ข้อสังเกต Nonhuman Turn

 |  แนวคิด ทฤษฎีมานุษยวิทยา
ผู้เข้าชม : 248

ข้อสังเกต Nonhuman Turn

           ความสนใจต่อสิ่งไม่ใช่มนุษย์เริ่มชัดเจนในแวดวงมานุษยวิทยาช่วงทศวรรษ 2000 พร้อมกับการขยายขอบเขตการศึกษาสภาวะสังคมที่มีมากกว่ามนุษย์ (sociality beyond the human) เกิดแนวคิด ทฤษฎี และวิธีวิทยาที่หลากหลายที่นำมาใช้ศึกษาสิ่งไม่ใช่มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด “มากกว่ามนุษย์” (more than human) ของ Sarah Whatmore (2002) แนวคิดพ้นมนุษยนิยม (posthumanism) ของ Alan Smart และ Josephine Smart (2017) แนวคิดกลายเป็นร่วมกับ (becoming with) ของ Donna Haraway (2008) แนวคิดชาติพันธุ์วรรณนาหลากสายพันธุ์ (multispecies ethnography) ของ S. Eben Kirksey และ Stefan Helmreich (2010) แนวคิดภาวะสังคมที่มากกว่ามนุษย์ (more than human sociality) ของ Anna Tsing (2013) และแนวคิดกลายเป็นชีวสังคม (biosocial becomings) ของ Tim Ingold และ Gisli Palsson (2013) แนวคิดเหล่านี้ทำให้เกิดการทบทวนสมมติฐานเรื่อง “ความพิเศษของมนุษย์” (human exceptionalism) เกิดข้อสงสัยว่ามนุษย์แยกออกจากสายพันธุ์อื่นและวัตถุอย่างอื่นได้หรือไม่ ข้อสังเกตเหล่านี้ท้าทายกระบวนทัศน์มนุษยนิยมและเหตุผลนิยมที่เป็นแกนหลักในอารยธรรมตะวันตก ผลที่เกิดขึ้นคือ ความรู้ทางสังคมศาสตร์ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาเพราะวางอยู่ในโครงสร้างความคิดที่แบ่งแยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติและสิ่งอื่น (Grusin, 2015; Lien & Pálsson, 2019)

           ความสนใจเกี่ยวกับสิ่งไม่ใช่มนุษย์มาพร้อมกับการก้าวข้าม “ความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์” และการสลายขั้วตรงข้ามระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หรือมนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์ พร้อมกับกระแสการศึกษาความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ภายใต้กรอบความคิดการข้ามพ้นมนุษย์ (posthumanism) เช่น การศึกษาเรื่อง Posthuman (2013) ของ Rosi Braidotti ซึ่งกล่าวถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นกลไกสำคัญทางสังคมและเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์เป็นแบบสิ่งไม่ใช่ธรรมชาติ (non-naturalistic structure) และชี้ให้เห็นว่าความเป็นมนุษย์มิได้เสื่อมสลายไป แต่มีลักษณะยืดหยุ่นและมีความซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงวิพากษ์ระบบทุนนิยมโลกที่ทำลายเส้นแบ่งระหว่างมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ จนเกิดเป็นลูกผสมของสินค้าและบริการที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งตัวมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์จะถูกทำให้เป็นสินทรัพย์ภายใต้ยุทธวิธีทางการตลาด ทรัพยากรธรรมชาติจึงถูกใช้อย่างไร้การควบคุม ในทัศนะของ Braidotti พิจารณาว่าโลกปัจจุบัน มนุษยนิยมใหม่ที่เป็นสากล (cosmopolitan neo-humanism) เติบโตขึ้นหลังยุคอาณานิคมซึ่งมนุษย์กับสิ่งอื่นกำลังสร้างสายสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันในแบบใหม่

           ในหนังสือ The Nonhuman Turn (2015) ของ Richard Grusin (บรรณาธิการ) อธิบายว่าจุดเปลี่ยนของสิ่งไม่ใช่มนุษย์ แตกต่างจากจุดเปลี่ยนของการพ้นมนุษย์ (posthuman turn) เนื่องจากเชื่อว่า “ความเป็นมนุษย์” ไม่เคยมีมาก่อน มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมและพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่นเสมอ ไม่เคยแยกตัวเองโดดเดี่ยว รวมทั้งการไม่ใช้มนุษย์เป็นเกณ์ในการตัดสินคุณค่าของสิ่งอื่น ดังนั้น สิ่งต่าง ๆ ย่อมมีความสำคัญต่อมนุษย์ Buscher (2021)ชี้แจงว่าการศึกษาสิ่งไม่ใช่มนุษย์อาจจัดกลุ่มเป็น 3 ลักษณะ คือ (1) การศึกษาสภาวะพัวพันทางภววิทยาและสัมพันธภาพ (2) การศึกษาสิ่งไม่ใช่มนุษย์ในฐานะผู้มีตัวตน (3) การศึกษาที่ตั้งคำถามต่อตรรกะคู่ตรงข้ามและการแยกมนุษย์ออกจากสิ่งอื่น นอกจากนั้น การศึกษาสิ่งไม่ใช่มนุษย์ยังเติบโตจากความคิดเรื่องหลากสายพันธุ์ วัตถุภาวะ ภววิทยาเครือข่ายผู้ปฏิบัติการ สภาวะรวมตัว(Assemblage) ทฤษฎีระบบ ทฤษฎีผัสสารมณ์ (Affect theory) และอนุมานสัจนิยม (Speculative Realism) ซึ่งสนใจความจริงที่อยู่นอกเหนือความเข้าใจและประสบการณ์ของมนุษย์

           ในแวดวงมานุษยวิทยา การแสวงหาวิธีการที่จะสร้างความรู้และการอยู่กับสิ่งอื่นยังเป็นเรื่องใหม่ วิธีวิทยาที่เคยชินอาจไม่เหมาะกับการศึกษาสิ่งที่มิใช่มนุษย์ การทำงานแบบใหม่จึงต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่นอกตัวมนุษย์ให้มากขึ้นเพื่อสร้างคำอธิบายเกี่ยวกับการกลายเป็นชีวสังคมและชีวภูมิ (biosocial and geosocial becomings) (Palsson & Swanson, 2016) ทั้งนี้ การสนใจสิ่งอื่นมิได้ตัดทิ้งมนุษย์ออกไปอย่างสิ้นเชิง แต่มนุษย์ยังเกี่ยวข้องกับวัตถุสิ่งของและสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นภายใต้เงื่อนไขที่ซับซ้อน การอธิบายสังคมและวัฒนธรรมจึงมิใช่เป็นการศึกษาจากประสบการณ์ของมนุษย์ฝ่ายเดียวอีกต่อไป ถึงแม้ว่านักมานุษยวิทยาจะสนใจวัตถุทางวัฒนธรรมทั้งพืช สัตว์ และสิ่งประดิษฐ์ แต่สิ่งที่ต้องทบทวนใหม่คือวัตถุสิ่งของเหล่านั้นมีส่วนสร้างความเป็นมนุษย์ (Smart & Smart, 2017) การดำรงอยู่ของสิ่งที่มิใช่มนุษย์เกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรม (Tsing, 2013) การนำสิ่งที่มิใช่มนุษย์มาเป็นแกนกลางจะช่วยทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างมาก กล่าวคือโลกวัตถุและสายพันธุ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติมิใช่สิ่งที่ถูกกระทำและเป็นสิ่งหยุดนิ่งเฉื่อยชา การทำความเข้าใจปฏิบัติการและการกระทำของสิ่งมิใช่มนุษย์จึงกลายเป็นกรอบความคิดที่ได้รับความสนใจ

           Ingold (1988) เคยอธิบายปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ที่ทำให้เกิดการสร้างความหมายทางวัฒนธรรมและจารีตประเพณี ถือเป็นงานที่ช่วยขยายความเข้าใจว่าสัตว์มิใช่สิ่งที่ถูกกระทำฝ่ายเดียว และความเป็นมนุษย์ก็ไม่ใช่เนื้อตัวร่างกายและจิตใจของมนุษย์เท่านั้น สภาวะสังคมและวัฒนธรรมจึงก่อตัวขึ้นบนปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษยกับสิ่งต่าง ๆ ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักชีววิทยาชาวเยอรมันชื่อ Jakob Johann von Uexküll เคยมีแนวคิดเรื่อง “ชีวสัญศาสตร์” (biosemiotics) (Favareau, 1010) เป็นการแสวงหาว่าสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รับรู้ธรรมชาติรอบตัวมันอย่างไร เขาโต้แย้งว่าสิ่งมีชีวิตสัมผัสชีวิตโดยพิจารณาจากกรอบอ้างอิงเชิงอัตวิสัย "ในโลกของตนเอง" (self-in-world) ที่เฉพาะเจาะจงต่อสายพันธุ์ ซึ่งเขาเรียกว่า “อัมเวลต์” (Umwelt) มี นัยยะหมายถึง “โลกของตัวเอง” (self-world) ดังนั้นชีวิตของผึ้งก็ย่อมมีโลกของตัวเองที่ไม่เหมือนกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น การเข้าใจโลกของตัวเองของสายพันธุ์ต่าง ๆ คือการดำรงอยู่และการปฏิบัติเชิงตัวตนของสายพันธุ์นั้น (organism exists and acts as a subject) อาจกล่าวได้ว่า Uexküll คือนักวิชาการรุ่นแรก ๆ ที่เสนอแนวคิดที่ใช้ศึกษาประสบการณ์และผัสสะของสิ่งมิใช่มนุษย์

           Kohn (2007) เรียกร้องให้นักมานุษยวิทยาศึกษาสิ่งอื่นเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับเสนอความคิดเรื่อง ธรรมชาติ-วัฒนธรรม (nature-culture) ที่แยกขาดจากกันไม่ได้ เช่นเดียวกับ Tsing (2013) ที่สนใจเรื่องสภาวะสังคมที่มากกว่ามนุษย์ เช่นเดียวกับการศึกษาการดำรงอยู่ร่วมกันของสายพันธุ์ต่าง ๆ ในป่าของ Kohn (2013) และการศึกษาชีวิตของปลาแซลมอนของ Lien (2015) ตัวอย่างเหล่านี้อาจทำให้เห็นแนวโน้มการเขียนงานชาติพันธุ์วรรณนาที่ไม่เอามนุษย์เป็นตัวตั้งหรือเป็นแกนหลักของเรื่องเล่า แต่โอบรับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ที่หลากหลาย Lien & Pálsson (2019) กล่าวว่าสิ่งสำคัญในการศึกษาปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์และวัตถุสิ่งของ (ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต) คือการทำความเข้าใจสิ่งไม่ใช่มนุษย์จากโลกของสิ่งเหล่านั้นเพื่อชี้ให้เห็นแรงขับและการกระทำของมัน ขณะเดียวกันก็เป็นการตรวจสอบจุดยืนและท่าทีของมนุษย์ว่าควรจะสร้างปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในรูปแบบไหนที่จะไม่ทำให้เกิดการเอาเปรียบต่อกัน (Grusin, 2015) รวมทั้งตั้งคำถามต่อมนุษยสมัย (Anthropocene) ที่มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงโลกไปโดยไม่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวัตถุอื่น ๆ

           การศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ที่เคยปรากฎในงานศึกษาของนักมานุษยวิทยาในอดีต เช่น การศึกษาการเลี้ยงวัวของชนเผ่านูเออร์ของ E.E. Evans-Pritchard (1940) ที่แสดงให้เห็นสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับวัวภายใต้สังคมเลี้ยงสัตว์ในแอฟริกา โดยมีการบอกเล่าถึงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เป็นทุ่งหญ้า เลี้ยงวัวเป็นทั้งกิจกรรมของครัวเรือน สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ วัวให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ได้เสมือนเป็นสิ่งจำเป็น (เหมือนคนในครอบครัว) ในวัฒนธรรมของนูเออร์ อย่างไรก็ตาม งานของ Evans-Pritchard เน้นการวิเคราะห์ระบบและโครงสร้างสังคมของมนุษย์มากกว่าการมองประสบการณ์ของวัวในฐานะผู้กระทำการทางสังคมเช่นเดียวกับการศึกษาของ Roy Rappaport (1984) ที่อธิบายสังคมของชาวปาปัวนิวกินีกับการเลี้ยงหมู เน้นการอธิบายการปรับตัวของมนุษย์ผ่านใต้ระบบนิเวศ หมูจะเป็นสัตว์ที่ใช้ในพิธีกรรมและเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงดูคนในครอบครัว หมูจะถูกมองเป็นทรัพยากรมากกว่าจะเป็นผู้กระทำการ


ภาพชาวนูเออร์กับวัวในหนังสือของ  Evans-Pritchard (1940)

อ้างจาก https://www.prm.ox.ac.uk/rethinking-e-e-evans-pritchard

 

           Buscher (2021) กล่าวว่าหัวใจหลักของการศึกษาสิ่งไม่ใช่มนุษย์คือการไม่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางและแนวโน้มกำลังเปลี่ยนไปสู่ความสนใจระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่พึ่งพาอาศัยสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ การพัวพันเกี่ยวโยงกันระหว่างมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์คือกรอบความคิดสำคัญที่ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ตัวตน” ของมนุษย์มิได้มีเพียงร่างกายและความคิด แต่ประกอบด้วยวัตถุสิ่งของและสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ (Bennet, 2010; Braidotti, 2013) ประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ภายใน (internal relationality) และภววิทยาของการพัวพันที่หลากหลาย (ontologies of entanglement) จะเป็นหลักคิดใหญ่ของการศึกษาการมาบรรจบและเชื่อมเข้าหากันของมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์ สิ่งนี้กลายเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าอะไรคือความพัวพัน (Giraud, 2019) ความท้าทายคือ การแบ่งแยกและการเชื่อมเข้าหากันกำลังเป็นข้อโต้แย้งในกระแสจุดเปลี่ยนของสิ่งไม่ใช่มนุษย์

           Malm (2018) ตั้งข้อสังเกตว่าถ้าสังคมกับธรรมชาติปราศจากเส้นแบ่งแล้ว การขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็อาจทำได้ยากขึ้น ภายใต้กรอบคิดเรื่องความพัวพันเข้าหากัน อาจทำให้การกระทำของมนุษย์มิใช่สาระสำคัญเพราะการกระทำนั้นมีสิ่งไม่ใช่มนุษย์ร่วมกระทำการด้วย นอกจากนั้น การถอนตัวตนเชิงการเมืองที่มีอยู่ในมนุษย์ออกไปเพื่อให้มีภาวะตัวตนไม่ต่างจากสิ่งไม่ใช่มนุษย์ ความรับผิดชอบทางศีลธรรมที่มนุษย์มีต่างจากสิ่งอื่นอาจเป็นเรื่องที่ไร้ความหมาย ข้อสังเกตเหล่านี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ากระแสจุดเปลี่ยนของสิ่งไม่ใช่มนุษย์จะเป็นการละเลยอำนาจกระทำการของมนุษย์ที่มีมากกว่าสิ่งไม่ใช่มนุษย์หรือไม่ (Hornborg, 2017) ในสถานการณ์ของ ทุนนิยมและลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่มนุษย์มีอำนาจควบคุมจัดการทรัพยากรเพื่อประโยชน์ทางการค้า การแยกการการะทำของมนุษย์ออกจากสิ่งไม่ใช่มนุษย์ยังมีความจำเป็นอยู่ นักวิชาการที่ใช้กรอบคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองพิจารณาว่าการรวมตัวและเกี่ยวโยงกันระหว่างมนุษย์และสิ่งไม่ใช่มนุษย์อาจยังมีช่องว่างในการตรวจสอบว่าการกระทำแบบใดที่กำลังทำลายสิ่งแวดล้อมและสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Foster, 2016; Giraud, 2019)

           ตัวอย่างการศึกษาของ Barua (2017) ชี้ว่าในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอินเดีย สิงโตถูกนำมาเป็นแรงงานตามความต้องการของมนุษย์ แม้ว่าสิงโตจะมีเจตนาในฐานะผู้กระทำการเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่สิ่งที่สิงโตมีไม่เท่ามนุษย์คืออำนาจในการสั่งและควบคุม สิงโตจะถูกล่ามโซ่และถูกสั่งให้ทำตามผู้เลี้ยงเพื่อทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใกล้ชิดกับสิงโต ผู้เลี้ยงและเจ้าของธุรกิจได้เงินจากนักท่องเที่ยว แต่สิงโตได้เพียงอาหารและถูกคุมขัง ตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่าการใช้กรอบคิด สภาวะรวมตัว(Assemblage) หรือเครือข่ายผู้กระทำการอาจทำให้เข้าใจปฏิบัติการของสิ่งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ แต่ไม่ควรมองข้ามอำนาจที่ไม่เท่ากันของผู้กระทำการทั้งหลาย ดังนั้น การพิจารณาตัวตนของสิ่งไม่ใช่มนุษย์จำเป็นต้องมองเห็น “ผลกระทบ” ที่เกิดขึ้นตามมาว่ามนุษย์ได้สร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้นในปฏิบัติการร่วมอย่างไร Buscher (2021) เสนอว่าในการทำความเข้าใจความพัวพันระหว่างมนุษย์กับสิ่งไม่ใช่มนุษย์จำเป็นต้องทบทวนว่าความพัวพันนั้นยิ่งตอกย้ำ “ความแปลกแยก” (alienated entanglements) ที่มนุษย์มีกับสิ่งอื่นหรือไม่


บรรณานุกรม

Barua, M. (2019). Animating capital: work, commodities, circulation. Progress in Human Geography 43(4), 650–669.

Bennet, J. (2010). Vibrant Matter. A Political Ecology of Things. Durham: Duke University Press.

Braidotti, R. (2013). The Posthuman. Cambridge: Polity Press.

Buscher, B. (2021). The nonhuman turn: Critical reflections on alienation, entanglement and nature under capitalism. Dialogues in Human Geography, xx(x), 1-20.

Evans-Pritchard, E. E. (1940). The Nuer. Oxford: Oxford University Press.

Favareau, D. (2010). Essential Readings in Biosemiotics. Berlin: Springer.

Foster, J.B. (2016) Marxism in the anthropocene: dialectic rifts on the left. International Critical Thought, 6(3), 393–421.

Giraud, E. (2019). What Comes After Entanglement? Activism, Anthropocentrism, and an Ethics of Exclusion. Durham: Duke University Press.

Grusin, R. (Ed.). (2015). The Nonhuman Turn. Minneapolis, MN: University of Minnesota Press.

Hornborg, A. (2017). Artifacts have consequences, not agency: toward a critical theory of global environmental history. European Journal of Social Theory, 20(1), 95–110.

Ingold, T. (Ed). (1988). What is an Animal? London: Unwin Hyman.

Kohn, E. (2007). How Dogs Dream: Amazonian Natures and the Politics of Transgression. American Ethnologist, 34(1), 3–24.

Kohn, E. (2013). How Forests Think. Oakland: University California Press.

Kirksey, S. E. & Helmreich, S. (2010). The Emergence of Multispecies Ethnography. Cultural Anthropology, 25(4), 545–576.

Lien, M. E. (2015). Becoming Salmon. Aquaculture and the Domestication of a Fish. Oakland: University of California Press.

Lien, M. E. & Pálsson, G. (2019). Ethnography Beyond the Human: The ‘Other-than-Human’ in Ethnographic Work. Ethnos, 86(3), 1-20.

Malm, A. (2018). The Progress of This Storm: Nature and Society in a Warming World. London: Verso.

Palsson, G. & Swanson, H.A. (2016). Down to Earth: Geosociality and Geopolitics. Environmental Humanities, 8(2), 149–171.

Rappaport, R. (1984). Pigs for the ancestors: ritual in the ecology of a New Guinea people. New Haven: Yale University Press.

Smart, A. & Smart, J. (2017). Posthumanism; Anthropological Insights. Toronto: University of Toronto Press.

Tsing, A. (2013). More-than-human Sociality: A Call for Critical Description. In Kirsten Hastrup, (ed.), Anthropology and Nature, (pp.27–42). London: Routledge

Whatmore, S. (2002). Hybrid Geographies: Natures Cultures Spaces. London: Sage


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร


 

ป้ายกำกับ ข้อสังเกต Nonhuman Turn ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา