แสงดาว หรือ ท่าตะเคียน?: ว่าด้วยความทรงจำของชื่อชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก

 |  โบราณคดี และประวัติศาสตร์
ผู้เข้าชม : 1876

แสงดาว หรือ ท่าตะเคียน?: ว่าด้วยความทรงจำของชื่อชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก

ความนำ

           การตั้งชื่อบ้านนามเมือง อันต้องสัมพันธ์อยู่กับการรับรองของราชการไทยนั้นมักเกิดปัญหาอยู่บ้าง โดยแต่ละพื้นที่มีระดับความเข้มข้นแตกต่างกันไป อย่างเช่น ในกรณีภาคเหนือ จังหวัดลำปาง เดิมชื่อ เขลางค์นคร ชื่อเรียกอย่างย่อ คือ เมืองลคร แต่กลับชื่อว่า ลำปาง เนื่องจากราชการไทย นำเอาชื่อพระธาตุประจำเมือง คือ พระธาตุลำปางหลวง มารวมกับชื่อเดิม กลายเป็น เมืองนครลำปาง ต่อมาถูกตัดคำว่า นคร จนกลายเป็นจังหวัดลำปางในปัจจุบัน โดยส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการสร้างความทรงจำของผู้คนในจังหวัดให้สัมพันธ์ต่อพระธาตุลำปางหลวงอย่างมาก (ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, 2556)

           ส่วนในกรณีภาคใต้ การตั้งชื่อบ้านนามเมืองของราชการไทยนั้นมีความเข้มข้นไปถึงระดับชื่อชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ จากรายงานของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ชื่อบ้าน นามเมือง ในพื้นที่ชายแดนใต้” ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิเอเชีย และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ใน พ.ศ.2557 พบว่า มีชุมชนมากกว่า 1,700 ชุมชนที่ได้รับการตั้งชื่อจากราชการไทย ด้วยความเข้าใจที่มีต่อวัฒนธรรมมลายูพื้นถิ่นและเรื่องราวความทรงจำของการตั้งชื่อชุมชนอย่างผิวเผิน โครงการฯ นี้จึงต้องการศึกษาภูมินามของชุมชนในสามจังหวัดชายแดนใต้เพื่อการขอเปลี่ยนชื่อชุมชนให้เกิดความสอดคล้องกันทางด้านวัฒนธรรมและภาษา โดยผลจากการดำเนินโครงการฯ สามารถขอเปลี่ยนชื่อชุมชนได้ทั้งหมด 10 ชุมชน ตัวอย่างเช่น หมู่บ้านบางเก่าทะเล อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เปลี่ยนเป็น “หมู่บ้านมืองาแบ ปาตา” หมู่บ้านบึงฉลาม อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เปลี่ยนเป็น “หมู่บ้านกูแบยู” หรือหมู่บ้านเงาะกาโป อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เปลี่ยนเป็น “หมู่บ้านกือปาลอบาตัส เกาะกาโป” (เลขา เกลี้ยงเกลา, 2557)

           อย่างไรก็ดี การตั้งชื่อบ้านนามเมืองใหม่ของชุมชนแห่งหนึ่ง ณ จังหวัดพิษณุโลก มีความแตกต่างออกไปจากทั้งสองกรณีในภาคเหนือและภาคใต้ข้างต้นอยู่บ้าง คือเป็นการขอเปลี่ยนชื่อชุมชนใหม่อันมาจากความต้องการของชุมชน โดยราชการไทยมิได้ตั้งชื่อบ้านนามเมืองให้ผิดไปจากความเป็นมาในอดีตหรือหรือมิสอดคล้องกับความหมายทางวัฒนธรรมของชุมชนแต่อย่างใด เหตุการณ์การเปลี่ยนชื่อใหม่ของชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2520 หรือเกือบ 50 ปีมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนชื่อใหม่ของชุมชนดังกล่าวจะยังคงดำเนินมาจนถึงวันนี้


รู้จัก: บ้านแสงดาวตะวันตก

           ชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน และอยู่ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือของตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 10 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองพิษณุโลกมายังชุมชนสามารถใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ด้วยการใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 126 (ถนนวงแหวนรอบเมือง) ทางหลวงหมายเลข 1086 และถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 2011 ทั้งนี้ ภายในชุมชนแห่งนี้มีสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา ไฟฟ้า และถนนปูนคอนกรีตอย่างครบครัน

           ชุมชนแห่งนี้มีจำนวนครัวเรือน 411 หลังคา และมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,180 คน แบ่งเป็นหญิง 614 คน และชาย 566 คน (องค์การบริหารส่วนตำบลจอมทอง, 2565, น. 6) โดยลักษณะการตั้งบ้านเรือนของชาวชุมชนนั้นจะวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ตามทิศทางไหลของแม่น้ำน่าน นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่าชุมชนมีสายสกุลหลัก ได้แก่ ตระกูลทิมจันทร์ ตระกูลจันทร์จ๋อย ตระกูลพรหมแต้ม ตระกูลอินทรชู ตระกูลปิ่นม่วง ตระกูลสังค์นาค ตระกูลคำเลิศ ตระกูลเพ็ชรนิล และยังพบว่า ทุกสายสกุลเกี่ยวดองและเครือญาติกันในทางใดทางหนึ่ง

           ส่วนการประกอบอาชีพของชาวชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกนั้น อาจแบ่งกลุ่มคนได้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชาวชุมชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ การทำนาเป็นหลัก และประกอบอาชีพเสริม คือ การรับจ้างทั่วไปและค้าขายสินค้าพื้นถิ่นภายในชุมชน ส่วนกลุ่มชาวชุมชนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ประกอบอาชีพหลากหลายกว่า ตั้งแต่ทำการเกษตร รับจ้างทั่วไป ทำธุรกิจ ทำงานเอกชน และรับราชการ ด้วยชาวชุมชนกลุ่มนี้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาระดับสูงในตัวจังหวัด ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ บางคนมีโอกาสเข้ารับการศึกษาจนจบระดับอุดมศึกษา

           ในด้านความเชื่อ ชาวชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกนับถือพุทธศาสนาเป็นหลัก โดยมีวัดประจำชุมชนคือ วัดท่าตะเคียน กับหลวงปู่ฤทธิ์(ริด) อดีตเจ้าอาวาสวัดในช่วงทศวรรษ 2440-2460 และมีความเชื่อเรื่องเทวาอารักษ์และผี อย่างเช่น การนับถือพระภูมิ เจ้าที่ กับผีบ้านผีเรือนผู้ปกปักรักษาเขตบ้านเรือน การนับถือเสื้อวัดทรงวัดผู้ปกปักรักษาวัดประจำชุมชน หรือการนับถือผีตาเพ็ชรตาก็อกผู้ช่วยเหลือเมื่อได้รับการร้องขอให้ช่วยค้นหาสิ่งของที่หายไปให้ได้กลับคืนมา

ภาพที่ 1 แผนที่ภูมิศาสตร์ชุมชนบ้านแสงดาวฟากตะวันตก

ที่มา: ดัดแปลงจาก Google Maps โดยผู้เขียน (2566)


รู้รากเหง้า: ชื่อและประวัติชุมชน

           จากเอกสารประวัติศาสตร์และคำบอกเล่าของชาวชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกสันนิษฐานได้ว่า ชุมชนนี้น่าจะมีอายุมากกว่า 150 ปี โดยบรรพบุรุษผู้ตั้งถิ่นฐานชุมชน คือ ชาวลาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาในคราวที่ราชสำนักนครหลวงเวียงจันทน์ในสมเด็จพระเจ้า ไชยเชษฐาธิราชที่ 5 หรือรู้จักในพระนามเจ้าอนุวงศ์ พ่ายแพ้สงครามต่อราชสำนักกรุงเทพมหานครในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ใน พ.ศ.2371 ชาวลาวเวียงจันทน์ผู้ถูกกวาดต้อนมานี้เดินทางโดยล่องแพมาตามแม่น้ำแควน้อย สายน้ำอันมีต้นกำเนิดจากทิวเขาหลวงพระบางและเพชรบูรณ์ในเขตตำบลน้ำกุ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก แล้วจึงมาออกยังสบแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย บริเวณชุมชนบ้านปากโทก ตำบลปากโทก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบัน

           เมื่อเดินทางล่องแพมาถึงเมืองพิษณุโลกแล้ว ชาวลาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้ก็ขึ้นฝั่งเพื่อบุกเบิกที่ดินทำกินและตั้งบ้านเรือนตลอดทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน โดยใช้ชื่อชุมชนร่วมกันว่า บ้านแสงดาว หากแต่สำหรับชาวชุมชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำและผู้คนบริเวณใกล้เคียงแล้วเรียกชื่อชุมชนฝั่งตะวันออกว่า บ้านแสงดาวตะวันออก และเรียกชื่อชุมชนฝั่งตะวันตกว่า บ้านแสงดาวตะวันตก

           อนึ่ง จากการสอบถามถึงที่มาของชื่อชุมชนบ้านแสงดาวจากชาวชุมชนผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 70 ปี ได้ข้อมูลตรงกันกับงานศึกษาเรื่อง วัฒนธรรมลุ่มน้ำน่าน ของจิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ (2554) กล่าวคือ ชื่อว่า แสงดาว มาจากคำว่า สอยดาว อันมาจากเรื่องมุขปาฐะเล่าสืบต่อกันมาในชุนชน พอสังเขปได้ว่า ครั้งหนึ่งมีหญิง 2 แม่ลูก ผู้มีอาชีพทอผ้าอาศัยอยู่ ณ บริเวณที่ตั้งบ้านแสงดาวแห่งนี้ ในกลางดึกคืนหนึ่งขณะที่ผู้เป็นแม่กำลังนั่งทอผ้าอยู่นั้นก็มีดวงดาวลอยต่ำลงมาใกล้เธอ ทว่าลูกสาวของเธอซึ่งนอนอยู่ใกล้ผู้เป็นแม่เห็นดวงดาวก่อน ก็เกิดอยากได้ดวงดาวนั้นไว้เป็นของตน ยิ่งเมื่อดวงดาวลอยต่ำลงมาใกล้ ผู้เป็นลูกสาวจึงร้องไห้ขอให้แม่ของเธอนำดวงดาวมาให้ตน “ผู้เป็นแม่เมื่อเห็นลูกร้องไห้จึงเดินไปเพื่อที่จะสอยดาวให้ลูกสาว แต่ดาวนั้นก็ลอยไปเรื่อย ๆ ” จนกระทั่งหายลับสายตาไป (2554, น. 24)

           อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงประวัติของชุมชนบ้านแสงดาวทั้งสองฝั่งแม่น้ำน่านแล้ว จากเอกสารราชการเกี่ยวกับชุมชนเก่าสุดที่พบในขณะนี้ รายงานว่าบ้านแสงดาวตะวันออกและตะวันตกอยู่ในเขตการปกครองท้องที่ของตำบลปากโทก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านห่างขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร จนกระทั่งใน พ.ศ.2490 กระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศ “เรื่องตั้งตำบลในจังหวัดต่าง ๆ ” ใน ราชกิจจานุเบกษา ให้แบ่งเขตและตั้งตำบลใหม่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ในการนี้ พื้นที่บ้านแสงดาวตะวันตกได้รับการโอนมาเป็นหมู่ที่ 1 ของตำบลจอมทองซึ่งถูกตั้งขึ้นใหม่ (2490, 1237)

           ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พื้นที่บ้านแสงดาวตะวันออกและบ้านแสงดาวตะวันตกอยู่ในเขตการปกครองท้องที่คนละตำบล คือ ตำบลปากโทกและตำบลจอมทอง ตามลำดับ แต่ทว่าการแบ่งเขตการปกครองท้องที่ครั้งนี้มิได้ระบุการเรียกชื่อชุมชนบ้านแสงดาวให้จำเพาะลงไปว่า บ้านแสงดาวฝั่งใดอยู่ในเขตตำบลปากโทกและตำบลจอมทอง ดังนั้น ในการรับรู้ของส่วนราชการกระทรวงมหาดไทยและจังหวัดพิษณุโลก จึงรู้จักเพียงแค่บ้านแสงดาว ตำบลปากโทก กับบ้านแสงดาว ตำบลจอมทองมาจนถึงปัจจุบัน


รู้ศรัทธา: วัดและพระประจำชุมชน

           เมื่อชาวลาวเวียงจันทน์ตั้งชุมชนบ้านแสงดาวทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2370 เป็นต้นมาแล้ว มีความเป็นไปได้ว่า ชุมชนฝั่งตะวันออกคงมีผู้คนตั้งบ้านเรือนมากกว่าชุมชนฝั่งตะวันตก ดังจะเห็นจากการตั้ง วัดแสงดาว ขึ้นเป็นวัดประจำชุมชน ณ ชุมชนบ้านแสงดาวตะวันออก มาตั้งแต่อย่างน้อยในช่วงทศวรรษ 2400 (ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 7, 2531, น. 441-442; ขวัญเมือง จันทโรจนี, 2539, น. 15, 21; ธนานันต์ ทัศแก้ว, 2557, น. 33) เข้าใจว่า วัดแสงดาว คงเป็นศาสนาสถานที่ชาวชุมชนบ้านแสงดาวตะวันออกและบ้านแสงดาวตะวันตกดูแลและใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันเรื่อยมานับตั้งแต่ก่อตั้งวัดขึ้น

           ต่อมาในทศวรรษ 2430-2440 คงเป็นช่วงเวลาซึ่งชาวชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกร่วมกันสร้างวัดประจำชุมชนขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน วัดแห่งใหม่นี้ชื่อว่า วัดท่าตะเคียน ซึ่งจากคำบอกเล่าของชาวชุมชนถึงที่มาของชื่อวัดทำให้ทราบว่า ในอดีต ณ บริเวณหน้าวัดเคยมีต้นตะเคียนขนาดใหญ่อยู่ริมตลิ่ง แต่ด้วยการกัดเซาะตลิ่งของกระแสน้ำจากแม่น้ำน่าน ต้นตะเคียนที่ริมตลิ่งจึงล้มลงไปในแม่น้ำน่านในที่สุด (จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ, 2554, น. 24; กฤชกร กอกเผือก, 2557, น. 4) ไม่นานวัดท่าตะเคียนจึงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ.2448 โดยในขณะนั้นมีพระปลัดริด ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและ “เจ้าอธิการหมวด” แห่งคณะสงฆ์เมืองพิษณุโลก (สจช.ร.5/39) ด้วยเหตุนี้ จึงพอจะกล่าวได้ว่า วัดท่าตะเคียนถือเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งแห่งสังฆมณฑลพิษณุโลกในฐานะส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในช่วงทศวรรษ 2440 เป็นต้นมา

ภาพที่ 2 วัดแสงดาว แห่งชุมชนบ้านแสงดาวตะวันออก

ภาพที่ 3 วัดท่าตะเคียน แห่งชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตก

ที่มา: ภาพถ่ายโดยทชากร กอกเผือก (2566)


           จากการสอบถามชาวชุมชนถึงประวัติความเป็นมาของพระปลัดริด อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าตะเคียน ผู้มีชีวิตอยู่เมื่อ 100 ปีกว่าก่อน ชาวชุมชนให้ข้อมูลว่าท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสแห่งวัดแห่งนี้ เป็นพระสงฆ์ผู้มีวาจาสิทธิ์ มีความรู้ตำรายาโบราณ เช่น การต้มน้ำมันว่านสมุนไพรรักษาโรค และที่สำคัญคือ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ อย่างเช่น ท่านสามารถยิงหนังกระติ๊กด้วยกระสุนดินเหนียวจากกุฏิซึ่งยกพื้นสูงไปในทางตรง แล้วกระสุนดินเหนียวนั้นจะวิ่งโค้งกลับมายังหมาวัดใต้ถุนกุฏิที่กำลังกัดกันอยู่

           อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามเพิ่มเติมว่าข้อมูลเหล่านี้รู้ได้อย่างไร ชาวชุมชนจึงเล่าว่า หลวงพ่อบัวลอย อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าตะเคียนในช่วงทศวรรษ 2520 ได้นำเรื่องนี้มาเล่าให้ชาวชุมชนรู้ หลังจากที่ในคืนหนึ่งพระปลัดริดได้มาเข้าฝันและเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ของพระปลัดริดให้ท่านรู้ นับตั้งแต่นั้นมาเรื่องราวของพระปลัดริดจึงเริ่มเป็นที่รู้จักขึ้นในชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตก กอปรกันกับในช่วงเวลาเดียวกันนั้น หลวงพ่อบัวลอยยังดำริและจัดงานปริวาสกรรม ขึ้น ณ วัดท่าตะเคียน จึงเป็นเหตุให้มีพระสงฆ์เดินทางเข้ามาร่วมจากทั่วสารทิศ นายสมพงษ์ ชาวชุมชนวัย 58 ปี เล่าว่า การจัดงานปริวาสกรรมในตอนนั้นมีพระสงฆ์มาอยู่ที่วัดท่าตะเคียนกันนับร้อยรูป จึงเป็นไปได้ว่าเรื่องราวของพระปลัดริดได้เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้มีศรัทธาทั่วไปมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งใน พ.ศ.2533 คณะสงฆ์ ชาวชุมชน และผู้มีศรัทธาทั่วไป ร่วมแรง ร่วมใจ และร่วมปัจจัยในการสร้างรูปหล่อและวิหารสำหรับประดิษฐานหล่อพระปลัดริดขึ้นใน พ.ศ.2533 จากนั้นก็มีการสร้างรูปหล่อพระปลัดริดองค์เล็กขึ้นสำหรับผู้มีศรัทธา หลังจากเหตุการณ์นี้ พระปลัดริดแห่งวัดท่าตะเคียนจึงเป็นที่รู้จักและรับรู้ในฐานะพระเกจิรูปสำคัญแห่งเมืองพิษณุโลก แต่สำหรับชาวชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกแล้ว พระปลัดริดเป็นที่รู้จักและรับรู้ในฐานะ “หลวงปู่ฤทธิ์” (การเขียนของชาวชุมชนในปัจจุบัน) ผู้ให้การปกปักรักษาแก่ลูกหลานชาวชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกทุกคน


รู้เหตุผล: ชื่อชุมชนและการเปลี่ยนแปลง

           ในช่วงทศวรรษ 2520 อันเป็นเวลาเดียวกันกับการเริ่มเป็นที่รู้จักและรับรู้ของหลวงปู่ฤทธิ์และวัดท่าตะเคียนในวงกว้างของหมู่ผู้มีศรัทธา โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียงนั้น ได้เกิดความคิดริเริ่มเปลี่ยนแปลงชื่อชุมชนชนจาก “บ้านแสงดาว” (ชื่อในเอกสารกระทรวงมหาดไทย) เป็น “บ้านท่าตะเคียน” โดยชื่อใหม่ของชุมชนนี้นำมาจากชื่อวัดท่าตะเคียน ซึ่งเป็นวัดประจำชุมชน จากการสอบถามชาวชุมชนถึงสาเหตุของการเปลี่ยนชื่อชุมชนข้างต้นจึงทำให้ทราบถึงมูลเหตุว่า ในการเปลี่ยนชื่อชุมชนจาก “บ้านแสงดาว” เป็น “บ้านท่าตะเคียน” เพราะการป้องกันความสับสนและความเข้าใจผิดให้แก่บุคคลภายนอก เมื่อต้องการเดินทางมายังชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกแห่งนี้ ผู้ซึ่งอาจมิทราบว่าบ้านแสงดาวมีทั้งชุมชนที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน

           ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงเส้นทางคมมาคมจากตัวเมืองพิษณุโลกเพื่อมายังชุมชนบ้านแสงดาวตะวันออกและตะวันตกในช่วงทศวรรษ 2520 แล้วอาจทำให้เข้าใจถึงเหตุผลในการป้องกันความสับสนและความเข้าใจผิดของบุคคลภายนอก ผู้ต้องการเดินทางมายังชุมชนแห่งนี้ กล่าวคือ ในการเดินทางเข้า-ออกชุมชนบ้านแสงดาวตะวันออกจะใช้ถนนทางหลวงหมายเลข 1086 ซึ่งดำเนินการสร้างแล้วเสร็จในช่วงทศวรรษ 2510 ส่วนชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกจะใช้ถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 2011 ซึ่งดำเนินการสร้างแล้วเสร็จในช่วง พ.ศ.2505 ฉะนี้ จึงพอจะกล่าวได้ว่า การเดินทางเข้า-ออกชุมชนบ้านแสงดาวทั้งสองฝั่งแม่น้ำ บุคคลภายนอกสามารถเลือกใช้ถนนเพื่อมุ่งหน้าไปยังชุมชนบ้านแสงดาวตะวันออกหรือตะวันตกตามที่บุคคลผู้นั้นต้องการจะไป แต่ทว่าหากบุคคลภายนอกมิทราบเรื่องการอยู่ของชุมชนบ้านแสงดาวตะวันออกหรือตะวันตก แล้วตัดสินใจใช้เส้นทางผิด ทางเดียวที่จะสามารถไปให้ถึงชุมชนได้ก็คือ จะต้องกลับมายังตัวเมืองพิษณุโลกเพื่อข้ามสะพานนเรศวร เหตุนี้จึงทำให้การเดินทางจากตัวเมืองพิษณุโลกไปยังชุมชนบ้านแสงดาว จากที่ควรมีระยะทางไป-กลับ 20 กิโลเมตร ก็จะกลายเป็นมีระยะทางไป-กลับ 40 กิโลเมตรโดยประมาณ

           ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากมูลเหตุเรื่องสภาพการคมมาคมดังกล่าวข้าวต้นแล้ว การที่ชุมชนบ้านแสงดาวตะวันออกเป็นที่ตั้งของวัดแสงดาวก็น่าจะเป็นอีกมูลเหตุหนึ่ง อันมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนชื่อชุมชนจาก “บ้านแสงดาว” เป็น “บ้านท่าตะเคียน” ของชุมชนชนบ้านแสงดาวตะวันตก กล่าวคือ การที่ชุมชนบ้านแสงดาวตะวันออกเป็นที่ตั้งของวัดแสงดาวนั้นคงเอื้อต่อการรู้จักและการรับรู้ของบุคคลภาคนอกถึงการมีอยู่ของชุมชนแห่งนี้ ซึ่งมีชื่อเดียวกันกับวัดประจำชุมชนมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกที่มีวัดท่าตะเคียนเป็นวัดประจำชุมชน กอปรกับเมื่อพิจารณาควบคู่กับการแบ่งเขตการปกครองท้องที่แบ่งแยกให้ชุมชนบ้านแสงดาวตะวันออก ขึ้นอยู่กับตำบลปากโทก และให้ชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกขึ้นอยู่กับตำบลจอมทอง โดยมิได้ระบุชื่อชุมชนให้ความจำเพาะลงไปว่าอยู่ฝั่งใดของแม่น้ำ เช่นเดียวกับที่ชาวชุมชนและผู้คนบริเวณใกล้รับรู้ เพื่อการรับรู้ของบุคคลภายนอกด้วยแล้ว

           ด้วยมูลเหตุทั้งเรื่องสถาพการคมมาคมและการที่ชุมชนบ้านแสงดาวตะวันออกเป็นที่ตั้งของวัดแสงดาวข้างต้นนี้ จึงพอให้เข้าใจได้ว่า การนำชื่อของวัดท่าตะเคียน อันเป็นวัดประจำชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตก ซึ่งกำลังเริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกว้าง ผ่านเรื่องเล่าของหลวงปู่ฤทธิ์ อดีตเจ้าอาวาศวัดเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว และกิจกรรมทางศาสนาของคณะสงฆ์ของวัดที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดทศวรรษ 2520 นั้น มาใช้เป็นชื่อใหม่ของชุมชน ด้วยความปรารถนาให้ชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกเป็นที่รู้จักและรับรู้ในลักษณะเดียวกันกับที่ชุมชนบ้านแสงดาวตะวันออก ซึ่งชุมชนและวัดประจำชุมชนมีชื่อเดียวกัน เหตุเหล่านี้เอง นับตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้น ชุมชนบ้านแสงดาวตะวันออก จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ชุมชนบ้านท่าตะเคียน”


รู้ปัญหา: ผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนชื่อชุมชน

           นับได้ว่าเป็นเวลาเกือบ 50 ปีแล้วที่ชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกเปลี่ยนชื่อเป็นชุมชนบ้านท่าตะเคียน แต่กระนั้น ในการรับรู้ของราชการไทยชื่อ “บ้านท่าตะเคียน” ก็ยังคงมิได้มีการรับรองจากหน่วยงานราชการที่ดูแลเรื่องการปกครองท้องที่ ตัวอย่างเช่น อำเภอเมืองพิษณุโลก ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ เกิดความไม่สอดคล้องกันในการใช้ชื่อชุมชนทั้งชื่อบ้านแสงดาวและบ้านท่าตะเคียนปรากฏอยู่ในชุมชนหลายแห่ง

           ตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นทศวรรษ 2540 มีการตั้ง “ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าตะเคียน” และ “ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านท่าตะเคียน” ภายใต้การดำเนินงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมาใน พ.ศ.2549 มีการประกาศกำหนดเขตตำบลของกระทรวงมหาดไทย โดยตำบลจอมทอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกมี 9 หมู่บ้าน และชื่อหมู่บ้านที่ 1-3 ชื่อว่า บ้านแสงดาว (2549, น. 51-52) หรือใน พ.ศ.2559 มีการจัดตั้งโรงน้ำดื่มประชารัฐ กองทุนหมู่บ้านแสงดาว ซึ่งได้รับงบประมาณจากโครงการเพิ่มความเข็มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ และเมื่อไม่นานมานี้ ใน พ.ศ.2565 องค์การบริหารส่วนตำบลจอมทองได้ประกาศใช้แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566-2570) โดยเรียกพื้นที่ชุมชนบ้านแสงดาวตะวันตกทั้ง 3 หมู่บ้านว่า “บ้านท่าตะเคียน”

ภาพที่ 4 ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านท่าตะเคียนและศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านท่าตะเคียนจัดตั้งต้นทศวรรษ 2540

ภาพที่ 5 โรงน้ำดื่มประชารัฐ กองทุนหมู่บ้านแสงดาว จัดตั้ง พ.ศ.2559

ที่มา: ภาพถ่ายโดยทชากร กอกเผือก (2566)

ภาพที่ 6 แผนที่ตำบลจอมทอง

ที่มา: แผนพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ.2566-2570) ขององค์การบริหารส่วนตำบลจอมทอง


           ยิ่งไปกว่านั้น ในแง่ความทรงจำของชาวชุมชนที่มีต่อชื่อบ้านแสงดาวตะวันตก อันสัมพันธ์อยู่กับเรื่องเล่าและประวัติความเป็นมาของชุมชน โดยเฉพาะเรื่องเล่าเกี่ยวกับบรรพบุรุษของชุมชนเป็นชาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมานั้นนับวันก็เป็นที่รับรู้กันน้อยลงทุกที ชาวชุมชนที่มีอายุมากกว่า 80 ปี ผู้มักกล่าวถึงชุมชนในชื่อบ้านแสงดาวอยู่เสมอ และสามารถเล่าเรื่องราวและความเป็นมาของชุมชนก็เหลือเพียงไม่กี่ท่าน ส่วนชาวชุมชนที่มีอายุระหว่าง 60-70 ปี แม้ว่าจะยังมีอยู่หลายท่าน แต่ส่วนใหญ่ก็มักกล่าวถึงชื่อบ้านท่าตะเคียนมากกว่า เนื่องจากเหตุการณ์การเปลี่ยนชื่อชุมชนนั้นท่านทั้งหลายยังอยู่อายุราว 10 กว่าปีเท่านั้น ส่วนชาวชุมชนที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี จะกล่าวถึงชื่อชุมชนบ้านท่าตะเคียนเพียงชื่อเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อท่านเกิดมาและโตขึ้นจนสามารถจำความได้ก็รับรู้แล้วว่าชุมชนที่ตนอาศัยอยู่นั้นชื่อว่า ชุมชนบ้านท่าตะเคียน

           ด้วยเหตุนี้ จึงพอเข้าใจได้ว่าเหตุใดชาวชุมชนที่มีอายุน้อยกว่า 80 ปี จึงมักเล่าเรื่องราวและประวัติชุมชนด้วยเรื่องราวของวัดท่าตะเคียนและเรื่องเล่าของหลวงปู่ฤทธิ์ แทนที่จะเล่าเรื่องราวและประวัติชุมชนด้วยเรื่องราวของการเป็นลาวเวียงจันทน์ผู้ถูกกวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐาน ณ ที่แห่งนี้ เหมือนที่ชาวชุมชนที่มีอายุมากกว่า 80 ปี มักเล่าถึง

           ทุกวันนี้ เรื่องราวของวัดท่าตะเคียนและเรื่องเล่าของหลวงปู่ฤทธิ์ได้กลายเป็นความทรงจำหลักของชาวชุมชนบ้านท่าตะเคียนเกือบทุกท่านแล้ว


บรรณานุกรม

กฤชกร กอกเผือก. (2557). ประวัติหมู่บ้าน “ท่าตะเคียน หมู่ที่ 1” ตำบลจอมทอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก. ใน จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ (บก.), นานาประวัติตระกูล เล่ม 3 (น. 3-17). พิษณุโลก: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

ขวัญเมือง จันทโรจนี, (บก.). (2539). เอกสารสัมมนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือตอนล่าง. พิษณุโลก: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ. (2554). วัฒนธรรมลุ่มน้ำน่าน: สายน้ำ ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความทรงจำ. พิษณุโลก: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

ธนานันต์ ทัศแก้ว. (2557). ประวัติหมู่บ้าน “แสงดาว หมู่ที่ 6” ตำบลปากโทก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก. ใน จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ (บก.), นานาประวัติตระกูล เล่ม 3 (น. 32-46). พิษณุโลก: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และคณะ. (2566). ชุมชนที่เคลื่อนไหว: ทุนและความท้าทาย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. Anthropology of Memory. คำศัพท์ทางมานุษยวิทยา. สืบค้นวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2567. https://anthropology-concepts.sac.or.th/glossary/199.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบล ในท้องที่อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก (ฉบับที่ 2). (2549). ราชกิจจานุเบกษา 123(32 ง), 20-54.

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องตั้งตำบลในจังหวัดต่างๆ. (2490). ราชกิจจานุเบกษา 26(64), 1114-1433.

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (2556). ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของการเรียกชื่อเมืองเขลางค์ เวียงละกอน และลำปาง. มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ปริทัศน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, 1(1): 53-82.

เลขา เกลี้ยงเกลา. (2557). คืนชื่อดั้งเดิมหมู่บ้านชายแดนใต้ ชาวบ้านดีใจรักษาอัตลักษณ์ภาษามลายูของชุมชน. สืบค้นวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2567. https://www.isranews.org/content-page/item/27302-name_27302.html.

องค์การบริหารส่วนตำบลจอมทอง. (2565). แผนพัฒนาท้องถิ่น (2566-2570). ม.ป.พ.: ม.ป.ป. เอกสารสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร.5/39.


ผู้เขียน
กฤชกร กอกเผือก
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ชื่อชุมชน บ้านแสงดาว บ้านท่าตะเคียน ความทรงจำ จังหวัดพิษณุโลก กฤชกร กอกเผือก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share