หลังเชื้อชาติ (post-racial): การสะท้อนย้อนคิดเชิงปรัชญา ของการศึกษาเชื้อชาติ

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 664

หลังเชื้อชาติ (post-racial): การสะท้อนย้อนคิดเชิงปรัชญา ของการศึกษาเชื้อชาติ

           บทความชิ้นนี้เริ่มต้นจากความสนใจประเด็นเชื้อชาติในงานของ Ovett Nwosimiri นักปรัชญาชาวไนจีเรีย ผู้มีความสนใจทางวิชาการด้านปรัชญา จริยศาสตร์ ชาติพันธุ์ และเชื้อชาติ งานของเขาเน้นศึกษาผ่านบริบทประเทศในแถบแอฟริกาเพื่อสร้างข้อถกเถียงและพัฒนา ญาณวิทยาด้านปรัชญาการเมือง ปรัชญาของเชื้อชาติ รวมไปถึงปรัชญาว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์

           ประเด็นหลังเชื้อชาติ หรือ Post-Racial เป็นข้อเสนอว่าด้วยบทสะท้อนเชิงปรัชญาที่ปรากฏในบทความเรื่องRace, Ethnicity and a Post-Racial/Ethnic Future: A Philosophical Reflection (2021) โดยใช้ข้อมูลภาคสนามจากประเทศไนจีเรียและประเทศแอฟริกาใต้ในการตรวจสอบแนวคิดชาติพันธุ์ เชื้อชาติ และอนาคตของเชื้อชาติ Nwosimiri นิยามอย่างกระชับว่าชาติพันธุ์มักถูกใช้ในลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่สลับกันไปมาได้ ส่วนเชื้อชาติเป็นแนวคิดสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 โดยเจ้าอาณานิคมตะวันตก แนวคิดเชื้อชาติมีลักษณะแยกคนในเชิงเรือนกายชีวภาพ มนุษย์จึงถูกกำหนดคุณค่าผ่านเรือนร่างและสีผิว แต่ถึงอย่างนั้นในทางปรัชญาไม่มีคำนิยามเชื้อชาติระดับสากล ขอบเขตคำนิยามคือการจับคำสำคัญที่ฝังแน่นอย่างลึกซึ้งกับปฏิบัติการทางสังคม เชื้อชาติในทางปรัชญาจึงแฝงไปด้วยความหมายของการเป็นมนุษย์ในฐานะวัตถุที่ถูกสร้างผ่านอำนาจของทัศนคติคนอีกซีกโลก (Nwosimiri, 2021)

           จุดเปลี่ยนที่ทำให้ Nwosimiri ทบทวนความเข้าใจต่อแนวคิดเชื้อชาติและชาติพันธุ์ใหม่คือผลของการแบ่งแยกรูปแบบการศึกษาเชื้อชาติและชาติพันธุ์ เช่น ประเทศไนจีเรียเกิดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และในประเทศแอฟริกาใต้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เขามองว่าการแบ่งในลักษณะคู่แนวคิดดังกล่าวสร้างความชอบธรรมทางทฤษฎีมากเกินไป แม้ประเทศในทวีปแอฟริกาจะปรากฏเรื่องเล่า (narrative) ข้อเท็จจริงว่าด้วยเชื้อชาติและชาติพันธุ์ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการยืนยันถึงปฏิบัติการเชิงสังคมเหล่านี้ เนื่องจากเป็นสัญญาณการผลิตซ้ำความไม่เสมอภาคทั้งในทางความรับรู้และทางวิชาการ และเป็นกับดักแนวคิดรูปแบบหนึ่ง (Ibid.) เขาจึงหันมาพิจารณาแนวคิดเรื่อง Post-racial Future ของ Emmanuel Eza ในหนังสือ Achieving our Humanity: The Idea of the Postracial Future (2001)

           Eza (2001) มีวิธีการศึกษาปรัชญาที่ต่างไปจากปรัชญาตะวันตกและปรัชญาแอฟริกา เขาวิจารณ์แนวทางของปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ การมุ่งศึกษาจิตไร้สำนึกเชื้อชาติ (racial unconscious) สะท้อนการทำให้ศาสตร์ทางปรัชญาเป็นสิ่งสากลอย่างไม่ต้องสงสัย สำหรับ Eza แล้วปรัชญาสมัยใหม่กำลังสร้างแบบแผนทางความรู้ในรูปแบบการโหมประโคมถกเถียงปัญหาอคติทางเชื้อชาติที่คนท้องถิ่นเผชิญจากรากฐานทางวัฒนธรรมของพวกเขา กรอบการศึกษาจึงเป็นเพียงการสร้างบริบทใหม่เพื่ออธิบายผลการศึกษาที่สำเร็จรูป (Ibid.) เขาจึงเสนอการผสมผสานระหว่างปรัชญาจากทางแอฟริกา ความรู้ทางมานุษยวิทยา และศาสตร์ทางชาติพันธุ์วิทยาเพื่อหาคำตอบที่เกิดขึ้นในแต่ละบริบทวัฒนธรรม

           ข้อเสนอของ Eza ถูกวิจารณ์ถึงการเชื่อมต่อกระบวนทัศน์ต่าง ๆ ในพื้นที่การศึกษาภาคสนามพอสมควร รวมทั้ง Nwosimiri (2021) ที่มองว่าข้อเสนอของ Eza (2001) ไม่มีความสมส่วนกันในการผสานความรู้ทางปรัชญาและชาติพันธุ์วรรณนา เช่นในกรณีประเทศไนจีเรียมีความเป็นชนเผ่าสูง การสร้างความรู้ควรจะเน้นไปที่การศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณนา ซึ่งแตกต่างจากปรากฏการณ์เชื้อชาติสมัยใหม่ที่สนใจศึกษาปัญหาเชื้อชาติของผู้คนในประเทศแบบเหมารวม อันกลายเป็นช่องโหว่ต่อการวิเคราะห์ตามข้อเสนอแบบ Post-Racial Future ของ Eza

           อย่างไรก็ตาม Nwosimiri (2021) และ Eza (2001) เห็นร่วมกันว่าแนวทางปรัชญามีส่วนสำคัญที่สามารถผสานมุมมองการศึกษาและตีแผ่อคติทางเชื้อชาติได้อย่างละเอียดอ่อน โดยเฉพาะ Nwosimiri ยกตัวอย่างประโยค“I arrive in South Africa that I knew I was black” แม้จะเป็นประโยคที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป แต่ในทางปรัชญาประโยคดังกล่าวเป็นการพูดในระดับญาณวิทยา (epistemic claim) ในเชิงการบังเกิด (incidence) ซึ่งสะท้อนว่าคนผิวดำ (black) เป็นสิ่งที่รู้ว่ามีอยู่ ต่างจากประโยค “It was when I came to South Africa that I became black” ประโยคระดับภววิทยา (ontological claim) ในเชิงการตระหนักรู้ (awareness) ซึ่งสะท้อนลักษณะการเป็นสิ่งที่มันเป็น (Ibid.)

           เมื่อโยงกับงานของ Eza (2001) สถานการณ์ดังกล่าวเรียกว่าเป็นวิภาษวิธีทางเชื้อชาติ (racial dialectics) นั่นคือ เมื่อการกล่าวอ้างว่าคนผิวดำ (black) เป็นสิ่งที่มีอยู่ (exist) ผ่านการตระหนักรู้ตนเองและการรับรู้จากผู้อื่น ก่อให้เกิดเหยื่อทางชนชั้นและทำให้คนผิวดำอื่นถูกทำให้เป็นคนดำร่วมกัน (being blackened together) รวมไปถึง Nwosimiri วิภาษวิธีแบบดังกล่าวก็ได้ทำให้เขากลายเป็นคนดำ (black) โดยไม่สนใจว่าเขาจะเกิดในชนเผ่าชาติพันธุ์ใด ทุกคนที่เกิดมาผิวดำจึงถูกเหมารวมว่าเป็นพวกเดียวกันหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วข้อถกเถียงสำคัญควรเป็นเรื่องที่ว่ามนุษย์เกิดมา ‘ผิวขาว’ หรือ ‘ผิวดำ’ มากกว่าด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้การถกเถียงเรื่องเชื้อชาติยังเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่? และในแง่นี้แม้เชื้อชาติมีอยู่จริง แต่ก็ไม่ได้เป็นแนวคิดสำคัญที่ใช้แสวงหาความเข้าใจปรากฏการณ์มนุษย์เสมอไป (Nwosimiri, 2015)

           นอกจากบทสะท้อนเชิงปรัชญาต่อประเด็น Post-racial Future ของ Eza (2001) แล้ว Nwosimiri ยังทดลองเสนอแนวคิดแบบ Post-Racial ในระดับการถอยกลับไปสู่แนวคิดเชิงปรัชญาว่าด้วยความเป็นมนุษยชาติในระดับสามัญ (common humanity) ความจริงคือไม่ว่ามนุษย์จะอยู่ในสังคมชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติใด พวกเขาล้วนถูกบรรจุไว้ด้วยคุณค่า ประสบการณ์ และคุณสมบัติของลักษณะการเป็นมนุษย์ (human beings) ซึ่งมันได้สร้างภูมิปัญญาความคิด การแบ่งปันคุณค่า ตลอดจนแลกเปลี่ยนความจำเป็นขั้นพื้นฐาน แรงปรารถนา หรือความคาดหวังบางอย่างเพื่อทำการเติมเต็มความเป็นมนุษย์ สิ่งเหล่านี้เป็นแก่นแกนพื้นฐาน (fundamentally essential) ในการอธิบายปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมวัฒนธรรมโดยไม่ได้เริ่มจากแนวคิดเรื่องเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์

           เขายกตัวอย่างงานของ Kwame Gyekye ผู้ศึกษาทัศนคติของชาวแอฟริกาที่มองผู้คนโดยไม่คำนึกถึงพื้นเพทางชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติ ชาวแอฟริกาเหล่านี้เรียกแทนบุคคลอื่นในฐานะพี่น้อง (brothers) และใช้คำดังกล่าวในรูปแบบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนทั้งพี่น้องที่มีความเชื่อมโยงทางสายเลือด (blood ties) และพี่น้องที่ไม่ได้มีความผูกพันทางสายเลือดใด ๆ (Gyekye, 1997) ข้อเสนอแบบ Post-Racial จากตัวอย่างนี้ถือเป็นลักษณะพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่อาจทำให้ข้ามพ้นมุมมองความคิดเรื่องเชื้อชาติและชาติพันธุ์ได้


เอกสารอ้างอิง

Eza, C. Emmanuel. (2001). Achieving our Humanity: The Idea of the Postracial Future. Routledge: New York.

Gyekye, Kwame. (1997). Tradition and Modernity: Philosophical Reflections on the African Experience. Oxford University Press: Oxford.

Nwosimiri, Ovett . (2015) .Rethinking the Concept of Race’s Conundrums in African Philosophy. M.A. Thesis. University of Kwa-Zulu Natal.

Nwosimiri, Ovett . (2021). Race, Ethnicity and a Post-racial/ethnic Future: A Philosophical Reflection. In Filosofia Theoretica: Journal of African Philosophy, Culture and Religions, 10(2). Pp. 159-174.


ผู้เขียน
วิมล โคตรทุมมี
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ หลังเชื้อชาติ post racial ปรัชญา การศึกษาเชื้อชาติ วิมล โคตรทุมมี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา