"เสือ" ในเอกสารโบราณ

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 33394

"เสือ" ในเอกสารโบราณ

1. เสือเย็น เสือสมิง

           เสือเย็นกับเสือสมิง บ้างก็ว่าเป็นเสือชนิดเดียวกันแต่มีที่มาสันนิษฐานได้สองทาง ทางแรกคือเสือที่เคยกินคนและติดใจในรสชาติจึงกินคนเรื่อยมา พอกินมากๆ เข้าวิญญาณคนที่ถูกกินก็เข้าสิงสู่เสือตัวนั้นทำให้มันดุร้ายมากขึ้นและสามารถแปลงร่างเป็นคนเพื่อหลอกล่อไปกินได้ อีกทางหนึ่งนั้นคือ คนที่มีวิชาอาคมแก่กล้ามากเมื่อแก่ตัวไม่สามารถควบคุมอาคมกล้านั้นได้จึงกลายร่างเป็นเสือไป ที่มาของความหมายทั้งสองทางนี้แตกต่งกัน ทางหนึ่งเสือกลายเป็นคน อีกทางหนึ่งคนกลายเป็นเสือ ดูแล้วก็ยังจะขัดๆ อยู่บ้าง

           แต่ถ้าหากเสือเย็นกับเสือสมิงเป็นเสือคนละชนิดกัน และมีที่มาสันนิษฐานที่แตกต่างกัน โดยที่เสือเย็น คือ ผู้ที่มีวิชาอาคมแก่กล้าแต่ไม่สามารถควบคุมจนตัวเองต้องกลายเป็นเสือ และเสือสมิง คือ เสือที่กินคนมากและวิญญาณคนตายเข้าสิงสู่จนกลายร่างเป็นคนได้

           เสือเย็นกับเสือสมิงจะเป็นเสือแบบเดียวกันหรือไม่นั้น หรือมีที่มาอย่างไรนั้นก็ยังเป็นข้อสันนิษฐานในความเชื่อเรื่องเสือนี้อยู่ และปรากฏเรื่องเล่าเกี่ยวกับ เสือเย็น เสือสมิง นี้อยู่หลายสำนวน

           สำนวนแรกเล่าว่า พรานหนุ่มคนหนึ่งจำเป็นต้องไปนั่งห้างส่องสัตว์ตอนกลางคืนทั้งๆ ที่เมียท้องแก่ ตกดึกคืนนั้นก็มีคนมาเรียกเขาให้ลงจากห้างโดยบอกว่าเมียเจ็บท้องจะคลอดลูก พอเขาลงมา คนๆ นั้นก็กลายเป็นเสือตะปบเขากิน

           อีกสำนวนหนึ่งเล่าว่า พรานหนุ่มคนหนึ่งไปนั่งห้างล่าสัตว์ยามกลางคืน พอใกล้รุ่งก็มีพระธุดงค์มาขอบิณฑบาต เขาสงสัยว่าอาจจะไม่ใช่พระธุดงค์ พอดีมีนกตัวหนึ่งร้องว่า "จิกจ้องๆ" (ยอดกลดๆ) เขาจึงเล็งปืนที่ยอดกลดแล้วยิง รุ่งเช้าปรากฏมีร่างของเสือตัวหนึ่งนอนตายอยู่ตรงที่พระธุดงค์รูปนั้นยืนอยู่

           อีกสำนวนเล่าว่า มีสาวบ้านป่าคนหนึ่งสวยมาก ทุกคืนจะมีหนุ่มคนหนึ่งมานั่งคุยอยู่เป็นประจำ คืนหนึ่งพ่อของสาวกลับมาจากบ้านของเพื่อนบ้าน ขณะจะขึ้นเรือนก็มองเห็นงูก่านปล้อง (งูสามเหลี่ยมตัวสีเหลืองสลับดำ) ตัวหนึ่งทอดตัวเลื้อยลงจากชานเรือนพ่อของสาวคนนั้นจึงเอามีดฟันงู ปรากฏว่าที่แกเข้าใจนั้นที่จริงคือหางเสือ ชายหนุ่มคนนั้นคือเสือเย็นแปลงร่างมาคุยกับลูกสาว แต่เหลือส่วนหางเท่านั้นที่ยังเป็นเสือ เมื่อถูกฟันที่หาง เสือเย็นเจ็บปวดตกใจก็กลายร่างเป็นเสือตามเดิม แล้วกระโจนจากชานเรือนหนีไป

           อีกเรื่องหนึ่งเป็นนิทานของชาวไทยวน กล่าวถึงเจ้าอาวาสวัดหนึ่งมีอายุมากแล้ว ท่านเป็นผู้ได้ร่ำเรียนวิชาคาถาอาคมแก่กล้า แต่มีข้อปฏิบัติที่แปลกก็คือท่านไม่ชอบอาบน้ำ และในวัดนี้ถ้ามีเณรหรือเด็กวัดไปอาศัยอยู่ด้วยก็จะหายไปวันละคนโดยไม่ทราบสาเหตุ จนเณรและเด็กไม่มีใครกล้ามาอาศัยอยู่ เหลือแต่เจ้าอาวาสรูปเดียว

           วันหนึ่งมีพ่อค้าคนหนึ่งมายังหมู่บ้านนี้และไม่มีที่พัก จึงไปขออาศัยพักในวิหารของวัดดังกล่าว พ่อค้าคนนี้ก็ได้รับคำเตือนจากชาวบ้านว่าพระรูปนั้นกลายเป็นเสือ และไม่ควรไปพักในที่นั้น แต่พ่อค้าก็ไม่กลัว โดยว่าตัวเองก็เป็นคนมีวิชาอาคมเหมือนกัน

           เจ้าอาวาสรูปนั้นเมื่อเห็นพ่อค้ามาคนเดียวและขอเข้าพักในวัดก็เข้ามาคุยด้วยจนค่ำจึงกลับไปกุฏิ พอตกดึกพระรูปนั้นก็มาตะโกนถามอยู่ข้างนอกวิหารที่พ่อค้าคนนั้นนอนอยู่ว่า "พ่อออกๆ หลับหรือยัง" พ่อค้าก็ตอบว่า "ยัง ยังไม่หลับ" และพ่อค้าก็เอาไม้ไผ่มาผ่าแล้วจักตอกสานเป็นรูปวัว แล้วจึงเสกคาถาให้วัวไม้ไผ่เป็นวัวธนู ดึกมาอีกสักหน่อยก็มีเสียงร้องถามอีกว่า"พ่อออกๆ หลับหรือยัง" พ่อค้าก็ตอบว่า "ยัง ยังไม่หลับ"

           พ่อค้าก็สานวัวแล้วเสกอาคมไปเรื่อยๆ จนทำพิธีเสร็จเมื่อมีเสียงร้องถามอีก พ่อค้าก็ไม่ตอบ สักครู่หนึ่งก็ได้ยินเสียงคล้ายเสือร้องที่หน้าประตูวิหาร พ่อค้าก็รู้ว่าเสือเย็นออกล่าเหยื่อแล้ว จึงปล่อยวัวธนูออกไปต่อสู้สัตว์อาคมทั้งเสือและวัวสู้กันอย่างดุเดือด มีทั้งเสียงร้องและกระทบกระแทกให้ได้ยินอย่างชัดเจนเป็นพักใหญ่ แล้วจึงมีเสียงเสือร้องอย่างเจ็บปวด พอรุ่งเช้า เมื่อพ่อค้าเปิดประตูวิหารออกไป ก็พบว่าเสือนอนตายอยู่ และที่หลังวิหารก็พบกระดูกคนและสัตว์มากมาย

 

2. หนังหน้าผากเสือ

หนังหน้าผากเสือ  ภาพจาก https://www.samakomphra.com/

 

           ในสมุดข่อยตำราไสยศาสตร์บันทึกเรื่องของเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่ง ทำจากหนังหน้าผากเสือที่ตายพรายหรือหมดอายุขัยเอง บางตำราถือว่าถ้าได้เสือที่เคยกินคนยิ่งดี หนังหน้าผากเสือเป็นแหล่งรวมตบะ บารมี และจิตวิญญาณของเสือ หนังหน้าผากเสือแท้ๆ หาได้ยากแล้ว ใครมีตะกรุดหนังเสือก็มักจะอ้างว่าเป็นหนังหน้าผากเสือเพื่อให้ดูเข้มขลังยิ่งขึ้น

           ตะกรุดหนังหน้าผากเสือปัจจุบันมีการสร้างน้อยมาก แต่ก็มีการสร้างอยู่บ้างในสมัยโบราณที่ยังมีเสือชุกชุมอยู่ ปกติเสือนั้นโดยธรรมชาติเป็นสัตว์ป่าที่ทรงอำนาจ เป็นที่เกรงขามของสัตว์ทั่วๆ ไป เมื่อนำมาลงจารอักขระเป็นเครื่องรางของขลังก็จะทำให้มีผู้คนยำเกรง ให้ผลทางปกป้องคุ้มครอง และเหมาะแก่ผู้ที่มีหน้าที่บังคับบัญชาคนหมู่มาก

           หนังหน้าผากเสือนั้นดีทางอำนาจ เนื่องจากเสือนั้นมีสายตาที่ดุ ว่ากันว่าไม่มีใครกล้าที่จะจ้องตาเสือ ท่านโบราณาจารย์จึงได้นำเอาหนังหน้าผากเสือมาประดิษฐ์คิดแต่งเป็นตะกรุด เพื่ออานิสงส์ทางปกครองและอำนาจ และถ้าหากนำติดตัวไปหนทางใกล้ไกล หรือเดินทางเข้าป่า ฝูงสัตว์ร้ายและภูตผี ก็ไม่สามารถทำอันตรายใดๆ ได้

           วิธีการทำหนังหน้าผากเสือให้เป็นเครื่องรางของขลังมีขั้นตอนดังนี้ นำหนังหน้าผากเสือมาอบด้วยกำยานเครื่องหอมชนิดต่างๆ แล้วตัดหนังนั้นให้เป็นรูปสามเหลี่ยมมองดูคล้ายส่วนศีรษะของเสือ เจาะรูตอนส่วนบนสำหรับใช้เชือกร้อย แล้วนำมาลงเลขยันต์เข้าพิธีปลุกเสก เมื่อถึงเวลาใช้ขณะอยู่ต่อหน้าศัตรู จะท่องคาถาปลุกเสกหนังหน้าผากเสืออีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ศัตรูครั่นคร้าม เนื่องจากหนังหน้าผากเสือตายพรายหาได้ยาก ระยะหลังจึงใช้หนังหน้าผากเสือที่พรานยิงตายและนำมาขาย

 

3. กำลังเสือ

           กำลังเสือ เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ของทางภาคใต้ มีความเชื่อว่าผู้ที่ร่ำเรียนวิชานี้จนสำเร็จจะมีพลังกายเกินกว่าคนปกติ ในอดีตวิชากำลังเสือนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในแวดวงผู้ที่รักชอบทางด้านวิชาทางไสยศาสตร์ โดยเฉพาะชายฉกรรจ์ที่สนใจด้านการยกทัพจับศึก โดยมีวัดเป็นสถานศึกษาและสืบทอดความรู้ความเชื่อ เช่น วัดเขาอ้อ วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดพัทลุง ฯลฯ

อนุสาวรีย์พระยาทุกขราษฎร์ จังหวัดพัทลุง

ภาพจาก http://www.phatthalungpao.go.th/travel/detail/95

           

           วิชากำลังเสือ ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีมาแต่สมัยใด และสำนักใดเป็นต้นเค้า แต่สำหรับที่เมืองพัทลุง ชาวเมืองได้เรียนรู้วิชานี้มานานนับได้เป็นร้อยๆ ปี จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า การเรียนวิชากำลังเสือจำเป็นต้องใช้สมาธิขั้นสูงถึงจะเรียนได้สำเร็จ เพราะอำนาจทางจิตจะช่วยให้เกิดพลังกายแข็งแกร่ง ในสภาวะดังกล่าวผู้ที่มีวิชากำลังจะสามารถยกน้ำหนักหรือใช้พลังกายได้มากเกินกว่าคนปกติ

