จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง: พระราชนิพนธ์เลอค่าในกรมสมเด็จพระเทพฯ
นวพรรณ ภัทรมูล
นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ภาพจากหนังสือ รัตนูปถัมภิกา ศิลปากร: 92 ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร 27 มีนาคม 2546
(กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2546), หน้า 95-101.
มีผลงานวิชาการด้านจารึกจำนวนไม่มากนักที่ได้รับการอ้างอิงถึงเสมือนหนึ่งเป็นตำราหลักๆ ที่ผู้ศึกษาด้านจารึกทุกคนจะต้องอ่าน ต้องทำความเข้าใจ และใช้ในการศึกษาเชื่อมโยงต่อไปในทางอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และหรือสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลงานวิชาการด้านจารึกดังกล่าวนั้น นอกจากจะประกอบไปด้วยข้อมูลจากการสำรวจ อันได้แก่ ที่ตั้ง ประวัติความเป็นมา และรายละเอียดทางกายภาพของจารึกแต่ละหลักแล้ว ส่วนสำคัญที่พึงมีคือ คำอ่าน-แปล ของจารึกนั้นๆ อาจจะเป็นการอ่านครั้งแรก การอ่านซ้ำและแก้ไข และแม้กระทั่งการอ่านและวิเคราะห์ใหม่ แต่เป็นอันทราบกันทั่วไปในบรรดาผู้ศึกษาจารึกว่า การอ่านจารึกที่พบใหม่เป็นครั้งแรกนั้น มีความยากเป็นที่สุด ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและผ่านการอ่านจารึกจำนวนมากๆ มาแล้วเท่านั้นจึงจะอ่านได้
วิทยานิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง (2521) นับเป็นหนึ่งในผลงานวิชาการด้านจารึกที่ประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระที่สำคัญครบถ้วน คือมีทั้งข้อมูลเบื้องต้น ประวัติ รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับจารึก และคำอ่าน-แปลจารึก ซึ่งทรงอ่านและแปลด้วยพระองค์เอง ทรงถ่ายถอดคำอ่านจารึกด้วยอักษรโรมัน และมีอักษรไทยประกอบ ทรงให้เหตุผลว่า การถ่ายถอดคำอ่านจารึกด้วยอักษรโรมันนั้นจะต้องใช้เครื่องหมายจำพวกจุดใต้อักษรน้อยกว่าอักษรไทย ซึ่งอาจจะทำให้พิมพ์ผิดได้น้อยลง ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าการพิมพ์ผิดนั้นเป็นปัญหาที่พบบ่อยในการเผยแพร่ผลงานเกี่ยวกับจารึก อันเนื่องมาจากเนื้อความมักจะประกอบไปด้วยสัญลักษณ์พิเศษมากมาย ยากแก่การเข้าใจ
จุดมุ่งหมายและที่มาของวิทยานิพนธ์เรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง”
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกล่าวถึงวิทยานิพนธ์เรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” นี้ไว้ในคำนำว่า พระองค์มีความสนพระทัยที่จะศึกษาจารึกปราสาทพนมรุ้ง ตั้งแต่ทรงศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2519 ซึ่งในระยะนั้น พระองค์ได้เริ่มอ่านและแปลจารึกภาษาเขมรและสันสกฤตบางส่วนแล้ว โดยมีผู้สอนคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุไรศรี วรศะริน (ขนะนั้นเป็นข้าราชการสังกัดกรมศิลปากร) โดยจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนเป็นบทความตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการในเบื้องต้น
ต่อมา เมื่อพระองค์ได้เข้าศึกษาในระดับบัณฑิตวิทยาลัย สาขาจารึกภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ประทานคำแนะนำให้ปรับปรุงข้อเขียนเกี่ยวกับจารึกปราสาทพนมรุ้งนั้น โดยเพิ่มเติมข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลป์เข้าไปด้วยเพื่อจะได้นำมาวิเคราะห์ประกอบกัน อันจะทำให้ผลจากงานศึกษาชิ้นนี้เป็นประโยชน์สมบูรณ์มากขึ้น และเมื่อได้ลงมือสำรวจและศึกษาทั้งด้านจารึกและประวัติศาสตร์ศิลป์อย่างจริงจังแล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นว่า ในการศึกษาด้านจารึกและประวัติศาสตร์ศิลป์นั้น จำเป็นต้องใช้เทคนิคเฉพาะของแต่ละสาขาวิชาอย่างลึกซึ้ง และไม่อาจจะทำการศึกษาให้สำเร็จลงได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด ในวิทยานิพนธ์เล่มนี้จึงจำกัดขอบเขตลงโดยการเลือกศึกษาเฉพาะด้านจารึก แต่มีข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ประกอบพอสังเขป เพื่อสร้างความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของปราสาทแห่งนี้
ภาพโดยชัยวัฒน์ อหันทริก
จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง
ในวิทยานิพนธ์จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม โดยใช้ภาษาในจารึกเป็นเกณฑ์ ได้แก่ (1) จารึกภาษาเขมร และ (2) จารึกภาษาสันสกฤต ดังรายละเอียดต่อไปนี้
(1) จารึกภาษาเขมร ที่พบในครั้งนั้น มีจำนวน 6 ชิ้น1 ได้แก่ จารึกหมายเลข K.1066, K.1067, K.1068, K.1071, K.1072, และ K.1091 โดยในส่วนของภาคผนวก มีการนำจารึก K.1090 ซึ่ง นายพูน เลื่อยคลัง ราษฎรหมู่บ้านยายแย้ม ได้นำมามอบให้กรมศิลปากรมาศึกษารวมกับจารึกหลักอื่นๆ ในวิทยานิพนธ์เล่มนี้ด้วย เนื่องจาก นายพูน เลือยคลัง ได้ยืนยันว่าพบจารึกดังกล่าวที่ปราสาทพนมรุ้งจริง
จารึกที่พบนี้ล้วนมีสภาพชำรุด แตกหัก ไม่สมบูรณ์ อายุเฉลี่ยคือประมาณ พุทธศตวรรษที่ 16-17 เนื้อความส่วนใหญ่กล่าวถึงพิธีกัลปนา หรือการทำบุญโดยอุทิศทรัพย์ สิ่งของ หรือแม้แต่ข้าทาสให้แก่เทวสถาน โดยในจารึกเหล่านี้มีข้อความที่กล่าวถึง การถวายที่ดิน รังวัดที่ดิน ถวายทาส และแม้กระทั่งการแลกทาสหรือสัตว์เลี้ยงกับที่ดิน เพื่อที่จะนำที่ดินนั้นถวายต่อเทพหรือเทวสถานต่อไป ตอนท้ายมีการสาปแช่งผู้ที่ไปเบียดเบียนทรัพย์หรือที่ดินที่มีผู้บริจาคแก่เทวสถานแล้วนั้น
จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 4 ด้าน 2 ( Stele de Phnom Rung (K. 1068) อักษรขอมโบราณ พุทธศตวรรษ 16 จารึกศิลาประเภทหินทราย ลักษณะหลักสี่เหลี่ยม ขนาดวัตถุ กว้าง 31 ซม. สูง 64 ซม. หนา 7.5 ซม.ปัจจุบันอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (ข้อมูลเดิมว่า อำเภอนางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์เนื้อหาโดยสังเขป ด้านที่ 1 กล่าวถึง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้ซื้อที่ดิน ทาส และสิ่งของเพื่อถวายแด่พระกัมรเตงชคตพนมรุ้ง (เทวสถาน) ด้านที่ 2 เป็นรายการสิ่งของที่ถวาย และรายชื่อทาสที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในเทวสถาน
(2) จารึกภาษาสันสกฤต พบจำนวน 3 ชิ้น คือ K.1069, K.1092, K.384 จารึก 2 ชิ้นแรกจะเป็นชิ้นเล็กๆ สภาพชำรุด อ่านไม่ได้ใจความ ส่วนชิ้นที่ 3 หรือ K.384 นั้นค่อนข้างสมบูรณ์ เมื่ออ่านไประยะหนึ่งแล้วพบว่าเนื้อหาจารึกนั้นซ้ำกับจารึกที่ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เคยอ่าน-แปลไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอ่านและแปลจารึกหลักนี้อีกครั้ง และพบว่ามีบางจุดที่ไม่ตรงกับคำอ่าน-แปล ของศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ ซึ่งพระองค์ได้เขียนหมายเหตุเปรียบเทียบแนบไว้โดยละเอียด
เนื่องจากจารึกภาษาสันสกฤต 2 ชิ้นแรก ชำรุดและจับใจความไม่ได้ จึงขอสรุปเนื้อหาจารึกชิ้นที่ 3 โดยย่อ ดังนี้ ตอนต้นกล่าวถึงพระเจ้าสูรยวรมันที่ 2 ได้รับการสรรเสริญถึงการกระทำอันกล้าหาญและพระปรีชาของพระองค์ในด้านปรัชญา ตอนท้ายกล่าวถึงราชสกุลวงศ์ของพระองค์
จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 9 อักษร ขอมโบราณ พุทธศตวรรษ 18 ภาษาสันสกฤต จำนวนด้าน 4 ด้าน มี 101 บรรทัด วัตถุจารึกเป็นศิลา ประเภทหินชนวน สีเทา พบที่ปราสาทหินพนมรุ้ง ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (ข้อมูลเดิมว่า อำเภอนางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์ ปัจจุบันอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ (ข้อมูลเดิมว่า อำเภอนางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์ จารึกหลักนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง ศิลาจารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาตะวันออก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2521 เนื้อหาโดยสังเขป ด้านที่ 1 กล่าวสรรเสริญพระครูนเรนทราทิตย์ ด้านที่ 2 กล่าวสรรเสริญหิรัณยะ ผู้สร้างและประพันธ์กาพย์ในศิลาจารึกหลักนี้ ด้านที่ 3 และด้านที่ 4 กล่าวสรรเสริญพระศิวะ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับความสนพระทัยในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
จากการศึกษาพระราชประวัติในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเห็นว่าพระองค์ทรงสนพระทัยในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ กล่าวคือ ในการศึกษาระดับปริญญาตรี พระองค์ทรงเลือกศึกษาสาขาวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในลำดับต่อมา พระองค์ทรงเลือกศึกษาสาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออกเป็นวิชาเอก ในการศึกษาระดับปริญญาโท ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร อีกทั้งทรงเลือกที่จะทรงพระราชนิพนธ์วิทยานิพนธ์เรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” ซึ่งเป็นงานวิทยานิพนธ์ที่สำคัญและทรงคุณค่า มีประโยชน์ยิ่งต่อการศึกษาค้นคว้าทั้งในเรื่องจารึกและอักขรวิทยา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อันเนื่องมาจากพระนิพนธ์และสิ่งที่ทรงสนพระทัย
ไม่เฉพาะแต่ในตำราเท่านั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีความสนพระทัยที่จะพระราชดำเนินไปศึกษายังโบราณสถานต่างๆ ทั้งยังให้ความสนพระทัยในเรื่องของการอนุรักษ์โบราณสถานในรูปแบบอื่นๆ และบางครั้งแม้ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมสถาบันที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็ยังทรงสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ทางด้านโบราณคดีอีกด้วย ดังกรณีตัวอย่าง เช่น ใน พ.ศ. 2542 พระองค์ได้เสด็จฯ ทรงเปิดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และได้พระราชทานพระราชดำริว่า ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ควรจะเป็นแหล่งรวบรวมสำเนาจารึกในประเทศไทยซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 400 รายการ เพื่อเป็นแหล่งการศึกษาค้นคว้า แต่ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่จัดแสดงจึงไม่สามารถนำเสนอและจัดเก็บข้อมูลของจารึกต่างๆ ได้อย่างละเอียดครบถ้วน และจากแนวพระราชดำริดังกล่าว ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้พิจารณาเห็นว่านอกจากการบันทึกข้อมูลในรูปเอกสารและสื่อสิ่งพิมพ์แล้ว เทคโนโลยีการบันทึกและการนำเสนอข้อมูลด้วยระบบดิจิตอล ณ ขณะเวลานั้น ก็มีความก้าวหน้าไปไม่น้อย จึงน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับการบันทึก และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับจารึกอย่างครอบคลุม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จึงได้พัฒนา “ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย” ขึ้น และได้นำข้อมูลเรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทหินพนมรุ้ง” บรรจุลงฐานข้อมูลก่อนเผยแพร่ต่อไปเพื่อประโยชน์สูงสุดในวงวิชาการ
ผู้อ่านสามารถเข้าชมข้อมูลจารึกปราสาทหินพนมรุ้งและจารึกที่เกี่ยวข้องได้ที่ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย https://db.sac.or.th/inscriptions/
อ่านจารึกปราสาทหินพนมรุ้งที่นี่
อ้างอิง
กรกฏ บุญลพ, “ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ฉบับ on-line,” จดหมายข่าวศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) 8, 43 (เมษายน-พฤษภาคม 2549) : 6-7.
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี , จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง (กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2521), 4-140.
สมิทธิ ศิริภัทร์, “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กับการอนุรักษ์ทางด้านโบราณคดี,” ใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กับการอนุรักษ์มรดกไทย (กรุงเทพฯ : ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, 2532), 103-107.
สิริกุล วิริยารมภ์, “พระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีต่องานโบราณคดี,” ใน รัตนูปถัมภิกา ศิลปากร : 92 ปีแห่งการสถาปนากรมศิลปากร 27 มีนาคม 2546 (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2546), 95-101.
1 ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย เล่ม 3, หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร และ ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เรียกจารึกเหล่าว่า จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 5, จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 2, จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 4, จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 6 (ชิ้นที่ 3 และ 4), จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 6 (ชิ้นที่ 1) และจารึกปราสาทหินพนมรุ้ง 6 (ชิ้นที่ 2) ตามลำดับ
ผู้เขียน
นวพรรณ ภัทรมูล
นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)