo Sacer กฎหมายว่าด้วยบุคคลที่มีความผิดอันเป็นบุคคลที่สามารถถูกฆาตกรรมโดยใครก็ได้ โดยผู้ที่ลงมือก็ไม่จำเป็นต้องได้รับโทษทางกฎหมายอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นบุคคลที่ไม่มีคุณค่าพอจะประกอบพิธีกรรมบูชายัญอันศักดิ์สิทธิ์ อากัมเบนมองว่าสถานะของ Homo Sacer เปรียบได้กับ “ชีวิตที่เปลือยเปล่า” (bare life) กล่าวคือ ชีวิตที่มิได้รับความสนใจจากสังคม มิได้รับการคุ้มครองสิทธิ์และเสรีภาพจากรัฐ แต่กลับเป็นชีวิตที่ถูกรัฐจับตามองและควบคุมด้วยกฎหมายอย่างเคร่งครัดตลอดเวลา ที่สำคัญ มันยังเป็นกฎหมายที่มิได้ใช้ร่วมกับพลเมืองของรัฐ แต่เป็นกฎหมายพิเศษที่อยู่ในสภาวะยกเว้น (state of exception) สภาวะที่มุ่งทำให้บุคคลสูญเสียสถานภาพทางการเมืองอย่างถึงที่สุด อากัมเบนแสดงให้เห็นว่าชีวิตที่เปลือยเปล่าไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดพลาดหรือความโกลาหลของระเบียบทางการเมืองที่ไม่สามารถควบคุมผู้คนในสังคมสมัยใหม่ได้ ผู้มีอำนาจจึง “จำใจ” ต้องสร้างชีวิตที่เปลือยเปล่าขึ้นมา (Agamben, 1998, p. 16) แต่มันเป็นชีวิตที่เกิดขึ้นจาก “ความจงใจ” ของผู้มีอำนาจที่ต้องการจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า ไปพร้อมกับการสถาปนาคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พวกเขาเชื่อว่า “เหมือน” กับตนเองผ่านสำนึกคิดความเป็นชาติ ภาษา รวมถึงวัฒนธรรมให้กลายเป็นชีวิตที่มีคุณค่าทางการเมือง หากอธิบายด้วยมโนทัศน์ของ ฟูโกต์ สภาวะยกเว้นก็เปรียบเสมือนเทคนิควิธีหรือเทคโนโลยีแห่งอำนาจ (technology of power) ที่รัฐสมัยใหม่ต้องการทำให้สมาชิกในสังคมใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระเบียบทางสังคมที่มีพรมแดนเชิงอำนาจระหว่างการเมืองกับกฎหมายไม่ชัดเจน (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2550, น. 101) สอดคล้องกับทัศนะของปิยบุตร แสงกนกกุล (2553) ซึ่งมองว่าสภาวะยกเว้นเป็นประเด็นที่นักกฎหมาย (jurist) ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมิฉะนั้นสภาวะดังกล่าวอาจสั่นคลอนมาตรฐานทางกฎหมายและเปลี่ยนตัวบททางกฎหมายให้อยู่ในสภาวะลักลั่นตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งสำหรับหลักนิติธรรม ที่สำคัญ ปิยบุตรตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่สังคมโลกก้าวเข้าสู่ช่วงสมัยใหม่อย่างเต็มตัว สภาวะยกเว้นก็ไม่เคยหยุดทำงาน มาตรฐานทางกฎหมายไม่ได้เป็นสิ่งที่มีความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป เพราะมันสามารถถูกละเลย เพิกเฉย และสร้างขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลาตราบเท่าที่รัฐยังพยายามทำให้กฎหมายเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สีเทาที่เรียกว่า “สภาวะยกเว้น” (ปิยบุตร แสงกนกกุล,2553, น. 84-85) ในที่นี้ อากัมเบนก็ยังมองสภาวะยกเว้นเป็นกระบวนทัศน์ของการปกครอง (paradigm of government) ของรัฐสมัยใหม่ที่มีอำนาจมาพอที่จะบังคับเปลี่ยนให้สถานภาพของพลเมืองกลายไปเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวบททางกฎหมายรองรับแต่อย่างใด (Agamben, 2005, p. 1-2) หากนำมโนทัศน์ว่าด้วยสภาวะยกเว้นเข้ามามองปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยร่วมสมัยเป็นต้นมาก็จะเห็นว่า สภาวะดังกล่าวเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญมาโดยตลอด อย่างเช่น การเปลี่ยนสถานภาพของนักศึกษาให้กลายเป็นขบวนการคอมมิวนิสต์ที่มีสถานะเป็นภัยคุกคามของรัฐไทย สิ่งนี้ก่อให้เกิดสภาวะยกเว้นที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่หรือประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองสามารถฆ่าพวกเขาได้อย่างชอบธรรม โดยที่คนลงมือขณะนั้นไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย ในที่นี้ จะเห็นว่านักศึกษาถูกทำให้กลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าจากการที่รัฐประกาศใช้กฎหมายพิเศษส่งผลให้สถานภาพพลเมืองของพวกเขาหายไป และทำให้พวกเขากลายเป็นสิ่งที่รัฐไม่ต้องการ จนนำไปสู่เหตุการณ์การสังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

           เก่งกิจ กิติเรียกลาภ (2550) อธิบายว่าชีวิตที่เปลือยเปล่าเป็นชีวิตที่ไม่แม้แต่จะกำหนดความเป็นความตายของตนเองได้ เป็นชีวิตที่ถูกทะลุทะลวงโดยอำนาจอธิปไตย เป็นชีวิตที่ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่ขยะแขยงและน่ารังเกียจเกินกว่าจะนำตัวตนเหล่านั้นมาบัญญัติภายใต้กฎหมายเดียวกันกับพลเมืองทั่วไป ชีวิตที่เปลือยเปล่าจึงเป็นชีวิตที่ถูกเบียดขับจากพื้นที่ทางการเมือง และถูกดึงกลับเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ชีวิตที่เปลือยเปล่าดูเหมือนจะเป็นชีวิตที่หลุดพ้นจากกฎหมาย ไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตการทำงานของอำนาจอธิปไตย แต่แท้จริงแล้ว มันกลับอยู่ภายในขอบเขตการทำงานของกฎหมายพิเศษภายใต้สภาวะยกเว้นต่างหาก (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2550, น. 91-97) ชีวิตที่เปลือยเปล่าไม่ใช่ชีวิตที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ หากแต่เป็นชีวิตที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากปฏิบัติการทางอำนาจของรัฐสมัยใหม่อย่างแยบยล ในที่นี้ ชีวิตที่เปลือยเปล่าจึงเป็นชีวิตที่มีความย้อนแย้งและลักลั่นอยู่ภายในตัวเอง เป็นชีวิตที่มีความสลับซับซ้อนจนยากต่อการทำความเข้าใจด้วยสายตาของคนที่มีสถานะพลเมือง เนื่องจากมันเป็นชีวิตที่ติดอยู่ภายในสภาวะ “ข้างในและข้างนอกอำนาจทางการเมืองและกฎหมายในช่วงเวลาเดียวกัน” ตามทัศนะของเก่งกิจ ชีวิตที่เปลือยเปล่าเป็นชีวิตที่อยู่ระหว่างชีวิตที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการเมือง (Zoe) และชีวิตที่มีแบบแผนทางการเมืองชัดเจน (Bios) (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2550, น. 99-100) ดังนั้น การที่บุคคลหนึ่งกลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าได้ ล้วนแต่เกิดขึ้นจากรัฐที่ตัดสินใจใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการทางอำนาจที่เลือกตัดขาดพลเมืองคนหนึ่งออกจากสังคมด้วยการสร้างสภาวะยกเว้น โดยที่บุคคลนั้นยังไม่ได้ต่อรองหรือต่อต้านกับอำนาจดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย ในที่นี้ อำนาจอธิปไตยเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำหน้าที่ตัดสินว่าชีวิตของใครมีหรือไม่มีคุณค่าทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ

 

ผู้ลี้ภัย (Refugee) ในฐานะชีวิตที่เปลือยเปล่า

           อากัมเบนยังแสดงให้เห็นว่า “ค่ายผู้ลี้ภัย” เป็นพื้นที่ทางการเมืองสมัยใหม่ที่มีอำนาจบังคับให้บุคคลที่อยู่ภายในพื้นที่ดังกล่าวต้องทนกับการใช้ความรุนแรงได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเหนืออำนาจของกฎหมายธรรมดา ผู้ลี้ภัยจึงเป็นซับเจค (subject) ซึ่งถูกทำให้กลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า ที่น่าเศร้ากว่านั้น ค่ายยังเป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดชีวิตที่มิอาจแสวงหาหรือทวงคืนสถานะชีวิตทางการเมืองของตนเอง กล่าวคือ แม้ว่าผู้ลี้ภัยจะออกจากค่ายไปแล้ว แต่ความทรงจำอันเลวร้ายที่พวกเขาเคยได้สัมผัสจากปฏิบัติการเชิงอำนาจขณะที่อยู่ภายในค่ายนั้นยังคงเป็นสิ่งที่ตามหลอกหลอนพวกเขาไปจนวันตาย อากัมเบนอธิบายว่าค่ายเป็นพื้นที่ที่เผยให้เห็นว่าชีวิตแบบ Zoe กับ Bios ได้หลอมรวมกันจนกลายเป็นสิ่งเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น Zoe ที่ถูกมองเป็นชีวิตที่ตัดขาดจากความเป็นการเมือง ปัจจุบันกลับมีแนวโน้มที่มุ่งเข้าหาชีวิตทางการเมืองมากขึ้นเป็นเท่าตัว จากการที่สภาวะยกเว้นได้เริ่มกลายเป็นกฎเกณฑ์ถาวรภายในสังคม ถึงขั้นที่เรานั้นมิอาจคาดเดาได้ว่าสถานะความเป็นพลเมืองที่เราถือครองอยู่ทุกวันจะหายไปเมื่อไร อย่างเช่น ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยที่อดีตเคยเป็นพลเมืองของรัฐมาก่อน แต่ถูกรัฐถอดถอนสถานะพลเมืองจนทำให้พวกเขาต้องมีชีวิตที่เปลือยเปล่า กลายเป็นบุคคลที่รัฐไม่ให้ความสำคัญ จะเป็นอยู่หรือตายอย่างไรก็ตาม ถึงกระนั้น พวกเขากลับเป็นบุคคลที่สถานภาพทางกฎหมายเป็นนักโทษคดีทางการเมืองที่รัฐไม่ต้องการมอบพื้นที่ทางสังคมการเมืองให้กับพวกเขา และพร้อมจะเฉดหัวพวกเขาออกจากพื้นที่ดังกล่าวตลอดเวลา สะท้อนให้เห็นว่าค่ายเป็นพื้นที่ที่มีชีวอำนาจไหลเวียนอยู่ทั่วทุกอณู อีกทั้งยังมีพลังมากพอที่จะทะลุทะลวงชีวิตได้ตั้งแต่ระดับปัจเจกจนถึงระดับโครงสร้าง ฮันนา อาเรินท์ (Hannah Arendt) มองว่า “ค่ายเป็นพื้นที่ที่ทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้” (Owens, 2010, p. 575) กล่าวคือ พื้นที่ที่มันจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ ผู้มีอำนาจสามารถบงการความเป็นความตายของผู้คนที่อยู่ภายในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างอิสระ ราวกับเป็นสนามทดลองทางอำนาจของรัฐสมัยใหม่ “ผู้ลี้ภัย” จึงเป็นกลุ่มคนที่ต้องเผชิญกับความโชคร้าย ณ​ ดินแดนบ้านเกิดของตนจนจำเป็นต้องเดินทางไปยังประเทศใหม่ “โดยที่ไม่ทันตั้งตัว” ซ้ำร้ายพวกเขาอาจต้องเผชิญกับความโชคร้ายจากประเทศปลายทางอีกด้วย นับเป็นชีวิตที่ไม่มีความแน่นอน แม้ว่าพวกเขาจะวางแผนชีวิต ก็มิอาจจะมองเห็นภาพอนาคตของตนเองได้ (ภีม ภู่ยงยุทธ์, 2020) แน่นอนว่า “ความปรารถนาของผู้ลี้ภัย” คือ การมีชีวิตที่ดีกว่าชีวิตในดินแดนเดิม ค่ายผู้ลี้ภัยที่สมควรเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์ชีวิตทางสังคมขึ้นมาด้วยตนเอง แต่กลับกลายเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ปฏิบัติการทางอำนาจอธิปไตยประกอบสร้างชีวิตที่เปลือยเปล่าขึ้นมา ผู้ลี้ภัยต้องมีชีวิตอย่างแออัดภายในอาณาเขตของค่ายที่ถูกตีกรอบ (ด้วยรั้ว) พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตทางสังคมได้อย่างพลเมืองทั่วไป มิสามารถมองเห็นอนาคตของตนได้ ไม่มีหน้าที่การงาน ถูกตัดการสื่อสารจากโลกภายนอก ทำให้พวกเขากลายเป็นชีวิตที่ต้องอยู่กับความเงียบ ไม่สามารถพัฒนาชีวิตของตนเอง ผู้ลี้ภัยบางคนอาจไม่เคยออกจากค่ายตลอดชีวิต ดังนั้น ชีวิตของผู้ลี้ภัยจึงเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าอย่างแท้จริง

 

ข้อวิพากษ์ต่ออากัมเบนว่าด้วยชีวอำนาจ (Biopower) และชีวการเมือง (Biopolitics)

           ชีวิตที่เปลือยเปล่าและสภาวะยกเว้นของอากัมเบนถือเป็นข้อเสนอที่สร้างคุณูปการสำคัญให้กับแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และกฎหมายอย่างมาก ด้วยการแสดงให้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยในรัฐสมัยใหม่นั้นไม่ได้ทำงานอยู่แค่ภายในขอบเขตการใช้อำนาจของรัฐเพียงอย่างเดียว ตอกย้ำให้เห็นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นสิ่งที่มีปฏิบัติการเชิงอำนาจข้ามพรมแดนอย่างอิสระ ขณะเดียวกัน ยังทำให้ระเบียบทางการเมืองและกฎหมายกลายเป็นสิ่งที่ “พร่ามัว” ที่พร้อมลิดรอนสิทธิเสรีภาพและสถานภาพพลเมืองของสมาชิกในสังคม อันเป็นสาเหตุสำคัญซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมตลอดเวลา ผ่านการหยิบยืมและต่อยอดแนวคิดชีวอำนาจ (biopower) และชีวการเมือง (biopolitics) ของมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault)

           ในที่นี้ ผู้เขียนอยากนำพาผู้อ่านกลับไปทบทวน “แนวคิดชีวอำนาจและชีวการเมือง” ของ ฟูโกต์เสียก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจข้อวิพากษ์ของนักสังคมวิทยาต่อข้อเสนอของ อากัมเบนที่จะกล่าวถึงในย่อหน้าถัดไป ฟูโกต์เริ่มต้นการอธิบายด้วยการบอกว่า “อำนาจอธิปไตยของรัฐได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวอำนาจ” นับตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่17 และเห็นได้อย่างชัดเจนจากการเกิดขึ้นของ “รัฐ-ชาติ” (nation-state) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จากเดิมที่อำนาจถูกอธิบายว่าเป็นสิ่งที่ผูกติดกับผู้มีอำนาจเท่านั้น โดยเฉพาะ “รัฐ” เป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ครอบงำสมาชิกในสังคมอย่างเบ็ดเสร็จ แม้กระทั่งการตัดสินความเป็นความตายของพวกเขา กลายมาเป็น “ชีวอำนาจ” อำนาจที่ทำงานในระดับจุลภาค สามารถแทรกซึมลงไปในชีวิตประจำวันของสมาชิกในสังคมได้ทุกมิติ ทำให้พวกเขาต้องคอยควบคุมหรือปกครองตนเองอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนให้พวกเขากลายเป็นร่างกายภายใต้บงการที่มิอาจหนีพ้นไปจากปฏิบัติการเชิงอำนาจได้ ในแง่นี้ ชีวอำนาจจึงเป็นอำนาจที่ทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยบุคคลใดเป็นผู้กระทำการ (อานันท์ กาญจนพันธุ์, 2562, น. 115-116) ลักษณะสำคัญของชีวอำนาจตามทัศนะของฟูโกต์ เปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตที่มิได้ยึดโยงกับบุคคลหรือหน่วยทางการเมืองใด เป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ปฏิบัติการเชิงอำนาจ (discursive practice) จึงมิได้เป็นเรื่องของการกดขี่หรือครอบงำ แต่เป็นเรื่องของประสิทธิผล (productive) ที่มีความเฉพาะเจาะจงตามบริบทพื้นที่และเวลา ที่สำคัญ อำนาจไม่จำเป็นต้องมาจากความสัมพันธ์แบบบนลงล่างเพียงอย่างเดียว แต่กลายเป็นสิ่งที่มีลักษณะฟุ้งกระจาย และดำรงอยู่ทั่วทุกพื้นที่ทางสังคมที่ใครก็สามารถหยิบฉวยขึ้นมาใช้งานได้อย่างอิสระ ชีวการเมืองจึงเป็นเทคนิคการปกครองแบบใหม่ที่นำเอาชีวิตของสมาชิกในสังคมเข้ามาเป็นศูนย์กลางในการประกอบสร้างระเบียบทางการเมือง เปลี่ยนให้อำนาจซึ่งเคยเป็นเรื่องของความเป็นความตาย กลายมาเป็นเรื่องของการมีชีวิต (O’Donoghue, 2015) ทั้งหมดเพื่อธำรงรักษาเสถียรภาพทางสังคมการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของรัฐเอาไว้ ถึงกระนั้น อากัมเบนกลับมองว่าอำนาจอธิปไตยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวอำนาจตามที่ฟูโกต์เสนอเลยแม้แต่น้อย แต่อำนาจอธิปไตยเป็นชีวอำนาจมาตั้งแต่แรกแล้ว (O’Donoghue, 2015) ทัศนะที่แตกต่างกันในส่วนนี้ทำให้นักวิชาการหลายคนมองว่า อากัมเบนอ่านและตีความชีวอำนาจของฟูโกต์ผิดไปจนนำไปสู่การสร้างข้อเสนอที่มีความย้อนแย้งเชิงทฤษฎี และยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่นักสังคมวิทยาได้เริ่มหันมาวิพากษ์ข้อเสนอของ อากัมเบนอย่างจริงจัง

           โทมัส เลมเก้ (Thomas Lemke) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันวิพากษ์ข้อเสนอของ อากัมเบนว่าด้วยชีวิตที่เปลือยเปล่าและสภาวะยกเว้นในบทความ “A Zone of Indistinction” – A Critique of Giorgio Agamben’s Concept of Biopolitics (2005) เลมเก้เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่าข้อเสนอของอากัมนั้นเป็นสิ่งที่มีความย้อนแย้งมากจนกลายเป็นปัญหาเชิงทฤษฎี (theoretical problems) โดยเกิดขึ้นจากการที่อากัมเบนตีความชีวอำนาจที่แตกต่างไปจาก ฟูโกต์มากจนเกินไป ข้อวิพากษ์สำคัญที่เลมเก้แสดงให้เห็น คือ อากัมเบนยังมิได้ข้ามพ้นรูปแบบของอำนาจว่าด้วยปฏิบัติการเชิงกฎหมาย (the “juridico-discursive” model of power) เลย สิ่งนี้ถือเป็นวิธีคิดที่ให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตยและรัฏฐาธิปัตย์ในฐานะศูนย์กลางของการใช้อำนาจเหนือสิ่งใด แน่นอนว่าลักษณะของอำนาจดังกล่าวยังมองว่าอำนาจเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ครอบงำผู้คนด้วยการเน้นปราบปราม เพื่อทำให้สมาชิกในสังคมอยู่ภายใต้ระเบียบการเมืองการปกครองอย่าง “กฎหมาย” เป็นหลัก อำนาจลักษณะนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบบนลงล่างอย่างชัดเจน ตอกย้ำให้เห็นว่าอากัมเบนไม่ได้คำนึงว่า ในรัฐ-ชาติสมัยใหม่ อำนาจทางการเมืองไม่ถูกใช้ผ่านศูนย์กลางอีกต่อไปแล้ว แต่ถูกใช้ผ่านหน่วยทางสังคมอย่างสถาบันทางสังคม (เช่น ครอบครัว โรงเรียน) ด้วยเทคนิควิธีการปกครองที่หลากหลายในรัฐ-ชาติสมัยใหม่ (Lemke, 2005, p. 10) หนำซ้ำการให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากจนเกินไปยังทำให้ผู้อ่านไม่อาจมองเห็นชีวิตทางสังคมและประสบการณ์ของชีวิตที่เปลือยเปล่า แน่นอนว่าการมองไม่เห็นชีวิต (life) ของผู้คนถือเป็นวาระทางสังคมศาสตร์ (social science's agenda) ที่สำคัญสำหรับนักมานุษยวิทยาที่ต้องคำนึงถึง “เสียง” (voice) ของผู้คนเสมอ

           เลมเก้ชี้ให้เห็นว่า ขณะที่ฟูโกต์มองว่าในสังคมโลกปัจจุบันที่ “รัฐ-ชาติ” กลายเป็นระเบียบทางการเมืองการปกครองสำคัญ อำนาจเชิงกฎหมาย (juridical power) ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ ชีวอำนาจเรียบร้อยแล้ว หนำซ้ำชีวอำนาจไม่ใช่อำนาจที่สามารถอธิบายได้ผ่านความเป็นการเมืองหรือตัวบททางกฎหมายเพียงอย่างเดียว โดยฟูโกต์แสดงให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนที่จำแนกความแตกต่างระหว่างอำนาจอธิปไตยและอำนาจเชิงกฎหมายกับชีวอำนาจอย่างละเอียด ด้วยการเสนอการใช้อำนาจผ่าน “วินัย” (discipline)2 แต่ดูเหมือนว่าอากัมเบนกลับนำชีวอำนาจเข้าไปหารูปแบบของอำนาจเชิงกฎหมาย สิ่งนี้ส่งผลให้ข้อเสนอของเขายังคงตั้งอยู่บนฐานที่อำนาจอธิปไตยเป็นสิ่งที่มีอำนาจสูงสุด ไม่อาจถูกสั่นคลอนได้ นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าสมาชิกในสังคมทุกคนล้วนเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าทั้งสิ้นจากการที่ผู้มีอำนาจสามารถสร้างสภาวะยกเว้นเพื่อลิดรอนสถานภาพพลเมืองได้ตลอดเวลา ในที่นี้ เลมเก้มองว่าอากัมเบน “รีบ” สร้างข้อสรุปจนไม่ได้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการหรือกลไกที่ก่อให้เกิดชีวิตที่เปลือยเปล่าที่แตกต่างกันของสมาชิกในสังคมตามบริบทพื้นที่และเวลา ที่สำคัญ การเลือกหยิบยืมชีวอำนาจตามทัศนะของฟูโกต์ขึ้นมาต่อยอดย่อมต้องเข้าใจเสียก่อนว่า อำนาจไม่ได้เป็นสิ่งที่มีสถานะสูงสุดถาวร ไม่มีใครสามารถถือครองอำนาจได้อย่าง นิรันดร์ ศูนย์กลางของอำนาจจึงเป็นเพียงร่างทรงของอำนาจขณะหนึ่งก็เท่านั้น ตามทัศนะของ เลมเก้แล้ว การวิเคราะห์อำนาจของอากัมเบนดูเหมือนจะเป็นการวิเคราะห์ที่มีความใกล้เคียงกับวิธีคิดของคาร์ล ชมิตต์ (Carl Schmitt) ที่ให้ความสำคัญรัฐฏาธิปัตย์และอำนาจเชิงกฎหมายเสียมากกว่าฟูโกต์ บทความของเลมเก้ชวนให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึง “วลี” ของฟูโกต์ว่าด้วย “ที่ใดมีการใช้อำนาจ ที่นั่นมีการต่อต้าน” (Where there is power, there is resistance.) ตอกย้ำให้เห็นว่าอำนาจไม่ใช่สิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ อำนาจเป็นสิ่งที่สามารถต่อต้าน ขัดขืน และสั่นคลอนได้เสมอ ดังนั้น อำนาจอธิปไตยที่อากัมเบนมองว่าเป็นชีวอำนาจจึงกลายเป็นสิ่งที่มีความย้อนแย้งภายในตัวเองจนกลายเป็นปัญหาเชิงทฤษฎี จากการที่อากัมเบนเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นสิ่งที่พลเมืองไม่สามารถต่อต้านได้ แม้ว่าจะเป็นอำนาจที่เลวร้ายเพียงใดแต่สังคมก็มิอาจขาดมันได้ สิ่งนี้เผยให้เห็นว่าอากัมเบนเข้าใจชีวอำนาจและชีวการเมืองแตกต่างไปจากทัศนะเดิมของฟูโกต์อย่างเห็นได้ชัด ยิ่งไปกว่านั้น เลมเก้มองว่าการวิเคราะห์ของอากัมเบนเป็นเพียงการวิเคราะห์ระดับพื้นผิวที่ไม่สามารถวิเคราะห์กระบวนการจัดลำดับชนชั้น (hierarchization) ในชีวิตที่เปลือยเปล่าได้ ทั้งที่สิ่งนี้ก็ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในพื้นที่ที่เรียกว่า พื้นที่แห่งความไม่ชัดเจน (zone of indistinction) และยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตที่เปลือยเปล่ามีชีวิตทางสังคมและประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป สำหรับเลมเก้ กระบวนการจัดลำดับชั้นในชีวิตที่เปลือยเปล่าก็ถือเป็นสิ่งที่มีความเป็นการเมือง (political) เข้มข้นไม่ต่างจากกระบวนการสร้างสภาวะยกเว้น (Lemke, 2005, p. 8) ท้ายที่สุด เลมเก้กล่าวถึงความย้อนแย้งภายในตัวเองของข้อเสนอของอากัมเบนอย่างตรงไปตรงมาว่า สิ่งนี้ คือ “ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้จากการวิเคราะห์ที่เพิกเฉยต่อสาระสำคัญของแนวคิดชีวการเมืองอย่างเป็นระบบ” (the necessary outcome of an analysis that systematically ignores central aspects of contemporary biopolitics.) (Lemke, 2005, p.7)

           ท้ายที่สุด เลมเก้มองว่าปัญหาของการนำชีวอำนาจกลับไปหาอำนาจเชิงกฎหมาย หรือการมองอำนาจอธิปไตยในลักษณะที่เป็นชีวอำนาจภายในตัวเอง ส่งผลให้ข้อเสนอของเขามองไม่เห็นกระบวนการสร้างสภาวะยกเว้นด้วยเงื่อนไขที่อยู่นอกเหนือจากกระบวนการทางการเมืองและกฎหมาย (Lemke, 2005, p. 11-12) อย่างการสร้างสภาวะยกเว้นด้วยความแตกต่างทางเศรษฐกิจซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม รวมถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมอีกด้วย ข้อเสนอที่คับแคบของอากัมเบนส่งผลให้หน่วยวิเคราะห์ว่าด้วยชีวอำนาจของเขาจำกัดอยู่ภายในกลุ่มทางสังคมที่ไม่มีสิทธิ์ตามกฎหมาย (เช่น ผู้ลี้ภัย คอมมิวนิสต์) ทั้งที่จริงแล้ว ยังมีกลุ่มทางสังคมที่ต้องเผชิญกับกระบวนการสร้างสภาวะยกเว้นด้วยเงื่อนไขอื่น ขณะที่พวกเขายังคงรักษาสถานภาพทางการเมืองของตนเองได้ (เช่น กลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ) เลมเก้มองว่าชีวิตที่เปลือยเปล่าในรัฐชาติสมัยใหม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นความตายอีกต่อไปแล้ว หากแต่ยังมีเงื่อนไขหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดชีวิตที่เปลือยเปล่าขึ้นมา เช่น ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ (economic imperative) ผ่านการจัดระเบียบทางสังคมการเมืองให้กับสมาชิกในสังคม ที่สำคัญ ข้อเสนอของอากัมเบนที่ได้กล่าวไว้ว่าหัวใจของรัฐ-ชาติสมัยใหม่ คือ การกำหนดสภาวะยกเว้น เลมเก้กลับมองว่ามันเป็นการลดทอนความสลับซับซ้อนของนัยทางการเมืองตามมโนทัศน์ว่าด้วย ชีวอำนาจและชีวการเมืองให้กลายเป็นคำอธิบายอย่างง่าย (generalization) ที่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับเขาสามารถนำมโนทัศน์ที่ถูกลดทอนไปวิเคราะห์ชีวิตที่เปลือยเปล่าที่อาศัยภายใน “แคมป์” ได้อย่างอิสระ ในที่นี้ แนวคิดชีวการเมืองตามทัศนะของอากัมเบนควรเรียกว่า “การเมืองว่าด้วยความตาย” (thanatopolitics) (Lemke, 2005, p. 11) เสียมากกว่า จากทั้งหมดที่กล่าวมา ข้อวิพากษ์ของเลมเก้ต่ออากัมเบนนับเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดพรมแดนและต่อยอดความรู้ให้กับนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาที่ตั้งคำถามว่า “ชีวิตที่เปลือยเปล่าแท้จริงแล้วเปลือยเปล่า (bareness) จริงหรือไม่? พวกเขาไม่สามารถต่อต้านอำนาจอธิปไตยที่เข้ามาทำให้พวกเขากลายเป็นซับเจคที่ไม่มีอำนาจต่อต้านจริงหรือไม่? กระบวนการกลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่ายังมีมิติใดที่ซุกซ่อนอยู่อีกบ้าง? ชีวิตที่เปลือยเปล่าตามทัศนะของอากัมเบนซึ่งดูเหมือนเป็นชีวิตที่ไร้ทางเลือกและไม่มีทางออก แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? ท้ายที่สุด ชีวิตที่เปลือยเปล่าไม่อาจกลับไปมีชีวิตที่ปกติได้จริงหรือ?

 

“ความไม่เข้าใจ” ของคนรุ่นใหม่ (?) ที่มีต่อผู้ลี้ภัยในฐานะชีวิตที่เปลือยเปล่า

           สาระสำคัญและข้อเสนอของอากัมเบนได้ชวนให้ผู้เขียนย้อนนึกถึงปรากฏการณ์ “กระแสย้ายประเทศ” ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 เป็นกระแสที่เกิดขึ้นจากกลุ่มเฟซบุ๊กหนึ่งที่เปิดโอกาสให้สมาชิกมาสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างประเทศ รวมไปถึงแนวทางและวิธีการย้ายประเทศด้วยเช่นกัน ณ ช่วงเวลานั้น ผู้เขียนมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ เจ (นามสมมุติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านรังสิต เจแสดงความปรารถนาของตนเองออกมาอย่างชัดเจนว่าต้องการออกจากประเทศไทย โดยไม่สนใจวิธีการ เขากล่าวว่าถึงแม้ว่าตนเองต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ถ้ามันทำให้เขาออกจากประเทศนี้ได้เข้าก็ยินดีมาก ตามทัศนะของเจ ผู้ลี้ภัยเป็นสถานภาพที่ช่วยทำให้เขาย้ายประเทศได้ง่ายขึ้น ทั้งยังมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นบุคคลที่โชคดีจากการที่รัฐไม่ต้องการ ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐ ที่สำคัญ ก็ยังมีองค์การระหว่างประเทศหรือประเทศปลายทางเข้ามาช่วยเหลือพวกเขาให้ย้ายประเทศได้สำเร็จอีกต่างหาก ดังนั้น ชีวิตของผู้ลี้ภัย คือ “ชีวิตที่เลือกได้” และมั่นใจอย่างยิ่งว่าเมื่อข้ามพ้นประเทศต้นทางไปแล้วย่อมมีชีวิตที่สวยงามรอคอยเขาอยู่เสมอ ในที่นี้ เจยกตัวอย่างผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ โดยเล่าว่าชีวิตของเขาเป็นชีวิตผู้ลี้ภัยที่มีคุณภาพและเป็นภาพในอุดมคติของตนเองอย่างยิ่ง เพราะเขามีทั้งรถยนต์ มีบ้าน มีครอบครัว มีสวัสดิการที่พึงได้รับในฐานะพลเมืองนิวซีแลนด์ สิ่งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเจไม่ได้เข้าใจชีวิตของผู้ลี้ภัยเลยแม้แต่น้อย เพราะสถานภาพของผู้ลี้ภัยไม่ได้เกิดขึ้นจากความสมัครใจของพวกเขา หากแต่เป็นชีวิตที่เป็นผลของอำนาจอธิปไตยที่บีบบังคับให้พวกเขาต้องกลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า ชีวิตที่ไม่มีทางเลือก ด้วยการยกเลิกสถานะพลเมืองของเขา พร้อมทั้งเปลี่ยนให้พวกเขากลายเป็นนักโทษคดีทางการเมืองอันเป็นศัตรูโดยธรรมชาติของรัฐสมัยใหม่ที่มีบทลงโทษทางกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ที่สำคัญ เจเข้าใจชีวิตของผู้ลี้ภัยขณะที่อยู่ในประเทศปลายทางเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้มองชีวิตของเขา “ระหว่างทาง” ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากอีกมากมาย ถือเป็น “การเลือกมอง” แต่สิ่งที่ผู้ลี้ภัยนำเสนอออกมาบนสื่อสังคมออนไลน์เพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นเพียงเศษเสี้ยวชีวิตและประสบการณ์ของผู้ลี้ภัยเท่านั้น แน่นอนว่าการเลือกมองดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจชีวิตทางสังคมของผู้ลี้ภัยที่ต้องประสบกับความรุนแรงเลยแม้แต่น้อย (เช่น ความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ลี้ภัยปรับตัวกับวัฒนธรรมปลายทางไม่ได้ เป็นต้น)

           ทำนองเดียวกัน เอ็ม (นามสมมุติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยแถวสามย่านกล่าวกับผู้เขียนว่าผู้ลี้ภัยอาจจะไม่ได้เป็นชีวิตที่ย่ำแย่เหมือนที่สังคมส่วนใหญ่เข้าใจ ถึงแม้ว่าช่วงแรกอาจจะลำบากจากการต้องดำเนินเรื่องขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยทางการเมือง ถึงกระนั้น เมื่อข้ามพ้นไปยังประเทศปลายทางแล้ว ชีวิตของผู้ลี้ภัยย่อมได้รับอิสระจากกรงขังที่เรียกว่า “อำนาจอธิปไตย” เป็นชีวิตที่มิได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลหรือสอดส่องจากรัฐเดิมอีกต่อไป สำหรับเอ็ม ผู้ลี้ภัยไม่ได้เป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าตามข้อเสนอของอากัมเบน โดยเขาเชื่อว่าผู้ลี้ภัยก็มีความสามารถกระทำการ (agency) เหมือนกับพลเมืองทั่วไป สามารถกระทำอะไรก็ได้ตามที่ตนเองต้องการเมื่อข้ามพ้นมายังประเทศปลายทางแล้ว เอ็มยกตัวอย่างผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น โดยอธิบายว่าชีวิตของเขาไม่ได้เป็นชีวิตที่ลำบากเลย หนำซ้ำสถานะผู้ลี้ภัยยังทำให้เขามีชื่อเสียงในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ การเป็นผู้ลี้ภัยจึงไม่ต่างไปจากสถานภาพทางสังคมทั่วไปที่เรายังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า เอ็มไม่ได้เข้าใจชีวิตของผู้ลี้ภัยเช่นเดียวกับเจ โดยสถานะผู้ลี้ภัยนั้นไม่ได้เกิดจากความปรารถนาหรือตั้งใจของพวกเขา หากแต่เป็นสถานะที่เกิดขึ้นจากการที่นำเอาทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตไปแลกกับ “การมีชีวิตอยู่” ต่อไปในโลกที่มีสังคมหนึ่งที่ไม่ต้อนรับพวกเขาและมองว่าพวกเขาเป็นตัวตนที่ไม่สมควรมีชีวิตอีกต่อไป ตัวอย่างชีวิตของผู้ลี้ภัยที่เอ็มกล่าวถึงสะท้อนถึง “การมองข้าม” ภูมิหลังของชีวิตและบริบททางสังคมการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของผู้ลี้ภัยที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน การที่ผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง “ดูเหมือน” มีอิสระ มีชื่อเสียง มีฐานะ ไม่ได้หมายความว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยทุกคนจะมีชีวิตที่ดีแบบเดียวกัน ที่สำคัญ ชีวิตของผู้ลี้ภัยเป็นชีวิตที่ไม่เคยหลุดพ้นจากอำนาจอธิปไตยเลย เรายังเห็นได้เสมอว่ารัฐเดิมยังคงติดตามการเคลื่อนไหวของพวกเขาอย่างใกล้ชิด ในที่นี้ หากผู้อ่านยังคงเชื่อว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยเป็นชีวิตที่ดี ผู้เขียนอยากชวนให้ผู้อ่านนึกย้อนถึงชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่ต้องใช้ชีวิตอย่างแออัดบนเรือประมง บางคนมีร่างกายขาดสารอาหาร บางคนเกิดและตายโดยไม่มีแม้แต่โอกาสจะเหยียบแผ่นดินเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น ชีวิตของผู้ลี้ภัยที่ดีตามทัศนะของเอ็มจึงเป็นเพียงความฝันที่เกิดจากจินตนาการที่จากการได้เห็นเศษเสี้ยวชีวิตของผู้ลี้ภัยบนสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น

 

ชีวิตและประสบการณ์ผ่าน “เสียง” ของ พล.ต.ต ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง

           สารคดี Thailand’s Fearless Cop (2022) จากรายการ 101 East ช่อง Al Jazeera English ได้นำเสนอเรื่องราวของ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนที่ลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลียว่าด้วยสาเหตุที่ทำให้เขาต้องลี้ภัยออกจากประเทศไทย รวมถึงชีวิตทางสังคมหลังจากที่ลี้ภัยมายังประเทศปลายทาง บทสัมภาษณ์ของปวีณเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยไม่ได้เป็นชีวิตที่โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนที่ผู้คนในสังคมเข้าใจผ่าน “เสียง” (voice) ของเขาในฐานะผู้ลี้ภัยเอง ปวีณเล่ากับสำนักข่าวว่าหลังจากที่เขาลี้ภัยมายังประเทศออสเตรเลีย เขาถึงคิดเสมอว่าที่นี้มิใช่ชีวิตที่เขาปรารถนาเลยแม้แต่น้อย ทั้ง ๆ ที่เขาได้ทำหน้าที่ตามที่ตนได้รับอย่างสุจริตแล้ว แต่กลับถูกผู้มีอำนาจพยายามบังคับเขาให้สูญหายไปจากสังคม ที่สำคัญ การใช้ชีวิตของเขาที่ประเทศออสเตรเลียในฐานะผู้ลี้ภัยก็เต็มไปด้วยความลำบาก ในประเทศปลายทางที่หลายคนมองว่ามันเป็นดินแดนที่สวยงาม ปวีณกลับเป็นเพียงชายชราคนหนึ่งที่ทำงานเป็นผู้ใช้แรงงานในโรงงานผลิตเบาะรถยนต์ “อย่างไม่มีทางเลือก” จากกำแพงทางด้านภาษาและทักษะที่มิได้ขัดเกลามาตั้งแต่แรก ปวีณกล่าวว่า

 

“จะว่ายากก็ยาก แต่มันไม่มีทางเลือก อีกอย่างหนึ่ง . . . เราต้องยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้”

 

           สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยอย่างเขามิได้มีทางเลือกอิสระเลยแม้แต่น้อย เขาเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นชีวิตที่มิอาจมองเห็นอนาคตหรือเส้นทางไปต่อของตนเอง ปวีณให้สัมภาษณ์สำนักข่าวด้วยเสียงสะอึกพร้อมกับน้ำตาที่ค่อย ๆ ไหลจากดวงตาว่า

 

“ผมเสียใจ . . . มันว้าเหว่ . . . มันห่างไกลครอบครัว คนที่เรารัก มันรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง และวังเวงมากบางครั้ง”

 

           ย้ำเตือนให้เข้าใจว่าการที่ใครก็ตามที่กำลังมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นช่องทางในการออกนอกประเทศ คนเหล่านั้นมิได้เข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ลี้ภัยเลยแม้แต่นิดเดียว ความปรารถนาที่จะเป็นผู้ลี้ภัยเพียงเพราะต้องการย้ายประเทศ จึงเป็นความคิดที่เหยียบย้ำอยู่บนความรู้สึกทุกข์กายทุกข์ใจของพวกเขาอย่างยิ่ง ท้ายที่สุด ปวีณแสดงให้เห็นว่าชีวิตของผู้ลี้ภัยไม่ใช่ชีวิตที่เขาและใครคนใดพึงปรารถนา ตั้งแต่วันแรกที่เขาลี้ภัยจากประเทศไทยจนถึงวันที่ให้สัมภาษณ์ เขายังคงเฝ้ารอวันที่เขาจะได้กลับไปยังประเทศไทยเสมอ และหวังว่าถึงเวลานั้นประเทศไทยยังคงต้อนรับเขากลับบ้านในฐานะ “พลเมือง” เสียที ปวีณให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายว่า

 

“นั่นคือบ้านเกิดของผม ผมยังมีบุคคลอันเป็นที่รัก . . . และมันเป็นความหวังของผมที่อยากกลับไปที่บ้าน”

 

บทส่งท้าย

           จากทั้งหมดที่กล่าวมา ชีวิตของผู้ลี้ภัยเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าอย่างแท้จริง เป็นชีวิตที่ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากเกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถจินตนาการได้ หากมิได้เข้ามาสัมผัสมันหรือรับฟังเสียงของพวกเขาเอง ความปรารถนาของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการออกนอกประเทศไทยในฐานะผู้ลี้ภัยเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึง “ความไม่เข้าใจ” ในชีวิตที่เปลือยเปล่า ท้ายที่สุด แม้ว่าหนัง Becoming Home (2021) จะไม่ได้เป็นหนังสารคดีขนาดสั้นที่บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตผู้ลี้ภัยอย่างตรงไปตรงมา แต่มันสามารถถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตทางสังคมและประสบการณ์อันขมขื่นของ “คนไร้สัญชาติ” ในฐานะชีวิตที่เปลือยเปล่าที่ต้องจำทนกับความรุนแรง โดยเฉพาะความรุนแรงทางวัฒนธรรมซึ่งเกิดขึ้นจากการที่รัฐไทยไม่ออกสัญชาติให้กับพวกเขา โดยผู้เขียนมองว่าสารคดีนี้แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ อารมณ์ความรู้สึก และชีวิตทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกผันถาวรจนบุคคลที่มีชีวิตที่เปลือยเปล่าไม่อาจทวงกลับคืนได้ สารคดีนี้จึงเปรียบเสมือนกับเครื่องมือสำคัญที่ช่วยขัดเกลาและสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับชีวิตของผู้ลี้ภัยเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในสังคมไทยให้เห็นว่า “ชีวิตที่เปลือยเปล่านั้นไม่ได้เป็นชีวิตที่สวยงามเหมือนกับภาพที่พวกเขาวาดฝันเอาไว้แม้แต่น้อย”

 

บรรณานุกรม

บทความภาษาไทยในวารสาร

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. (2550). ความคิดทางการเมืองของ Giorgio Agamben: ว่าด้วย ชีวิตที่เปลือยเปล่า องค์อธิปัตย์ในสภาวะสมัยใหม่ และการเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด. รัฐศาสตร์สาร, 28(3), 91-124.

ปิยบุตร แสงกนกกุล. (2553). สภาวะยกเว้น ในความคิดของ Giorgio Agamben. ฟ้าเดียวกัน, 8(1), 84-91.

 

บทความภาษาต่างประเทศในวารสาร

Owens, Patricia. (2010). “Reclaiming ‘Bare Life’? Against Agamben on Refugees.” International Relations 23 (4), 567-582.

Lemke, Thomas. (2005). “A Zone of Indistinction” – A Critique of Giorgio Agamben’s Concept of Biopolitics. Outlines. Critical Social Studies, 7(1), 3-13.

Löwith, Karl. (1984). Der okkasionelle Dezionismus von Carl Schmitt. In Karl Löwith, Samtliche Schriften, ed. Klaus Stichweh and Marc B. de Launay, 8(1). Stuttgart: Metzler, 33.

 

หนังสือภาษาไทย

อานันท์ กาญจนพันธุ์. (2562). คิดอย่างมิเชล ฟูโกต์ คิดอย่างวิพากษ์: จากวาทกรรมของอัตบุคคลถึงจุดเปลี่ยนของอัตตา (พิมพ์ครั้งที่3). กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.

 

หนังสือภาษาต่างประเทศ

Agamben, Giorgio. (1998). Homo Sacer: Sovereign Power and Bare Life. Translated by D. Heller-Roazen. Stanford, California:Stanford University Press, 15-29 (The Paradox of Sovereignty), 71-74 (Homo Sacer), and 119-125 (The Politicisation of Life).

Agamben, Giorgio. (2005). State of Exception. Translated by Kevin Attell. Chicago and London: University of Chicago Press, 1-31 (The State of Exception as a Paradigm of Government).

Foucault, Michel. (1977). Discipline and Punish: The Birth of the Prison. London: Allen Lane.

 

เว็บไซต์ภาษาไทย

ภีม ภู่ยงยุทธ์. (2020). คนไม่มีสิทธิ์: ว่าด้วยชีวิตอันเปลือยเปล่าของเราทุกคน. สืบค้น 20 มิถุนายน 2565, จาก http://www.dindeng.com/nakedlife-and-refugees/.

ไทยรัฐ. (2562). กลุ่มผู้ลี้ภัยประสานเสียงยืนยัน “ปวิน” ถูกทำร้ายร่างกายที่ญี่ปุ่น. สืบค้น 21 มิถุนายน 2565, จาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1627236.

 

เว็บไซต์ภาษาอังกฤษ

O’Donoghue, Amy. (2015). “Sovereign Exception: Notes on the Thought of Giorgio Agamben.” Retrieved from https://criticallegalthinking.com/2015/07/02/sovereign-exception-notes-on-the-thought-of-giorgio-agamben/.

 

วิดิทัศน์

Al Jazeera English. (2022, April 21). Thailand’s Fearless Cop | 101 East Documentary. YouTube. Retrieved 2022, June 20, From https://www.youtube.com/watch?v=76hxGsXN2EI&t=143s.

You Me We US Exhibition. (2021, October 28). Becoming Home l Official Trailer l ตัวอย่างภาพยนตร์. YouTube. Retrieved 2022, June 18, From https://www.youtube.com/watch?v=0ymTzctTiwk.


1  ดู ไทยรัฐ. (2562). กลุ่มผู้ลี้ภัยประสานเสียงยืนยัน “ปวิน” ถูกทำร้ายร่างกายที่ญี่ปุ่น. สืบค้น 21 มิถุนายน 2565, จาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1627236.

2  ดูรายละเอียด Foucault, Michel. (1977). Discipline and Punish: The Birth of the Prison. London: Allen Lane.


ผู้เขียน

ปิติรักษ์ คืนตัก

นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 

ป้ายกำกับ ชีวิตที่เปลือยเปล่า ผู้ลี้ภัยทางการเมือง คนรุ่นใหม่ ประสบการณ์ ผู้ไร้แผ่นดิน ปิติรักษ์ คืนตัก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา