เมื่อ “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์”…ได้ปรากฏ
“เราจะยอมให้เกิดพื้นที่ควบคุมพิเศษเป็นหย่อมๆ ทั่วประเทศไม่ได้”
“กฎหมายแบบนี้จะสร้างให้เกิดเขตปกครองตนเองหรือให้อภิสิทธิ์เฉพาะคนบางกลุ่ม”
“ทำไมต้องให้อภิสิทธิ์เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ แล้วคนไทยคนอื่น ๆ จะมีสิทธิในทรัพยากรบ้างได้หรือไม่
หรือแม้กระทั่งว่า
“คนชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นคนต่างด้าว จะมีสิทธิมากกว่าคนไทยได้อย่างไร”
“การเขียนกฎหมายในมาตรานี้เป็นการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด หากบุคคลใดสนับสนุนย่อมมีความผิดไปด้วย”
เหล่านี้คือวิวาทะส่วนหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในสื่อออนไลน์ ภายหลังการอภิปรายแสดงความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็น ความคิด ความเชื่อและความเข้าใจต่อร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในหมวดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่คลาดเคลื่อนไปกว่าเจตนารมณ์หรือเป้าหมายของร่างกฎหมาย และมากไปกว่านั้นคือการแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังรับรู้และเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างจำกัด ทำให้มองกลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มคนต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติ เน้นย้ำให้เห็นว่า “อคติทางชาติพันธุ์” ยังคงเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่จำเป็นต้องมีการพัฒนา สร้างพื้นที่การเรียนรู้เพื่อสื่อสารให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย และกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มในสังคมเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง เผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานและการบริการสาธารณะจากรัฐอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สอดคล้องและสัมพันธ์กับวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ดังปรากฏกรณีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ดำเนินต่อเนื่องมามากกว่า 20 ปี1 การต่อสู้ ยืนยันสิทธิการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงท่ามกลางการกำหนดนโยบายและกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดในการดำรงวิถี เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างชุมชนชาติพันธุ์กับเจ้าหน้าที่รัฐเรื่อยมา ส่งผลต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิต การสืบทอดมรดกภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สัมพันธ์กับวิถีการทำไร่หมุนเวียน ตลอดจนความสามารถในการพึ่งพาตนเองที่ลดน้อยลงของชุมชนชาติพันธุ์2
อย่างไรก็ตามหากมองย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นต่อการผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... พบว่า ความสนใจความสนใจที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทย (นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา) ได้ปรากฏชัดขึ้นสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการพัฒนาที่ให้ความสำคัญต่อการเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน การเปิดกว้างต่อการยอมรับความหลากหลายทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของกลุ่มคน ดังปรากฏการณ์ประกาศให้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง3 โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและกะเหรี่ยง ซึ่งถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียอัตลักษณ์ วิถีชีวิตวัฒนธรรม เนื่องจากเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาที่เป็นข้อจำกัดและความท้าทายต่อการดำรงชีวิต ทั้งในด้านการขาดความมั่นคงในสิทธิที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การไม่ได้รับการยอมรับและเคารพต่อการดำรงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญา เช่น การถูกกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชาวเลในการดำรงชีวิตในท้องทะเล หรือประเด็นการทำไร่หมุนเวียนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เผชิญกับการถูกมองว่าเป็นวิถีการเกษตรที่ส่งผลกระทบ สร้างความเสียหายต่อผืนป่า เป็นต้น การประกาศให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเป็นความหวังต่อการสร้างและพัฒนาให้เกิดโครงสร้างและกลไกการดำเนินงานในระดับนโยบายที่จะส่งผลต่อการกำหนด ออกแบบแนวปฏิบัติที่จะนำไปสู่การปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยงได้อย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2553 ได้ก่อให้เกิดกระบวนการดำเนินงานที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ปรากฏรูปธรรมของการพัฒนาและแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนแนวคิดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์4 ซึ่งปัจจุบันมีการจัดกิจกรรมประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์รวม 24 พื้นที่ และถือเป็นแนวคิดสำคัญที่ปรากฏอยู่ในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระรราชบัญญัติคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... ได้จัดทำขึ้น ดังปรากฏในหมวด 5 ว่าด้วย พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยหวังเป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการข้อมูลประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม แผนที่แสดงขอบเขตการอยู่อาศัย การใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่บนฐานการเคารพสิทธิชุมชนและสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพชุมชนชาติพันธุ์ให้มีความเข้มแข็งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ แสดงให้เห็นการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรจากรัฐส่วนกลางไปสู่ชุมชนชาติพันธุ์บนฐานการจัดการร่วม (Co - management)
การนำเสนอบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่จะชี้ให้เห็นว่าการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เป็นแนวทางในการสร้างเสริมพลังอำนาจแก่ชุมชนให้เกิดความภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ของความเป็นชุมชนชาติพันธุ์ ตลอดจนการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนชาติพันธุ์ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาและภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้การจัดการข้อมูลชุมชนตามแนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเครื่องมือในการเปิดพื้นที่และโอกาสในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตวัฒนธรรม การใช้ประโยชน์และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชุมชนชาติพันธุ์ของผู้คนทั้งภายในและภายนอกชุมชน ซึ่งสามารถนำเสนอได้ตามหัวข้อ ดังต่อไปนี้
ความหมาย ตามการปรากฏของ “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์”
การนำเสนอเรื่องแนวคิดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พบว่า สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อ้างใน คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาปฏิรูปขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ, 2559:31-32)5 ได้ศึกษาแนวคิดเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ และได้นิยามว่า “เป็นเขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมหรือเขตวัฒนธรรมพิเศษ ครอบคลุม พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยหรือพื้นที่ตั้งของชุมชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเป็นกลุ่มชุมชน พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยนั้นมีความหมายมากกว่า “บ้าน” และ “ครอบครัว” แต่ครอบคลุมไปถึงความเป็น “ชุมชน” ซึ่งมีภาษา ขนบประเพณี คุณค่าและกติการ่วมกัน ยังเน้นการคุ้มครอง พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือ พื้นที่ทางจิตวิญญาณ สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ และเป็นรากฐานของกติกาเพื่อความเคารพในธรรมชาติ และเคารพในสิทธิเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”
นอกจากนี้ อภินันท์ ธรรมเสนา (2567)6 ได้นำเสนอให้เห็นความหมายของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ว่ามีความหมายครอบคลุมใน 2 มิติ ดังนี้
ความหมายเชิงแนวคิด หมายถึง เป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณที่กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำเนินชีวิตบนฐานภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการผสานองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยชุมชนชาติพันธุ์มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ได้รับการปกป้องคุ้มครองและยอมรับทางกฎหมายเพื่อการดำรงอยู่อย่างสมดุล ยั่งยืน และเป็นธรรม
ความหมายเชิงนโยบาย เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนในการดำรงวิถีชีวิตและสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลไกการจัดการร่วม (co-management) เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนชาติพันธุ์ที่มีปัญหาความมั่นคงในที่ดิน
ปัจจุบัน “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ได้ปรากฏอยู่ในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... (ฉบับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร) หมวด 5 พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ มาตรา 27 – 32 มีสาระสำคัญที่มุ่งนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนชาติพันธุ์ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกฎหมายประกาศที่ดินของรัฐ ทั้งกฎหมายป่าไม้ อุทยาน เขตป่าสงวน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งดำเนินไปโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลให้ชุมชนชาติพันธุ์หลายชุมชนได้รับผลกระทบไม่สามารถดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิมและเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ บริการขั้นพื้นฐานของรัฐได้ เช่น การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา สัญญาณโทรศัพท์ที่ไม่สามารถพัฒนาได้ เนื่องจากติดข้อจำกัดทางกฎหมายและนโยบายด้านการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
การจัดทำร่างกฎหมายในหมวด 5 ว่าด้วยพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จึงเสนอให้เห็นขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติที่จะช่วยลดข้อจำกัดและช่องว่างของเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชนชาติพันธุ์ โดยมีสาระสำคัญในมาตรา 27 “...เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์นั้นสามารถอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ได้โดยไม่ต้องนำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ มาบังคับใช้แก่พื้นที่ดังกล่าว...” ทั้งนี้ก่อนที่จะประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนต้องมีการจัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม แผนที่แสดงขอบเขตการอยู่อาศัย การใช้ประโยชน์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ชัดเจน รวมถึงต้องมีการทำความตกลงกับหน่วยงานรัฐในพื้นที่ เพื่อสร้างการรับรู้ ยอมรับ และเข้าใจวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์ นำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทและแผนที่ขอบเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงธรรมนูญชุมชน ซึ่งจะเป็นการกำหนดขอบเขตพื้นที่ กรอบกติกา แนวปฏิบัติ สิทธิและหน้าที่ของชุมชนชาติพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นร่วมกันระหว่างชุมชนชาติพันธุ์กับหน่วยงานรัฐ อย่างไรก็ดีภายหลังการประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หากชุมชนไม่ดำเนินการตามแผนแม่บท หรือฝ่าฝืนธรรมนูญชุมชนที่ได้กำหนดขึ้น ให้นำกฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาบังคับใช้และดำเนินการตามกฎหมายนั้น
ดังนั้นจากความหมาย หลักการและสาระสำคัญของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จึงเน้นย้ำการเคารพสิทธิทางวัฒนธรรมและส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของตนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ขณะเดียวกันยังมุ่งส่งเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่ดินและการเข้าถึงทรัพยากรทั้งในระดับพื้นที่และนโยบายที่มุ่งสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนชาติพันธุ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การปรากฏในข้อบัญญัติร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นเครื่องมือที่ชุมชนชาติพันธุ์จะนำมาใช้เป็นกรอบแนวทางในการอยู่ร่วมในพื้นที่ที่ถูกประกาศทับด้วยกฎหมายที่ดินของรัฐ เพื่อเปิดโอกาสและเอื้ออำนวยให้ชุมชนสามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการและสิทธิการใช้ประโยชน์ตามวิถีวัฒนธรรม ตลอดจนยังเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่ที่จะนำมาปรับใช้ในการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างสรรค์แนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขและสันติวิธี
ขอบเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
“พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” เป็นแนวทางในการคุ้มครอง “สิทธิทางวัฒนธรรม” ของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ “ชุมชนดั้งเดิม” มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน ได้รับการคุ้มครองและยอมรับสิทธิทางกฎหมายในฐานะพลเมือง ส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในชีวิต มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ ด้วยการดำรงชีวิตและวิถีการทำมาหากินบนฐานภูมิปัญญา ควบคู่กับการผสมผสานองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีบนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม ในด้านหนึ่ง “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” จึงเปรียบเสมือน “พื้นที่จิตวิญญาณ” ของชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งครอบคลุมขอบเขตพื้นที่ทางกายภาพ ดังนี้
1. พื้นที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ตั้งถิ่นฐานชุมชนที่กลุ่มชาติพันธุ์สามารถสืบค้นข้อมูลประวัติศาสตร์และหลักฐานให้เห็นว่าเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
2. พื้นที่ทำกิน เป็นพื้นที่ที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูก ทำการเกษตร เช่น การทำนา ทำสวน แปลงไร่หมุนเวียน มีขอบเขตที่ชัดเจนแน่นอน หรือแหล่งทำมาหากินตามท้องทะเลและชายฝั่ง ซึ่งดำเนินไปตามวิถีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์
3. พื้นที่พิธีกรรม เป็นพื้นที่ที่ชุมชนชาติพันธุ์ใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ จารีต และประเพณี โดยถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิของชุมชน
4. พื้นที่ใช้ประโยชน์ เป็นพื้นที่ที่ชุมชนชาติพันธุ์เข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม โดยยึดหลักการรักษาทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน
5. พื้นที่อนุรักษ์ เป็นพื้นที่ที่ชุมชนกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมตามวิถีวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของชุมชน
ภาพที่ 1 พื้นที่อยู่อาศัยชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย
ภาพที่ 2พื้นที่ไร่หมุนเวียนชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ตำบลห้วยปูลิง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ภาพที่ 3 พื้นที่พิธีกรรมชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่ปอคี จังหวัดตาก
ภาพที่ 4 พื้นที่ใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์ของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋
จังหวัดลำพูน
ภาพที่ 5 พื้นที่อนุรักษ์ผืนป่าขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋
ร่วมกันอนุรักษ์
“บ้านดอยช้างป่าแป๋” กับการพัฒนาต้นแบบการจัดการข้อมูลพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์7
การดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2553 ภายหลังการประกาศมติคณะรัฐมนตรีฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ถือเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยใช้กรอบมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวรับรองและยืนยันสิทธิของชุมชนชาติพันธุ์ ร่วมกับภาคีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายชุมชนชาติพันธุ์ที่สนใจเข้าร่วมกระบวนการ
ในการดำเนินการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลชุมชนและการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตของชุมชน ตลอดจนยังเป็นการสร้างพื้นที่ทางสังคมให้ผู้คนทั้งภายในและภายนอกชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการพื้นที่บนความสมดุลระหว่างการเคารพวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและการผสานองค์ความรู้ แนวนโยบาย เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จากการทบทวนการดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะด้านการจัดการข้อมูลชุมชนพบว่า ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านดอยช้างป่าแป๋ ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เป็นหนึ่งในชุมชนที่ได้มีการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ลำดับที่ 13 เมื่อวันที่ 28 เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ปัจจุบันได้มีการพัฒนาแนวทางการจัดเก็บข้อมูลชุมชน โดยใช้เครื่องมือ 7 ชิ้น8 เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและชี้ให้เห็นความสำคัญของการจัดเก็บและจัดการข้อมูลโดยชุมชน อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการนำข้อมูลไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและออกแบบแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนชาติพันธุ์ให้ปรากฏเป็นรูปธรรมนั้น ได้มีการพัฒนาพัฒนากระบวนการจัดเก็บข้อมูลโดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย โดยการใช้เครื่อง GPS ในการสำรวจ จัดเก็บพิกัดขอบเขตพื้นที่ประเภทต่าง ๆ ของชุมชน เพื่อสร้างฐานข้อมูลให้มีความชัดเจนและแม่นยำสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ ตลอดจนการพัฒนารูปแบบการนำเสนอที่เน้นการสร้างความเข้าใจได้ง่ายผ่านสื่อ infographic เพื่อแยกย่อยชุดข้อมูลที่มีความซับซ้อน ให้เรียบง่ายและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยสามารถจำแนกให้เห็นหมวดหมู่ข้อมูลที่มีรายละเอียดและครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
ภาพที่ 6 ชาวบ้านใช้เครื่องมือ GPS เดินสำรวจพิกัดขอบเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
1. การจัดทำข้อมูลขอบเขตพื้นที่ชุมชน เพื่อแสดงให้เห็นขอบเขตอาณาบริเวณพื้นที่ทั้งหมดของชุมชน ครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน ประกอบด้วย ที่นา ที่สวน พื้นที่ไร่หมุนเวียน พื้นที่ใช้ประโยชน์ ตลอดจนพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่จิตวิญญาณของชุมชน โดยได้นำเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการสำรวจ จัดเก็บ วิเคราะห์ ประมวลผลข้อมูลให้มีความชัดเจน และนำเสนอให้เห็นรายละเอียดในรูปแบบของแผนที่การจัดทำสื่อ infographic ดังปรากฏกรณีของบ้านดอยช้างป่าแป๋ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ที่ได้จัดทำข้อมูลขอบเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พบว่า มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งหมดจำนวน 21,300 ไร่ มีขอบเขตพื้นที่อยู่อาศัยจำนวน 425 ไร่ พื้นที่ทำไร่หมุนเวียนรวม 2,324 ไร่ พื้นที่นาและสวนถาวร จำนวน 398 ไร่ พื้นที่ใช้ประโยชน์ จำนวน 3,147 ไร่ และพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ จำนวน 18,153 ไร่ อย่างไรก็ดี ภายใต้ขอบเขตพื้นที่ดังกล่าวมีพื้นที่ทับซ้อนกับตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง และตำบลบ้านตาล อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ทับซ้อนของการประกาศพื้นที่อนุรักษ์เขตห้ามสัตว์ป่า ป่าบ้านโฮ่ง จำนวน 12,081 ไร่ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบ้านโฮ่ง จำนวน 9,219 ไร่
ภาพที่ 7 infographic แสดงข้อมูลขอบเขตและข้อมูลพื้นที่ทับซ้อนพื้นที่ชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋
ดังนั้นการจัดทำข้อมูลพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จึงทำให้เห็นว่าขอบเขตพื้นที่ที่ชาวบ้านบ้านดอยช้างดอยป่าแป๋ได้ใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการทำกิน การประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อวิถีวัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนการดูแล อนุรักษ์มาโดยตลอดนั้นมีการซ้อนทับไปยังพื้นที่เขตปกครองตำบลอื่นรวม 3 ตำบล 2 อำเภอ และ 2 จังหวัด และอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีกฎหมายและแนวนโยบายเฉพาะควบคุม กำกับ 2 หน่วยงาน แสดงให้เห็นว่าการจะประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต้องมีกระบวนการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างการยอมรับจากชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัดรอบข้าง รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาร่วมในการในการจัดทำข้อมูล ออกแบบ วางแผนบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น
2. การจัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลชุมชนที่ช่วยให้ชุมชนได้ทบทวน ค้นคว้าข้อมูลทั้งในลักษณะของเรื่องเล่าจากปราชญ์ ผู้อาวุโสหรือผู้รู้ในชุมชนที่มีความรู้ ประสบการณ์ชีวิตที่สัมพันธ์กับการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของชุมชนในแต่ละช่วงเวลา ตลอดจนการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารหลักฐานทางราชการ ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม การเมืองและเศรษฐกิจภายนอก ดังปรากฏกรณีบ้านดอยช้างป่าแป๋ที่ได้มีการศึกษา สำรวจ ค้นคว้าข้อมูลจากคำบอกเล่าของผู้อาวุโวภายในชุมชน และการสืบค้นจากเอกสารหลักฐานทางราชการที่ปรากฏ โดยได้มีการค้นพบ “ใบเสร็จเงินรัชชูปการใช้แทนหนังสือเดินทาง” ปี พ.ศ.2472 โดยปรากฏรายละเอียดในเอกสารดังกล่าวระบุชื่อนายกุละ ซึ่งเป็นผู้อาวุโสในชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ เป็นผู้ชำระภาษี อาศัยอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลป่าพลู ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านห้วยหละ ทำให้วิเคราะห์ได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวบ้านดอยช้างป่าแป๋เคยเป็นหย่อมบ้านหนึ่งของหมู่บ้านดังกล่าว แสดงให้เห็นความสัมพันธ์กับหมู่บ้านข้างเคียงและการรับรองว่าเป็นผู้คนในชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋เป็นพลเมืองของรัฐมีหน้าที่ที่ต้องชำระภาษี ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งยืนยันว่าชุมชนได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้มาแล้วมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี
ภาพที่ 8 สื่อนำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บข้อมูลชุมชนประวัติศาสตร์ชุมชนมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์ สามารถอ้างอิงได้ตามหลักวิชาการเท่านั้น และถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่ม ทุกวัยภายในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ชุดประสบการณ์ที่แต่ละคนพบเจอในแต่ละช่วงเวลา เพื่อประกอบสร้างเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนให้ปรากฏชัดขึ้น เป็นการสร้างพื้นที่ทางสังคมให้ผู้คนได้เข้ามาเรียนรู้ ทำความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการจัดทำข้อมูลประวัติศาสตร์และแนวคิดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ขณะเดียวกันยังส่งเสริมให้เกิดการค้นหาข้อมูลและคำตอบในประวัติศาสตร์ของชุมชนที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับชุมชน หน่วยงาน องค์กรภายนอก ซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อดำรงอยู่ของชุมชนทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมไปพร้อมกันด้วย
3. การจัดเก็บข้อมูลการบริหารจัดการระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ชุมชนชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มักมีการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยดำรงวิถีชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ขณะเดียวกันปัจจุบันชุมชนชาติพันธุ์หลายแห่งเผชิญกับการถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุของการทำลายป่าไม้ ก่อให้เกิดความเสียหายและสร้างมลภาวะ โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการเกิดปัญหาหมอกควัน อย่างไรก็ดี ภายใต้การขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จึงได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษา เก็บข้อมูลการบริหารจัดการระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเป็นข้อมูลที่จะแสดงให้เห็นมิติของประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ มิติการบริหารจัดการเพื่อการอนุรักษ์ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นข้อมูลที่จะช่วยยืนยันและแสดงให้เห็นศักยภาพความสามารถของชุมชนชาติพันธุ์ต่อการอยู่ร่วมกับผืนป่าได้สมดุลและยั่งยืน
ภาพที่ 9 Infographic แสดงข้อมูลจุดวางถังน้ำแนวกันไฟรอบพื้นที่ชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋
ดังปรากฏการจัดเก็บและบริหารข้อมูลของชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ โดยกลุ่มเยาวชนภายในชุมชนที่ได้เดินทางออกไปสำรวจจำนวนพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ และใช้เครื่องมือ GPS ในระบุพิกัดตำแหน่งพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ทำให้สามารถออกแบบและวางแผนการวางถังน้ำและระบบท่อน้ำเป็นแนวโดยรอบขอบเขตพื้นที่ของชุมชน และได้มีการติดตั้งกล้อง IP camera เพื่อใช้ในเฝ้าระวัง ป้องกันการเกิดไฟป่า แสดงให้เห็นศักยภาพของชุมชนในการผสมผสานองค์ความรู้ภายในชุมชนและภายนอกชุมชนในการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าของชุมชน การจัดเก็บข้อมูลการบริหารจัดการระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ จึงชี้ให้เห็นประโยชน์ของการจัดเก็บและบริหารข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ออกแบบและวางแผนบริหารจัดทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
4. การจัดเก็บข้อมูลไร่หมุนเวียน การขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เป็นแนวคิดและแนวทางสำคัญที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาการแก้ไขปัญหาสิทธิในการทำกินของชุมชนชาติพันธุ์ตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา โดยเฉพาะประเด็นการทำไร่หมุนเวียนที่มีข้อถกเถียงและมักถูกเข้าใจว่าเป็นการทำเกษตรที่ทำลายทรัพยากรป่าไม้ ทำให้รัฐมีนโยบายและมาตรการในการควบคุมและห้ามชุมชนชาติพันธุ์ทำไร่หมุนเวียน เกิดเป็นความขัดแย้ง ไม่เข้าใจกันระหว่างชุมชนชาติพันธุกับหน่วยงานรัฐด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลต่อการอธิบายขอบเขตการใช้พื้นที่และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจากการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์ การขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จึงได้ออกแบบและพัฒนาแนวทางการจัดเก็บข้อมูลภาพรวมจำนวนแปลงและพื้นที่การทำไร่หมุนเวียนของชุมชนที่มีการเปิดพื้นที่ในแต่ละปี ซึ่งจะแสดงให้เห็นความแตกต่างของจำนวนพื้นที่ ขนาดพื้นที่รายแปลงและผู้เข้าไปใช้ประโยชน์ การจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวจะนำเสนอให้เห็นว่าการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์นั้นสามารถวางแผนบริหารจัดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้ หากมีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ผลจากการจัดเก็บและนำเสนอข้อมูลด้วยวิธีการดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการสื่อสารสร้างความเข้าใจและยอมรับร่วมกันว่าการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์ แม้จะมีขั้นตอนกระบวนการของตัดไม้เพื่อเปิดพื้นที่ทำไร่ แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ขึ้นเป็นจำนวนน้อยในแต่ละรอบปี ไม่ได้เป็นการตัดไม้ทำลายป่าให้หมดไปตามความเข้าใจเดิมของสังคมและบุคคลภายนอก
ภาพที่ 10 Infographic แสดงข้อมูลพื้นที่แปลงไร่หมุนเวียนโดยรวมของชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋
ภาพที่ 11 Infographic แสดงข้อมูลการเปิดพื้นที่แปลงไร่หมุนเวียนปี 2565 ของชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บข้อมูลแปลงไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์จำเป็นต้องมีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทราบจำนวนการเปิดพื้นที่แปลงถูกต้อง สอดคล้องกับการเข้าไปใช้ประโยชน์จริง เนื่องจากแม้ชุมชนจะมีการจัดทำข้อมูลภาพรวมจำนวนแปลงไร่หมุนเวียนของชุมชนทั้งหมดไว้แล้ว แต่ภายใต้สภาพบริบท เงื่อนไขของแต่ละครอบครัวทำให้พบว่าบางปีพื้นที่ที่ระบุว่าเป็นแปลงไร่หมุนเวียนอาจไม่มีการเข้าไปใช้ประโยชน์ และบางแปลงอาจถูกปล่อยให้เป็นพื้นที่ป่าถาวร ดังนั้นการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยคนในชุมชนเป็นผู้ดำเนินการสำรวจ จัดเก็บ วิเคราะห์ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นด้วยตนเอง
5. การจัดเก็บข้อมูลการดูดซับคาร์บอนของพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ได้ให้ความสำคัญต่อการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลที่จะบ่งชี้ให้เห็นศักยภาพและความสามารถของชุมชนชาติพันธุ์ในการอยู่ร่วมกับผืนป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน จึงได้มีการพัฒนาแนวทางการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการดูแลระบบนิเวศ โดยใช้แนวทางการวิเคราะห์ข้อมูลการกักเก็บและดูดซับคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมในในพื้นที่คุ้มครองิวถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น การจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำไร่หมุนเวียน, การจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตออกซิเจนของผืนป่าโดยรอบชุมชนที่ได้มีการดูแล รักษาตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชุมชนชาติพันธุ์ เป็นต้น ดังปรากฏข้อมูลการการปล่อย carbon footprint จากการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ในปี 2565 ที่มีการเปิดพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนจำนวน 24 แปลง 114 ไร่ พบว่า มีการปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเผาเพื่อเปิดพื้นที่ทำไร่จำนวน 861.10 ตันคาร์บอน/ปี ขณะเดียวกันหากเปรียบเทียบกับการกักเก็บและดูดซับคาร์บอนของพื้นที่ป่าโดยรอบชุมชนที่มีการดูแลและอนุรักษ์พบว่า พื้นที่ป่าโดยรอบมีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนมากถึง 4,341,108 ตันคาร์บอน แสดงให้เห็นว่ากระบวนเผาเพื่อทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ก่อให้มลพิษที่จะก่อให้เกิดความเสียหายและสร้างผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ
ภาพที่ 12 Infographic แสดงข้อมูลการกักเก็บและดูดซับคาร์ของชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋
ภาพที่ 13 Infographic แสดงข้อมูล carbon footprint ของการทำไร่หมุนเวียนชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋ปี 2565
ดังนั้นการสำรวจ จัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จึงมีความสำคัญต่อการอธิบายและนำเสนอให้เห็นเรื่องราววิถีการดำรงชีวิต แนวทางการดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งมีการพัฒนาวิธีการจัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็ได้มีการออกแบบรูปแบบการนำเสนอที่มุ่งสื่อสารให้เกิดความรู้ ความเข้าใจกับผู้คนภายในชุมชนและภายนอกชุมชน ตลอดจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกับหน่วยงาน องค์กรภายนอก ได้
บทเรียนสำคัญจากการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
1) การพัฒนาแนวคิดสิทธิรวมหมู่ (Collective Right) พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองเรื่องขอบเขตหรืออาณาบริเวณของชุมชนชาติพันธุ์ โดยมองว่าพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาติพันธุ์ไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินในลักษณะของการครอบครองเชิงปัจเจก แต่เป็นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต วัฒนธรรม การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติพันธุ์ทั้งในลักษณะของการหาอยู่หากิน การเคารพนอบน้อมต่อธรรมชาติแสดงผ่านการปฏิบัติตามหลักจารีตและแบบแผนพิธีกรรมที่แสดงให้เห็นจิการดำรงไว้ซึ่งจิตวิญญาณของความเป็นชาติพันธุ์ ตลอดจนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืนบนหลักคิดสิทธิรวมหมู่ (Collective Right) ไม่ใช่สิทธิของปัจเจกชน
2) การพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ส่งเสริมให้เกิดแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม ไม่ได้มุ่งสร้างสิทธิการครอบครองเชิงปัจเจก โดยมองว่าการดำรงอยู่ของชุมชนชาติพันธุ์ต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการรักษา ฟื้นฟู คุ้มครองวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และทรัพยากรธรรมชาติภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ชุมชนและท้องถิ่น เนื่องจากพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์จะมีพื้นที่ที่ติดต่อ เกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับชุมชนรอบข้าง โดยมักปรากฏในลักษณะของการใช้ประโยชน์ในที่ดินและทรัพยากรที่มีอยูร่วมกัน รวมถึงความสัมพันธ์กับหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่กำกับ ควบคุมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่มีระเบียบ มาตรการ ทางกฎหมายควบคุมกำหนด อย่างไรก็ดีในด้านการปกครอง การประกาศพื้นที่คุ้มครองบางแห่งจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเขตการปกครองหลายพื้นที่ทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสื่อสาร สร้างการรับรู้ และความเข้าใจต่อการกำหนดระเบียบ กติตา และแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์กัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งของผู้คน หน่วยงาน องค์กร ที่ร่วมกันในพื้นที่
3) การเสริมพลังอำนาจชุมชน (Empowerment) พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ความสำคัญกับการเสริมอำนาจแก่ชุมชน (Empowerment) โดยใช้กระบวนการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและส่งเสริมพลังอำนาจชุมชน ดังนี้
3.1) การใช้เครื่องมือ 7 ชิ้น ในการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลชุมชน เป็นกระบวนการส่งเสริมศักยภาพชุมชนให้มีความรู้ ความเข้าใจและทักษะในการจัดเก็บข้อมูลชุมชนด้วยตนเอง โดยมุ่งให้ชุมชนสามารถสืบค้นข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชน ผังเครือญาติที่แสดงให้เห็นระบบความสัมพันธ์ของผู้คน การจัดทำแผนที่เดินดิน เพื่อสำรวจขอบเขตทางกายภาพและความสัมพันธ์ของผู้คนกับพื้นที่ ปฏิทินชุมชนเป็นเครื่องมือพื้นฐานต่อการศึกษา ทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับกิจกรรมทางประเพณี วัฒนธรรมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน อย่างไรก็ตามเนื่องจากชุมชนชาติพันธุ์ไม่เคยจัดการข้อมูลด้วยตนเองมาก่อน ดังนั้นการนำเครื่องมือ 7 ชิ้นมาปรับใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยชุมชนเห็นคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการข้อมูลชุมชน
3.2) ข้อมูลแผนที่แสดงขอบเขตทางกายภาพ เป็นองค์ประกอบสำคัญของการดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากแผนที่จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่แสดงให้เห็นขอบเขตทางกายภาพรายละเอียดขนาด รูปแบบการใช้ประโยชน์ การบริหารจัดการตามวิถีวัฒนธรรมและการดำรงชีวิต ครอบคลุมพื้นที่ 5 ประเภท ดังนั้นชุมชนจึงต้องเห็นความสำคัญของการจัดการข้อมูลแผนที่ โดยร่วมกันเดินสำรวจและจัดทำข้อมูลด้วยการใช้เครื่องจีพีเอส (GPS) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีมาตรฐาน สามารถระบุพิกัดพื้นที่ในรูปแบบของข้อมูลแผนที่ shapefile และประมวลผลเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการนำไปใช้เพื่อยืนยันสิทธิของชุมชนและต่อรองในระดับนโยบาย
จากการนำเสนอรูปธรรมต้นแบบการพัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และบทเรียนจากการดำเนินงานที่เกิดขึ้น จึงชี้ให้เห็นว่ากระบวนการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หมวด 5 นั้น เป็นการกระบวนการดำเนินงานที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งและภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมของชุมชนชาติพันธุ์ ส่งเสริมให้เกิดการตระหนักและเห็นคุณค่าต่อการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมั่นคงและยั่งยืน บนฐานการเคารพวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและการผสานความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อสื่อสาร สร้างการรับรู้ ยอมรับและเข้าใจชุมชนชาติพันธุ์มากขึ้น
ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นความหวังที่จะยกระดับหลักการและแนวปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยงเมื่อปี 2553 ให้ปรากฏชัดขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นความหวังในการเป็นเครื่องมือที่จะถูกนำมาใช้เพื่อการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการและบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ รวมถึงการส่งเสริมสิทธิใช้ประโยชน์และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ดีการมีมติไม่เห็นด้วยกับบทบบัญญัติมาตรา 27 ของสภาผู้แทนราษฎรจึงชวนให้เห็นถึงการสูญเสียโอกาสต่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการพัฒนาแนวทางอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติบนฐานการเคารพวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการข้อมูลชุมชนตามแนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งแสดงให้เห็นความพยายามในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติจากอำนาจรัฐส่วนกลาง เป็นการกระจายอำนาจที่เน้นการบริหารจัดการร่วมระหว่างชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐบนฐานการเคารพวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของชุมชนชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ซึ่งไม่ได้เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนหรือสถาปนาอำนาจในการปกครองตนเองเหมือนที่หลายฝ่ายกังวล
1 Thairath Plus. (2567). 28 ปีที่ต้องกลายเป็นผู้บุกรุกผืนดินตนเอง การต่อสู้ ความสูญเสีย และความฝันถึงบ้าน ของชาวปกาเกอะญอบางกลอย. สืบค้นจาก https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/104120
2 The Active. (2567). ประณาม!! ชายชุดดำทำลายไร่หมุนเวียน ชุมชนห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย. สืบค้นจาก https://theactive.thaipbs.or.th/news/rights-20240607
3 เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทย มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานมาช้านาน มีข้อมูลประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่สอดสัมพันธ์กับบริบทการเปลี่ยนแปลงของรัฐไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่นับรวมกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นแรงงานหรือผู้ที่ถือสัญชาติอื่นแล้วอพยพหรือย้ายถิ่นเข้ามาภายหลัง
4 การประกาศมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ได้กำหนดให้มีการประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ
เป็นหนึ่งในมาตรการฟื้นฟูระยะยาว ดำเนินการภายใน 1-3 ปี ภยใต้ประเด็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม โดยได้กำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยมีพื้นที่นำร่อง 4 พื้นที่ ได้แก่
1) บ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย 2) ตำบลไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี 3. บ้านหนองมณฑา (มอวาคี) ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ 4) บ้านเลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก
5 คณะกรรมธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาปฏิรูปขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ. ข้อเสนอเพื่อส่งเสริมชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์เข้มแข็ง:กรณีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล. กรุงเทพฯ: สำนักเลขาธิการ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2559.
6 นำเสนอในงานประชุมวิชาการมานุษยวิทยา 67 “ลบเลือน เคลื่อนที่ ทวีทบ” ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ปฏิสัมพันธ์ในสนามของเครือข่ายผู้กระทำการบนขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองชาติพันธุ์
7 ภัทร์ไพรบูลย์ เรือนสอนและคณะ. (2565). โครงการพัฒนาต้นแบบการจัดเก็บข้อมูลพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านดอยช้างป่าแป๋ ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
8 เครื่องมือ 7 ชิ้น เป็นเครื่องมือในการศึกษาและจัดเก็บข้อมูลชุมชน ประกอบด้วย 1) แผนที่เดินดิน
2) แผนผังเครือญาติ 3)โครงสร้างองค์กรชุมชน 4) การวิเคราะห์ทุนและศักยภาพชุมชน 5) ประวัติศาสตร์ชุมชน 6) ปฏิทินชุมชน 7) ประวัติชีวิต
ผู้เขียน
เจษฎา เนตะวงศ์
นักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ กฎหมายชาติพันธุ์ ชาติพันธุ์ พื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เจษฎา เนตะวงศ์