พิริยวงศ์อวตาร: ‘วีรบุรุษ’ ‘กบฏ’ การประดิษฐ์สร้างตัวตนใหม่ทางประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์มักมีพลวัต คลี่คลาย สืบเนื่อง และแพร่ขยายอย่างมิสิ้นสุด อาทิ กระแสประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม ที่มีกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่น “ผสม” (hybridize) กับประวัติศาสตร์ชาตินิยม โดยการตอกย้ำกับเรื่อง “ความจงรักภักดี” ต่อพระมหากษัตริย์ ความเป็นไทย1 จนนำสู่การสร้างการอธิบายใหม่ของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับ ‘ชาติ’ อย่างแนบชิด และขยายตัวตั้งแต่ทศวรรษที่ 2540 เป็นจุดหนึ่งของการก่อตัวของสำนึกท้องถิ่นนิยมชาตินิยม รวมถึงปัจจัยด้านการท่องเที่ยว ที่เน้นการสร้างจุดขายของเมือง เพื่อตอบสนองต่อเศรษฐกิจภายใต้ระบบทุนนิยม ที่นำอัตลักษณ์ของแต่ละเมืองมาเป็นจุดขาย มาสู่การสร้าง “ความต่าง” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งกระแสของการตอบสนองด้านการท่องเที่ยวนำสู่
การสร้างอัตลักษณ์ต่าง ๆ ของท้องถิ่นที่หลากหลายทั้งจากรากฐานเดิม และการสร้างใหม่
“วีรบุรุษมิได้มีความหมายเฉพาะสิ่งที่ผ่านมาในอดีต แต่วีรบุรุษสะท้อนตัวตน ของคนในปัจจุบัน”
อาทิ การสร้างวีรบุรุษในท้องถิ่น ‘วีรบุรุษ’ คือ คนที่อยู่ในสำนึก ความทรงจำ เป็นผู้ประกอบคุณงามความดีให้แก่ท้องถิ่นนั้น ๆ วีรบุรุษอาจเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง หรือเป็นบุคคลในตำนานมีหรือไม่มีตัวตนก็ได้ แต่เชื่อกันว่ามีอยู่จริง ทำให้มีการสร้างสิ่งสมมติแทนบุคคลนั้น ๆ เพื่อเคารพบูชา ระลึกถึง และอาจกลายเป็นผีประจำเมือง หรือเทพ2 เป็นการตอกย้ำสำนึก ความทรงจำ และความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน วีรบุรุษมิได้มีความหมายเฉพาะสิ่งที่ผ่านมาในอดีต แต่วีรบุรุษสะท้อนตัวตน ของคนในปัจจุบัน เป็นกระจกเงาสะท้อนวิธีคิด ความเชื่อของคนในยุคสมัยนั้น ๆ การสร้างวีรบุรุษในท้องถิ่นจึงเป็นการรับใช้การรับรู้ ความเชื่อของคนในปัจจุบันผ่านอนุสาวรีย์ ซึ่งเป็นเวทีของการสร้างอดีตเพื่อเชื่อมโยงปัจจุบัน ภายใต้กรอบคิดของคนในปัจจุบันเพื่อย้อนรำลึกถึงอดีตหรือเปลี่ยนความหมายของอดีต นอกจากนี้อนุสาวรีย์ยังมีความหมายของการเผยแพร่อุดมการณ์ของคนในอดีตที่สร้างขึ้นหรือความหมายจุดประสงค์ที่คนในปัจจุบันทาบทาลงในอนุสาวรีย์3 แต่ใช่ว่าการสร้างอนุสาวรีย์จะมีความหมายตามผู้สร้างเท่านั้น บางครั้งการสร้างเพื่อวัตถุประสงค์หนึ่ง ผู้รับรู้อาจรับรู้อีกอย่างก็ได้4 จึงทำให้อนุสาวรีย์ในช่วงเวลาต่าง ๆ มีความหมายที่ไม่สิ้นสุด
เรื่องราวของ ‘กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ พ.ศ.2445’ เป็นเรื่องหนึ่งที่มีการ “สร้างใหม่” มากที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะการสร้างคำอธิบายใหม่จะช่วยให้มีการจัดวาง “ตำแหน่งแห่งที่” (position) ของคนในเมืองแพร่ และ ‘ประวัติศาสตร์เมืองแพร่’ ใน ‘ประวัติศาสตร์ชาติไทย’ (ดูรายละเอียดใน ชัยพงษ์ สำเนียง 2553) ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากแก่การอธิบายในอดีตแต่ด้วยเงื่อนไขของบริบท และการคลี่คลาย ขยายตัวของประวัติศาสตร์ที่ก่อตัวขึ้นอย่างกว้างขวางในช่วง 3 ทศวรรษก่อนหน้านี้ (ทศวรรษ 2520)
ในที่นี้ ผมจะเสนอให้เห็น ‘การสร้างคำอธิบายต่ออดีตใหม่’ ที่เกิดขึ้นในเมืองแพร่ภายใต้ประวัติศาสตร์บาดแผลที่ต้องการ ‘ลบทิ้ง’ ‘สร้างใหม่’ และเรื่องที่ยากแก่การอธิบาย คือ ความร่วมมือของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ที่ได้เข้าร่วมการกบฏ ถือว่าเป็น “ตรา” ที่ยากจะลบทิ้ง จะปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าร่วม หรือ ฯลฯ ก็ยากที่จะอธิบาย วิธีการที่ดีที่สุดในการ ‘สร้างใหม่’ คือ เชื่อมการกระทำกับ “ชาติ” พูดได้ว่าเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์อดีตกบฏ ได้ ‘อวตาร’ ใหม่กลายเป็น ‘วีรบุรุษ’ ‘กบฏ’ ในทศวรรษ 2540
ชุดคำอธิบายคลาสสิคในปัจจุบันที่อธิบายเหตุการณ์ คือ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์กับรัชกาลที่ 5 ร่วมมือกันในการทำให้เกิดกบฏเงี้ยว เพื่อให้เจ้าหลวงเป็นสายสืบไปอยู่ที่หลวงพระบาง และเพื่อป้องกันการแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ คือ ฝรั่งเศส และอังกฤษ โดยให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เป็นแพะรับบาป และตัวเจ้าหลวงยินยอมตามแผนการมิได้มีข้อขัดแย้งอะไร โครงเรื่องเช่นนี้กลายเป็นคำอธิบายการเกิดกบฏเงี้ยวกระแสหลักอยู่ในเมืองแพร่ โดย “...เงี้ยวมาเกลี้ยกล่อมท่าน (เจ้าหลวงให้ก่อกบฏ : ผู้เขียน) ก็นำความนี้รายงาน รัชกาลที่ 5 ได้ทรงรับรู้... ทางกรุงเทพฯ ก็ได้เรียกเจ้าหลวงไปร่วมปรึกษาหารือ... ตกลงให้รับปากพวกเงี้ยวและให้ผัดเวลาออกไปอีก 2-3 เดือน... ให้ทางกรุงเทพฯจัดกำลัง...”5 และ “...ตามที่ รัชกาลที่ 5 และเจ้าหลวงฯ ได้วางแผนร่วมกันไว้...”6 นำมาสู่การอธิบายและตีความเหตุการณ์ครั้งนั้นใหม่ว่าเจ้าหลวงไม่ได้เป็นกบฏ แต่เป็นผู้จงรักภักดี และเสียสละ ท้ายสุดทิ้งทั้งทรัพย์สิน ลูกเมีย บ้านเมือง (เพื่อเป็นสายสืบและให้รัชกาลที่ 5 รวมหัวเมืองเหนือได้สำเร็จ) ดังนั้นท่านจึงมิใช่กบฏแต่เป็น “วีรบุรุษ” ฉะนั้นหากกล่าวว่าเมืองแพร่เป็น “เมืองกบฏ” จึงหาใช่ไม่ แต่เป็นเมืองของผู้จงรักภักดี และเมืองของ “วีรบุรุษ” ต่างหาก
ยังมีการสร้างคำอธิบายว่าก่อนที่จะเกิดกบฏ เจ้าพิริยเทพวงศ์ และชายาเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าอยู่เสมอ “...ในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าหลวงเมืองแพร่นั้นเป็นผู้ที่รัชกาลที่ 5 ทรงรักและไว้ใจมาก โดยเฉพาะกับกรมหลวงดำรงราชานุภาพ...ก็ทรงชอบพอกับเจ้าหลวงฯ ทั้งพ่อ ทั้งเพื่อน ทั้งพี่ กรมหลวงดำรงราชานุภาพฯ ได้ทรงอบรมสั่งสอนเจ้าหลวงฯ ทุกอย่าง...”7 เพื่อสร้างโครงเรื่องให้ตอบรับการเหตุการณ์ข้างต้น
ภาพที่ 1 กบฏเงี้ยวที่ถูกจับในปี พ.ศ. 2445
(ที่มา http://heritage.mod.go.th/nation/oldcity/prae1.htm)
นอกจากนี้ยังอธิบายว่าเป็นคราวเคราะห์ของเจ้าหลวง การอธิบายในลักษณะนี้เพื่อให้รับรู้ว่าการเกิดกบฏเงี้ยว ครั้งนั้นล้วนเกิดจากการทำของเงี้ยวฝ่ายเดียว เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์มิได้มีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนเพราะถูกบังคับให้ทำจึงเป็นคราวเคราะห์ของเจ้าหลวงที่ต้องถูกกล่าวหาเป็นกบฏ แล้วต้องพลัดบ้านพลัดเมือง ดังความว่า
“... เจ้าหลวงพิริยาเทพวงศ์ มิได้ทรยศต่อบ้านเมืองขององค์ท่านแต่ประการใด แต่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเดิมจนไปทิวงคตในถิ่นอื่นนั้น เป็นคราวเคราะห์กรรมขององค์ท่านเอง ที่ต้องถูกป้ายสีจนประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่า องค์ท่านทรยศต่อบ้านเมืองและประชาชนของท่านเอง..”8 และ “... เงี้ยวพอมันเข้าเมืองได้แล้ว ก็เข้าควบคุมเจ้าหลวง คือเจ้าผู้ครองนคร...ขอให้ลงนามร่วมขับไล่คนไทยให้ออกจากจังหวัดแพร่ เพราะพวกเงี้ยวมันเกลียดคนไทย ...เจ้านครไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะอาวุธอะไรก็ไม่มีที่จะไปสู้รบกับมัน ทั้งหมดไปอยู่ที่ข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณ...ก็จำยอมลงนามเข้าร่วมไปก่อน”9
จะเห็นว่าการอธิบายลักษณะนี้ทั้งหมดจะบอกว่าทำด้วยความจำใจเพราะถูกบังคับหรือเลยไปถึงเรื่องเคราะห์กรรมเพื่อบอกว่าเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ คือ ‘ผู้บริสุทธิ์’ และไม่ได้เป็นกบฏดังที่กล่าวหากันและนำสู่ฐานะของ “เจ้าหลวงผู้น่าสงสาร” หรือ “ผู้อาภัพ” ที่ต้องพลัดบ้านพลัดเมือง การกระทำทั้งหมดเป็นของเงี้ยวที่เป็น “คนอื่น” คำอธิบายชุดนี้กำลังได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและถือว่าเป็นชุดคำอธิบายหลักของฝ่ายที่ต้องการแก้ต่างให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์และนำสู่การให้ภาพของเมืองแพร่ใหม่เพื่อตอบโจทย์ “ความเป็นกบฏ” ข้างต้น
กบฏเงี้ยวใหม่ภายใต้โจทย์ที่เสนอไว้ข้างต้นนำสู่การรับรู้ฐานะเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ใหม่จาก “กบฏ” มาเป็น “ผู้จงรักภักดี” นำมาสู่การให้ภาพของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ใหม่ ในฐานะ “เจ้าหลวงผู้เสียสละ” “เจ้าหลวงผู้มีความคิดกว้างไกลในด้านการพัฒนา” หรือ “เจ้าหลวงผู้อาภัพ” จนนำมาสู่การสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเจ้าหลวงพิริเทพวงศ์หลายแห่งต่างกรรมต่างวาระกัน ดังความที่ว่า
“...สำนึกถึงบุญุคุณของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ที่ได้ทำประโยชน์แก่เมืองแพร่ ทั้งในด้านการปกครอง การศึกษา และการศาสนาเป็นอย่างดียิ่ง ...”10
การสร้างภาพให้ท่านเป็นนักการศึกษาตั้งแต่เริ่มเรียนอักษรไทยและท้ายสุดเป็นผู้สร้างโรงเรียนเทพวงศ์ หรือโรงเรียนพิริยาลัยในเวลาต่อมา รวมถึงการสถาปนาให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เป็น “บิดาแห่งพิริยาลัย” เป็นผู้มีคุณูปการในการวางรากฐานการศึกษา และเป็นที่มาของการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าพิริยเทพวงศ์ผู้ก่อตั้งไว้ในโรงเรียนพิริยาลัยเพื่อเป็นการรำลึกถึงบุญคุณของท่าน11 “...ในวัยหนุ่มท่านได้เคยเล่าเรียนหนังสือไทย (ภาษากลางที่กรุงเทพฯ กล่าวกันว่าเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายในวังมาก...”12 และ “ท่านเป็นผู้เห็นความสำคัญของการศึกษาอย่างยิ่ง...ทำให้ท่านเกิดความคิดอยากวางรากฐานความเจริญสู่ลูกหลานจากแพร่บ้าง จึงจัดตั้ง “โรงเรียนเทพวงษ์”13 ท่านเป็นนักพัฒนาความเจริญและผู้ที่มีความทันสมัยโดยการสร้างคุ้มแบบตะวันตกเพื่อต้อนรับแขกบ้านแขก โดย “...เจ้าหลวงได้ดำริให้สร้างคุ้มหลวงขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นสถานที่ต้อนรับแขกเมืองและเป็นที่พำนักอาศัย...”14
ในเวลาต่อมาได้มีการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ไว้หน้าจวนผู้ว่าราชการ และในโรงเรียนพิริยาลัย ในฐานะวีรบุรุษท้องถิ่น ที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ชาติ ภายใต้กระประวัติศาสตร์ “ท้องถิ่นชาตินิยม” รวมถึงการสถาปนาให้เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์เป็นบิดาแห่งพิริยาลัย15 โดยโรงเรียนพิริยาลัยมีชื่อเดิมว่าโรงเรียนเทพวงษ์ตั้งขึ้นในราวปี
พ.ศ. 2443-2444 แล้วมีการเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนพิริยาลัยในี พ.ศ. 2457 โดยได้รับพระราชทานชื่อโรงเรียนจากรัชกาลที่ 616 พิริยาลัยมีที่มาจากชื่อเจ้าหลวงเมืองแพร่ผู้ก่อตั้งโรงเรียน และเป็นเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ที่ก่อการกบฏ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ความกังวลในเรื่องกบฏแบ่งแยกดินแดนไม่เป็นปัญหาในรัชสมัยของพระองค์ แต่ปัญหาใหญ่ในรัชสมัยของพระองค์ คือ กบฏในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่นหลังจากขึ้นครองราชย์(ปี พ.ศ. 2453) ได้ไม่นานเกิดกบฏ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) รวมถึงความขัดแย้งในระหว่างพระองค์และกลุ่มเจ้านายต่างหากที่เป็นปัญหาใหญ่17 การเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเทพวงษ์เป็นโรงเรียนพิริยาลัยจึงไม่เป็นปัญหาในช่วงรัชกาลของพระองค์ ชื่อ “พิริยาลัย” จึงเป็นการตอกย้ำและสร้างความหมายใหม่ต่อเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่เพื่อลดทอนความบาดหมางระหว่างคนเมืองแพร่กับส่วนกลาง
‘พิริยะเทพวงศ์อวตาร’แสดงให้เห็นอิทธิพลของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่ต้องทำความดีภายใต้พระมหากษัตริย์และผู้นำ
ความทรงจำใหม่นี้เป็นการสร้างตาม ‘ความเชื่อ’ และสำนึกของคนท้องถิ่น โดยนำเอาความคิดของปัจจุบันไปตีความอดีต และสร้างภาพแทนความจริง ซึ่งอาจจริงหรือไม่จริงก็ได้ และไม่มองบริบทของการกระทำนั้นเพื่ออะไร เช่น กรณีการสร้างคุ้มในสมัยนั้น ถ้ามองอย่างมีบริบทก็ต้องบอกว่าเป็นความพยายามสร้างความแตกต่างเพื่อบ่งบอกสิทธิและอำนาจที่สูงกว่าราษฎร หาใช่แสดงความทันสมัยก้าวหน้าอย่างคนปัจจุบันคิดไม่ ซึ่งในช่วงเวลานั้นเจ้าเมืองในเมืองอื่น ๆ ก็มีการสร้างเช่นเดียวกัน เช่น เมืองน่าน หรือว่าการสร้างโรงเรียนก็เพื่อประโยชน์ของตัวเจ้าหลวงเอง เพื่อสร้างความดีความชอบต่อทางราชการ ที่ส่งเสริมให้มีการขยายการศึกษาในขณะนั้น ท่านจะคิดเรื่องลูกหลานข้างหน้าหรือไม่เพียงใดก็ไม่ปรากฏหลักฐาน
ให้รับรู้ได้
อย่างไรก็ตาม ‘พิริยะเทพวงศ์อวตาร’ แสดงให้เห็นอิทธิพลของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่ต้องทำความดีภายใต้พระมหากษัตริย์ และผู้นำ คือ ผู้ผลักวิถีประวัติศาสตร์ แสดงให้ถึงความคิดความเห็นของคนกลุ่มต่าง ๆ ภายในสังคมที่เข้ามามีบทบาทต่อการสร้างหรือเปลี่ยนความหมายของเหตุการณ์หนึ่งๆ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ สถานภาพ และอำนาจของคน ‘ปัจจุบัน’
อย่างไรก็ดีวาทกรรมความเป็น “ไทย” ที่ได้ทำให้คนที่ไม่ใช่ไทยเป็น “อื่น” ภายใต้แนวคิด “ชาตินิยม” รวมถึงแนวคิด “วีรบุรุษ” “มหาบุรุษ” ก็เป็นแนวคิดประวัติศาสตร์ชาติกระแสหลักที่ทรงพลัง18 แสดงให้เห็นว่าแม้คนในท้องถิ่นจะพยายามสร้างโครงเรื่องประวัติศาสตร์เพื่อจัดตำแหน่งแห่งที่ของการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ใหม่เช่นไร แต่โครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติ(นิยม) กระแสหลัก ก็สามารถครอบงำการรับรู้ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นได้มากกว่า
การสร้างการรับรู้ใหม่ (กบฏเงี้ยว) ของคนในเมืองแพร่จึงสามารถสร้างการรับรู้ได้เฉพาะภายในท้องถิ่น เพื่อจัดตำแหน่งแห่งที่ของคนในท้องถิ่นเท่านั้น แต่ในวงกว้างการสร้างการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ในโครงเรื่องต่างๆ ยังถือว่าประสบความสำเร็จน้อย ยกเว้นโครงเรื่องประวัติศาสตร์แบบท้องถิ่นชาตินิยมที่จะส่งผลต่อการรับรู้ได้มากกว่าประวัติศาสตร์แบบอื่น เพราะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยมสามารถตอบสนองการรับรู้ภายใต้ประวัติศาสตร์ชาติ ซึ่งครอบงำความคิดของคนอย่างลึกซึ้งอยู่แล้ว (ดูเพิ่มใน ประวัติศาสตร์—การสร้างประวัติศาสตร์ชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม ท้องถิ่นชาตินิยม และ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม: พินิจกรณีกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ (พ.ศ.2445))
ภาพที่ 2 ‘อวตาร’ เจ้าหลวงพิริยเทพวงษ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่
(ที่มา:http://www.oknation.net/blog/print.php?id=153715)
การสร้างและการรับรู้ประวัติศาสตร์กลุ่มคนที่เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสำคัญ คือ คนที่มีการศึกษา และมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกสูง เพราะคนเหล่านี้มักประสบพบเจอกับชุดคำถามถึงอดีตความเป็นมา “ว่าตนเอง คือ ใคร มีตำแหน่งแห่งที่อย่างไรในประวัติศาสตร์” แต่ประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ถูกรับรู้ในฐานะประวัติศาสตร์ของ “กบฏ” จึงทำให้เกิดวิกฤต “อัตลักษณ์” ที่ไม่สามารถให้ความหมายต่อความเป็น “กบฏ” ได้ จึงนำมาสู่การสร้างโครงเรื่องประวัติศาสตร์ที่หลากหลายเพื่อจัดตำแหน่งแห่งที่ใหม่ในหน้าประวัติศาสตร์การสร้างและการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่ภายใต้บริบทที่แปรเปลี่ยนทำให้การรับรู้ต่อเมืองแพร่มีสถานะที่หลากหลาย เมืองแพร่มิได้อยู่ในฐานะเมืองที่หยุดนิ่งแต่ในทางตรงกันข้ามประวัติศาสตร์เมืองแพร่กลับมีพลวัต ทำให้หมุดหมายของการรับรู้ประวัติศาสตร์เมืองแพร่มีการปักถอนอยู่ตลอดเวลาภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป
นอกจากนี้การที่เมืองแพร่มีตราประทับของความเป็นเมือง “กบฏ” จึงนำมาสู่การสร้างความทรงจำใหม่ในฐานะ “กบฏผู้ภักดี” “กบฏวีรบุรุษ” “เจ้าหลวงผู้อาภัพ” ล้วนเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของเหตุการณ์ในครั้งนี้ใหม่ ภายใต้บริบทที่เอื้ออำนวยภายหลังทศวรรษที่ 2540 จากคนหลากหลายกลุ่ม ภายใต้โครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติ(นิยม)กระแสหลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนิยม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาตินิยม จนมาสู่การรับรู้ของคนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งตรงกัน และขัดแย้ง ทำให้ประวัติศาสตร์ หรือการรับรู้ต่อประวัติศาสตร์เมืองแพร่ไม่มีประวัติศาสตร์โครงเรื่องใดเป็นโครงเรื่องหลัก อันนำมาสู่การมี “ตำแหน่งแห่งที่” ของคนกลุ่มต่าง ๆ ในเมืองแพร่อย่างหลากหลาย
เชิงอรรถ
1 ดูเพิ่มใน, สายชล สัตยานุรักษ์. สมเด็จฯกรมดำรงราชานุภาพ การสร้างอัตลักษณ์ “เมืองไทย” และ “ชั้น” ของชาวสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546. และ สายชล สัตยานุรักษ์. ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง “ชาติไทย” “ความเป็นไทย” โดย หลวงวิจิตรวาทการ. กรุงเทพฯ : มติชน,2545.
2 นิธิ เอียวศรีวงศ์. สงครามอนุสาวรีย์กับรัฐไทย. ในชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์ ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐ และรูปการจิตสำนึก. กรุงเทพฯ : มติชน. 2547. หน้า 83.
3 มาลินี คุ้มสุภา. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกับความหมายที่มองไม่เห็น. กรุงเทพฯ : วิภาษา. 2548, หน้า 23-33.
4 ดูเพิ่มใน, นิธิ เอียวศรีวงศ์. สงครามอนุสาวรีย์กับรัฐไทย, หน้า 81- 112.
5 กลุ่มลูกหลานเมืองแพร่. สาวความเรื่องเมืองแพร่, หน้า 73-74.
6 เรื่องเดียวกัน, หน้า 74.
7 เรื่องเดียวกัน, หน้า 71-72.
8 เจ้าน้อยอินทวงศ์ วราราช . ข้าพเจ้าเห็นพกาหม่องบุกเมืองแพร่. ใน ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าไข่มุก วงค์บุรี ประชาศรัยสรเดช ณ ฌาปนสถานประตูมาร.
9 พระธรรมรัตนากร. เรื่องเมืองแพร่. ในที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าไข่มุก วงค์บุรี ประชาศรัยสรเดช.
10 อนุสรณ์เจ้าพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายผู้ครองเมืองของแพร่ . หน้า 3.
11 สมาคมศิษย์เก่าพิริยาลัยจังหวัดแพร่. เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์บิดาแห่งพิริยาลัย, หน้า 20-22.
12 เรื่องเดียวกัน, หน้า 22.
13 เรื่องเดียวกัน, หน้า 23.
14 เรื่องเดียวกัน, หน้า 24.
15 โปรดดู, สมาคมศิษย์เก่าพิริยาลัยจังหวัดแพร่, เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์บิดาแห่งพิริยาลัย.
16 เรื่องเดียวกัน.
17 โปรดดู, ราม วชิราวุธ. (นามแฝง), ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545.
18 ดูเพิ่มใน, สายชล สัตยานุรักษ์. คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม “ความเป็นไทย” เล่ม 1, 2. กรุงเทพฯ : มติชน 2550.
ผู้เขียน
ชัยพงษ์ สำเนียง
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
กราฟฟิก
ชนาธิป ทองจันทร์
เจ้าหน้าที่ประสานงานวิชาการ
ป้ายกำกับ กบฏ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เมืองแพร่ ชัยพงษ์ สำเนียง