ชุมชนควนมอง : ชุบชีวิตใหม่บนจุดประรอยฝัน เฝ้ารอวันเมื่อรุ่งเรือง

 |  การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้เข้าชม : 368

ชุมชนควนมอง : ชุบชีวิตใหม่บนจุดประรอยฝัน เฝ้ารอวันเมื่อรุ่งเรือง

           “สักประมาณบ่ายสองน้ำในคลองขึ้น ค่อยออกเรือไปไปดูเกาะเนรมิต”

           ชายวัยใกล้เกษียณหันหน้ามาบอกเป็นภาษาถิ่นใต้ พร้อมกับทำปากกว้าง ๆ ตามรูปคำให้รู้ความหมายกับสิ่งที่ต้องการจะสื่อสาร

           ตอนที่เสียงเครื่องจักรกำลังสับท่อนไม้ยาว ๆ ให้เป็นเศษจ้อยจิ๋ว นั่นคือตัวต้นเหตุที่ทำให้ชายผิวคล้ำเข้มกับท่าทางที่ดูเชี่ยวชาญไปหมดทุกสิ่ง ต้องคอยตะโกนบอกในสิ่งที่เขาอยากเล่าเป็นระยะ

           “อันนี้… เค้าเรียก… เครื่องบดจาก” พลางพยักหน้าพเยิดคอตะโกนบอกออกเสียงแข่งอีกหน ท่ามกลางกลิ่นเหม็นเขียวของก้านจากบดผสมกลิ่นชื้นฝน ไม่ไกลก็มีเสียงสับใบจากเป็นจังหวะตามร่อง

           ในโรงรับยอดจากยกพื้นไม้สูงราว 3 เมตรขึ้นจากคลองเพื่อหนีน้ำทะเลเมื่อหนุนมา ข้าง ๆ ตรงคลองนั้นมีเรือหัวโทงลำใหญ่ติดเครื่องยนต์โบราณไว้ด้านหลัง ลอยเท้งเต้งเตรียมขนส่งโดยสารนักท่องเที่ยวในอนาคตที่อาจจะมาถึง…


ผู้ใหญ่ดีเด่น

           ผู้ใหญ่สวาท-สวาท กาลมุล หรือที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกเขาว่า ผู้ใหญ่ ชายวัยใกล้เกษียณผิวคล้ำกร่ำแดด ผู้ซึ่งมีบุคลิกกล้าพูด กล้าคุย เปรียมล้นไปด้วยพลังที่ออกมาจากข้างในจิตใจ ทั้งมีอารมณ์ขบขัน ยิ้มร่าเมื่อเจอคนแปลกหน้าและพร้อมจะต้อนรับทุกคนและที่สำคัญคือคนที่ “ได้ครับ” ไม่เคยปฏิเสธใคร


           เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 มาตั้งแต่ 2554 และเป็นคนในพื้นที่ชุมชนควนมองมาตั้งแต่เด็ก

           “ตระกูลของผมไม่เคยมาเล่นการเมืองเลย ตั้งแต่พ่อตั้งแต่แม่ ตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่เคยมี”

           ต้นทุนชีวิตเขาไม่เหมือนกับคนอื่นอื่น ๆ ต้องใช้ความพยายามมากว่าหลายเท่า เขาเล่าว่าช่วงอายุประมาณ 27-28 ลงแข่งสมัครผู้ใหญ่บ้านก็พ่ายให้กับคนมีเงิน

           “ผมลงสมัครผู้ใหญ่บ้านตอนนั้นผมอายุน้อยกว่าเพื่อน แข่งกันนะ 5 คน ผมก็จับฉลากกับคนพัทลุง แกมีตังค์เพราะมาทำโรงงาน จบปริญญาตรี ปรากฏผลคะแนนเสมอกันแล้วต้องมาจับฉลาก

           พอเสมอกันผมยอมเสียสละเลย ผมบอกว่าไม่ต้องจับฉลาก เพราะเขาเป็นคนอาวุโส แต่ชาวบ้านไม่ยอมก็จับฉลาก จับแล้วก็แพ้

           แต่หลังจากนั้นผมก็มาช่วยแกทำงานตลอด เขาจะให้ผมเป็นผู้ช่วยผมไม่เอา เพราะว่านโยบายของแกกับผมมันไม่เหมือนกันในหลักการของผม”

           ความยุติธรรมเริ่มต้นตอนไหนไม่อาจรู้ แต่สำหรับผู้ใหญ่สวาทกลับทำสิ่งที่ถูกต้องตามจรรยาบรรณของตนเอง

           ไม่นานหลังจากนั้นภายหลังพ่ายแพ้การลงแข่งผู้ใหญ่บ้าน เขาก็ได้รับโอกาสไปเป็นสมาชิก อบต. กันตัง แต่อยู่ ๆ สวรรค์หรือฟ้าลิขิตก็ได้เลือกเขามาดูแลบ้านเมือง

           “ชาวบ้านทั้งหมดบอกว่าแกเลิกแล้วก็เลยประชุมหมู่บ้าน ให้ผมลาออกจาก อบต. แล้วมาลงผู้ใหญ่บ้าน

           ผมก็ลาออกแล้วก็มาสมัครก็ไม่มีคู่แข่ง พอไม่มีคู่แข่งผมพูดว่าชีวิตนี้ มอบให้ ชุมชน สังคม ประมาณ 60-70% อีก 30% ไว้เลี้ยงครอบครัว เพราะว่าเราไม่ได้ซื้อเสียงนะ เราไม่ได้ติดหนี้ เพราะฉะนั้นเราพยายามขวนขวายสิ่งที่ดี ๆ มาในหมู่บ้าน”

           สิ่งดี ๆ ที่ว่าคือแนวคิดหัวก้าวหน้า การอยากพัฒนาชุมชนบ้านเกิดของตนให้เป็นที่รู้จัก ผ่านการอบรมกับหน่วยงานราชการและเอกชนต่าง ๆ ได้งบมาก็สร้างโครงการให้กับชุมชน นับตั้งแต่เรื่องขยะ การสร้างอาชีพ และที่ทำอยู่คือเรื่องพัฒนาศักยภาพความเป็นอยู่ให้กับผู้สูงอายุ


หยามองว่าควนมอง

           บริเวรรอบด้านรายล้อมด้วยป่าจากมีภูเขาน้อยใหญ่อยู่เต็มพื้นที่ เช่นเดียวกับบ้านควนมอง อยู่ห่างจากตัวอำเภอกันตังเพียง 2 กิโลเมตร บนพื้นที่หมู่ 2 ตำบลกันตังใต้รวม 7,320 ไร่

           โดยทางทิศเหนือบ้านควนมองติดกับ หมู่ที่ 1 บ้านท่าเรือและหมู่ที่ 6 บ้านกันตังใต้ ทิศใต้ ติดกับ หมู่ที่ 3 บ้านจุปะ ทิศตะวันออก ติดกับ เขตป่าสงวนแห่งชาติ และทิศตะวันตก ติดกับ แม่น้ำตรัง แหล่งอาหารทำมาหากินเพื่อชีวิต

           แม้บ้านควนมองจะมีอยู่บนแผนที่ประเทศไทย แต่กลับเป็นพื้นที่สูญหายไปจากการมีอยู่ของผู้คน รวมถึงเรื่องเล่าปากต่อปากว่าที่แห่งนี้เดิมทีมี นายมอง และนางหยา สองผัวเมียผู้ซึ่งบุกเบิกสร้างถิ่นฐานตั้งรกรากเป็นคนแรก ๆ ต่อเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ครัวเรือนก็เพิ่มตามทำให้เวลาจะเรียกสถานที่แต่ละแห่ง ต้องเรียกตามชื่อคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เช่นเดียวกับที่ถูกเรียกว่า บ้านหยามอง

           เมื่อความเจริญเข้ามาอาศัย ทุกอย่างดั้งเดิมก็ถูกลืมเลือนเข้ามาแทนที่จาก “บ้านหยามอง” ก็เปลี่ยนเป็น“ควนมอง” ตามภูมิประเทศของหมู่บ้าน

           โดย "ควน" ในภาษาถิ่นใต้คือพื้นที่เนินเขา ภูเขา ซึ่งสอดคล้องกับพื้นที่ตำบลกันตังใต้ที่มีภูเขาลักษณะเขาโดดวางตัวแนวเหนือใต้ ชื่อว่า "เขาจุปะ" ตั้งอยู่ทางตะวันออกของหมู่บ้าน

