ชุมชนมุสลิมบางเทา : The Future Halal Tourism เรื่องเล่าวิถีคน ผู้ซึ่งโอบรับทุกชีวิต

 |  การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้เข้าชม : 540

ชุมชนมุสลิมบางเทา : The Future Halal Tourism เรื่องเล่าวิถีคน ผู้ซึ่งโอบรับทุกชีวิต

           “...อัลลอฮฺผู้ทรงเกรียงไกร อัลลอฮฺผู้ทรงเกรียงไกร ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ”

           วันละห้าครั้งตั้งแต่เช้ามืดจรดดื่นดึก เสียงอาซานจะแผ่ขยายไปทั่วทั้งเวิ้งกว้าง สอดประสานขานรับทุกโมงยามไล่ลมบนชุมชนอิสลามแห่งเดียวในภูเก็ต

           ที่ซึ่งเป็นสัญญาณของพระเจ้า เรียกหัวใจและเนื้อตัวของผู้คนมารวมกัน ณ มัสยิดมุการ์ร่ม

           ตอนนั้นเสียงอาซานกำลังจบลง เป็นเวลาเที่ยงตรงอากาศร้อนรับลมทะเลในวันศุกร์ ผู้คนจากทั่วสารทิศมากหน้าหลายตาต่างมารวมตัวกันตามเสียงพระเจ้า ตั้งแต่เดินรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ขี่มอเตอร์ไซค์ซ้อนท้าย ตามกันมาติด ๆ ทำเอาลานกว้างด้านหน้ามัสยิดขนัดแน่นด้วยผู้คน

           แม้จะดูเป็นภาพธรรมดาทั่วไปของคนในพื้นที่ แต่หนนี้แปลกตาไปกว่าครั้งไหน ๆ กับภาพของพี่น้องมุสลิมต่างชาติที่มาท่องเที่ยว เข้าร่วมละหมาดในวันญุมอัต

           “ที่นี่ตั้งใจให้เป็นพื้นที่ของคนพี่น้องมุสลิมและพี่น้องทุกคนทั่วโลก”

           สัญญาณอนาคตชุมชนบางเทาคงเริ่มต้นจากตรงนี้ ตอนที่หนึ่งในกลุ่มชาบ๊าบบางเทาหันมาเล่าพร้อมอมยิ้มหวานต้อนรับ กับสำเนียงภาษาถิ่นใต้ ก่อนจะหันไปแนะนำชุมชนกับชาวต่างชาติที่พึ่งละหมาดเสร็จไป


โอบรับชีวิต

           มัสยิดสูงเด่นสง่ากลางลานกว้างชั้นเดียว ที่ใหญ่พอเป็นปฏิบัติศาสนกิจจุคนถึงเจ็ดร้อยคน มีภูเขาชื่อภูวิวเป็นฉากหลังแน่นขนัดป่ายาง มังคุด ทุเรียน ด้านหน้าติดเรียบแนวถนนศรีสุนทรทางไปหาดสุรินทร์ภูเก็ต ที่ซึ่งเปรียบเสมือนร่มเงาบังแดดฝนเมื่อความวุ่นวายก่อกำเนิดภายในใจ

           ไม่เพียงแค่นั้น ชุมชนบางเทายังเป็นชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดภูเก็ต วิถีผู้คนใช้ชีวิตตามบัญญัติศาสนาอย่างเคร่งครัด นั่นจึงเป็นหัวใจสำคัญ และความแข็งแกร่งของชุมชน การเป็นที่มัสยิดเป็นเหมือนจุดศูนย์รวม ทุกๆ เช้าตั้งแต่เจ็ดโมงลากยาวไปถึงแปดโมงสาย ๆ หน้ามัสยิดมุการ์ร่มจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายฮาลาล

           ตั้งแต่ร้านไก่ทอดสูตรพิเศษบางเทารสเผ็ด ข้าวยำสูตรเด็ดภูเก็ต ไก่ย่างขมิ้น อาหารทะเล หรือแม้แต่ส้มตำฮาลาลอาหารที่นึกไม่ถึงว่ามี ที่ถือเป็นแหล่งฝากท้องยามเช้าทั้งผู้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมา

           ชาคริต พลีตา หนึ่งในสมาชิกชาบ๊าบบางเทาเล่าว่าวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนมีความหลากหลายบ้างก็ทำปลามง บ้างก็เป็นพนักงานประจำ บ้างก็รับราชการ และส่วนใหญ่ก็ทำอาชีพค้าขายเพื่อสอดรับกับพื้นที่ท่องเที่ยว

           “ลักษณะของคนบางเทาคือตื่นเช้ามาก็หาอะไรกินบริเวณมัสยิดนี้ คนนอกที่เข้ามาทำงาน มาอยู่อาศัยก็เข้ามามีส่วนร่วมอย่างการมาละหมาด หรือแม้แต่หากินอาหารฮาลาล”

           ทางด้าน ฟาอิสธ์ เชื้อสมัน ประธานชาบ๊าบบางเทา เล่าเสริมต่อว่าการเป็นพื้นที่ชุมชนตั้งอยู่ท่ามกลางสถานที่ท่องเที่ยว สิ่งที่เขาอยากทำเพิ่มเติมคือให้บ้านตนเองเป็นจุดศูนย์รวมพี่น้องมุสลิม

           “อยากทำให้เป็น Halal tourism แบบถ้านึกถึงภูเก็ตเรื่องฮาลาลก็ต้องที่บางเทา เพราะเป็นชุมชนที่ใหญ่มากและเป็นชุมชนที่อยู่ทางต้น ๆ”

           “สำหรับผมอยากให้นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมเข้ามาพักให้มากที่สุด เพราะจะส่งผลในเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องรายได้ที่จะเข้ามาในชุมชนทั้งพ่อค้าแม่ค้า เจ้าของโรงแรม หรือนักธุรกิจ

           มันเป็นสิ่งที่ผมอยากผลักดันว่าชุมชนบางเทาเนี่ยมันเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ ในเรื่องของความสัมพันธ์ของชุมชนเรากับชาวต่างชาติ”


จากบางเทาสู่เชิงทะเล

           สิ่งที่เป็นความหวัง ความฝัน ล้วนเริ่มต้นจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะสำคัญต่ออนาคต อดีตก็คงไม่ต่างจากกัน

           ต่อเมื่อความรุ่มรวยของพื้นที่อันรุ่งโรจน์นำความเจริญของเมืองค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ชุมชนแห่งนี้เพิ่มขึ้น

           “ชุมชนของเราผมเชื่อว่าเป็นชุมชนดั้งเดิมที่พี่น้องมุสลิมมาอยู่อาศัย เมื่อก่อนชื่อเดิมคือตำบลบางเทา มี 3 หมู่บ้าน แต่หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลง อาจจะด้วยราชการหรืออะไรก็กลายมาเป็นตำบลเชิงทะเล

           พอปี 2521 ก็มีการแยกหมู่บ้านมาเป็นหมู่ที่ 5 เป็นบ้านบางเทาใน กับบ้านบางเทานอก ซึ่งคุณพ่อผมเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 คนแรก ส่วนผมก็เป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นคนที่ 2 ต่อจากคุณพ่อ การเปลี่ยนแปลงของชุมชนนี้ผมเห็นว่ามันมีการพัฒนา มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด”

           อดีตยุวมุสลิมเล่าถึงความหลัง กับภายใต้รอยยิ้มน้อย ๆ หนวดเคราสีขาวระริกตามคำบอกเล่าที่เผยให้เห็นความทรงจำเมื่อครั้งยังเด็กอีกหน

           มาโนช พันธ์ฉลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล หรือที่รู้จักกันในนาม นายกมาโนช ผู้ซึ่งเคยเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เปรียบบางเทาเป็นบ้านและชีวิต


           เขาเล่าว่าชุมชนบางเทาเป็นชุมชนที่อยู่มาเนิ่นนาน โตมาก็ทันเหมืองแร่ ภาพในความทรงจำตอนหนุ่ม ๆ ครั้นหาเสียงยังคงเป็นผืนนามีวัวมีควายให้ได้เห็น

           “ปี 2538 อยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวข้าวพอดี ผมยังเดินไปหาเสียงกับพี่น้องประชาชนที่เกี่ยวข้าวในนาอยู่เลย ก็ได้เห็นภาพการทำนา ได้เห็นภาพการเก็บเกี่ยว กับยังได้เล่นปี่ซัง ได้เห็นสภาพท้องนาอยู่ตอนนั้น

           พอไปชายทะเล เราก็อาบน้ำทะเลกันแบบแก้ผ้ากัน เป็นเด็กผู้ชายน่ะ (หัวเราะ) ยังไปจับปลาที่มันอยู่ 2 น้ำ เช่น ปลากระดี่ มันก็พอเห็นอยู่ แต่พอนานวันสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างที่จะหายไป”

           “เพราะทุกอย่างมันเกิดจากความเจริญ การตั้งถิ่นฐานที่มันเพิ่มขึ้น”

           ความทรงจำฉายฉาบเป็นฉากตอนอีกหนเมื่อเล่าถึงอดีต นายกมาโนชเล่าว่าเมื่อก่อนหมู่บ้านบางเทามีเพียง 100 ครัวเรือน บ้านเลขที่ 1 อยู่หลังที่ตั้ง อบต. ปัจจุบัน บ้านหลังที่ 2 ถัดออกไปอีก 100 เมตร บ้านที่ห่างกันไปอีกไกลก็ใช้ตะเกียงน้ำมัน เพราะไม่มีไฟฟ้าแถมถนนก็ยังเป็นลูกรัง

           ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างที่ขาดไม่ได้ และผู้คนในชุมชนก็เพิ่มขึ้นมากกว่า 2,000 ครัวเรือน

           “มนุษย์มันเพิ่มขึ้น แต่พื้นดินมันมีจำกัด เราจะหยุดยั้งตรงนี้ไม่ได้ เพราะว่าบ้านก็เป็นปัจจัย 4 ในการอยู่อาศัย เขาก็ต้องสร้างบ้านไว้อยู่อาศัย”


รากหยั่งอนาคต

           ต่อให้เรื่องราวในอดีตจะเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ถูกส่งต่อทอดยาวกันมาเรื่อย ๆ บ้างก็บิดพลิ้ว บ้างก็เลือนหาย หรือบ้างก็แทบไม่เคยเห็นหรือมีอยู่ภายใต้ความรู้สึก

           ต่างจากกลุ่มชาบ๊าบบางเทา เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจแน่วแน่ต่อการศึกษาธรรม ขยับขยายแนวคิดสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้ชุมชน กับเก็บเรื่องราวชุมชนไว้เป็นบันทึก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการยกระดับบ้านตนให้เป็นที่รู้จัก ท่ามกลางการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งความบันเทิง

           “ตอนนั้นได้ข่าวกิจกรรมจากสมาคมพัฒนาเยาวชนมุสลิมไทยมาว่า เราควรจะเริ่มต้นที่จะรวมตัวกัน เรียกร้องให้เยาวชนหันมาสู่ทางธรรมมากขึ้น เพราะในยุคปัจจุบัน ค่อนข้างมีสิ่งที่ล่อตาล่อใจ ดึงพวกเราให้ห่างไกลจากการอยู่ในทำนองคลองธรรม

           ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด เรื่องของการผิดประเวณี หรือว่าเรื่องของการอยู่กับทางโลกมากเกิน จนทำให้ไม่มีกรอบให้กับชีวิต ซึ่งมุสลิมเองนอกจากเขาจะใช้ชีวิตทั่ว ๆ ไปแล้ว เขายังต้องเดินคู่กับทางธรรม”

           ฟาอิสธ์เล่าถึงที่มาของชาบ๊าบ จุดเริ่มต้นในช่วงโรคระบาดเมื่อการศึกษาธรรมขยายเป็นกลุ่มใหญ่มากขึ้น เมื่อไม่ใช่แค่การศึกษาธรรมอย่างเดียว

           “ในยุคที่สองก็จะเพิ่มการขยายตัวของสมาชิก โดยการเชิญชวน เปิดรับสมาชิกที่มากขึ้น ไม่ได้จำกัดแค่วงศาสนา เริ่มมีการวางแผน มีการทำอาสามากขึ้น ทั้งเรื่องของการบำเพ็ญประโยชน์ การร่วมกิจกรรมในชุมชนมากขึ้น”

           “อย่างในช่วงเลือกตั้งนายก อบต.หลังจากที่ 7-8 ปี พึ่งมีโอกาสได้เลือกตั้งท้องถิ่น เราอยากให้ในชุมชนได้รับประโยชน์ โดยให้ผู้แทนของแต่ละทีมที่ลง อบต. มาแสดงวิสัยทัศน์ โดยที่เราเป็นคนจัดกิจกรรมขึ้นมา ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยเปิดตัวว่าเรามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม”

           เมื่อเมล็ดเริ่มงอกเป็นกล้าอ่อน รากก็ค่อย ๆ ออกหยั่งลงผืนดิน เพื่อกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ในเวลาจะมาถึง กระนั้นการเติบโต งอกงาม ย่อมถูกหักห้ามเปลี่ยนแปลงเหมือนที่กลุ่มชาบ๊าบเคยเผชิญ

           “พอเลือกจุดยุทธศาสตร์ที่มัสยิดมุการ์ร่มในการจัดประเด็นนี้ขึ้นมา ผู้ใหญ่บางคนก็มองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนี้ แต่อีกกลุ่มไม่ได้รับประโยชน์ ที่จริงมันก็ open แค่ใช้สถานที่เฉย ๆ เขาแค่คิดมากไปเอง คิดว่าได้รับการอุปถัมภ์ทางการเงินจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเปล่า เป็นสิ่งที่เขาตั้งแง่ใส่”

           “สุดท้ายคนที่ให้ความสนใจก็เยอะ เนื่องจากว่าการที่ผู้สมัครมาก็จะมีคนมาเชียร์ เขามาดูว่าผู้นำเขาจะแสดงวิสัยทัศน์กันยังไง ส่วนคนที่มองในมุมไม่ดี ก็จะไม่มาร่วมกิจกรรม ทีมที่เขาคิดว่าเขาจะเสียเปรียบเขาก็ไม่มาเลย ทั้งที่จริง ๆ แล้วการที่เขาไม่มามันเสียเปรียบกว่า”

           เมื่อถามถึงสิ่งต่อไปที่อยากทำต่อ ฟาอิสธ์เล่าถึงนโยบายใหม่ของกลุ่มชาบ๊าบบางเบาคือการสร้างความยั่งยืน

           “นโยบายตอนนี้ก็จะมีเป้าก็คือเป็นศูนย์รวมกันของเยาวชนบางเทา เพื่อที่จะทำกิจกรรมอาสา เป็นศูนย์การท่องเที่ยวสิ่งแวดล้อม และทำสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน”

           “ซึ่งตอนนี้เราทำงานร่วมกับ อบต. ในเรื่องของเยาวชนมากขึ้น เพราะเราอยู่ในชุมชนที่มีโรงแรม มีห้างร้านค่อนข้างเยอะมีภาษีท้องถิ่นมีเยอะ ถ้าเราทำงานร่วมกันก็สามารถคิด Project พัฒนาเยาวชนให้มากขึ้นมันคงดีแต่การที่เรากลุ่มชาบ๊าบทำงานอาสามันดีนะ แต่ว่าถ้าเรามีเงินทุนด้วยก็จะดีกว่า

           ผมคิดไว้ว่าถ้าหากว่าเรามีเวลา เราทำกิจกรรมร่วมกัน มาโปรโมทร้านอาหารในชุมชนที่เราเป็นแกนหลัก เพื่อจัดการส่งเสริมภาพลักษณ์ทางด้านอาหารฮาลาลฟู้ด ให้ครบในทุก ๆ มิติ อยากโปรโมทเรื่องการท่องเที่ยวในชุมชนมากขึ้น สนับสนุน ผลักดันกัน”


เชิงทะเลลูกไม่รัก

           จากชายทะเลมีแต่ป่าไร้ประโยชน์ ติดทะเลก็มีแต่น้ำเค็มไว้ใช้สอย ทำมาหากินได้แค่ปลามง แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนทีท่าไปมากกว่าหลังมือ

           “เมื่อก่อนใครได้ที่ชายหาดก็เหมือนเป็นลูกชังเพราะปลูกอะไรก็ไม่ได้ ส่วนลูกรักก็ได้พื้นที่นา ที่ภูเขาไป พอการท่องเที่ยวทางทะเลเข้ามาก็ทำให้มีราคาสูง”

           นายกมาโนชเล่าให้ฟังพร้อมกับหัวเราะถึงเรื่องตลกร้ายที่แม้แต่ลูกไม่รักจะนึกได้ว่าวันหนึ่งจะเกิดขึ้นจริง

           แม้ว่าที่ดินในพื้นที่ตำบลเชิงทะเลจะมีราคาสูงลับ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะกลายเป็นลูกรักที่สามารถเป็นเจ้าของที่ตนอยู่อาศัย เพราะเรื่องราวอดีตเมื่อนานมาแล้วยังคงเกาะกินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

           “เหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นกับบางเทาคือ ปี 2465 ทางรัฐบาลในขณะนั้น ได้ออกจดหมายบังคับซื้อที่ดินหรือการเวียนคืนจากราษฎร ซึ่งมีผู้ครอบครองโฉนด หมู่ที่ 2 3 และ 5 รวม 704 ไร่ โดยกระทรวงเกษตราธิการ เพื่อให้ประทานบัตรกับบริษัททำเหมืองแร่ ซึ่งใช้การขุดด้วยเรือขุด เป็นลำแรกที่เข้าประเทศไทย”

           หลังเหมืองแร่เข้ามาชาวบ้านต่างก็อพยพย้ายถิ่นฐานไปยังสนามบินเก่า ซึ่งปัจจุบันเป็นเรือนจำ และส่วนราชการต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต ไม่นานหลังจากนั้น เมื่อได้มีการตกลงระหว่างกระทรวงเกษตราธิการ เรือขุดเหมืองถมทรายทับที่เก่าชาวบ้านก็ย้ายกลับมาตั้งถิ่นฐานอีกครั้ง ในที่ดินเดิมของตนเอง

           ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหตุการณ์ทางบ้านเมืองและทั่วโลกเปลี่ยนไป กิจการของฝรั่งนั้นถูกยกเลิก ที่ดินประทานบัตรก็ถูกส่งต่อกันมาเป็นทอด ๆ จนถึงการขึ้นทะเบียนที่ราบลุ่ม

           “ในการบังคับซื้อครั้งแรกได้มีข้อตกลงระหว่างกระทรวงเกษตราธิการ ถือว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาล ว่าที่ดินนี้หลังจากการทำเหมืองแร่เสร็จเรียบร้อยจะขายคืนให้ชาวบ้านในราคาที่ซื้อไป ตอนนั้นก็คือ ไร่ละ 700 บาท เป็นโฉนด 202 แปลง เนื้อที่ 704 ไร่เศษ

           แต่ว่าเมื่อหมดประทานบัตรจริง รัฐก็ไม่ได้คืนที่ดินให้ชาวบ้าน แต่เป็นการตีความทางกฎหมายว่าที่นี้จะเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ขึ้นทะเบียนที่ราบลุ่ม ซึ่งประมวลของราชพัสดุที่เราอยู่ออกเมื่อปี 2518 ขึ้นมา ทำให้ชาวบ้านเรียกร้องสิทธิมาตลอด”


           “พอขึ้นทะเบียนเป็นที่ราบลุ่ม ก็ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ที่ดินก็ไม่น้อย 704 ไร่

           ปัจจุบันก็มีประชากรหลายพันครัวเรือนตั้งถิ่นฐานอยู่ ซึ่งที่ดินนี้ได้รับข้อเรียกร้องจากชาวบ้าน ผู้นำชุมชน รวมถึงผู้รับทางศาสนาก็มีมติ ครม.ถึง 2 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2529 หนึ่งครั้ง และปี 2543 อีกครั้ง ที่จะให้ขายคืนให้กับราษฎรที่อยู่ในที่นี้โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทายาท กลุ่มผู้ปกครองเกิน 30 ปี และกลุ่มผู้ปกครองไม่ถึง 30 ปี ใช้ชื่อว่าที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก.263 (บ้านบางเทา)”

           ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ได้นิยามความหมายของคำว่าที่ราชพัสดุไว้ว่า หมายถึง อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน

           นับตั้งแต่ที่ดินรกร้างว่างเปล่าและที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตาม กฎหมายที่ดิน

           อีกทั้งอสังหาริมทรัพย์สำหรับพลเมืองใช้หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล และขององค์การปกครองท้องถิ่นไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ

           นอกจากพื้นที่ชุมชนบางเทาที่เป็นส่วนหนึ่งที่ราชพัสดุ จากข้อมูล “ที่ราชพัสดุ สมบัติผลัดกันชม โดย สมหมาย ภาษี” กล่าวว่า

           “ประเทศไทยของเราที่ใครจะมาแบ่งแยกมิได้นั้น มีเนื้อที่ทั้งหมด 320.70 ล้านไร่ ที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศมีอยู่ 12.5 ล้านไร่ หรือ 3.9% ของที่ดินทั้งประเทศ ที่ราชพัสดุทั้งหมดนี้อยู่ในความครอบครองของกระทรวงกลาโหม 50% หรือครึ่งหนึ่ง คิดเป็น จํานวน 6.25 ล้านไร่ กองทัพบกครอบครองมากที่สุด 4.7 ล้านไร่…”

           ทางด้านนายกมาโนชเสริมต่อ “กระบวนการตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการตีความของกฤษฎีกายังร่างไม่เรียบร้อย ยังไม่เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพราะกฎหมายนี้ต้องเสนอโดยนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการขายคืนที่ดิน”

           “สิ่งที่เราทำได้คือเราก็เรียกร้องทุกรัฐบาล จนถึงรัฐบาลนี้ก็ล่าสุด ผมก็ประสานกับ ส.ส.ภูเก็ต ที่พื้นเพเป็นคนภูเก็ต แต่เรื่องนี้มันต้องใช้เรื่องอำนาจทางการเมืองเข้ามาจึงจะเป็น พรบ. เพราะ พรบ. ที่เกี่ยวกับการเงินการคลัง เป็นนายกต้องลงนาม”

           การเกิดกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่งผลให้ชาวบ้านเดือนร้อน นับตั้งแต่การขอเบิกทะเบียนบ้านจากทะเบียนราษฏร์ที่อำเภอก็ได้เบอร์บ้านมาใช้ชั่วคราว ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าก็ต้องไปขอหนังสือรับรองจากกรมธนารักษ์ และค่าน้ำไฟที่จ่ายก็ราคาสูงกว่าครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้าน

           “ที่รับผลกระทบตอนนี้เกือบ 2,000 ครัวเรือน แต่เราก็ต้องเรียกร้องไปเรื่อยๆ จนกว่าเราได้รับความเห็นใจ”


ร่ม มุการ์ร่ม

           โลกเดินไปข้างหน้าเหมือนเข็มนาฬิกาที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง แต่ต่อเมื่อตายลงแล้วนั่นต่างหากคือเรื่องที่ใครก็หนีไม่พ้นกฎหลักของโลกนี้

           ซึ่งนั่นก็คงไม่ต่างอะไรกับชุมชนบางเทาที่ต้องทุกอย่างให้ตัวเองอยู่รอดทั้งวิถีการเป็นอยู่ สังคม ศาสนา ภายในพื้นที่บ่อนเซาะพร้อมจะทำลายลงได้ทุกครั้ง ทั้งยังเป็นร่มเงาหลบแดดฝนในใจ

           นายกมาโนชในฐานะผู้นำชุมชน หัวเรือหลักของการพาบ้านไปสู่ความเจริญเล่าว่า สิ่งที่อยากผลักดันในด้านการท่องเที่ยวคือ ต้องท่องเที่ยวที่ควรจะควบคู่กับการดูแลธรรมชาติ แม้ว่าปัจจุบันจะถูกจำกัดในเรื่องของพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สีเขียว

           ไม่เพียงแค่นั้นสำหรับเขาการท่องเที่ยวแบ่งเป็น 2 รูปแบบที่ทำให้นักท่องเที่ยวเยอะในพื้นที่บางเทา

           “ที่ผมเห็นคือการมาพักชั่วคราว ประมาณ 3-14 วัน อีกส่วนคือชาวต่างชาติเขามีบ้านหลังที่ 2 อยู่ในพื้นที่ บ้านหลังที่ 2 คือวิลล่า มาเช่าระยะยาว บางคนก็เช่า 30 ปีไปเลย ตามที่กฎหมายอนุญาต ซึ่งทำให้ที่ดินที่มีไม่เยอะ ทำให้มีราคาขยับไปเยอะมาก อย่างวิลล่าตอนนี้ราคาอย่างต่ำอยู่ที่ 30 ล้านต่อหลัง บ้านหลัง 300 - 400 ล้านก็มีในพื้นที่”

           
           สิ่งที่เขาต้องการผลักดันไม่ใช่แค่เรื่องท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงกลุ่มเยาวชนที่เป็นอนาคตของบ้านที่สักวันจะหันมาพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญต่อชุมชน

           “กลุ่มชาบ๊าบ เป็นกลุ่มน้อง ๆ เยาวชนที่มีกระบวนการคิด เพราะเขาไปร่ำเรียนมาแล้วมารวมกลุ่มกัน มีความคิดที่ต้องการจะตอบสนองกับสังคม มาช่วยเหลือหมู่บ้าน มาแบ่งเบาภาระของผู้นำ ของผู้หลักผู้ใหญ่ต่าง ๆ

           ซึ่งมันก็คล้าย ๆ กับพวกผมที่มาถึงวันนี้ได้ เราก็ทำงานชุมชนมา โดยอาสาไปช่วยผู้หลักผู้ใหญ่ การแรงงาน ยกโต๊ะเก้าอี้ เวลาเขาจัดงานมัสยิด งานชุมชน พยายามจะช่วยตรงนี้ มันก็จะซึมซับเข้ามา

           ในรุ่นผมก็จะมีกลุ่มมุสลิมสัมพันธ์ เป็นเยาวชนที่อายุวัยใกล้กัน มีประมาณ 40-50 คน สิ่งเหล่านั้นเป็นเบ้าหลอมให้เราได้ซึมซับว่างานสังคมว่ามันต้องทำ เพราะฉะนั้นจะให้คนมาช่วยงานสังคมทีเดียวนี่มันคงไม่ได้ทำด้วยความชอบ เราต้องหาคนที่แนวเดียวกัน อุดมการณ์คล้ายกัน มานั่งพูดคุยว่าเราจะช่วยเหลือชุมชนอะไรได้บ้าง

           รุ่นผมก็มีทั้งอบรมเยาวชนในภาคฤดูร้อน การจัดงานมัสยิด แต่ว่าก่อนรุ่นผมก็จะมีรุ่นพี่ๆไปอีกนะครับ หลายท่านก็อาจจะเสียชีวิตไปแล้ว เขาตั้งเป็นกลุ่มยุวมุสลิมขึ้นมา”

           เมื่อกลับมาถามถึงชาบ๊าบในเรื่องความรักบ้านเกิด และสิ่งที่พวกเขาสามารถมอบให้กับชุมชนแห่งนี้ “คือการกลับมาบ้านเรา มนุษย์เกิดมามีประสบการณ์ คือความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นที่เที่ยว ที่ทำงาน ที่เราได้เรียน เราก็มีความทรงจำ แต่ความทรงจำที่มากที่สุดก็คือความทรงจำที่เราเกิดขึ้นที่นี่” ฟาอิสธ์ตอบก่อนจะเล่าเสริม

           “ความสามารถผมที่จะทำงานในกรุงเทพมันมีเยอะ ญาติผมก็มี เพื่อนฝูงก็มี แต่มันไม่จำเป็นว่าคนที่รักบางเทา จะต้องอยู่บางเทาเสมอไป การที่เขาไปอยู่ที่อื่น แต่ว่าเขาสามารถที่จะ support โดยการเงิน ความรู้ หรือการช่วยเหลืออะไรก็ตาม ให้กับคนบางเทาได้ดีขึ้นในมิติต่าง ๆ ได้ดี ก็ถือเป็นการแสดงความรัก ความขอบคุณ ที่เขาจะมอบให้”


           เช่นเดียวกับชาคริตที่มองว่า “ศาสนาบอกว่าทุกคนมีบททดสอบไม่เหมือนกัน สุดท้ายผมก็มองมาบ้านตัวเองว่านี่คือบ้านเกิดของฉัน ฉันอยู่ที่นี่ ทำงานที่นี่ คือเป็นเรื่องราวที่ไม่อยากไปไหน อยากจะมีครอบครัวที่นี่ ถึงแม้อนาคตจะบอกไม่ได้ว่าจะไปไม่ไป แต่ความรู้สึกในตอนนี้อยากอยู่ที่นี่ เพื่อพัฒนาชุมชน นี่แหละคือความรัก”

           สิ่งเดียวกันที่ทุกคนมีคงไม่ต่างกันคือการให้บ้านของตนยังคงอยู่ แม้แต่นายกมาโนช หัวเรือลำใหญ่ที่นับวันเข้าใกล้เข้าฝั่งชีวิตของตนเอง อย่างที่เรือนร่างได้บ่งบอกว่าวันวัยจะมาถึง

           เขาเล่าว่าเราจะอยู่ไหนก็แล้วแต่ หากเราได้ทำประโยชน์ส่งต่อให้กับสังคมนับเป็นเรื่องที่ดีมีความหมาย แต่หากมีโอกาศได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดมันคือความภาคภูมิใจที่ล้ำค่าของชีวิต

           “ถามว่าผมรักบางเทามากแค่ไหน รักมาก…” เขานิ่งไปครู่หนึ่ง

           “เพราะนี่คือถิ่นที่สร้างเรามา สิ่งที่เราได้ฝังรก ผมเกิดจากหมอตำแย รกจากที่อยู่ในท้องคุณแม่ก็ต้องไปฝัง ความรักความซึมซับนี่มันเยอะ สิ่งใดที่มันพอมีกำลังกาย กำลังทรัพย์ ที่จะตอบแทนสังคมได้ ก็อยากจะตอบแทน และสิ่งหนึ่งที่อยากจะให้ทำให้เห็นก็คือแบบอย่าง เพื่อที่จะให้คนรุ่นต่อไปได้ส่งไม้ต่อได้ จะได้สืบทอด สังคมจะได้มีคนที่มีจิตบริการเพื่อสังคม อย่างไม่รู้จบ”


เรื่อง เลิศศักดิ์ ไชยแสง
ภาพ ธัชธรรม โตสกุล


 

ป้ายกำกับ บางเทา ภูเก็ต พัฒนาชุมชน เลิศศักดิ์ ไชยแสง ธัชธรรม โตสกุล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share