           ในอดีตผู้ที่มีวิชากำลังเสือแก่กล้า ได้แก่ พระมหาช่วย หรือพระยาทุกขราษฎร์ เดิมชื่อ ช่วยเป็นต้นตระกูล “สัจจะบุตร” และ “ศรีสัจจัง” ท่านได้อุปสมบทที่วัดเขาอ้อ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง และได้ศึกษาไสยศาสตร์อย่างจริงจังโดยเฉพาะวิชากำลังเสือกับพระอาจารย์จอมทอง ชาวบ้านก็มีความเชื่อกันว่าท่านสำเร็จวิชากำลังเสือสามารถยกก้อนหินขนาดใหญ่มาวางรอบพระอุโบสถดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ประมาณ ปี พ.ศ. 2315 เมืองพัทลุงย้ายที่ตั้งเมืองจากเขาชัยบุรี ไปตั้งใหม่ที่ตำบลลำปำ พระมหาช่วย ได้รับนิมนต์มาเป็นสมภารที่วัดป่าลิไลยก์ ปัจุบันอยู่ที่ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง

           ในสมัยรัชกาลที่ 1 กองทัพพม่าบุกโจมตีเมืองนครศรีธรรมราช พระมหาช่วยได้ชักชวนชาวเมืองพัทลุงให้มาช่วยเมืองนครศรีธรรมราชเข้าต่อสู้กับข้าศึก โดยถ่ายทอดวิชากำลังเสือให้กับชายฉกรรจ์ และทำตะกรุดและผ้าประเจียดมงคลแจกจ่ายเป็นอันมาก กองทัพพม่ามาปะทะทัพไทยที่ตั้งอยู่ ณ เมืองไชยา พม่ายังไม่ทันตั้งค่ายไทยก็ยกเข้าล้อมพม่าไว้ เมื่อเสร็จศึกพม่าแล้วพระมหาช่วยได้ลาสิกขาบทออกรับราชการ กรมพระราชวังบวรฯ ทรงให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ ตำแหน่งในกรมการเมืองพัทลุง วิชากำลังเสือจึงเป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ชายฉกรรจ์ชาวภาคใต้นิยมร่ำเรียนกันในสมัยก่อนวิชาหนึ่ง

 

4. เสือกับยา

           แพทย์แผนไทยเองรู้จักการใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายเสือโคร่งมาทำเป็นยา โดยให้เป็นเครื่องยาสัตววัตถุ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเสือโคร่ง เขี้ยว กระดูก หนัง ดีเสือ เอ็นเสือ ตาเสือ ไตเสือ และเนื้อเสือ แต่ที่ใช้กันอยู่บ่อยๆ ได้แก่

           1. น้ำมันเสือ ในตำราสรรพคุณยาว่า น้ำมันเสือมีรสเผ็ด ใช้ต้มผสมกับเหล้า กินแก้คลื่นไส้อาเจียน แก้ผมหงอกก่อนวัย

           2. เขี้ยวเสือ มีรสเย็น สรรพคุณดับไข้พิษ ไข้กาฬ แก้พิษร้อน พิษอักเสบ พิษตานซาง

           3. กระดูกเสือ มีรสเผ็ดคาว เป็นยาบำรุงกระดูก บำรุงไขข้อและเนื้อหนัง แก้ปวดบวมตามข้อ แก้โรคปวดข้อ เป็นยาระงับประสาท แก้โรคลมบ้าหมู แก้ปวดตามข้อ เข่า กระดูก บำรุงกระเพาะอาหาร

           4. น้ำนมเสือ ได้จากการเคี่ยวไขมันเสือ ตำราสรรพคุณยาโบราณว่ามีรสมันร้อน มีสรรพคุณบำรุงกำลัง แก้หืด ดับพิษร้อน

 

เครื่องยาสัตววัตถุ ภาพจาก หนังสือคู่มือเภสัชกรรมเล่ม 3 

           

           เมื่อค้นข้อมูลตำรายาที่ปริวรรตแล้วในฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย พบว่ามีตำรับยาที่เข้าส่วนต่างๆ ของเสือ เป็นเครื่องยาด้วยทั้งหมด 15 ตำรับ แบ่งตามส่วนได้ดังนี้

           1. เขี้ยวเสือ พบว่าเป็นเครื่องยาในตำรับยาสมุนไพรมากที่สุด 11 ขนาน โดยใช้เป็นเครื่องยาแก้รากสาดอีดำอีแดงปานดำปานแดง ยาสมมิตใหญ่แก้เรียกมิขาน ยาประสะขาวแก้เชื่อมเรียกมิขาน ยามหานิลพิชัยฤกษ์ ยาขับแก้พิษ ยาแก้พิษ ยาแก้ปากมิออก ยาแก้กาฬ ฝีกาฬ ยาแดงโกสุมชาติจันทบุรีแก้ไข้เพื่อโลหิตกำเดา ยาแก้ไข้ดาวโคม ดาวเรือง และยาแก้สันนิบาตทั้งปวง ด้วยสรรพคุณของเขี้ยวเสือที่สามารถดับพิษไข้ต่างๆ ได้ จึงมักพบว่าเขี้ยวเสือเป็นเครื่องยาดับพิษ

           2. กระดูกเสือ ใช้เป็นเครื่องยา 2 ขนาน ได้แก่ ยามหานิล และยาแก้ปฐวีธาตุ

           3. กระโหลกหัวเสือ ใช้เป็นเครื่องยา 1 ขนาน ได้แก่ ยานัดลมบ้าหมู

           4. น้ำมันเสือ ใช้เป็นเครื่องยา 1 ขนาน ได้แก่ น้ำมันลมมือตาย น้ำมันลมตีนตาย

           จะเห็นได้ว่าในอดีตแพทย์แผนไทยเองก็ได้ใช้ส่วนต่างๆ ของเสือมาเป็นเครื่องยาสัตววัตถุเพื่อบำรุงรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยของมนุษย์ โดยอาจนำซากเสือที่ตายแล้วหรือเสือที่ถูกฆ่าเพราะจะทำร้ายคน มาทำเป็นเครื่องยาสมุนไพร อย่างน้อยเสือที่ตายแล้วเหล่านี้ก็มิได้ตายเปล่า ซากศพของเสือเกือบถูกส่วนถูกนำมาปรุงเป็นยาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ ซึ่งแตกต่างไปจากปัจจุบันที่นิยมล่า ฆ่า เสือ เพื่อความบันเทิงมากกว่า

           นอกจากนี้จากรายงานปี 2557 โดย CITES (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ พบว่า อวัยวะของเสือถูกนำมาเป็นเครื่องยาเพื่อบริโภคน้อยลง แต่กลับถูกผลิตเป็นสินค้าที่ดูหรูหราและแปลกใหม่ เช่น ไวน์ที่ต้มจากกระดูกเสือ (ต้มโครงกระดูกเสือในไวน์ข้าว) หรือการเอาหนังเสือมาประดับในบ้าน ซึ่งได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะในหมู่คนรวยในประเทศจีน เป็นต้น (สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าประเทศไทย 2559)

 

อ้างอิง

ชยันต์ พิเชียรสุนทร และวิเชียร จีรวงศ์. 2546. คู่มือเภสัชกรรมเล่ม 3 เครื่องยาสัตววัตถุ. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์

https://db.sac.or.th/thailand-cultural-encyclopedia/detail.php?id=13122

https://db.sac.or.th/thailand-cultural-encyclopedia/detail.php?id=13121

http://www.liekr.com/post02081041008349

https://db.sac.or.th/thailand-cultural-encyclopedia/detail.php?id=7562

https://www.samakomphra.com/page/home/views/w4e254g4i5e5e4h4c2e494r2h2c444e2b4y2a4y2b4l2o3h4n5m4y534q5m5a2b4j264m2p2p2g2w4

https://db.sac.or.th/thailand-cultural-encyclopedia/detail.php?id=4105

https://th.wikipedia.org/wiki/พระยาทุกขราษฏร์_(ช่วย)

https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=item&id=66

https://www.sac.or.th/databases/manuscripts/main.php?m=document&p=item&id=242


 

เรียบเรียงโดย

นายดอกรัก พยัคศรี

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

(องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ฐานข้อมูล ปีเสือ เอกสารโบราณ ดอกรัก พยัคศรี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา