มานุษยวิทยากับมุมมองด้านวิกฤตสิ่งแวดล้อมกรณีเหมืองแร่

 |  การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้เข้าชม : 1498

มานุษยวิทยากับมุมมองด้านวิกฤตสิ่งแวดล้อมกรณีเหมืองแร่

           Anthropocene เป็นคำที่ใช้อธิบายช่วงเวลาหรือยุคทางธรณีวิทยา ซึ่งผลกระทบของกิจกรรมของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงวัฏจักรทางธรณีและองค์ประกอบทางเคมีพื้นฐานของโลกอันเป็นผลมาจากการแปลงป่าเป็นทุ่งนาและทุ่งหญ้า กระบวนการเผาไหม้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมถึงถ่านหินอย่างมหาศาล เนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศของโลก นักมานุษยวิทยาจึงสามารถมีส่วนสำคัญในการศึกษาธรณีวิทยา เคมี และอุตุนิยมวิทยา โดยพิจารณาถึงผลกระทบของมนุษย์และระบบวัฒนธรรมของพวกเขา ดังที่ Latour (2016) ตั้งข้อสังเกตว่า สาขาวิชามานุษยวิทยามีคุณสมบัติเฉพาะในการให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญของวิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน โดยพิจารณาและกำหนดเกี่ยวกับเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังตัวเลือกต่าง ๆ ที่มนุษย์เลือกกระทำ โดยเชื่อมโยงสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเข้าด้วยกัน

           สิ่งที่ผู้เขียนต้องการตั้งคำถามง่าย ๆ ก็คือ มุมมองทางมานุษยวิทยาแสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาและยุคสมัยอย่างไร รวมทั้งความรู้ทางมานุษยวิทยาจะสามารถท้าทายวิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอย่างไร ที่เชื่อมโยงกับการเกิดขึ้นของมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อม เป็นสาขาย่อยที่น่าสนใจที่กำลังเติบโตขึ้นในความสำคัญเนื่องจากคำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนและวิกฤตการณ์ของสิ่งแวดล้อมกลายเป็นศูนย์กลางมากขึ้นในการสนทนาทางวิทยาศาสตร์และนักสังคมศาสตร์เกี่ยวกับอนาคตของสายพันธุ์และโลกของเรา

 

มานุษยวิทยา สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม: เมื่อมนุษย์เปลี่ยนผ่านจากสังคมล่าสัตว์หาของป่าสู่อุตสาหกรรม

           นักมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อมใช้มุมมองทางมานุษยวิทยาเพื่อให้ข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายสาธารณะ การจัดการการใช้ที่ดิน และการสนับสนุนสำหรับชุมชนพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อยในเมือง และกลุ่มอื่น ๆ ที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการเคลื่อนไหว ในแง่นั้นมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อมเป็นวิธีหนึ่งในการให้ข้อมูลและเชื่อมโยงกับสาขาวิชาอื่น ๆ ที่หลากหลายซึ่งตอบคำถามที่คล้ายคลึงกันของความยั่งยืน การเข้าใจคุณค่าของข้อมูลเชิงลึกทางมานุษยวิทยาสำหรับคำถามด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เข้าใจความซับซ้อนของคำถามด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมสมัยใหม่และการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น

           นักมานุษยวิทยาสายโบราณคดีหลายคนให้ความสำคัญกับผลผลิตที่เพิ่มขึ้นซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับสังคมเกษตรกรรมในฐานะรากฐานของอารยธรรม ทำให้มนุษย์สามารถอาศัยและตั้งถิ่นฐานที่ขยายใหญ่มากขึ้น มีความเชี่ยวชาญในการผลิตงานฝีมือ และพัฒนาลำดับชั้นทางสังคม และสุดท้ายคือความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ วรรณกรรม และวิทยาศาสตร์ จากมุมมองนี้ เมล็ดพันธุ์แห่งความซับซ้อนทางสังคมถูกบรรจุไว้ในเมล็ดพืชชนิดแรก ๆ ที่ปลูกบนเนินเขารอบพื้นที่พระจันทร์เสี้ยว (Fertile Crescent) ที่อุดมสมบูรณ์ในแถบพื้นที่กึ่งแห้งแล้งแถวเอเชียตะวันตกและสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ ในขณะที่นักวิชาการบางคนได้ตั้งคำถามกับแนวคิดที่ว่าผลกระทบของการเกษตรนั้นมีมากเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น Marshall Sahlins (2006) เรียกสังคมล่าสัตว์และเก็บหาอาหาร (foraging and hunter-gatherer societies) ว่าเป็นสังคมที่อุดมโภคทรัพย์ดั้งเดิม หรือ the original affluent societies และตั้งข้อสังเกตว่าคนกลุ่มนี้มีการใช้เวลาว่างมากกว่า มีการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพที่เป็นอาหารธรรมชาติมากกว่า มีเวลาพบปะสังสรรค์กับคนอื่นในครอบครัวมากกว่าคนในยุคปัจจุบัน รวมถึงความเท่าเทียมกันทางสังคมที่มากกว่าสังคมเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน Sahlins ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าคนกลุ่มล่าสัตว์และเก็บหาของป่ามีสถานะร่ำรวยหรือมีความมั่งคั่ง ไม่ใช่เพราะพวกเขามีทุกอย่าง แต่เพราะพวกเขาสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานด้านอาหาร ที่พักอาศัย และการเข้าสังคมได้อย่างง่ายดาย

           ในขณะที่นักวิชาการบางกลุ่มที่สมาทานความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การสื่อสารและเทคโนโลยีแล้ว มีทัศนะที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดของ Sahlins โดยกล่าวอ้างและเชิดชูการพัฒนาที่เกิดจากการเกษตรกรรม การวิพากษ์วิจารณ์และโต้แย้งของ Sahlins ไม่ควรถูกนำมาพิจารณาเป็นข้อเสนอแนะในการลดอุตสาหกรรม การวิเคราะห์และตั้งคำถามของ Sahlins ทำให้เกิดคำถามถึงแนวคิดที่มนุษย์มองตัวเองในฐานะสปีชีส์ที่เหนือกว่าสิ่งอื่นนั้นมี ความจำเป็นที่ต้องก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ และกระตุ้นให้มนุษย์คิดเกี่ยวกับวิธีการสร้างความจำเป็นทางวัฒนธรรมของตนเอง ในการตอบสนองความต้องการและปรารถนาของมนุษย์ เช่น ความต้องการรถยนต์หรือโทรศัพท์มือถือเพื่อเติมเต็มความสุขและความสะดวกสบาย หรือกระบวนการเหล่านั้นเป็นเช่นเดียวกับการแสวงหาความสัมพันธ์ทางสังคม แสวงหาอาหาร และใช้เวลาว่างอย่างที่มนุษย์เคยทำมาในอดีตเพียงแค่เปลี่ยนรูป โดยมนุษย์ไม่ต้องเคลื่อนย้ายตัวเองออกไปในพื้นที่กายภาพแต่ทำผ่านพื้นที่ออนไลน์ คำถามคือทั้งสองสิ่งนั้นมันมีความเหมือนกันจริงหรือ? เนื่องจากความเชื่อถือในนวัตกรรมที่ถูกสร้างขึ้นจำนวนมากมาย ทั้งในด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร การเกษตร และการคมนาคมขนส่งได้เข้ามาแทนที่ระบบธรรมชาติที่เคยสนับสนุนพวกเรา ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็จำเป็นต้องคิดพิจารณาถึงความก้าวหน้าของมนุษย์เกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงและพลังงานจากฟอสซิล ที่สร้างผลพลอยได้ที่เป็นพิษจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเคมี และมลภาวะของดิน และน้ำจากการเกษตรแบบอุตสาหกรรมทุนนิยม รวมถึงอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ล้วนเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อวิสัยทัศน์ทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่คาดหวังว่าสิ่งต่าง ๆ จะดีขึ้น ก้าวหน้าขึ้นและต้องดีกว่าเดิม แม้ว่าในทางตรงกันข้ามอาจสร้างผลกระทบในระยะยาวที่เลวร้าย

 

สถานการณ์เหมืองแร่และมุมมองทางมานุษยวิทยา: เมื่อแร่เป็นมากกว่าวัตถุทางเศรษฐกิจ

           ในทศวรรษที่ผ่านมา การดำเนินการสำรวจและขุดเจาะของบริษัทเหมืองแร่ขนาดใหญ่ได้ขยายไปสู่ภูมิภาคที่ห่างไกลและไม่สามารถถูกเข้าถึงได้มากที่สุด (Ballard & Blanks 2003; Crowson 2011) แม้ว่า Hodges (1995) จะคำนวณว่าที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ขนาดใหญ่นั้นมีพื้นที่น้อยกว่า 1% ของพื้นผิวโลก แต่ไม่ควรมองข้ามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมการทำเหมืองทั่วโลก ไม่มีกิจกรรมอื่นใดของมนุษย์ที่สามารถเคลื่อนย้ายธรณีวิทยาของโลกได้มากเท่ากับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ (Kirsch 2010, p. 88) นอกจากนี้การสกัดโลหะหรืออัญมณีที่มีกระบวนการแยกแร่ โดยวัสดุที่มีประโยชน์จำนวนเล็กน้อยถูกแยกออกจากสิ่งที่ไม่มีมูลค่าจำนวนมาก โดยผ่านกระบวนการพิเศษทางเคมี ทำให้วัสดุจำนวนมากถูกทิ้งในภายหลัง ที่ทำให้เราสามารถเข้าใจผลกระทบทางนิเวศวิทยาของของเสียที่สูญเปล่า (Bridge, 2004) เพื่อให้ได้โลหะเช่นทองและทองแดง จำเป็นต้องทิ้งวัสดุที่เหลือจากการสกัดได้ มากกว่า 99% (Douglas & Lawson 2000) สิ่งที่ไม่ได้ใช้อาจเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น เม็ดทรายที่ผลิตและกระจายตัวจากการขุดเหมืองกลายเป็นฝุ่นที่ปล่อยมลพิษในอากาศ สารเคมีที่เติมในกระบวนการทำเหมืองและที่ได้จากการออกซิเดชั่นของโลหะจะไหลลงสู่แม่น้ำหรือลงสู่น้ำใต้ดิน แม้แต่หินเฉื่อยทางเคมี เนื่องจากมีปริมาณมาก สามารถก่อกวนและก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ (Godoy 1985; Da Rosa, Lyon 1997; Bridge 2004)

           การพิจารณาการขุดจากมุมมองทางเทคนิคหรือวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความซับซ้อนของความสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นรอบ ๆ เหมือง และไม่ได้ช่วยเราในการประเมินผลกระทบทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของกิจกรรมนี้อย่างเต็มที่ กระบวนการสกัดไม่เป็นกลางทางนิเวศวิทยาหรือทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบอย่างหนึ่งของการขุดเหมืองที่เติบโตอย่างเฟื่องฟูคือการเปลี่ยนสถานที่ทำเหมืองให้กลายเป็นสถานที่ที่มีความขัดแย้ง ซึ่งมีผู้มีบทบาทในสถาบันและไม่ใช่สถาบันที่หลากหลายต่างกัน เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานพัฒนา สมาคม นักกฎหมาย นักข่าวและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน มีการปะทะและเผชิญหน้ากัน (Ballard, Banks 2003; Bridge 2004) ข้อพิพาทเหล่านี้มักประกอบด้วยจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์สองจุดต่อไปนี้ ด้านหนึ่งคือชุมชนท้องถิ่นและตัวแทนของพวกเขา ที่ต้องการแสวงหารูปแบบการชดเชยและต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่ส่งผลต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม และการการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมที่พวกเขาควรได้รับจากการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่น และในทางกลับกัน จุดยืนของบริษัทเหมืองแร่และองค์กรระหว่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในส่วนของพวกเขา เนื่องจาก "ผลประโยชน์" เหล่านี้โดยส่วนใหญ่แล้ว ได้กลายเป็นคำสัญญาที่คลุมเครือหรือไม่เป็นธรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่บางครั้งความไม่พอใจของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทำเหมืองอาจนำไปสู่การประท้วงหรือความรุนแรงในพื้นที่ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจนำไปสู่การสร้างระเบียบทางสังคมและวัฒนธรรมใหม่ ด้วยการเขียนประวัติศาสตร์ของดินแดนใหม่ (Santos-Granero 1998 ) ภูมิทัศน์ทุกแห่งล้วนมีปฏิสัมพันธ์กับ "คำพูด" และ “การกระทำ” ซึ่งสร้างขึ้นผ่านผู้กระทำการทางสังคมที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ของภูมิทัศน์มีความเชื่อมโยงกัน ยิ่งกว่านั้น ไม่เพียงแต่กับนิเวศวิทยาและจักรวาลวิทยาในท้องถิ่นเท่านั้น เนื่องจากการวิเคราะห์ทางมานุษยวิทยาของ Jorgensen (1998), Stewart และ Strathern (2005) และ Moretti (2008) ในบริบทการขุดเหมืองแร่ของปาปัวนิวกินีได้เน้นให้เห็นอย่างชัดเจน ที่ไม่ใช่การเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ อย่างเช่นต้นไม้ที่ถูกตัดโดยบริษัทเหมืองแร่ขนาดใหญ่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้เท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบ ๆ เหมือง ต้นไม้เหล่านี้สามารถมีคุณค่าทางสังคมวัฒนธรรมและทางศาสนาได้

           กรณีนี้สามารถอธิบายได้เช่นเดียวกันกับแม่น้ำ พวกเขามักจะมีบทบาทเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญ และในบางกรณีก็มีบทบาททางการเมืองที่สำคัญ ดังที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อแสดงถึงขอบเขตของอาณาเขตเชิงพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนเส้นทางของแม่น้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำเหมืองไม่เพียงแต่เปลี่ยนระบบนิเวศน์ของพื้นที่เท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดข้อพิพาทและความขัดแย้งที่อาจทำให้เกิดปัญหาระยะยาวกับคนในพื้นที่ เช่นในกรณีของอุตสาหกรรมสกัดและขุดเจาะแร่ในเซียร์ราลีโอน ในการศึกษาของ Akiwumi (2006) ที่ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่สามารถสร้างหรือขยายพรมแดนของความรู้สึกไม่สบาย โรคภัย และความทุกข์ทางสังคมได้ ที่ได้เปิดพื้นที่ของการวิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า "ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม" ของการขุดเจาะเหมืองแร่ เราไม่สามารถพึ่งพาสถิติหรือการแจงนับตัวเลขทางสถิติของมูลค่าหรือผลกระทบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น สิ่งที่จำเป็นคือหน่วยวิเคราะห์ที่กว้างขวางและซับซ้อนกว่าที่คิด ที่ขยายออกไปถึงสิ่งที่เรียกว่า "ระบบนิเวศ" (Bridge 2004) ดังนั้นมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อมจึงทำงานแบบ สหวิทยาการ (Dove & Carpenter 2002) และใช้วิธีการที่มีลักษณะเฉพาะตัวในการทำความเข้าใจผลกระทบที่ซับซ้อน ผ่านการวิจัยภาคสนาม สามารถมีส่วนสำคัญในการวิเคราะห์รายละเอียดของความเป็นจริงในท้องถิ่นโดยไม่ละเลยความเชื่อมโยงกับมิติทางสังคม วัฒนธรรมของท้องถิ่นกับบริบททั่วโลกที่เกี่ยวข้องทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม นักมานุษยวิทยามีโอกาสที่จะขยายขอบเขตของระเบียบวิธีการศึกษาและทำงานภาคสนามที่สำรวจรูปแบบที่เป็นไปได้ของการบูรณาการกับสาขาวิชาอื่น ๆ (Godoy, 1985) รวมถึงการร่วมมือกับผู้กระทำการทางสังคมต่าง ๆ ( Kirsch 2002; Coumans 2011)

 

ความท้าทายของนักมานุษยวิทยาต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม

           ภายใต้ความจำกัดและขาดแคลนที่เพิ่มขึ้นของทรัพยากรและศักยภาพในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนความขัดแย้งในการจัดการและการใช้ทรัพยากร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างลึกซึ้ง คำถามเกี่ยวกับความยั่งยืนเกิดขึ้นจากความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการจัดการผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันและการขาดแคลนทรัพยากรในระดับโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น เลนส์มานุษยวิทยาช่วยในการตรวจสอบกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงจากมุมมองแบบองค์รวม ครอบคลุมคำอธิบายของนักแสดงในความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันมากมายกับทรัพยากร ผู้คนเข้าใจมลภาวะ การยึดครองที่ดิน ภัยพิบัติจากการขุด และนโยบายใหม่ที่ควบคุมการเข้าถึงการผลิต การกระจาย และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างไร รวมถึงความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของทรัพยากรธรรมชาติเกี่ยวข้องกับทัศนคติ พฤติกรรม และการเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร? มานุษยวิทยาที่ศึกษาการทำเหมืองแร่ได้ก่อให้เกิดการวิเคราะห์ทางชาติพันธุ์ที่หลากหลายถึงความสำคัญของทรัพยากรแร่ เช่น เหมืองทองคำกับการดำรงชีพของคนงานเหมืองพื้นเมืองและผู้อพยพ ข้อมูลเชิงลึกและความเชื่อเกี่ยวกับทรัพยากรเหล่านี้และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยทั่วไป และแนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายจารีตประเพณีและความถูกต้องตามกฎหมายของการเข้าถึงแร่ธาตุ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าการสกัดแร่หรือการขุดเจาะแร่ แม้จะจัดอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ได้เกิดการก่อกวนทางสังคมและทำลายสิ่งแวดล้อมภายใต้ระบอบของระบบเศรษฐกิจและทุนนิยมโลก

           ดังเช่นงานศึกษาของ Stuart Kirsch (2002) เล่าเรื่องความขัดแย้งเรื่องเหมืองทองแดงและทองคำ Ok Tedi ในปาปัวนิวกินี การเล่าผ่านเรื่องราวของภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ค่อย ๆ เคลื่อนตัวและเครือข่ายระหว่างประเทศของชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มผู้สนับสนุน และนักกฎหมายที่พยายามปกป้องแม่น้ำในท้องถิ่นและป่าดิบชื้นของพวกเขา รวมถึงวิธีการที่บรรษัทส่งเสริมผลประโยชน์ของพวกเขาโดยการจัดการวิทยาศาสตร์และเรียกใช้วาทกรรมแห่งความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งที่น่าสนใจคือบทบาทของนักมานุษยวิทยาที่ Kirsch (2000) บอกว่า

           “อุดมคติสำหรับนักมานุษยวิทยาคือการมีส่วนร่วมในระยะยาวกับชุมชนที่กำลังศึกษาอยู่ อย่างน้อยหนึ่งปี เรียนภาษาท้องถิ่น ค้นหาว่าผู้คนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นต้น งานภาคสนามดั้งเดิมนั้นให้มุมมองเชิงเปรียบเทียบอันมีค่าแก่ฉัน ซึ่งช่วยให้ฉันมองเห็นความคล้ายคลึงกันในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ระหว่างผู้คนที่อาศัยอยู่ในป่าฝนของนิวกินีและในแอมะซอน ในขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงความแตกต่างสำคัญเช่นกัน แม้ว่าการวิจัยระยะสั้นและระยะยาวจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่ก็เป็นไปได้ที่จะสร้างสิ่งที่มีค่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชุมชนได้เชิญให้คุณทำวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาในทางใดทางหนึ่ง เช่น การช่วยให้พวกเขาได้รับการยอมรับในสิทธิในที่ดินของตน การมีส่วนร่วมของฉันกับคดี Ok Tedi เริ่มขึ้นในขณะที่ฉันยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอก ฉันอาศัยและทำงานในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ซึ่งตั้งอยู่ปลายน้ำจากเหมืองทองแดงและทองขนาดใหญ่ซึ่งสร้างมลพิษให้กับระบบแม่น้ำของพวกเขา ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบไม่มีแรงสนับสนุนหรือทรัพยากรจากภายนอกมากนักในการต่อต้านบริษัทเหมืองแร่ ดังนั้นฉันจึงเริ่มต้นด้วยการเขียนเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ การนำเสนอข้อมูลให้กับสื่อมวลชน และพยายามเชื่อมโยงผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่ได้รับผลกระทบเข้ากับองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศอาจช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ขณะทำงานนี้ ฉันก็ค่อย ๆ ตระหนักว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชนพื้นเมืองเป็นวิชาที่ไม่ได้รับการศึกษาในวิชามานุษยวิทยา แต่กลับมีการเติบโตในปฏิสัมพันธ์ของฉันกับสมาชิกในชุมชน ทนายความ องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ และบริษัทเหมืองแร่เป็นแหล่งข้อมูลทางชาติพันธุ์ที่ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง ดังนั้นฉันจึงกลายเป็นนักมานุษยวิทยาที่มีส่วนร่วมอันเป็นผลมาจากการตัดสินใจที่จะเขียนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการต่อสู้ทางการเมืองของพวกเขา คนเล็กคนน้อยเหล่านี้”

           คำถามที่ท้าทายนักมานุษยวิทยาอย่างพวกเรา ที่ทำงานกับผู้คนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเปราะบาง กลุ่มชายขอบของสังคม รวมถึงผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา เราจะทำอย่างไรที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาและมีส่วนร่วมนำเสนอข้อมูลอย่างรอบด้านในการพัฒนา รวมทั้งทำหน้าทีเป็นสื่อการนำเสนอเสียงหรือเรื่องเล่าของชาวบ้านหรือผู้คนที่ตัวเองศึกษาได้สื่อสารและสะท้อนปัญหา ความไม่ยุติธรรมทางสังคม การถูกอำนาจรัฐกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมและความทุกข์ยากจาการพัฒนาออกสู่สาธารณะให้มากขึ้น

 

บรรณานุกรมและหนังสืออ้างอิง

Akiwumi, F. A. (2006), “Indigenous People Participation: Conflict in Water Use in an African Mining Economy”, in: Tvedt, T. Oestigaard, T., (eds.), A History of Water. Vol. III, London – New York, I. B. Tauris, pp. 49-80.

Ballard, C., Banks, G. (2003), “Resource Wars: The Anthropology of Mining”, Annual Review of Anthropology, 32, pp. 287-313.

Benson, P., Kirsch, S. (2010), “Capitalism and the Politics of Resignation”, Current Anthropology, 51, 4, pp. 459-486.

Bridge, G. (2004), “Contested Terrain: Mining and the Environment”, Annual Review Resources, 29, pp. 205-259.

Bruno Latour, “Anthropology at the Time of the Anthropocene: A Personal View of What Is to be Studied,” (paper presented at the annual meeting of the American Anthropological Association, Washington, D.C., December 2014) http://www.bruno-latour.fr/sites/default/files/139-AAA-Washington.pdf

Coumans, C. (2011), “Occupying Spaces Created by Conflict. Anthropologists, Development NGOs, Responsible Investment, and Mining”, Current Anthropology, 52, S3, pp. S29-S43.

Da Rosa, C., Lyon, J. S. (1997), Golden Dreams, Poisoned Streams. How Reckless Mining Pollutes America’s Waters and How We Can Stop It, DC, Mineral Policy Center.

Douglas, I. and Lawson ,N. (2000)., "Material flows due to mining and urbanization," In A Handbook of Industrial Ecology, ed. UAyers, LWAyers, pp. 351–64. Cheltenham, UK/Northampton, MA: Elgar, 2000.

Dove, M. R., C. Carpenter (eds.) (2002), Environmental Anthropology. A Historical Reader, Blackwell.

Elliot M. Abrams and David J. Rue, (1988). “The Cause and Consequences of Deforestation among the Prehistoric Maya,” Human Ecology 16 no. 4 (1988): 377–395.

Godoy, R. (1985), “Mining: Anthropological Perspectives”, Annual Review of Anthropology, 14, pp. 199-217.

Harold Conklin, Hanunoo Agriculture. A Report on an Integral System of Shifting Cultivation in the Philippines (New York, United Nations, 1957).

Hodges, C. A. (1995), “Mineral resources, environmental issues and land use”, Science, 268, 5215, pp. 1305-12.

Jorgensen, D. (1998), “Whose Nature? Invading Bush Spirits, Travelling Ancestors, and Mining in Telefolmin”, Social Analysis, 42, 3, pp. 100-116.

Kirsch, S. (2002), “Anthropology and Advocacy. A Case Study of the Campaign Against the Ok Tedi Mine”, Critique of Anthropology, 22, 2, pp. 175-200.

Kirsch, S. (2010), “Sustainable Mining”, Dialectical Anthropology, 34, pp. 87-93.

Marshall Sahlins, “The Original Affluent Society,” in The Politics of Egalitarianism: Theory and Practice, ed. Jacqueline Solway (New York: Berghahn Books, 2006), 79-98.

McGee R. Jon & Warms L. Richard (2000). Leslie White, “Energy and the Evolution of Culture,” in Anthropological Theory: An Introductory History. eds. R. Jon McGee and Richard L. Warms (Mountain View, CA: Mayfield Publishing Company, 2000), 249.

McGee R. Jon & Warms L. Richard (2000). Julian Steward, “The Patrilineal Band,” in Anthropological Theory: An Introductory History, eds. R. Jon McGee and Richard L. Warms (Mountain View, CA: Mayfield Publishing Company, 2000), 228–242.

Moretti, D. (2007), “Ecocosmologies in the Making: New Mining Rituals in Two Papua New Guinea Societies”, Ethnology, 46, 4, pp. 305-328.

Nash, J. C. (2006), Practicing Ethnography in a Globalizing World. An Anthropological Odyssey, Lanham – Boulder – New York – Toronto – Plymouth, UK, Altamira Press.

Paige West, James Igoe, and Dan Brockington, “Parks and People: The Social Impact of Protected Areas,” Annual Review of Anthropology 35 (2006): 251–277.

Reed, Richard (2011), “Forest Development and the Indian Way,” in Conformity and Conflict: Reading in Cultural Anthropology, eds. James Spradley and David McCurdy, 105-115 (New York: Pearson, 2011).

Santos-Granero, F. (1998), “Writing History into the Landscape: Space, Myth, and Ritual in Contemporary Amazonia”, American Anthropologist, 25, 2, pp. 128-148.

Stewart, P. J., Strathern, A. (2005), “Cosmology, Resources, and Landscape: Agencies of the Dead and the Living in Duna, Papua New Guinea”, Ethnology, 44, 1, pp. 35-47.


ผู้เขียน

อ.ดร.นัฐวุฒิ สิงห์กุล

ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร


 

ป้ายกำกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วิกฤตสิ่งแวดล้อม เหมืองแร่ นัฐวุฒิ สิงห์กุล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share