ร่างทรง: มานุษยวิทยาของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ Anthropology and Spirit Mediumship

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 43696

ร่างทรง: มานุษยวิทยาของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ Anthropology and Spirit Mediumship

ปรากฎการณ์ของร่างทรง

           การเข้าทรงเพื่อเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณของเทพเจ้าต่างๆ ให้เข้ามาประทับร่างของมนุษย์ เป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่พบได้ทั่วโลก และเป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโลกของมนุษย์เข้ากับโลกของอำนาจเหนือธรรมชาติ ซึ่งมีร่างกายของร่างทรงในฐานะเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเชื่อมโลกสองโลกเข้าด้วยกันนี้สะท้อนให้เห็นความซับซ้อนของการดำรงอยู่ในเชิงวัตถุภาวะและเชิงอัตวิสัย สิ่งที่มองเห็นสัมผัสได้ซ้อนทับอยู่กับสิ่งที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ เท่าที่ผ่านมาการเข้าทรงหรือการเข้าสิงของวิญญาณหรือเทพเจ้าอาจจะถูกอธิบายในเชิงประสบการณ์ทางจิตหรือสภาวะผิดปกติทางจิตประสาท ซึ่งเป็นการตีความจากวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ในสังคมตะวันตกที่แบ่งแยกความมีเหตุผลออกจากความไร้เหตุผล (Pierini, 2016) การตัดสินว่าการเข้าทรงเป็นเรื่องงมงายหรือเป็นความผิดปกติทางจิต อาจจะเป็นการมองเพียงปรากฏการณ์ทางวัตถุ หากแต่ยังมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ควรทำความเข้าใจ เพื่อเรียนรู้ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของการอยู่ร่วมกันระหว่างโลกกายภาพและโลกจิตวิญญาณ

           ประสบการณ์เกี่ยวกับการเข้าสิงหรือการประทับร่างของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องราวที่นำไปสู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการสร้างตัวตนและการหยั่งรู้ถึงสิ่งที่มิใช่มนุษย์ ประสบการณ์ดังกล่าวได้รับความสนใจในหมู่นักมานุษยวิทยาและการศึกษาทางศาสนา (Boyer, 2001; Whitehouse, 2000, 2004; Whitehouse & Laidlaw, 2004) มีการอธิบายให้เห็นว่าการเข้าสิงของวิญญาณคือกระบวนการทางความคิด โดยที่ผู้ทำหน้าที่เป็นร่างทรงจะสร้างตัวตนขึ้นมาพร้อมกับการแสดงความสัมพันธ์เชิงศีลธรรม ที่บ่งชี้ว่าวิญญาณและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจให้คุณและให้โทษมนุษย์ (Cohen, 2007, 2008) รวมถึงการทำให้เห็นประสบการณ์ของอารมณ์และความรู้สึกที่มนุษย์แสดงออกในปรากฏการณ์ทางศาสนาซึ่งดำรงอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมของพิธีกรรมที่กระตุ้นเร้าให้ร่างทรงถ่ายทอดตัวตนและเชื่อมต่อกับวิญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Halloy & Naumescu, 2012)

           การศึกษาที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์ร่างทรงในฐานะเป็นรูปแบบการสื่อสารชนิดหนึ่ง (Crapanzano, 1977) รวมทั้งตีความบทบาทของร่างทรงในฐานะเป็นผู้ที่ถูกกดทับและมีฐานะด้อย ทำให้ร่างทรงใช้วิธีการสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นวิธีการปลดปล่อยและท้าทายกับโครงสร้างอำนาจและกฎเกณฑ์ที่สังคมยอมรับ (Boddy, 1994; Lewis, 1971) พร้อมกับการอธิบายอัตลักษณ์ของร่างทรงภายใต้บริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในสังคมบริโภคที่ทำให้เกิดการแสวงหาโชคลาภและการแข่งขันเพื่อความสำเร็จทางวัตถุ โดยร่างทรงจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ทางเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยผู้คนที่ต้องการทรัพย์สินเงินทอง (จารุวรรณ ขำเพชร, 2560; นิภาวรรณ วิรัชนิภาวรรณ, 2532; สุริยา สมุทคุปติ์ และคณะ 2539, Bacigalupo, 2004; Cohen, 2008) นอกจากนั้นยังตีความร่างทรงในฐานะเป็นระบบสัญลักษณ์ที่ทำให้ร่างทรงและผู้ที่มาขอความช่วยเหลือดำรงอยู่ในความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัย รวมถึงตอกย้ำ อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม (ฉลาดชาย รมิตานนท์, 2524; สมหมาย ชินนาค, 2539; Moerman, 1979) แนวทางการศึกษาดังกล่าวนี้ล้วนมองร่างทรงเป็นกระบวนการทางความคิดและละเลยที่จะทำความเข้าใจในมิติของผัสสะ ในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาจึงเริ่มสนใจมิติอารมณ์และประสบการณ์ทางร่างกายที่ดำรงอยู่ในร่างทรง เช่นการศึกษาที่สนใจร่างกายในฐานะเป็นความทรงจำทางสังคมที่แสดงออกมาในพิธีกรรมติดต่อกับวิญญาณของเทพเจ้า (Morris, 2000) การอธิบายประสบการณ์ของร่างทรงในฐานะเป็นการตกผลึกและสะสมความรู้ผ่านเรือนร่าง (Beneduce & Taliani, 2006)

 

กระบวนการเป็นร่างทรง

           ในการศึกษาของ Pierini (2016) กล่าวว่าร่างทรงคือวิธีการเชื่อมต่อวัตถุภาวะเข้ากับอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งนำไปสู่การก่อตัวของกระบวนการตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวตนและโลกภายนอก เช่นเดียวกับ Strathern (1996) อธิบายว่าความรู้สึกคือส่วนที่สร้างประสบการณ์เกี่ยวกับตัวตน กล่าวคือ ร่างกายมิใช่เป็นเพียงเครื่องบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของตัวตน หากแต่มันยังมีส่วนของความรู้สึกที่ทับซ้อนอยู่ในร่างกาย

 

     

ลัทธิ Vale do Amanhecer ในประเทศบราซิล

ภาพจาก https://www.theguardian.com/world/gallery/2019/may/03/the-vale-do-amanhecer-religious-community-in-brazil-in-pictures

 

           ตัวอย่างการศึกษาของ Pierini (2016) เกี่ยวกับลัทธิที่เรียกว่า Vale do Amanhecer ในประเทศบราซิล ลัทธิดังกล่าวจะมีร่างทรงที่รู้จักในนาม Tia Neiva ผู้ที่สามารถติดต่อสื่อสารกับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ได้ และทำให้ผู้ป่วยและผู้ที่เดือดร้อนได้รับพรต่างๆ นอกจากนั้นยังพบว่าลัทธิดังกล่าวนำไปสู่การสร้างศาสนสถานที่เรียกว่าวัดของพระแม่ หรือ Mother Temple ผู้ที่เข้ามาอาศัยอยู่รอบๆ ศาสนสถานแห่งนี้ส่วนใหญ่จะมีอาชีพเป็นร่างทรงหรือทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมการเข้าทรง ทุกๆ วัน ในวัดของพระแม่จะมีการประกอบพิธีเข้าทรงเพื่อทำการรักษาโรคให้กับผู้ป่วยที่เดินทางมาจากทั่วสารทิศ ผู้ป่วยหลายคนเดินทางมาหลายครั้งและกลายเป็นร่างทรงที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือคนอื่นต่อไป ในกลุ่มผู้ที่ศรัทธาพระแม่จะร่วมกันบริจาคเงินให้กับวัดและช่วยดูแลจัดการเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพิธีการเข้าทรง ในการเชิญวิญญาณเข้ามาประทับร่าง จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ที่ถูกเชิญมา เทพของชาวแอฟริกันที่เคยตกเป็นทาส เทพของชาวพื้นเมืองในละตินอเมริกา เทพของการรักษาโรค เทพเจ้าแห่งน้ำ เป็นต้น

           ร่างทรงในลัทธิ Vale do Amanhecer จะเรียกตัวเองว่า “เสือจากัว” เพราะเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีตาทิพย์ นอกจากนั้นเสือจากัวยังเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนพื้นเมืองให้การเคารพบูชา รวมถึงการมีความหมายเกี่ยวกับการเป็นกษัตริย์และนักรบที่ยิ่งใหญ่ (Fausto, 2007; Saunders, 1998) ในการเข้ามาเป็นร่างทรง มีขั้นตอนของการเปลี่ยนผ่านทางประสบการณ์โดยเริ่มจากการเข้าสู่พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ร่างทรงอาวุโสจะสอนให้ผู้ที่จะเป็นร่างทรงรู้จักกับการติดต่อกับวิญญาณเทพเจ้า ทั้งนี้จะมีการฝึกฝนทางร่างกายและการควบคุมอารมณ์เพื่อสื่อสารกับเทพเจ้า ผู้ที่เตรียมจะเป็นร่างทรงล้วนมีประสบการณ์ทางร่างกายที่แตกต่างกัน เช่น มีความรู้สึกปวดศีรษะ ปวดหลัง เป็นไข้ มีอาการปั่นป่วนทางร่างกาย ในวันประกอบพิธีกรรมเพื่อเข้าสู่การเป็นร่างทรง บุคคลที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นร่างทรงจะรู้สึกปวดท้องและปวดศีรษะซึ่งถูกอธิบายว่ากำลังได้รับการติดต่อสื่อสารจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จากนั้น ร่างทรงอาวุโสจะทำการสอนร่างทรงรุ่นใหม่ให้รู้จักแสดงท่าทางและคำพูดที่บ่งบอกถึงการเข้ามาประทับร่างของเทพเจ้าองค์ต่างๆ กระบวนการฝึกฝนเพื่อเป็นร่างทรงนี้ บุคคลจะอยู่ในสภาวะที่ไม่เป็นตัวของตัวเองเนื่องจากมีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ และวิญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาสิงร่าง นอกจากนั้น ร่างทรงจะต้องฝึกฝนการหยั่งรู้ถึงสิ่งต่างๆ โดยอาศัยการสังเกตอารมณ์ การแสดงท่าทาง และข้อมูลของคนที่มาขอความช่วยเหลือ

 

สภาวะไม่รู้ตัว (trance states)

           การทำความเข้าใจสภาวะไม่รู้ตัว (trance states) ที่เกิดขึ้นกับร่างทรงในขณะเชิญวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เข้ามาประทับร่าง บ่งบอกให้เข้าใจว่าร่างทรงจะต้องทำหน้าที่ควบคุมตัวเองให้อยู่ในสภาพที่มีวิญญาณเข้าสิง ช่วงเวลาที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาอยู่ในร่างจึงเป็นช่วงเวลาที่ร่างทรงถอดตัวตนออกไป พร้อมกับการยอมให้วิญญาณของเทพเจ้าเข้ามาอยู่ในร่างกาย (Bourguignon, 1979) ในการศึกษาของ Lambek (1981) พบว่าในสังคมของชาว Mayotte ผู้ที่ถูกสิงด้วยวิญญาณคือผู้ที่กำลังได้รับการสื่อสารจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับBoddy (1988) กล่าวว่าการอยู่ในสภาวะถูกสิงด้วยวิญญาณสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกขณะ โดยไม่จำเป็นต้องประกอบพิธีกรรมเสมอไป ในกรณีของลัทธิ Vale do Amanhecer ร่างทรงเปรียบเปรยว่าการเข้าสิงของวิญญาณคือวิธีการปรับคลื่นสัญญาณระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าสัญญาณตรงกันก็จะทำให้ร่างทรงติดต่อกับวิญญาณได้ ร่างทรงแต่ละคนจะต้องฝึกตนเองให้สามารถรับสัญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญมาก เมื่อร่างทรงสามารถรับสัญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้แล้ว จะถือว่าได้เข้าสู่การหยั่งรู้ถึงสิ่งต่างๆ กล่าวคือ วิญญาณของเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เปรียบเสมือนความสามารถในการมองเห็นสิ่งต่างๆ

           สิ่งที่บ่งบอกว่าวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์กำลังมาประทับร่าง เช่น ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงและสั่นไหว สัมผัสถึงอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป สภาวะดังกล่าวนี้ไม่มีแบบแผนที่ตายตัวขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของร่างทรงแต่ละคน รวมทั้งชนิดของวิญญาณที่เข้ามาประทับร่างจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและความรู้สึกที่ต่างกัน คำบอกเล่าของร่างทรงเกี่ยวกับประสบการณ์การถูกสิงด้วยวิญญาณ เช่น ทำให้เกิดความมึนงง เคลิ้ม ไม่รู้สึกตัว ควบคุมตัวเองไม่ได้ เหมือนอยู่ในความฝัน เหมือนคนนอนละเมอ เป็นต้น ขณะที่วิญญาณอยู่ในร่าง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นร่างทรงจะแสดงคำพูด ท่าทางและกิริยาต่างๆ ตามที่วิญญาณเป็น อำนาจของการหยั่งรู้ถึงสิ่งต่างๆ จะแสดงออกมาผ่านร่างทรงเพื่อสื่อสารกับผู้ที่มาขอความช่วยเหลือ สภาวะที่วิญญาณอยู่ในร่างจะส่งผลให้ร่างทรงมีประสาทสัมผัสแบบทับซ้อน (sensory override) (Luhrmann, 2011) ซึ่งทำให้ร่างทรงทำสิ่งต่างๆ โดยปราศจากการเป็นตัวเอง เมื่อวิญญาณออกจากร่างไปแล้ว ร่างทรงก็จะกลับมารู้สึกตัวและมีสติอีกครั้ง การศึกษาของ Bartolini, MacKian and Pile (2017) อธิบายว่าการสื่อสารกับวิญญาณของร่างทรงไม่อาจตัดสินได้จากระบบเหตุผลและการพิสูจน์ความจริง หากแต่การติดต่อกับวิญญาณคือการเยียวยาจิตใจ เป็นการนำเอาสิ่งที่จับต้องไม่ได้มาทำให้เกิดผลในเชิงผัสสะที่จับต้องได้ ช่วยให้อารมณ์ความรู้สึกที่เคยซ่อนเร้นมีช่องทางที่จะเปิดเผยออกมา

           การถูกวิญญาณเข้าสิงถือเป็นประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสที่ร่างทรงสามารถแสดงอารมณ์ ความรู้สึก การพูดเจรจาและการเคลื่อนไหวทางร่างกายต่างไปจากการมีสำนึกตามปกติ ถือเป็นช่วงเวลาที่สร้างประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ส่งเสริมให้ร่างทรงมีความสามารถที่จะควบคุมตัวตน อารมณ์และความรู้สึก และส่งเสริมให้เกิดการขยายขอบเขตของประสาทสัมผัสที่มากไปกว่าความเป็นมนุษย์ ประสบการณ์การถูกวิญญาณศักดิ์สิทธิ์เข้าสิงจึงเป็นทักษะพิเศษที่ช่วยให้ร่างทรงมีจินตนาการที่ไร้ขอบเขต (visual imagery enhancement) โดยนำจินตนาการเหล่านั้นมาปรุงแต่งให้เป็นไปตามสภาพและการมีอยู่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Noll, 1985) ในการศึกษาของ Csordas (1990) กล่าวว่าในกระบวนการสร้างจินตนาการ มนุษย์สามารถนำเอาประสาทสัมผัสที่หลากหลายมาประกอบเพื่อทำให้เกิดความรู้สึกที่ซับซ้อน (multisensory imagery) ในกรณีของประสบการณ์ของร่างทรง จะพบเห็นผัสสะที่แตกต่างกันปรากฏอยู่ไม่ว่าจะเป็นการเปล่งเสียง การได้กลิ่น การได้ยิน การลิ้มรส การเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นต้น ผัสสะที่แตกต่างกันนี้จะบ่งบอกถึงสภาวะของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่มีคุณลักษณะต่างกัน

           การศึกษาการทำหน้าที่เป็นร่างทรงของผู้หญิงภาคตะวันออกฉียงเหนือของประเทศไทย Pinthongvijayakul(2019) พบว่าร่างกายของเพศหญิงคือพื้นที่สำหรับการเชื่อมต่อ ปลดปล่อย และแสดงอารมณ์ความรู้สึกทางเพศที่หลากหลาย การเคลื่อนไหวร่างกายของร่างทรงจะเกิดขึ้นพร้อมกับเสียงดนตรี ร่างทรงไม่สามารถบังคับร่างกายของตัวเองได้เนื่องจากวิญญาณของเจ้าพ่อนาคาที่เข้ามาประทับร่างคือผู้ควบคุมการเคลื่อนไหว ทุกครั้งที่ร่างทรงได้ยินเสียงแคน สตรีที่เป็นร่างทรงเจ้าพ่อนาคาจะออกไปร่ายรำโดยไม่รู้ตัว ร่างกายที่เคลื่อนไหวโดยเจ้าพ่อนาคาจึงมิใช่ร่างทางชีววิทยา หากแต่เป็นร่างของผัสสะที่ถ่ายทอดความรู้สึกและพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ ในแง่นี้ร่างกายของร่างทรงจึงเป็นพื้นที่ที่หล่อหลอมความรู้สึกที่ซับซ้อน โดยสรีระของเพศหญิงสามารถถ่ายทอดความรู้สึกและอารมณ์ทางเพศแบบชายได้ กล่าวคือร่างกายของร่างทรงสามารถท้าทายและล้มล้างบรรทัดฐานเพศภาวะทางสังคม สภาวะดังกล่าวช่วยทำให้เห็นว่าร่างกายอ่อนไหวต่อผัสสะและอารมณ์ที่หลากหลาย ทั้งที่เกิดจากมนุษย์และสิ่งที่มิใช่มนุษย์ รวมทั้งร่างกายและอวัยวะของร่างทรงมิได้ทำหน้าที่สอดคล้องกับกลไกทางชีววิทยาแบบปกติ เช่น มือเปลี่ยนสภาพเป็นอวัยวะเพศเพื่อบ่งบอกถึงพลังของเทพเจ้า การเปลี่ยนสภาพของร่างกายเช่นนี้คือศักยภาพของวัตถุภาวะที่เป็นผู้กระทำการก้าวพ้นไปจากข้อจำกัดเดิมๆ ซึ่งเชื่อว่าอวัยวะแต่ละอย่างทำหน้าที่เพียงแบบเดียว

 

การเข้าทรงคือกลไกการเรียนรู้

           ร่างกายของร่างทรงคือพื้นที่พิเศษที่โอบอุ้มและหล่อเลี้ยงให้ผัสสะต่างๆ ดำรงอยู่ร่วมกัน การแสดงออกในอารมณ์และความรู้สึกที่ร่างทรงมีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นวิธีการสร้างตัวตนที่ซับซ้อน กล่าวคือ ร่างทรงจะใช้ทั้งวัตถุสภาพและอารมณ์มาประกอบสร้างขึ้นใหม่ เพื่อทำให้ตัวเองเปลี่ยนสภาพไปเป็นวิญญาณของเทพเจ้า Goldman (2009) กล่าวว่าประสบการณ์การเข้าทรงคือกระบวนการสร้างตัวตนที่ไม่หยุดนิ่ง ที่ทำให้เห็นว่ามนุษย์สามารถแสดงคุณลักษณะที่หลากหลายที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวเอง กระบวนการนี้มิใช่ความผิดปกติทางจิตหรือเป็นสภาวะของการไร้จิตสำนึก แต่เป็นกลไกที่มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของตนเองได้ตลอดเวลา ภายใต้ประบสบการณ์ของการเข้าทรงและการสื่อสารกับวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ช่วยทำให้เห็นตัวตนที่มากกว่าความเป็นมนุษย์ที่สามารถเกิดขึ้นและดำรงอยู่ร่วมกับความเป็นมนุษย์ (Espirito Santo, 2011) ผัสสะและความรู้สึกแบบต่างๆ ที่ถูกใช้ในการเข้าทรงจึงเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ร่างทรงนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม การใช้ผัสสะเหล่านี้คือวิธีการเรียนรู้ชนิดหนึ่งที่ทำให้ร่างทรงสามารถตอบสนองผู้ที่มาขอความช่วยเหลือได้ อาจกล่าวได้ว่าสภาวะที่ถูกวิญญาณเข้าสิงคือช่วงเวลาที่ร่างทรงกำลังเรียนรู้วิธีการที่จะสื่อสารกับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ พร้อมกับเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับผู้ที่เดือดร้อนให้ได้รับคำแนะนำและวิธีการแก้ปัญหาในชีวิต การเรียนรู้นี้ได้ส่งเสริมให้พิธีกรรมเข้าทรงและการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มิใช่เรื่องไร้เหตุผล แต่ทำให้มนุษย์ยอมละทิ้งตัวตนเพื่อนำวิญญาณและอำนาจเหนือธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคม

           ร่างทรงทุกคนล้วนตระหนักถึงการมีอยู่ของเทพเจ้าและวิญญาณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเข้าสู่วิถีของการเป็นร่างทรงจึงเท่ากับเป็นการขัดเกลาทางปัญญา และการฝึกฝนทักษะและความสามารถทางผัสสะที่ไม่สามารถพบได้ในสถาบันการศึกษาตามปกติ สถาบันของร่างทรงจึงเท่ากับเป็นหน่วยทางสังคมที่ทำให้ผู้ที่เป็นร่างทรงเรียนรู้ที่จะสร้างตัวตนที่ซับซ้อน Pierini (2016) กล่าวว่าชุมชนของร่างทรงเปรียบเสมือนการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน นอกจากนั้น การเรียนรู้เพื่อที่จะเป็นร่างทรงจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากร่างทรงอาวุโสกับผู้ที่กำลังฝึกหัดเป็นร่างทรง การเรียนรู้เหล่านี้คือวิธีการส่งผ่านและเชื่อมประสานตัวตนที่หลากหลาย (inter-subjective transmission) สิ่งพิเศษของการเรียนรู้ในชุมชนร่างทรงก็คือ มนุษย์สามารถทดลองการสื่อสารและติดต่อกับวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่จำเป็นต้องยึดตามบรรทัดฐานและกฎเกณฑ์ที่ตายตัว เนื่องจากการเรียนรู้นี้อาศัยอารมณ์ความรู้สึกเป็นสำคัญ การทำความเข้าใจวิธีการเรียนรู้และประสบการณ์ของการเป็นร่างทรงยังเกี่ยวข้องกับวิธีวิทยาที่ใช้ศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยอารมณ์และความรู้สึกเข้าไปเป็นเครื่องมือ เนื่องจากการสังเกตและการพูดคุยในแบบเดิมๆ อาจไม่เพียงพอสำหรับการเข้าใจผัสสะของการเป็นร่างทรง นักมานุษยวิทยาจึงต้องทบทวนประสบการณ์ทางร่างกายและความรู้สึกในฐานะเป็นเครื่องมือที่จะทำความเข้าใจความซับซ้อนของตัวตนที่ปรากฏอยู่ในการเป็นร่างทรง

 

เอกสารอ้างอิง

จารุวรรณ ขำเพชร. (2560). พื้นที่เมืองกับการดํารงอยู่ของร่างทรงเพศที่สามในสังคมไทย. วารสารวิชาการ เซาธ์อีสท์บางกอก, 3(1), 50-65.

ฉลาดชาย รมิตานนท์. (2524). ผีเจานาย. เชียงใหม่: โครงการตำรามหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

นิภาวรรณ วิรัชนิภาวรรณ. (2532). ร่างทรง บทบาทที่มีต่อสังคมปัจจุบัน กรณีศึกษาที่อำเภอเมือง จังหวัด ฉะเชิงเทรา. ปริญญานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สมหมาย ชินนาค. (2539). ผีปะกํา: คติความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษของชาวไทย-กวย (ส่วย) เลี้ยงช้าง จังหวัดสุรินทร์. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุริยา สมุทคุปติ์ , พัฒนา กิติอาษา , ศิลปกิจ ตี่ขันติกุล และ จันทนา สุระพินิจ. (2539). ทรงเจ้าเข้าผี : วาท กรรมของลัทธิพิธีและวิกฤติการณ์ของความทันสมัยในสังคมไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

Bacigalupo, A. M. (2004). The Mapuche Man Who Became a Woman Shaman: Selfhood, Gender Transgression, and Competing Cultural Norms. American Ethnologist, 31 (3), 440– 57.

Bartolini, N., MacKian, S. & Pile, S. (2017). Talking with the dead: spirit mediumship, affect and embodiment in Stoke-on-Trent. Transactions of the Institute of British Geographers, 43(2), DOI:10.1111/tran.12207

Beneduce, R., & Taliani, S. (2006). Embodied Powers, Deconstructed Bodies. Spirit Possession, Sickness, and the Search for Wealth of Nigerian Immigrant Women. Anthropos, 101 (2), 429– 49.

Boddy, J. (1988). Spirits and Selves in Northern Sudan: the Cultural Therapeutics of Possession and Trance. American Ethnologist, 15(1): 4-27.

Boddy, J. (1994). Spirit Possession Revisited: Beyond Instrumentality. Annual Review of Anthropology, 23, 407– 34.

Bourguignon, E. (1979). Psychological Anthropology: An Introduction to Human Nature and Cultural Difference. New York: Holt, Rinhehart and Winston.

Boyer, P. (2001). Religion Explained: The Human Instincts that Fashion Gods, Spirits and ancestors. London: Heinemann.

Cohen, E. (2007). The Mind Possessed: the Cognition of Spirit Possession in an Afro-Brazilian Religious Tradition. Oxford: Oxford University Press.

Cohen, E. (2008). What is Spirit Possession? Defining, Comparing, and Explaining Two Possession Forms. Ethnos, 73(1):101-126.

Crapanzano, V. (1977). Introduction. In Case Studies in Vincent Crapanzano and Vivian Garrison, (Eds.), Spirit Possession, (pp.1– 40). New York: Wiley.

Csordas, T. J. (1990). Embodiment as a Paradigm for Anthropology. Ethos, 18(1), 5-47.

Espirito Santo, D. (2011). Process, Personhood and Possession in Cuban Spiritism. In Andrew Dawson (Ed.), Summoning the Spirits: Possession and Invocation in Contemporary Religion, (pp. 93-108). London/New York: Tauris.

Fausto, C. (2007). If God Were a Jaguar: Cannibalism and Christianity among the Guarani (16th- 20th Centuries). In Carlos Fausto and Michael Heckenberger. (Eds.) Time and Memory in Indigenous Amazonia: Anthropological Perspectives, (pp.74-105). Gainesville: University Press of Florida.

Goldman, M. (2009). How to Learn in Afro-Brazilian Spirit Possession Religion. Ontology and Multiplicity in Candomblé. In David Berliner and Ramon Sarró. (Eds.). Learning Religion: Anthropological Approaches, (pp. 103-119). New York/Oxford: Berghahn.

Halloy, A. & Naumescu, V. (2012). Learning Possession: An Introduction. Ethnos, 77(2),155-176.

Lambek, M. (1981). Human Spirits: a Cultural Account of Trance in Mayotte. Cambridge/New York: Cambridge University Press.

Lewis, I. M. (1971). Ecstatic Religion: An Anthropological Study of Spirit Possession and Shamanism. Harmondsworth: Penguin Books.

Luhrman, T. (2011). Hallucinations and Sensory Overrides. Annual Review of Anthropology, Vol. 40:71 – 85.

Moerman, D. E. (1979). Anthropology of Symbolic Healing. Current Anthropology, 20 (1), 59– 80.

Morris, R. C. (2000). In the Place of Origins: Modernity and its Mediums in Northern Thailand. Durham, NC: Duke University Press

Noll, R. (1985). Mental Imagery Cultivation as a Cultural Phenomenon: The Role of Visions in Shamanism. Current Anthropology, 46(4), 443-461.

Pierini, E. (2016). Becoming a Spirit Medium: Initiatory Learning and the Self in the Vale do Amanhecer, Ethnos, 81(2), 290-314.

Pinthongvijayakul, V. (2019). Performing Alterity of Desire: Bodiliness and Sexuality in Spirit Mediumship in Northeast Thailand. American Anthropologist, 121(1), 101-112.

Saunders, N. (1998). Icons of Power: Feline Symbolism in the Americas. London: Routledge.

Strathern, A. (1996). Body Thoughts. Ann Arbor: University of Michigan Press.

Whitehouse, H. (2000). Arguments and Icons: Divergent Modes of Religiosity. Oxford: Oxford University Press.

Whitehouse, H. (2004). Modes of Religiosity: A Cognitive Theory of Religious Transmission. Walnut Creek, CA: Alta Mira Press.

Whitehouse, H. & Laidlaw, J. (Eds). (2004). Ritual and Memory: Toward a Comparative Anthropology of Religion. Walnut Creek, California/Oxford: AltaMira Press.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ร่างทรง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ Posthuman Anthropology Spirit Mediumship ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา