พิธีลอยเรือชาวอูรักลาโว้ย: การสะเดาะเคราะห์และส่งวิญญาณบรรพบุรุษ สู่ดินแดน “ฆูนุงฌึรัย”
ที่มาภาพ: จิตติมา ผลเสวก
ชาวอูรักลาโว้ย คือ ใครในด้ามขวานทอง
ชาวอูรักลาโว้ย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามเกาะแก่งและชายฝั่งบริเวณภาคใต้ของไทย มีวิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และค่านิยมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ ในอดีตมีการตั้งถิ่นฐานแบบเคลื่อนย้ายถิ่นฐานในบริเวณเขตทะเลอันดามัน มีการเก็บหาและล่าสัตว์ทะเลตั้งแต่บรรพบุรุษ มีแหล่งพักพิงชั่วคราว หรือ “บากัด” ในการดำรงชีพในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน1
การเป็นกลุ่มคนที่มีความผูกพันกับทะเล ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกเรียกเหมารวมว่า “ชาวเล” ซึ่งเป็นคำไทยปักษ์ใต้ที่ย่อมาจาก “ชาวทะเล” ชาวเล ในความหมายที่อ้างอิงกับภูมิศาสตร์ที่หมายถึง ผู้คนที่อาศัยอยู่แถบชายฝั่งทะเลตามเกาะต่าง ๆ เป็นกลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับทะเล
นอกจากนี้คำว่า “ชาวเล” ยังมีความหมายเฉพาะที่ หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนพื้นเมืองที่มีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับทะเลและวิถีชีวิตชายฝั่ง2 ในอดีตชาวเลมีชื่อเดิมที่ใช้เรียกพวกเขาว่า “ชาวน้ำ” เป็นชื่อที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้คำนิยาม “ชาวน้ำ” ว่าหมายถึง “ชื่อชนชาติเดิมกลุ่มหนึ่งอยู่ทางทะเลด้านตะวันตกของแหลมมลายู ฉลางหรือชาวเลก็เรียก”
อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ชื่นชอบให้ถูกเรียกว่า “ชาวเล” หรือ “ชาวน้ำ” เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเชิงความหมายที่เกิดจากการตีความว่า ชาวน้ำ หมายถึง คนที่เกิดจากน้ำเชื้อสืบพันธุ์ของหญิงชาย หากใครถูกเรียกว่าชาวน้ำจะเกิดความไม่พอใจ ถือเป็นคำที่ดูถูกดูแคลน คำดังกล่าวจึงไม่นิยมใช้ในปัจจุบัน3
ส่วนคำว่า “ชาวเล” มีความหมายโดยนัยว่าเป็นบุคคลที่ละเลยเรื่องสุขอนามัยและความสะอาด เป็นคนที่จับจ่ายใช้สอยจนไม่มีเงินเหลือเก็บ ขาดความสนใจในการศึกษาเล่าเรียน ชื่อเรียกข้างต้นถือเป็นคำที่มีความหมายของการดูถูกดูแคลน แสดงถึงทัศนะคติเชิงลบ ทำให้ชาวเลรู้สึกถึงความด้อยกว่า อคติที่เกี่ยวกับชื่อเรียกจึงส่งผลให้ชาวเลบางคนไม่ต้องการให้คนภายนอกรับรับรู้ว่าตนเองคือ “ชาวเล”4
ต่อมาจึงเกิดชื่อเรียกใหม่ว่า “ชาวไทยใหม่” ที่ถูกใช้เรียกชาวมอแกลนและชาวอูรักลาโว้ย ซึ่งมีความหมายถึงการได้รับการยอมรับและยกระดับเป็นคนไทย การได้รับสัญชาติไทยใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร และได้รับการศึกษาในระบบของไทย คำว่า “ชาวไทยใหม่” เกิดขึ้น โดยอ้างอิงถึงความเป็นมาของชื่อว่าเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดให้เรียก แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา ชื่อชาวไทยใหม่จึงถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นและกลายเป็นชื่อที่ทางราชการใช้ตั้งชื่อหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านไทยใหม่ แหลมตุ๊กแก จังหวัดภูเก็ต โรงเรียนชาวไทยใหม่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ชื่อเรียกตนเองของคนกลุ่มนี้ คือ “อูรักลาโว้ย” มีความหมายว่า คนทะเล (อูรัก หมายถึง คน และ ลาโว้ย หมายถึง ทะเล) เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษามลายู
การตั้งถิ่นฐานของชาวอูรักลาโว้ย
การตั้งถิ่นฐานของชาวเลในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม5 โดยใช้หลักเกณฑ์ทางภาษาและการตั้งถิ่นฐาน6 ดังนี้
1) ชาวมอแกน (Moken) ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เกาะพระทองและหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เกาะสินไห เกาะเหลา เกาะช้าง เกาะพยาม จังหวัดระนอง หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต และเกาะพีพี จังหวัดกระบี่
2) ชาวมอแกลน (Moklen) ตั้งถิ่นฐานที่เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ตามชายฝั่งทะเล จังหวัดพังงา และแหลมหลา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
3) ชาวอูรักลาโว้ย (Uraklavoi) เป็นชนกลุ่มใหญ่ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่บนเกาะสิเหร่ และหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต จนถึงทางใต้เกาะพีพีดอน เกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ เกาะอาดัง-เกาะหลีเป๊ะ เกาะราวี จังหวัดสตูล
วิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสามกลุ่ม มีความใกล้เคียงกัน ปัจจุบันบางกลุ่มมีการปรับตัวในการตั้งถิ่นฐานและการดำรงชีพ จึงทำให้มีวิถีวัฒนธรรมบางประการที่แตกต่างกัน เช่น ชาวมอแกลนและชาวอูรักลาโว้ยมีการตั้งหลักแหล่งถาวร และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตค่อนข้างมาก จากการปรับตัวทางสังคมและวัฒนธรรมเข้ากับวัฒนธรรมไทย มีการใช้ภาษาไทย นับถือศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง รับจ้างทำสวน และอาชีพอื่น ๆ เช่นเดียวกับคนไทย จนกระทั่งได้ชื่อว่าเป็น “ชาวไทยใหม่” ในขณะที่ชาวมอแกนยังคงมีวิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์ใกล้เคียงกับวิถีดั้งเดิมมากกว่ากลุ่มอื่น
การตั้งถิ่นฐานของชาวอูรักลาโว้ย ในอดีตตั้งถิ่นฐานแบบเคลื่อนย้ายบริเวณทิศตะวันตกของแหลมมลายู ต่อมาได้มีการเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย โดยตั้งถิ่นฐานแห่งแรกในพื้นที่เกาะลันตา บริเวณบ้านหัวแหลมกลาง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของชาวอูรักลาโว้ย จึงนับได้ว่าเกาะลันตาเป็นเมืองหลวงของชาวอูรักลาโว้ย7
ปัจจุบัน ชาวอูรักลาโว้ยที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย มีจำนวนประชากรประมาณ 7,000 คน คาดว่าเป็นชาวเลที่มีประชากรมากที่สุดในจำนวนทั้งสามกลุ่ม และมีการกระจายตัวตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด8 ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1) จังหวัดสตูล บริเวณเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะบูโหลนดอน และเกาะบูโหลนเล
2) จังหวัดกระบี่ บริเวณเกาะพีพี เกาะจำ เกาะลันตา (บ้านคลองดาว บ้านในไร่ บ้านโต๊ะบาหลิว บ้านหัวแหลมกลาง และบ้านสังกาอู้)
3) จังหวัดภูเก็ต บริเวณเกาะสิเหร่ (แหลมตุ๊กแก) บ้านราไวย์ และบ้านสะปำ
พิธีลอยเรือ: วิถีวัฒนธรรมของชาวอูรักลาโว้ย
ในอดีตชาวอูรักลาโว้ยเดินทางเคลื่อนย้ายและดำรงชีพอยู่บริเวณตะวันตกของแหลมมลายู ในการเดินทางมียานพาหนะสำคัญ คือ เรือ “ปราฮู” และใช้ “กาจยัก” หรือ แฝกสำหรับมุงหลังคาทำเพิงพักชั่วคราวตามชายหาด ต่อมามีการตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านถาวรตามเกาะน้อยใหญ่และชายฝั่งทะเลอันดามันมากขึ้น
จากวิถีการดำรงชีพที่ผูกพันกับทะเล ทำให้ชาวอูรักลาโว้ยมีความสามารถและความเชี่ยวชาญที่โดดเด่นด้านการเดินเรือ การสังเกตสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของอากาศ การดูทิศทางลม การดูคลื่นยักษ์ การว่ายน้ำ และการดำน้ำ ด้วยเหตุนี้ ชาวอูรักลาโว้ยจึงสามารถเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ภัยพิบัติสินามิ เมื่อ พ.ศ. 2547 ได้เป็นอย่างดี ในการเลือกพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน ชาวอูรักลาโว้ยจะพิจารณาทั้งด้านกายภาพเนื่องจากคนกลุ่มนี้เลือกพื้นที่ตั้งบ้านเรือนได้เหมาะสมและมีพื้นที่หลบลม โดยเลือกพื้นที่ราบที่สามารถหลบคลื่นลมและพายุ เป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยจากสัตว์ร้ายหรือภัยอันตรายอื่น ๆ การมีแหล่งน้ำจืด มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังพิจารณาจากเงื่อนไขด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ โดยพิจารณาจากการตัดสินใจของผู้นำทางจิตวิญญาณ ความสะดวกในการเดินทางเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องต่างชุมชนและความสะดวกในการค้าขายแลกเปลี่ยน
ด้านวิถีวัฒนธรรม ชาวอูรักลาโว้ยเป็นกลุ่มชนที่มีความเชื่อทางจิตวิญญาณ การเคารพวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ มีพิธีกรรมทางความเชื่อหลายประการที่สืบทอดกันมา แม้ว่าพิธีกรรมบางอย่างได้ถูกตัดทอนและถูกกลืนกลายตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมและวัฒนธรรม แต่มีพิธีกรรมสำคัญที่ยังคงมีการธำรงวัฒนธรรมมาจนกระทั่งปัจจุบัน คือ พิธีลอยเรือ
พิธีลอยเรือ เป็นพิธีกรรมความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ ที่สะท้อนความผูกพันกับเทือกเขา “ฆูนุงฌึรัย”9 ซึ่งเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งบรรพบุรุษ ตั้งอยู่ในรัฐเคดะห์ ประเทศสาธารณรัฐมาเลเซีย10 หรือเมืองไทรบุรี ในอดีตเคยเป็นเมืองภายใต้การปกครองของอาณาจักรไทย ชาวอูรักลาโว้ย เชื่อว่าเมื่อประมาณ 500–600 ปีที่ผ่านมา “ฆูนุงฌึรัย”(ภูเขาต้นไทร) หมายถึง เทือกเขาที่อยู่ในเมืองไทรบุรี เดิมมีชาวโอรังลาอุ๊ต (อูรักลาโว้ย) อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันคนกลุ่มนี้ได้กลายเป็นชาวมลายู และมีบางส่วนอพยพเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในประเทศ “ฆูนุงฌึรัย” จึงเป็นดินแดนบรรพบุรุษของชาวอูรักลาโว้ย เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพื้นที่จิตวิญญาณที่ชาวอูรักลาโว้ยจะต้องทำพิธีลอยเรือเซ่นสรวงทุกครั้งที่ลมมรสุมพัดเปลี่ยนทิศทาง
พิธีลอยเรือ เป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุดของชาวอูรักลาโว้ย ถูกจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในวันเพ็ญเดือน 6 และเดือน 11 ทางจันทรคติของทุกปี ส่วนใหญ่มักจะตรงกับเดือนพฤษภาคมและเดือนพฤศจิกายนของทุกปี11 ซึ่งเป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลหรือช่วงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงที่มีพิธีลอยเรือ ที่ถูกจัดขึ้นครั้งละ 3 วัน ชาวอูรักลาโว้ยจะงดการทำมาหากินเป็นระยะเวลา 3 วัน ทุกคนจะต้องมาร่วมงานสำคัญนี้
การลอยเรือมีจุดประสงค์เพื่อลอยบาป การปัดเป่าความทุกข์โศก โรคภัยไข้เจ็บให้พ้นจากครอบครัวและชุมชน การเสี่ยงทายในการประกอบอาชีพ โดยชาวอูรักลาโว้ยจะทำพิธีขอให้ทำมาหากินได้ดีในฤดูกาลถัดไป และมีการเสี่ยงทายอนาคตชุมชนโดยโต๊ะหมอจะเป็นผู้ทำพิธีกรรมต่างๆ และสื่อสารกับดวงวิญญาณบรรพบุรุษ พร้อมกับการบูชาบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นการส่งดวงวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์กลับสู่ดินแดน “ฆูนุงญึรัย”
พิธีลอยเรือของชาวอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
วันที่ 1 การเซ่นไหว้ศาลโต๊ะคีรี ในช่วงเวลากลางคืนวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 และ เดือน 11 ชาวอูรักลาโว้ย จะนำขนมต่าง ๆ เช่น ข้าวเหนียวเหลือง ต้มขาว ขนมเทียน ไปเซ่นไหว้ศาลโต๊ะฆีรี ซึ่งตั้งอยู่ติดกับสุสาน (หลาทวด) ทุกคนจะตั้งเครื่องเซ่นไหว้พร้อมกับเทียน ครอบครัวละ 1 เล่ม เพื่อให้หมอประจำหมู่บ้านดูเปลวเทียนของแต่ละครอบครัว โดยจะมีเครื่องเซ่นไหว้ของหัวหน้าหมู่บ้านหรือของหมอประจำหมู่บ้าน 1 ชุด เป็นอาหารพิเศษ ที่ประกอบด้วย เครื่องสุกดิบ 1 ชุด และข้าวเจ็ดสี 1 ชุด เพื่อจะบวงสรวงสิ่งที่ดีและไม่ดี เสร็จพิธีบวงสรวงแล้วจะมีรำมะนาเพื่อขอพรอย่างน้อย 1 เพลง
ภาพที่ 1 ศาลโต๊ะฆีรี หรือหลาทวด
ที่มาภาพ: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล
วันที่ 2 การต่อเรือ ในช่วงกลางคืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือน 11 ชาวอูรักลาโว้ยจะแบ่งคนออกเป็น 2 ชุด ชุดที่ 1 ตัดไม้ระกำ เพื่อมาทำเรือ ชุดที่ 2 ตัดไม้เสาเอกและมาสเรือ
(กระดูกงูเรือ) จากนั้นก็จะดำเนินการต่อเรือ ชาวบ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะสนุกสนานกับการเต้นรองเง็งและรำวง จนกว่าเรือจะเสร็จสมบูรณ์ ในช่วงเวลากลางคืนจะมีการรำมะนารอบเรือที่ประกอบเสร็จ และรำวงร่วมกันอย่างสนุกสนาน
ภาพที่ 2 เรือปาจั๊ก
ที่มาภาพ: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล
วันที่ 3 พิธีลอยเรือ คืนวันแรม 1 ค่ำ กัน ช่วงเวลาใกล้สว่าง ประมาณตี 4-5 หมอประจำหมู่บ้าน จะทำพิธีจุดเทียน ชาวอูรักลาโว้ยจะอธิษฐานกับเทียนที่ปักไว้ในเรือของแต่ละครอบครัว ๆ ละ 1 เล่ม และลอยเรือลงทะเล หลังจากนั้นชาวอูรักลาโว้ยจะตัดไม้ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับไม้กางเขนมาปิดบริเวณงาน ชาวบ้านก็จะรำรองเง็งและรำวงจนถึงช่วงเย็น หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นรำมะนารอบไม้กางเขน และชาวบ้านก็จะนำน้ำใส่ภาชนะมาตั้งบริเวณไม้กางเขน หมอประจำหมู่บ้านจะใช้เทียนจุดบริเวณน้ำที่ชาวบ้านมาวางไว้ เพื่อเอาไว้ชำระล้างหน้าล้างตาในช่วงเวลาเช้า หลังจากเสร็จพิธี
ภาพที่ 3 การลอยเรือลงทะเล
ที่มาภาพ: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล
ในพิธีลอยเรือของอูรักลาโว้ย มีความเชื่อเกี่ยวกับหมายเลข 7 ที่อาจสืบเนื่องจากความเชื่อเรื่องบุตร 7 คน ของโต๊ะอาดั๊บและโต๊ะสิตีฮาวา เช่น ตัวเรือปลาจั๊ก หรือลาจัง จะมีความยาว 7 ศอก มีกรรเชียง 7 คู่ ไม้กันผี 7 ต้น ยาวต้นละ 7 ศอก บทเพลงรำมะนาที่ใช้ในพิธีลอยเรือและพิธีแก้บนเริ่มด้วยเพลงบรรพบุรุษ 7 เพลง ในบทเพลงกล่าวถึงการไว้เกลื้อน 7 ดอก และมีพิธีแก้บนด้วยการสร้างบ้าน 7 ชั้น12 เป็นต้น
ปัจจุบันพิธีลอยเรือของชาวอูรักลาโว้ยในแต่ละพื้นที่มีรูปแบบและรายละเอียดแตกต่างกันออกไป บางพื้นที่ไม่มีการจัดพิธีลอยเรือ บางพื้นที่มีเฉพาะพิธีเซ่นไหว้โต๊ะบุหรง บางพื้นที่มีการรื้อฟื้นพิธีลอยเรือที่ล้มเลิกไปนานหลายปี เนื่องจากไม่มีโต๊ะหมอซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการประกอบพิธีกรรม โดยมีการจัดพิธีลอยเรืออีกครั้ง โดยการเชิญโต๊ะหมอจากชุมชนชาวอูรักลาโว้ยในพื้นที่อื่นมาประกอบพิธี 13, 14, 15, 16 จะเห็นว่า พิธีลอยเรือเป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญกับวิถีการดำรงชีพของชาวอูรักลาโว้ย ทั้งในมิติของการเป็นพิธีกรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สะท้อนให้เห็นตำนาน ความเชื่อ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาและวิถีชีวิต นัยยะเชิงความหมายของพิธีลอยเรือจึงเป็นทั้งการสะเดาะเคราะห์ การส่งวิญญาณผู้ล่วงลับกลับสู่ดินแดนบรรพบุรุษ และการส่งสัตว์ไปไถ่บาป
เรือปลาจั๊กที่ทำขึ้นในพิธีลอยเรือ ทำจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำ เป็นสัญลักษณ์ของ “ญาณ” ที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปสู่อีกภพหนึ่ง ชิ้นไม้ระกำที่สลักเสลาเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ รูปนกเกาะหัวเรือ เป็นสัญญะของโต๊ะบุหรง บรรพบุรุษผู้ที่สามารถห้ามลมห้ามฝน ส่วนลายฟันปลา หมายถึง โต๊ะบิกง บรรพบุรุษที่เป็นฉลาม ลายงู หมายถึง โต๊ะอาโฆะเบอราไตย บรรพบุรุษที่เป็นงู ฯลฯ
นอกจากนี้ภายในเรือยังมีตุ๊กตา ไม้ระกำที่ทำหน้าที่นำเคราะห์โศกโรคภัยของสมาชิกแต่ละครอบครัวเดินทางไปกับเรือและเครื่องเซ่นต่าง ๆ ที่จะให้วิญญาณบรรพบุรุษนำติดตัวไปยังถิ่นฐานดั้งเดิม ส่วนการร่ายรำแบบดั้งเดิมผสมผสานกับบทเพลงเก่าแก่และดนตรีรำมะนาเป็นส่วนประกอบของการรำถวายต่อบรรพบุรุษ ผู้ที่ร่ายรำเชื่อว่า จะได้บุญ ส่วนโต๊ะหมอเป็นผู้นำทางโลกและทางธรรม เป็นผู้ที่มีความสามารถสื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้าและวิญญาณบรรพบุรุษได้ ผู้ที่ผ่านพิธีลอยเรือถือว่าเป็นผู้ที่ผ่านทุกข์โศกโรคภัย การดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้าจะประสบความสุขและความโชคดีในการทำมาหากิน17
นอกจากความสำคัญในมิติวัฒนธรรม ในการเป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่มีคุณค่าเฉพาะแล้ว พิธีลอยเรือยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเป็นปึกแผ่นทางสังคม ที่สร้างสำนึกร่วมของความเป็นชาติพันธุ์ การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนชนชาติพันธุ์ และการแสดงให้เห็นความสามัคคีในการร่วมแรงร่วมใจกันผ่านการรวมกลุ่มจัดพิธีลอยเรือ
1 นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2557). ทักษะวัฒนธรรมชาวเล. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
2 . (2557). เรื่องเดียวกัน.
3 นฤมล อรุโณทัย. (2547). เพื่อความเข้าใจในมอแกน ความรู้และมายาคติเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ “ชาวเล”.ใน “ชาติพันธุ์และมายาคติ”. กรุงเทพ: สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.
4 นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2557). เรื่องเดียวกัน.
5 อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2537). ชาวเลและซาไก เจ้าของฝั่งทะเลตะวันตกในคืนวันแห่งความเปลี่ยนแปลง.วารสารทักษิณคดี, 3(3); 89-103.
6 อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2554). พลวัตการปฏิสัมพันธ์และชาติพันธุ์ธำรงของชาวเลเกาะลันตา จังหวัดกระบี่. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม.
7 นฤมล อรุโณทัย และคณะ. (2557). เรื่องเดียวกัน.
8 . (2557). เรื่องเดียวกัน.
9 . (2557). เรื่องเดียวกัน.
10 อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2554). เรื่องเดียวกัน.
11 สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล. (2566). ข้อมูลชุมชนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล. สตูล: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล
12 อาภรณ์ อุกฤษณ์. (2532). พิธีลอยเรือ : ภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรมของชาวเล กรณี ศึกษา ชุมชนบ้าน หัวแหลม เกาะลันตา กระบี่. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.
13 ธานี สิงขโรทัย. (2559). พิธีลอยเรือ. บ้านเกาะบูโหลน ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559.
14 ชนะ หาดทรายทอง. (2559). พิธีลอยเรือ. ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2559.
15 อูลิน ช้างน้ำ. (2559). พิธีลอยเรือ. บ้านมู่ตู ตำบลศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559.
16 พรสุดา ประโมงกิจ. (2559). พิธีลอยเรือ. บ้านแหลมตง เกาะพีพี อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2559.
17 สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล. (2564). มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและกลุ่มชาติพันธุ์มานิ จังหวัดสตูล. สตูล: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด.
ผู้เขียน
สุดารัตน์ ศรีอุบล
นักบริหารเครือข่ายและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ พิธีลอยเรือ อูรักลาโว้ย ฆูนุงญึรัย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สุดารัตน์ ศรีอุบล