เมื่อลมเล่าเรื่อง ฮินดูปกรณัมในคัมภีร์วายุมหาปุราณะ
เขียนโดย
ผศ.สยาม ภัทรานุประวัติ
ผศ.ดร.นาวิน โบษกรนัฏ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแปลและศึกษาวิเคราะห์เทพปกรณัมฮินดูในวายุมหาปุราณะ (ระยะที่ 1) ใน โครงการเอกสารโบราณสู่การเข้าใจข้ามวัฒนธรรม ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ในวรรณคดีสันสกฤตมีวรรณคดีประเภทหนึ่งเรียกว่า “ปุราณะ” เป็นเรื่องเก่าแก่แต่ไม่ปรากฏในคัมภีร์พระเวท เช่น กำเนิดจักรวาล โลก เทพเจ้า และมนุษย์ รวมทั้งปรัชญาความคิดอื่น ได้แก่ เรื่องโยคะ คัมภีร์ธรรมศาสตร์ ฯลฯ ด้วยเหตุที่รวบรวมเรื่องราวเหล่านี้ไว้ทั้งหมดคัมภีร์ปุราณะจึงมีลักษณะคล้ายสารานุกรมของตามคติศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ปัจจุบันยอมรับกันว่า คัมภีร์ปุราณะอาจเริ่มเล่าขานเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล คัมภีร์ปุราณะภาษาสันสกฤตนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ “มหาปุราณะ” หรือ ปุราณะเรื่องใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 18 เล่ม และ “อุปปุราณะ” หรือ ปุราณะย่อยอีกจำนวนมาก มหาปุราณะทั้ง 18 เล่มนี้เป็นคัมภีร์สำคัญยิ่ง เพราะรวบรวมเรื่องเล่าจำนวนมากที่ครอบคลุมความรู้หลายแขนงไว้ด้วยกัน
วายุมหาปุราณะ เป็นมหาปุราณะที่สำคัญเล่มหนึ่ง จัดอยู่ในคัมภีร์ปุราณะรุ่นเก่า จึงเหมาะสมที่จะนำมาแปลและศึกษาวิเคราะห์เทพปกรณัมฮินดูเป็นอย่างยิ่ง การวิจัยเรื่องนี้แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 เป็นการแปลและศึกษาวิเคราะห์เนื้อเรื่องส่วนแรกที่มีชื่อว่า “ประกริยา” ว่าด้วยกำเนิดจักรวาลและการสร้างโลกซึ่งเป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งของเทพปกรณัมฮินดู ในบทความนี้จะกล่าวเพียง 2 ประเด็น คือ พระวายุในฐานะผู้เล่าเรื่อง และกำเนิดพระตรีมูรติในตอนต้นวายุมหาปุราณะ
วายุมหาปุราณะ
ที่มาภาพ: https://www.amazon.com/Vayu-Purana-Great-Epics-India-ebook
เมื่อลมเล่าเรื่องปุราณะ
ปุราณะส่วนใหญ่จะมีส่วนนำคือการสนทนาของนักเล่านิทานกับฤษี ในวายุมหาปุราณะก็เช่นกัน คือ เริ่มด้วยบทสนทนาของนักเล่านิทานกับฤษี แต่ที่น่าสนใจคือการอ้างถึงพระวายุในฐานะผู้เล่าเรื่องที่สำคัญ นักเล่านิทานเล่าว่าเรื่องนี้เดิมเป็นเรื่องที่พระพรหมเล่าให้กับพระวายุฟัง จากนั้นพระวายุได้เล่าให้กับอุศนัสฟัง และมีการเล่าต่อให้แก่เทพเจ้าและฤษีอีกหลายตนจนถึงวยาสฤษี ต่อมาวยาสฤษีได้เล่าเรื่องนี้ให้แก่นักเล่านิทานชื่อโลมหรรษณะผู้เป็นศิษย์ (Tagare, 1960: xxii)
พระวายุเทพ (ผู้เล่าเรื่อง)
ที่มาภาพ: https://mythus.fandom.com/wiki/Vayu?file=Vayu_Deva.jpg
น่าสังเกตว่า แม้จะอ้างว่าเรื่องนี้มาจากพระพรหมแต่ก็ไม่ปรากฏชื่อว่าพรหมปุราณะแต่อย่างใด หลังจากพระวายุแล้วก็มีผู้ฟังและผู้เล่าสืบทอดมาอีกหลายท่าน แต่มหาปุราณะนี้ ก็ยังคงอ้างว่าเป็นเรื่องเล่าของพระวายุ การอ้างถึงพระวายุในฐานะผู้เล่าคงเป็นความตั้งใจเป็นพิเศษเพราะในตอนต้นเรื่องนักเล่านิทานได้กล่าวถึงพระวายุอยู่หลายครั้ง เช่น
ข้าขอเล่าเรื่องวายุปุราณะที่เกิดจากการถามของเหล่ามุนีผู้มหาตมะ ผู้อยู่ในป่าไนมิษะ //1.41 //
จากนั้น พระวายุก็เล่าเรื่องกำเนิดของทวยเทพและเหล่าฤษี รวมทั้งกำเนิดแม่น้ำและภูเขาต่าง ๆ //1.46 //
เรื่องโยคนิธิพระวายุได้เล่าซ้ำอีกครั้งแก่เหล่าพราหมณ์ผู้ปรารถนาความหลุดพ้น รวมทั้งเรื่องโยคะของพระพรหมผู้ปราศจากข้อตำหนิ // 1. 64//
พระวายุได้กล่าวบทสดุดีพระศิวะผู้ภควานที่ได้การสรรเสริญจากพระพรหม และพระนารายณ์ซึ่งเหล่าเทพยดาต่างสรรเสริญ //1. 66//
การกล่าวถึงพระวายุซ้ำหลายครั้งและปรากฏในหลายอัธยายะคงแสดงความหมายบางอย่างในการเล่าเรื่องนี้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากการระบุว่าพระวายุเป็นผู้เล่าแล้ว นักเล่านิทานยังได้สดุดีคุณสมบัติพิเศษของพระวายุไว้ในอัธยายะที่ 2 ว่า
พระวายุนั้นเป็นศิษย์พระพรหมสวยัมภู สามารถมองเห็นสรรพสิ่ง มีความสามารถพิเศษ 8 ประการ มีการย่อกายให้เล็กเป็นต้น //2.35//
เขาได้รองรับโลกทั้งมวลที่มีสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นต้นโดยธรรม ความประเสริฐคือการพัดผ่านไปยังดินแดนทั้ง 7 มิได้ขาด //2.36//
เมื่อรวมการเอ่ยนามพระวายุซ้ำ ๆ กับการกล่าวถึงคุณลักษณะพิเศษของพระวายุแล้ว ทำให้อนุมานได้ว่า ผู้แต่งหรือผู้รวบรวมเรื่องตอนต้นนี้ต้องการชี้ให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังรู้ว่าเรื่องที่กำลังฟังนั้นมาจากเรื่องใดและใครเป็นผู้เล่าเพื่อให้เห็นความสำคัญของการเล่าของพระวายุ ในขณะเดียวกันการระบุชื่อพระวายุก็ช่วยสร้างความแตกต่างจากมหาปุราณะฉบับอื่นได้อีกด้วย
มหาเทพในศาสนาพราหมณ์ พระวิษณุ พระพรหม พระศิวะ
ที่มาภาพ: https://www.summityoga.net/hindu-mythology-workshop
กำเนิดจักรวาลและกำเนิดตรีมูรติ
การสร้างโลกเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของวรรณคดีปุราณะที่มีข้อกำหนดว่า ต้องมีเนื้อหา 5 ประการ หรือ “ปัญจลักษณะ” จึงถือเป็นปุราณะที่สมบูรณ์ ดังที่กล่าวไว้ในวายุมหาปุราณะว่า
การสร้าง การสร้างอีกครั้ง สกุลวงศ์ของเหล่ากษัตริย์ และเรื่องเวลาของพระมนู เรื่องการสืบสายสกุลต่อ ๆ มา นั้นรวมเป็นลักษณะ 5 ประการของปุราณะ //4.10//
กำเนิดจักรวาลในวายุมหาปุราณะนั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก มีการผสมผสานกำเนิดจักรวาลแบบปรัชญาสางขยะและเวทานตะ รวมกับเทพปกรณัมตอนกำเนิดพระพรหม นอกจากการกำเนิดพระพรหมแล้ว ยังได้กล่าวถึง กำเนิดพระวิษณุ และพระศิวะด้วย กำเนิดเทพเจ้าสำคัญทั้ง 3 นี้กล่าวว่ากำเนิดจากคุณะที่ต่างกัน ทำให้พระเป็นเจ้ามีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น
รชัสได้กำเนิดเป็นพระพรหม, พระอิศวรเกิดจากตมัส, สัตตวะกำเนิดเป็นพระวิษณุ พระพรหมผู้เป็นที่ปรากฏของรชัสได้เกิดจากการสร้างนี้เอง //5.14//
พระอิศวรปรากฏขึ้นจากตมัส ตั้งอยู่ในกาลเวลา ผู้กำเนิดจากสัตตวะคือพระวิษณุ ผู้อยู่ในความแตกต่าง //5.15//
พวกเขาอยู่ร่วมกัน เกื้อหนุนกัน รวมตัวกัน มีชีวิตอยู่เพื่อกันและกัน การแยกแม้เพียงชั่วขณะก็ไม่มี และไม่ทิ้งกันเลย //5.17//
พระอิศวรนั้นเป็นเทพเจ้าสูงสุด ส่วนพระวิษณุเป็นผู้มีมหัตอันประเสริฐ พระพรหมเป็นรชัสที่สำคัญ เพื่อให้การสร้างดำเนินไป ส่วนปุรุษะนั้นเป็นที่รู้ว่าประเสริฐ และประกฤติก็ประเสริฐเช่นกัน//5.18//
การกล่าวถึงกำเนิดเทพเจ้าไว้ตอนกำเนิดจักรวาลนี้นอกจากจะแสดงความสัมพันธ์ของเทพเจ้าทั้ง 3 แล้ว ยังแสดงการเริ่มต้นเรื่องราวของมหาเทพทั้ง 3 ซึ่งจะกล่าวถึงในส่วนอื่นต่อไปด้วย ทั้งนี้อาจจะกล่าวโดยสรุปได้ว่าเนื้อเรื่องที่กล่าวถึงพระวายุในฐานะผู้เล่าเรื่อง และการกำเนิดจักรวาลและมหาเทพทั้ง 3 ในเรื่องวายุมหาปุราณะนั้น ถือเป็นส่วนต้นที่มีความสำคัญที่ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับที่มาของวายุมหาปุราณะและเรื่องสำคัญในเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี
เอกสารอ้างอิง
Caturvedi, V. ed. 2001. Vāyu Purāṇa. Delhi: Nag Publisher.
Hazra, R. C. 1962. ‘The Purāṇas’ in Radhakrishnan, S. ed. The Cultural Heritage of IndiaVol.II. Calcutta: The Ramakrishna Mission Institute of Culture.
Mitsra, R. ed. 1880. The Vāyu Purāṇa. Calcutta: The Kalika Press.
Rao, V. N. 2004. ‘Purāṇa’ in Mittal, S. & Thursby, G. eds The Hindu World. London: Routledge. 97-115.
Rocher, L. 1986. A History of Indian Literature: The Purāṇas. Wiesbaden: Otto Harrassowitz.
Tagare, G.V. and Shastri, J.L. ed. & tr. 2000. The Vāyu Purāṇa. Delhi: Motilal Banarsidass.
ป้ายกำกับ ฮินดูปกรณัม คัมภีร์วายุมหาปุราณะ สยาม ภัทรานุประวัติ นาวิน โบษกรนัฏ