บ้านหนองหล่ม ลำพูน: 3 ผู้หยัดยืน สร้างอาชีพจากทุนพื้นถิ่น

 |  การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้เข้าชม : 2154

บ้านหนองหล่ม ลำพูน: 3 ผู้หยัดยืน สร้างอาชีพจากทุนพื้นถิ่น

           ความรู้สึกของการเป็น ‘คนสุดท้าย’ มันเป็นอย่างไร?

           มันอาจเต็มไปด้วยความเหงาถ้าเราคือคนสุดท้ายที่รอคอยอะไรบางอย่าง เป็นเรื่องของความพิลึกพิลั่นถ้าเราคือผู้โดยสารคนสุดท้ายบนรถประจำทางที่กำลังเข้าอู่ หรือว่าจะเป็นความปลื้มปริ่มใจถ้าคำว่าคนสุดท้ายหมายความถึงการเอาชนะบางอย่างจนได้เป็นที่หนึ่ง

           แล้วถ้าหากเราคือคนสุดท้ายที่ยังคงยืนหยัดที่จะประกอบอาชีพช่างไม้ ช่างทอผ้า และผู้อนุรักษ์ผืนป่าของชุมชน ในโลกยุค 2024 ที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานจากชุมชนไปเมืองใหญ่เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจที่มากกว่า

           มันเป็นความโดดเดี่ยวเช่นไร?

           ชุมชนหนองหล่ม ศรีบัวบาน จังหวัดลำพูนเป็นเพียงหนึ่งในหลายชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับสถาวะการไหลออกของแรงงาน เพราะพื้นที่บ้านเกิดไม่มีโอกาสในการทำงานหาเลี้ยงชีพมากเพียงพอ จึงเลือกที่โยกย้ายถิ่นฐานออกไปอยู่ตามแหล่งงาน เช่น นิคมอุตสาหกรรมหรือว่าเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่แทน

           ตามมาด้วยปัญหาคลาสสิกคือเมื่อคนหนุ่มสาวทยอยย้ายออกจากพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือว่าถาวร ก็มีเพียงผู้สูงอายุหรือผู้คนวัยเกษียณที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนเช่นเดิม เกิดเป็นสังคมผู้สูงอายุไปควบคู่กับปัญหาแฝงอย่างเรื่องของ ‘อาชีพ’ ในชุมชนที่ไร้ผู้สืบทอดหรือสานต่อ

           นอกจากนี้ประเด็นเรื่องของ ‘คนออก’ ชุมชนกำลังเผชิญความท้าทายเรื่องของ ‘คนเข้า’ หรือการรุกคืบของสังคมเมืองที่ใกล้พื้นที่ตั้งของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นส่วนของหน่วยงานภาครัฐอย่างศาลจังหวัดลำพูนและศูนย์ราชการจังหวัดลำพูน การขยายตัวของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาเขตลำพูน หรือว่าจะเป็นในส่วนของกลุ่มทุนเอกชนที่เข้ามาลงทุนก่อสร้างรีสอร์ตและสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ เนื่องจากมีการขุดพบตาน้ำร้อนในชุมชนอีกด้วย


ตาน้ำพุร้อนถูกแปรสภาพเป็นบ่อน้ำร้อนออนเซ็นในรีสอร์ตของเอกชนที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อทำแหล่งท่องเที่ยวขนาดเล็ก ผ่านการพูดคุยกับผู้คนในชุมชน และข้อตกลงในการจ้างงาน


           ในสายตาของคนที่เกิดและเติบโตในพื้นที่ ย่อมเห็นการเปลี่ยนผ่านมาหลายครั้งหลากครา มีพบมีพรากมีจากลา แต่บางครั้งมันก็ยากกับการยอมรับว่าสิ่งที่เคยผูกพันมาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยกำลังจะเลือนหายไปตามกาลเวลา

           หากการยอมรับ ไม่ได้หมายความถึงการสยบยอม

           ณ เวลานี้ ชุมชนหนองหล่มยังคงมีคนกลุ่มเล็กที่ยืนหยัดเพื่อสืบสานภูมิปัญญาความรู้ท้องถิ่น เพื่อเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่าง คน งาน และชุมชนให้ยังคงเหนียวแน่น เพื่อให้จิตวิญญาณของชุมชนหนองหล่มยังคงดำรงอยู่และสืบต่อไปยังคนรุ่นต่อไป


ชีวิตหลังเกษียณ

           ในวัยเด็กของนายพูนภิทัศน์ เลสัก หรือ ช่างส่ง ไม้ไผ่ที่ปลูกอยู่รอบบริเวณหมู่บ้านและปลายภูเขาไม่ได้มีค่าอะไรมากไปกว่าการตัดนำมาเป็นรั้วเพื่อกั้นอาณาเขตระหว่างบ้าน หากการกลับมาอยู่บ้านอีกครั้งภายหลังจากการเกษียณก่อนกำหนด (Early Retirement) ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด ทำให้เขาทราบว่าจากไม้ไผ่ที่เคยไม่มีมูลค่า ในปัจจุบันสามารถนำมาต่อยอดกลายเป็นรายได้ได้หลายเท่าตัว


ช่างส่งในสถานที่ทำงานของเขา รายล้อมด้วยเครื่องมือ ผลงาน และวัตถุดิบในการสร้างผลงานจากวัตถุดิบในชุมชน


           ช่างส่ง ผู้ประกอบอาชีพช่างไม้เพียงคนเดียวของหมู่บ้านหนองหล่ม ของเล่าประวัติของตัวเองให้ฟังว่าก่อนหน้านี้เขาทำงานในภาคงานอุตสาหกรรมยานยนต์นอกตัวจังหวัดลำพูน เพราะในช่วงเวลานั้นการทำงานในชุมชนเป็นเรื่องที่ไม่ท้าทาย เป็นการทำงานที่หมุนวนอยู่ในไม่กี่ประเภท อย่างการทำเกษตรกรรม ทำนา หรือว่าเก็บเห็ดป่า

           เขาจึงเลือกเดินทางออกจากหมู่บ้านไปสมัครงานในภาคส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องจักร ดูแลเรื่องการใช้เครื่องยนต์และหุ่นยนต์ เพราะมองว่าพื้นที่ตรงนั้นจะพาเขาไปยังความก้าวหน้าในด้านอาชีพการงานได้

           ช่างส่งใช้ชีวิตห่างไกลจากบ้านเกิดเป็นเวลากว่า 20 ปี กระทั่งการมาถึงของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบถึงตัวโรงงานที่เขาทำงานอยู่อย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยทางทีมบริหารมีการยื่นข้อเสนอให้เกษียณก่อนกำหนดให้กับกลุ่มพนักงานบางส่วน

           เขาจึงกลับมาคิดพิจารณากับตัวเองว่านี่อาจจะเป็นเวลาที่ได้ ‘กลับบ้าน’ เสียที

           “คิดว่าลาออกกลับมาอยู่บ้าน ช่วยเหลือชุมชน ให้ประสบการณ์ที่เราไปทำงานอยู่ต่างจังหวัด อยากจะเอามาพัฒนาชุมชนที่อยู่ของตัวเอง”

           ในช่วงแรกช่างส่งก็มองว่า การเดินทางกลับบ้านเกิดถาวรในครั้งนี้เขาคงสามารถนำเอาทักษะที่ได้จากการทำงานในภาคอุตสาหกรรมมาใช้ประยุกต์กับการทำงานในชุมชนได้ หากความจริงมันไม่เป็นเช่นนั้นเลย ตัวชุมชนหนองหล่มยังเป็นชุมชนภาคการเกษตรกรรมอยู่เช่นเดิม เขาจึงจำเป็นต้องลองมองหาโอกาสในการประกอบอาชีพรูปแบบอื่น

           เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) หรือ University To Tambol (U2T) ที่มีความสนใจเข้ามาผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมจากไม้ไผ่ที่มีอยู่ในพื้นที่ นำมาผลิตเป็นสินค้าจากไม้ไผ่อัดหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชุดโต๊ะ เก้าอี้ ชั้นวางของ อาสนะสำหรับพระสงฆ์ รวมไปถึงอุปกรณ์ชงกาแฟแบบครบชุด


เก้าอี้ไม้ไผ่แบบเตี้ยติดพื้นสไตล์ญี่ปุ่นราคาจำหน่าย 5,000 บาท ซึ่งเป็นผลงานของช่างส่ง ผ่านการร่วมออกแบบกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


           เมื่อโอกาสมาถึงชุมชน ช่างส่งจึงเลือกที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนของโครงการนี้ โดยการอบรมครั้งนี้เป็นการสอนตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน โดยไม่ต้องกังวลว่าผู้เข้าร่วมโครงการเคยทำงานช่างไม้หรือมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานไม้มาก่อนหรือไม่ รวมถึงทางโครงการยังมีการสนับสนุนในส่วนของเครื่องมือสำหรับปฏิบัติงานอีกด้วย

           รายละเอียดของการอบรมมีการเชิญอาจารย์จากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาให้ความรู้ อย่างเช่นอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ก็เป็นการจุดประกายแรงบันดาลใจและทำให้ช่างส่ง ‘ค้นพบความชอบ’ ด้านใหม่ด้วย

           เขาเล่าว่า นอกจากรับความรู้ใหม่เกี่ยวกับการทำงานไม้เป็นจำนวนมากแล้ว เขาได้รู้ว่าตนเองชอบทำงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ มีความสุขเวลาที่ได้จินตนาการถึงผลลัพธ์ของผลงาน และมีความสุขมากเวลาที่ผลงานที่เคยอยู่เพียงในรูปวาดบนกระดาษของตัวเองกลายเป็นผลงานที่จับต้องได้จริง

           แต่อย่างที่เราก็ทราบกันดีว่าการมีความรู้ในทางทฤษฎีหลายครั้งมันไม่เพียงพอ การลงมือภาคปฏิบัติเพื่อก่อร่างสร้างตัวผลงานขึ้นมาให้จับต้องได้ก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจไม่ต่างกัน เพราะต่อให้มีขั้นตอนการออกแบบที่สวยงามแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีคนคอยลงมือปฏิบัติในการประกอบโครงร่างให้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอันก็ยาก

           จากช่างที่คอยควบคุมอุปกรณ์และเครื่องจักรกล ก็เลยได้ลองลงมือทำความรู้จักกับเครื่องจักรขนาดกะทัดรัดสำหรับทำงานไม้ที่เป็นเพื่อนร่วมงานคนใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจระบบพอสมควรเหมือนกัน

           นอกจากนี้เขายังเล่าเรื่องท้าทายบางประการที่พบเจอ นั่นคือการที่ชาวบ้านบางส่วนรู้สึก ‘ไม่กล้า’ และปฏิเสธการลองใช้เครื่องมือชนิดใหม่เพราะไม่มีความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องจักรในการทำงานไม้มาก่อน มันเลยกลายเป็นความรับผิดชอบของเขาไปโดยปริยายในการอาสาลงมือเป็นฝ่ายประกอบไม้ให้กลายเป็นโครงร่างสินค้า

           ซึ่งช่างส่งก็มองว่า การลงมือทำด้วยตัวเองนอกจากจะเป็นการทดลองว่าตนเองมีความชอบ ความสนใจ และความถนัดในการทำงานด้านไหนแล้ว มันจะเป็นตัวอย่างให้กับคนในชุมชนลองเปิดใจว่า การลงมือทำอะไรสักอย่างที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวและไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของมนุษย์


ส่วนหนึ่งของงานไม้ที่รอการประกอบเข้าสู่ชิ้นงานของช่างส่ง ถูกวางไว้บนโต๊ะทำงานของเขา


           จากจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้เข้าร่วมอบรมรายหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนักช่างส่งกลายเป็น ‘ตัวหลัก’ ในการดำเนินโครงการยกระดับสินค้าชุมชนหนองหล่ม โดยความท้าทายแรกที่เขาเผชิญคือเรื่องการโน้มน้าวให้สมาชิกในชุมชนมีทัศนคติทางบวกกับการเปิดธุรกิจระดับชุมชนรูปแบบใหม่

           เพราะคนในพื้นที่จำนวนมากก็ยังเลือกที่จะยึดอยู่กับอาชีพดั้งเดิมทางการเกษตรหรือว่างานในนิคมอุตสาหกรรม ไม่มีความสนใจในการขยับโอกาสในการขยายตลาดทางเศรษฐกิจ และยังคงมองว่าการทำงานเป็นเรื่องของ ‘ตัวใครตัวมัน’ ไม่ได้มีการร่วมมือทำงานหรือรวมกลุ่มกันภายในชุมชนเท่าไหร่นัก

           เมื่อประเด็นหลักที่ต้องให้ความสำคัญคือทำอย่างไรคนภายในชุมชนจะเต็มใจเข้าร่วมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนงานไม้ไผ่อัด ในช่วงแรกช่างส่งจึงวางแผนว่าจะต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าการเปลี่ยนมาเปิดธุรกิจงานไม้ยังคงเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิม ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

           เริ่มจากการแบ่งสมาชิกที่อยากลองทำความรู้จักกับงานไม้ ก็จะมีการแบ่งหน้าที่ตามขั้นตอนตามที่ตนเองสนใจและคิดว่าจะทำได้ดี สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ขั้นตอนหลักคือ

           อย่างให้นายหนึ่งรับผิดชอบในการเตรียมวัตถุดิบ หรือก็คือไปหาไม้ไผ่ตามพื้นที่ริมภูเขาหรือภายในหมู่บ้าน โดยความรู้เกี่ยวกับพันธุ์และการเลือกไม้ไผ่ก็ได้มีการถ่ายทอดมาจากทีมงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เคยให้ความรู้มาแล้วว่าการเลือกไม้เป็นเช่นไร ต้องไม้อายุเท่าไหร่จึงนำมาใช้ได้ หรือว่าต้องการไม้ประเภทไหน ลักษณะไหน รวมไปถึงการซื้อไม้ไผ่ต่อจากสมาชิกในหมู่บ้าน เป็นการหมุนเวียนรายได้ในชุมชนอีกทางหนึ่ง

           พอมีอุปกรณ์สำคัญอย่างไม้ไผ่แล้ว จากนั้นขั้นตอนต่อไปคือการผ่าไม้ เตรียมให้เป็นชิ้น ช่างส่งก็จะมอบหมายงานกับชาวบ้านที่มีความถนัดหรือว่าชอบการทำงานในขั้นตอนนี้ จากนั้นก็เหลาหรือว่าขูดผิวของไผ่ออกให้เหลือเพียงส่วนที่จะนำมาเข้ากรรมาวิถีอัดเป็นไม้ไผ่แผ่นเป็นลำดับถัดไป

           ขั้นตอนที่สามคือเรื่องของการประกอบออกมาเป็นชิ้นงาน คือเมื่อได้ท่อนไม้อัดตามที่ต้องการแล้วก็จะทำมาประกอบกันเป็นโครงร่าง เช่น เอามาประกอบเป็นเก้าอี้นั่ง เป็นตู้วางของ ตู้หนังสือ หรือว่าของประดับในบ้านเป็นต้น

           เมื่อประกอบแล้วก็จะเป็นขั้นตอนที่สี่หรือว่าการตัดแต่ง ทำลวดลาย ที่มีตั้งแต่ลวดลายพื้นฐานไปจนถึงลวดลายที่ต้องการความละเอียดอ่อนเป็นจำนวนมาก

           ก่อนที่จะจบขั้นตอนสุดท้ายด้วยการลงสี ทั้งสีเพื่อขัดสีไม่และเพื่อป้องกันเรื่องรอยขีดข่วน ช่างส่งประเมินให้ฟังว่า หากเป็นการประดิษฐ์งานหนึ่งชิ้นจะใช้เวลาราวหนึ่งถึงสองอาทิตย์ แต่อาจน้อยหรือมากกว่านั้นแล้วแต่ระดับความยากและความละเอียดอ่อนของชิ้นงาน

           ความสำเร็จขั้นต้นของการแบ่งหน้าที่ตามความถนัดของตัวเอง คือสมาชิกเริ่มเข้าใจว่าการลองพัฒนาทักษะใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก มีการเปิดใจให้กับการสร้างมูลค่าให้สินค้าจากฝีมือคนในชุมชนมากขึ้น แล้วยังเป็นการเสริมสร้างให้คนในชุมชนปรับตัวเข้ากับการทำงานเป็นทีมอีกด้วย

           แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีชาวบ้านภายในชุมชนหนองหล่มสนใจทดลองเปลี่ยนอาชีพมาทำงานเป็นช่างไม้เต็มตัว จะมีบ้างก็เพียงแค่คนที่เข้ามาช่วยเป็นลูกมือเป็นครั้งเป็นคราว เลยอาจบอกได้ว่า ตอนนี้มีเพียงช่างส่งที่ประกอบอาชีพช่างไม้เพียงคนเดียวในพื้นที่

           การราคาของสินค้าจะแตกต่างกันไปตามความยากง่ายของการประกอบ การตกแต่ง และขนาดของชิ้นงาน ช่างส่งเล่าว่างานส่วนใหญ่ที่ลูกค้าสั่งซื้อมาคือชุดโต๊ะและเก้าอี้สำหรับทานข้าวภายในบ้าน ส่วนอีกหนึ่งรายการสั่งซื้อที่มีเข้ามาเรื่อยๆ คืออาสนะสงฆ์เพื่อถวายพระ

           แต่งานของช่างส่งไม่ได้มีเพียงเท่านั้น เพื่อเป็นการเปิดตลาดการค้าให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น เขาได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการศึกษาตลาดและดีไซน์สินค้าชนิดใหม่ที่มีความมินิมอล (Minimalism) อย่างเช่นเก้าอี้นั่งพื้นพร้อมพนัก หรือว่าจะเป็นเก้าอี้ชิงช้า ที่สามารถสั่งซื้อได้จากแผ่นพับแสดงประเภทของสินค้าของทางชุมชน

           ส่วนถ้าถามว่า การกลับมาทำงานตัวคนเดียวภายในชุมชนมีข้อเปรียบเทียบอย่างไรบ้างกับการทำงานในอดีต ช่างส่งนึกอยู่หลายวินาทีก่อนอธิบายว่าการกลับมาอยู่ ‘บ้าน’ มันก็มีทั้งทางบวกและทางลบ โดยเฉพาะในเรื่องของปริมาณงานกับระยะเวลาการพักผ่อน

           “เราเคยมีรายได้ประจำจากโรงงาน แต่เวลาพักผ่อนไม่ค่อยมี แต่คิดว่าเออ กลับมาอยู่บ้าน ทำอะไรก็ได้ไม่มีใครบังคับ อยากทำตอนไหนก็ทำได้ ไม่มีใครบังคับ อยากไปที่ไหนก็ไปได้”


แผ่นไม้เพื่อการผลิตชิ้นงานของช่างส่งเรียงรายในพื้นที่เวิร์กช็อปเปิดโล่ง


           โดยเขาเล่าว่า เมื่อครั้งตอนที่ทำงานให้กับโรงงานก็จะมีรายได้ประจำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เขาทราบดีกว่าในเดือนหนึ่งจะได้เงินเป็นปริมาณเท่าไหร่ มีความมั่นคงในเรื่องของรายได้เสมอ หากมันก็แลกมาด้วยเรื่องของเวลาพักผ่อนหรือเวลาส่วนตัวที่ไม่มีเท่าที่ควร เพราะเขาใช้เวลาเกือบทั้งหมดของแต่ละวันไปกับการทำงาน

           ส่วนในทางกลับกัน ในตอนนี้ที่เขาเดินทางกลับมายังบ้านเกิดและเริ่มประกอบอาชีพช่างไม้ ก็จะมีอิสระในการแบ่งเวลาทำงาน ที่สามารถเริ่มทำงานเมื่อไหร่ก็ได้เท่าที่อยากทำ ไม่มีใครบังคับ มีเวลาพักผ่อนมากเท่าที่ต้องการ รวมถึงไม่มีเวลาเข้าออกงานที่เคร่งครัดอย่างเมื่อก่อน

           แต่สิ่งเหล่านี้ก็ต้องแลกมาด้วยตัวเลขรายได้ที่ไม่แน่นอนในแต่ละเดือน

           อย่างไรก็ตาม ช่างส่งไม่เคยมองว่าการยืนหยัดอยู่ในชุมชนในฐานะช่างไม้เพียงคนเดียวเป็นเรื่องแย่แต่อย่างใด เพราะอย่างน้อยที่สุดนี่คือสิ่งที่เขาได้เลือกเองว่าจะเดินเส้นทางนี้ และในความเป็นจริงมันมีอะไรที่น่าสนใจอีกมากรอให้เขาไปเรียนรู้

           หนึ่งในตัวอย่างที่เขายกขึ้นมาคือ ใครจะรู้ว่านอกจากจะเปลี่ยนการทำงานกับเครื่องจักรกลมาเป็นการทำงานกับท่อนไม้ไผ่ ยังจะต้องรับบทเป็นพ่อค้าเมื่อเดินทางไปเปิดซุ้มตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ที่ต้องคอยพรีเซนต์ผลงานของตัวเองเวลาเวลาที่ลูกค้าเข้ามาสอบถามรายละเอียด

           เจอคำถามทั้งแบบเบสิกและแอดวานซ์ ไม่ว่าจะเป็นงานชิ้นนี้มีแรงบันดาลใจในการออกแบบอย่างไร ใช้ไม้ชนิดไหนเป็นวัตถุดิบ มีกรรมวิธีในการทำงานอย่างไรบ้าง

           ในช่วงแรกที่ได้ลองสวมหมวกพ่อค้าเขาก็อธิบายได้ไม่คล่องแคล่วเท่าไหร่นักเพราะไม่ใช่ทักษะที่ตัวเองถนัด แต่พอได้ลองเข้าร่วมงานขายสินค้ามากครั้งเข้า จากเรื่องที่ยากลำบากก็แปรเป็นความท้าทาย มองเป็นเรื่องน่าสนุกว่าในการขายงานครั้งนี้จะมีลูกค้าคนไหนเข้ามาทักทาย หรือว่าจะมีคำถามใดเกี่ยวกับงานของเขาบ้าง

           ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการสั่งผลิตสินค้าจากช่างส่งมีหลายราคา หากลูกค้านำวัตถุดิบมาให้ (ไม้หรือไม้ไผ่) เขาก็จะคำนวณค่าใช้จ่ายเพียงค่าแรงและค่าอุปกรณ์ในการทำงาน แต่ถ้าหากต้องการให้ออกแบบหรือว่าต้องการให้หาวัตถุดิบด้วย ตัวเลขราคาก็จะเพิ่มขึ้นไป

           ส่วนระยะเวลาในการทำงานช่างส่งแจ้งก่อนว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกำหนดแน่นอนได้ เงื่อนไขหลักคือตอนนี้เขาเป็นช่างไม้เพียงคนเดียวในชุมชน ไม่มีผู้ช่วยอย่างเป็นทางการ ประกอบกับตัวเลขอายุและความตั้งใจว่าอยากทำงานเท่าที่อยากทำ ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป และเขายังอยากมีเวลาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยงานชุมชนอยู่

           “อยากถอยก็ถอยไม่ได้ ไม่มีใครทำต่อ เราก็ต้องเป็นแนวหน้าทำให้เขารู้ว่ามันเป็นโอกาสในชีวิต” ช่างส่งทิ้งท้าย


ป่าชุมชนที่รายรอบพื้นที่บ้านหนองหล่ม


ชีวิตของคนกับป่า

           คนเราสามารถคลุกคลีอยู่กับเรื่องเดิม ประเด็นเดิม ได้นานที่สุดกี่ปี?

           “เข้ามาทำงานตรงนี้ก็ 20 กว่าปีแล้ว”

           คำตอบของเกษม พิงคะสัน รองนายกเทศบาล ผู้นำชุมชนบ้านหนองหล่นยังคงทำงานเพื่อการอนุรักษ์ป่าชุมชนอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2540

           เขาเล่าว่าก่อนหน้านี้ภูเขาบริเวณชุมชนหนองหล่มเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อมีการสัมปทานป่าไม้โดยอนุญาตให้มีการตัดไม้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงของหัวจักรรถไฟ เกิดสภาวะที่ชาวบ้านเข้าไปรับจ้างตัดต้นไม้ ป่าเริ่มเสื่อมสภาพและแปรเป็นภูเขาหัวโล้น

           เมื่อไม่มีทรัพยากรสำหรับการดำรงชีวิตคนในชุมชนก็ย้ายออกไปอยู่ทางเชียงราย เมื่อการกระทำของมนุษย์กระทบกับสิ่งแวดล้อมจนไม่สามารถพึ่งพาอาศัยกันได้อีกต่อไป ทางพ่อหลวงหรือผู้นำชุมชนในเวลานั้นจึงมีการประชุมเพื่อตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรทางชุมชนหนองหล่มจึงจะได้พื้นที่ป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์กลับมา

           จากนั้นช่วงปี 2506 ทางชุมชนจึงเริ่มมีการตั้งโครงการอนุรักษ์ป่า ออกข้อกำหนดห้ามตัดไม้ และราวปี 2513 มีออกกฎหมายหมู่บ้านสำหรับการดูแลป่าชุมชนอย่างชัดเจนและมีการขยายเขตพื้นที่อนุรักษ์มากขึ้น

           จนช่วงเวลาที่เกษมได้เข้ามารับตำแหน่งสมาชิกชุมชนผู้ดูแลเรื่องป่าไม้ ก็มีการผลักดันให้ชาวบ้านในชุมชนหนองหล่มรักษาป่าอย่างต่อเนื่อง เพราะเขามองว่าการรอให้หน่วยงานรัฐเข้ามารักษาหรือว่าจัดการมันต้องใช้เวลานาน และเจ้าหน้าที่เองก็ไม่มีช่วงเวลาที่มากเพียงพอในการทำงานรักษา จึงต้องเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตรงนั้นนั้นตลอดเวลา

           นับตั้งแต่ที่เกษมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ได้ร่วมมือกับทีมงานเพื่อผลักดันให้มีการแบ่งเขตการดูแลป่าไม้เพื่อให้ครอบคลุมกับพื้นที่ทั้งหมดของป่าชุมชน รวมถึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลป่าโดยเฉพาะ ภายหลังจากนั้นตำแหน่งของเกษมก็มีการขยับตามลำดับ จากสมาชิกก็เป็นผู้นำของกลุ่ม ซึ่งตามมาด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบมากขึ้น

           อย่างในส่วนที่เกษมออกไปติดต่อกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ และหน่วยงานที่มีงบประมาณในการสนับสนุนการทำงานส่วนนี้ โดยที่เขาย้ำว่าการทำงานทั้งหมดทำไปควบคู่กับการย้ำให้ชุมชนทราบอยู่เสมอว่า จิตสำนึกเรื่อง ‘รักษ์บ้าน’ เป็นสิ่งสำคัญ


เกษม พิงคะสัน รองนายกเทศบาล ผู้นำชุมชนบ้านหนองหล่ม ซึ่งสนใจแและผลักดันเรื่องป่าชุมชนของบ้านหนองหล่ม


           คนที่จะรักษาบ้านได้ดีที่สุด คือคนอยู่อาศัย

           จะรอให้หน่วยงานอื่นเข้ามาสนับสนุนโดยที่ตัวเองไม่ทำอะไรคงเป็นไปไม่ได้

           การตั้งคณะกรรมการป่าไม้ของหมู่บ้านเองก็มีส่วนในการขับเคลื่อนให้การรักษาป่าในช่วงเวลานั้นผ่านไปได้ด้วยดี เพราะมีการตั้งกฎระเบียบและมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัดจริงจัง มีคำสั่งห้ามตัดไม้ในโซนต่างๆ หรืออย่างเมื่อก่อนที่วัฒนธรรมการออกเรือนของคนในหมู่บ้าน เมื่อมีการแต่งงานก็จะแยกตัวออกไปปลูกบ้านของตัวเอง แต่ก็จะตัดไม้จากภายในป่าก็ต้องมีการขออนุญาตจากทางกรรมการว่าจะตัดไม้ไปกี่ต้น

           เมื่อมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้เป็นอย่างดี ไม่มีการจึงไม่มีเรื่องน่ากังวลตามมา ส่วนถ้ายังมีคนที่ฝืนไม่ทำตามระเบียบที่วางไว้ ก็ต้องมีการปรับตามกฎที่วางเอาไว้โดยไม่มีการอนุโลมแต่อย่างใด เพื่อไม่ให้เกิดความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย

           หากเกษมก็สำทับว่า จะมองว่าผลงานทั้งหมดเป็นของคณะกรรมการป่าไม้เป็นอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะที่จริงแล้วมันคือความร่วมมือร่วมใจของคนทุกคนภายในชุมชน ทุกเครือข่ายที่เข้าใจความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้และให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี

           อย่างเช่นที่เกษมเองก็มีทริกในการสื่อสารกับผู้คนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคุยกับทางวัด เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วหากพระสงฆ์เทศนาเช่นไรชาวบ้านก็จะเชื่อ หรือว่าเป็นการประสานงานกับทางโรงเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนไปบอกกับผู้ปกครองต่อว่าผลเสียของการตัดไม้เป็นอย่างไร

           หากต่อให้ชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลป่าชุมชนมากเพียงพอ ป่ากลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ แต่เกษมก็ยังไม่สามารถ ‘วางมือ’ ออกจากการทำงานในภาคส่วนนี้ได้

           เขาอธิบายว่า เพราะการทำงานเรื่องป่าไม่ได้ทำเสร็จได้ในหนึ่งหรือว่าสองปี มันอาจจะกินเวลามากกว่าห้าสิบปีหรือว่ากว่าหนึ่งชั่วอายุคน การทำงานตรงนี้จึงต้องการความต่อเนื่องเป็นอย่างมาก ต้องการคนที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี และคนที่ทำงานมานานก็จะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของทางชุมชนกับภาครัฐไม่ให้ขาดช่วงด้วยเช่นกัน

           เมื่อขั้นตอนในส่วนของการรักษาป่าดำเนินตามแผนที่เคยวางไว้ได้อย่างดี เกษมก็ยังคงมองการณ์ไกลต่อไปว่า ป่าชุมชนจะสามารถทำประโยชน์ในส่วนอื่นได้มากน้อยเพียงไร

           จึงเกิดการศึกษาเพื่อเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับชุมชนมากขึ้น มีการรวมรวมข้อมูลสำหรับการสร้างปฏิทินเห็ด คอยบันทึกช่วงเวลาในการโตและเก็บเห็ดแต่ละชนิด ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชุมชนหนองหล่มมาอย่างยาวนาน


เห็ดป่าจานสุดท้ายของปี 2566 ถูกตั้งขายในตลาดของป่าบ้านหนองหล่ม เห็ดป่านี้สามารถเก็บได้ในฤดูฝน เมื่อฤดูหนาวเยื้องกรายเข้ามาเห็ดป่าก็จะหาได้ยาก เมนูอาหารนี้ก็จะหลบลี้หายหน้าจนกว่าจะถึงฤดูกาลของมันในปีถัดไป


           หรือว่าจะเป็นในส่วนของการก่อตั้งโครงการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีการนำเรื่องการศึกษาเส้นทางธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนต่อยอดในการสร้างประโยชน์จากป่าไม้โดยที่ไม่มีการทำลายหรือว่าตัดต้นไม้เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต

           เขายังคงย้ำว่า การทำงานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการรักษาป่ามาจนถึงการเพิ่มมูลค่าและเส้นทางการท่องเที่ยวทั้งหมดนี้ไม่ใช่ผลงานของเขาเพียงคนเดียว แต่เป็นผลงานของคนทั้งชุมชนที่ร่วมมือร่วมใจกัน เขาเป็นเพียงคนที่คอยประสานงานเท่านั้น

           ในช่วงแรกการประสานงานก็เป็นเรื่องที่ยากเหมือนกัน เพราเขาเองก็ไม่ทราบมาก่อนว่าจะต้องติดต่อกับใคร หน่วยงานไหน หรือว่าองค์กรใต้สังกัดอะไร แต่ว่าพอเขาใช้เวลากับตรงนั้นเป็นเวลานาน เขาก็จะมีข้อมูลเป็นของตัวเอง อะไรที่เคยคิดว่ามันยาก ความคุ้นเคยก็จะทำให้สามารถพูดคุยกันได้ง่ายขึ้น รวมถึงหน่วยงานอื่นก็เหมือนกัน เพราะว่ามีการติดต่อด้วยกันมาตลอดเวลา

           “เพราะว่าเราได้อยู่กับชุมชนและการรักษาป่ามานาน เราก็มีข้อมูลเกี่ยวกับป่ามาก หลังจากที่เรารักษาป่าได้แล้ว เราก็ต่อยอดให้ป่าชุมชนมีประโยชน์มากขึ้น”

           สำหรับแผนงานในช่วงต่อไปใต้การบริหารงานของเกษม เขามองว่าอย่างน้อยสามปีข้างหน้า เมื่อป่าสมบูรณ์ดีกว่านี้ สิ่งแวดล้อมโดยรอบดี มีผลิตผลที่เป็นอาหารสัตว์ป่าเยอะ มีเห็ดเยอะ ก็จะเป็นรายได้ให้กับทางชาวบ้าน เมื่อไปเข้าร่วมกับแผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกับทางเทศบาลก็จะเป็นการท่องเที่ยวที่ครบวงจร


เส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชนซึ่งทอดยาวใต้เงาไม้


           เพราะนอกจากจะมีเรื่องของเส้นทางธรรมชาติแล้ว ชุมชนตรงนี้ยังมีกลุ่มเอกชนเข้ามาลงทุนในสร้างรีสอร์ตที่มีบริการบ่อน้ำพุร้อนอีกด้วย เป็นการร่วมมือกันของทางสมาชิกกับกลุ่มนักพัฒนาพื้นที่ที่เข้ามาสร้างรายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในชุมชน

           จึงมีความคิดที่จะทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ พานักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวในส่วนของป่าชุมชน จากนั้นก็เป็นการซื้อสินค้าป่าจากตลาดของหมู่บ้าน ตามด้วยการพักผ่อนร่างกายในบ่อน้ำพุร้อน

           โดยเขาตั้งเป้าหมายไว้ว่า ทางชุมชนเองก็มีสถานีรถไฟเป็นของตัวเอง ก็อยากจะร่วมมือกับทางเทศบาลที่สร้างเส้นทางท่องเที่ยวรถไฟ นั่งมาลงที่สถานีหนองหล่มเพื่อให้สะดวกกับทางเดินทาง

           ถ้าหากถึงเวลานั้นแล้ว แผนงานที่เกษมวางแผนเอาไว้ดำเนินต่อไปได้เป็นอย่างดี เขามีความคิดที่จะวางมือจากตรงนี้หรือไม่ เกษมบอกว่า การทำงานตรงนี้ไม่มีวันเกษียณ แต่ว่าตัวเขาเองก็มีความคิดเรื่องนี้แล้วเหมือนกัน เพราะถ้านับตั้งแต่การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล นี่ก็ร่วม 20 ปีแล้วที่ทำงานเพื่อชุมชน

           มันเป็นช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจ ที่ทำต่อเนื่องตลอดมาเพื่อชุมชน ไม่เคยเป็นเรื่องของตัวเอง เขายินดีที่ได้เห็นทุกฝ่ายร่วมมือ เพราะว่าถ้ามีเขาเพียงคนเดียวมันก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะประสบความสำเร็จ

           มันเป็นเรื่องที่เกษมต้องทำให้เห็นเป็นคนแรก ในการลงมือทำเองก่อน ทำด้วยตัวเองให้ทุกฝ่ายเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันสามารถเกิดขึ้นได้จริง แม้ว่าจะใช้เวลาอย่างยาวนานแต่ว่าในท้ายที่สุด เมื่อชาวบ้านเห็นว่าการร่วมมือร่วมใจกันจะไปพาถึงจุดหมาย พวกเขาเหล่านั้นก็พร้อมที่จะเข้าร่วม


พื้นที่การเกษตรของชุมชนหนองหล่มที่แผ่รอบพื้นที่ราบ และรายล้อมด้วยบ้านเรือน ซึ่งถูกโอบทุกทิศทางด้วยป่าชุมชนอีกทอดหนึ่ง


           ตอนนี้จึงเหมือนช่วงท้ายของการยืนหยัดอย่างยาวนานร่วมยี่สิบปีเพื่อสร้างป่าสมบูรณ์ให้กับชุมชน และเริ่มมองหาคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามารับช่วงต่อ อย่างเช่นการสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ในชุมชนได้เข้าไปศึกษาดูงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เมื่อเจ้าหน้าที่เหล่านั้นสามารถทำงานเองได้ก็จะได้ถอยหลังมาเป็นผู้ช่วยเสริม และปล่อยให้เป็นเรื่องของคนรุ่นต่อไปในที่สุด

           เกษมส่งท้ายว่า การยึดถืออัตตาว่าตัวเองเก่งที่สุดเป็นเรื่องที่ต้องลบออกจากการทำงาน ทุกขั้นตอนเป็นเรื่องที่ต้องหาแนวร่วมในการช่วยกันทำ การรับฟังความคิดเห็นจะต้องเกิดขึ้นตลอดเวลา ด้วยใจที่เป็นกลาง อะไรที่มีประโยชน์กับชุมชนคือทำไปเลย เหนื่อยก็ยอม แต่ว่ามันได้กับชุมชน


ชีวิตคือการยืนคนเดียวให้เป็น

           ในฐานะคนที่เติบโตมากับครอบครัวที่ทำนาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า นางเดือนฉาย ศรีวิชัย หรืออ้อยมองว่าการทำงานในภาคเกษตรถึงอายุ 60 เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมันมีเรื่องของสังขารเข้ามาเกี่ยวข้อง เรี่ยวแรงที่เคยมีก็ต้องโรยราตามลำดับ รวมเข้ากับความคิดที่ว่าถ้าหากต้องการส่งเสียลูกให้ได้เรียนหนังสือในระดับชั้นที่สูง มีงานที่ดีทำ การทำนาที่มีผลเพียงแค่ให้มีข้าวทานในแต่ละวันคงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป

           จากความคิดที่ว่าไม่อยากให้รุ่นลูกต้องมาลำบากเหมือนตัวเอง เดือนฉายจึงเริ่มมองหาอาชีพอื่นในการทำงานทดแทน ซึ่งโจทย์คือเป็นงานที่สามารถทำได้ที่บ้าน และสามารถทำได้แม้จะมีอายุมากแล้ว เธอจึงมองเห็นโอกาสในการประกอบอาชีพทอผ้า ซึ่งเป็นกิจกรรมในครัวเรือนมากตั้งแต่รุ่นของคุณยายและคุณแม่ของเธอ


เดือนฉาย ศรีวิชัย ช่างทอผ้าผู้ยืนหยัดอย่างต่อเนื่อง จนเป็นช่างทอผ้าคนสุดท้ายในบ้านหนองหล่ม
 

           เธอขยายความว่าในสมัยก่อน หากไม่มีเงินสำหรับซื้อผ้าผืนก็ต้องทอผ้ากันเอง ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้านุ่ง ถุงย่าม หรือเป็นของใช้ในบ้าน ผ้าปูที่นอนหรือผ้าห่ม พอเดือนฉายโตขึ้นก็เรียนรู้และซึมซับทักษะการทอผ้ามาจากครอบครัว

           เป็นการส่งต่อวิถีชีวิตท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่นโดยไม่รู้ตัว

           การทอผ้าจึงกลายมาเป็นอาชีพที่เธอยึดเป็นงานหล่อเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวนับตั้งแต่นั้น จนช่วงที่โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (ONE TAMBON ONE PRODUCT - OTOP) มีกระแสมากขึ้น เดือนฉายที่เห็นช่องทางในการขยายตลาดจากฐานลูกค้าภายในชุมชนให้กว้างกว่านั้นก็เข้าร่วมโครงการเช่นกัน

           โดยในช่วงนั้นมีการให้ความรู้เรื่องการค้าขายจากภาครัฐ ทางเธอและสามีก็เข้าไปศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพสินค้า การทำบัญชี และการขายสินค้า จนสามารถคว้ารางวัลโอท็อประดับสามดาวได้ในปีแรก และเมื่อลองไปเปิดร้านขายในงานจัดแสดงก็มีคนสนใจมากขึ้นตามลำดับ

           เมื่อแผนธุรกิจเริ่มเป็นรูปเป็นร่างและเข้าที่เข้าทาง มีปริมาณลูกค้ามากขึ้นตามลำดับ รวมถึงในปีถัดมา ผลงานการทอผ้าของเธอได้ขยับจากรางวัลระดับสามดาวเป็นระดับห้าดาว เดือนฉายจึงชักชวนให้ผู้หญิงในชุมชนหนองหล่มมาตั้งกลุ่มรวมตัวกันทอผ้า

           อย่างที่ทราบกันดีว่า ผู้หญิงในชุมชนท้องถิ่นเมื่ออายุมากขึ้นก็ยากกับการออกไปทำงานที่ต้องใช้แรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือส่วนที่มีครอบครัวแล้วก็ไม่สามารถทิ้งเด็กเล็กให้อยู่กับบ้านได้ ซึ่งตอนนั้นก็มีคนสนใจมาเข้ามาร่วมเป็นจำนวนหนึ่ง จนกลายเป็นงานแหล่งใหม่ของคนในชุมชน

           นอกจากเรื่องของสอนวิธีการทอผ้าแล้ว เดือนฉายยังได้แจกจ่ายอุปกรณ์การทอ ไม่ว่าจะเป็นกี่ทอผ้าหรือกระสวย ที่ได้รับการสนับสนุนมาจากทางเทศบาลให้กับคนในชุมชนเพื่อใช้เป็นต้นทุนในการต่อยอดอีกด้วย

           หากระบบการแบ่งงานทอเป็นรายบุคคล แล้วเดือนฉายก็จะรวบรวมไปขายให้กับกลุ่มลูกค้าก็ไม่ได้จีรัง เธอเล่าให้ฟังด้วยความปลงตกว่า กว่าเธอจะสร้างความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าจากชุมชนหนองหล่มต้องใช้ทุนกระเป๋าตัวเองไม่น้อย อย่างเรื่องของการลงทุนซื้อฝ้ายมาทอ เธอก็เป็นคนจัดการเองทั้งหมด

           หากผ้าขายไม่ได้ราคา เธอก็เป็นคนที่แบกรับต้นทุนส่วนต่างเหล่านั้นเอาไว้เอง เพราะเธอไม่ได้มองว่านี่คือการทำงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เป็นเป็นเรื่องของคนที่ทำงานร่วมกัน

           แต่เมื่อวันหนึ่งมีคนจากภายนอกเข้ามาเสนอรายได้ที่ดีกว่าในการทอผ้าแต่ละผืนให้กับสมาชิกรายอื่นในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่เดือนฉายสามารถให้พวกเธอ การทยอยย้ายไปทำงานให้กับนายจ้างรายอื่นจึงลดจำนวนสมาชิกทีละน้อย จนกลุ่มทอผ้าของชุมชนเหลือเพียงเดือนฉายคนเดียวไปโดยปริยาย

           ยามกลุ่มทุนเมืองเริ่มคืบคลานเข้ามาภายในชุมชนอย่างที่ใครก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ วัฒนธรรมเรื่องการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ช่วยกันทอแและช่วยกันขาย จึงถูกแทนที่ด้วยความสนใจด้าน ‘ค่าตอบแทน’ ด้านตัวเงินเป็นหลัก



 

           การแตกแยกสร้างความแตกสลายในช่วงแรกให้กับเดือนฉายไม่น้อย

           “ตอนนั้น (ช่วงที่ทอผ้าร่วมกัน) มันสนุก มีความสุข มันได้ใจคนอยู่ชุมชนเดียวกัน ตอนเย็นก็มาหากัน แลกเปลี่ยนกัน คนนั้นมีผัก ปลูกผักก็อยู่ด้วยกัน แบ่งกันกิน มีความสุขมาก”

           เพราะเธอมองว่าช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเป็นช่วงเวลาที่ดี มีความสุข มันสนุกกับการทำงานร่วมกับคนในชุมชนเดียวกัน ช่วงตอนเย็นก็ได้ไปมาหาสู่ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด หรือว่าเวลาที่บ้านไหนมีปลูกผักก็เอามาแบ่งปันกัน

           อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน (2566) ชุมชนหนองหล่มมีผู้ประกอบอาชีพทอผ้าเหลืออยู่เพียงเดือนฉายเท่านั้น เนื่องจากเมื่อผ่านมาระยะหนึ่งกลุ่มทุนภายนอกที่เคยเข้ามาจ้างให้ทอผ้าก็ทำการเลิกจ้างสมาชิกรายอื่นในหมู่บ้าน ผู้คนเหล่านั้นก็เลือกที่จะหยุดทอผ้าและมองหาอาชีพอื่นในการทำงานแทน เธอจึงเป็นคนเดียวที่ยังคงยึดการทอผ้าเป็นแหล่งทำกินอยู่ในชุมชน

           จากหนึ่งคนสร้าง

           สู่หลายคนทอ

           ก่อนคืนสู่สามัญ

           แล้วถ้าถามว่าเดือนฉายสามารถผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้อย่างไร เธอยอมรับว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ตนเองเสียใจไม่น้อย สิ่งที่สำคัญคือการมองว่าเวลาเป็นเรื่องที่ไม่หยุดนิ่งและต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ไม่มีทางที่ใครจะห้ามไม่ให้เวลาหยุดเดินได้ เหมือนกับชีวิตของคนที่ต้องมีการเปลี่ยนไปเสมอ


ผ้าทอลายที่เดือนฉาย ศรีวิชัยเป็นผู้ออกแบบเอง
 

           เทคนิคส่วนตัวของเธอคือการคิดถึงเพียงแค่ชีวิตปัจจุบัน ไม่เก็บเอาเรื่องในอดีตมาเป็นอารมณ์ รวมถึงไม่ต้องคิดถึงวันข้างหน้า วันมะรืน หรือว่าปีต่อไป อยู่กับวันนี้ให้ดีที่สุด แล้ววันหน้าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด มีปัญหาก็คอยแก้กันไป สุดท้ายแล้วคนเราก็ต้องอยู่กับสิ่งเหล่านั้นให้ได้ด้วยตัวเอง

           “ถ้าคิดมุมกลับก็สบาย เพราะว่ามีแต่เรา ไม่ต้องไปซีเรียสอะไร ดีอีกด้วยซ้ำ เราทำคนเดียว ไม่ต้องมีคู่แข่งทางการค้า”

           รวมถึงต้องการลองปรับมุมมองความคิดว่าในเมื่อตอนนี้ไม่มีใครมาเป็นคู่แข่ง เธอก็สามารถรับรองกลุ่มลูกค้าได้โดยที่ไม่ต้องแบ่งกับผู้ผลิตรายอื่น และเธอก็สามารถใช้อาชีพตรงนี้ในการส่งเสียลูกทั้งสองคนให้จบปริญญาได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนใคร และยังมีรายได้ของตัวเองอยู่เสมอแม้ว่าจะอายุเข้าเลขหกแล้วก็ตาม

           แล้วการทำงานคนเดียว เหงาหรือไม่

           เธอตอบว่าไม่

           โดยส่วนตัวแล้วมันค่อนไปทางเสียดายมากกว่าถ้าหากไม่มีคนมาสานต่อความรู้ในการทอผ้าเหล่านี้ อย่างที่ทุกวันนี้เธอเองก็พยายามที่จะชักชวนเด็กรุ่นใหม่ให้เข้ามาเรียนรู้ขั้นตอนการใช้งานเครื่องกี่และการทอ หากสิ่งที่ทุกคนสนใจมีเพียงโทรศัพท์และหน้าจอสี่เหลี่ยมเท่านั้น

           หากเดือนฉายก็ยังคงไม่ทิ้งความหวัง มีการร่วมมือกับชุมชนในการสร้างกิจกรรมที่สามารถสอดแทรกวิถีดั้งเดิมของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้าหรือการทำไม้กวาดดอกหญ้าอย่างต่อเนื่อง

           “เราเกิดที่นี่ วันข้างหน้าเราต้องตายที่นี่ ชุมชนเราคือวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพากันอยู่แล้ว บ้านเรามีวิถีชีวิตปู่ย่าตายายมาอย่างนี้ เราต้องพัฒนาตัวเองกับชุมชนเราให้ได้”


เรื่อง จามาศ โฆษิตวิชญ
ภาพ วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์


 

ป้ายกำกับ หนองหล่ม ลำพูน พัฒนาชุมชน วัฒนธรรมชุมชน จามาศ โฆษิตวิชญ วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ สารคดีชุมชน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา