ไทดำแห่งบ้านคุยยาง ลงหลักปักรากใหม่ผ่านต้นกก
มุ่งหน้าสู่ถนนหลวงหลักที่พาดยาวจากพิษณุโลกสู่บ้านคุยยาง อีกไม่กี่อึดใจก็จะถึงหมุดหมาย “เลี้ยวขวา เข้าสู่หมู่บ้านคุยยาง” เทคโนโลยีที่ชื่อว่า Google Map ที่พาเราออกเดินทางดังแทรกขึ้น ในขณะเดียวกันตัวถนนก็เริ่ม แคบลง ฉายจุดที่น่าสนใจให้เด่นชัด รั้วแต่ละบ้านตกแต่งด้วยไม้ใบ ไม้ดอก แม้กระทั่งยางรถยนต์ก็นำมารีไซเคิลเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ แล้วเลี้ยวขวาอีกครั้งถึงที่หมายของบ้านผู้นำชุมชน และเมื่อเสียงเครื่องยนต์เงียบลงเสียงการต้อนรับก็มาถึง
เสื่อกกถูกย้อมสีดำเพื่อให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ไทยทรงดำ
เคลื่อนย้ายอีกครั้ง และอีกครั้ง
ไทยทรงดำ ไทดำ หรือ ลาวโซ่ง คือกลุ่มชาติพันธ์ุที่มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่สิบสองจุไทยหรือเมืองแถนบริเวณตอนเหนือของประเทศเวียดนาม (ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู) ที่ได้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานผ่านลาวจนเข้ามาถึงไทย จากข้อมูลที่บันทึกไว้ชี้ให้เห็นว่ามีการเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ และเริ่มตั้งรกรากแถวอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี หลังจากนั้นจึงเริ่มกระจายตัวออกไปในหลายจังหวัด เช่น ราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ก่อนจะมีการเคลื่อนย้ายอีกครั้งไปยังบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร เลย สุโขทัย และพิษณุโลก
“ทำไมถึงเลือกอพยพมาที่นี่เหรอคะ ?” เสียงของผู้สัมภาษณ์เอ่ยถามด้วยความสงสัย
“ที่เดิมมันน้อย ไม่พอทำกิน แล้วมีญาติอยู่ที่นี่ก็เลยตามเขามา”
ยายใบชาวไทดำที่อพยพจากนครปฐมพูดด้วยน้ำเสียงที่ยังสดใส แม้ตัวเลขเข้าวัย 87 ปีแล้ว
เครื่องแต่งกายของไทดำที่เป็นเอกลักษณ์เด่นชัด
ชาวไทดำเริ่มอพยพเข้ามายังบ้านคุยยางตั้งแต่ก่อนปีพ.ศ. 2500 และเคลื่อนย้ายเข้ามาเพิ่มเติมหลังจากการตั้งถิ่นฐานที่เรียกว่า “บ้าน” ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมนุษย์ต่างต้องการพื้นที่ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตทั้งตนเองและครอบครัว ขยายไปจนถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่ทำกิน สิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อความต้องการพื้นฐาน นี่จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมกลุ่มชาติพันธ์ุไทยทรงดำแห่งบ้านคุยยางจึงต้องย้ายถิ่นอีกครั้ง
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เมื่อก่อนคุยยางมีแต่ป่า สัตว์ป่ายังชุกชุม หากมองย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ความเจริญได้แผ่ขยายตัวออกจากเมืองใหญ่แปรเปลี่ยนทางสัญจรจากเรือเป็นรถ ขบวนสายรถไฟเริ่มทอดยาวไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ พื้นที่ป่าดงกลายเป็นหมู่บ้าน ถนนหนทางสะดวกสบายขึ้น ไฟฟ้า ประปาเข้าถึงหมู่บ้าน และนี่คงเป็นหมุดหมายใหม่ที่กลุ่มชาติพันธ์ุไทดำตัดสินใจลงหลักในอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก โดยตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองมาก เพื่อขยับขยายพื้นที่ทำกินให้เพียงพอต่ออีกหลายชีวิตในครอบครัว และทำให้เห็นภาพมากขึ้นว่าเหตุใดมนุษย์เราถึงมีการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่
“อยากเห็นบ้านดั้งเดิมของไทยทรงดำที่คุยยางยังมีให้ดูอยู่มั้ยคะ ?”
“ตอนไม่มีแล้วหนู ถ้าอยากดูต้องไปแถวสุพรรณบุรีโน้น” เสียงของป้ามาศ ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 3 แห่งคุยยางแทรกขึ้นมา
แม้ว่าจะไม่ได้เห็นโครงลักษณะบ้านที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หลังคาลาดต่ำคลุมลงมาถึงพื้นรอบผนังบ้านทุกด้าน ด้วยถิ่นฐานเดิมของชาติพันธุ์ไทยทรงดำอยู่ในภูมิประเทศเขตหนาว การออกแบบผนังลาดต่ำสามารถช่วยป้องกันลมหนาวได้ แสดงให้เห็นว่าคนสมัยก่อนนั้นสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน
บรรยากาศในชุมชนคุยยางส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ชาวบ้านประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ และรับจ้างเป็นส่วนใหญ่
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าแต่ละคนจะย้ายไปอยู่ที่หนแห่งตำบลใดแต่ยังบอกความเป็นไทดำอยู่ได้คือ “นามสกุล” ที่สะท้อนว่าเป็นนามสกุลของกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ จุดสังเกตจะมีคำว่า “ทอง” อยู่ในนั้นเช่น สะทองเมือง สระทองวี สระทองก้อน หน่อสร้อยทอง ทองดอนกระเดื่อง ทองดอนง้าว หล่อทอง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายถิ่นของกลุ่มไทดำจะเกิดขึ้นหลายครั้งและเผชิญกับเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่อยู่หลายคราว แต่สิ่งที่พวกเขายังคงรักษาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นคือวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความผูกพันในครอบครัว ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นจากบรรพบุรุษโดยระบบที่เรียกว่า “ผี” หรือการไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นปรัชญาแฝงไว้ให้รู้จักการเคารพผู้ใหญ่ การอ่อนน้อมถ่อมตน
สัมภาระทางวัฒนธรรม
เมื่อเราออกเดินทาง “สัมภาระ” อีกสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยสี่คือ “ทุนวัฒนธรรม” ไม่ว่าจะเป็น ภาษาพิธีกรรมทางจิตวิญญาณ เครื่องแต่งกาย อาหาร รวมถึงทุกสิ่งที่บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทยทรงดำ นี่จึงเป็นกระเป๋าใบสำคัญที่สุดใบหนึ่งที่จะบอกได้ว่า ตัวเราเป็นใคร มีรากเง้ามาจากไหน
“ถ้ามนุษย์ไม่มีราก ในมุมมองของผู้ใหญ่มาศคิดว่าจะเป็นอย่างไรคะ ?”
“คิดว่ามันก็จะสูญหาย วัฒนธรรม ประเพณี เหมือนเราไม่มีทุน ไม่มีรากเง้าของตัวเอง อาจจะขาดการสืบทอดบรรพบุรุษ การดำรงชีวิตของเราก็จะไม่สมบูรณ์แบบ ทุกวันนี้ก็พยายามให้มันคงอยู่” ผู้นำชุมชนกล่าวด้วยสีหน้าที่ยังมีความหวัง
หนึ่งในสัญลักษณ์ที่ชัดสุดของกลุ่มไทยทรงดำคือ “สีดำ” โดยมาจากเครื่องแต่งกาย เสื้อผ้าที่พวกเขาทอใช้เองในชีวิตประจำวัน พี่เป้าแกนนำทุนวัฒนธรรมแห่งหมู่บ้านคุยยางให้เหตุผลว่า “ที่ใช้สีดำคงเป็นเพราะชื่อกลุ่มของเราด้วย แล้วสมัยก่อนสีดำมันไม่เลอะเทอะเวลาที่เราออกไปทำนาทำไร่” แต่ในปัจจุบันเราสามารถเห็นเสื้อทอพื้นสีดำเพียงแค่ในพิธีกรรมเท่านั้น โดยมีลวดลายที่พิเศษเพิ่มเข้ามาคล้ายดอกไม้ พืช และสัตว์ เช่น ลายดอกตะวัน ลายกลีบมะเฟือง ลายดอกเต้า ลายขอกูด ลายนาค ลายหน้าเสือ ลายปู เป็นต้น รวมถึงการติดกระดุมเงินที่สามารถบ่งบอกถึงฐานะของผู้สวมใส่ได้ ซึ่งชุดจะใส่ในพิธีการที่สำคัญอย่าง งานแต่ง งานศพ งานทำบุญประจำปี
ป้าอ่อนกำลังเย็บชุดไทดำ โดยเป็นคนเดียวในหมู่บ้านที่ยังเหลือทักษะความรู้นี้
การลำดับชนชั้นของไทดำเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่เหนียวแน่นและยังคงส่งผลมาถึงปัจจุบัน นั่นคือความเชื่อในเรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษ โดยจะแบ่งชนชั้นทางสังคมออกเป็น 2 แบบ คือผู้ต้าวและผู้น้อย โดย ผู้ต้าว เป็นกลุ่มคนเชื้อสายเจ้าสายขุนนางมีความเชื่อว่าสามารถติดต่อสื่อสารกับ พญาแถน หรือผีเมืองได้ ส่วนผู้น้อยเป็นชื่อเรียกของกลุ่มไทยทรงดำทั่วไป ที่มีการทำเกษตรกร ทำไร่ทำนา และไม่ได้มีเชื้อสายเจ้า ซึ่งแตกต่างจากตัวของผู้ต้าวอย่างชัดเจน เมื่อถึงชีวิตหลังความตาย ผู้ต้าวจะกลับไปยังเมืองแถน ส่วนผู้น้อยเมื่อตายไปก็จะกลับไปดูแลผู้ต้าวที่เมืองแถนเช่นกัน สิ่งนี้จึงแสดงให้เห็นถึงสถานะที่ติดตัวเราไปจนถึงหมดลมหายใจ
การไหว้บรรพบุรุษของชาวไทดำเป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความเคารพและสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำในแต่ละครอบครัว เช่น พิธีเสนเรือน โดยให้ผีเรือนของตนเองได้มารับเครื่องเซ่นไหว้จากลูกหลาน จึงเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยจัดขึ้นทุก ๆ 3 ปี ส่วนพิธีกรรมที่จัดขึ้นทุก ๆ 1 ปี คือ พิธีปาดตง คือการได้กินข้าวใหม่เพื่อทําบุญให้กับบรรพบุรุษมาร่วมกินข้าวใหม่กับลูกหลาน ซึ่งจะทำหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จในช่วงเดือนธันวาคม และเป็นการขอบคุณธรรมชาติที่ช่วยดูแลให้ผลผลิตงอกงาม ยังไม่นับพิธีย่อยตามวาระที่จำเป็น จุดมุ่งหมายลึก ๆ ของการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นนอกจากความสบายใจของครอบครัวและวิญญาณบรรพบุรุษแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการได้พบปะหน้ากันของคนในครอบครัวอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
ในส่วนของพิธีกรรมนั้น ผู้ใหญ่มาศเสริมว่า “ถ้าบางคนเขาไม่ได้มีทุน ไม่มีเงินก็ไม่ได้ทำ เพราะปาดตงอย่างน้อย ๆ ก็ 5,000 - 10,000 บาทแล้ว” หากย้อนไปสมัยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม รอบบ้านปลูกพืชผักไว้เล็ก ๆ ข้างบ้านเพื่อใช้ในพิธีกรรมอย่าง กล้วย อ้อย ผักบุ้ง ผักแว่น ถั่วฝักยาว เผือก มัน คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้ รวมถึงเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่เองด้วย จึงทำให้พวกเขาแทบไม่ต้องเสียเงิน แต่ละบ้านมีอะไรก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน
อาหารประกอบพิธีกรรม เมนูปลาปิ้งตบ กบปิ้งโอ๋, ผักจุ๊บ และข้าวเม่า (เรียงลำดับจากล่างขึ้นบน)
สำรับอาหารของชาวไทดำถือว่าหากินได้ยากแล้วในปัจจุบัน และมักจะทำเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น โดยรสชาติจะไปทางรสเผ็ด เค็ม เปรี้ยว โดยอิงจากวัตถุดิบพืชผักในพื้นถิ่น เช่น แกงหน่อส้ม แกงหน่อปิ้ง แจ่วเอือดด้าน จุ๊บผัก ปลาปิ้งต๊บ-กบปิ้งโอ๋ เป็นต้น แต่ถ้ากินในชีวิตประจำวันก็เหมือนอาหารของคนไทยที่กินกันโดยทั่วไป
หากถอยออกมามองภาพกว้าง ภายในพิธีกรรมกับวิถีชีวิตนั้นล้วนเป็นเรื่องเดียวกันแทบทั้งสิ้น ผู้คนยังเชื่อมโยงในวิถีธรรมชาติและความเชื่ออย่างไม่แยกขาดจากกัน และดูเหมือนว่าการแทรกซึมของวัฒนธรรมเดิมที่คงมีไว้นั้น ดูมีฐานแข็งแรงอย่างมากตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งยากที่จะกลืนหายไป
เมื่อชวนมองกลับมายุคปัจจุบันเกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คน ผู้คนต้องออกไปประกอบอาชีพรับจ้าง ออกไปเรียนหนังสือ ปะทะสังสรรค์กับปัจจัยแวดล้อมมากมาย รวมทั้งชีวิตเชื่อมอยู่กับโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่ขาดการเชื่อมต่อวัฒนธรรมในชีวิตจริง “รุ่นลูกชายผู้ใหญ่ไม่ได้อยู่ทำพิธีกรรมเลย ไม่รู้เลยว่าเขาทำยังไง แล้วเราก็ไม่มีเวลาสอนเขา ส่วนเขาก็ไม่มีเวลามา ก็มีพูดให้เขาฟังบ้าง ไม่ได้ถึงขั้นอบรม ยกเว้นตอนเราแก่ เราคงต้องเรียกเขามาเป็นกิจลักษณะ ซึ่งเขาก็รู้แหละว่ามันยังไม่ถึงเวลา” ป้ามาศพูดด้วยน้ำเสียงที่แฝงถึงความกังวล
ปัจจุบันพวกเขาใช้ภาษากลางในการสื่อสารเป็นส่วนใหญ่ แต่ในสมัยก่อนจะใช้ภาษาไทดำพูดคุยภายในครอบครัวเป็นหลัก และก็มีพูดคุยกับคนในชุมชนกันเองบ้าง ผู้ใหญ่มาศเสริมว่า “ถ้าเป็นไปได้มันต้องมีการสอน เหมือนที่สอนภาษาไทย สอนสังคม ต้องมีวิชาภาษาไทดำสอดแทรกเข้าไปในโรงเรียนของชุมชน ถ้าเราคิดว่าจะให้คงอยู่” ส่งผลให้คนในชุมชนสามารถพูดภาษาไทดำได้อย่างเดียว ส่วนการเขียนอักษรไทดำและการอ่านในชุมชนคุยยางเองนั้นได้ล้มหายตายจากไปพร้อมกับบรรพบุรุษที่อพยพมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ผู้ใหญ่มาศลองพูดให้ฟังหน่อยได้มั้ยคะ ?”
“พ่อเรียก อ่าย แม่เรียก เอม”
“เจ่าอยู๋กะเลาเล้ย แปลว่า พี่เป็นคนที่ไหน”
“เจ่า คือ เจ้า หรอคะ ?”
“เจ่า หมายถึง พี่ ป้า น้า อา ได้ทั้งนั้น”
“ส่วน เล้ย หมายถึง เหรอ”
ในภาษาไทดำคนรุ่นเดียวกันจะพูดแทนตัวว่า กู - มึง ส่วนคนต่างรุ่นพูดแทนตัวเองว่า ข่อย ซึ่งในภาษาไทดำจะมีลำดับหลายขั้นมาก ฉะนั้นเด็กรุ่นนี้ถ้าไม่ได้พูดตั้งแต่กำเนิดก็ยากที่จะเข้าใจได้เร็ว หากมองลึกลงไปในระบบการศึกษาไทยมีผลอย่างมากต่อการเลือนหายของอัตลักษณ์ทางภาษา เช่น ต้องพูดภาษากลางในโรงเรียนเท่านั้น แม้ว่าสัมภาระทางวัฒนธรรมอาจดูเป็นเรื่องที่สามารถปรับลดได้ตามยุคสมัย หากเราลองนั่งจับเขาคุยกันด้วยความเข้าใจอย่างเปิดกว้างในช่วงเวลาที่เหมาะสม อาจค้นพบจุดสมดุลให้กับการเคลื่อนไปของวัฒนธรรมในยุคนี้
กล่าวคือแม้ชีวิตของผู้คนที่นั่นจะยังคงยึดโยงอยู่กับสัมภาระทางวัฒนธรรมที่ถือติดตัวมาในทางใดทางหนึ่ง ดังกรณีที่กล่าวมาข้างต้นที่ทำให้เราเห็นว่าชุมชนมีต้นทุนทางวัฒนธรรมหรือมีวัถตุดิบที่ติดตัวมา แต่ถ้าเราไม่นำไปปรุงต่อเพื่อเพิ่มรสชาติให้ทุนวัฒนธรรมเหล่านั้น ได้ลองปรับเปลี่ยนพลิกแพลงให้ได้หลากหลายรสชาติ ถูกปากคนทุกวัย ทุนวัฒนธรรมก็จะค่อย ๆ ถูกกลืนไปกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะย้อนกลับ
นี่คือโจทย์ใหญ่ของชุมชน ว่าจะรับมือการเปลี่ยนผ่านต่อ สัมภาระวัฒนธรรม นี้ในรูปแบบใด จะสานต่อทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่นั้นให้เคลื่อนที่อย่างไรที่จะยังสามารถไปต่อได้ในโลกซึ่งหมุนไปเสมอ เหมือนกับธรรมชาติที่ต้องปรับตัวเพื่อการไปต่อของเผ่าพันธุ์
หากเสื้อผ้าใช้กระดุมเงินหลายเม็ด สามารถบ่งบอกถึงฐานะของครอบครัวนั้น
รากที่พึ่งหยั่ง
ในยุคที่เทคโนโลยีหมุนไปอย่างรวดเร็ว การรักษาวัฒนธรรมในแบบเดิมอาจไม่สอดรับต่อความสนใจของคนรุ่นใหม่ในชุมชน รวมถึงการส่งต่อที่ไม่เพียงแค่กับในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยดำอย่างเดียว แต่ต้องสื่อสารกับคนภายนอกด้วย จึงนำไปสู่คำถามที่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำบ้านคุยยางแห่งนี้ จะปรับตัวและต่อยอดอย่างไรจากทุนวัฒนธรรมของตัวเอง จากเดิมที่มีสิ่งต่างๆ อยู่ในมือแล้ว
นี่…คือโจทย์ใหญ่ของชุมชนในระหว่างที่นักวิจัยและศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเข้ามามีส่วนช่วยชุมชนในโครงการพัฒนาศักยภาพทุนทางวัฒนธรรม เพื่อขับเน้นสิ่งที่มีอยู่ของชุมชนและดึงความเป็นชาติพันธุ์ไทดำที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมเดิมผสมเข้ากับความรู้ใหม่ให้แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ อย่าง “การทอเสื่อกก” ที่จากเดิมสมาชิกผู้คนในชุมชนมีทักษะและความสามารถในการทอเสื่อกกอยู่แล้ว แต่เป็นการทอในลวดลายปกติ โจทย์ก็คือว่าเราจะต่อเติมการทอเสื่อกกอย่างไรให้แตกต่างเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นผลักดันให้ทางชุมชนคุยยางก่อร่างสร้างทุนวัฒนธรรมใหม่ด้วยตัวของพวกเขาเอง
ต้นกกสามารถพบในคลองหนองกระจาดช่วงน้ำลดเดือนเมษายน - เดือนพฤษภาคม โดยชาวบ้านจะมาเก็บต้นกกในบริเวณคลองแห่งนี้
“ช่วยเล่ากระบวนการกว่าจะได้กกมาทอให้ฟังหน่อยค่ะ ?”
“ในหนึ่งปีตัดกกได้สองเดือน คลองไหนแห้งก่อนมันจะขึ้น พอขึ้นเราต้องรีบไปเอา อย่างใกล้หมู่บ้านมีคลองหนองกระจาด เวลาเลือกต้นกกมาใช้สานให้เอาดอกตูมนะ ถ้าต้นที่ดอกบานแล้วเราเอาไปใช้ไม่ได้ เพราะมันแก่เหลืองแล้วมันจะหัก" ป้าเหนอ หนึ่งในผู้ริเริ่มการทอเสื่อกกในชุมชนเล่าถึงเคล็ดลับในการเลือกต้นกกให้ฟัง
กว่าจะได้กกมานั้นต้องใช้เวลาเป็นไปตามฤดูกาลของธรรมชาติ จากสีเดิมของกกเป็นสีน้ำตาลอ่อน ถูกนำไปผสมให้เข้ากับ “อัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทดำ” จนเกิดเป็น “กกสีดำ” ที่ชัดในตัวตน ต่อทุนทางวัฒนธรรมจากทักษะที่มีอยู่เดิมเข้ากับสีที่เชื่อมโยงอยู่กับตัวตน ออกมาเป็น “เสื่อกกย้อมสีดำสนิท” ที่เป็นอัตลักษณ์ใหม่ซึ่งยังคงยึดโยงตัวตนของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ หลังจากนั้นพี่เป้าแกนนำเสื่อกกก็ได้รวบรวมชาวบ้านที่สนใจในการทอเสื่อกกมารวมกลุ่มกัน จนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ทั้งยังได้ผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากตัวเสื่อกกหลายอย่าง เช่น กระเป๋า ที่รองจาน และพวงหรีด เป็นต้น กระนั้นแล้วถึงจุดหนึ่งตัวผลิตภัณฑ์ยังไม่สามารถขยายไปสู่บุคคลทั่วไปได้ง่าย เนื่องจากเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งสี ลวดลาย ยังอยู่ในลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่เป็นไทยทรงดำหรือผู้ใช้ที่สนใจในกลุ่มชาติพันธุ์ ทางพี่เป้าและสมาชิกจึงต้องกลับมาทำการบ้านต่อสู้กับอุปสรรคที่เกิดขึ้น ทั้งวัตถุดิบ การเจาะตลาดให้หลากหลายขึ้น บุคคลากร การฝึกฝีมือให้เชี่ยวชาญพร้อมกันทั้งกลุ่ม “ใจพี่อยากยกระดับให้ทุกคนมาอยู่ในระดับเดียวกันหมด” นี่คือเป้าสูงสุดของพี่เป้าด้วยความผูกพันกับบ้านคุยยาง ในเมื่อวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่อยู่ในเนื้อในตัวกับเราอยู่แล้ว จะทำอย่างไรให้ความเป็นไทดำสามารถผสมผสานกับวิถีชีวิตในปัจจุบันได้ที่ไม่เพียงแค่กลุ่มชาติพันธุ์ไทยดำเท่านั้น รวมไปถึงคนทุกวัยที่สามารถเข้าถึงและเข้าใจวัฒนธรรมผ่านสิ่งที่ชุมชนคุยยางได้สร้างสรรค์ผ่านรากใหม่ได้อย่างกลมกลืน
ป้าเหนอกำลังสาธิตการทอเสื่อกก และเป็นคนแรกที่บุกเบิกการทอเสื่อกกในชุมชนคุยยาง
ด้วยความร่วมแรงร่วมใจหลายฝ่าย ทางศูนย์มานุษยวิทยาจึงช่วยประสานงานติดต่อนักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ เข้ามาช่วยอบรมกับชุมชนเรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า OTOP “หัตถกรรมชุมชนคุยยาง” ทั้งนี้จะเป็นเพียงขึ้นทะเบียน OTOP ที่ยังไม่มีดาว หากต้องการให้สินค้า OTOP มีดาว ชุมชนต้องส่งผลิตภัณฑ์กระเป๋าไปตรวจสอบมาตรฐานและคัดสรรตามระเบียบเพิ่มเติม นับว่าเป็นโอกาสในการเริ่มต้นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ไปสู่ทุนวัฒนธรรมตามที่ชุมชนตั้งไว้
ในมุมการตลาดเริ่มต้น อย่างผลิตภัณฑ์พวงหรีดสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับคนในกลุ่ม ด้วยความร่วมมือจากเทศบาลบางระกำเมืองใหม่ โดยรองนายกเทศมนตรีนายเชาวลิต หลวงศรีราษฎร์ กล่าวว่า “สำหรับการตลาดแล้วควรมีการผนวกเข้ากับกลุ่มฌาปนกิจชุมชนที่มีอยู่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฌาปนกิจดำเนินการจัดการเรื่องงานศพ และการเสียชีวิตอยู่แล้ว หากการขายพวงหรีดชุมชนขึ้นตรงกับกลุ่มฌาปนกิจอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ยอดขายดีขึ้น” จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชนให้เกิดรายได้ และสร้างความมั่นใจแก่สมาชิกว่าสิ่งนี้สามารถสร้างอาชีพเสริมได้จริง
“พวงหรีด” ผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกอย่าง ที่ทางชุมชนได้พัฒนาขึ้นในช่วงต้น เพื่อเป็นรายได้เสริมหมุนเวียนให้แก่สมาชิก
รากที่เคยย้ายอีกครั้งและอีกครั้งกว่าจะมั่นคงหยั่งลึกต้องใช้เวลา ความทุ่มเท รวมถึงความร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่าย ที่ช่วยผลักดันให้ชุมชนคุยยางนั้นไปต่อกับรากเดิมที่เขามีอยู่ให้แผ่ขยายต่อไปได้ นี่คือเหตุว่าทำไมการรักษาและต่อยอดวัฒนธรรมในแต่ละชาติพันธุ์เพื่อบอกความเป็น เรา สำคัญมาก
เติบโตในแบบที่เราเป็น
ขณะที่ปัจจัยภายนอกมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม แล้วเสียงด้านในของชุมชนอยากเติบโตไปทางใด สิ่งนี้สำคัญมากที่จะทำให้ชุมชนเดินต่อเองได้ในวันที่โครงการสิ้นสุดลง เมื่อเรานำศักยภาพที่มีมาหลอมรวมกับความเป็นชีวิตและวัฒนธรรมเข้าด้วยกันจนเป็นหนึ่งเดียว การเติบโตของกลุ่มที่หวังว่าจะเดินหน้าไปพร้อมกัน ผลิตภัณฑ์อย่าง “เสื่อกก” ที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ทางกลุ่มได้ก้าวเดินไปตามจังหวะของตัวเอง อีกส่วนหนึ่งการได้รับแรงสนับสนุนจากทางเทศบาลบางระกำเมืองใหม่ในมุมของการให้พื้นที่จำหน่ายสินค้า รวมไปถึงการอบรมเสริมความรู้ และการส่งเสริมการปลูกต้นกกในพื้นที่ให้เพียงพอความต้องการในรอบปี เพื่อให้ทุนวัฒนธรรมนี้สามารถเดินหน้าไปได้ต่อ
นายวิบูลย์ ตั้งเกษมวิบูลย์ นายกเทศมนตรีตำบลบางระกำเมืองใหม่ ให้กำลังใจกับแกนนำชุมชนว่า “คุยยางความเด่นของเขาคือ คน ไม่ใช่ว่าทุกหมู่บ้านจะทำได้” เพราะชุมชนเปิดรับและปรับตัวเข้ากับพื้นที่ นี่คือคุณสมบัติของบ้านคุยยางหนึ่งในตำบลที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยบางระกำมีบึงตะเครงที่เป็นเสมือนแบรนด์ของตำบล อนาคตทางเทศบาลมีแผนทำบึงตะเครงให้เป็นจุดศูนย์กลางนำสินค้าเกษตร หัตถกรรม เข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ได้ โดยเทศบาลพร้อมเป็นแรงกระตุ้นสนับสนุนชุมชนเบื้องต้น
คนในชุมชนคุยยางได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในตำบลบางระกำแห่งนี้ไม่ต่ำกว่าห้าทศวรรษ แต่ยังคงสามารถดำเนินชีวิตที่สอดคล้องอยู่กับวิถีของชาติพันธุ์ไทดำในหลากด้านโดยเฉพาะประเพณีการประกอบพิธีเสนเรือน หรือการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ อีกทั้งคนในชุมชนมีทักษะในการทอเสื่อ และการหัตถกรรมเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเห็นได้จากการเย็บปักเสื้อผ้าที่มีมีลวดลายเฉพาะตัวของชาติพันธุ์ไทดำไว้ใช้เอง รวมถึงนำความสามารถเดิมในการทอเสื่อกกมาเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่กลายเป็นจุดแข็งของชุมชนบ้านคุยยางในตอนนี้
หากมองประโยชน์จากการเพิ่มคุณค่าด้วยทุนวัฒนธรรมรากเดิมและรากที่สร้างใหม่ ชุมชนสามารถมีฐานข้อมูล องค์ความรู้เป็นของตัวเอง และยังได้ค้นหาศักยภาพภายในได้ลึกเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนออกมา ไม่เพียงแต่ชุมชนยังรวมไปถึงเทศบาลบางระกำเมืองใหม่ที่สามารถนำประโยชน์จากฐานภูมิปัญญานี้ไปพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้ โดยมีผลิตภัณฑ์ประจำตำบลเพิ่มขึ้นและสามารถหมุนเวียนเม็ดเงินในท้องถิ่นได้
แม้ว่าบ้านคุยยางห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกไม่มากนัก จึงทำให้ลักษณะเป็นแบบชุมชนเมือง ส่งผลให้เด็กส่วนมากเข้าไปเรียนในเมือง ขาดการเชื่อมต่อกับรากวัฒนธรรม บางส่วนอาจสูญหายไปได้ในอนาคต ชี้ให้เห็นถึงสังคมที่รวมศูนย์การพัฒนาไว้ที่เมือง ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก ผู้ใหญ่มาศแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้เพิ่มเติมว่าความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกก็เป็นส่วนที่ส่งผลสำคัญ และ “ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่ที่ครอบครัวด้วย ว่าเขาสนใจจะให้สืบทอดหรือไม่ หากให้ความสำคัญก็จะยังคงอยู่ กับอีกแบบหนึ่งคือไม่จริงจังอะไร ไม่เยอะแยะกับกิจกรรมปล่อยว่างไปเรื่อย ๆ” แสดงให้เห็นว่าครอบครัวมีอิทธิพลต่อคนรุ่นหลังมากในการถอดถ่ายวัฒนธรรม
วิถี ความฝัน และอนาคต
หากมองในสายตาของเด็กยุคที่เกิดมาพร้อมแชทจีพีที (แชตบอทที่สามารถสร้างข้อความสื่อสารตอบโต้กับคนได้ โดยมีการเทรนด์ชุดเซตข้อมูลขนาดใหญ่ที่) พิธีกรรมที่ดูมีความยุ่งยากซับซ้อนอาจยังอยู่ในพื้นที่คำถามและยากจะทำความเข้าใจได้สำหรับคนรุ่นใหม่ บริบทเมือง เทคโนโลยีเปลี่ยนไป หันกลับมาดูต้นทุนทางทรัพยากร คือ คน เป็นหลัก ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ประชากรเด็กแรกเกิดลดน้อยลง และยังไม่นับสิ่งที่ต้องเผชิญหน้าในชีวิตอย่างปัจจัยพื้นฐาน
เมื่อทดลองฝันจากสิ่งใกล้ตัว น้องนะโมวัย 11 ขวบอนาคตแห่งบ้านคุยยางที่เขาอาจยังไม่ได้สนใจในความเป็นไททรงดำมากนัก แต่เขาก็พอรู้จักประเพณีประจำปีผ่านอาหารเส้นไหว้อย่างขนมโปรดของปู่ย่าตายายที่ล่วงลับไปแล้ว เขาเล่าความฝันให้ฟังว่า “อยากเป็นนักฟุตบอล”
ผู้ใหญ่มาศ (คนซ้าย) น้องนะโม (คนกลาง) พี่เป้า (คนขวา) ตัวแทนแกนนำขับเคลื่อนชุมชนคุยยางให้มีความหวังต่อไป โดยมีต้นยางนาอยู่ด้านหลัง
หากลองฝันกันต่อ “ภาพฝันหลังจบโครงการในมุมของมาศรินทร์หรือผู้ใหญ่มาศอยากเห็นอะไรคะ ?”
“ก็คงอยากมีศูนย์เรียนรู้จำลองวิถีชีวิตไทยทรงดำในชุมชน มีเครื่องเรือน เครื่องใช้สมัยก่อน ทำให้คนที่อยากเรียนรู้มาศึกษาทั้งพิธีกรรม เสื้อผ้า แบบบันทึกอย่างที่หนูเขียนไว้ ใครอยากมานั่งอ่าน มาดูรูปภาพประกอบมันน่าจะดีนะ”คำตอบของผู้ใหญ่มาศทำให้เราเห็นว่าความฝันหนึ่งของชุมชนที่มีเรื่องเล่าและทุนวัฒนธรรมคือการอยากส่งต่อสิ่งเหล่านั้นในแบบฉบับของชุมชนเองผ่านสถานที่ที่จับต้องได้ ทั้งนี้หากมองลึกลงไปเรื่องของความยั่งยืนโดยไม่ต้องใช้เงินทุนในการก่อสร้าง เราอาจเห็นต่อไปอีกว่าการสร้างรากให้มั่นคงภายในตัวเองและส่งต่อให้กับคนรุ่นหลังได้ตามแรงที่มีเป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
เชื่อว่า คน ชุมชนคุยยาง กำลังสร้างฝันให้เกิดขึ้นจริงอยู่ ในยุคที่เทคโนโลยีเดินทางเร็วกว่าที่เรากระพริบตาเสียอีก คนเราสามารถสร้างเรื่องเล่าจากเดิมที่มี ใส่ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ รวมกลุ่มกับคนที่เห็นความฝันในสิ่งเดียวกัน ก่อเกิดเป็นพลังที่จะก้าวย่างอย่างมั่นคง พร้อมปรับตัวกับทุกการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแค่คนไทดำแห่งบ้านคุยยาง แต่ “เราทุกคน” สามารถสร้างทุนวัฒนธรรมนี้ได้
กลับบ้าน ดูแลราก
มนุษย์… รักษาวัฒนธรรมไปเพื่ออะไร คำถามนี้ดูเหมือนจะเป็นคำถามง่าย ๆ แต่ถ้าเราไม่ได้เข้าใจทุนวัฒนธรรมที่ตัวเรามีนั้น คงตอบได้ยากว่าเรามีวัฒนธรรมเหล่านั้นไปเพื่ออะไร แม้ว่าในปัจจุบันความเจริญยังกระจุกตัวในเมืองใหญ่ คนหนุ่มสาวจำเป็นต้องเข้าไปสร้างเนื้อสร้างตัว แต่ในอีกด้านหนึ่ง คนรุ่นใหม่เริ่มกลับสู่บ้านเกิดมากขึ้นอย่าง กอล์ฟ วิทวัสชายหนุ่มวัย 34 ปี เล่าเหตุผลว่า “ช่วงที่เรียนก็ออกไปเรียนข้างนอก ลองฝึกงานทั้งในกรุงเทพ – ชลบุรีก็รู้สึกอยากกลับบ้าน มีงานใกล้บ้านพอดี แล้วก็อยากช่วยพ่อทำเกษตรด้วย” ขึ้นอยู่กับปัจจัยและความพอดีของแต่ละคนที่อยากวางรากไว้ที่จุดไหน อีกหลายคนอย่างญาติของเขาเองก็ออกไปทำงานข้างนอก จะกลับมาเฉพาะในพิธีการสำคัญ กอล์ฟเสริมต่อว่า ในช่วงรุ่นปู่ของเขาพิธีการเคร่งกว่านี้มาก พอมาถึงรุ่นพ่อก็ไม่ได้เคร่งเท่า มันก็ค่อย ๆ เลือนราง เอาประเพณีไทยเข้ามากลมกลืน เพราะด้วยความเรียบง่ายกว่าไม่ได้มีของจุกจิกเท่าพิธีของลาวโซ่งที่มีค่าใช้จ่ายหลักหมื่น “บ้านผมก็ลองทำพิธีงานศพไทยก็ไม่เป็นไร ถ้ารุ่นปู่ทำพิธีลาวเลือกวันเผาเองไม่ได้ ต้องให้หมอคำนวนดู มีวิชาว่ามันแรง ถ้าเป็นพิธีทางสงฆ์เผาได้ทุกวัน พิธีลาวต้องทำกะล้อห่องให้อยู่ แล้วปู่ผมสั่งไว้ทำพิธีไทยก็ได้ไม่ต้องยุ่งยาก”
หากมองในมุมของคนรุ่นใหม่ การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมก็เป็นเรื่องของยุคสมัย ในยุคที่เทคโนโลยีเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว อะไรที่มันซับซ้อนก็จะถูกลดทอนเมื่อความง่ายและสะดวกตามปัจจัยเข้ามาปรับลดเพิ่มนั้น ๆ คงไม่สามารถชี้ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิมนั้นผิดหรือถูก หากเปลี่ยนเป็นการตั้งคำถามเพื่อหาความต้องการที่จริงแท้ว่าเราทำสิ่งนี้ไปทำไม อาจช่วยให้วัฒนธรรมยังดำเนินต่อไปได้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง
หากการปักรากใหม่ โดยที่รากเดิมที่ติดลำต้นมานั้น ถ้าเราใส่ปุ๋ย พรวนดิน และเติมธาตุอาหารให้ถูกสภาพแวดล้อม ซึ่งสิ่งที่ชุมชนคุยยางร่วมกับโครงการพัฒนาศักยภาพทุนทางวัฒนธรรมของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรที่กำลังดูแลรากใหม่ผ่านต้นกกอยู่นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากในยุคที่จะฟื้นฟูทุนวัฒนธรรมอย่างไร ให้ยังเติบโตต่อไปพร้อมกับความหวังนำไปสู่ชุมชนเองสามารถมั่นคงจากรากใหม่ได้อย่างแท้จริง
เมื่อถึงเวลาต้องเดินทางต่อ เสียงรถยนต์ดังขึ้นอีกครั้ง
“ขอบใจ๋เน้อแล้วป้อกันมั๋ย”
การเดินทางของมนุษย์เรายังคงดำเนินต่อไป การเคลื่อนย้ายรกรากไปยังอีกซีกโลกหนึ่งหรือการย้ายดวงดาวใหม่ ให้มันเป็นเรื่องของอนาคต สัมภาระที่ติดไปในเนื้อในตัวของเรา อาจไม่ใช่เงิน ไม่ใช่เสื้อผ้าที่สวมใส ไม่ใช่เครื่องประดับมีราคา แต่จะเป็นเรื่องราวที่ส่งต่อ ภูมิปัญญา ชุดความเชื่อ ภาษา เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่สามารถหยิบถือได้โดยเป็นไปตามธรรมชาติ ตามวิถีที่เป็น
จึงวกกลับมาที่คำว่า วัฒนธรรม เป็นเครื่องมือที่มนุษย์เราคิดค้นเพื่อให้ตัวเรานั้นดำรงอยู่ได้ รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือที่สามารถบอกถึงความเจริญและความล่มสลายในคราวเดียวกันของชุนชนนั้น ๆ คล้ายกับเป็นเครื่องกำหนดชีวิต กรอบความเป็นอยู่ของชุมชน รวมถึง ภูมิปัญญา ที่ถูกส่งต่อมาหลายรุ่นทั้งความรู้ ทักษะ ความเชื่อ และพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อที่จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้เวลา ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อนาคตเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่เราสามารถทำปัจจุบันให้ดีที่สุดได้ อย่างน้อยในชุมชนคุยยางก็ยังมีกลุ่มคนที่พยายามรักษารากและสร้างรากใหม่ไปพร้อมกัน
เรื่อง/ภาพ สาธิตา ธาราทิศ
ป้ายกำกับ คุยยาง พิษณุโลก ชาติพันธุ์ ไทยทรงดำ ไทดำ อัตลักษณ์ พัฒนาชุมชน ทุนวัฒนธรรม สาธิตา ธาราทิศ สารคดีชุมชน