ภายใต้ผ้าคลุมหน้ากับความรู้สึกที่ถูกปกปิด

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 2122

ภายใต้ผ้าคลุมหน้ากับความรู้สึกที่ถูกปกปิด

1. เกริ่นนำ

           หนังสือเรื่อง Veiled Sentiments: Honor and Poetry in a Bedouin Society ของ Lila Abu-Lughod1 เป็นการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าเบดูอิน Awlad 'Ali ในอียิปต์ ใกล้ทะเลทรายฝั่งตะวันตกติดชายแดน ลิเบีย Lila Abu-Lughod ได้ทำงานภาคสนามระหว่างปี ค.ศ.1978 ถึง 1980 โดยอาศัยอยู่กับครอบครัวในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวของอาลี ในการศึกษาของเธอเป็นการศึกษาแบบชาติพันธุ์วรรณนา ที่นักมานุษยวิทยามักจะใช้เข้าไปศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ

           หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่น คือ การทำภาคสนามอย่างยาวนาน และเข้าไปใช้ชีวิตในกลุ่มที่ศึกษาเพื่อสะท้อนเสียงของ “คนใน” ที่ “คนนอก” มักมองอย่างเคลือบแฝง และไม่เข้าใจ ทั้งยังได้ชี้ให้เห็นว่าภายใต้ผ้าคลุมหน้า ที่ทำให้มนุษย์ “ไม่มีตัวตน” หรือ “ไม่มีความรู้สึก” “ต่อต้าน/ขัดขืน” แต่แท้จริงแล้วพวกเธอได้ปฏิบัติการผ่านสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ที่คนนอกไม่อาจเข้าใจ แต่ Lila Abu-Lughod ได้สะท้อนเสียงของพวกเธอผ่านงานชิ้นนี้

           ในที่นี้อาจกล่าวได้ว่าผ้าคลุมหน้ามิได้ปิดบังความรู้สึกของพวกเธอเท่านั้น แต่ผ้าคลุมหน้าได้ทำให้พวกเธอไม่มีตัวตนไปด้วยภายใต้ระบบปิตาธิปไตยที่ผู้ชายเป็นใหญ่ แต่งานของ Lila Abu-Lughod ได้ทำให้พวกเธอมีตัวตนขึ้นมา และเชื่อมโยงความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมของ เบดูอินสู่โลกกว้าง

           นอกจากนี้งานชิ้นนี้ยังมีจุดแข็ง ที่ให้เสียงของคนในหรือตัวละครได้ถ่ายทอดออกมาอย่างเต็มที่ โดยนักวิจัยเป็นแต่เพียงผู้สะท้อนเสียงของเขาเหล่านั้น

           Lila Abu-Lughod ได้นำเราไปโลกของเบดูอิน ผ่านเรื่องเล่าและกวี หรือ ghinnawa ที่เป็นเครื่องมือของหญิงชาวเบดูอินใช้แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึก มีตั้งแต่ถ้อยคำสั้น ๆ หรือบทกวียาว ๆ แต่บทกวีนั้นจะรับรู้ได้เฉพาะกลุ่ม คนที่มีความใกล้ชิด เพื่อน หรือคนที่มีชะตากรรมคล้ายกันเท่านั้นถึงจะเข้าใจ

           อีกทั้ง ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ของคนเบดูอินในมิติที่ซับซ้อนขึ้น และเห็นคนที่คิดว่าด้อยอำนาจในที่นี้คือผู้หญิง แต่เธอก็มิได้ “ไร้ตัวตน” เหมือนผ้าคลุมที่คุมเธอไว้ แต่เธอมี “พื้นที่” และมี ตัวตนภายใต้บทกวี ที่ทำให้เข้าใจตัวตน และความรู้สึกของผู้หญิงภายใต้ระบบที่ชายเป็นใหญ่
 

รูปที่ 1 ปกหนังสือ Veiled Sentiments: Honor and Poetry in a Bedouin Society


           นอกจากนี้ยังได้นำพาเราไปสู่โลกอื่นที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมเขาหรือเธอจึงต้องทำหรือไม่ทำ แม้ผ้าคลุมหน้าที่ผู้หญิงหรือคนอื่นมองว่าเป็นการกดขี่ แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นเครื่องหมายของเกียรติยศ ตัวตน และอัตลักษณ์ที่ซับซ้อนภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่าง มันไม่เพียงปิดบัง/ซ่อนเร้น แต่ในทางตรงกันข้ามมันได้สะท้อนตัวตนของผู้หญิงเบดูอิน ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้ถ้าเราไม่ได้ไปอยู่ในโลกของเขาเหล่านนั้น งานชิ้นนี้จึงทำให้เราเข้าใจคนอื่นที่ต่างจากเรา และเราก็อาจต่างจากเขาโดยที่เราไม่ตระหนักรู้เลย


2. ผู้หญิงกรงขัง แม่/เมีย

           Veiled Sentiments เป็นงานชาติพันธุ์วรรณนาที่เข้าไปศึกษาโลกของผู้หญิงมุสลิม-อาหรับที่ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ โดยเข้าไปอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นเวลานาน และศึกษาความสัมพันธ์ความเป็นหญิง/ชายของคนในชุมชนผ่าน โดยเผ่าเบดูอิน Awlad 'Ali นั้นให้ความสำคัญกับการควบคุมผู้หญิงอย่างเคร่งครัด ซึ่งความเป็นผู้หญิงจะแสดงออกผ่านความเป็นแม่ ความเป็นเมีย อยู่ภายใต้การคุมครองดูแลจากผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัว พ่อ พี่ชาย ผู้หญิงเมื่อแต่งงานไปแล้วจะต้องเข้าไปอาศัยอยู่ในครอบครัวของผู้ชาย พวกเธอต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่ไม่คุ้นเคยและอยู่ภายใต้การบงการของสามี พ่อ/แม่สามี ไม่สามารถต่อต้านขัดขืนได้ แม้แต่ลูกตาเมื่อแม่สามีต้องการเธอก็สามารถให้ได้ เพื่อแสดงความเป็นหญิงที่ดี

           ผู้หญิงที่ดีต้องสามารถมีลูกชายเพื่อสืบต่อวงตระกูลให้แก่สามี เพราะลูกชายจะเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูลต่อไป ถ้าไม่มีลูกชายให้สามีก็อาจถูกทอดทิ้ง หรือถ้ามีลูกผู้หญิง ลูกผู้หญิงก็ไม่มีค่าอาจถูกฆ่าหรือถูกทิ้ง ผู้หญิงที่ดีต้องทำตามคำสั่งของสามีและคนในครอบครัว

           ส่วนผู้ชายจะมีบทบาทเป็นผู้นำ ความสำคัญจะส่งผ่านการรักษาเกียรติ และความอ่อนน้อมถ่อมตน (ideology of honor and modesty) โดยการสืบสายตระกูลจะสืบเชื้อสายทางฝ่ายพ่อ (agnation) เกียรติของผู้ชายจะธำรงอยู่ได้ก็ต้องอยู่ภายใต้กลุ่ม หรือตระกูล ผู้ชายที่ดีจะต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างอารี สามารถรักษาเกียรติของพวกพ้องไว้ได้ ถ้าไม่สามารถรักษาสัมพันธ์ช่วยเหลือพวกพ้องได้ ก็ไม่อาจเป็นผู้ชายที่ดีได้ ส่วนผู้ชายที่ดีในฐานะปัจเจกก็ต้องกล้าหาญ เอื้ออารี มีอิสระ และมีศีลธรรม (41-59)

           ฉะนั้น ในเรื่องนี้ผู้ชายจึงต้องเป็นผู้แบกแอกของครอบครัว วงศ์ตระกูล เป็นผู้รับผิดชอบต่อความล่มสลาย หรือความรุ่งเรืองของตระกูล อันเป็นที่มาของอำนาจที่ควบคุมผู้หญิง ที่เป็นแต่เพียงคนในบ้านที่มีความดีเพียงแค่เกิดลูกชายเท่านั้น

           ทำให้ความสัมพันธ์แบบปิตาธิปไตย เป็นเครื่องมือในการควบคุมผู้หญิงให้อยู่ในอาณัติของผู้ชายผ่านเรื่องเล่า เพื่อสร้างอุดมการณ์ของชายเป็นใหญ่ เช่น เรื่องควักลูกตาให้แม่สามี เป็นต้น

           ความสัมพันธ์ในระบบปิตาธิปไตย เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สร้างตำแหน่งแห่งที่ของสมาชิกในครอบครัว ตระกูล ชนเผ่า และสังคม เราจะเห็นบทบาทของคนในระบบนั้น ๆ หรือที่ Lila Abu-Lughod ใช้คำว่า blood concept เห็นความสูงต่ำ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคน พ่อ/ลูก แม่/เมีย พี่/น้อง หรือพูดได้ว่าความสัมพันธ์ในเผ่าเบดูอินแบบเครือญาติในการจัดลำดับความสัมพันธ์ของคน


3. การต่อต้านในชีวิตประจำวันผ่าน ghinnawa

           Lila Abu-Lughod ใช้บทกวีเพื่อให้เห็นความรู้สึก ความจริง คุณค่าสามารถ แสดงผ่านสัญลักษณ์บทกวี ghinnawa จึงเป็นการแสดงออกของความรูสึกของบุคคล เพื่อเป็นตัวแทนของตนเองโดยเชื่อมโยงกับคุณธรรม ความสัมพันธ์และความสัมพันธ์เชิงอำนาจในความหมายกว้างผ่านบทกวีเหล่านี้ อีกทั้งยังเป็นการเมืองของวาทกรรม ความเชื่อมั่น อุดมการณ์ เชื่อมต่อกับประสบการณ์ของมนุษย์ที่ถูกกดขี่ (34-36)

           นอกจากนี้ ghinnawa แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมิได้เป็นแต่เพียงผู้สยบยอมภายใต้อำนาจชายเป็นใหญ่ แต่ภายใต้อำนาจย่อมมีการต่อต้าน โดยร่องรอยของการต่อสู้ต่อรองของผู้หญิงให้เห็นอยู่เช่นกัน โดย Lila Abu-Lughod ก็แสดงให้เห็นว่ามีการต่อต้านขัดขืนอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้หญิงผ่านเรื่องเล่า กวี เพื่อเป็นพื้นที่บอกเล่าถึงความรู้สึกส่วนตัวและประสบการณ์ชีวิตที่ขมขื่น เจ็บช้ำใจ ในความรักหรือชีวิตการแต่งงานของผู้หญิงเพราะในความเป็นจริงผู้หญิงเองก็พยายามต่อสู้ต่อรองกับโครงสร้างสังคมแบบปิตาธิปไตยดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา ผ่านปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน การตีความกฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความหมาย สร้างคุณค่าให้กับตัวผู้หญิงเองและการใช้บทกลอน โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ของหญิงชาย แม้ว่าการต่อสู้ต่อรองของเธอมิได้ออกสู่สาธารณะ แต่ได้ปลดเปลื้องเธอออกจากความทุกข์นั้นชั่วคราวก็ตาม2

           ภายใต้พื้นที่ของผู้หญิง ghinnawa จะถูกเล่าในกลุ่มคนที่สนิทสนมกัน เรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องของชีวิตรักที่ไม่สมหวัง ไม่เป็นดังตั้งใจ ซึ่งการเข้าใจบทกวีนี้จะต้องเป็นกลุ่มที่รู้เรื่องราวของกันและกันเท่านั้น คนนอกจะไม่อาจเข้าใจบทกวีเหล่านี้ได้ เช่นการถูกทอดทิ้งจากสามี (172, 189) หรือการถูกบังคับให้แต่งงาน หรือสามีไม่รัก รักภรรยาคนอื่นมากกว่า3 (189, 217, 230) เป็นต้น

           ภายใต้ความเก็บกด ครั่งแค้น ทุกข์ระทมของผู้หญิงภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ กวีจึงเป็นเรื่องเล่า การต่อสู้ขัดขืนของคนไร้อำนาจ “ของผู้ถูกกระทำ” ในพื้นที่ของผู้หญิง ที่เป็นประสบการณ์เฉพาะกลุ่ม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภายใต้อำนาจของชายเป็นใหญ่ ก็มีพื้นที่อื่นที่ผู้หญิงใช้ต่อสู้ ต่อต้าน ขัดขืน อำนาจของผู้ชาย แสดงให้เห็นว่าอำนาจมิได้มีทางเดียว แต่อำนาจมีทุกพื้นที่ รวมถึงความเลื่อนไหลของอำนาจภายใต้เพศภาพ นำมาสู่ปฏิบัติการที่แตกต่างกันของหญิงและชาย และเปิดมุมมองต่อเพศสภาพของผู้หญิงภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ก็มิได้ถูกกดทับแต่เพียงฝ่ายเดียว


4. ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง

           แม้ Lila Abu-Lughod จะแสดงให้เห็นว่าท่ามกลางสังคมชายเป็นใหญ่ หญิงจะต่อสู้ขัดขืนในชีวิต เช่น การแต่ง ghinnawa เพื่อถ่ายทอดประสบการชีวิตให้กันและกันฟัง เพื่อปลดเปลื้องพันธนาการของความสัมพันธ์ของชายเป็นใหญ่ที่กดทับเขาอยู่ หรือไม่ก็หลบหนีการแต่งงาน ไปซุ่มซ่อนตามที่ต่าง ๆ แต่ไม่อาจหนีพ้น แม้จะแกล้งเป็นร่างทรงเพื่อไม่ให้ถูกบังคับให้แต่งงานโดยอาศัยอำนาจอื่นมาช่วยก็ตามที ซึ่งการต่อสู้เหล่านี้ทำให้ผู้หญิงเบดูอิน Awlad 'Ali สามารถหลุดพ้นพันธะทางสังคมได้เป็นรายบุคล ไม่สามารถเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างได้

           แต่กระนั้นงานชิ้นนี้ก็ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่ากวี ghinnawa หรือการต่อสู้ขัดขืนในชีวิตประจำวันของเธอได้นำพาเธอหลุดพ้นจากพันธนาการของสังคมชายเป็นใหญ่ หรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ของอำนาจ ที่ส่งผ่านระบบปิตาธิปไตย ที่เน้นสายเลือดของสามี แต่กระนั้น ยังสะท้อนให้เห็นว่าภายใต้การกดขี่ของผู้ชาย ผู้หญิงได้สร้างพื้นที่ของผู้หญิงเพื่อบอกเล่าความทุกข์ประสบการณ์ของกันและกัน

           ถ้าใครสนใจก็ศึกษาและหามาอ่านเพิ่มเติมนะครับ เพื่อเข้าใจมนุษย์ที่ทั้งเหมือน และต่างจากเรา แต่ล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน


เอกสารอ้างอิง

Abu-Lughod, Lila. Veiled sentiments: honor and poetry in a Bedouin society. Berkeley : University of California Press, 1988.

de Certeau, Michel. The Practice of Everyday Life Berkeley : University of California Press. Preface. 1984.


1  Abu-Lughod, Lila. Veiled sentiments : honor and poetry in a Bedouin society. Berkeley :University of California Press, 1988.

2  ดูข้อถกเถียงและแนวคิดการต่อสู้ในชีวิตประจำวันในงานของ de Certeau, Michel. The Practice of Everyday Life Berkeley : University of California Press. Preface. 1984.

3  ผู้ชายเบดูอินสามารถมีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคน ตามหลักศาสนาอิสลามที่มีได้ถึง 4 คนภายใต้การยินยอมของภรรยา


ผู้เขียน
ผศ.ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง
ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร


 

ป้ายกำกับ ชนเผ่าเบดูอิน Awlad 'Ali ผศ.ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา