มรดกชาติ(พันธุ์): ภูมิปัญญาชาติพันธุ์กับการขึ้นทะเบียนมรดก “ของชาติ”

 |  ชาติพันธุ์ อัตลักษณ์
ผู้เข้าชม : 1278

มรดกชาติ(พันธุ์): ภูมิปัญญาชาติพันธุ์กับการขึ้นทะเบียนมรดก “ของชาติ”

           ในช่วงหลังของศตวรรษที่ 20 การปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม (cultural heritage) ในระดับโลก มุ่งให้ความสำคัญกับการปกป้องวัตถุที่มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ และเศรษฐกิจที่ เป็นที่ยอมรับและประเมินค่าได้ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นในโลกตะวันตกและใช้กันอย่างแพร่หลาย (สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ 2560) การประเมินคุณค่าดังกล่าว นำมาสู่การแสวงหามาตรการที่เหมาะสมในการจำแนกและขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกของโลก ดังเช่นกรณีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรม ที่มักจะเป็นแหล่งมรดกโลกที่ตั้งอยู่ในบริเวณกลุ่มประเทศโลกเหนือ (Global North)

           ด้วยเหตุนี้ กล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นของแนวคิด “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” (intangible cultural heritage) (หรืออาจเป็นที่รู้จักในชื่อเรียกอื่น เช่น “มรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพ” “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้”ฯลฯ) ตลอดจนการตราอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ของยูเนสโก เป็นการวิพากษ์แนวคิดกระแสหลักในการอนุรักษ์มรดกที่มักให้ความสำคัญกับความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงที่จัดทำโดยรัฐ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรระหว่างประเทศ และหันมาให้ความสนใจกับแนวปฏิบัติของชุมชนโดยเฉพาะชุมชนชาติพันธุ์ ในฐานะผู้สร้างสรรค์มรดกภูมิปัญญาและผู้รักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษย์ (UNESCO 2565) อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้แนวคิดดังกล่าวจะให้คุณค่าต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่การกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในระดับชาติ จะเป็นกระบวนการที่ชุมชนมีส่วนร่วมและเกิดการยอมรับภูมิปัญญาและความรู้ท้องถิ่นอย่างแท้จริงหรือไม่


การเลือกสรรความเป็นชาติผ่านมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

           โดยทั่วไป “มรดกของชาติ” มักเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเองและบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ร่วมของความเป็นชนชาติเดียวกัน ที่ต้องอนุรักษ์ ปกป้อง และเทิดทูนเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้สืบทอด ความเข้าใจนี้ทำให้มรดกของชาติยึดโยงกับความเป็นชาติ ความเป็นพลเมือง และชาตินิยม ดังเห็นได้จากบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐไทยในยุคสร้างรัฐชาติ ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อมรดกภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของชุมชนชายขอบ ซึ่งเป็นผลมาจากการปกครองแบบเผด็จการที่มักอ้างสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม ตลอดจนแนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมก็มุ่งให้ความสำคัญเฉพาะแต่วัฒนธรรมไทย และมองว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นภัยต่อความมั่นคง (Barry 2013)

           อย่างไรก็ดี แม้การประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จะมีขึ้นเพื่อให้ชุมชนชาติพันธุ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการมรดกของตนมากขึ้น แต่บ่อยครั้งก็พบว่า วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกจัดการโดยรัฐเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนต้องปรับเปลี่ยนภูมิปัญญาของตนไปเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวที่อยากเห็นการแสดงหรือผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมแบบใดแบบหนึ่ง ดังนั้น เมื่อต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่กำกับโดยรัฐ วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตหรือความเชื่อ ก็สูญเสียอัตลักษณ์และมิติทางจิตวิญญาณไป

“คึ-ฉึ่ย” และ “ก่าบาง”: ภูมิปัญญาชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบแม้จะมีการประกาศขึ้นทะเบียน

“มรดกทางวัฒนธรรม มรดกทางภูมิปัญญาที่เราทั้งชาติเชิดชูอยู่

ก็ไม่มีอยู่นอกจากในกระดาษ ในทะเบียนเท่านั้นเอง”

ดร.นฤมล อรุโณทัย (ทัศนีย์ ประกอบบุญ 2565)


           คึ-ฉึ่ย หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ไร่หมุนเวียน” เป็นวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอด้วยความเคารพธรรมชาติ ทุกปีชาวบ้านจะเสี่ยงทายพื้นที่เพื่อปลูกพืชพันธุ์ และในปีถัดไปจะไม่ใช้พื้นที่เดิมซ้ำเพื่อให้ธรรมชาติค่อย ๆ ฟื้นฟูกลับมา ซึ่งเป็นการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและความมั่นคงทางอาหาร อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติมาตั้งแต่ปี 2556 กรณีศึกษาชุมชนปกาเกอะญอแห่งหนึ่งในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ กลับพบว่าการออกประกาศต่าง ๆ ของรัฐ เช่น การประกาศให้สะเมิงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ การออกนโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. 2557 และการส่งเสริมการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้การทำไร่หมุนเวียนลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว และชาว ปกาเกอะญอยังถูกตีตราว่าเป็นผู้บุกรุกป่า ซ้ำร้าย ยังเกิดการสร้างมายาคติว่าไร่หมุนเวียนคือ ไร่เลื่อนลอย ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศผ่านการเผาป่าและทำลายความสมบูรณ์ของธรรมชาติ (วัชระ ศรีเมืองมูล และคณะ 2564)

           แม้แต่ในพื้นที่ที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวที่สื่อถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ดังเช่นบ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย กลับปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดบุกรุกพื้นที่ไร่หมุนเวียนและสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของชาวบ้านเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 และยังพบว่า มีการทำลายสิ่งของที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมที่สำคัญต่อความเชื่อและวิถีชีวิตในฤดูกาลทำไร่หมุนเวียน รวมไปถึงถังสำรองน้ำที่ใช้ดับไฟตามแนวกันไฟก็ถูกทำลายด้วยเช่นกัน (The Active 2567)


ไร่หมุนเวียนชุมชนปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน จังหวัดเชียงราย

ภาพโดย ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี


           อย่างไรก็ดี ในขณะที่ไร่หมุนเวียนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นและได้รับการผลักดันในระดับปฏิบัติการอยู่บ้าง แต่ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนอย่างการทำเรือ ก่าบาง กลับหายไปจากความสนใจของสังคม เป็นผลมาจากนโยบายที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งด้านสัญชาติ การจัดการทรัพยากร และสิทธิทางวัฒนธรรม ในอดีตชาวมอแกนใช้ก่าบางเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวและยานพาหนะเดินเรือหาเลี้ยงชีพเป็นระยะเวลาหลายเดือน ซึ่งถือเป็นของคู่ใจที่เปรียบเสมือน “บ้าน” แต่ภายหลังการประกาศให้หมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เป็นอุทยานแห่งชาติใน พ.ศ. 2524 ชาวมอแกนต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับห้ามจับสัตว์น้ำและการลากอวนผิดกฎหมาย ส่งผลให้ชาวมอแกนบางคนต้องผันตัวมาเป็นแรงงานราคาถูกในครัวของร้านอาหารหรือขับเรือให้การท่องเที่ยวของอุทยาน ตลอดจนถูกโยกย้ายและถูกจำกัดพื้นที่อยู่อาศัยไว้จุดเดียวเพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมของภาครัฐ

           ในปี 2561 พบว่ามีก่าบางเหลืออยู่เพียงลำเดียวบนเกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา และไม่สามารถสร้างเพิ่มเติมขึ้นได้อีก เนื่องจากชาวมอแกนไม่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐให้ตัดไม้ระกำเพื่อการประกอบเรือ (Neef et al. 2018) แต่ในปีเดียวกันนี้ การทำเรือก่าบางได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ โดยได้รับสถานะ “ปฏิบัติอย่างแพร่หลาย” (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ม.ป.ป.) จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าการขึ้นทะเบียนสะท้อนสถานะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมากน้อยเพียงใด ใครคือผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการประกาศขึ้นทะเบียนฯ รวมไปถึงผู้ถือครองและผู้ปฏิบัติวัฒนธรรมนั้น จะได้ประโยชน์อะไรจากมาตรการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร


ก่าบางมอแกนดั้งเดิม

ภาพจาก เว็บไซต์ Culturio ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


สรุป

           แม้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและบริบทของผู้ถือครองและผู้ปฏิบัติวัฒนธรรม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยเร่ง เช่น เทคโนโลยีและนโยบายแบบรวมศูนย์ของรัฐที่ขาดความเข้าใจในวิถีท้องถิ่น ทำให้มรดกเหล่านี้สูญหายเร็วกว่าที่ควรจะเป็น อีกแง่หนึ่ง เห็นได้ว่านโยบายของรัฐด้านการพัฒนา การอนุรักษ์ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่างผลักให้กลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มเปราะบางและสูญเสียสิทธิในวิถีปฏิบัติตามวัฒนธรรมของตน สวนทางกับความพยายามในการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่ต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนและปกป้องคุ้มครองมรดกท้องถิ่นและของชาติ

           ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงไม่ใช่การเพิ่ม “จำนวน” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ แต่ต้องเป็นการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นจริง ตั้งแต่ระดับทัศนคติของสาธารณชนว่าการดำรงอยู่ของสังคมไทยนั้น คือการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และการรักษาภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ยังเปรียบเสมือนการส่งเสริมให้เกิดทุนทางวัฒนธรรมของสังคมให้มีความหลากหลายและยั่งยืน ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและสร้างสังคมแห่งการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นรากฐานที่แข็งแรงในการสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันและลดความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้น

           ผู้เขียนมีข้อเสนอเพื่อยกระดับการดำเนินงานของภาครัฐในประเด็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ครอบคลุมผ่านมาตรการทางกฎหมายและการเสริมศักยภาพ ดังนี้

           1) ดำเนินการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ชุมชนมีมาตรการทางกฎหมายในการสร้างความเข้าใจกับภาครัฐ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร และสามารถปฏิบัติตามวิถีดั้งเดิมของตนโดยมีกฎหมายคุ้มครอง

           2) บูรณาการการทำงานของกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้เกิดการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น โดยเฉพาะการทำความเข้าใจเรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ในฐานะพื้นที่ทางกายภาพและจิตวิญญาณที่จะช่วยส่งเสริมรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่อไป

           3) ส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้มรดกภูมิปัญญาในฐานะทุนทางวัฒนธรรม ผ่านผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่เคารพต่อความต้องการและการดำเนินวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น


รายการอ้างอิง

Barry, C. (2013). Rights to Culture: An Introduction. In C. Barry (Ed.), Rights to Culture: Heritage Language and Community in Thailand (pp. 1-26). Silkworm Books.

Neef, A., Attavanich, M., Kongpan, P., & Chongkraichak, M. (2018). Tsunami, Tourism and Threats to Local Livelihoods: The Case of Indigenous Sea Nomads in Southern Thailand. In A. Neef, & J. H. Grayman (Eds.), the Tourism–Disaster–Conflict Nexus (pp.141-164). https://doi.org/10.1108/S2040-726220180000019008

The Active. (2567). ประณาม!! ชายชุดดำทำลายไร่หมุนเวียน ชุมชนห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย. https://theactive.net/news/rights-20240607/

UNESCO. 2565. ข้อเสนอทางนโยบาย ชุมชนชาติพันธุ์และการจัดการมรดกอย่างยั่งยืนในประเทศไทย. https://articles.unesco.org/sites/default/files/medias/fichiers/2023/12/thailand-ethnic-communities-shm-policy-briefthai.pdf

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (ม.ป.ป.). เรือก่าบาง. https://ich-thailand.org/heritage/detail/629d76f1472e28a00d0ba87f

ทัศนีย์ ประกอบบุญ. (2565). คืบหน้าหรือย่ำเท้า : 12 ปี จากมติ ครม. ถึง “กฎหมายชาติพันธุ์ https://theactive.net/read/indigenous-law/

วัชระ ศรีเมืองมูล และคณะ. (2564). การใช้วัฒนธรรมกะเหรี่ยงในการต่อรองกับนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, 3(1), 87-111.

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์. 2560. มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ : บทเรียนจากเพื่อนบ้าน. ใน สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ (บ.ก.), มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ : บทเรียนจากเพื่อนบ้าน. (น. 7-26). กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).


ผู้เขียน
พมิรา รักษ์อรศิลป์
นักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม มรดกชาติ ชาติพันธุ์ การขึ้นทะเบียน พมิรา รักษ์อรศิลป์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา