ฉันเป็น “ชาติพันธุ์”: บทบาทเยาวชนชาติพันธุ์กับการสืบทอดวัฒนธรรม

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 2476

ฉันเป็น “ชาติพันธุ์”: บทบาทเยาวชนชาติพันธุ์กับการสืบทอดวัฒนธรรม

           วัฒนธรรม ถูกเชื่อมโยงกับความหมายของความเป็นของแท้ดั้งเดิมที่ต้องได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยผู้อาวุโสหรือผู้มีอำนาจของชุมชนและสังคม ทำให้เยาวชนถูกกีดกันออกจากการเป็นผู้ตัดสินใจหลักด้านวัฒนธรรมของตน แต่ปัจจุบันบทบาทด้านวัฒนธรรมของเยาวชนชาติพันธุ์เปลี่ยนแปลงไป เยาวชนมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนวัฒนธรรม โดยเฉพาะในกรณีของเยาวชนชาติพันธุ์ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ตน หรือมีบทบาทในฐานะตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อนำเสนอวัฒนธรรมของตนในระดับนานาชาติ แต่คำถามก็คือ บทบาทของเยาวชนชาติพันธุ์ได้รับการยอมรับจริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วเยาวชนชาติพันธุ์เป็นเพียงตัวแทนที่ต้องทำการสื่อสารวัฒนธรรมตามที่ผู้อาวุโสหรือผู้มีอำนาจกำหนด และคำถามที่สำคัญมากกว่านั้นก็คือ “วัฒนธรรม” ในความหมายของเยาวชนชาติพันธุ์มีความหมายเดียวกับสิ่งที่ผู้มีอำนาจทางวัฒนธรรมและสังคมชาติพันธุ์คาดหวังหรือไม่อย่างไร บทความนี้จึงนำเสนอบทบาทของเยาวชนในการส่งเสริมวัฒนธรรมของตนในรูปแบบใหม่ที่ไม่ยึดติดกับวิถีดั้งเดิมของความเป็นชาติพันธุ์


อคติและความไม่เท่าเทียมในสังคม: สิ่งที่เยาวชนชาติพันธุ์ต้องแบกรับ

           เรื่องราวของเยาวชนชาติพันธุ์ที่เรียนดีกิจกรรมเด่นแต่ขาดสิทธิด้านสัญชาติ เยาวชนที่ต้องสูญเสียทรัพยากรและที่ดินทำกิน หรือเยาวชนที่ถูกห้ามพูดภาษาแม่ของตนเอง เรื่องเหล่านี้อาจเป็นที่รับรู้กันแล้วในสื่อสังคม ประกอบกับรัฐไทยยังไม่ยอมรับสิทธิอันพึงมีของพวกเขา ทำให้เยาวชนชาติพันธุ์ยิ่งถูกผลักออกไปให้เป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องรอคอยการพัฒนาจากรัฐ นอกจากนี้ เยาวชนชาติพันธุ์ในยุคปัจจุบันต้องเผชิญกับวิกฤตอัตลักษณ์ (identity crisis) ท่ามกลางการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความไม่ลงรอยกันระหว่างจารีตประเพณีดั้งเดิมกับนวัตกรรมสมัยใหม่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว (Erikson 1968 as cited in Bucholtz 2002) ด้วยปัจจัยเหล่านี้ เยาวชนจึงมักถูกมองว่าขาดการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมรักษาวัฒนธรรมเดิมแท้ของตน และเป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับการถ่ายทอดวิถีปฏิบัติตามจารีตประเพณีเพื่อธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ดั้งเดิมของชุมชน

           เห็นได้ว่า การประกอบสร้างอัตลักษณ์ของเยาวชนชาติพันธุ์ในบริบทสังคมไทยไม่อาจแยกขาดจากความสัมพันธ์กับหน่วยต่าง ๆ ทางสังคม โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับรัฐชาติ เนื่องจากวัฒนธรรมของกลุ่มชนชายขอบมักถูกมองว่าด้อยกว่าชนศูนย์กลาง เป็นผลให้มีความพยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลงให้ชนชายขอบละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน ด้วยความเชื่อว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี 2546) ถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมเดี่ยวอันเป็นกรอบคิดที่เสริมสร้างความมั่นคงให้แก่รัฐชาติตามแบบชาตินิยม เช่นในอดีตที่ผ่านมามีการออกประกาศให้คนในชาติร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ใช้ภาษาไทย แต่งกายตามกำหนด ร้องเพลงชาติไทย และมีสำนึกความเป็นไทย (นภาพร อัศวะรังสีกุล 2562) ทำให้วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยถูกเบียดขับและกลืนกลายด้วยบริบทการสร้างรัฐชาติอยู่เสมอ

           ดร.ขวัญชีวัน  บัวแดง (ม.ป.ป.) ได้อธิบายเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า การศึกษาภาคบังคับที่จัดให้โดยรัฐนั้น มุ่งเน้นถ่ายทอดเพียงวัฒนธรรมของชาติไทยและสากล ทำให้ค่านิยมทางวัฒนธรรมของเยาวชนชาติพันธุ์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่การสืบทอดวัฒนธรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสมัครใจโดยคนในชุมชน นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว เยาวชนชาติพันธุ์ยังต้องแบกรับอคติในสังคมที่มองว่าตนเป็นคนล้าหลัง พูดไม่ชัด และตัดไม้ทำลายป่า จนอาจนำไปสู่การปกปิดชาติพันธุ์ของตนเอง เมื่อต้องเคลื่อนย้ายจากภูมิลำเนาเดิมมาสู่สังคมเมืองเพื่อทำงานหรือศึกษาต่อ (จุไรพร จิตพิทักษ์ 2553)

           แม้ในปัจจุบันสังคมจะให้ความสำคัญเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้นแล้ว ตลอดจนภาครัฐเองก็ผลักดันกฎหมายและนโยบายที่ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม เช่น แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566–2570) เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนในชาติให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ แต่หลายครั้ง ความหลากหลายดังกล่าว กลับกลายเป็นการผลิตซ้ำเพื่อประโยชน์ทางการท่องเที่ยวหรือการค้าขายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่แสดงออกถึงความสวยงามแบบผิวเผิน ดังนั้น แนวคิดพหุวัฒนธรรมดังกล่าวจึงเป็นเพียงวาทกรรมที่ยังคงปกปิดข้อเท็จจริงของความแตกต่าง อันเกิดจากความไม่เท่าเทียมของอำนาจต่อรอง ความรุนแรง และความยากจน (นภาพร อัศวะรังสีกุล 2562) ซ้ำร้าย อาจเป็นการแช่แข็งอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์เมื่อต้องนำเสนอสู่สาธารณชนอีกด้วย


“คลื่นลูกใหม่” ในฐานะผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง

           การสร้างอัตลักษณ์ให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์โดยรัฐชาตินั้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกวิพากษ์และตอบโต้จากเจ้าของอัตลักษณ์ได้ และยังถูกเจ้าของอัตลักษณ์นั้นตีความใหม่ ปฏิเสธ และเลือกสรรใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความหมายให้กลุ่มของตนอยู่เสมอ ซึ่งอาจทำผ่านการรื้อฟื้นและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้วัฒนธรรมดั้งเดิม (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี 2546) แนวโน้มดังกล่าวนี้ เริ่มเด่นชัดขึ้นตั้งแต่ราว ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา ดังปรากฏว่า เริ่มมีขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก รวมไปถึงการก่อตั้งองค์กรชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่จัดกิจกรรมอันนำไปสู่การสลัดภาพ จาก “ชาวเขา” มาสู่ “ชนเผ่าพื้นเมือง” ผ่านการนิยามตนเอง (self-determination) และการเรียกร้องสิทธิทางสังคมโดยคนรุ่นใหม่ในขณะนั้น (Leepreecha 2019) อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าเยาวชนชาติพันธุ์ไม่ได้ปฏิเสธทุนทางวัฒนธรรมเดิมของตน ในขณะเดียวกันก็พร้อมรับเอาสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบททางสังคมสมัยใหม่เพื่อสื่อสารความเป็นชาติพันธุ์ในรูปแบบของตัวเอง


ซู เยาวชนปกาเกอะญอ

“จะเห็นค่อนข้างชัดว่าเมื่อเราเข้าไปในชุมชน นักขับเคลื่อนชุมชนในรุ่นก่อน ๆ จะเล่าให้เราฟังว่าคนสมัยก่อนเขาต่อสู้กันยังไง ส่วนใหญ่จะเป็นการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิเป็นหลักเลย แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่การประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิแทบจะไม่มีให้เห็นเลย แต่จะเป็นการสร้างวีดิโอ การทำคอนเทนต์ต่าง ๆ ออกมาสื่อสารแทน”

           ซู เยาวชนปกาเกอะญอจากจังหวัดตาก ยอมรับว่าชุมชนของเธอตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนพื้นราบ ไม่ได้อยู่บนดอยสูงมากนัก ทำให้การคมนาคมจากชุมชนปกาเกอะญอแห่งนี้เข้าถึงชุมชนพื้นราบได้ง่าย ดังนั้น เธอจึงมีโอกาสเข้ามาศึกษาในตัวเมือง และเป็นสาเหตุให้เธอไม่ได้รับการสืบทอดความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนมากนัก อย่างไรก็ตาม เธอยังคงเห็นความสำคัญของการทำไร่หมุนเวียนในฐานะ “ทุนทางวัฒนธรรม” ที่เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารและเป็นแหล่งเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน ซูจึงริเริ่มที่จะเรียนรู้การทำบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนสมัยใหม่ผ่านกระแสความนิยมของคนในปัจจุบัน นอกจากนี้ ซูและเพื่อน ๆ เยาวชนยังได้จัดกิจกรรมเพื่อเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสื่อในการทำคอนเทนต์สั้นผ่านแอพลิเคชัน ให้กับเยาวชนในชุมชน เพื่อให้สามารถสื่อสารเรื่องราวของตนเองได้ เช่น การจัดการทรัพยากรหมู่บ้านและอื่น ๆ ดังนั้น การออกไปประท้วงเหมือนสมัยก่อนจึงไม่มีความจำเป็นในยุคสมัยนี้ ในทางกลับกัน สื่อออนไลน์เหล่านี้กลับเป็นกลวิธีสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมตามยุคสมัย และถือเป็น “ซอต์ฟพาวเวอร์” สำหรับซู ที่ทำให้คนภายนอกรับรู้ว่าคนในชุมชนปกาเกอะญอจังหวัดตากมีวิถีชีวิตอย่างไร

การนำเสนออาหารและผลิตภัณฑ์ชุมชนปกาเกอะญอผ่านการสตรีมมิ่ง ภาพโดย วรรนิภา หมวกเอี่ยม


อาบูกานต์ เยาวชนอ่าข่า

“สมัยคุณปู่คุณย่า เขาไม่มีเทคโนโลยีที่จะสื่อสารว่าวัฒนธรรมของตัวเองเป็นยังไงให้คนอื่นหรือคนต่างชาติเขาได้รู้ แต่ในปัจจุบัน มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อที่จะทำให้รู้ว่ามีประเพณีการโล้ชิงช้า พิธีขึ้นบ้านใหม่ งานแต่ง มีรายละเอียดเยอะมากเลยค่ะ”

           แม้จะกล่าวว่าตนไม่เคยมีส่วนร่วมในการเรียกร้องสิทธิให้กลุ่มชาติพันธุ์ดังที่ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านทำกันในอดีต แต่ อาบูกานต์ เยาวชนอ่าข่าจากจังหวัดเชียงราย อยากช่วยสืบสานและเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมอ่าข่าให้เป็นที่รู้จัก เธอเป็นอินฟลูเอนเซอร์บน TikTok ที่มีผู้ติดตามเกือบ 20,000 คน คลิปส่วนใหญ่เป็นการแสดงออกถึงความรักต่อคุณย่า นั่นก็เพราะอาบูกานต์ต้องจากชุมชนมาเรียนในเมือง จึงตั้งใจทำคลิปเป็นภาษาอ่าข่าเพื่อสื่อสารกับคนในครอบครัวและชุมชนให้เข้าใจเรื่องราวของเธอ อย่างไรก็ตาม เธอให้ความเห็นว่าเยาวชนรุ่นเดียวกันมักไม่ทราบรายละเอียดของพิธีกรรมและวัฒนธรรมต่าง ๆ กันแล้ว แต่เน้นไปที่การเข้าร่วมเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น เหตุนี้เอง อาบูกานต์จึงหวังว่าการทำคลิปวีดิโอโดยเน้นใช้ภาษาอ่าข่าและการเผยแพร่เรื่องราวของวัฒนธรรมอ่าข่าลงบนโลกออนไลน์ จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการใช้ “สื่อใหม่” (new media) เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตนไว้และส่งเสริมให้อัตลักษณ์นี้เป็นที่รู้จักกันได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

การนำเสนอประเพณีการโล้ชิงช้าของชาติพันธุ์อ่าข่าบน “สื่อใหม่” ภาพโดย ผู้เขียน, caption จาก TikTok ของอาบูกานต์ มาเด


อาปิ เยาวชนอ่าข่า

“แม้นาน ๆ ทีจะกลับไปชุมชน หนูก็อยากจะอัปโหลดภาพ สื่อสาร และกระจายให้คนนอกมากกว่าแค่กระจายในชุมชนแบบที่ผู้ใหญ่ทำกันค่ะ เขาไม่สามารถโปรโมทในแพลตฟอร์มเทคโนโลยีได้เลย ก็เลยรวมกลุ่มกับเยาวชนในชุมชนเรา ลองวางแผน และเริ่มทำโลโก้ให้ชุมชนด้วยเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ด้วยความที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในชุมชนไม่เข้าใจเรื่องนี้เลย เราก็จะต่อสู้โดยเยาวชนเราเองค่ะ”

           สำหรับ อาปิ แล้ว การได้เห็นเยาวชนรุ่นเธอและรุ่นหลังละทิ้งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนแทบจะเป็นเรื่องปกติ เพราะเขาเหล่านั้นไม่สามารถต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ต้องดิ้นรนไปทำงานในเมืองหรือต่างประเทศเพื่อครอบครัว อาปิมองว่าวัฒนธรรมคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และหากไม่ได้รับการปฏิบัติสืบทอดแล้ว วัฒนธรรมก็สูญหายได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เธอเล็งเห็นว่าวัฒนธรรมอ่าข่าเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญ และสามารถนำเอาไปต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้น อาปิจึงมักรวมตัวกับเยาวชนในหมู่บ้านเพื่อทำงานร่วมกับองค์กรภายนอกในการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมสมัยใหม่ เช่น การทำโฮมสเตย์ของหมู่บ้านผ่านการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ การทำผ้าปักลายอ่าข่าร่วมกับนักออกแบบชาวต่างชาติ และการนำเสนออาหารและวัตถุดิบของชาติพันธุ์อ่าข่า (เมล็ดพันธุ์ สมุนไพร ผักผลไม้) ผ่านการทำกิจกรรมกับร้านอาหารในเมืองและต่างประเทศ แม้อาปิต้องออกจากหมู่บ้านมาศึกษาต่อในเมืองตั้งแต่เด็ก แต่เธอก็ตั้งใจว่าจะนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากในเมืองไปประยุกต์ใช้เพื่อรักษาความหลากหลายของวัฒนธรรมอ่าข่า และส่งเสริมอัตลักษณ์อ่าข่าให้เป็นที่รู้จักต่อไป

การศึกษาและจดบันทึกชนิดพันธุ์พืชในสวนของชุมชนอ่าข่า ภาพโดย ศรุดา สุขแสง


สรุป

           พลวัตของสังคมไทยที่หมุนตามโลกสมัยใหม่ ทำให้วิถีปฏิบัติของชุมชนชาติพันธุ์ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังส่งผลให้คนในชุมชนต้องคลื่อนที่ไปด้วย ดังจะเห็นได้จากการย้ายออกจากชุมชนของเยาวชนชาติพันธุ์รุ่นใหม่เพื่อเข้ามาศึกษาต่อและทำงานในเมือง จากกรณีศึกษาของเยาวชนทั้งสามคน ที่สะท้อนปรากฏการณ์ที่เยาวชนชาติพันธุ์รุ่นเดียวกันหรือรุ่นใหม่ห่างหายจากอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนนั้น กลายเป็นเรื่องปกติที่สามารถพบเห็นได้ อีกทั้งเยาวชนเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนจะต้องถูกรักษาไว้ให้คงเดิมอยู่ตลอด แต่สามารถลื่นไหลตามบริบทและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกชุมชน

           แม้บทบาทของเยาวชนชาติพันธุ์ในปัจจุบันจะแตกต่างไปจากบทบาทของผู้อาวุโสในอดีต ที่เน้นเรื่องการเรียกร้องสิทธิชาติพันธุ์ผ่านการประท้วง แต่การเป็นคน “สองวัฒนธรรม” ทำให้เยาวชนเหล่านี้มีศักยภาพในการปรับตัวในการใช้สื่อใหม่เป็นเครื่องมือแสดงบทบาทของตน ตลอดจนเผยแพร่และส่งเสริมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในรูปแบบร่วมสมัยผ่านการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อสื่อสารกับคนในกลุ่มชาติพันธุ์ของตนและผู้คนในสังคมอื่น ดังนั้น การสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนทางวัฒนธรรมโดยผู้เป็นเจ้าของอัตลักษณ์เองนั้น ย่อมสร้างความหมายให้อัตลักษณ์ของตนได้ชัดเจนยิ่งกว่า ซึ่งเป็นการสลัดภาพจำเดิม ๆ ของความเป็นชาติพันธุ์ที่สังคมหยิบยื่นให้ด้วยโลกทัศน์ความเป็นอื่น (otherness)


รายการอ้างอิง

Bucholtz, M. (2002). Youth and Cultural Practice. Annual Review of Anthropology 31(1), 525-552. https://doi.org/10.1146/annurev.anthro.31.040402.085443

Leepreecha, P. (2019). Becoming Indigenous Peoples in Thailand. Journal of Southeast Asian Studies, 50(1), 32-50.  https://doi:10.1017/S0022463419000183

ขวัญชีวัน บัวแดง. (ม.ป.ป.). ชนกลุ่มน้อยกับการพัฒนามนุษย์ในบริบทโลก. www.stou.ac.th/Schoolnew/polsci/UploadedFile/82427-6.pdf

จุไรพร จิตพิทักษ์. 2553. วัยรุ่นชาติพันธุ์ชายขอบกับการปรับตัวในเมืองเชียงใหม่ : กรณีศึกษาวัยรุ่นปกาเกอะญอ (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่). CMU Intellectual Repository.

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2546). อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และความเป็นชายขอบ. ใน ปิ่นแกล้ว เหลืองอร่ามศรี (บ.ก.), อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และความเป็นชายขอบ (น. 1–26). ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

นภาพร อัศวะรังสีกุล. (2562, 26 เมษายน). ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย: อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลง. งานประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยรังสิตประจำปี 2562, ปทุมธานี, ประเทศไทย.

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2553). วัฒนธรรมวัยรุ่น. วารสารสังคมศาสตร์, 22(1), 25–52.


ผู้เขียน
พมิรา รักษ์อรศิลป์
นักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ชาติพันธุ์ บทบาท เยาวชนชาติพันธุ์ วัฒนธรรม พมิรา รักษ์อรศิลป์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา