มานุษยวิทยาไซบอร์ก (Cyborg Anthropology)

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 19472

มานุษยวิทยาไซบอร์ก (Cyborg Anthropology)

ความหมายของ Cyborg Anthropology

           คำว่า Cyborg มีรากศัพท์มาจากคำว่า cybernetic organism หรือสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากเครื่องจักร ถูกใช้ในแวดวงวิชาการครั้งแรกในบทความเรื่อง Cyborgs and Space เขียนโดย Manfred E. Clynes and Nathan S. Kline ในช่วงปี ค.ศ. 1960 ในคำอธิบายของ Kline (2009) กล่าวว่าไซบอร์กคือการผสมกันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรที่แสดงออกในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน การศึกษาไซบอร์กมักจะสนใจส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ถูกสร้างเข้าไปในร่างกายของมนุษย์เพื่อช่วยประคับประคองและรักษาสุขภาพของมนุษย์ให้สามารถดำรงอยู่ได้ เช่น แขนเทียม ขาเทียม หัวใจเทียม เป็นต้น ในแวดวงวิทยาศาสตร์สุขภาพ ไซบอร์กเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใส่เข้าไปในร่างกายเพื่อช่วยซ่อมแซม แก้ไขอวัยวะที่เสียไป และต่อชีวิตมนุษย์ (Gray, 1995)

 

เครื่องจักรที่ถูกสร้างเข้าไปในร่างกายของมนุษย์เพื่อช่วยประคับประคองและรักษาสุขภาพของมนุษย์ให้สามารถดำรงอยู่ได้ ภาพจาก ภาพโดย RAEng_Publications จาก Pixabay

 

           คำว่า Cyborg Anthropology เป็นการนำคำว่า Cyborg ซึ่งหมายถึงเครื่องจักรมาไว้รวมกับคำว่า Anthropology ที่เป็นการศึกษามนุษย์ ทำให้เกิดความหมายใหม่ที่บ่งชี้ถึงแนวการศึกษาที่สนใจชีวิตมนุษย์ที่ดำรงอยู่ร่วมกับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ ในยุคที่ความรู้มานุษยวิทยาก้าวข้ามมนุษย์ไป การศึกษาการดำรงอยู่ของสิ่งที่มิใช่มนุษย์คือโจทย์ที่ท้าทายกระบวนทัศน์และวิธีวิทยา (Downey, Dumit & Williams, 1995; Escobar, 1994) ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มานุษยวิทยาไซบอร์กจึงเป็นการขยายพรมแดนความรู้ที่ไม่จำกัดอยู่แต่เรื่องของ “มนุษย์” หากแต่เป็นการศึกษาปฏิสัมพันธ์ (interconnection) ของเทคโนโลยีที่ทำให้ชีวิตบนโลกเคลื่อนตัวไปอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งถือเป็นการข้ามพ้นมนุษย์และไม่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Braidotti, 2013; Case, 2014; Haraway, 1985) กล่าวคือ มานุษยวิทยาไซบอร์กต้องการทำความเข้าใจผลกระทบที่เกิดจากวัตถุและเทคโนโลยีที่มนุษย์นำมาใช้และมีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน

           การศึกษาไซบอร์กหรือเครื่องจักร เป็นเพียงมิติหนึ่งในหลายมิติของการศึกษาแบบ Posthumanism กล่าวคือ ไซบอร์กคือการดำรงอยู่และประสบการณ์แบบใหม่ที่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง ช่วยทำให้ขอบเขตของ “ความเป็นมนุษย์” มิได้จำกัดอยู่เฉพาะชีววิทยาและปัจจัยทางกายภาพ แต่ยังรวมเอาประสบการณ์ทางวัตถุที่ประกอบสร้างขึ้นและมีผลกระทบต่อการเป็นมนุษย์ กล่าวคือ ไซบอร์กทำให้เห็น “ตัวตน” ของมนุษย์ที่ซับซ้อนและสัมพันธ์กับสิ่งอื่น (Intersubjectivity) ในการศึกษานี้จึงถือว่าเป็นการท้าทายความรู้และทฤษฎีความเป็นมนุษย์ที่โลกตะวันตกเคยสร้างเอาไว้ หลังจากที่ Haraway (1985) ได้เสนอความคิด “ไซบอร์ก” ในฐานะเป็นการวิพากษ์ตัวตนทางเพศของมนุษย์ นำไปสู่การตั้งคำถามและการก้าวข้ามเพศสภาพที่เป็นอัตลักษณ์คงที่ เพราะไซบอร์กคือสภาวะของความคลุมเครือและความยืดหยุ่น การศึกษาตัวตนของมนุษย์จึงต้องศึกษาสภาวะดังกล่าวโดยไม่ตัดสินอัตลักษณ์ในแบบที่ตายตัวและมีแก่นแท้เพียงหนึ่งเดียว (Haraway, 2004)

 

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมิติสังคม

           กระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์ที่แบ่งแยกโลกวัตถุออกจากประสบการณ์ทางความคิด (objectivistic/positivistic) หรือแยกกายออกจากจิต กระบวนทัศน์นี้ได้ถูกรื้อถอนในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 พร้อมกับกระแสวิชาการหลังยุคสมัยใหม่ นำไปสู่การศึกษาพรมแดนที่ข้ามไปมาระหว่างสิ่งต่างๆ ซึ่งมิได้มีขอบเขตและเส้นแบ่งที่ชัดเจน (Rouse, 1996) การศึกษาไซบอร์กคือกระบวนทัศน์เชิงวิพากษ์ที่ต้องการรื้อถอนกระบวนทัศน์คู่ตรงข้าม ความมีแก่นแท้ ความเป็นเหตุผลของโลกทางวัตถุและความคิด ในขณะเดียวกันก็เป็นการตั้งคำถามต่อความรู้วิทยาศาสตร์ในฐานะที่เป็นปฏิบัติการทางสังคมที่มิใช่เครื่องมือสำหรับการพิสูจน์ความจริง (Kuhn, 1962) ดังนั้น ความรู้วิทยาศาสตร์จึงเกี่ยวข้องกับบริบทสังคม เงื่อนไขที่นักวิทยาศาสตร์ใช้สร้างทฤษฎีต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับประสบการณ์ โลกทัศน์ และวิธีปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์จึงมิใช่เครื่องพิสูจน์ความจริงที่ตายตัว (Feyerabend, 1975)

           Downey et al (1995) ตั้งข้อสังเกตว่าความรู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของมนุษย์มากกว่าการค้นหาความจริงในโลกธรรมชาติ ในแง่นี้จะพบว่าเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมิใช่การนำ “ความจริง” มารับใช้มนุษย์ หากแต่เป็นการทำให้มนุษย์สัมผัสประสบการณ์ที่เรียกว่า “ความจริง” ที่อาศัยรูปธรรมจากเครื่องจักรและเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์คืออุปกรณ์ที่ช่วยทำให้มนุษย์สร้างและคำนวณข้อมูลต่างๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตนเองมีชีวิตที่สะดวกสบายหรือแม้แต่มีอิสระที่จะแสวงหาจินตนาการที่ไร้ขอบเขต ประสบการณ์นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์จึงเป็นผู้กระทำหรือส่วนทำให้มนุษย์รู้จักศักยภาพและความสามารถของตนเอง

           Martin (1998) อธิบายว่าความรู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวพันกับความสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อน ความรู้วิทยาศาสตร์จึงแฝงไว้ด้วยอำนาจ ความเชื่อ โลกทัศน์ และประสบการณ์ส่วนตัว ดังนั้น ในการทำความเข้าใจชีวิตทางสังคมของนักวิทยาศาสตร์ เราจำเป็นต้องเข้าใจความรู้ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้สร้างทฤษฎีและสร้างเทคโนโลยีต่างๆ การศึกษาของ Goodman, Heath and Lindee (2003) พบว่าวิทยาศาสตร์กับวัฒนธรรมไม่สามาระแยกขาดจากกันได้ เช่นสมมติฐานเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของนักพันธุศาสตร์ดำรงอยู่ร่วมกับทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่สร้างฐานคิดเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่เจริญก้าวหน้า ในแง่นี้ วิทยาศาสตร์ในฐานะปฏิบัติการทางสังคมและวัฒนธรรมมิได้เป็นสิ่งที่แยกขาดจากชีวิตมนุษย์ ไซบอร์กจึงเป็นผลผลิตของการเชื่อมต่อระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตและทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน

 

การเมืองของไซบอร์ก

           Gray and Mentor (1995) ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดไซบอร์กของ Haraway ทำให้เห็นเครือข่ายความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใหม่ที่กำลังก่อตัวและขยายกว้างไปในยุคทุนนิยมช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ช่วงเวลานี้มนุษย์กำลังเผชิญกับความปั่นป่วนของกฎระเบียบทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น ความขัดแย้งและความไม่ลงรอยของคนกลุ่มต่างๆ รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนวิธีมองโลกและการสร้างความสัมพันธ์ของมนุษย์ ปรากฎการณ์นี้ถูกมองในฐานะเป็นมรดกตกทอดของระบอบชายเป็นใหญ่และความเป็นเหตุผลนิยมแบบวิทยาศาสตร์ ที่ผลิตซ้ำชนชั้นและอัตลักษณ์ที่เป็นแก่นแท้ของมนุษย์ ในแง่นี้ การเมืองของไซบอร์กคือการเมืองของการรื้อทำลายขอบเขตและพรมแดนที่ชัดเจนที่แบ่งแยกสิ่งต่างๆ ออกจากกัน และเคลื่อนไปสู่การปราศจากพรมแดนและพื้นที่เปิดที่มนุษย์และสิ่งต่างๆ สามารถเชื่อมเข้าหากัน (boundary-crossing)

           การศึกษามานุษยวิทยาไซบอร์ก จึงเป็นการทำความเข้าใจวิธีการที่สิ่งต่างๆ เชื่อมโยงเข้าหากันและทำให้ความเป็นมนุษย์ไม่หยุดนิ่งและปราศจากความมั่นคงถาวร Black (2014) อธิบายว่าการประสานกัน (interface) ของวัตถุสิ่งของได้สร้างประสบการณ์ของการมีตัวตนแบบใหม่ของมนุษย์ เช่น ไม้เท้าของคนตาบอดคือเครื่องมือและเทคโนโลยีที่สร้างความรู้สึกให้กับคนๆ นั้น ไม้เท้าจึงมิใช่วัตถุ แต่เป็นสิ่งที่ต่อเติมและสร้างความรู้สึกให้กับมนุษย์ ในสังคมที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า วัตถุที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็ยิ่งเป็นส่วนสร้างความรู้สึกที่ซับซ้อนให้มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ทำให้มนุษย์รู้สึกถึงการมีตัวตน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ตัวตนของมนุษย์เต็มไปด้วยการเชื่อมโยงของวัตถุสิ่งของที่สร้างความรู้สึกของการดำรงอยู่ (Messinger, 2010) มานุษยวิทยาไซบอร์กจึงแสวงหาการดำรงอยู่ของวัตถุสิ่งของที่เสริมสร้างและเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์

ไม้เท้าของคนตาบอด คือเครื่องมือและเทคโนโลยีที่สร้างความรู้สึกให้กับคนๆ นั้น เป็นสิ่งที่ต่อเติมและสร้างความรู้สึกให้กับมนุษย์ ภาพจาก https://kiddee40.net/homepage-2/9-diy/283-google

           

           นอกจากนั้น มานุษยวิทยาไซบอร์กมิได้มองมนุษย์ในฐานะเป็นผู้ควบคุมโลกหรือผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร แต่มองในฐานะเป็นส่วนประกอบของโลกที่ต้องพึ่งพาวัตถุต่างๆ การทำความเข้าใจมนุษย์ในมิติความสัมพันธ์กับวัตถุอื่น ช่วยให้เห็นวิธีการมองโลกและมองมนุษย์ที่เปลี่ยนไปจากกระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ โดยมองความซับซ้อนของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของมนุษย์ พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์ใหม่ให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะอยู่กับความแตกต่างหลากหลาย โจทย์ที่ท้าทายสำหรับนักมานุษยวิทยาก็คือ เราจะอธิบายการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ ในฐานะที่เป็นประสบการณ์ได้อย่างไร Case (2014) อธิบายว่ามานุษยวิทยาไซบอร์กก็คือการศึกษาเครือข่ายข้อมูลข่าวสารที่ดำรงอยู่ในปฏิสัมพันธ์ที่มนุษย์มีกับเทคโนโลยีต่างๆ ในขณะที่ Wells (2014) อธิบายว่ามานุษยวิทยาไซบอร์กคือการทำความเข้าใจความหมายของมนุษย์ที่เคลื่อนที่และเปลี่ยนไปตามการพึ่งพิงเทคโนโลยี

           Gray (1997, 2002) กล่าวว่าชีวิตมนุษย์ถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี ตัวตนของมนุษย์จึงมิใช่เป็นผลผลิตตามธรรมชาติ เมื่อเทคโนโลยีได้ปรับเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ให้เป็นส่วนผสมของวัตถุต่างๆ มนุษย์จะมิใช่ร่างทางชีวภาพ แต่เป็นร่างเทคโน-ชีวภาพ หรือร่าง hyper-body เห็นได้จากเทคโนโลยีสื่อสาร คมนาคม ไปจนถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เทคโนโลยีทำให้ความหมายของมนุษย์ ครอบครัว สังคม ชุมชน ความเป็นพลเมือง เพศสภาพ เพศวิถี เชื้อชาติ ได้เปลี่ยนไปจากเดิม อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของการพึ่งพาเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมแบบใหม่ ผู้ที่กุมความรู้และเทคโนโลยีอาจเป็นผู้ควบคุมโลกและมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของพลเมืองในอนาคต นอกจากนั้น มิติทางศีลธรรมของเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงมิได้ ถ้าเทคโนโลยีทำให้คนบางคนละเมิดชีวิตของผู้อื่น เทคโนโลยีนั้นจะถูกตรวจสอบได้อย่างไร ปัญหาเหล่านี้คือการเมืองแบบใหม่ที่ไซบอร์กนำมาสู่สังคม

           การแพร่หลายของไซบอร์กในรูปแบบของเทคโนโลยีต่างๆ จึงเป็น “อำนาจทางเทคโนโลยี” (technopower) โดยมีนัยยะของการควบคุมสิ่งต่างๆ ภายใต้ระบอบความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ การควบคุมชีวิตผ่านเทคโนโลยีไซบอร์กทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับขอบเขตของเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์อยู่ตรงไหน สังคมจะมีมาตรการอย่างไรต่อกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์และกลุ่มที่เสียประโยชน์จากเทคโนโลยี โครงสร้างอำนาจภายใต้ระบบทุนนิยมจะขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีไปในทิศทางไหนและเพื่อเป้าหมายอะไร คำถามเหล่านี้คือภาพสะท้อนของการเมืองแบบไซบอร์กหรือการเมืองในยุคการข้ามพ้นมนุษย์ (posthuman politics) (Gray, 1997) การมองเทคโนโลยีในเชิงบวกและเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้มนุษย์มีความก้าวหน้าหรือมีชีวิตที่สมบูรณ์อาจเป็นการมองในเชิงอุดมคติ ฉะนั้น การศึกษาไซบอร์กจึงควรวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบอำนาจที่เข้ามาควบคุมมนุษย์แบบใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น (Kafer, 2013)

 

เอกสารอ้างอิง

Black, D. (2014). Where bodies end and artefacts begin: Tools, machines and interfaces. Body & Society, 20(1), 31-60.

Braidotti, R. (2013). The Posthuman. Cambridge: Polity Press.

Case, A. (2014). An Illustrated Dictionary of Cyborg Anthropology. Scotts Valley, California: CreateSpace Independent Publishing Platform.

Clynes, M.E. & Kline, N. S. (1960), Cyborgs and Space. Astronautics, 5(9), 26-27, 74-76.

Downey, G.L., Dumit, J. & Williams, S. (1995). Cyborg Anthropology. In C. Gray, (ed.), The Cyborg Handbook, New York: Routledge.

Escobar, A. (1994). Welcome to Cyberia. Current Anthropology, 35(3), 211-231.

Feyerabend, P. (1975). Against Method. London: New Left Books.

Goodman, A.H., Heath, D., & Lindee, M.S. (2003). Genetic Nature/Culture: Anthropology and Science beyond the Two-Culture Divide. Oakland, CA: University of California Press.

Gray, C.H. (ed). (1995). The Cyborg Handbook. New York: Routledge.

Gray, C.H. (1997). The ethics and politics of Cyborg embodiment: Citizenship as a hypervalue. Cultural Value, 1(2), 252-258.

Gray, C.H. (2002). Cyborg Citizen: Politics in the Posthuman Age. New York and London: Routledge.

Gray, C.H. & Mentor, S. (1995). The Cyborg Body Politic. In C. Gray, (ed.), The Cyborg Handbook, New York: Routledge.

Haraway, D. (1985). A Manifesto for Cyborgs: Science, technology, and socialist feminism in the 1980s. Socialist Review, 80, 65–107.

Haraway, D. (2004). Cyborgs, Coyotes, and Dogs: A Kinship of Feminist Figurations' and 'There are Always More Things Going on Than You Thought! Methodologies as Thinking Technologies. In D. Haraway, The Haraway Reader. (pp. 321–341). London: Routledge.

Hepso, V. (1998). Will there be a ‘scientific life’ as we know it after cyborg anthropology? Retrieved from https://www.researchgate.net/publication/258119106_Will_there_be_a_%27scientific_life%27_as_we_know_it_after_cyborg_anthropology

Kafer, A. (2013). The Cyborg and the Crip: Critical Encounters, Feminist, Queer, Crip. Bloomington: Indiana University Press.

Kline, R. (2009). Where are the Cyborgs in Cybernetics? Social Studies of Science, 39(3), 331-362

Kuhn T. (1962). The Structure of Scientific Revolutions. Chicago: Chicago University Press.

Martin, E. (1998). Anthropology and the Cultural Study of Science. Science, Technology and Human Values, 23(1), 24-44.

Messinger, S.D. (2010). Getting past the accident: Explosive devices, limb loss, and refashioning a life in a military medical center. Medical Anthropology Quarterly, 24(3), 281-303.

Rouse, J. (1996). Engaging Science: how to understand its practices philosophically. Ithaca; Cornell University Press.

Wells, J. (2014). Keep Calm and Remain Human: How We Have Always Been Cyborgs and Theories on the Technological Present of Anthropology. Reviews in Anthropology, 43, 5–34.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ไซบอร์ก Cyborg Posthuman Anthropology ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา