ภาคประชาชนรุก ภาคนโยบายรับ : ความหวังและความท้าทาย ในสถานการณ์ชาติพันธุ์ ปี 2566
ท่ามกลางบริบทสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดปี 2566 ผู้คนในสังคมได้แสดงให้เห็นศักยภาพและความสามารถในการดิ้นรน ต่อสู้ ปรับตัวให้เท่าทันยุคหลัง โควิด (Post COVID) หลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับการเข้ามาแทนที่ความหวังใหม่ ๆ อย่างที่ไม่เคยปรากฏ เราต่างอยู่ในสังคมที่ได้ร่วมเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนและยอมรับในบางสถานการณ์ที่ไม่อาจควบคุมและจัดการได้ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ให้บทเรียนสำคัญแก่ผู้คนทุกช่วงวัย ทุกกลุ่มวัฒนธรรม ภาษา และชาติพันธุ์ที่หลากหลายในสังคม สิ่งสำคัญคือการได้เรียนรู้และเห็นความสำคัญของโอกาสที่มาพร้อมความหวังต่อการมีชีวิตอยู่บนการเคารพสิทธิและคุณค่าความเป็นมนุษย์ย่างเท่าเทียม ดังปรากฏการณ์เคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทยตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นการตระหนักในคุณค่าและศักดิ์ศรีต่อการนำเสนออัตลักษณ์และตัวตนของความเป็นชาติพันธุ์ สัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่มีทั้งความหวังและความท้ายใหม่ ๆ ที่เชื่อว่าจะจะนำพาไปสู่ทิศทางของการเปลี่ยนแปลงที่ดี ขณะเดียวกันในบางสถานการณ์ที่สัมพันธ์ต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ก็ตอกย้ำให้เห็นวังวนของปัญหาที่ยังเหยียบย้ำ ซ้ำอยู่ที่เดิม เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดที่ยังรอคอยการเปลี่ยนแปลง
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในฐานะองค์กรด้านวิชาการ ทำหน้าที่ศึกษา รวบรวมข้อมูล และพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนการขับเคลื่อนแนวนโยบายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตลุ่มชาติพันธุ์ จึงได้รวบรวมข้อมูล สถานการณ์ด้านชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2566 เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจปรากฏการณ์สังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่สัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนเป็นส่วนที่จะคอยย้ำเตือนให้เห็นว่าในบางสถานการณ์ก็มีอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดที่จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการอยู่ร่วมกันในสังคมบนฐานการเคารพและยอมรับในคุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม
การจัดทำรายงานสถานการณ์ชาติพันธุ์ปี 2566 นี้ ศึกษาจากเอกสารรายงานโครงการ รายงานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอบนโลกออนไลน์และสื่อสิ่งพิมพ์ นำเสนอให้เห็นสถานการณ์ที่เป็นความโดดเด่น ท้าทายและเหตุการณ์ที่ต้องเฝ้าติดตามต่อไปในปี 2567 ได้ดังต่อไปนี้
ความหวังและความท้าทายกับการขับเคลื่อนกฎหมายและนโยบายชาติพันธุ์
1. การผลักดันกฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
การผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 70 รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดํารงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย1 และแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่กำหนดให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยในช่วงต้นปี 2566 ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร ได้เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การมีพระราชบัญญัติดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ใน 3 ระดับคือ 1) ระดับประเทศ จะเป็นส่วนสำคัญต่อการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานภูมิปัญญาและศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ โดยมุ่งส่งเสริมความเข้าใจความแตกต่างและยอมรับความหลากหลายในวิถีวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ 2) ระดับสังคม ส่งเสริมให้สังคมเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมุ่งให้กลุ่มขาติพันธุ์มีศักยภาพในการดำรงชีวิตบนฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม 3) ระดับประชาชน แบ่งเป็นประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์จะได้รับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ปกป้องไม่ให้ถูกคุกคาม ดูถูกเหยียดหยามหรือเลือกปฏิบัติ สามารถดำรงชีวิตบนฐานภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรมของตน ตลอดจนได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการจากรัฐ และในส่วนของประชาชนทั่วไปจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงที่จะส่งผลกระทบอันเกิดจากความไม่เข้าใจในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์2
ภาพที่ 1 รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมาย ของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ....
หากพิจารณาในส่วนของรายละเอียดเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้พบว่าได้แบ่งโครงสร้างเนื้อหาออกเป็น 5 หมวดสำคัญ ได้แก่ หมวดที่ 1 ว่าด้วยเรื่องหลักการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หมวดที่ 2 ว่าด้วยเรื่องกลไกการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หมวดที่ 3 ว่าด้วยเรื่องกลไกการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ หมวดที่ 4 ว่าด้วยเรื่องการจัดทำข้อมูลวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ หมวดที่ 5 ว่าด้วยเรื่องการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
ภายหลังการเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าวเสร็จสิ้น ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรได้ดำเนินการจัดทำเอกสารรายงานร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์ด้านการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากได้มีการประกาศยุบสภาในวันที่ 20 มีนาคม 2566 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ส่งผลให้การดำเนินการยังคงต้องรอการประกาศให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมาพิจารณา ปัจจุบัน (เดือนธันวาคม 2566) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้ดำเนินการจัดทำเอกสารรายงานร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี ในปี 2566 ยังมีการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองและภาคประชาชนที่ร่วมกันผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยในช่วงเดือนสิงหาคมซึ่งถือเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองและรณรงค์ว่าด้วยสิทธิชนเผ่าเมืองสากล ได้มีพรรคการเมืองยื่นเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ...” เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร3 โดยนำเสนอให้เห็นว่าปัจจุบันประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยจำนวนกว่า 6 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงจำนวนกว่า 2 ล้านคน เผชิญกับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายของรัฐที่ถูกจำกัดสิทธิการพัฒนา สิทธิในสัญชาติ สิทธิในที่ดินและทรัพยากร ตลอดจนการดำรงวิถีชีวิต การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวจึงมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมมากขึ้น ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้ออกแบบให้โครงสร้างของกฎหมาย 3 ส่วน คือ 1) การรับรองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และการห้ามไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ หรือกระทำการใดที่นำไปสู่ความเกลียดชังหรืออคติ 2) การจัดโครงสร้างคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ และ 3) การประกาศเขตคุ้มครองพื้นที่วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตป่า ลดการจำกัดสิทธิการพัฒนา เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ
ภาพที่ 2 พรรคการเมืองยื่น พรบ.คุ้มครองสิทธิชาติพันธุ์ฯ ในวันชาติพันธุ์สากล ที่มาภาพ: สำนักข่าว green news
ทั้งนี้ในช่วงปลายปี 2566 ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการผลักดันกฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายสนับสนุน “ร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. ...” ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวถือเป็นร่างกฎหมายที่เกิดขึ้นจากการผลักดันของภาคประชาชนที่มีการลงชื่อสนับสนุนรวมกันมากกว่า 12,000 รายชื่อ เสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร4 สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ให้ความสำคัญกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง การส่งเสริมให้มีโครงสร้างและกลไกในการมีส่วนร่วมของชนเผ่าพื้นเมืองที่จะนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ปัญหาและกำหนดแนวทางการพัฒนา ตลอดจนการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองในรูปแบบของ “สภาชนเผ่าพื้นเมือง”
ภาพที่ 3 เครือข่ายสภาชนเผ่าพื้นเมืองแถลงข่าวขอบคุณประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่สนับสนุนให้มีการอภิปรายร่าง พรบ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง ที่มา: เพจ IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง
อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยังมีร่างกฎหมายอีก 1 ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินหรือไม่คือ “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ....” เสนอโดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (PMOVE) และเครือข่ายชาติพันธุ์ ลงชื่อสนับสนุนร่วมกันมากกว่า 16,000 รายชื่อ มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อการปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมวิถีวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนการสร้างแนวทางและกลไกลในการแก้ไขปัญหาที่กระทบกับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะสิทธิด้านการใช้ประโยชน์และจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วม
การขับเคลื่อนและผลักดันให้มีการประกาศใช้กฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ยังเป็นประเด็นที่สังคมต้องร่วมกันเรียนรู้และติดตามกระบวนการดำเนินงานของรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2567 ที่จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ ที่มีสัดส่วนของผู้แทนในการจัดทำร่างกฎหมายที่ถูกเสนอทุกฉบับ มาพิจารณาร่วมกัน เพื่อให้มีการประกาศใช้กฎหมายต่อไป
2. การขับเคลื่อนนโยบายด้านชาติพันธุ์ กับความท้าทายในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
การดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ในสังคมไทย นอกจากการผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์โดยการมีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐ พรรคการเมือง และภาคประชานแล้ว การขับเคลื่อนในด้านนโยบายเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เมื่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้มีดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566 – 2570)5 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแนวทางการเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันของคนทุกกลุ่มทั่วประเทศ สิ่งสำคัญของแผนฉบับนี้ได้เน้นย้ำให้เห็นว่าสังคมไทยประกอบด้วยประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย มีวิถีการดำรงชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่สอดคล้องสัมพันธ์กับระบบนิเวศและภูมิประเทศที่อยู่อาศัย แบ่งออกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง บนพื้นที่ราบ ในพื้นที่ป่า และกลุ่มที่อาศัยตามหมู่เกาะหรือชายฝั่ง รวมทั้งกลุ่มมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แผนดังกล่าวมีแนวทางหลักในการขับเคลื่อน คือ 1) เสริมสร้างให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุขบนการเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน 2) เสริมสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่ม 3) ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพให้กับทุกกลุ่มรวมทั้งให้ความสำคัญกับบทบาทสตรีในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาในหมู่บ้านและชุมชนที่อยู่อาศัย และ 4) เน้นให้มีการบริหารจัดการที่ตอบสนองต่อบริบททางสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างเข้าใจ ตลอดจนเสริมสร้างกลไกในการบูรณาการงานของภาครัฐในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ระดับอำนวยการ และระดับการปฏิบัติ ทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ การปรากฏขึ้นของแผนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) จึงเน้นย้ำให้เห็นว่ารัฐไทยได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นความพยายามที่จะพัฒนาโครงสร้างและกลไกการดำเนินงานเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม
ภาพที่ 4 เวทีประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
ภาพที่ 5 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ รองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาพีมูฟพบกลุ่มผู้ชุมนุม ที่มา: https://www.thaipost.net/public-relations-news/464708/
3. สานพลังการเมืองภาคประชาชนกับการขับเคลื่อนโยบายเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์
ภายใต้สถานการณ์ปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่ที่เผชิญกับปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยทับซ้อนพื้นที่อนุรักษ์หรือพื้นที่เอกชน ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์แสวงหาช่องทางนำเสนอข้อมูล สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการกำหนด ออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทสังคม วัฒนธรรม ดังปรากฏการออกมาเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ ‘P-Move’ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงและชาวเลในบางชุมชนได้เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว6 ได้แสดงให้เห็นพลังของการเมืองภาคประชาชนที่สามารถนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ความเดือดร้อนในระดับพื้นที่ต่อรัฐบาล ตลอดจนการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้มี “การคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชุมชนและชาติพันธุ์ในทุก ๆ ด้าน โดยขอให้เร่งลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ....”7
ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีได้มีการแต่งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ 3 คณะ ได้แก่ 1) คณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นพูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง 2) คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาขุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี 3) คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล การกำหนดให้มีโครงสร้างและกลไกการดำเนินงานของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยืนยันว่าการดำเนินงานเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จะดำเนินไปบนพื้นฐานการเคารพและยอมรับสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนถือเป็นกระบวนการสำคัญในการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทวิถีวัฒนธรรมของตน
4. พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ความหวังต่อการปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์
การขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ยังเป็นอีกหนึ่งแนวนโยบายที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และเครือข่ายองค์กรภาคี โดยในปี 2566 ได้ปรากฏการนำแนวคิดพื้นที่วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไปใช้ในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนชาติพันธุ์ 2 พื้นที่ ได้แก่ การจัดงานประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านหินลูกเดียว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 25668 และการจัดงานประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ในวันที่ 8-10 ธันวาคม 25669 ซึ่งในการจัดงานประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 2 แห่งนั้น ได้เน้นย้ำให้เห็นหลักการสำคัญของการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์คือการจัดทำข้อมูลชุมชนที่แสดงให้เห็นข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพื่อยืนยันหลักสิทธิชุมชนดั้งเดิม ตลอดจนการนำเสนอให้เห็นข้อมูลวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่แสดงให้เห็นความโดดเด่นและอัตลักษณ์ของความเป็นชุมชนชาติพันธุ์ การจัดทำข้อมูลพื้นที่ทางกายภาพของชุมชนให้ชัดเจน ประกอบด้วยพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ใช้ประโยชน์ พื้นที่พิธีกรรม และพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้สามารถเรียกรวมได้ว่าเป็น “พื้นที่จิตวิญญาณ” ของชุมชนชาติพันธุ์
ภาพที่ 6 หลักหมุดสัญลักษณ์การประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านหินลูกเดียว ที่มาภาพ: ผู้เขียน 26 พฤศจิกายน 2566
ภาพที่ 7 การจัดกิจกรรมประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ที่มาภาพ: ผู้เขียน 8 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ จำเป็นต้องมีการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญต่อการสร้างการรับรู้และการยอมรับจากทุกภาคส่วน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนชาติพันธุ์ สอดคล้องตามกรอบแนวคิดและหลักปฏิบัติของการเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกัน ดังนั้นการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จึงไม่ใช่หมุดหมายสุดท้ายที่จะเป็นเพียงสัญลักษณ์ของการเป็นพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองวิถีชีวิตวัฒนธรรม แต่เป็นกระบวนการสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานการเคารพและยอมรับสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่แสดงให้เห็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การทำงานและมุมมองที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะหุ้นส่วนสำคัญของการพัฒนามากกว่าการเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รอคอยการช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว
ปัจจุบัน (ปี 2566) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคี ดำเนินการผลักดันให้มีการประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์รวม 20 พื้นที่ชุมชน กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 15 ชุมชน พื้นที่ภาคกลางและตะวันตก จำนวน 3 ชุมชน และพื้นที่ภาคใต้จำนวน 2 ชุมชน
ภาพที่ 8 ภาพแผนที่แสดงชุมชนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ปี 2566 จำนวน 20 ชุมชน
ผลจากการดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ได้ก่อให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์จากการดำเนินงานในหลายระดับทั้งในด้านการสร้างชุดข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับชุมชนชาติพันธุ์ การพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งชุมชนชาติพันธุ์ การผลักดันให้เกิดโครงสร้างและกลไกการขับเคลื่อนในระดับนโยบาย ตลอดจนการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อสร้างการรับรู้และยอมรับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มและชุมชนชาติพันธุ์ อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ยังจำเป็นต้องมีการพัฒนากระบวนการดำเนินงานให้มีความชัดเจนทั้งในด้านการจัดทำระเบียบ ขั้นตอน การพัฒนาโครงสร้าง กลไกการดำเนินงานบนพื้นฐานการสร้างการรับรู้และยอมรับจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เป็นพื้นที่ที่สามารถส่งเสริมให้เกิดการเคารพและยอมรับในสิทธิทางวัฒนธรรม สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานเศรษฐกิจวัฒนธรรม ภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
5. วัฒนธรรมชาติพันธุ์สร้างสรรค์ นำการพัฒนาการสู่ความยั่งยืน
ตลอดระยะเวลาเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยได้ให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้นำเสนอตัวตนผ่านการบอกเล่าเรื่องราว การจัดกิจกรรมตามประเพณีความเชื่อ การแต่งกายและการใช้ภาษาที่หลากหลาย ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ตอกย้ำให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกันว่าสังคมไทยประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม การใช้ภาษา และวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่าง ดังปรากฏในช่วงเดือนมีนาคม 2566 กลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะได้จัดงานสืบสานวัฒนธรรมชนเผ่าละเวือะ ครั้งที่ 2 ณ บ้านละอูบ ต.ห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน10 การจัดงานดังกล่าวได้แสดงให้เห็นศักยภาพของกลุ่มชาตพันธุ์ละเวือะในการสืบทอดและดำรงประเพณี วิถีปฏิบัติในชีวิตตั้งแต่การเกิด การแต่งงาน การขึ้นบ้านใหม่ การตาย การทำไร่หมุนเวียน การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การแต่งกายและการใช้ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ การจัดกิจกรรมสืบสานวัฒนธรรมดังกล่าวยังถือเป็นการสร้างพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะที่กระจายตัวอยู่อาศัยในจังหวัดต่าง ๆ ได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ ภูมิปัญญา ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวภายในชุมชน แสดงให้เห็นการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์บนฐานภูมิปัญญา และเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมได้ร่วมเรียนรู้ อัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านการจัดงานสืบสานวัฒนธรรมชนเผ่าละเวือะ
ภาพที่ 9 บรรยากาศขบวนแห่ของเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ละเวือะ ในงานสืบสานวัฒนธรรมชนเผ่าละเวือะ ครั้งที่ 2 ณ บ้านละอูบ ที่มาภาพ: ศิวพงศ์ วงษ์คูณ
อย่างไรก็ดี ในเดือนสิงหาคม ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ร่วมกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จัดงานรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลกและวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 ภายใต้ธีม “พลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมสร้างสรรค์สังคมสู่การเปลี่ยนแปลง” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร11 เป็นการสร้างพื้นที่และโอกาสให้เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองจำนวน 46 กลุ่มจากทั่วประเทศ แบ่งเป็น ชนเผ่าพื้นเมืองจากภาคเหนือพื้นที่สูง ภาคเหนือพื้นที่ราบ ภาคกลาง ตะวันออกและตะวันตก ภาคอีสาน และภาคใต้ ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ภายใต้การออกแบบกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อเป็นพื้นที่ในการสื่อสารตัวตนและอัตลักษณ์ของชนเผ่าพื้นเมือง โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกสภาชนเผ่าพื้นเมืองแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าเข้าร่วมกิจกรรมตลอดทั้ง 3 วัน แสดงให้เห็นความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละชนเผ่า การจัดทำนิทรรศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้ภาษาของชนเผ่าพื้นเมืองในสังคม การทำอาหารชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชิมและเรียนรู้แหล่งที่มาของวัตถุดิบ ซึ่งมีความสัมพันธ์ของระบบนิเวศรอบตัวในพื้นที่ที่ชนเผ่าพื้นเมืองอยู่อาศัย ตลอดจนการละเล่นกีฬาชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อสร้างสีสันและความสนุกสนานภายในงาน
ภาพที่ 10 การจัดงานงานรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลกและวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่มาภาพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
การจัดงานครั้งนี้ยังได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ปัญหาที่เป็นข้อจำกัดในการดำรงชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย โดยพบว่า ปัจจุบันชนเผ่าพื้นเมืองโดยส่วนใหญ่ยังเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นข้อจำกัดต่อการดำรงชีวิตและวิถีวัฒนธรรม ทั้งในด้านการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การไม่มีสิทธิในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย การไม่ได้รับรองสิทธิสถานะบุคคลทำให้ประชากรชนเผ่าพื้นเมืองมากกว่า 500,000 คน ยังเป็นบุคคลไร้สถานะ ส่งผลต่อการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐ ปัญหาการสูญเสียตัวตนและอัตลักษณ์ วัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งในด้านการใช้ภาษา การขาดคนสืบทอดภูมิปัญญา วัฒนธรรม เป็นความเสี่ยงที่ส่งผลให้ชนเผ่าพื้นเมืองเหล่านั้นต้องสูญหาย รวมถึงปัญหาอคติที่มีต่อชนเผ่าพื้นเมืองทั้งจากสังคมทั่วไปและการปฏิบัติจากรัฐทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่ไม่ยอมรับในตัวตนและวัฒนธรรมที่หลากหลายของชนเผ่าพื้นเมือง
6. พิธีลอยเรือชาวเลอูรักลาโว้ย ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม
เดือนธันวาคม 2566 กระทรวงวัฒนธรรมได้มีการพิจารณาขึ้นบัญชีประกาศให้ประเพณีลอยเรืออูรักลาโว้ยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระดับชาติ ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล ประจำปี 256612 โดยเกิดจากการร่วมกันผลักดันของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูลและชุมชนชาติพันธุ์ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ที่ได้มีการศึกษารวบรวมข้อมูลและนำเสนอให้เห็นว่าประเพณีลอยเรือ เป็นประเพณีของชาวเล ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณหมู่เกาะแถบทะเลอันดามัน เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ อันเกี่ยวเนื่องกับตำนาน ความเชื่อ ความเป็นมา วิถีชีวิต และทุกอย่างของชาวเลอูรักลาโว้ย โดยพิธีลอยเรือจะจัดขึ้น 2 ครั้งต่อปี ในวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือน 6 และเดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ มีระยะเวลาในการจัดงานครั้งละ 3 วันเรือที่ใช้ในพิธีเรียกว่า “ปลาจั๊ก” หรือ “เปอลาจั๊ก” ทำจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “ยาน” ที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปอีกภพหนึ่ง ไม้ระกำทำหน้าที่นำเคราะห์โศกโรคภัยของสมาชิกในแต่ละครอบครัวเดินทางไปกับเรือ และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ที่จะให้วิญญาณบรรพบุรุษนำไปยังถิ่นฐานเดิมที่เรียกว่า “ฆูนุงฌีรัย” โดยมี “โต๊ะหมอ” ซึ่งเป็นผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรมของชาวเล มีความแม่นยำในพิธีการ ทำหน้าที่สื่อสารกับวิญญาณบรรพบุรุษ
ภาพที่ 11 พิธีลอยเรือของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย ที่มาภาพ: mgronline
การจัดกิจกรรมและการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการส่งเสริมอัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ปรากฏเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในสังคมไทย หากพิจารณาการจัดกิจกรรมเหล่านี้ในระดับพื้นที่จะพบว่ายังมีหน่วยงาน องค์กร และชุมชนชาติพันธุ์หลายแห่งได้ร่วมกันจัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวอย่างหลากหลาย สอดคล้องตามปฏิทินประเพณีของกลุ่มและชุมชนชาติพันธุ์ เช่น การจัดงานทำบุญข้าวใหม่ของชาวกะเหรี่ยงบ้านกะม่า ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จ.ราชบุรี วันที่ 23 ธันวาคม 256613 การจัดงานเทศกาลไทยลื้อ "โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ" ระหว่างวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2566 ณ วัดพระธาตุสบแวน ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา14 การจัดงานวันชุมชนกูยโลก วันที่ 29 เมษายน 2566 ณ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อสืบทอดอัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรมของชาวกูย15 เป็นต้น ความสำคัญของการส่งเสริมอัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ได้เน้นย้ำให้เห็นคุณค่าและความงดงามของความหลากหลายทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมไทย ซึ่งถือเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำพัฒนา ต่อยอด สร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านการส่งเสริมศักยภาพความเข้มแข็งภายในกลุ่มชาติพันธุ์ การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรมภูมิปัญญากลุ่มชาติพันธุ์ สอดคล้องตามแนวนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่มุ่งส่งเสริมศักยภาพ soft power ด้านวัฒนธรรม ภายใต้หลักการ 5F (Fight, Food, Festival, Film, Fashion) โดยมุ่งให้เกิดการแสวงหา และนำเอามรดกภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์มาใช้เป็นพลังสร้างสรรค์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างรายได้และความมั่นคงทางอาชีพ ตลอดจนใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร สร้างการยอมรับและความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์
วังวน ซ้ำเดิม คืบหน้าแต่ไม่เห็นผล...การกลับบ้าน “ใจแผ่นดิน” ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย
ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกให้ย้ายถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมใจกลางผืนป่าแก่งกระจานหรือที่เรียก “ใจแผ่นดิน” มาอยู่บางกลอยล่าง หมู่บ้านโป่งลึก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ใหม่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับบริบทสังคม และระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป แม้รัฐจะมีการจัดสรรที่ดินผืนใหม่ให้อยู่อาศัยและทำกิน แต่ก็ไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันยังพบว่าผืนดินที่ได้รับการจัดสรรใหม่นั้นไม่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ไม่สามารถเพาะปลูกหรือทำการเกษตรตามวิถีได้ ในปี 2564 ที่ผ่านมา ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยจึงมีความพยายามที่จะกลับไปอยู่อาศัยและทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิม ณ บริเวณ “ใจแผ่นดิน” ผืนแผ่นดินดั้งเดิมที่จากมา
ภาพที่ 12 สะพานข้ามแม่น้ำเพชรบุรีก่อนเข้าสู่บ้านบางกลอย ที่มาภาพ: ผู้เขียน 3 กันยายน 2565
ความพยายามส่งเสียงเรียกร้องของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคมได้ส่งผลให้รัฐบาลมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง และพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา (อดีตนายกรัฐมนตรี) จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี” ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้มีการดำเนินศึกษา รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง สืบค้นข้อมูลจากเอกสารราชการ การลงพื้นที่สำรวจและจัดเก็บข้อมูลประชากรรายครอบครัว การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อกรณีที่เกิดขึ้น กระทั่งปี 2566 จึงได้มีการจัดทำรายงานแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ซึ่งมีข้อสรุปสำคัญยืนยันว่าชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน เป็นชุมชนดั้งเดิม ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และได้เสนอให้มีการแต่งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย 1) ผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ที่ประสงค์จะกลับไปดำรงวิถีชีวิตด้วยระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน 2) กรรมการอิสระ และ 3) ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่พิจารณาศึกษาแนวทางการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินด้วยวิถีการทำไร่หมุนเวียน ณ พื้นที่ใจแผ่นดิน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาตามคณะกรรมการอิสระฯ เสนอ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566
อย่างไรก็ตามภายหลังการลงนามเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยต่างมีความหวังที่จะกลับไปทำกินด้วยวิถีการทำไร่หมุนเวียน แต่ภายใต้กระบวนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน องค์กรหลายภาคส่วน โดยเฉพาะความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติในผืนป่าแก่งกระจาน ทำให้การดำเนินการยังไม่ปรากฏความคืบหน้ามากนัก ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมจัดเวทีสาธารณะ “3 ปี บางกลอยคืนถิ่น ถึงไหน ทำไมยังไม่ได้กลับบ้าน?” เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร16โดยนำเสนอผ่านการจัดนิทรรศการภาพถ่าย ซึ่งรวบรวมจากเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เคยลงพื้นที่ติดตามเรื่องราวของชาวบางกลอย และเห็นปัญหาต่าง ๆ รวมถึงการร่วมต่อสู้เรียกร้องเพื่อชาวบางกลอย พร้อมทั้งข้อมูลลำดับเหตุการณ์ เพื่อเป็นการทบทวนสะท้อนภาพปัญหา ผลกระทบชาวกะเหรี่ยงบางกลอย จ.เพชรบุรี ที่ยังไม่สามารถกลับถิ่นฐานเดิมเพื่อดำรงชีวิตทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมของตน ซึ่งเป็นความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในชีวิตของพวกเขา
ภาพที่ 13 ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยร่วมเวทีสาธารณะ อ่านแถลงการณ์ยืนยันการกลับไปดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิมที่ใจแผ่นดิน ที่มาภาพ: theactive
ภาพที่ 14 การจัดแสดงนิทรรศการแสดงข้อมูลลำดับเหตุการณ์ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ที่มาภาพ: ผู้เขียน 22 สิงหาคม 2566
ประเด็นสำคัญที่มีการพูดคุยและนำเสนอในเวทีสาธารณะครั้งนี้ได้เน้นย้ำให้เห็นว่า กรณีปัญหาที่เกิดขึ้นกับชากะเหรี่ยงบ้านบางกลอยเกิดจากกระบวนทัศน์หลักในการอนุรักษ์และจัดการป่าไม้ของไทยที่เชื่อว่าป่าต้องปลอดคน จึงนำมาสู่วิธีการในการอนุรักษ์และจัดการป่าที่มุ่งแยกคนออกจากป่า จึงก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนและชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในผืนป่า โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภูมิปัญญาและวิถีการดำรงชีวิตที่สัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติ ขณะเดียวกันภายใต้กระบวนทัศน์รองที่เชื่อและเคารพในวิถีวัฒนธรรมของผู้คนในการอยู่ร่วมกับป่า ได้มีความพยายามที่จะเสนอให้เห็นทางเลือกที่หลากหลายในการจัดการให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาการขับเคี่ยวระหว่างกระบวนทัศน์ทั้งสองยังไม่เคยมีพื้นที่ในการประสานหาทางเลือกที่เหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ที่เสนอให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยกลับไปทดลองดำรงชีวิตตามความเชื่อว่าคนอยู่กับป่าได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญต่อการพัฒนากระบวนการดำเนินงานและนำเสนอให้เห็นทางเลือกที่เหมาะสม ทั้งในด้านการเตรียมความพร้อมผู้คน การกำหนดระเบียบแบบแผน กฎกติกา การติดตามประเมินผลทั้งในด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานการเคารพวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญา เพื่อยืนยันว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้จริงไม่
ทั้งนี้ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในช่วงเดือนกันยายน 2566 ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยได้มีการติดตามทวงถามความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการ โดยได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมต.ว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อเรียกร้องให้สานต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ตามมติของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาขุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย17 ปัจจุบันนายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 341/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เพื่อดำเนินการศึกษาและผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาให้ปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
ภาพที่ 15 ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระฯ ที่มาภาพ: prachatai.com
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2566 เกี่ยวกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจึงแสดงให้เห็นความหวังต่อการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่ใกล้เคียงและสอดคล้องกับความต้องการของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อย่างไรก็ดี การผลักดันให้เกิดการปฏิบัติเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมยังจำเป็นต้องเฝ้าติดตามการดำเนินงานของคณะกรรมการที่ได้มีการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ ขณะเดียวกันการส่งเสริม สนับสนุนศักยภาพชาวกะเหรี่ยงบางกลอยให้มีความพร้อมในการสำรวจ จัดการข้อมูล วางแผนการกลับไปดำรงชีวิต วิถีวัฒนธรรม และทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการสื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจต่อสังคมไปพร้อมกันด้วย
รุกที่ อ้างสิทธิ...ปัญหาที่ดินเกาะหลีเป๊ะกับความคืบหน้าที่ยังติดวังวน
เกาะหลีเป๊ะ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม เป็นหมุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต้องเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนสักครั้ง ที่ผ่านมาการพัฒนาบนเกาะหลีเป๊ะได้มุ่งตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ต้องการความสุขจากการสัมผัสธรรมชาติที่งดงามของชายหาดและใต้ท้องทะเล รวมถึงการตอบสนองนักธุรกิจที่เข้าไปแสวงหาผลกำไรจากธุรกิจและบริการนักท่องเที่ยว ส่งผลให้เกาะหลีเป๊ะค่อย ๆ กลายสภาพเป็นเมืองหนึ่งที่เต็มไปด้วยโรงแรม รีสอร์ท ห้องพัก ร้านอาหาร สถานประกอบการหลากหลายรูปแบบ ขณะเดียวกันทรัพยากรที่ดินจึงกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าและนำมาซึ่งปมความขัดแย้งต่อการแย่งยึดกรรมสิทธิการครอบครอง เพื่อต่อยอด แสวงหาผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว
การพัฒนาเกาะหลีเป๊ะในช่วงที่ผ่านมาจึงขาดการออกแบบและวางแผนกำหนดทิศทางในการบริหารจัดการพื้นที่ในการอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกันของผู้คนบนเกาะ โดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนในท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่อาศัยบนพื้นที่เกาะหลีเป๊ะมาอย่างยาวนาน ข้อมูลจากการศึกษาประวัติศาสตร์ ปรากฏเอกสารหลักฐานทางราชการระบุว่าเมื่อปี พ.ศ. 2455 พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัดสตูลในขณะนั้นได้รวบรวม “ชาวน้ำ” จากหลายแห่งมาอยู่ที่เกาะอาดัง เกาะมูโลน และเกาะโกย และชาวเลจากเกาะสิเหร่มาอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ อาดังและราวี โดยมีโต๊ะคีรี เป็นหัวหน้า ในช่วงการปักปันเขตแดนระหว่างสยามและอังกฤษ การส่งเสริมให้มีการตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างเป็นทางการหรือถาวรนี้ เป็นกุศโลบายเพื่อจะกำหนดเขตดินแดนประเทศสยาม ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 หมู่เกาะบริเวณนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสตูล18
ภาพที่ 16 สภาพบ้านเรือนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ ที่มา: ผู้เขียน 26 พฤศจิกายน 2563
การเปลี่ยนแปลงท่ามกลางการพัฒนาบนเกาะหลีเป๊ะได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง มีการก่อตั้งโรงเรียนและสถานีอนามัยขึ้นในช่วงปี 2500–2510 ขณะเดียวกันภายหลังปี 2517 เป็นต้นมา พื้นที่โดยรอบเกาะหลีเป๊ะได้ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และในปี พ.ศ. 2518 กรมป่าไม้ได้ทำการโยกย้ายชาวเลที่พักอาศัยอยู่บริเวณหมู่บ้านชั่วคราวและแหล่งบาฆัค ตามเกาะต่าง ๆ รวมทั้งที่เกาะอาดังและราวี มาอยู่รวมกันที่เกาะหลีเป๊ะ ซึ่งขณะนั้นมีประชากรชาวเลอูรักลาโว้ยจำนวนประมาณ 387 คน ในปี 2523 ได้มีการพัฒนารูปแบบการเดินทางข้ามไปมาระหว่างเกาะหลีเป๊ะกับชายฝั่ง โดยได้เริ่มเดินเรือโดยสาร ทำให้มีคนภายนอกและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าบนเกาะหลีเป๊ะเพิ่มมากขึ้น ในปีพ.ศ. 2527 ผู้ใหญ่บ้านเกาะหลีเป๊ะได้เริ่มทำบังกะโลสำหรับรับนักท่องเที่ยว จำนวน 7 หลัง และต่อจากนั้น การท่องเที่ยวก็เริ่มขยายตัว และการพัฒนาถนนสำหรับเดินทางสัญจรบนเกาะที่สะดวกมากขึ้น ในปี 2541 เริ่มมีการนำจักรยานยนต์มาใช้เป็นพาหนะสำหรับเดินทางบนเกาะ วิถีวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของชาวเลจึงค่อย ๆ หายไป จากที่เคยมีกระท่อมและบ้านเรือนอยู่ริมชายหาด ตามวิถีชาวเล กลับต้องถ่อยร่นเข้าไปอยู่ด้านในและเปิดทางให้โรงแรมรีสอร์ทใช้พื้นที่ชายหาดและริมทะเล
ปมความขัดแย้งระหว่ากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและนายทุนที่อ้างกรรมสิทธิครอบครองได้ปรากฏขึ้น เมื่อนายทุนได้เข้าครอบครองที่ดินที่อยู่อาศัยและพื้นที่จิตวิญญาณของชาวเล โดยอ้างเอกสารสิทธิครอบครองตามกฎหมาย ส่งผลให้ชาวเลต้องเผชิญกับการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาลมาอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เรื่องราวชาวเลเกาะหลีเป๊ะเป็นที่รับรู้ของสังคมอย่างกว้างขวางนั้น เริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2565 เมื่อนายทุนเอกชนอ้างเอกสารสิทธิ์ ทำการสร้างรั้วกั้นทางสาธารณะ ทั้งทางลงพื้นที่หาดและทางเข้าโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ทำให้นักเรียนไม่สามารถเดินเข้า-ออกโรงเรียน ในเส้นทางที่ยืนยันใช้มาแต่ดั้งเดิมได้ รวมถึงทางเดินลงชายหาดที่ผู้คนบนเกาะใช้ร่วมกัน ทั้งขนสินค้าข้าวของจำเป็นต่าง ๆ ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับการนำเครื่องมือประมง เช่น ลอบหรือไซ ไปยังหน้าหาดเพื่อประกอบอาชีพก็ไม่สามารถทำได้ ทำให้ชาวเลประสบปัญหาควาเดือดร้อนไม่สามารถใช้เส้นทางในการสัญจรได้19 จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา (อดีตนายกรัฐมนตรี) จึงได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 339/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง กรณี ปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 โดยมีพลเอกสุรเชษฐ์ หักพาล เป็นประธานคณะกรรมการ ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง
ภาพที่ 17 ชาวเลเกาะหลีเป๊ะจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์สื่อสาร สร้างการรับรู้สถานการณ์ปัญหาต่อสังคม
ที่มา : https://prachatai.com/journal/2023/01/102366
ภาพที่ 18 การประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ ที่มา: ผู้เขียน 6 ธันวาคม 2566
อย่างไรก็ตามในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ได้ส่งผลให้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวต้องสิ้นสุดลง ทำให้เมื่อมีรัฐบาลใหม่ จึงมีการติดตามให้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานแก้ไขปัญหาขึ้นมาใหม่อีกครั้ง โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 307/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ซึ่งมี พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน ถือเป็นกรรมการชุดที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลที่แล้ว ทำให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง20 และได้มีการนำเสนอให้เห็นความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาทั้งในด้านการศึกษา รวบรวม ข้อมูลข้อเท็จจริง การตรวจสอบวัดแนวเขตชี้พิกัดพื้นที่ใหม่ทั้งเกาะ ทำให้สามารถจำแนกประเภทที่ดิน ขอบเขตการใช้ประโยชน์ได้ชัดเจนขึ้น นำมาสู่การพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่บุกรุกที่สาธารณะ แสดงให้เห็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อผู้กระทำความผิด รวมถึงการออกแบบ วางแผนแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบนฐานการเคารพวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการติดตามการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดดังกล่าวยังมีความจำเป็นต้องมีการติดตามอย่างเนื่อง ทั้งในด้านการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำความผิด การจัดระเบียบการใช้ประโยชน์บนพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะให้สามารถดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาของตนได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี
สรุป
จากสถานการณ์ชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในปี 2566 ได้แสดงให้เห็นความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในด้านการขับเคลื่อนนโยบายและกฎหมาย ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง ก่อให้เกิดกลไกและแนวทางการทำงานด้านชาติพันธุ์ที่เป็นรูปธรรม ดังปรากฏการร่วมกันผลักดันให้มีการประกาศใช้กฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และการประกาศขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในประเทศไทย (พ.ศ. 2566–2570) รวมถึงการแสดงให้เห็นศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับเครือข่ายที่แสดงให้เห็นพลังในการยืนสิทธิและตัวตนความเป็นชาติพันธุ์ของตนให้ปรากฏและเป็นที่รับรู้ต่อสังคม ผ่านการสื่อสารและนำเสนอให้เห็นพื้นที่รูปธรรมในการดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรผ่าน “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมวิถีวัฒนธรรม ประเพณี และอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในรูปแบบที่หลากหลายและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องตามปฏิทินกิจกรรมประเพณีของแต่ละพื้นที่และกลุ่มชาติพันธุ์ แสดงให้เห็นศักยภาพและพลังทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้อย่างสร้างสรรค์
อย่างไรก็ดีการขับเคลื่อนประเด็นด้านชาติพันธุ์ แม้ในหลายเหตุการณ์ยังคงติดวังวน ไม่ปรากฏความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมมากนัก เช่น กรณีชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ได้แสดงให้เห็นว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับหลายภาคส่วน ดำเนินผ่านระยะเวลามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพปัญหาที่ปรากฏในปัจจุบันมีความซับซ้อน จำเป็นต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันเรียนรู้และแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดร่วมกัน ขณะเดียวกันท่ามกลางความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนแน่นอนต่อการแก้ไขปัญหาก็พบว่า การขับเคลื่อนประเด็นด้านชาติพันธุ์ที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้ในสังคมต่อการยอมรับและเคารพในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในระดับนโยบายที่พยายามขานรับต่อสิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์และเครือข่ายประชาสังคมเสนอ นำมาสู่การกำหนดให้มีโครงสร้างและกลไกในระดับนโยบายที่จะทำหน้าที่ศึกษา รวบรวมข้อมูล และแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ปรากฏเป็นรูปธรรม สถานการณ์ด้านชาติพันธุ์ที่ปรากฏในปี 2566 จึงเรียกได้ว่า เป็นปีที่มีความโดดเด่นด้านการผลักดันกฎหมายและนโยบายเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ บนฐานการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชน ตลอดจนการสร้างพื้นที่นำเสนออัตลักษณ์ ตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ปรากฏขึ้นอย่างหลากหลาย ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานด้านชาติพันธุ์เกิดความต่อเนื่อง จึงต้องมีการส่งเสริมให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้เพื่อสร้างการยอมรับและเข้าใจความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ การส่งเสริมศักยภาพกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีความเข้มแข็งทั้งระดับกลุ่มและระดับเครือข่าย ตลอดจนการพัฒนาให้เกิดโครงสร้างกลไกการดำเนินงานด้านชาติพันธุ์ที่เข้มแข็งทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ในปี 2567 ถือเป็นปีแห่งความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงด้านชาติพันธุ์ทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่ ซึ่งมีวาระที่น่าสนใจต่อการติดตาม ดังต่อไปนี้
จับตาสถานการณ์ชาติพันธุ์ปี 2567
- คณะรัฐมนตรีพิจารณารับรองร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ... ฉบับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ยกร่าง
- จัดตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาตพันธุ์ที่มีสัดส่วนผู้แทนจากทุกภาคส่วน
- การพัฒนาโครงสร้าง กลไก ระเบียบ หลักเกณฑ์การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
- การส่งเสริมศักยภาพความเข้มแข็งเครือข่ายดำเนินงานด้านชาติพันธุ์ทั้งในระดับกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชน ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม
- การต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์เป็นพลังสร้างสรรค์ในการพัฒนาประเทศ
- การติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและชาวเลเกาะหลีเป๊ะ
1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. สืบค้นจาก https://www.senate.go.th/assets/portals/13/filesรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร%20พุทธศักราช%20๒๕๖๐.pdf
2 ศมส. เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. ...... สืบค้นจาก https://www.sac.or.th/portal/th/news/detail/179
3 พรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายชาติพันธุ์เข้าสภา รับ “วันชนเผ่าพื้นเมืองสากล 9 ส.ค.” สืบค้นจาก https://greennews.agency/?p=35212
4 สพช. ขอบคุณ สภาฯ อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย. สืบค้นจาก https://theactive.net/news/indigenous-20231219/
5 รัฐบาล เดินหน้าดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ ขับเคลื่อนภายใต้แผนส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม (พ.ศ. 2566 – 2570). สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/general-news/308311/
6 รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหา ‘พีมูฟ’ 10 ด้าน พม.-พอช. ร่วมแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์-ที่ดิน-ที่อยู่อาศัย. สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/public-relations-news/464708/
7 ส่องข้อเรียกร้องของ ‘P-Move’ 10 ด้าน. สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/public-relations-news/463193/
8 ร่วมประกาศ “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลหินลูกเดียว จ.ภูเก็ต” พร้อมรับปาก เดินหน้ายกระดับวิถีชีวิตชาวเล https://theactive.net/news/marginal-people-20231126-2/
9 ประกาศพื้นที่ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน จ.สุพรรณบุรี https://theactive.net/news/indigenous-20231208/
10 คึกคัก!! ประชาชนร่วมสืบสานวัฒนธรรมชนเผ่าลเวือะ ครั้งที่ 2 พัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่น บนฐานการอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรม และทรัพยากรชุมชน. https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230326124714883
11 ศมส. จับมือสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) และภาคีเครือข่าย จัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองโลกและวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566. สืบค้นจาก https://www.sac.or.th/portal/th/news/detail/214
12 ซอฟต์พาวเวอร์! สตูลผลักดันประเพณี “ลอยเรือชาวเลอูรักลาโว้ย” หลังขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระดับชาติ. สืบค้นจาก https://mgronline.com/south/detail/9660000113619?fbclid=IwAR2cVeLjiqTrqyioq4Wn3fzTvJqiWKMuquNLU3g1_27CINI_JOlLQDaE8I0
13 เพจการท่องเที่ยวเชิงภูมิวัฒนธรรมบางกะม่า จังหวัดราชบุรี. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=1027974968247678&set=pb.100031055543687.-2207520000
14 จังหวัดพะเยา จัดงานเทศกาลไทยลื้อ "โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สืบสานตำนานไทลื้อ ครั้งที่ 20. สืบค้นจาก https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230716125911981
15 สุรินทร์จัดวันชุมชนกูยโลกเป็นครั้งแรกพร้อมประกาศ 29 เมษายนของทุกปีเป็นวันกูยโลกแห่งประเทศไทย. สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/442971
16 กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ประกาศเจตนารมณ์ หวังรัฐบาลใหม่พากลับบ้าน https://theactive.net/news/marginal-people-20230822/
17 ‘บางกลอยคืนถิ่น’ จี้ ‘พัชรวาท’ แก้ปัญหา - สานต่อแนวทาง กลับบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน. สืบค้นจาก https://prachatai.com/journal/2023/09/105861
18 เปิดบันทึก คกก.ชาวเล ปัญหา-ทางออกชุมชน “เกาะหลีเป๊ะ”. สืบค้นจาก https://transbordernews.in.th/home/?p=33020
19 เพิกถอนเอกสารสิทธิ ! แก้ปัญหาให้สุดทาง รื้อปมพิพาทที่ดินหลีเป๊ะกว่า 30 ปี. สืบค้นจาก https://theactive.net/read/solving-lipe-conflict/
20 จับตาคืบหน้าแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินเกาะหลีเป๊ะ เตรียมเดินหน้าเพิกถอนที่ดิน นส. 3 ก เลขที่ 11. สืบค้นจาก https://theactive.net/news/law-rights-20231111/
ผู้เรียบเรียง
นายเจษฎา เนตะวงศ์
นักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ สถานการณ์ชาติพันธุ์ ความหวัง ความท้าทาย เจษฎา เนตะวงศ์