นิเวศวัฒนธรรม จากมานุษยวิทยานิเวศสู่ขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมไทย

 |  การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้เข้าชม : 3832

นิเวศวัฒนธรรม จากมานุษยวิทยานิเวศสู่ขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมไทย

           ในฐานะผู้เขียนเคยเป็นนักเรียนทางมานุษยวิทยา ด้วยแรงจูงใจการปกป้องสิ่งแวดล้อม อยากเอาแนวคิด ทฤษฎี วิธีวิทยาทางมานุษยวิทยาในสำนักนิเวศวัฒนธรรม นิเวศวิทยาการเมือง มาเข้าใจวิถีนิเวศวัฒนธรรมชุมชน และการเมืองด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนทางสังคม ปกป้องคุ้มครองธรรมชาติ ต่อสู้ทางวาทกรรมและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม คุ้มครองสิทธิชุมชนในด้านนิเวศวัฒนธรรม ผู้เขียนจึงอยากถ่ายทอดจุดเชื่อมโยงและช่องว่างระหว่างแนวคิดมานุษยวิทยาในเรื่องนิเวศวัฒนธรรมกับขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมที่รับเอาคำดังกล่าวมาใช้

           แนวคิดมานุษยวิทยาเชิงนิเวศที่โด่งดัง คือ แนวคิดนิเวศวัฒนธรรม (Cultural Ecology) นำโดย Juian Stewardจากงานเขียนที่ชื่อว่า Theory of Culture Change: The Methodology of Multilinear Evolution (1955) Steward อธิบายว่า นิเวศวัฒนธรรมคือแนวคิดที่ใช้ศึกษาสังคมวัฒนธรรมมนุษย์อันประกอบด้วยโครงสร้างสังคม การดำรงชีพ ลำดับชั้นในสังคม ที่มีการปรับตัวจากปัจจัยนิเวศธรรมชาติ กล่าวโดยสรุป ธรรมชาติมีอิทธิพลกำหนดโครงสร้างและหน้าที่ของวัฒนธรรม แม้ต่อมาแนวคิดดังกล่าวจะปรับเปลี่ยนมาเป็นปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม แต่ความสนใจในแนวทางนิเวศวัฒนธรรมก็ยังอยู่ที่วัฒนธรรมเป็นเป้าหมาย

           หากเทียบช่วงเวลางานเขียนของ Steward กับการเปลี่ยนแปลงสังคมโลกจะพบว่า งานศึกษาของ Steward เกิดขึ้นในบริบทยุคเพิ่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งก่อตั้งสหประชาชาติ (UN) ก่อนที่จะเกิดกระแสสิ่งแวดล้อมในยุคทศวรรษ 1970 (ที่จริงการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นบ้างแล้วตั้งแต่หลังปฏิวัติอุตสาหกรรมปลายศตวรรษ1800 ดังเช่นการต่อสู้ปัญหาควันพิษจากโรงงานถ่านหิน แต่ยังไม่เป็นกระแสสากล) ตัวอย่างที่โดดเด่น เช่น งานเขียนของนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวอเมริกัน Rachel Carson เรื่อง Silent Spring ในปี 1962 ตามมาด้วยงานเขียนกลุ่ม Club of Rome เรื่อง Limit to Growth ในปี 1972

           จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่งานเขียนของ Steward ไม่ได้มีข้อถกเถียงในปัญหาทางนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมอย่างที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในยุคต่อมาคาดหวัง ความสนใจของสำนักนิเวศวัฒนธรรมยังอยู่บนฐานแนวคิดมานุษยวิทยาที่มุ่งทำความเข้าใจโลกทัศน์ โครงสร้าง แบบแผนสังคม จากเดิมที่มองวัฒนธรรมเป็นสากล มาสู่ปัจจัยธรรรมชาติกำหนดสังคมอย่างเฉพาะเจาะจง สอดคล้องกับนักคิดนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานกับชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในยุคต่อมา ไม่ได้มองสิ่งแวดล้อมภายใต้กระบวนทัศน์วิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ให้ความสนใจสิ่งแวดล้อมในโลกทัศน์ คุณค่า การให้ความหมาย วิถีชีวิตของแต่ละสังคมวัฒนธรรมด้วย

           ในขบวนการด้านนิเวศทรัพยากรธรรมชาติของไทย นำโดยชุมชนท้องถิ่น นักพัฒนาด้านการจัดการป่าชุมชน เกษตรกรรมทางเลือก กลุ่มปกป้องนิเวศจากนโยบายและโครงการพัฒนาต่าง ๆ ได้นำคำ “นิเวศวัฒนธรรม” มาใช้ในช่วงทศวรรษ 2530 โดยมีรากความคิดจากแนวคิด “วัฒนธรรมชุมชน” ที่ให้ความสนใจกับวัฒนธรรมในฐานะอุดมการณ์การพัฒนาที่ต่อสู้กับการพัฒนากระแสหลักที่ทำลายอัตลักษณ์และการพึ่งตนเองของชุมชน วัฒนธรรมชุมชนให้ความสำคัญกับความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นฐานการพัฒนาของชุมชน ในบริบทที่รัฐไทยเร่งรัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ทำลายระบบนิเวศและฐานทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ขบวนการวัฒนธรรมชุมชนจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการปกป้องนิเวศธรรมชาติ จนเกิดก่อรูปเป็นแนวคิด “นิเวศวัฒนธรรม” ขึ้นมา

           กลุ่มชุมชนและนักพัฒนาสร้างคำและแนวคิด “นิเวศวัฒนธรรม” โดยส่วนใหญ่ไม่รู้จักแนวคิดนิเวศวัฒนธรรมของ Steward แต่เป็นการเอาหลักคุณค่านิเวศและวัฒนธรรมมาผสานกัน จากคุณค่า “นิเวศวิทยา” ที่เริ่มปรากฏในขบวนการสิ่งแวดล้อมจากรากหญ้าในระดับสากล เช่น ขบวนการ Chipko ในอินเดีย ที่กลุ่มผู้หญิงชนพื้นเมืองได้โอบกอดปกป้องป่าจากนายทุน ขบวนการ Rubber tapper โดย Chico Mendes ชาวสวนยางปกป้องป่าในบราซิล และอื่นๆ มาเชื่อมโยงกับการลุกขึ้นสู้ของชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทย เช่น การคัดค้านสัมปทานไม้ของชุมชนในภาคเหนือและอีสาน การคัดค้านเขื่อนของชุมชนในทุกภาค ขบวนการทางเลือกต่างๆ ทั้งด้านเกษตรกรรม ความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น นำมาผสานกับแนวคิด “วัฒนธรรม” จากฐานวัฒนธรรมชุมชนที่มีมาแต่เดิม

           แนวคิดนิเวศวัฒนธรรมของขบวนการชุมชน เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้และเป็นทางเลือกจากกระแสสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยนำโดยชนชั้นสูงและชนชั้นกลางตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เช่น กลุ่มนิยมไพรสมาคมของชนชั้นสูงที่เปลี่ยนตัวเองจากนักล่าสัตว์มาเป็นนักอนุรักษ์ นำมาสู่นโยบายป่าอนุรักษ์ หรือกระแสสิ่งแวดล้อมในภาคเมืองจากปัญหามลพิษเมืองและอุตสาหกรรม แนวคิดสิ่งแวดล้อมชนชั้นสูงและชนชั้นกลางอยู่ในกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์สากล มอง “ธรรมชาติ” และ “สิ่งแวดล้อม” ในมิติกายภาพ ไม่มีมิติทางวัฒนธรรมและการเมือง ไม่ได้สนใจนิเวศวิทยาเฉพาะถิ่นในโลกทัศน์หรือวัฒนธรรมของชุมชน และยังใช้วาทกรรม “สิ่งแวดล้อม” “ธรรมชาติ” มาเบียดขับและครอบงำชุมชนท้องถิ่นด้วย

           แม้จะใช้คำเดียวกัน แต่ “นิเวศวัฒนธรรม” ของขบวนการชุมชนปกป้องนิเวศและทรัพยากรของไทย เหมือนและต่างจากนิเวศวัฒนธรรมทางมานุษยวิทยาหลายด้าน นิเวศวัฒนธรรมของขบวนการชุมชนสอดคล้องกับทางมานุษยวิทยาในด้านการศึกษาทำความเข้าใจโลกทัศน์ วิถีดำรงชีพ ความรู้ แบบแผนทางสังคม โดยเฉพาะในขบวนการชนเผ่าที่มีแนวคิดสอดรับกับนิเวศชาติพันธุ์ อันเป็นแนวคิดหนึ่งในนิเวศวัฒนธรรมทางมานุษยวิทยา ทำให้เมื่อกล่าวถึง ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องล่องลอย แต่เป็นโลกทัศน์ ความรู้ ความเข้าใจเชิงลึกของชุมชนที่มีต่อระบบนิเวศที่มีบริบทเฉพาะและก่อรูปเป็นวัฒนธรรมในลักษณะเฉพาะ ดังเช่น ขบวนการป่าชุมชน ได้เสนอวิถีดำรงชีพจัดการป่าของชุมชนที่มีนัยทางวัฒธรรม ขบวนการชนเผ่าได้เสนอเรื่องวัฒนธรรมพิเศษผ่านรูปธรรม เช่น ไร่หมุนเวียน ความรู้ท้องถิ่นต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และอื่น ๆ

           แต่สิ่งที่ต่างไปคือ นิเวศวัฒนธรรมในทางมานุษยวิทยามีเป้าหมายศึกษาทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมในเชิงลึก ทั้งในเชิงโลกทัศน์ คุณค่า โครงสร้างหน้าที่ แบบแผนทางสังคมของชุมชนโดยเอาระบบนิเวศมาเป็นปัจจัยกำหนด ไม่ได้มีอุดมการณ์หรือเป้าหมายการปกป้องธรรมชาติในตัวของมันเอง แต่นิเวศวัฒนธรรมของขบวนการชุมชน ให้ความสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศธรรมชาติโดยอาศัยพลังทางวัฒนธรรมของชุมชนร่วมปกป้องนิเวศ และในทางกลับกันก็ใช้ประเด็นทางนิเวศมาปกป้องวัฒนธรรมชุมชน จากนโยบายและโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่มากระทบต่อระบบนิเวศและชุมชน กล่าวง่าย ๆ คือ นิเวศวัฒนธรรมทางมานุษยวิทยาเป็นทฤษฎีอธิบายชุมชนแขนงหนึ่ง แต่นิเวศวัฒนธรรมของขบวนการชุมชนเป็นทั้งทฤษฎี อุดมการณ์ทางสังคม และวาทกรรมทางการเมืองในการต่อสู้ปกป้องธรรมชาติและวัฒนธรรมชุมชนที่สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออก

           ณ ขณะนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวชนพื้นเมือง และชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งของโลกไม่ได้หยุดอยู่แค่การเรียกร้องสิทธิของชุมชนที่มีต่อนิเวศและวัฒนธรรม แต่ไปถึงขั้นเรียกร้องสิทธิของ “ธรรมชาติ” (Rights of nature) อันหมายถึงจนสามารถผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แม่น้ำ ผืนดิน สายลม ภูเขา ทะเล ก็มีสิทธิในชีวิตเช่นเดียวกับบุคคล ดังปรากฏในกฎหมายของประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศปานามา โคลัมเบีย นิวซีแลนด์ บังคลาเทศ เอกวาดอร์ บราซิล เม็กซิโก เป็นต้น ทั้งหมดนี้มีฐานจากโลกทัศน์และวิถีชีวิต ชนพื้นเมืองที่จัดวางสังคมมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และในประเทศไทยก็เริ่มมีขบวนการชุมชนนำเสนอแนวคิดสิทธิของธรรมชาติบ้างแล้ว ดังเช่น เครือข่ายชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงได้เรียกร้องให้แม่น้ำโขงมีสิทธิของตนเองที่จะไม่ถูกรุกรานทำลายจากโครงการพัฒนา เช่น การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง

           นิเวศวัฒนธรรมของขบวนการชนพื้นเมือง ชุมชนได้ทำให้สังคมเริ่มเข้าใจ “ธรรมชาติ” ในฐานะองค์ประธานของสิทธิ และวิถีของสังคมที่สัมพันธ์กับธรรมชาติในแบบพึ่งพาซึ่งกันหาใช่การครอบงำธรรมชาติ หรือเอาธรรมชาติมาเป็นปัจจัยการผลิตและวัตถุดิบทางความรู้ที่แปลกแยกจากสังคมตามวิธีคิด “ธรรมชาติ” ของสังคมสมัยใหม่

           เป็นที่น่าดีใจที่กระแสแนวคิด Anthropocene ในทางธรณีวิทยาได้ขยายมาสู่มานุษยวิทยา แนวคิดดังกล่าวมองยุคสมัยของธรรมชาติในปัจจุบันที่มนุษย์ได้สร้างหายนะต่อโลกธรรมชาติ พร้อมกับต้องมีบทบาทปกป้องธรรมชาติ แม้แนวคิดที่มองมนุษย์เป็นปัญหาของธรรมชาติ และให้ธรรมชาติเป็นองค์ประธานของทุกสรรพสิ่งจะเป็นที่ตื่นตัวในขบวนการสิ่งแวดล้อมและขบวนการชุมชนปกป้องนิเวศมาหลายทศวรรษแล้ว จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจที่มานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อมสายต่าง ๆ รวมถึงนิเวศวัฒนธรรมจะไม่ได้มองธรรมชาติแค่ปัจจัยอธิบายสังคมมนุษย์อีกต่อไป แต่จะให้ความสำคัญต่อบทบาทของมนุษย์ในการรับผิดชอบปกป้องนิเวศหรือธรรมชาติที่มีสิทธิในตนเองดังเช่นขบวนการชนพื้นเมืองและชุมชนกำลังขับเคลื่อน


ผู้เขียน
ดร.กฤษฎา บุญชัย
เลขาธิการ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา


 

ป้ายกำกับ ภูมิทัศน์เชิงนิเวศวัฒนธรรม มานุษยวิทยานิเวศ ขบวนการเคลื่อนไหว สิ่งแวดล้อม สมุดไทยดำ ดร.กฤษฎา บุญชัย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share