           การสูญหายไม่ใช่แค่ความทรงจำ แต่รวมถึงรางเลือนว่าบ้านตนเองมีดีอะไร ต่อเมื่อถามถึงชีวิตของผู้คนในควมอง และวิถีชีวิตในวัยเด็กของผู้ใหญ่สวาทเขากลับบอก“จริง ๆ แล้ววิถีชีวิตของบ้านควนมองมีเยอะ แต่มันได้สูญหาย ไม่ว่าจะด้านธรรมชาติ ด้านจิตใจของคน” เขาพูดด้วยน้ำเสียงนิ่งเรียบ

           “ที่พูดอย่างนั้นเพราะผมมองอดีตมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อก่อนอยู่กันอย่างอุดมสมบูรณ์ แต่ความเจริญไม่ค่อยมี เพราะด้วยปัจจัยการเข้าถึงของตัวงบประมาณ แล้วก็การเข้าถึงของปัจจัยต่าง ๆ หรือแม้แต่ความล้าหลังของผู้นำ

           หลังจากนั้นผมก็วางแผนของผม ตั้งแต่ทำงานที่ อบต. ดีว่าผมได้เป็นประธานสภา ผมจะเอาอะไรได้หมด ถนนตรงไหนลำบากผมทำหมด น้ำไม่ไหลประปาภูมิภาค 100% ได้หมด ไม่ใช่ว่าเห็นแก่ตัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเห็นแก่เพื่อนด้วย

           จากนั้นมันก็พลิก พลิกจากหมู่บ้านหยามองมาเป็นควนมอง พลิกด้วยสถานการณ์แล้วแต่โอกาส ถือเป็นการโปรโมทหมู่บ้าน บวกกับได้รางวัลโน้นรางวัลนู่นนี่ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็เข้ามาเยอะ เขาก็เลยตั้งควนมองว่าควรมองด้านในต่าง ๆ”

           การเป็นลูกชาวบ้านไม่มีพื้นฐานชีวิตเหมือนกับนักการเมืองท้องถิ่นเหมือนคนอื่น ๆ ความน่าเชื่อถือจึงเป็นเรื่องรองลงมาจากความซื่อสัตย์ที่เขาจะได้จากผู้คนในชุมชน

           เมื่อมีรางวัลแรกมาการันตีเป็น “ผู้มีคุณธรรมจิรยธรรมดีเด่น” ผลพลอยได้นั้นคือรางวัลที่สร้างผลงานประจักษ์แก่ชุมชนในฐานะผู้ใหญ่บ้านดีเด่น

           “พอเราได้ชัยจากบ้านแล้วในการพัฒนา มันไปได้สะดวกเลย มันเหนื่อยนะ พอได้รับรางวัลเราดีใจ เราไปรับรางวัลแต่งตัวบ้าน ๆ นั่งแท็กซี่พาวน เราก็ไม่รู้เรื่อง พอเรากลับมาชาวบ้านเฮกันใหญ่ มันเป็นสิ่งภูมิใจของเรา เรา 100% กับชาวบ้าน โอ้ มันเก่งจริง มันได้จริง ไม่ใช่มันโม้ ไม่ใช่มันขี้คุย”


ลีลาศวาดเมือง

           เมืองตรังมีชื่อเรื่องหมูย่าง กันตังก็มีชื่อในเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งเกิดจากความพยายามผลักดันของชรมรมเล็ก ๆ ให้กันตังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ผ่านเรื่องราวกันตังเมืองเก่าเมืองท่าทางเรือในอดีต ทั้งที่มีแผนต่อยอดเรียกคนมาเที่ยวกันตังใต้บนพื้นที่ของชุมชนควนมอง

           ป้าอิง-เรณู สุวรรณโชติ หญิงวัยเกษียณร่างเล็กอดีตภรรยากำนันกันตังใต้ ที่หันเปิดบ้านส่วนตัวเป็นโฮมสเตย์เพื่อหวังเป็นแหล่งแลนด์มาร์คหนึ่งให้กับชุมชนควนมองในอนาคตที่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

           จุดประกายแรกเริ่มความฝัน ครั้นเคยเข้าร่วมชมรมลีลาศตอนที่เธอต้องออกไปพบปะผู้คนในเมืองกันตัง สถานที่รวมตัวสำหรับคุณหญิง คุณนาย และเหล่าวัยเกษียณคนเมือง ทำให้เธอได้มีโอกาสพบปะ พูดคุย และช่วยงานกับผู้หลักผู้ใหญ่

           วันเวลาผ่านไปจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมผันตัวไปเป็นเลขาจำเป็น ก่อนจะมีปากมีเสียงในการเสนอเรื่องราวบ้านอีกหลังของชีวิตให้เติบโตด้วยตนเอง

           “เราอยู่กลุ่มลีลาศมานาน ตอนนั้นวางแผนให้กันตังไว้ว่าเราต้องตั้งเป็นชมรมให้ได้ในปี 61 ซึ่งชุมชนในกลุ่มต่าง ๆ เขาให้ความร่วมมือดีเลย เพราะว่าตรงนั้นมีกลุ่มอยู่เยอะ ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มลีลาศ เรียกกันว่ากลุ่มกันตังเมืองเก่าเป็นกลุ่มใหญ่แล้วดูมีพลัง

           ซึ่งก่อนจะเป็นกันตังเมืองเก่า เราจะมีอยู่เฉพาะกรรมการไม่กี่คนพอมีสมาชิกเยอะขึ้น พี่ก็บอกว่าโอเคเป็นชมรมก็ชมรม แต่ว่าเราก็ต้องมีรายได้เข้ามาด้วย เพราะวัตถุประสงค์คือหารายได้ ส่งเสริมให้คนในชมรมมีอาชีพ อนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าจะสถาปัตอะไรก็ว่าไป”

           เมื่อการรวมกลุ่มจนกลายเป็นชมรมได้เริ่มต้น วัตถุประสงค์สำคัญนอกจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสต์จำเป็นต้องเห็นชีวิตของคนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน

           ป้าอิงเล่าต่อถึงแผนงานของเธอว่าต้องยกระดับเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชน ให้ง่ายต่อการจัดการ บริหาร ร่วมถึงสร้างงบประมาณ

           “วัตถุประสงค์ของเราอยากสร้างรายได้ให้คนในชุมชน เพราะฉะนั้นรายได้มาจากไหน ก็คือเราต้องมีการท่องเที่ยวเข้ามา เป็นการท่องเที่ยวชุมชน

           แต่การที่จะเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวได้ มันต้องมีหลาย ๆอย่าง ทั้งต้องมีการรับรองเอกสาร ต้องใช้ระดับมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วย

           วันหนึ่งพอได้งบมาก็เป็นคนกลุ่มเดิมพัฒนาเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชนจนสำเร็จ มีสมาชิก มีการขายหุ้นอะไรเรียบร้อย เสร็จแล้วก็มีการจัดปฐมฤกษ์ ท่องเที่ยว นำเที่ยว เริ่มต้นเล็ก ๆ มีการท่องทะเล รับประทานอาหารบนเรือ แต่พอโควิดมาก็จบตรงนั้น เราก็ต้องหยุดไป นักท่องเที่ยวก็ไม่มา ใครก็ไม่มา”

           ทุกอย่างหยุดอยู่ตรงนั้น หยุดอยู่กับที่ที่มีอยู่ แม้จะทางเดินกำลังจะรุ่งเรืองกลับร่วงโรยโดยไม่มีใครคาดคิด

           “ทำได้ไม่กี่เดือนโควิดมาทุกอย่างจบ จบตรงนั้นเราก็หยุดไปเลย” เธอนิ่งไปครู่หนึ่ง ระลึกถึงความทรงจำที่ดูเนิ่นนานแต่เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ๆ

           “แต่ตอนที่จบโครงการอะไรเรียบร้อยแล้ว เราบอกน้องที่ทำโครงการว่า พี่อิงมีสิ่งหนึ่งที่จะต้องทำต่อจากตรงนี้ คือ พาการท่องเที่ยวไปเชื่อมโยงกับกันตังใต้ให้ได้

           คือมีความรู้สึกว่าแหล่งท่องเที่ยวในเมืองเก่ายังไม่เพียงพอ เพราะการท่องเที่ยวชุมชนมันใช้เวลาเที่ยวแค่ 3-4 ชั่วโมงเอง แต่สิ่งที่พี่อิงไปศึกษาวิถีชีวิตชาวเล ชาวประมง ป่าชายเลน มันจะดึงคนให้อยู่ได้มากกว่า 3-4 ชั่วโมง แล้วพานักท่องเที่ยวไปจบที่เกาะเนรมิต”


           …เสียงเครื่องยนต์ลั่นไปทั่วทั้งเวิ้ง หลังเครื่องจักรบดเงียบไปไม่กี่นาทีก่อนหน้า เป็นเวลาเดียวกันที่ทุกสรรพสิ่งรอบด้านคล้ายหยุดนิ่งตอนที่ทุกคนนั่งเรียงเคียงกันประจำที่พร้อมออกเดินเรือ

           ความจอแจแย่งที่นั่งจบลง เด็กเล็กเด็กโตก็จองหัวเรือเป็นที่พำนัก เพื่อให้เห็นทัศนียภาพด้านหน้า พวกผู้ใหญ่ตั้งแต่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หญิงร่างเล็ก ชายผิวคล้ำพร้อมภรรยาและคนในชุมชนสองสามคนอยู่กลางลำ ท้ายคือพลขับบังคับทางหางเสือเตรียมพร้อมออกเดินทาง

           “สมัยก่อนตอนที่เป็นเมืองท่าคลองใหญ่กว่านี้ มันเป็นทางผ่านเรือถ่ายสินค้าที่มาจากเขาจุปะ” หญิงร่างเล็กเอ่ยขึ้นด้วยความมั่นใจกับเรื่องเล่าที่ตนได้ศึกษามา ตอนที่เรือกำลังเคลื่อนช้า ๆ สิ้นประโยคจบด้วยรอยยิ้ม

           สองข้างทางคดเคียวตามทางเลี้ยวน้ำในคลองเซาะฝั่ง ทั้งการล้ำพื้นที่ของป่าจากที่ทำให้บางช่วงแคบแค่เรือผ่าน ถึงกระนั้นธรรมชาติก็ยังคงเป็นธรรมชาติ ไร้ร่องรอยการขุดเจาะทำทางสำหรับมนุษย์

           ไม่เพียงแค่นั้นยังมีปลาตัวจ้อยในน้ำกร่อยขึ้นมาแตะผิวน้ำแล้วลับหายไปเหลือทิ้งไว้เป็คลื่นวงน้อย ๆ ก่อนคลื่นหางเสือจะกลบมิด

           โผล่พ้นป่าจากหนาทึบเรือหัวโทงลำใหญ่ที่ค่อย ๆ แล่นออกไปสู่แม่น้ำตรังก็เข้าสู่แหล่งชุมชน สองมือโบยมือยิ้มทักทายกันและกันทั้งบนเรือและคนบนฝั่ง ถัดไปอีกหน่อยก็เป็นโรงคัดปลาส่งโรงงานปลากระป๋องส่งกลิ่นคาวหน่อย ๆ เมื่อเรือแล่นผ่านไป…


วิถีชุบชีวิตใหม่

           ทุนชีวิตไม่เคยเลือนหายไปจากชีวิต เป็นสิ่งเดียวที่ดูแข็งแกร่งเรื่อยมาในทุกด้าน ทั้งวัฒนธรรมที่หลอมรวมผู้คนให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ สิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าจากป่าชายเลน แหล่งทำกินในท้องทะเล รวมถึงวิถีการเป็นอยู่ และที่สำคัญไปกว่านั้นคือตัวตน

           นอกจากสิ่งเหล่านั้น บ้านควนมองเริ่มหาหนทางให้ตนเองอยู่รอดเป็นที่รู้จัก และสร้างดันศักยภาพชุมชนให้ไปต่อในฐานะแหล่งท่องเที่ยว

           ทุกสิ่งที่มีอยู่กลับถูกมองเห็น แต่ไม่ชัดเจน

           ผู้ใหญ่สวาทบอกว่านอกจากความเชื่อมั่นและความไว้ใจที่ด้จากชาวบ้านเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาด้มีโอกาสนำบ้านตัวเองเป็นที่รู้จัก นั่นก็ทำให้เขามีโอกาสเข้าไปแลกเปลี่ยนกับผู้มีอำนาจในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

           “ตอนนี้ผมเดินอยู่ระหว่างระดับอำเภอกับจังหวัด แต่ว่าพอเราไปนั่งกับผู้หลักผู้ใหญ่ ไปได้ยากหนึ่งเพราะเราไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมให้เขาเห็น สองอะไรก็แล้วแต่ที่ให้ราชการช่วย เขาต้องเห็นเราก่อน”

           ต่างกับป้าอิงเธอเป็นเพียงสะใภ้ที่อาศัยในบ้านควนมองมา 33 ปี สิ่งที่เธอทำได้คือการผลักดันให้ที่ที่เรียกว่าบ้านได้เติบโตอยู่รอด

           “พอกันตังเจริญขึ้นมา เขาก็จะแบ่งเขตการปกครองเป็นตำบลกันตังใต้ แต่ตอนนั้นที่มีความมุ่งหมายแค่กังตัง เพราะว่ามันเป็นแหล่งที่ว่ามีความพร้อมเป็นเชิงท่องเที่ยวมากกกว่า

           แต่พอตรงนั้นเสร็จแล้วแค่ความเป็นเมืองเก่า สถานเก่า ๆ มันไม่พอ มันไม่มีวิถีชุมชนให้ดู เลยอยากเชื่อมกันตังใต้เอาไว้ เพราะที่นี่มีชีวิต มีวิถีชุมชน อย่างการลอกจากอยู่”

           แต่การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้การเชื่อมไปต่อต้องอาศัยคนในพื้นที่ ต้องใช้แรงใจให้ทุกอย่างเดินหน้า

           “เราเป็นแค่สะใภ้ไม่ได้รู้ลึกไปกว่าตำนานหรือว่าเพลงที่เราแต่งมาหรอก รู้แค่ว่าอ๋อตรงที่เคยเป็นเมืองท่านะ ที่เรือสำเภาจอดนะ แล้วก็ผ่านทางบ้านเรานะ เป็นคลองที่จะถ่ายสินค้าจากเรือสำเภา เป็นที่พักผู้เดินทาง เราก็รู้แค่นั้น

           เราก็เลยไม่ทำเองงานนี้ เพราะว่าคนที่ทำงาน เขาจะเล่าให้ฟังว่าพ่อเขาทำงานตรงนั้นตรงนี้ เหมือนเราเอาประวัติศาสตร์เรื่องเล่ามาย่อย ว่าที่นี้เป็นแบบไหน

           เลยอยากให้คนท้องถิ่นที่ต้องมีบรรพบุรุษ มีญาติโกโหติกาอยู่ที่นี่ ให้ขุดคุ้ยว่าในกันตังใต้มีดีอะไรที่แอบซ่อนอยู่ นอกจากสิ่งที่เราเห็นคือเกาะเนรมิต”

           เมื่อมีความตั้งใจ รอยฝันแรกก็ผุดขึ้น

           ป้าอิงและผู้ใหญ่สวาทต่างเดินหน้าเต็มกำลังในส่วนที่ตนเองทำได้ ทั้งการคุยกับผู้นำท้องถิ่น สื่อสารกับคนในชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึง

           แน่นอน ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นดีเห็นงามกับการเปลี่ยนแปลง การถูกคัดค้านไม่ชอบหน้า หรือแม้แต่การเสียผลประโยชน์ฉันใดก็ฉันนั้น

           “ถามว่าคนเกลียดเยอะไหม ก็มี แต่น้อย เพราะว่าเราเป็นคนซื่อตรง เราทำสิ่งที่ถูกต้อง อีกอย่างหนึ่งผมไม่มีคนประจำตัวผมเลย เพราะคนทุกคนในควนมองเป็นคนประจำตัวผมหมด ผมไม่มีคนติดตาม ทั้งซ้าย ทั้งขวา ไม่มี เพราะทุกคนเหมือนกัน”

           เมื่อวิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยนแปลง การชุบชีวิตที่มีอยู่ให้เกิดขึ้นมาใหม่อีกครั้งเป็นเรื่องที่ผู้นำอย่างผู้ใหญ่สวาทต้องทุ่มสุดตัว

           “หลังจากนี้ผมจะเดินแผนว่ายังไงก็แล้วแต่เมื่อเป็นการท่องเที่ยวจะทำอย่างไรให้คนมาเที่ยวกันตังใต้เยอะ”

           “ตอนนี้เราได้ขอเรือแคนนูมาประมาณ 10 กว่าลำ เราจะแข่งกันทุกวันสงกรานต์ อบต. จะจัดเลี้ยงที่เกาะเนรมิต มีการแข่งเรือ แข่งฟุตบอลชายหาดบนเกาะโปรโมทให้คนได้เห็นว่าเกาะเนรมิตเป็นยังไง

           หลังจากนั้นจะเปลี่ยนอาชีพจากประมงพื้นบ้านเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทำให้ถูกกฎหมายต้องมีใบประกอบการ ถ้าไปหมู่ 2 จะมีเกาะชายเลน ที่มีทรัพยากรเยอะ แต่มันไม่ได้เป็นเขตสาธารณะเป็นเขตอุทยานห้ามล่า แต่ก็เป็นเขตของเรา”


จุดประรอยฝัน

           หากการท่องเที่ยงเชิงวิถีชีวิตเกิดขึ้นจริงบ้านควนมองคงต่างไปจากที่อื่น ๆ โดยสิ้นเชิง นับตั้งแต่การมีแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ ที่พักอาศัยที่มีความโดดเด่น การกระจายรายได้สู่ชุมชนมีมากขึ้น แต่อาจจะต้องแลกกับวิถีชีวิตดั้งเดิม

           “ตอนนี้ควนมองผู้สูงอายุพันกว่าคน ผมอยากให้ไปดูวิถีชีวิตชุมชนเพราะเมื่อก่อนเขาไม่มีอาชีพ แต่ผู้นำกลับอยากให้มีอาชีพ เพื่อได้ไปซื้อหมากพลู

           ทุกวันนี้ได้เบี้ยเลี้งผู้สูงอายุมา 600 หลานตั้ง 3-4 คน มันไม่พอ แต่ถ้าให้ผมไปซื้อยอดจากเป็นยอด มาให้เขาลอก บางคนเหมาไปหมดพวกนี้จะไม่มีงานทำ แต่จะให้ผู้สูงอายุไปตัดหัวปลา เขาก็ไม่รับ ยืนไม่ได้นาน ต้องยืนทั้งวัน”

           ส่วนคนหนุ่มสาวที่เติบโตในบ้าน ถึงเวลาก็ต้องออกเดินทางไปตามวิถีตน ต่อเมื่อความชราเริ่มมาถึงการหวนคืนถิ่นก็ย่อมเกิดขึ้นเช่นกัน

           แม้ว่าชุมชนควนมองจะมีแต่ผู้สูงอายุ แต่ยังมีสิ่งอื่นที่อาจพอทนแทนได้ในอนาคต

           “อดีตผู้ช่วยผมที่เกษียณแล้ว แกริเริ่มทำตามที่ผมตั้งเจตนารมว่าทำยังไงให้แกสร้างอาชีพเกี่ยวกับรับจ้างเรือ เพราะตอนนี้แกรับจ้างลากเรือขนส่งสินค้าเพื่อจะเอาไปลงเรือใหญ่แกก็ไปรับกลับตลอดคืนได้รอบละ 350-500 หนึ่งวันก็ตกประมาณ 3-4 พัน นี่เป็นอาชีพใหม่”

           “ผมไม่ได้บอกแค่คนในควนมองแต่บอกทั้งตำบลว่าในอนาคตกันตังใต้เราจะรุ่งเรือง เพราะว่าอย่างน้อย ๆ คนที่มาต่างจังหวัดที่เคารพนับถือกรมหลวงชุมพร ต้องลงเรือไปแน่ 50 บาท จากฟากกันตังไปเกาะเนรมิตแกจะได้ทุกวันเลย

           ผมว่าถ้าเราเปลี่ยนอาชีพ แต่ว่าไม่ใช่เปลี่ยนระบบ พ่อทำประมงเหมือนเดิม ลูกพูดภาษาอะไรได้บ้าง พ่อก็ปรับมาเป็นรับนักท่องเที่ยว”


           ไม่เพียงแค่เกาะเนรมิตที่เป็นต้นทางสู่ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต แต่เรื่องธรรมชาติในพื้นที่ยังคงความสมบูรณ์ แม้จะเป็นอีกเรื่องที่ถูกลืมก็ตาม

           “เพราะลำพังตำนานเมืองท่าของควนมองมันไม่เพียงพอ” ป้าอิงพูดออกรสกับปัญหาที่มองเห็น

           “ควนมองจะมีแค่ตำนานเมืองท่าในตำนานไม่ได้ ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นด้วย อย่างป่าชายเลนของหมู่ 2 ถามว่ามีมั้ย มันนิดเดียว มันไม่เป็นรูปธรรม

           สิ่งที่เป็นรูปธรรมคือศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนที่หมู่ 5 บ้านแตะหรำ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วคนสนใจเรื่องป่าชายเลน มีการตั้งศูนย์เรียนรู้อยู่ที่บ้านแตะหรำ มีทางเดินแล้ว มีที่กั้นแล้ว

           แต่ขาดอะไรรู้ไหม ขาดการต่อยอดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่แท้จริง เขาแค่เอาป้ายไปติด เปิดงานแล้วก็จบ มีทางให้เดิน แล้วก็เงียบเหงา ความปลอดภัยก็ไม่มี แล้วพอหมดยุคมันก็ร้าง ก็เสื่อมโทรม แล้วป่าตรงนั้นมันก็ยังสมบูรณ์ตามธรรมชาติ แบบรก ๆ ของมัน

           แต่เขามีหน่วยที่ดูแล ดูแลแบบข้าราชการ เราว่ามันเหมือนคนเฝ้าโรงงานอะไรสักอย่างหนึ่ง มันไม่ได้ทำให้มีชีวิต”

           เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตคน จากการพูดออกรสของเธอก็ปรับน้ำเสียงลงนุ่มเบา ละล้าละลังในท่าทีที่ไม่เหมือนก่อนหน้า แต่กลับกันในนัยน์ตาฉ่ำวาวระยับที่เปื้อนหวัง

           “รุ่นป้าอิง ป้าอิงใจเย็นมาก ป้าอิงไม่ได้รีบนะ เพราะว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้ชอบความเจริญ ไม่ได้ชอบความวุ่นวาย อยากทำให้มันมีดีในคุณค่า แบบไม่ต้องอยู่ระดับ 8 9 10 หรอก เหมือนมีบ้านปลูกต้นไม่มีสวนดอกไม้เล็ก ๆ ก็มีความสุข

           แต่ถ้าจะให้ควนมองเปลี่ยนแปลงจริง ๆ เราว่าไม่ต่ำกว่า 10 ปีแหละ ที่คิดแบบนี้ไม่ได้คิดเพื่อตัวเองนะ คือคิดเผื่อลูกเผื่อหลาน แล้วก็คิดตามแรงถูกป้อนตามการท่องเที่ยวชุมชน”


 

           ควนมองมีทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ภูเขา ป่าชายเลน วิถีชีวิต และความแข็งแกร่งของผู้นำ กลับกันที่ดูเหมือนจะเป็นไข่เพื่อรอวันฟักเติบโตเป็นตัวตน แต่อีกมุมของที่แห่งนี้

           “ไม่มีอะไรเลย นี่เป็นผลพวงจากกันตังเมืองเก่า

           เราต้องหล่อหลอมคนของเรา สวาทอาจจะไม่สมบูรณ์แบบในแง่หลักการ แต่เรื่องลุยสวาทลุยสุด อย่างที่พูดมาทั้งหมดป้าอิงไม่รีบนะ ทำทีละนิดทีละหน่อย ขอแค่มีการเริ่มต้นแล้วต่อเนื่อง แค่นั้นเอง

           มันเป็นจุดประแห่งความฝัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น อาจจะเป็นจุดห่าง ๆ แต่ก็ค่อย ๆ จุดทีละนิดทีละหน่อย”

           …พ้นผ่านคลองเคี้ยวคด ภาพตรงหน้าเป็นแม่น้ำตรังกว้างสุดสายตา กับลิบ ๆ นั่นเป็นป่าชายเลนมีโกงกางแน่นขนัด ถัดไปไม่ไกลก็มีเยี่ยวบินวนอยู่บนฟ้า บนเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าที่เคยจอแจวุ่นวายในอดีต

           แต่หันมาหนนี้กลับเงียบสงบ

           เมื่อค้นพบว่าเกาะเนรมิตที่วาดฝันไว้ยังคงเป็นรอยประหนึ่งอันยิ่งใหญ่ ในก้าวต่อไปของควนมองว่าควรมอง


เรื่อง เลิศศักดิ์ ไชยแสง
ภาพ ธัชธรรม โตสกุล


 

ป้ายกำกับ ควนมอง ตรัง พัฒนาชุมชน สารคดีชุมชน เลิศศักดิ์ ไชยแสง ธัชธรรม โตสกุล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share