คน ระคน ละคร
รูปที่ 1 ปกหนังสือ คนระคนละคร
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
"ฉันเป็นคนเบ่งมันออกมา อยู่กับฉันอย่างน้อยก็ทดแทนบุญคุณแม่ผู้ให้กำเนิด" จาก ละครเรื่องทองเนื้อเก้า ตอนที่ 8 (2564)
“จำใส่สมองแกเอาไว้ด้วยนะ มุตตาไม่ใช่เหยื่อของแกอีกต่อไปแล้ว” จาก ละครเรื่องแรงเงา ตอนที่ 9 (2555)
ประโยคข้างต้นเป็นประโยคจากละครไทยในอดีตที่เป็นกระแสนิยมและเป็นที่รู้จัก จนทำให้ผู้ชมละครโทรทัศน์สามารถพูดตามได้อย่างคล่องแคล่ว หรือจำลองสวมบทบาทเป็นตัวละครในหมู่วัยรุ่น แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของละครไทยต่อผู้คน นอกจากที่ละครโทรทัศน์ยังเป็นสื่อความบันเทิงที่ เมื่อมองลึกลงไปในละครโทรทัศน์จะพบได้ว่าเนื้อหาของละครโทรทัศน์นั้นมีเรื่องราวที่สามารถนำมาศึกษา วิเคราะห์ และเป็นข้อคิดในชีวิตได้
หนังสือคน ระคน ละคร เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมสุข หินวิมาน อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ใช้ความรู้และประสบการณ์จากการสอนหนังสือในสายสื่อสารมวลชนมาวิเคราะห์และวิจารณ์ละครโทรทัศน์ร่วมสมัยในรอบ 4 ปี (พ.ศ. 2556-2559) โดยนำละครโทรทัศน์ที่เขียนเป็นเรื่องราวจากจินตนาการ (Fiction and imagination) เพื่อเป็นสื่อให้ความบันเทิงในสังคมไทยทั้งหมด 35 เรื่อง มาวิเคราะห์และวิจารณ์ในด้านบทบาทบทและความสัมพันธ์ของมนุษย์ ความคิด และวัฒนธรรม และสะท้อนออกมาได้ 5 ประเด็น คือ 1. ว่าด้วยเด็กและครอบครัว 2. ว่าด้วยผู้หญิงและผู้ชาย 3. ว่าด้วยมนุษย์กับความสัมพันธ์ 4. ว่าด้วยความคิดและความเชื่อ และ 5. ว่าด้วยสังคมไทยในกระแสความเปลี่ยนแปลง สู่สื่อที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดต่าง ๆ
บทแรกผู้เขียนได้วิเคราะห์และวิจารณ์ละครโทรทัศน์ในประเด็นที่ว่าด้วยเด็กและครอบครัว ละครโทรทัศน์ทุกเรื่องจะประกอบด้วยเรื่องครอบครัวและเด็ก ถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ละครโทรทัศน์สามารถดำเนินเรื่องต่อไปได้ ครอบครัวและเด็กถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับสังคมและเป็นประเด็นแรก ๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงมากที่สุด เช่น ประเด็นเรื่องการทบทวนสิทธิของเด็ก และการวางตัวกับเด็ก ที่ถูกวิเคราะห์ออกมาผ่านละครเรื่อง “พรพรหมอลเวง” โดยได้เล่าเรื่องของการสลับร่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ วิญญาณของนางเอกที่เป็นผู้ใหญ่เข้ามาอยู่ในร่างของเด็กสาว ทำให้นางเอกได้พบเจอปัญญาของผู้ใหญ่ผ่านมุมมองของเด็ก การปฏิบัติตนของอาผู้ชายกับเด็กสาว เช่น การจูงมือ กอด หอมแก้มแบบเด็ก ๆ ที่มองว่าปกติ สู่ความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจจากการปฏิบัติเช่นนั้น การบังคับเด็กให้เรียนเพื่อการเอาชนะกันของผู้ใหญ่ ในมุมมองของผู้ใหญ่อาจมองเป็นความพยายามทำให้เด็กต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่หลงลืมไปคือการเคารพสิทธิในตัวเด็ก
ส่วนประเด็นที่เกี่ยวกับครอบครัว ได้ยกตัวอย่างในเรื่องของความเป็นแม่ จากละครเรื่อง “ทองเนื้อเก้า” คำว่า “แม่” นิยามได้ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูบุตร ในละครได้เสนอการเลี้ยงลูกของ 2 ตัวละคร คือ “ปั้น” แม่ของสันต์และ “แล” แม่ของลำยอง ซึ่งพฤติกรรมของแม่และการเลี้ยงดูของแม่ถือได้ว่าเป็นภาพสะท้อนจากแม่ออกมาผ่านลูก “ปั้น” แสดงภาพแม่ที่ขยันและเก็บออมตามแบบฉบับแม่ที่ดีของคนไทย ส่วน “แล” แสดงภาพแม่ที่ทะเยอทะยาน อยากให้ลูกมีสามีที่รวย และมีพฤติกรรมที่ติดพนัน เหล้า รวมถึงการเป็นขโมย สิ่งเหล่านี้ได้ส่งต่อทำให้ “สันต์” มีความขยัน ส่วน “ลำยอง” ติดพนัน ดื่มเหล้า ไม่ต่างจากแม่ เทียบกับสุภาษิตไทยได้ว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” แต่ถึงอย่างนั้น “ลำยอง” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแม่ของ “วันเฉลิม” ในละคร “ลำยอง” ก็ไม่ได้เลี้ยงดู “วันเฉลิม” แต่ “วันเฉลิม” กลับมีความแสนดี กตัญญู และดูแล “ลำยอง” ในขณะที่คนอื่นไม่สนใจ จากการวิเคราะห์ละครทองเนื้อเก้าผ่านเรื่องที่ว่าด้วยเด็กและครอบครัว แม้ว่าสังคมไทยจะเชื่อในคำที่ว่าลูกที่ดีต้องมาจากพ่อแม่ที่ดี แต่ก็อาจมีข้อยกเว้น เนื่องจากสถาบันครอบครัวที่เป็นปัจจัยในการเลี้ยงดู ไม่ใช่สถาบันเดียวที่หล่อหลอมและดูแลเด็ก แต่ยังมีสังคมอื่น ๆ เช่น วัดหรือศาสนา ที่ขับกล่อมให้เด็กอยู่ในระเบียบของสังคมได้ จากละครทั้ง 2 เรื่อง ชี้ให้เห็นว่าเรื่องการเข้าใจเด็กหรือการเลี้ยงดูของสถาบันครอบครัว จะทำให้เข้าใจถึงสภาพเด็กและครอบครัวในสังคมมากขึ้น
รูปที่ 2 ภาพหน้าปกละครเรื่อง พรพรหมอลเวง
หมายเหตุจาก. https://mgronline.com/drama/detail/9560000010162
รูปที่ 3 ภาพหน้าปกละครเรื่อง ทองเนื้อเก้า
หมายเหตุจาก. https://www.sanook.com/movie/115369/gallery/958513/
จากประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องว่าด้วยเด็กและครอบครัว ในบทถัดมาผู้เขียนได้วิเคราะห์และวิจารณ์ละครโทรทัศน์ในประเด็นที่ว่าด้วยผู้หญิงและผู้ชาย หนังสือเล่มนี้วิเคราะห์และวิจารณ์บทละครโทรทัศน์เกี่ยวกับเพศชายและหญิง โดยกล่าวว่า ละครโทรทัศน์เป็นสื่อที่สร้างสรรค์ภาพผู้หญิงที่แข็งแกร่ง และผู้หญิงได้ใช้เวลาชมละครเพื่อสะท้อนภาพชีวิตของผู้หญิง ละครเรื่อง “ปดิวรัดา” เป็นละครหนึ่งที่ได้เสนอในประเด็นเรื่อง การเป็นภรรยาที่ดีในยุคสมัยก่อน ที่ต้องพยายามพิสูจน์ตนเองแก่สามีโดยการทำ “หน้าที่ภรรยาที่ดี” เช่น การทำงานบ้านให้สะอาด ดูแลทำอาหารและการปรนนิบัติสามี เพื่อให้ตรงกับความหมายของคำว่า “ปดิวรัดา” ที่แปลได้ว่า ภรรยาผู้ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อสามี แต่ปัจจุบันบทบาทของภรรยาได้ก้าวหน้ามากขึ้น ไม่ใช่เพียงยึดติดกับการทำหน้าที่ภรรยาที่ดีตามในละครปดิวรัดา เทียบกับละครเรื่อง “แรงเงา” ที่เป็นอีกเรื่องที่สะท้อนถึงผู้หญิงที่เลือกปฏิเสธและต่อสู้กับความอยุติธรรม ละครนี้เล่าถึง “มุตตา” ผู้มีนิสัยอ่อนหวานและอ่อนโยน เลือกที่จะไม่ปฏิเสธและยอมให้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตน ไม่ว่าจะเป็นการว่าร้ายของเพื่อนร่วมงานหรือการดักทำร้ายร่างกายของ “นพนภา” ภรรยาของ “ผอ.เจนภพ” ผู้ชายที่หลอก “มุตตา” ให้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งด้วยและทำให้ “มุตตา” ตกอยู่ในสถานะเมียน้อยของตน จนสุดท้าย “มุตตา” ก็ไม่สามารถแบกรับกับเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ไหวจึงเลือกฆ่าตัวตาย เป็นการสะท้อนถึงการปรับตัวไม่ได้ของ “มุตตา” การยอมรับต่อชะตากรรมและกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของตนเอง ต่างจาก “มุนินทร์” แฝดคนพี่ของ “มุตตา” ผู้มีนิสัยสู้คน กล้าที่จะปฏิเสธกับระบบสังคมที่ล้มเหลว เช่น เพื่อนร่วมงานของ “มุตตา” กล้าชนกับผู้คนที่เข้ามาทำร้าย และสร้างความยุติธรรมแก่ตนเอง จากบทนี้ชี้ให้เห็นประเด็นที่ว่าด้วยผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งทำให้เห็นภาพบทบาทของเพศ โดยเน้นไปที่บทบาทของผู้หญิงที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงและมีความแข็งแกร่งมากขึ้นจากอดีตสู่ปัจจุบัน
รูปที่ 4 ภาพหน้าปกละครเรื่อง ปดิวรัดา
หมายเหตุจาก. https://mgronline.com/drama/detail/9590000007523
รูปที่ 5 ภาพหน้าปกละครเรื่อง แรงเงา
หมายเหตุจาก. https://mgronline.com/drama/detail/9550000116055
ประเด็นที่ว่าด้วยมนุษย์กับความสัมพันธ์ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกวิเคราะห์ได้ผ่านละครโทรทัศน์ นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างเพศที่ได้กล่าวไปในบทที่ผ่านมา ในสังคมยังมีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์รูปแบบอื่นอยู่ เช่น ความสัมพันธ์เรื่องของชนชั้นศักดินาในละครเรื่อง “ผู้กองยอดรัก” เรื่องราวของหนุ่มทหารเกณฑ์ที่หลงรักผู้กองสาว ทำให้ผู้พันพ่อของผู้กองสาวไม่พอใจ เนื่องจากมองว่าเป็นเพียงแค่ทหารเกณฑ์จะพยายามมาเด็ดดอกฟ้า ผู้พันจึงพยายามกีดกันทั้งสองคนในห่างกัน ซึ่งละครได้ใช้ความตลกแทรกเข้ามา เพื่อลดเส้นแบ่งระหว่างเส้นชนชั้นศักดินาที่ปรากฏในละคร หรือประเด็นในความสัมพันธ์เชิงอำนาจจากละครเรื่อง “หัตถาครองพิภพ” ที่คุณหญิงศรีพยายามใช้อำนาจของการเป็นเรือนหลังใหญ่ท้าทายกับอำนาจของพระยาสมิติภูมิ ในบทนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเพศ ที่เป็นเพศชายและเพศหญิง ยังมีความสัมพันธ์อีกหลากหลายมิติ เช่น อำนาจและชนชั้นศักดินา ที่คอยเชื่อมกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการช่วงชิงกันของอำนาจหรือการกีดกันจากความต่างทางฐานะ ซึ่งหากสังเกตดูจะพบว่า ละครโทรทัศน์อาจใช้ความตลกหรือการแสดงเข้ามาลดภาพที่ดูเหลื่อมล้ำทางชนชั้นศักดินาหรืออำนาจในสังคม แต่ในความจริงกลับแตกต่างออกไป
รูปที่ 6 ภาพหน้าปกละครเรื่อง ผู้กองยอดรัก
หมายเหตุจาก. https://mgronline.com/drama/detail/9580000070875
รูปที่ 7 ภาพหน้าปกละครเรื่อง หัตถาครองพิภพ
หมายเหตุจาก. https://mgronline.com/drama/detail/9560000147178
ปัจจุบันถึงสังคมไทยจะมีการพัฒนาในเรื่องของวิทยาศาสตร์มากเพียงใด ก็ยังคงมีเรื่องความคิดและความเชื่อคงเหลืออยู่ ซึ่งละครโทรทัศน์ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในการฉายภาพและรักษาคุณค่าในเรื่องที่ว่าด้วยความคิดและความเชื่อ อย่างในละครเรื่อง “สุดแค้นแสนรัก” ที่ตัวละคร “แย้ม” พยายามในการแก้แค้นตระกูลภรรยาของลูกชายที่เข้ามาทำร้ายสามีตนเองจนเสียชีวิต โดยทำร้ายและแก้แค้นตระกูลดังกล่าวตั้งแต่รุ่นพ่อแม่จนถึงรุ่นลูก จนสุดท้ายทุกตัวละครรวมถึง “แย้ม” เริ่มจะเรียนรู้และเข้าใจความจริงของชีวิต และผูกเข้ากับความเชื่อเรื่องบุญกรรมเข้ามา ทำให้ “แย้ม” เข้าใจชีวิต เลือกอโหสิกรรมและปล่อยวางให้เป็นไปตามเวรกรรม หรือความเชื่อในเรื่องอดีตชาติและสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์ เช่น ละครเรื่อง “นาคี” ที่ได้ฉายภาพเรื่องราวความรักของพญานาคและมนุษย์ จากในอดีตชาติที่เป็นคู่รัก หลังคนที่รักตายไป พญานาคก็ยังคงรอให้คนที่รักเกิดใหม่และรักกันอีกครั้ง แต่ความรักนั้นก็ถูกกีดกันโดยชาวบ้านที่ใช้พิธีกรรมและเครื่องรางทำร้าย ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึง ความโหดร้ายของมนุษย์ที่รุนแรงกว่าพญานาคที่มีอิทธิฤทธิ์ ประเด็นที่ว่าด้วยความคิดและความเชื่อถูกแฝงเข้าไปในละครอย่างชัดเจน เช่น บุญกรรม อดีตชาติหรือสัตว์ในตำนาน ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่า ความคิดและความเชื่อต่าง ๆ นั้นยังคงอยู่ในละครไทยตลอดมา
รูปที่ 8 ภาพหน้าปกละครเรื่อง สุดแค้นแสนรัก
หมายเหตุจาก. https://ch3plus.com/oldseries/643
รูปที่ 9 ภาพหน้าปกละครเรื่อง นาคี
หมายเหตุจาก. https://mgronline.com/drama/detail/9590000093234
และบทสุดท้ายของหนังสือคน ระคน ละคร จากประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมาสู่ประเด็นที่ว่าด้วยสังคมไทยในกระแสความเปลี่ยนแปลง ที่ใช้ละครลำลองภาพของการเปลี่ยนแปลงของสังคม การปรับตัวของคนไทยต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ละครเรื่อง “ธรณีนี่นี้ใครครอง” ที่ตัวละคร “อาทิจ” ได้เรียนจบในด้านการเกษตรจากกรุงเทพฯ และได้เดินทางกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนที่เคยอยู่ ประสานความรู้ที่ได้มากับฐานของท้องถิ่น พัฒนาไร่ของคุณย่าและชุมชน หรือเป็นการประสานกระแสโลกาภิวัตน์กับพลังท้องถิ่นภิวัฒน์และชุมชนภิวัฒน์ หรือละครชุดเรื่อง “เลือดมังกร” ที่พยายามปลุกกระแสลูกหลานจีนในประเทศไทยให้ต่อสู้กับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จากรุ่นพ่อและแม่ที่พยายามใช้ความรุนแรงในการควบคุมกิจการหรือการทำธุรกิจ สู่ยุคลูกหลานได้ลดความรุนแรงลง สร้างความชอบธรรมและปรับรูปแบบธุรกิจไปเป็นแบบความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท (Corporate social responsibility) ที่ควบคุมหรือถ่วงดุลลัทธิทุนนิยมแทนระบบทุนนิยมเดิม จากตัวอย่างละครที่มีประเด็นว่าด้วยสังคมไทยในกระแสความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ได้พบ คือ การได้เห็นภาพความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่มีการพัฒนาและปรับตัว เพื่อให้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์
รูปที่ 10 ภาพหน้าปกละครเรื่อง ธรณีนี่นี้ใครครอง
หมายเหตุจาก. https://ch3plus.com/drama/740
รูปที่ 11 ภาพหน้าปกละครเรื่องเลือดมังกร
หมายเหตุจาก. https://sharerice.com/Mafia_Luerd_Mungkorn
จากการอ่านหนังสือคน ระคน ละคร เป็นหนังสือที่ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เนื้อหากระชับได้ใจความ สรุปได้ว่าละครโทรทัศน์ไทยสามารถสะท้อนประเด็นหรือแง่คิดออกมาได้หลากหลาย เช่น ประเด็นว่าด้วยเด็กและครอบครัว, ผู้หญิงและผู้ชาย, มนุษย์กับความสัมพันธ์, ความคิดและความเชื่อ และ สังคมไทยในกระแสความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ละครกลายเป็นสื่อความบันเทิงที่เข้าถึงผู้คนได้อย่างง่าย และสามารถทำหน้าที่สืบทอดวัฒนธรรม สร้างภาพจำ เป็นกระจกสะท้อนและสร้างกรอบความคิดได้อย่างดี ซึ่งละครได้สร้างความสัมพันธ์ของความรู้สึกระหว่างละครโทรทัศน์และผู้ชมเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นการสืบทอดของวัฒนธรรมและรักษาคุณค่าความคิด ความเชื่อแก่สังคมให้สืบต่อไป นอกจากนี้ ยังสังเกตได้ว่าผู้เขียนวิเคราะห์และวิจารณ์ละครโทรทัศน์ โดยเน้นไปที่ภาพบทบาทของผู้หญิง พบได้จากการศึกษาผู้หญิงในบทบาทแม่ หรือบทบาทของภรรยา ซึ่งจากการศึกษาผลงานอื่นของผู้เขียน ผู้เขียนได้เขียนหนังสือ ว่างยังวุ่น : ชนชั้น เพศสภาพ และเวลาว่างของผู้หญิง ที่เป็นหนังสือที่ศึกษาเวลาว่างของผู้หญิงกับมิติทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และจิตวิทยา เห็นได้ว่าผู้เขียนพยายามสะท้อนให้เห็นถึง แนวคิดที่พูดถึงความเท่าเทียมทางเพศหรือแนวคิดแบบ “สตรีนิยม” ผ่านการศึกษาบทบาทผู้หญิงในมิติต่าง ๆ ทั้งการใช้ชีวิต บทบาทวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของผู้หญิง และจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ สุดท้ายข้าพเจ้าชวนผู้อ่านให้คิดต่อไปว่า หากเป็นละครโทรทัศน์ต่างประเทศ เช่น ซีรีส์เกาหลี หรือซีรีส์จีน จะสามารถวิเคราะห์ประเด็นและแง่คิดในมิติใดออกมาได้บ้าง จะคล้ายกับประเด็นที่เกิดขึ้นในละครโทรทัศน์ไทยหรือไม่ หรือแตกต่างอย่างไร
หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสืออื่นของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library
หนังสือ คน ระคน ละคร มีจำหน่ายที่ SAC Shop และ SAC Shop Online ราคา 200 บาท สามารถสั่งซื้อได้ทางเว็บไซต์ https://shop.sac.or.th/th/product/14/
ผู้เขียน
วรินกานต์ ศรีชมภู
นักบริการสารสนเทศ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ คนระคนละคร วัฒนธรรมละคร วัฒนธรรมร่วมสมัย วรินกานต์ ศรีชมภู