ภูมินามวิทยา (toponymy): การเมืองของการตั้งชื่อสถานที่
ความคิดว่าด้วยการตั้งชื่อสถานที่ (place naming) เป็นกิจกรรมทางสังคมที่มนุษย์ใช้ในการระบุหรือสร้างความรับรู้ร่วมกันเกี่ยวกับโลก ดินแดน หรือเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ การตั้งชื่อสถานที่สามารถเกิดขึ้นตามข้อตกลงทางสังคม ขณะเดียวกันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในทางโครงสร้างสังคม ชื่อเหล่านั้นก็อาจถูกเปลี่ยนใหม่ได้ (Randall, 2001) ชื่อถือว่าเป็นเครื่องมือของกระบวนการที่ถูกสร้างหรือทำใหม่ได้เสมอ และการสร้างใหม่แต่ละครั้งก็มีแนวโน้มที่เกิดขึ้นบนความสัมพันธ์ทางอำนาจของผู้ตั้งชื่อ บริบทที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนชื่อ รวมถึงนัยความหมายของชื่อที่มีต่อสถานที่ ทำให้การศึกษาเรื่องนี้ต้องประยุกต์ความรู้ทางนิรุกติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม และภูมิศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าภูมินามวิทยา (toponymy) ของชื่อสถานที่ทั้งในระดับความหมาย สัญศาสตร์ ความขัดแย้ง และชุดอุดมการณ์ที่แฝงฝังอยู่ในชื่อ
การตั้งชื่อตามแนวภูมินามวิทยา
Frederic Giraut และ Myriam Houssay-Holzschuh (2022) พัฒนาแนวทางการศึกษาภูมินามวิทยาภายใต้ฐานคิดที่เชื่อว่าการตั้งชื่อสะท้อนให้เห็นถึงปฏิบัติการการควบคุมอำนาจเหนือพื้นที่ (control operation of territorialization) โดยประยุกต์ใช้แนวคิดกลไกการจัดระเบียบความสัมพันธ์ทางอำนาจ (dispositif) ของ Michel Foucault ผสมผสานกับการวิเคราะห์การวางระเบียบกฏเกณฑ์ทางสังคม เครื่องมือ และกลยุทธ์ที่ผู้กระทำการใช้ในการตั้งชื่อ โดยแบ่งกรอบการวิเคราะห์เป็นหลักสามประการ ได้แก่ ประการแรกบริบทเชิงภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitical contexts) ของสถานที่ที่มีการตั้งชื่อ ซึ่งโดยมากมาจากอิทธิพลการเข้าครอบครองดินแดนของจักรวรรดินิยม อาณานิคม หรือหน่วยทางสังคมเชิงสถาบันอื่น ประการที่สองการใช้เทคโนโลยีการตั้งชื่อ (technologies) ผ่านกระบวนการจัดการ เช่น การลบทิ้งหรือชำระใหม่ โดยมีเป้าหมายหรือแรงจูงใจทางการเมืองเป็นแรงผลักดัน และประการที่สามผู้กระทำการที่มีอำนาจในการจัดการ (actors) เช่น องค์กรรัฐหรือภาคเอกชน(Giraut and Houssay-Holzschuh, 2016) ดังแผนภาพต่อไปนี้
(ข้อมูลจาก: Giraut and Houssay-Holzschulch, 2016: หน้า 8)
ความเข้าใจต่อกระบวนการนี้ต้องวิเคราะห์เชื่อมโยงกับเงื่อนไขของพื้นที่พร้อมกับมองให้เห็นถึงกลไกการทำงานของหน่วยงานหรือองค์กรระดับสถาบัน ส่งผลให้ด้านหนึ่งระบบการตั้งชื่อสถานที่อาจมีรูปแบบคล้ายกันแต่ในเชิงกระบวนการมีความแตกต่างกันไปตามปัจจัยด้านสถานที่ทางภูมิศาสตร์ โครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรม ระเบียบกฏเกณฑ์ทางการเมืองในแต่ละประเทศ หรือเปลี่ยนแปลงไปตามระดับสถานการณ์สังคม (Giraut and Houssay-Holzschuh, 2022) ภูมินามวิทยาจึงเป็นเรื่องของชื่อในสถานพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง (Boillat, 2022) และเป็นรูปแบบของการตั้งชื่อในเชิงกระบวนการที่สัมพันธ์โดยตรงกับการสร้างอุดมการณ์ความรับรู้ภายใต้การใช้เครื่องมือภาษาเพื่อการช่วงชิงการจารึกชื่อโดยกลุ่มผู้กระทำการที่มักมีความสัมพันธ์ทางอำนาจแนวดิ่ง
ปฏิบัติการตั้งชื่อ (naming) ว่าด้วยการสถาปนาและการต่อรอง
ในระดับปฏิบัติการ การสวมทับชื่อแก่สถานที่ เช่น แลนด์มาร์ค ป้ายบอกทาง เส้นทาง และแผนที่ โดยเจ้าอาณานิคมหรือแม้แต่องค์กรเชิงสถาบันการเมืองภายในเองเชื่อมโยงโดยตรงกับการใช้อำนาจเพื่ออ้างสิทธิการตั้งชื่ออันเป็นผลจากการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของผู้ตั้งชื่อในอีกระนาบ มิติของการตั้งชื่อจึงสัมพันธ์กับประเด็นการสถาปนาอำนาจเหนือดินแดน (territorialization) ที่มักตามมาด้วยความตึงเครียดทางสังคมเสมอ ด้วยเหตุนี้แม้จะมีการกำหนดชื่อและรูปแบบการใช้สอยพื้นที่อย่างเป็นระบบ เช่น การตั้งชื่อพื้นที่ความเชื่อเพื่อแยกชนชั้นของผู้คนตามพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่ทางโลก หรือการตั้งชื่อพื้นที่การใช้ทรัพยากรเพื่อเอื้อให้คนบางกลุ่มมีสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งเป็นฐานคิดการจำแนกชื่อเพื่อกำหนดความสัมพันธ์ของผู้คนที่มีต่อสถานที่อีกทอด (Giraut and Houssay-Holzschuh, 2022) แต่ในทางปฏิบัติ แนวทางนี้ได้ก่อให้เกิดการแบ่งลำดับชั้นและการกีดกันผู้คน ถึงขั้นกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนหรือต่อสถาบันที่รายล้อมอยู่ในกระบวนการดังกล่าว
-ภูมินามวิทยาของอาณานิคมและคนท้องถิ่น
การใช้อำนาจทางการเมืองถือสิทธิการตั้งชื่อสถานที่ปรากฏในเหตุการณ์การยึดครองดินแดนโดยเจ้าอาณานิคมตะวันตก การตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อสถานที่ใหม่สะท้อนเป้าหมายทางการเมืองในการสวมทับหรือปรับเปลี่ยนอำนาจทางสังคมจากผู้ปกครองเดิม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการนับตั้งแต่การควบคุมประชากร การจัดระเบียบสังคมเดิม พร้อมกับการถ่ายทอดอุดมการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมชุดใหม่ (Giraut, 2022) ในทางตรงกันข้าม การศึกษาตั้งชื่อสถานที่ของคนกลุ่มน้อย (indigenous place naming) การใช้ชื่อดั้งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของการใช้มรดกทางวัฒนธรรมสร้างความทรงจำร่วมเพื่อเป้าหมายการส่งผ่านความรู้ท้องถิ่นและตอบโต้กับวาทกรรมหรืออุดมการณ์กระแสหลัก เช่น ในกรณีของการตั้งชื่อสถานที่เพื่อการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองในการจัดการทรัพยากร (political ecology of toponymy) ของชาวเมืองโคคาบัมบา (Cochabamba) ในประเทศโบลิเวีย (Bolivia) พวกเขาเรียกพื้นที่ปลายน้ำที่ใช้ทำการเกษตรว่า Colon แทนที่จะใช้ชื่อ Pintu Mayu ซึ่งเป็นชื่อที่เจ้าอาณานิคมตั้งไว้ การเลือกใช้ชื่อท้องถิ่น (microtoponymy) สะท้อนความยึดโยงต่อประวัติศาสตร์ชุมชน และเป็นการยืนยันถึงความสำคัญของขบวนการความเคลื่อนไหวทางสังคมของสหพันธ์การเกษตรที่ต่อสู้เรื่องการปฏิรูปเกษตรกรรมในช่วงปีค.ศ. 1953 การยืนยันการใช้ชื่อ Colon คืออ้างความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์และการถือสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่คนท้องถิ่นควรมีส่วนร่วม (Boillat, 2022)
-ภูมินามวิทยาในพื้นที่เมือง
ประเด็นหนึ่งที่งานศึกษาภูมินามวิทยาให้ความสนใจคือการศึกษาชื่อสถานที่ในเมือง ซึ่งเป็นการต่อยอดสู่การศึกษาชื่อไม่เป็นทางการ (informal name) ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอย่างรวดเร็ว Melissa Wanjiru (2022) เสนอว่าการใช้ชื่อไม่เป็นทางการ(ชื่อที่ไม่ได้ถูกรับรองโดยหน่วยงานภาครัฐ)ของสถานที่ในเมืองด้านหนึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านชื่อต่อสภาพความเป็นอยู่ในเมือง
การตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการของชุมชนบางแห่งในเมืองเป็นการล้อเลียน เสียดสี ตลอดจนสะท้อนปัญหาการปกครองและการพัฒนาเมืองอย่างไม่เท่าเทียมที่ชุมชนบางแห่งได้รับผลกระทบ เช่น การใช้ชื่อ Soweto ของชุมชนแออัดในเมืองหลวงไนโรบี (Nairobi) ประเทศเคนยา (Kenya) คำว่าว่า Soweto ซึ่งย่อมาจาก South Western Township ชื่อเมืองที่คนผิวสีนิยมใช้ในแอฟริกาใต้ การตั้งชื่อชุมชนแออัดในแบบดังกล่าวใกล้โบสถ์และสถานีตำรวจในชื่อเดียวกันด้านหนึ่งเป็นล้อเลียนการใช้ชื่อจากคนที่มีสถานะทางสังคมต่ำเพื่อบอกเล่าความไม่เท่าเทียมของผู้อยู่อาศัย ในขณะเดียวกันมันก็สะท้อนแรงปรารถนาของชุมชนในการเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นเมืองคนผิวสีดำ หรือกรณีในชุมชนแออัด Mathare ในเคนยา ถนนบางเส้นถูกตั้งชื่อว่า Mau Mau เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงขบวนการ Mau Mau ที่ต่อสู้กับรัฐบาลอาณานิคมอังกฤษในเคนยา และเป็นการแสวงหาพื้นที่ทางสังคมของชุมชนสลัมเพื่อการเป็นส่วนหนึ่งในฐานะชุมชนชาติ (ดู Wanjiru, 2022)
ในแง่นี้ เห็นได้ว่าชื่อสถานที่ (place name) ไม่เพียงแต่มีความสำคัญในด้านความหมายหรือการบอกเล่าอัตลักษณ์ของผู้คนในพื้นที่ หากพิจารณาในระดับกระบวนการ การตั้งชื่อสถานที่มักจะเกี่ยวกับความเป็นการเมืองในสถานที่นั้นเสมอ ผู้ตั้งชื่อใช้ชื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุม ต่อรองช่วงชิงความหมาย กระทั่งตอบโต้กับสถานการณ์บางอย่างที่กำลังเผชิญ กระบวนการตั้งชื่อยังฉายให้เห็นสถานการณ์จริงของปัญหาสังคม นับตั้งแต่การเมืองยุคอาณานิคม ความเป็นชาติ หรือความเป็นเมืองสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็สะท้อนความมุ่งหวัง ความปรารถนา ตลอดจนชีวิตประจำวันของผู้คน ผู้ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับภูมินามดังกล่าว
รายการอ้างอิง
Boillat, S. (2022). The Named, Lived and Contested Environment: Towards a Political Ecology of Toponymy. In The Politics of Place Naming Naming the World. edited by Giraut, F. and Houssay-Holzschuch, M. 47-60. London : ISTE Ltd.
Giraut, F. (2022). Naming the Conquered Territories: Colonies and Empires – Beneath and Beyond the Exonym/Endonym Opposition . In The Politics of Place Naming Naming the World. edited by Giraut, F. and Houssay-Holzschuch, M.65-87. London : ISTE Ltd.
Giraut, F. and Houssay-Holzschuch, M. (2016). Place naming as dispositif: Toward a theoretical framework. Geopolitics, 21(1), 1–21.
Giraut, F. and Houssay-Holzschuch, M. (2022). Naming the World: Place-Naming Practices and Issues in Neotoponymy. In The Politics of Place Naming Naming the World. edited by Giraut, F. and Houssay-Holzschuch, M.1-18. London : ISTE Ltd.
Randall, R. (2001). Place Names How They Define the World -and More. London: The Scarecow Press.
Wanjiru, M. (2022). The Toponymy of Informal Settlements in the Global South. In The Politics of Place Naming Naming the World. edited by Giraut, F. and Houssay-Holzschuch, M. 175-187. London : ISTE Ltd.
ผู้เขียน
วิมล โคตรทุมมี
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ภูมินามวิทยา toponymy การเมือง การตั้งชื่อ สถานที่ วิมล โคตรทุมมี