การเมืองของความตายในสังคมร่วมสมัย
ดังที่ทราบกันว่า ความตายอาจเป็นจุดสิ้นสุดของมนุษย์คนหนึ่ง แต่ความตายก็ยังสามารถถูกผู้คนที่มีชีวิตอยู่ นำมาใช้ประโยชน์เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้เช่นกัน ผู้เขียนเคยกล่าวถึงในบทความชิ้นหนึ่งว่าความตาย มีอำนาจทุนเข้ามากำกับ เพื่อทำให้เรื่องราวของความตายสามารถเผยแพร่ได้ในพื้นที่สาธารณะ1 อย่างไรก็ตาม ความตายไม่ได้มีเพียงเรื่องของอำนาจทุน แต่ความตายในอีกหลายกรณี ยังเกี่ยวพันกับความเป็นการเมือง (Politic) อยู่ด้วย เช่น ความตายของทหารในสงคราม ก็มักถูกรัฐยกย่องว่าเป็นการตายเยี่ยงวีรบุรุษ เพราะเป็นการยอมสละชีวิตส่วนตัวเพื่อแผ่นดินมาตุภูมิ ความตายของทหารเหล่านี้ ถูกเล่าวนไปวนมา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมีการจัดงานรำลึกทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ชาตินิยมของรัฐนั่นเอง
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดขึ้น ในบทความชิ้นนี้ จึงจะศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างความตายและการเมืองซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นประจำในสังคมต่าง ๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าความตายและการเมือง ไม่ใช่สิ่งที่สามารถแยกขาดออกจากกันได้เสมอไป
ศพและการเป็นร่างอธิปไตยของชาติ
ในบทความเรื่อง Bodies of Lenin: The Hidden Science of Communist Sovereignty (2015) ของ Alexei Yurchak ได้อธิบายว่า ร่างของผู้เสียชีวิตสามารถถูกยกขึ้นมาเพื่อเชื่อมโยงกับความเป็นอธิปไตยของชาติได้เสมอ การเชื่อมโยงเข้ากับความเป็นอธิปไตยของชาตินั้น ก็เพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของผู้ยกขึ้นมาเอง โดยเฉพาะผู้มีอำนาจรัฐซึ่งต้องการความชอบธรรมในการปกครองประเทศ และเพื่อให้ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง จึงย่อมมีการตกแต่งเรื่องราวของผู้เสียชีวิตให้เป็นไปตามทิศทางที่ผู้นำเสนอต้องการด้วย นอกจากนั้น วิทยาศาสตร์ ศาสนา ทุน ก็เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งนำมาใช้สร้างความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงร่างคนตายเข้ากับความเป็นอธิปไตยของชาติ
ข้อเสนอของ Yurchak อาจไม่ใช่สิ่งที่น่าประหลาดใจ เพราะการนำร่างของผู้เสียชีวิตมาเชื่อมโยงเข้ากับภูมิกายาของชาติ เกิดขึ้นมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ การนำร่างของกษัตริย์มาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว เป็นกรณีหนึ่งซึ่งเห็นได้ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากในประเทศไทยซึ่งยังคงยึดถือแนวคิดเรื่องสังคมอินทรียภาพแบบพุทธ (Buddhist Organicism Society) ว่า หากเปรียบแผ่นดินเป็นร่างกายของมนุษย์ กษัตริย์ก็เปรียบเสมือนหัวใจซึ่งไม่สามารถขาดไปได้ ดังนั้น แม้ตัวกษัตริย์จะสวรรคต แต่ความเป็นกษัตริย์ของแผ่นดินย่อมไม่สามารถสวรรคตได้ บัลลังก์ของกษัตริย์จะต้องมีคนสืบทอดต่อในทันที และช่วงบริเวณที่ตั้งของพระเมรุมาศนั้น ก็มีการจัดงานมหรสพใหญ่เพื่อไม่ให้เกิดบรรยากาศแห่งความรู้สึกสูญเสีย นอกจากกรณีของไทยแล้ว Ernst H. Kantorowicz ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงกรณีคล้าย ๆ กันนี้ของกษัตริย์ในยุโรปสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า เนื่องจากกษัตริย์ถูกยกให้เป็นผู้ปกครองที่มีความสมบูรณ์แบบในทุกด้าน ร่างกายของพระองค์จึงมีความพิเศษกว่ามนุษย์ทั่วไป แม้พระองค์จะสวรรคตไปแล้ว แต่ความเป็นกษัตริย์ของพระองค์จะยังคงยึดโยงกับผืนแผ่นดินซึ่งพระองค์เคยปกครองเช่นเดิม สิ่งนี้อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องความเชื่อทางศาสนามากกว่า แต่ความเชื่อเช่นนี้ก็สามารถประสานเข้ากับรัฐสมัยใหม่ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ (Kantorowicz, 1957, pp.4-5) ทั้งนี้ Kantorowicz ได้ยกกรณีการทำหุ่นจำลอง (Effigy) ของกษัตริย์ฟรานซิสที่ 1 แห่งฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ.1547 การทำหุ่นจำลองดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากกษัตริย์ฟรานซิสสวรรคต โดยหุ่นจำลองของกษัตริย์ฟรานซิสถูกนำมาตั้งไว้บนบัลลังก์ จากนั้นจึงให้เหล่าข้าราชบริพารจัดงานเลี้ยงรื่นเริง เพื่อให้ดูเสมือนว่าพระองค์ยังทรงมีชีวิตอยู่จนกว่าพิธีศพจะเสร็จสิ้น อันที่จริง ยังมีกษัตริย์อีกหลายพระองค์ในยุโรปซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติคล้ายกันนี้ด้วย (Kantorowicz, 1957, p.425-426)[2]
ปฏิบัติการทำให้คนตายกลายเป็นร่างอธิปไตยของชาติ ไม่ได้มีเพียงกษัตริย์ เพราะแม้กระทั่งบุคคลทั่วไปก็สามารถถูกทำให้เป็นเช่นนั้นได้ โดย Yurchak ได้ยกกรณีศพของวลาดิมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ในประเทศรัสเซีย กล่าวคือ ร่างไร้วิญญาณของเลนินถูกนำมาตั้งแสดง ณ สุสานเลนิน จัตุรัสแดง เพื่อให้ผู้คนมาทำความรู้จักกับบุคคลสำคัญของชาติ ซึ่งนำพารัสเซียไปสู่ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมแทนที่ระบอบกษัตริย์ แต่ความน่าสนใจในการจัดแสดงก็คือ รัฐบาลพยายามจะทำให้ร่างของเลนินอยู่ในสภาพที่มีความสดใหม่อยู่ตลอดเวลา ทั้งที่ในความเป็นจริง ร่างของเลนินผุผังไปตามสภาพธรรมชาติแล้ว อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ได้ถูกผ่าออกไปเกือบหมด องค์ประกอบร่างกายของเขาจริง ๆ เหลือเพียง 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นสารของเหลวที่ฉีดเข้าไปเพื่อให้ผิวหนังของเขายังดูเต่งตึง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลรัสเซียยังคงต้องเก็บร่างของ เลนินในสภาพสดใหม่ไว้ต่อไปนั้น Yurchak ได้อธิบายว่า สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการทำให้ร่างของเลนินในฐานะบุคคลสำคัญของชาติ ถูกผนวกเข้ากับความเป็นอธิปไตยของรัสเซีย เพื่อให้เลนินกลายมาเป็นแหล่งอ้างอิงอำนาจของรัฐบาลทุกรุ่น รัฐบาลเชื่อว่าการจัดแสดงร่างของเลนินจะเป็นการปลูกฝังให้ชาวรัสเซียเกิดความรู้สึกผูกพันกับผู้ซึ่งเปรียบเสมือนวีรบุรุษของชาติ และจะนำไปสู่ความรู้สึกรักและหวงแหนแผ่นดินรัสเซีย ตลอดจนการสนับสนุนอำนาจของรัฐบาล วัตถุประสงค์ดังกล่าวของรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะสอดคล้องกับการถือกำเนิดของลัทธิเชิดชูเลนิน (Leninism) ซึ่งกลุ่มผู้มีอำนาจรัฐสร้างขึ้นมาด้วย กล่าวคือ การถือกำเนิดของลัทธิเชิดชูเลนินนั้น เริ่มปรากฏขึ้นหลังจากที่เลนินป่วยจนเป็นอัมพาต กลุ่มผู้มีอำนาจรัฐพยายามกีดกันเลนินไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับโลกของการเมือง โดยสิ่งที่กลุ่มผู้มีอำนาจรัฐได้ทำต่อไปก็คือ การเขียนและเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของเลนิน แต่จะมีการปรับปรุงเรื่องราวเสียใหม่ เพื่อให้เรื่องราวของเลนินสามารถเชื่อมโยงได้กับความเป็นรัฐแบบสังคมนิยมของรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลให้การสถาปนาอำนาจนำทางการเมืองของกลุ่มการเมืองต่าง ๆ มีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ร่างอันไร้วิญญาณของเลนิน จะยังคงมีประโยชน์ในทางการเมืองต่อรัฐบาลรัสเซีย
ร่างของเลนิน รูปภาพจาก https://news.berkeley.edu/2015/05/20/lenins-body/
Yurchak ยังได้อธิบายอีกว่า วิทยาศาสตร์ ศาสนา และทุน ก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นไปได้ในการทำให้ศพเชื่อมโยงเข้ากับร่างของอธิปไตย ในกรณีของทุน มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากไปกับการรักษาศพและการจัดแสดงอยู่แล้ว ในสมัยที่สหภาพโซเวียตยังดำรงอยู่นั้น รัฐบาลรัสเซียว่าจ้างนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และช่างเทคนิค เป็นจำนวนถึง 200-300 คน ให้เข้ารับภารกิจในการรักษาร่างของเลนินให้มีความสดใหม่อยู่เสมอ ห้องทดลองดองศพถูกปิดลับไม่ให้สังคมภายนอกรู้เห็น ขณะที่ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ก็มีความสำคัญในด้านของการรักษาสภาพศพ นักวิทยาศาสตร์หลายคนมีความเครียดเมื่อต้องพบว่าร่างของเลนินมีความเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพธรรมชาติตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องหาวิธีต่าง ๆ ในการดองศพซ้ำ ๆ เป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ สำหรับเรื่องศาสนานั้น อาจถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลด้านจิตวิญญาณเพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดแสดงศพก็ได้ ในกรณีของเลนินนั้น รัฐบาลรัสเซียนำร่างของเขามาเปรียบเทียบกับร่างของนักบุญ (Saint) ในศาสนาคริสต์ออร์โธดอกซ์แห่งรัสเซีย ถ้าศาสนานี้ สามารถนำร่างนักบุญมาแสดงในพื้นที่สาธารณะตามโบสถ์ได้ เลนินในฐานะผู้ที่มีคุณูปการต่อชาติ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ไม่ถือว่าเป็นการทำลายขนบประเพณีของรัสเซีย ทั้งนี้ ในช่วงแรก ๆ ที่ร่างไร้วิญญาณของเลนินถูกจัดแสดงนั้น สมาชิกบางคนของรัฐบาล ก็แสดงความรู้สึกกังวลว่ารัฐบาลกำลังจะทำให้ตัวเลนินกลายมาเป็นวัตถุโบราณทางศาสนาหรือไม่ ซึ่งความกังวลของสมาชิกผู้นั้น ก็กลายมาเป็นความจริงในที่สุด
การทำให้พื้นที่คลุ้งคาวเลือดกลายเป็นพื้นที่แห่งความสะอาด
นอกจากการทำให้ศพเชื่อมโยงเข้ากับความเป็นอธิปไตยของชาติแล้ว ยังมีศพบางประเภทซึ่งรัฐมองว่าเป็นความตายที่ไม่พึงประสงค์ จึงจำเป็นต้องมีการชำระล้างพื้นที่ที่เกิดเหตุให้เกิดความสะอาด ปรากฏการณ์ดังกล่าวพบมากในช่วงหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองซึ่งรัฐบาลกระทำต่อประชาชน การที่รัฐบาลเร่งชำระล้างภาพความแปดเปื้อนนั้น ก็เพื่อหลบเลี่ยงข้อเท็จจริงบางประการซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลเอง
เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในประเทศจีนเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.1989 ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน เป็นกรณีตัวอย่างซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อสังเกตนี้ เหตุการณ์เทียนอันเหมิน 1989 เป็นเหตุการณ์ที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดสินใจนำกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการเมือง เหตุการณ์นี้จบลงด้วยชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก บางสื่อรายงานว่ามีจำนวนมากถึงหลักหมื่น รัฐบาลยังคงมีอำนาจทางการเมืองต่อไป และสิ่งที่รัฐบาลทำต่อมาก็คือการลบทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ รัฐบาลพยายามที่จะรักษาจัตุรัสเทียนอันเหมิน ให้ยังคงความเป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ เป็นพื้นที่ของพระราชวังโบราณ เป็นพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เป็นพื้นที่ที่ เหมา เจ๋อตง ผู้ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อของแผ่นดินจีนยุคใหม่ ได้เคยมายืนประกาศเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจีนให้เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นพื้นที่ของหอรำลึกประธานเหมา และเป็นพื้นที่ที่ทุกปีในวันชาติของจีน จะต้องมีการจัดงานสวนสนามของกองทัพ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ ค.ศ.1989 เป็นเพียงความวุ่นวายทางการเมืองเท่านั้น การพูดถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมิน 1989 จึงถือว่ามีความผิดและต้องได้รับโทษ ปฏิบัติการของรัฐบาลในการสลายภาพอันเลวร้าย ณ จัตุรัสเทียนอัน เหมิน ยังคงดำเนินต่อไปแม้กระทั่งปัจจุบัน (Human Rights Watch, 2009)
ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ในหนังสือเรื่อง The Funeral Casino: Meditation, Massacre, and Exchange with the Dead in Thailand (2002) ของ Allen Klima นั้น Klima ได้ยกกรณีการจัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 ณ ถนนราชดำเนิน อันเป็นสถานที่เกิดเหตุ ผู้เขียนบทความเคยกล่าวถึงเรื่องของอำนาจทุนซึ่งคอยกำกับการจัดงานรำลึกแล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ในงานรำลึกนี้สะท้อนให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันบนความตายระหว่างทุน ศาสนาพุทธ และการเมือง การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกันเช่นนี้ ส่งผลให้ภาพ วิดีโอ หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับความตายจากเหตุการณ์ความรุนแรง ทรงพลังอย่างยิ่ง เพราะทุนทำให้สังคมตามหาภาพความรุนแรงได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังสามารถผลิตซ้ำออกมาได้เรื่อย ๆ ถึงแม้รัฐจะพยายามเซ็นเซอร์ภาพที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม ขณะที่อิทธิพลความเชื่อของศาสนาพุทธ ส่งผลให้สังคมได้ตระหนักถึงเรื่องของกรรม (Kamma) ผู้เสียชีวิตถูกยกให้เป็นจิตวิญญาณของวีรชนเพื่อประชาธิปไตย และภาพความตายเหล่านี้ จะเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐหรือบุคคลซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครั้งนั้น ทั้งนี้ Benjamin Walter ได้เคยกล่าวไว้เช่นกันว่า เทคโนโลยีที่ทำให้ภาพเกิดการผลิตซ้ำ แม้จะก่อให้เกิดการสูญเสียกลิ่นไอความเป็นต้นฉบับ แต่เทคโนโลยีดังกล่าวยังมีข้อดีตรงที่สามารถทำให้ภาพเหล่านั้น เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นและง่ายขึ้น ทั้งยังใช้เป็นสื่อทางการเมืองได้ด้วย (Walter, 1969)
จะเห็นได้ว่า Klima อธิบายการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง โดยเชื่อมโยงกับเรื่องราวความตายที่เขาพบเห็นในระดับท้องถิ่นหรือในชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป ได้แก่ การปลงภาพอสุภะ ซึ่งเป็นการนำรูปภาพร่างของคนตายมาเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ในเรื่องความไม่เที่ยงของสังขาร, การพนันหลังงานศพ ซึ่งเป็นการเดิมพันผลประโยชน์ภายใต้ความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีสวดส่งวิญญาณ เป็นต้น การเชื่อมโยงในลักษณะนี้ อาจสะท้อนให้เห็นถึงการนำความตายมาทำให้เกิดคุณค่าบางอย่างในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบทความมีข้อคิดเห็นที่อาจแตกต่างออกไปว่าสิ่งดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป เพราะรัฐพยายามลบล้างภาพความตายในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองซึ่งพวกเขามีส่วนร่วมได้อยู่เสมอ ในปัจจุบัน กรณีของเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ.2535 ข้อเท็จจริงหลายประการที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ยังคงเป็นปริศนาหาคำตอบไม่ได้ (รวมไปถึงปริศนาที่ว่าทำไมศพจำนวนหนึ่งถึงหายไปจากถนนราชดำเนิน) นอกจากนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรง ก็ยังไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข่าวการเสียชีวิตของอดีตผู้นำรัฐบาลในเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนั้น สะท้อนให้เห็นว่าเขายังคงได้รับเกียรติจากชนชั้นนำและผู้มีอำนาจรัฐ มีการจัดงานรำลึกให้เหมาะสมตามสถานะของเขา (กรุงเทพธุรกิจ, 2568) ขณะที่งานรำลึกถึงเหล่าวีรชน กลายเป็นงานที่เน้นไปในเชิงพิธีกรรมทั่วไป เฉกเช่นเดียวกับงานรำลึกเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา
“บิ๊กคลีนนิ่งเดย์” (Big Cleaning Day) หรือวันทำความสะอาดใหญ่ เคยเป็นคำศัพท์ซึ่งสังคมไทยได้ยินและพูดถึงกันมากเมื่อ พ.ศ.2553 เพราะบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ในปีนั้น ก็คือวันที่ฝ่ายรัฐนัดรวมพลชาวกรุงเทพฯ มาช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่ที่เคยมีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) การชุมนุมในครั้งนั้น มีความยืดเยื้อและนำไปสู่การสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยคน ส่งผลให้พื้นที่เหล่านั้นเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง คราบเลือด และกระสุน จำนวนมาก ดังนั้น ภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จึงเปิดโครงการบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ขึ้นมา มีรายงานว่าจำนวนประชาชนที่มาเข้าร่วมงาน มีประมาณ 10,000 คน อย่างไรก็ตาม บิ๊กคลีนนิ่งเดย์สะท้อนให้เห็นว่า รัฐพยายามลบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง โดยการทำให้หลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง หายไปกับน้ำยาทำความสะอาด ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เน้นย้ำว่า โครงการบิ๊กคลีนนิ่งเดย์คือการฟื้นฟูภาพลักษณ์ความเป็นมหานครของกรุงเทพฯ ตลอดจนนำรอยยิ้มและความสงบสุขของสังคมไทยกลับคืนมาอีกครั้ง ทุกฝ่ายจะให้อภัยกันและเดินหน้าร่วมกันเพื่อพัฒนาประเทศชาติ สิ่งซึ่งผ่านมาแล้วก็ขอให้เป็นเรื่องของกฎหมายที่จะดำเนินการต่อไป การเน้นย้ำดังกล่าว ในแง่มุมหนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงการนำความคิดแบบศาสนาพุทธมาใช้ลบเลือนภาพของความรุนแรง ซึ่งก็คือการขอให้ไม่จองเวรพยาบาทต่อกันเพื่อนำไปสู่การดำรงชีวิตในภพภูมิที่ดี สิ่งใดที่ได้กระทำไปแล้ว ก็ขอให้เป็นไปตามการทำงานของกฎแห่งกรรม อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รัฐจะขอให้ทุกฝ่ายอภัยให้แก่กัน แต่รัฐก็ยังมีส่วนในการผลิตซ้ำวาทกรรมที่ว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ “เผาบ้านเผาเมือง” เพื่อชี้ให้เห็นว่า ความแปดเปื้อนครั้งนี้ มีที่มาจากผู้ชุมนุมเอง (Thairath Online, 2565)
แน่นอนว่า ย่อมมีผู้คนที่ตอบโต้บิ๊กคลีนนิ่งเดย์อยู่ด้วย จะเห็นได้ว่า ในทุกปีที่มีการรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อ พ.ศ.2553 ก็จะมีกลุ่มประชาชนจำนวนหนึ่ง เดินทางมาถึงพื้นที่ที่เกิดเหตุ เพื่อร่วมพิธีทำบุญ จุดเทียนไว้อาลัยต่อหน้ารูปของผู้เสียชีวิต ทำกิจกรรมแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย ตลอดจนเข้าร่วมฟังการบรรยายเรื่องทิศทางของการเมืองไทยในปัจจุบัน งานรำลึกเหล่านี้ เป็นการแสดงให้สังคมเห็นว่า ยังมีผู้คนที่ไม่ลืมเรื่องราวของเหตุการณ์ความรุนแรงนั้น และต้องการให้มีการสืบหาข้อเท็จจริงและการแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจ แต่ถึงที่สุดแล้ว งานรำลึกจะกลายเป็นเพียงเรื่องของพิธีกรรมเหมือนงานรำลึกเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่าน ๆ มาหรือไม่ ก็เป็นคำถามที่ต้องศึกษากันต่อไป เพราะกลุ่มการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรง ก็ยังคงบิดผันเรื่องราวของคนตายให้เป็นอื่น สังคมจึงยังไม่สามารถสืบหาข้อเท็จจริงเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้สูญเสียได้ และส่งผลให้ความตายเป็นเรื่องของการเมืองไปโดยปริยาย
ทิ้งท้าย
ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าคนตายตายแล้วไปไหน วิญญาณมีจริงหรือไม่ และคนที่ตายไปแล้วอยากกลับมาบอกอะไรแก่ผู้ที่ยังมีลมหายใจอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่คนตายก็ยังคงถูกนำมาใช้พูดแทนตัวแสดงทางการเมือง คนตายอาจเป็นวีรบุรุษของชาติ เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอธิปไตยของชาติ เป็นจิตวิญญาณแห่งความศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นสิ่งที่รัฐอยากจะลืมเลือนและบิดผันให้เป็นสิ่งอื่น ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าความตายในหลายกรณี มีส่วนเกี่ยวพันกับการเมือง และไม่ว่ามันจะถูกมองว่าเป็นปัญหาด้านจริยธรรมหรือไม่ แต่มันก็ได้กลายเป็นสิ่งซึ่งฝังรากลึกอยู่ในทุกสังคมไปแล้ว การศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองของความตาย จึงเป็นสิ่งที่สังคมควรหันกลับมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังมากขึ้น
บรรณานุกรม
กรุงเทพธุรกิจ. (2568). พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” อดีตนายกรัฐมนตรี. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1184421
Benjamin, W. (1969). The work of art in the age of mechanical reproduction, translated by Harrey Zohn. In Illuminations. Schocken Books.
Kantorowicz, Ernst H. (1957). The King’s Two Bodies: A Study in Mediaeval Political Theology. University Press.
Klima, Allen. (2002). The Funeral Casino: Meditation, Massacre, and Exchange with the Dead in Thailand. Princeton University Press.
Human Rights Watch. (2009). The Tiananmen Legacy: Ongoing Persecution and Censorship. Human Rights Watch. https://www.hrw.org/news/2009/05/13/tiananmen-legacy
Thairath Online. (2565). 12 ปี Big Cleaning Day ล้างความตายจากการสลายการชุมนุม ให้เหลือเพียงความทรงจำ. Thairath. https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/101551
Yurchak, A. (2015). Bodies of Lenin: The Hidden Science of Communist Sovereignty. Representation, 129, 116-157.
1 ดูบทความเรื่อง “ความตายและการกำกับของอำนาจทุนในสังคมไทย” ใน https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/702
2 ควรกล่าวด้วยว่า ในกรณีของประเทศไทย ก็มีการสร้างหุ่นจำลองของกษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้วเช่นกัน โดยประดิษฐานไว้เป็นการถาวร ณ ปราสาทพระเทพบิดร
ผู้เขียน
ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ การเมือง ความตาย สังคมร่วมสมัย ธนวัฒน์ รุ่งเรืองตันติสุข