ฝ่าม่านอคติชาติพันธุ์ 2567 มีทิศทาง แต่ยังไกลเป้าหมาย

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 432

ฝ่าม่านอคติชาติพันธุ์ 2567 มีทิศทาง แต่ยังไกลเป้าหมาย

บทนำ

           ทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทย ส่งผลต่อความต่อเนื่องด้านการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจและภัยธรรมชาติที่ทำให้ชุมชนชาติพันธุ์ ในฐานะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเป็นลำดับต้น ๆ ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตและสูญเสียความสามารถในการปฏิบัติวัฒนธรรมของตนเองไป ปัญหาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ผลักให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องกลายเป็นคนชายขอบและมีอัตลักษณ์ที่ถูกกดทับอยู่เสมอ ดังที่ปรากฏให้เห็นในหลายสถานการณ์ของปี 2567 กลุ่มชาติพันธุ์ไม่เพียงถูกละเมิดสิทธิในที่ดินทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณ แต่ยังต้องรับมือกับอคติที่ขาดความเข้าใจต่อวิถีของตน อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยพยายามปฏิเสธภาพลักษณ์เดิมที่ภาครัฐและสาธารณชนมอบให้ ในฐานะภัยความมั่นคงและผู้ทำลายป่าไม้ ดังจะเห็นได้จากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิผ่านกลไกนโยบาย เช่น การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และการพัฒนาการจัดการข้อมูลชุมชนให้ปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านการศึกษาวิจัย การถอดบทเรียนทำงานของชุมชน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในปี 2567 ที่เชื่อว่าจะนำมาสู่การสร้างความเสมอภาคให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้ยืนอยู่ในสังคมอย่างทัดเทียมและมีศักดิ์ศรี

           ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนประเด็นด้านสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์บนฐานความรู้และเครือข่าย ได้รวบรวมเอกสารการดำเนินโครงการด้านชาติพันธุ์ ตลอดจนข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอบนโลกออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อสรุปสถานการณ์ชาติพันธุ์ประจำปี 2567 ให้ได้เห็นถึงสถานการณ์เชิงบวกและสถานการณ์ที่ยังเป็นความท้าทายที่ต้องร่วมกันแก้ไขต่อไป ดังนี้


1.การเดินทางของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           การผลักดันกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายหลังการรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง เมื่อปี 2550 ก่อให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยเพื่อเรียกร้องสิทธิ นำไปสู่การประกาศมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 จนกระทั่งในปี 2560 ถือเป็นครั้งแรกที่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุคำว่า “กลุ่มชาติพันธุ์” เข้าไว้ในมาตรา 70 โดยระบุให้ “...รัฐพึงส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในการดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์...” ต่อมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม (พ.ศ. 2561-2565) เพื่อจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 25631  มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งสิ้น 36 ครั้ง และมีผู้เข้าร่วมให้ความเห็นมากกว่า 3,000 คน แสดงถึงการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้2

           การผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชน มีความคืบหน้าตั้งแต่ต้นปี 2567 ด้วยกิจกรรม “KICK OFF กฎหมายชาติพันธุ์: เดินหน้าคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตทุกกลุ่มวัฒนธรรมบนความเสมอภาค” โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในขณะนั้น เดินทางไปยังชุมชนบ้านผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อประกาศนโยบายส่งเสริมความเท่าเทียมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยสวัสดิการโดยรัฐ ตลอดจนแสดงความมุ่งมั่นในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฯ ให้แล้วเสร็จในรัฐบาลชุดปัจจุบัน3  ด้วยความพยายามดังกล่าว ทำให้เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับรองหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเป็นคณะทำงานยกร่างฯ พร้อมทั้งรับรองร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์ของพรรคการเมืองและภาคประชาชน รวมทั้งสิ้น 5 ฉบับ4  ด้วยเหตุนี้ จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นจำนวน 42 ท่าน โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการ ภาคการเมือง ภาคประชาสังคม และกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกันพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2
 

ภาพที่ 1: อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช เดินทางร่วมกิจกรรม “KICK OFF : กฎหมายชาติพันธุ์ เดินหน้าคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตทุกกลุ่มวัฒนธรรมบนความเสมอภาค”
ที่มาภาพ: https://www.dailynews.co.th/news/3097424/


           อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... ได้เข้ารับการพิจารณาวาระ 2 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 26 ซึ่งได้มีการอภิปรายแสดงข้อห่วงใยเกี่ยวกับประเด็นการระบุคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ในกฎหมาย และการกำหนดหน่วยงานที่จะทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวว่าจะมีขอบเขตและอำนาจหน้าที่อย่างไร ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงเสนอให้นำร่างกฎหมายดังกล่าวกลับไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบัน (ณ เดือนธันวาคม 2567) คณะกรรมาธิการฯ ได้ร่วมกันพิจารณา ปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในวันที่ 8 มกราคม 25685


2. ศักยภาพชุมชน...สู่การเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

           การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ดำเนินมากว่า 15 ปี มีจุดเริ่มต้นจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน และ 3 สิงหาคม 2553 ที่มีเจตนารมณ์เพื่อพัฒนาแนวทางในการคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่และพึ่งพาตนเองได้บนฐานภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการผสมผสานองค์ความรู้ใหม่ เห็นได้ว่าการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ในปี 2567 ได้รับความสนใจจากภาคนโยบายและหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น ผ่านการร่วมเป็นสักขีพยานในการประกาศเขตพื้นที่ฯ และการรับฟังปัญหาของชุมชนเพื่อนำไปแก้ไข ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ 1) ชุมชนชาติพันธุ์มอแกลน บ้านทับปลา-ลำปี จังหวัดพังงา 2) ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) จังหวัดตาก 3) ชุมชนชาติพันธุ์อุรักลาโวยจฺ เกาะหลีเป๊ะ-เกาะอาดัง จังหวัดสตูล และ 4) ชุมชนชาติพันธุ์อูรักลาโวยจฺ โต๊ะบาหลิว เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยทั้งสิ้น 24 พื้นที่ สื่อให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารจัดการพื้นที่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตเพื่อยืนยันสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

           การขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นการพัฒนานวัตกรรมในระดับนโยบายและเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งในระดับพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชาติพันธุ์บนหลักการเคารพสิทธิชุมชนและสิทธิทางวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรระหว่างหน่วยงานในพื้นที่กับชุมชนชาติพันธุ์ ทำให้เห็นรูปธรรมของการดำเนินงานที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์ เช่น ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคีที่ยังคงวิถีการทำไร่หมุนเวียนแบบเอามื้อเอาวัน ผ่านการแลกเปลี่ยนแรงงานภายในชุมชน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านค่าแรงในการทำไร่ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่เป็นทุนทางสังคมที่ยังคงเข้มแข็ง ขณะเดียวกันการดำรงวิถีการทำไร่หมุนเวียนยังเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ ก่อให้เกิดผลผลิตของพืชนานาชนิดและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตและสร้างรายได้ ตลอดจนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน6  การขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านแม่ปอคียังแสดงให้เห็นการยกระดับการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานระดับนโยบาย ระดับท้องถิ่น และระดับพื้นที่ ให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างและกลไกการทำงานในรูปแบบ “คณะกรรมการขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านแม่ปอคี” โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลชุมชนและแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านแม่ปอคีได้อย่างเป็นรูปธรรม

           นอกจากนี้ ยังพบว่า การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบ้านทับปลา ลำปี จังหวัดพังงา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการดำรงวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาด้านการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีส่วนช่วยในการรักษาความหลากหลายของระบบนิเวศป่าชายเลนรอบชุมชน นอกจากนี้ พื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่ชายฝั่งยังเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านในการดักจับสัตว์น้ำ หากมีสัตว์น้ำจำนวนมากพอเหลือจากการบริโภคในครัวเรือน ก็สามารถนำไปจำหน่ายหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากภูมิปัญญาเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนต่อไป7

           การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ถือเป็นอีกกรณีหนึ่งที่มีการดำเนินงานศึกษา สำรวจ และจัดเก็บข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการเผชิญสถานการณ์ความท้าทายจากความขัดแย้งด้านการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนในพื้นที่ระหว่างชุมชนกับเอกชนและหน่วยงานรัฐในพื้นที่ การจัดกิจกรรมประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เกาะหลีเป๊ะจึงเป็นการสร้างเงื่อนไข ที่แสดงให้เห็นความพยายามในการแสวงหาความร่วมมือที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากทุกภาคส่วนบนฐานการเคารพสิทธิชุมชนและสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์8  และกรณีล่าสุดคือการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโวยจฺบ้านโต๊ะบาหลิว ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ที่ได้ร่วมกันศึกษา สำรวจและจัดทำข้อมูลพื้นฐานชุมชน แสดงให้เห็นข้อมูลประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และขอบเขตพื้นที่ทำกินในท้องทะเล พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่จิตวิญญาณของชาวเล แสดงให้เห็นศักยภาพในการบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเป็นการสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคงถาวร ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ 18 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบ้านโต๊ะบาหลิวต่อไป9


ภาพที่ 2: ชาวบ้านบ้านแม่ปอคี ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และสถาปนาพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ที่มาภาพ: https://theactive.net/news/indigenous-20240426/

 

ภาพที่ 3: ชาวอูรักลาโวยจฺเกาะหลีเป๊ะ-เกาะอาดังและหน่วยง่านต่าง ๆ ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ที่มาภาพ: https://rb.gy/zdk000


ภาพที่ 4: นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนโต๊ะบาหลิว จังหวัดกระบี่
ที่มาภาพ: ศิวพงษ์ วงศ์คูณ


ภาพที่ 5: บรรยากาศงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 14 ณ ชุมชนโต๊ะบาหลิว จังหวัดกระบี่
ที่มาภาพ: ศิวพงษ์ วงศ์คูณ


           การขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ยังถือเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองกันต่อไป เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความท้าทายทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่ โดยเฉพาะภายใต้กรอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้บัญญัติให้มีหมวดที่ 5 ว่าด้วย “เขตพื้นที่วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ไว้ในร่างกฎหมาย ซึ่งหากมีการพิจารณาและประกาศใช้ร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว จะช่วยยกระดับให้การขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มีรูปธรรมของโครงสร้าง กลไก ระเบียบ และหลักเกณฑ์การทำงานทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาให้เกิดต้นแบบศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการขยายผลความรู้ แนวปฏิบัติการบริหารจัดการข้อมูล และการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อขยายขอบเขตและต่อยอดการขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไปสู่การพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานในระดับพื้นที่และท้องถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในสังคมต่อไป


3. “ซอฟต์พาวเวอร์” เน้นย้ำความหลากหลายบนฐานทุนทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์


ภาพที่ 6: บรรยากาศความสนุกสนานร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์กับผู้เข้าร่วมงาน


ภาพที่ 7: การแสดงดนตรีร่วมกันของศิลปินชาติพันธุ์กับศิลปินรุ่นใหม่ ณ ลานแสดงสยามสแควร์


           การใช้กลไกซอฟต์พาวเวอร์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องในปี 2567 ด้วยความพยายามของภาครัฐในการผลักดันทุนทางวัฒนธรรมด้านอาหาร ภาพยนตร์ แฟชั่น ศิลปะการต่อสู้ และเทศกาล ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุนทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น สามารถก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้และอาชีพเพื่อลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก ตลอดจนสร้างความตระหนักถึงความหลากหลายที่จะช่วยลดความขัดแย้งในสังคมไทย ที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์มีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นในการแสดงอัตลักษณ์ของตน และสร้างความสัมพันธ์ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ซึ่งได้ปรากฏการจัดกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลายตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ดังปรากฏการจัดงานเสียงชาติพันธุ์ลือลั่นทั่วสยาม เมื่อวันที่ 16 - 17 มีนาคม 2567 โดยใช้พื้นที่ลานแสดงใจกลางสยามสแควร์ กรุงเทพฯ นำเสนอการแสดงดนตรีเชื่อมวัฒนธรรมศิลปินชาติพันธุ์และศิลปินรุ่นใหม่ ที่นำเสนอการผสมผสานท่วงทำนองระหว่างดนตรีชาติพันธุ์กับดนตรีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว และเปิดพื้นที่ให้สาธารณชนสัมผัสวิถีวัฒนธรรมพี่น้องชาติพันธุ์ผ่านนิทรรศการ Sound of Harmony ที่จัดแสดงเครื่องดนตรีชาติพันธุ์ สินค้าผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และตลาดอาหาร แสดงให้เห็นศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านเครื่องดนตรีที่มีความหลากหลาย สามารถปรับใช้เป็นซอฟท์พาวเวอร์ในการพัฒนาประเทศได้อย่างสร้างสรรค์10

           นอกจากนี้ยังพบการจัดงานมหกรรมชาติพันธุ์ลำพูน จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 - 20 พฤษภาคม 2567 โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายและพี่น้อง 5 กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดลำพูน ประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ไทยอง ไทลื้อ ไทยวน มอญ และกะเหรี่ยง นำเสนอให้เห็นวิถีวัฒนธรรม และอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ให้เป็นที่รู้จักและสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถยกระดับเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจของเมืองลำพูน อีกทั้งยังเกิดการพัฒนาต่อยอดทั้งในด้านการจัดการองค์ความรู้ การพัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรม และทำให้ลําพูนเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์วิถี11  ตลอดจนการจัดงานสานสัมพันธ์ 5 ชาติพันธุ์ เพชรสมุทรคีรี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ส.ค. - 2 ก.ย. 2567 โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดสมุทรสงคราม และความร่วมมือของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายในด้านธรรมชาติและมีวัฒนธรรมที่น่าสนใจ มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันในพื้นที่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) กลุ่มชาติพันธุ์ไทยรามัญ (มอญ) กลุ่มชาติพันธุ์ไทยจีน กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำและกลุ่มคนไทยท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และ อัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์12


ภาพที่ 8: งานมหกรรมชาติพันธุ์ลำพูน ประจำปี 2567
ที่มาภาพ: https://shorturl.at/pCOKR


ภาพที่ 9: งาน “สานสัมพันธ์ 5 ชาติพันธุ์ เพชรสมุทรคีรี”
ที่มาภาพ: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสงคราม


           นอกจากนี้ยังพบว่า การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองวันสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก ระหว่างวันที่ 8-10 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ ถือเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายใต้ธีม “Soft Power ชาติพันธุ์ พลังสร้างสรรค์ชาติ” เป็นการเปิดพื้นที่และโอกาสให้เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์เข้าร่วมงาน นำเสนอให้เห็นถึงบรรยากาศการแสดงศิลปะดนตรีและวัฒนธรรมร่วมสมัย และการเดินแบบเครื่องแต่งกาย และตลาดนวัตกรรมอาหารกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนมีเวทีถอดบทเรียนการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่กล่าวถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมชุมชนผ่านการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับองค์ความรู้ใหม่


ภาพที่ 10: บรรยากาศการเฉลิมฉลองวันสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก“Soft Power ชาติพันธุ์ พลังสร้างสรรค์ชาติ”
ที่มาภาพ: เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง


ภาพที่ 11: อาหารภายในกิจกรรม Soft Power ชาติพันธุ์ พลังสร้างสรรค์ชาติ
ที่มาภาพ: เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง


           นอกจากนี้ ในปี 2567 ได้ปรากฏการถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลผ่านละครซีรีย์เรื่อง “กล้าทะเล” จำนวน 12 ตอน ออกอากาศทางช่อง ThaiPBS ในวันศุกร์ – วันอาทิตย์ ในช่วงปลายเดือนกันยายน - ตุลาคม 2567 ถือเป็นละครโทรทัศน์เรื่องแรก ๆ ที่นำเสนอให้เห็นวิถีการดำรงชีวิตของชาวเลมอแกลน เกาะสุรินทร์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงจากกระแสการพัฒนาและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้ชาวเลรุ่นใหม่ต้องปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง13 ละครซีรีย์นี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่หลากหลายดำรงอยู่ในทุกภูมิภาค มีวิถีการดำรงชีวิตที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน หากแต่ภายใต้กระแสการพัฒนาที่นำพาการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จึงเป็นเงื่อนไขให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยคาดหวังให้สังคมได้เรียนรู้และยอมรับในวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย และใช้ทุนทางวัฒนธรรมซึ่งเป็น Soft power มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ต่อไป


ภาพที่ 12: ละครซีรีย์เรื่อง “กล้าทะเล” ออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS


           การหยิบยกประเด็นซอฟท์พาวเวอร์ที่เน้นย้ำให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่สามารถนำมาปรับใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์นั้น ยังคงเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการศึกษาและสำรวจข้อมูลภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเป็นพื้นฐานต่อการวิเคราะห์และแสวงหาแนวทางสร้างสรรค์ ตลอดจนประยุกต์การนำเสนอตัวตนและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อชี้ให้เห็นว่าศักยภาพบนฐานทุนวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะสามารถนำมาพัฒนา ต่อยอดเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการสร้างกระบวนเรียนรู้ เพื่อการยอมรับและเข้าใจจากสังคม ที่จะนำไปสู่การลดอคติทางชาติพันธุ์ สอดรับกับความพยายามในการผลักดันให้มีการประกาศใช้กฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยให้การดำเนินงานด้านชาติพันธุ์มีการกำหนดแนวนโยบายและการปฏิบัติที่ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตามการนำเสนอตัวตน อัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ยังมีประเด็นที่ต้องพึงระวังคือการมองกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะวัตถุของการพัฒนาและการปรับใช้โดยขาดความระมัดระวังและรอบคอบต่อการตระหนักเกี่ยวกับคุณค่าและศักดิ์ศรีของกลุ่ม ชาติพันธุ์ ซึ่งในหลายกรณีมีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อ พิธีกรรมหรือการแสดงออกที่สัมพันธ์กับคุณค่าในระดับจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องได้รับเคารพ นักพัฒนาสังคมหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องจึงต้องตระหนักต่อการเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ผลจากการพัฒนาไปลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีกลุ่มชาติพันธุ์ให้ลดน้อยลงบนการอ้างหลักการความชอบธรรมของการพัฒนาเพียงอย่างเดียว


4. นานาชาติพันธุ์ บริบทโลก และบริบทสังคมไทย

           ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในบริบทสังคมไทย แต่ยังเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ตั้งแต่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ค.ศ. 1992 ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม รวมทั้งองค์ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมืองยังได้รับการกล่าวถึงภายใต้อนุสัญญาฯ ดังกล่าวอีกด้วย การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 ที่จัดขึ้น ณ เมืองซานเตียโก เด กาลิ สาธารณรัฐโคลอมเบีย ระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม ถึง 1 พฤศจิกายน 2567 มีตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์จากประเทศไทยร่วมนำเสนอข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนชาติพันธุ์ในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนติดตามการดำเนินงานของรัฐไทยด้านแผนงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (National Biodiversity Strategies and Action Plan: NBSAP) ว่าจะมีการปรับใช้ในบริบทของไทยอย่างไร ให้ครอบคลุมการหารืออย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยด้วย14

           ปฏิญญาอีกฉบับที่น่าจับตามอง คือ ปฏิญญาสิทธิทางสิ่งแวดล้อมอาเซียน (ASEAN Declaration on Environmental Rights) มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด และยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ในการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อมและการเข้าถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมบนหลักนิติธรรม15  อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นปฏิญญาฉบับแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้ที่ปกป้องธรรมชาติ แต่กลไกดังกล่าวได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องบทบัญญัติที่ขาดความครอบคลุมเรื่องการปกป้องชนเผ่าพื้นเมือง (indigenous peoples) รวมถึงไม่มีตัวแทนชนเผ่าพื้นเมืองในคณะทำงานยกร่างปฏิญญานี้ ก่อให้เกิดความกังวลในกลุ่มภาคประชาสังคมถึงสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล16  และยังเป็นข้อถกเถียงให้ได้ขบคิดกันต่อว่ารัฐบาลในอาเซียนจะยอมรับการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองภายใต้กลไกของปฏิญญาฉบับนี้หรือไม่

           อย่างไรก็ดี แม้กลไกด้านนโยบายในระดับภูมิภาคและนานาชาติจะไม่เป็นรูปธรรมเท่าไรนัก แต่ความเข้มแข็งของกลุ่มชาติพันธุ์ในงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 14 ณ ชุมชนโต๊ะบาหลิว ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2567 ยังได้รับความสนใจจากผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ออรังลาอุตและกลุ่มชาติพันธุ์ บาจาวจากประเทศอินโดนีเซีย ที่มีภาษาและประวัติศาสตร์ที่คล้ายคลึงกับกลุ่มชาติพันธุ์อูรัก ลาโวยจฺที่อาศัยอยู่ในแถบทะเลอันดามันของประเทศไทย ทำให้บรรยากาศงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลเกิดการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ ตลอดจนเป็นพื้นที่ในการเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอูรักลาโวยจฺและการสร้างเครือข่ายชาวเลที่เข้มแข็งในประเทศไทย ทำให้เมื่อวันที่ 11–15 ธันวาคม 2567 ผู้แทนจากประเทศอินโดนีเซียได้นำแนวคิดเรื่องกิจกรรมงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลในประเทศไทยไปปรับใช้ในบริบทพื้นที่ของตน ผ่านการจัดกิจกรรมงานรวมญาติกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบาจาว ที่กระจายตัวอยู่ใน 14 จังหวัด บริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์การอพยพย้ายถิ่นฐาน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และข้อท้าทายด้านต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตทางทะเล ตลอดจนมีการเชิญองค์กรจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีชาวเลอาศัยอยู่ อาทิ องค์กรจากประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย เข้าร่วมหารือด้านแนวนโยบายและกฎหมายในระดับประเทศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิชาวเล


ภาพที่ 13: การพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจากประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย โดยใช้ภาษาอูรักลาโวยจฺ
ที่มาภาพ: พมิรา รักษ์อรศิลป์


ภาพที่ 14: บรรยากาศการหารือของกลุ่มชาติพันธุ์บาจาว  ประเทศอินโดนีเซีย
ที่มาภาพ: พมิรา รักษ์อรศิลป์

 

5. อคติชาติพันธุ์ ม่านหมอกที่ต้องฝ่าฟัน...น้ำท่วม ฝุ่นควัน และไร่หมุนเวียน

           ในปี 2567 กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงเผชิญกับอคติทางชาติพันธุ์ที่มองว่าการดำรงชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่า เป็นสาเหตุของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับกับสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ตลอดจนปัญหาน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากในเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมา ชุมชนชาติพันธุ์มักจะเป็นกลุ่มคนแรก ๆ ที่ต้องแบกรับแรงเสียดทานกับการถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุและเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว นำมาสู่การถกเถียงในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ซึ่งในด้านหนึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการศึกษา พัฒนาองค์ความรู้มาใช้เพื่ออธิบายบนหลักการทางวิทยาศาสตร์และการออกแบบการศึกษาวิจัยอย่างระบบ เพื่อยืนยันว่าชุมชนชาติพันธุ์ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพียงฝ่ายเดียว ดังปรากฏการจัดเวทีเปิดตัวงานวิจัย ในงาน “ไฟป่า ฝุ่นควัน ชาติพันธุ์ ไร่หมุนเวียน” ของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.) ร่วมกับชุมชนชาติพันธุ์สู้ไฟป่า และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันทื่ 29 พฤษภาคม 2567 การจัดงานดังกล่าวได้นำเสนอให้เห็นว่าฝุ่นที่เกิดในพื้นที่ไม่ได้มีที่มาจากการเผาไร่หมุนเวียนเพียงอย่างเดียว แต่มีที่มาจากอุตสาหกรรมอื่นด้วย และโดยศักยภาพของป่าหมุนเวียนรอบพื้นที่สามารถรับการดักจับฝุ่นได้ แม้วิถีของชุมชนชาติพันธุ์จะมีการเผาเป็นขั้นตอนหนึ่งของการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกหรือทำไร่ แต่พื้นที่โดยรอบก็สามารถรองรับมลพิษได้ ขณะเดียวกันไร่หมุนเวียนและป่าพักฟื้นยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่ดี สามารถพิสูจน์ได้ว่าไร่หมุนเวียนไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ได้เป็นภาระทางสังคมและเศรษฐกิจ


ภาพที่ 15: การจัดนิทรรศการเสียงจากคนอยู่กับป่าในงาน “ไฟป่า ฝุ่นควัน ชาติพันธุ์ ไร่หมุนเวียน”
ที่มาภาพ: เพจ ศูนย์สนับสนุนชุมชนสู้ไฟป่า


           อย่างไรก็ดี การนำเสนอผลการวิจัยยังนำเสนอให้เห็นผลกระทบของการสูญเสียหน้าดินจากการเปรียบเทียบระหว่างการทำไร่หมุนเวียนกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พบว่าความสามารถในการอุ้มน้ำของพื้นที่ไร่ข้าวโพด อยู่ที่ 59% พื้นที่ไร่ข้าวปัจจุบัน 60% ไร่เหล่า 3 ปี 61% ป่าธรรมชาติ 65% ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า การปล่อยให้ระบบนิเวศฟื้นตัวจะเห็นศักยภาพของดินในการอุ้มน้ำมากขึ้น แต่ตะกอนดินในไร่ข้าวโพดมีเยอะกว่าเนื่องจากมีการทำไร่ซ้ำๆในพื้นที่เดิม เมื่อน้ำไหลบ่าไร่ข้าวโพดจะมีประสิทธิภาพในการอุ้มน้ำน้อยกว่าพื้นที่อื่น โดยข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า พื้นที่ไร่ข้าวโพดมีปริมาณน้ำไหลบ่า 119 ลบม.ต่อไร่ ไร่ข้าวปัจุบัน 55 ลบม.ต่อไร่ ไร่เหล่า 3 ปี 66 ลบม.ต่อไร่ และป่าธรรมชาติ 88 ลบม.ต่อไร่ ตามข้อมูลระบบไร่หมุนเวียนที่เกิดใหม่สามารถเก็บน้ำได้ดีกว่าป่าธรรมชาติ แต่ต้องมีการเว้นช่วงตามระยะเวลา 7-8 ปี17

           การต่อสู้กับม่านหมอกอคติชาติพันธุ์ในฐานะผู้ร้ายกับทรัพยากรธรรมชาติยังปรากฏเวทีนำเสนอข้อมูลบทเรียนและรูปธรรมการดำเนินงานในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 9 เดือนสิงหาคม 2567ในระหว่างการจัดงานรณรงค์เฉลิมฉลองเนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมือง ได้มีการจัดเวทีเสวนา “โรงเรียนภาคสนาม บทเรียนจากการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตด้วยตนเอง” เป็นการพัฒนาแนวทางส่งเสริมศักยภาพชุมชนชาติพันธุ์ให้มีความสามารถในการสำรวจ จัดเก็บ และบริหารจัดการข้อมูลชุมชน ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม การอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนฐานภูมิปัญญา โดยในช่วงหนึ่งได้มีการนำเสนอบทเรียนการดำเนินงานของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋ ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ที่นำเสนอให้เห็นการพัฒนาแนวทางการสำรวจ จัดเก็บข้อมูลโดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากกลุ่มเยาวชน และนำข้อมูลที่ได้มาบริหารจัดการพัฒนาให้เกิดระบบฐานข้อมูลที่มีความทันสมัย สามารถสื่อสารให้เห็นเป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์ได้ง่าย โดยเฉพาะข้อมูลการบริหารจัดการไร่หมุนเวียนของชุมชนที่พบว่า พื้นที่ไร่หมุนเวียนของชุมชนทั้งหมดมี 2,324 ไร่ แต่ที่สำคัญและจำเป็นต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจคือ ชาวบ้านไม่ได้ใช้พื้นที่ทั้งหมดในเวลาเดียวกัน เพราะในแต่ละปีจะมีการเปิดพื้นที่ทำไร่เพียง 4-5% เท่านั้น ดังปรากฏข้อมูลในปี 2566 มีการใช้พื้นที่ 86 ไร่จากทั้งหมด 2,324 ไร่ แสดงให้เห็นว่าการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์ไม่ได้เป็นสาเหตุสำคัญของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยืนยันจากข้อมูลได้ว่าการทำไร่หมุนเวียนเป็นการทำเกษตรที่เป็นระบบ มีขั้นตอน แบบแผนในการบริหารจัดการพื้นที่และทรัพยากรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ การมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นม่านอคติที่จำเป็นต้องถูกสลายบนฐานของการพัฒนาองค์ความรู้ และฐานข้อมูลที่ทันสมัย สามารถสื่อสารกับสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ภาพที่ 16: เวทีเสวนา “โรงเรียนภาคสนาม บทเรียนจากการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตด้วยตนเอง”


           อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนกันยายน 2567 ได้เกิดสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ภาพปรากฏเหล่านี้ในด้านหนึ่งได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามต่อการอยู่อาศัยในพื้นที่ป่าของชุมชนชาติพันธุ์ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดสภาพปัญหาดังกล่าวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ชุมชนได้มีกระบวนการสื่อสาร สร้างความเข้าใจกับสังคม โดยชี้ให้เห็นว่าพื้นที่โดยรอบชุมชนเป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เกิดจากการช่วยกันดูแลรักษา อนุรักษ์ฟื้นฟูตามวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ หากแต่ด้วยปริมาณน้ำฝนที่มากเกินศักยภาพที่จะรับไหว ทำให้เกิดปัญหาดินสไลด์และโคลนถล่มไหลลงมาสร้างความเสียหาย18

           ดังนั้นประเด็นปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มที่มาพร้อมอคติต่อชาติพันธุ์จึงจำเป็นต้องได้มีการอธิบายและสื่อสารด้วยชุดข้อมูล องค์ความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคม ขณะเดียวกันการเหมารวมด้วยอคติชุดเดียวกันว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นสาเหตุของปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติก็จำเป็นต้องได้รับแก้ไขและพัฒนาแนวทางการสื่อสาร โดยนำเสนอให้เห็นรูปธรรมความสำเร็จของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติจากฐานชุมชนให้ปรากฏมากขึ้น เพื่อชี้ให้เห็นว่าชุมชนชาติพันธุ์มีศักยภาพบนฐานภูมิปัญญาและวิถีวัฒนธรรม ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐและสถาบันวิชาการที่เกี่ยวข้องต้องแสวงหาและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อร่วมกันฝ่าม่านหมอกอคติชาติพันธุ์ ด้วยการสร้างระบบฐานข้อมูลและกระบวนการการสื่อสารให้ปรากฏเป็นรูปธรรม


ภาพที่ 17: ความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มของชุมชนบ้านห้วยหินลาดในเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567
ที่มาภาพ: สำนักงาน Lanner


           ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายและอคติที่มีต่อการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์ สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (PASD) ร่วมกับภาคีเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จัดงาน “The Rotate Festival : เทศกาลระบบอาหารชนเผ่าพื้นเมือง” ภายใต้ธีม “มาเดาะ มากะ” หรือการเอามื้อเอาวันในไร่หมุนเวียนช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค. 2567 แสดงให้เห็นการดำรงอยู่ชุมชนชาติพันธุ์ที่มีศักยภาพในการแลกเปลี่ยนแรงงานเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตในไร่ บริหารจัดการแรงงานที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย การจัดงานครั้งนี้ยังเป็นพื้นที่การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น เห็ดลมทอด และ ห่อหมกหมูใส่เปลือกมะขามป้อม จากชุมชนบ้านห้วยอีข้าง ชนเผ่าปกาเกอะญอ จ.เชียงใหม่ น้ำพริกไส้เปรี้ยว กินกับหน่อไม้ และผักตามฤดูกาลในช่วงฤดูฝนจากไร่หมุนเวียนชุมชนสะเน่พ่อง จ.กาญจนบุรี, หรือเมนูยำหอย และห่อหมกปลา จากทะเลของชาวมอแกลน ภาคใต้ของประเทศไทย19  การจัดงานดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดพื้นที่ของการสื่อสารวิถีชีวิต วัฒนธรรม การดำรงอยู่ของชุมชนชาติพันธุ์ ตลอดจนการนำเสนอให้เห็นความหลากหลายของผลผลิตที่เกิดขึ้นจากไร่หมุนเวียนและระบบนิเวศที่อยู่รายล้อมชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการทำการเกษตรของชุมชนชาติพันธุ์บนความสัมพันธ์กับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมั่นคงและยั่งยืน


ภาพที่ 18: บรรยากาศงาน The Rotate Festival ณ มิวเซียมสยาม
ที่มาภาพ: The Active


6. “เกิดแล้ว เกิดอยู่ เกิดต่อ: ปัญหาเชิงอคติที่นำมาสู่การละเมิดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์”

           นโยบายด้านการอนุรักษ์ที่ประกาศใช้โดยรัฐ มักส่งผลกระทบและทำให้ชุมชนชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับป่าไม้และท้องทะเลต้องปรับตัวอยู่เสมอ กล่าวได้ว่าความพยายามของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในการเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินและสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินมายาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษ ตั้งแต่การประกาศใช้นโยบายทวงคืนผืนป่าในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทยให้ได้ถึงร้อยละ 40 โดยให้อำนาจตำรวจ ทหาร และฝ่ายการปกครองในการเข้าตรวจสอบ ไล่ที่ และจับกุมชาวบ้าน20  แม้บางกลุ่มจะเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่มาก่อนการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ก็ตาม

           ล่าสุด เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีการรวมตัวกันเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมคัดค้านร่างพระราชกฤษฎีกาสองฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.ฎ. โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่าง พ.ร.ฎ. โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 256221  มีสาระสำคัญในการกำหนดให้ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ศูนย์รักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า สามารถอาศัยอยู่หรือทำกินในพื้นที่ต่อไปได้ชั่วคราวเป็นระยะเวลา 20 ปี และไม่ให้ขยายพื้นที่เพิ่มเติมอีก ซึ่งประเด็นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างการทำไร่หมุนเวียน และเปลี่ยนให้ชุมชนดั้งเดิมกลายเป็นผู้บุกรุกป่า22


ภาพที่ 19: ภาคประชาชนร่วมคัดค้านร่าง พ.ร.ฎ. ป่าอนุรักษ์
ที่มาภาพ: https://imnvoices.com/?p=5284


           แม้ในบางพื้นที่จะได้รับการประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง อย่างชุมชนปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ที่เป็นชุมชนดั้งเดิมและสืบทอดวิถีวัฒนธรรมมากว่า 150 ปี กลับพบกรณีกลุ่มบุคคลไม่ทราบสังกัดบุกรุกเข้าพื้นที่ประกอบพิธีกรรมและพื้นที่ไร่หมุนเวียน สร้างความเสียหายแก่ข้าวของเครื่องใช้และถังน้ำสำรองเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา23  สะท้อนถึงความย้อนแย้งของกฎระเบียบและแนวปฏิบัติของรัฐที่ขาดความเข้าใจในวิถีคนอยู่กับป่า ซึ่งเป็นวิถีหนึ่งในการช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

           นอกจากนี้ เกาะหลีเป๊ะ-เกาะอาดัง จังหวัดสตูล ที่ได้รับการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยังคงเผชิญปัญหาด้านการอ้างสิทธิในที่ดินจำนวน 3 แปลง ซึ่งทับซ้อนกับที่ดินของชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะที่อาศัยอยู่มาแต่เดิมก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวเลในพื้นที่ ทั้งการถูกดำเนินคดีเพื่อไร่ลื้อที่และถูกปิดกั้นทางสาธารณประโยชน์ที่เป็นเส้นทางในการเดินทางไปยังสถานที่สำคัญและพื้นที่ทางจิตวิญญาณ24  แม้ประเด็นดังกล่าวจะถูกร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจฺระหว่างปี 2564 – 2565 แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนถึงปัจจุบัน25  เห็นได้ชัดว่าสิทธิในที่ดินและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลยังคงถูกมองข้าม สะท้อนปัญหาเชิงอคติที่ฝังรากลึกผ่านนโยบายและกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ได้คำนึงถึงบริบททางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ จนนำไปสู่การขาดการแก้ไขอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน


7. สรุปสถานการณ์ชาติพันธุ์และทิศทางที่ต้องจับตามองในปี 2568

           ความสนใจต่อประเด็นชาติพันธุ์ในปี 2567 ถูกจับตามองอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่เริ่มปรากฏชัดเกี่ยวกับการขับเคลื่อนกฎหมายชาติพันธุ์ จนสามารถผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์จำนวน 5 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและที่ประชุมมีมติรับร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ จึงนำมาสู่การแต่งตั้งให้มี “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ...” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 256726  โดยมีสัดส่วนของผู้แทนจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคประสังคมและภาคประชาชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เข้ามาร่วมกันพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าวให้มีความคลอบคลุม สอดคล้องกับความต้องการของทุกกลุ่มเป้าหมาย

           การร่วมกันเคลื่อนไหว ผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ของทุกภาคส่วนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและนโยบายชาติพันธุ์ทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัดและในกรุงเทพมหานคร ตลอดจนมุ่งสร้างการรับรู้และยอมรับในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมผ่านการจัดแสดงงานดนตรีชาติพันธุ์27  การนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านเทศกาลอาหารชาติพันธุ์28  การเปิดตัวงานวิจัยในงาน “ไฟป่า ฝุ่นควัน ไร่หมุนเวียน” เป็นต้น นอกจากนี้การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ยังปรากฏการรวมตัวเป็นเครือข่าย เน้นย้ำให้เห็นพลังของกลุ่มชาติพันธุ์ในการขับเคลื่อนวาระทางสังคม เช่น การร่วมกันรณรงค์เฉลิมฉลองวันชนเผ่าพื้นเมืองประจำปี การร่วมกันจัดงานของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในแต่ละภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ภูมิปัญญา สืบทอดอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์29 30  การรวมตัวเรียกร้องให้มีการทบทวนกฎหมายและนโยบายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่จะส่งผลต่อสิทธิการดำรงชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์31

           อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและควรจับตามอง คือการขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมา มีชุมชนชาติพันธุ์จัดกิจกรรมประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 4 พื้นที่ ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีชุมชนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์รวมแล้ว 24 พื้นที่ แสดงให้เห็นแนวโน้มความสนใจต่อการยอมรับแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนชาติพันธุ์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรม การสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานภูมิปัญญาที่แพร่หลายมากขึ้น ทั้งนี้ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการผลักดันให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีหมวดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เป็นสาระสำคัญหนึ่งที่ต้องได้รับการยกระดับแนวทางการดำเนินงานให้ปรากฏเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น

           อย่างไรก็ดี ปี 2567 ยังคงเป็นปีที่ชุมชนชาติพันธุ์หลายชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ ดินโคลนถล่มและน้ำท่วมพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันผลกระทบจากภัยธรรมชาติดังกล่าวยังเผยให้เห็นม่านอคติที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งสังคมส่วนหนึ่งยังคงมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากมีการตัดไม้ทำลายป่า[32] การสื่อสารสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และยอมรับต่อวิถีการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงต้องดำเนินต่อไป เพื่อสลายม่านอคติดังกล่าวให้ลดน้อยลง ภาพรวมสถานการณ์ชาติพันธุ์ตลอดปี 2567 จึงเป็นหนึ่งปีที่ “ไม่ถึงกับสุข ไม่ถึงเศร้า ยังคงหน่วง ๆ” ซึ่งยังคงมีประเด็นที่ต้องจับตามองกันต่อในปี 2568 ดังนี้


1. การผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีการประกาศใช้ ซึ่งจะมีการอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 อีกครั้ง จากนั้นจึงจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน อย่างไรก็ดี สังคมต้องร่วมกันติดตามว่าการอภิปรายในสภาทั้ง 2 สภา จะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหา สาระสำคัญจากที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ได้จัดทำไว้มากน้อยเพียงใด และท้ายที่สุด สังคมไทยจะมีกฎหมายเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์เกิดขึ้นจริงหรือไม่

2. การสร้างกระบวนการสื่อสาร เพื่อเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในปี 2568 การพัฒนารูปแบบการสื่อสารทั้งในลักษณะของการจัดกิจกรรม การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์จะปรากฏเป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การรับรู้ ยอมรับ เข้าใจ และลดอคติที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ของสังคม

3. การขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง ทั้งในระดับนโยบายและการพัฒนาพื้นที่รูปธรรม เพื่อเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจต่อกระบวนการขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในด้านการบริหารจัดการข้อมูล การจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานในระดับพื้นที่และระดับนโยบายในการดำเนินงาน

4. การติดตามการแก้ไขปัญหากฎหมายและนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิการดำรงอยู่ของชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ว่าจะมีแนวทางในการแก้ไข ปรับปรุงให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและยอมรับสิทธิชุมชนมากน้อยเพียงใด

5. กลไกเพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ในระดับนานาชาติ ควรต้องดำเนินไปบนฐานของการมีส่วนร่วมของตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ในด้านการร่างข้อตกลงระหว่างประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องติดตาม ว่าภาครัฐจะสามารถนำกลไกระดับนานาชาติมาเป็นแนวทางในการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในระดับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมกลุ่มชาติพันธุ์มากน้อยเพียงใด หรือจะสามารถจัดหาพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีเกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่ของตนได้หรือไม่


1  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (28 ธันวาคม 2566). ภาคประชาชนรุก ภาคนโยบายรับ : ความหวังและความท้าทาย ในสถานการณ์ชาติพันธุ์ ปี 2566. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นจาก https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/556

2  Today. (18 มกราคม 2567). รมว.วัฒนธรรม เดินหน้าดันกฎหมายชาติพันธุ์ฉบับแรกของไทย. สืบค้นจาก  https://workpointtoday.com/ministry-of-culture-ethnic-law/#google_vignette

3  เดลินิวส์. (19 มกราคม 2567). ชี้ช่วยสร้างสังคมแห่งความเสมอภาค คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตทุกกลุ่มวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียม. สืบค้นจาก https://www.dailynews.co.th/news/3097424/

4  ข่าวสด. (28 กุมภาพันธ์ 2567). ชาติพันธุ์เฮ สภาฯ รับหลักการร่าง พ.ร.บ. สืบค้นจาก   https://www.khaosod.co.th/pr-news/news_8116501

5  The Active. (25 กันยายน 2567). สภาฯ มีมติ ถอนร่าง กม.ชาติพันธุ์ ให้ กมธ.กลับไปพิจารณาใหม่. สืบค้นจาก https://theactive.net/news/indigenous-20240925/

6  The Active. (26 เมษายน 2567). สถาปนา ‘บ้านแม่ปอคี’ จ.ตาก เขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชาติพันธุ์. สืบค้นจาก   https://shorturl.at/EQGHo

7  The Active. (8 มีนาคม 2567). ปักหมุดประกาศ พท.คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ชาวเลแห่งที่ 22 ชุมชนมอแกลน บ้านทับปลา-ลำปี. The Active. สืบค้นจาก https://theactive.net/news/indigenous-20240308/

8  The Active. (31 พฤษภาคม 2567). ปักหมุด พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ แห่งที่ 23 ชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ -เกาะอาดัง. สืบค้นจาก https://theactive.thaipbs.or.th/news/law-rights-20240531

9  The Active. (22 พฤศจิกายน 2567). ยกระดับชุมชนชาวเล ‘โต๊ะบาหลิว’ เกาะลันตา เขตคุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ แห่งที่ 24. สืบค้นจาก https://theactive.thaipbs.or.th/news/lawrights-20241122

10  เดลินิวส์. (13 มีนาคม 2567). เปิดเวทีกลางสยามสแควร์ จัดงานโชว์ “ดนตรีวิถีชาติพันธุ์”. สืบค้นจาก   https://www.dailynews.co.th/news/3254238/

11  สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดลำพูน. (8 พฤษภาคม 2567). เชิญเที่ยวงาน มหกรรมชาติพันธุ์ลำพูน ประจำปี 2567 วันที่ 18 – 20 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 - 21.00 น. ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (เชิงสะพานท่าขาม) อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน. สืบค้นจาก  https://radiolamphun.prd.go.th/th/content/category/detail/id/1816/iid/286112

12  ผู้จัดการออนไลน์. (26 สิงหาคม 2567). จังหวัดสมุทรสงคราม เชิญชวนท่องเที่ยววิถีไทยเชิงวัฒนธรรม ในงาน “สานสัมพันธ์ 5 ชาติพันธุ์ เพชรสมุทรคีรี.” สืบค้นจาก  https://mgronline.com/travel/detail/9670000078680

13  ThaiPBS. (2567). ละครซีรีย์ กล้าทะเล. สืบค้นจาก  https://www.thaipbs.or.th/program/KlaTaLay/episodes

14  เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง. (22 ตุลาคม 2567). COP 16 CBD นโยบายโลกที่ไม่รู้ไม่ได้. สืบค้นจาก   https://www.facebook.com/imnvoices/videos/939486708050703

15  คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ. (7 มีนาคม 2567). Draft ASEAN Declaration on Environmental Rights. สืบค้นจาก https://shorturl.at/jLveo

16  Matthew Reysio-Cruz. (30 มิถุนายน 2567). ASEAN Environmental Rights Declaration Needs Transparency: Working Group Should Publish Draft, Engage Civil Society. Human Rights Watch. สืบค้นจาก https://www.hrw.org/news/2024/06/30/asean-environmental-rights-declaration-needs-transparency

17  Greenpeace. (7 มิถุนายน 2567). ด้วยงานวิจัยและจิตวิญญาณ: ลองฟังเสียงและข้อมูลโต้อคติไร่หมุนเวียนตัวการฝุ่นพิษภาคเหนือ. สืบค้นจาก https://www.greenpeace.org/thailand/story/53059/food-agriculture-myth-of-swidden-agriculture/

18  Lanner. (11 พฤศจิกายน 2567). ‘ห้วยหินลาดใน’ คนอยู่ป่า ปัญหาโลกรวน ดินโคลนถล่ม และวาทกรรมที่มีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์. สืบค้นจาก https://www.lannernews.com/27092567-04/

19  The Active. (26 ตุลาคม 2567). ฟังดนตรี ล้อมวงกินข้าว งาน “มาเดาะ มากะ“ เทศกาลระบบอาหารชนเผ่าพื้นเมือง. สืบค้นจาก https://theactive.thaipbs.or.th/news/indigenous-20241026

20  iLaw. (9 สิงหาคม 2564). เปิดกฎหมายอุทยานและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ภาคต่อนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ของคสช. สืบค้นจาก  https://www.ilaw.or.th/articles/4777

21  เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง. (11 พฤศจิกายน 2567). จับตา 12 พ.ย. ร่าง พ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์เข้าครม. กฎหมายเปลี่ยนคนอยู่กับป่าให้กลายเป็นผู้บุกรุก. สืบค้นจาก https://imnvoices.com/?p=5284

22  ประชาไท. (11 พฤศจิกายน 2567). ขบวนการหยุด “พ.ร.ฎ.ป่าอนุรักษ์” จี้ นายกหยุดผลักดันกฎหมายเข้า ครม. พรุ่งนี้ กระทบ ปชช. ที่อยู่กับป่ากว่า 300,000 คน. สืบค้นจาก  https://prachatai.com/journal/2024/11/111346

23  Thai PBS. (20 มิถุนายน 2567). ชุมชนกะเหรี่ยงผวา หลังพื้นที่จิตวิณญานถูกบุกรุก | จับตารอบทิศ. สืบค้นจาก  https://www.facebook.com/watch/?v=475565808493315

24  The Active. (16 กันยายน 2567). อย่าให้เงียบ! คืบหน้าข้อพิพาทที่ดิน ‘เกาะหลีเป๊ะ’ จี้ นายกฯ เร่งสางปัญหาให้จบ. สืบค้นจาก  https://theactive.net/news/politics-20240916/

25  ประชาไท. (15 กันยายน 2567). กสม. ชี้เพิกถอนเอกสารสิทธิทับที่ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิฯ. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2024/09/110687

26  ไทยโพสต์. (2567). มติเอกฉันท์ สภาฯรับหลักการร่าง พรบ.คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้ง 5 ฉบับ. สืบค้นจาก  https://www.thaipost.net/hi-light/543058/.

27  The Active. (2567). “เสียงชาติพันธุ์ ลือลั่นทั่วสยาม.” สืบค้นจาก  https://theactive.thaipbs.or.th/news/pop-20240317

28  The Active. (2567). “มาเดาะ มากะ The Rotate Festival เทศกาลระบบอาหารชนเผ่าพื้นเมือง.” สืบค้นจาก https://theactive.thaipbs.or.th/view/indigenous-food

29  สยามรัฐ. (2567). สุดอลังการมหกรรมวัฒนธรรมสานสัมพันธ์"อิ้วเมี่ยนโลก 2024" พะเยา. สืบค้นจาก   https://siamrath.co.th/n/515134

30  สยามรัฐ. (2567). มุกดาหาร จัดงาน "โฮมเหง้าเผ่าผู้ไทย ไหว้พระไกรสรราชเมืองหนองสูง” ประจำปี 2567 และงาน วันผู้ไทโลก เท่อที่ 13. สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/520528

31  ThaiPBS. (2567). เครือข่ายชาติพันธุ์ฯ จี้รัฐเลิกกฎหมาย 2 ฉบับ ไล่คนออกจากป่า. สืบค้นจาก   https://www.thaipbs.or.th/news/content/346182

32 The Active. (2567). เมื่อ ‘อคติเหมารวม’ ผลักชุมชนดูแลป่า เป็นตัวต้นเหตุ ‘ภัยพิบัติ’ ?. สืบค้นจาก  https://theactive.thaipbs.or.th/news/disaster-20240924-4


ผู้เขียน
เจษฎา เนตะวงศ์ นักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
พมิรา รักษ์อรศิลป์ นักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ สถานการณ์ชาติพันธุ์ อคติชาติพันธุ์ ทิศทาง เป้าหมาย เจษฎา เนตะวงศ์ พมิรา รักษ์อรศิลป์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา