พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์: จุดเปลี่ยนการอนุรักษ์กระแสหลักสู่แนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชน

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 1632

พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์: จุดเปลี่ยนการอนุรักษ์กระแสหลักสู่แนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชน

           การประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตอุทยานแห่งชาติชวนให้จินตนาการถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่ชี้วัดด้วยจำนวนและสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ แนวคิดดังกล่าวเป็นรูปธรรมหนึ่งของการจัดการธรรมชาติด้วยแนวคิดแบบทวิลักษณ์นิยม (dualism) อันเป็นผลมาจากประวัติศาสตร์อาณานิคมที่แบ่งแยกลำดับชั้น (hierarchy) ในขณะเดียวกันก็สร้างสภาวะการพึ่งพา (dependency) ให้สิ่งที่มีอำนาจน้อยกว่าไม่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง ต้องถูกควบคุมโดยอีกสิ่งที่มีอำนาจมากกว่าผ่านวาทกรรมและความเป็นสถาบัน (Plumwood 1993) เช่น การแบ่งแยกระหว่าง “มนุษย์” กับ “ธรรมชาติ” (human/nature)

           หากมองในมุมของนักอนุรักษ์ การแบ่งแยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์ไว้ไม่ให้ถูกรบกวนโดยมนุษย์ เป็นแนวคิดการอนุรักษ์กระแสหลักที่ก่อตัวขึ้นในโลกตะวันตกมาหลายทศวรรษ แนวคิดทำให้เกิดการสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ โดยสร้างกรอบให้ธรรมชาติกลายเป็นสิ่งภายนอกและไม่สัมพันธ์กับมนุษย์ ซึ่ง Jon Anderson (2010) มองว่าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจะยิ่งถูกผลักออกไปและถูกพร่าเลือนว่าเป็นผลมาจากกิจกรรมด้านการพัฒนาของมนุษย์

           แต่จากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบแบบข้ามพรมแดน เช่น หมอกควันและภาวะโลกร้อน นำมาสู่แนวคิดที่เชื่อว่าการกระทำของ มนุษย์ คือต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการก้าวเข้าสู่ยุคแอนโทรโปซีน (Anthropocene) หรือ ยุคสมัยของมนุษย์ นักคิดเฟมินิสต์อย่าง Donna Haraway (Haraway, Mitman, and Tsing 2019) โต้แย้งแนวคิดดังกล่าว และมองว่าแนวคิดนี้ทำให้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์เป็นเพียงทรัพยากรที่รอวันถูกยึดครองเท่านั้น และไม่ใช่ “มนุษย์” ทุกคนที่ก่อให้เกิดวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ Anna Tsing (2021) กล่าวเสริมว่า ควรมองยุคแอนโทรโปซีนอย่างเป็นหย่อมย่าน (patchy Anthropocene) เพราะวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์อย่างเท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ ชุมชนพื้นถิ่นมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการพัฒนา แทนที่จะเป็นกลุ่มนายทุนที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าว

           แนวคิดการอนุรักษ์กระแสหลักจึงมีความสัมพันธ์กับการสะสมทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการฉกฉวยทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน และการขูดรีดแรงงานเพื่อสร้างกำไรให้แก่ตนเอง ถือเป็นการสะสมทุนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของชนชั้นปกครอง ในประเด็นนี้ Brockington et al. (2008 อ้างถึงใน Büschera และ Fletcher 2014) เสนอว่า นักอนุรักษ์ธรรมชาติกระแสหลักมักแสดงออกว่าตนเป็นขั้วตรงข้ามกับเศรษฐกิจเชิงอุตสาหกรรม แต่ในทางกลับกัน การอนุรักษ์รูปแบบดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ที่พยายามสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ และอนุรักษ์มันไว้เพื่อเป็น “ต้นทุนทางธรรมชาติ”

           เช่นเดียวกับงานเขียนเรื่อง ธรรมชาติสถาปนา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสมัยของทุนของ ณภัค เสรีรักษ์ (2566) อธิบายเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติภายใต้การขยายตัวของเศรษฐกิจทุนนิยม ที่ชี้ให้เห็นว่าธรรมชาติกลายเป็นทรัพยากรที่ถูกจัดการผ่านการทำให้กลายเป็นสินค้า (commodification of nature) กระบวนการพรากทรัพยากร (accumulation by dispossession) และยังหมายรวมถึงการจัดการมนุษย์บางกลุ่มที่ถูกกดทับและอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมให้กลายเป็นแรงงานราคาถูกอีกด้วย ขณะที่ Jason Moore และ Raj Patel (2018) กล่าวถึง “ยุคสมัยของทุน” (Capitolocene) เพื่อเน้นย้ำถึงระบบทุนนิยมที่แทรกซึมเข้ามาจัดการความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ (ชนชั้นปกครอง) และ ธรรมชาติ (หมายรวมถึงมนุษย์ที่ถูกปกครอง) อันก่อให้เกิดการขยายตัวของการสะสมทุนไปยังพื้นที่อื่น ๆ ผ่านการใช้ความรุนแรง วัฒนธรรม หรือความรู้ เพื่อใช้สอย ธรรมชาติ ในรูปแบบที่มีราคาถูกที่สุด

           ในบริบทสังคมไทย ป่าเคยถูกทำให้เป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์และการส่งออกภายใต้การแทรกแซงและสนับสนุนของอาณานิคมยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 20 ก่อนจะถูกห้ามสัมปทานป่าไม้ในปี พ.ศ. 2532 อย่างไรก็ตาม รัฐได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วยการเข้าควบคุมพื้นที่ผ่านการจัดทำแผนที่เพื่อการอนุรักษ์ ผู้เขียนเห็นว่าความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ในการอนุรักษ์ธรรมชาติคือการยึดแย่งพื้นที่สีเขียว (green grabbing) ผ่านการออกกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่ง Marcelo Marques Miranda (2019) อธิบายว่ากฎหมายเหล่านี้เป็นการสถาปนา จัดการ และรักษาธรรมชาติผ่านการเป็นเจ้าของ ใช้ประโยชน์ และอยู่อาศัยในพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการดำเนินวิถีชีวิตของชุมชนพื้นถิ่นที่อาศัยอยู่เดิม

           รูปธรรมในกรณีของประเทศไทย คือ การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2524 และการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าแก่งกระจานในปี พ.ศ. 2564 สะท้อนการอนุรักษ์กระแสหลักที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ รวมถึงการคำนึงถึงคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ในฐานะเป็นที่อยู่อาศัยของนานาพันธุ์พืชและสัตว์ป่า อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่าแก่งกระจานมีกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ และมีหลักฐานการอยู่อาศัยก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ แต่กลับถูกโยกย้ายถิ่นฐานและเผชิญกับความยากจนเมื่อต้องผันตนเองมาเป็นแรงงาน (International Work Group for Indigenous Affairs 2021) นอกจากนี้ ชาวบ้านบางกลุ่มไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน ไม่สามารถทำการเกษตรได้เนื่องจากขาดน้ำและความอุดมสมบูรณ์ของดิน และวิถีชีวิตดังกล่าวไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิมและวัฒนธรรมการทำไร่หมุนเวียน (เพ็ญพรรณ อินทปันตี 2564) เหตุการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการสะสมทุนเกิดขึ้นตั้งแต่การพรากทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ และการเกิดขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ทำให้ชาวปกาเกอะญอกลายเป็นเพียงผู้รอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐเท่านั้น

           อีกหนึ่งพื้นที่ในกระแสสถานการณ์ปัจจุบันอย่างป่าทับลาน แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการอนุรักษ์กระแสหลักที่มองว่าป่าต้องปราศจากการอยู่อาศัยของมนุษย์ ซึ่งเป็นการสะสมทุนผ่านการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบอุทยานแห่งชาติ หากมองย้อนกลับไปถึงวาทกรรมด้านการพัฒนาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ธรรมชาติในไทยถูกมองเป็นเพียงที่ดินและวัตถุดิบ ในขณะที่มนุษย์ถูกมองว่าเป็นแรงงาน (ยศ สันตสมบัติ 2559 อ้างถึงใน สุรศักดิ์ จำรัสการ 2560) ซึ่งมุมมองการพัฒนาดังกล่าวเป็นการทำลายชุมชนและธรรมชาติเพื่อสร้างความทัดเทียมด้านความเจริญของประเทศ ต่อมา ธรรมชาติถูกมองว่าเป็นสิ่งที่สามารถจัดการได้ผ่านการกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและการศึกษาของประชาชน โดยเกิดการตัดถนนผ่านอุทยานแห่งชาติทับลาน การสร้างฝายเก็บน้ำ และโครงการท่องเที่ยวในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่ง สุรศักดิ์ จํารัสการ (2560) เห็นว่า เป็นความขัดแย้งเชิงพื้นที่ กล่าวคือ ในแง่หนึ่ง รัฐต้องการอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์ป่า แต่กลับพัฒนาบริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและมีรายได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านนักท่องเที่ยวและที่พักในอุทยานแห่งชาติทับลานเอง จากการศึกษาของ จันธนพัล วงฐ์ธนชัยพล และคณะ (2567) พบว่า มีชุมชนอาศัยอยู่ในพื้นที่โดยใช้สิทธิในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน แต่ในปัจจุบัน ชุมชนเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นผู้บุกรุกผ่าน พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติแม้จะเคยได้รับสิทธิในพื้นที่ก่อนหน้านี้ก็ตาม

           เห็นได้ว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของไทยเป็นไปในแนวทางเดียวกับการอนุรักษ์กระแสหลักที่เน้นเรื่อง “ป่าปลอดคน” และ “การจัดการธรรมชาติ” โดยการผูกขาดการจัดการทรัพยากรไว้ที่รัฐ และแม้ในกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติเริ่มมีมาตรการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า แต่ก็ยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และปราศจากการมีส่วนร่วมของชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ร่วมกันป่า แนวทางดังกล่าวจึงเป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบวาทกรรมและสถาบันให้การสะสมทุนและการขยายตัวของมันดูแยบยลขึ้น ดังนั้น ข้อเสนอสำคัญในการทำความเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ต้องมองเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนชั้นปกครองกับผู้ถูกปกครองและมนุษย์กับธรรมชาติในบริบทของทุนนิยมและให้คุณค่าต่อความสามารถในการบริหารจัดการพื้นที่ตามวิถีภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจะช่วยรื้อถอนปัญหาเชิงโครงสร้างที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน และก่อให้เกิดการผสานองค์ความรู้ท้องถิ่นในการอนุรักษ์ธรรมชาติและการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนต่อไป

           ที่ผ่านมา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ผลักดันแนวคิด “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” เพื่อชี้ให้เห็นว่าการจัดการพื้นที่และการอนุรักษ์ธรรมชาติสามารถดำเนินไปอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนในฐานะชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ และจะช่วยสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ รวมทั้งชุมชนได้รับการส่งเสริมศักยภาพบนฐานทุนทางวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการผสานองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและพึ่งพาตนเองได้ โดยความหมายของคำว่า “พื้นที่” ครอบคลุมทั้งพื้นที่เชิงวัฒนธรรมและพื้นที่เชิงกายภาพ 5 ประเภท ได้แก่ พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินตามวิถีภูมิปัญญา พื้นที่ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม พื้นที่ที่ชุมชนมีการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนฐานวัฒนธรรม และพื้นที่ที่ชุมชนมีการจัดการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

           ปัจจุบันมีพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 23 พื้นที่ที่ได้รับการประกาศไปแล้ว และกระจายตัวอยู่ในเกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย หนึ่งในตัวอย่างพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการยกย่องว่าสามารถช่วยรักษาผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ไว้กว่าหมื่นไร่ คือ ชุมชนปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย  โดยชุมชนมีข้อตกลงร่วมกันในการดูแลป่าชุมชนบนฐานวัฒนธรรมและข้อห้ามตามประเพณี เช่น การห้ามตัดไม้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และการทำแนวกันไฟช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี นอกจากนี้ ชุมชนยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนจนช่วยสร้างรายได้ผ่านผลิตภัณฑ์ชุมชน (กาแฟ ชา และน้ำผึ้ง) และได้รับการยอมรับในระดับชาติและสากล


รายการอ้างอิง

Anderson, J. (2010). From ‘Zombies’ to ‘Coyotes’: Environmentalism Where We Are. Environmental Politics, 19(6), 973-991.

Büschera, B., & Fletcher, R. (2014). Accumulation by Conservation. New Political Economy, 20(2), 1-26.

Gregg, M., Haraway, D., & Tsing, A. (2019). Reflections on the Plantationocene - A Conversation with Donna Haraway and Anna Tsing. Edge Effects.

International Work Group for Indigenous Affairs. (2021, 19 February). Protect the Indigenous Karen to Return Home Safely. https://www.iwgia.org/en/news/3996-protect-the-indigenous-karen-to-return-home-safely.html

M. M. (2019). The Resurgence of the Heritage of Indigenous Peoples of Thailand in the Aftermath of Development.Journal of Heritage Management, 4(1), 73–84.

Moore, J. W., & Patel, R. (2018). History of the World in Seven Cheap Things: A Guide to Capitalism, Nature, and the Future of the Planet. University of California Press/Black Press reprint.

Plumwood, V. (1993). Feminism and the Mastery of Nature. Routledge.

Tsing, A L., Deger, J., Saxena, A. K., & Zhou, F. (2021). Introduction to Feral Atlas, Feral Atlas: The More-Than-Human Anthropocene. Stanford University Press. https://feralatlas.supdigital.org/?cd=true&bdtext=introduction-to-feral-atlas

สุรศักดิ์ จำรัสการ. (2560). วาทกรรมการใช้ประโยชน์ในที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชน กรณีศึกษา : อุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน [วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรังสิต]. Rangsit University Intellectual Repository.

จันธนพัล วงฐ์ธนชัยพล, นิธิตา สิริพงศ์ทักษิณ, นิพนธ์ โซะเฮง, และณัฐพงศ์ บุญเหลือ. (2567). ปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานกรณีศึกษาเขตปฏิรูปที่ดินในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา. วารสารรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, 7(1), 44-60.

เพ็ญพรรณ อินทปันตี. (2564, 21 มกราคม). ย้อนอดีต เส้นทางที่ไม่ได้เลือก: กะเหรี่ยงแก่งกระจาน. The Active. https://theactive.net/data/karen-kaeng-krachan-timeline/


ผู้เขียน
พมิรา รักษ์อรศิลป์
นักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ พื้นที่คุ้มครอง วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การอนุรักษ์ แนวคิด การมีส่วนร่วม ชุมชน พมิรา รักษ์อรศิลป์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา