วิธีวิทยาและชาติพันธุ์นิพนธ์ของเสียง (Methodology and Sonic Ethnography)
ความหมายของวิธีวิทยาของเสียง
การศึกษาเสียงในเชิงสังคมและวัฒนธรรม คือการทำความเข้าใจปฏิบัติการของเสียงที่เกิดขึ้นในกิจกรรมต่างๆ ที่มนุษย์กระทำขึ้นหรืออาศัยวัตถุสิ่งของและสิ่งมีชีวิตอื่นมาประกอบสร้างเสียง ประเด็นสำคัญในการทำความเข้าใจเสียงคือการเข้าถึงการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ อาจใช้เสียงและการได้ยินเป็นช่องทางสื่อสาร นอกเหนือไปจากการใช้ตา การมองเห็น การสัมผัสทางร่างกาย การลิ้มรส การดมกลิ่น การใช้โสตประสาทของมนุษย์เพื่อการรับรู้ถึงสรรพสิ่งอาจช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนและปฏิสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ (Gershon, 2019) วิธีวิทยาของเสียงยังตั้งคำถามสำคัญในการศึกษาสังคม ว่าผู้ศึกษาสามารถเข้าใจวัตถุที่ตนเองศึกษาผ่านการได้ยินได้หรือไม่ (Clifford & Marcus, 1986) คำถามนี้ทำให้เกิดการตรวจสอบการเขียนงานชาติพันธุ์นิพนธ์ที่มักจะอาศัยภาษาและตัวหนังสือ (ethnography-as-text) เพื่อเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโลกซึ่งกลายเป็นวิธีการสร้างความรู้กระแสหลัก หากแต่การอาศัยเสียงบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งต่างๆ จะช่วยขยายพรมแดนความรู้เกี่ยวกับโลกที่แตกต่างไปจากการอาศัยการเขียนและการอ่านในตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว
ในช่วงทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา การศึกษาวิจัยทางสังคมหันมาสนใจวิธีการใช้เสียงเป็นเครื่องมือในการอธิบายสิ่งต่างๆ มากขึ้น (Bauer, 2000; Gershon, 2012) ทั้งนี้สัมพันธ์กับการพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับการบันทึกเสียงที่ทันสมัย (Sterne, 2012) จนถึงปัจจุบันการศึกษาเสียงกลายเป็นความเชื่อมโยงของศาสตร์สาขาต่างๆ ซึ่งสนใจ “เสียง” ในมิติทางสุนทรียะ ศิลปะ อารมณ์ความรู้สึก การเมือง สังคมและวัฒนธรรม (Barrett, 2016) อย่างไรก็ตาม การศึกษาสังคมกระแสหลักก็ยังคงสงสัยว่าวิธีวิทยาของเสียงจะสามารถทำความเข้าใจและสร้างความรู้เกี่ยวกับสังคมได้อย่างไร ในประเด็นนี้ Gershon (2013, 2019) อธิบายว่าชาติพันธุ์นิพนธ์แห่งเสียง (sonic ethnography) พยายามแสวงหาความเป็นไปได้ที่จะบันทึกเรื่องราวผ่านเสียงแทนการบันทึกเป็นตัวอักษร ในแง่นี้ การบันทึกเรื่องราวผ่านเสียงจึงท้าทายและล้มล้างขนบเดิมๆ ของการเขียนงานทางชาติพันธุ์ เนื่องจากในประวัติศาสตร์ของการสร้างความรู้แบบตะวันตก ภาษาและตัวอักษรคือเครื่องมือสำหรับการอธิบายความรู้ วิธีการอื่นๆ จะถูกมองว่าไม่สามารถเข้าถึงและอธิบายความจริงได้เพียงพอ ชาติพันธุ์นิพนธ์แบบตัวหนังสือจึงสร้างบรรทัดฐานของความรู้ที่แข็งตัวและส่งผลให้วิธีการสร้างความรู้อื่นๆ ถูกปิดกั้น และถูกตีตราว่าเชื่อถือไม่ได้ (Gershon, 2017)
Tsing (2005) ตั้งข้อสังเกตว่างานเขียนทางชาติพันธุ์ของตะวันตกคือระบอบอำนาจที่เกิดขึ้นจากลัทธิอาณานิคม ซึ่งพยายามจัดวางความสัมพันธ์ของมนุษย์ผ่านมุมมองของเหตุผลและความรู้วิทยาศาสตร์ที่คนผิวขาวสร้างบรรทัดฐานเอาไว้ ซึ่งถือเป็นการลดทอนวิธีการสร้างความรู้แบบอื่นๆ ที่คนท้องถิ่นมิได้อาศัยภาษาเขียนและตัวหนังสือในการทำความเข้าใจโลก หากแต่พวกเขายังมีวิธีการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านผัสสะแบบอื่นๆ วิธีการสร้างความรู้ที่มิได้ยึดอยู่กับตัวหนังสือ อาจเป็นช่องทางที่ทำให้เห็นว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตไม่จำเป็นต้องปรากฎ ถ่ายทอดและแสดงออกเป็นภาษาเขียนเสมอไป (Gottleib & Graham, 2012) นักมานุษยวิทยาที่ท้าทายขนบการเขียนงานทาง ชาติพันธุ์ สนใจประสบการณ์ทางผัสสะของมนุษย์ในหลายวัฒนธรรม โดยการเข้าไปค้นหาว่าคนเหล่านั้นใช้อารมณ์ ความรู้สึก และผัสสะรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของสภาพแวดล้อมอย่างไรบ้าง
เทคนิควิธีในการศึกษาเสียง
“เสียง” ในฐานะเป็นเครื่องมือสำหรับการอธิบายและทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับสภาพแวดล้อม มนุษย์กับวัตถุสิ่งของ มนุษย์กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น การทำความเข้าใจดังกล่าวอาจเปิดเผยให้เห็นความกลมเกลียว ความสอดคล้อง ความขัดแย้ง และความไม่ลงรอย บางกรณีอาจเป็นเครื่องมือเพื่อการตรวจสอบและวิพากษ์ระบอบอำนาจที่กดขี่ข่มเหง เช่น การศึกษาเสียงและดนตรีของชาวแอฟริกันที่เป็นชนชั้นล่างในสังคมอเมริกัน (Edwards, 2017; Steinskog, 2018) นอกจากนั้น “เสียง” ยังเป็นข้อมูลและหลักฐานสำหรับการวิเคราะห์อารมณ์ความรู้สึกที่ปรากฎอยู่ในสังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม ซึ่งนักมานุษยวิทยาอาจนำมาใช้ร่วมกับการเก็บข้อมูลชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ทางสายตา การดมกลิ่น การสัมผัส และการได้ยินเสียง ซึ่งช่วยให้เข้าใจว่าการรับรู้ในความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ อาศัยผัสสะที่หลากหลาย (multisensory) (Pink, 2010)
ในการเขียนเรื่องเล่าเพื่อบอกเล่าชีวิตของมนุษย์และสิ่งต่างๆ นักมานุษยวิทยาต้องเริ่มต้นด้วยการได้ยินเสียงพูดของคนท้องถิ่น ได้ยินเสียงของวัตถุสิ่งของและเครื่องดนตรี ได้ยินเสียงสัตว์และสภาพแวดล้อมในภูมิประเทศ จากนั้นนักมานุษยวิทยาก็จะบันทึกเสียงที่ได้ยินเพื่อที่จะนำมาวิเคราะห์ว่ามีอะไรเกิดขึ้น “เสียง” จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างข้อมูล (Erickson, 2004) ประเด็นสำคัญคือ นักมานุษยวิทยาไม่ควรมองข้ามเสียงที่ปรากฎขึ้นในการสนทนาและในสภาพแวดล้อม คำพูดและภาษาที่เปล่งเสียงออกมามิใช่เพียงการบอกเล่า หากแต่ยังเป็นหลักฐานของอารมณ์และความรู้สึก เพราะในน้ำเสียงและโทนเสียงหนักเบาของการพูดแฝงไว้ด้วยประสบการณ์และความรู้สึกที่ผู้พูดสัมผัสถึงสิ่งต่างๆ การสนทนาจึงเป็นรูปแบบของเสียงที่นักมานุษยวิทยาควรให้ความใส่ใจ (Erlmann, 2004) ดังนั้น ทักษะของการได้ยินเสียงและเข้าใจว่าลีลาของเสียงดำเนินไปอย่างไร คือสิ่งที่นักมานุษยวิทยาควรฝึกฝนเพื่อที่จะสังเกตถึงจังหวะของเสียงที่ปรากฎขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้ง เครื่องมือและอุปกรณ์บันทึกเสียงคือสิ่งจำเป็น เปรียบเสมือนสมุดบันทึกที่จัดเก็บเสียงไว้เพื่อการศึกษาและวิเคราะห์ อาจกล่าวได้ว่าอุปกรณ์บันทึกเสียงคือสมุดบันทึกที่บอกเล่าสิ่งต่างๆ ด้วยท่วงทำนองของเสียง (Barz & Cooley, 2008)
ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อนักมานุษยวิทยาบันทึกคำพูด การสนทนาที่ได้จากคนท้องถิ่นหรือผู้ที่ให้ข้อมูล นักมานุษยวิทยามักจะเลือกเอาเสียงพูดและคำอธิบายที่สอดคล้องกับประเด็นที่ตนเองศึกษา ส่วนเสียงอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มันจะถูกลบและไม่ได้รับความสนใจ อย่างไรก็ตาม เมื่อ “เสียง” ทุกประเภทมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจสังคมและสภาพแวดล้อม นักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเสียงทุกรูปแบบที่ถูกบันทึกไว้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงของลม เสียงฝน เสียงสัตว์ เสียงต้นไม้เสียดสีกัน เป็นต้น เนื่องจากเสียงเหล่านั้นอาจทำให้นักมานุษยวิทยาเข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในท้องถิ่น (Bauer, 2000) ในแง่นี้ “เสียง” จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญ (sound-as-text) ซึ่งนักมานุษยวิทยาสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ Samuels et al. (2010) เสนอว่ามานุษยวิทยาแห่งเสียง (sounded anthropology) คือการทำความเข้าใจความหมายของเสียงทุกชนิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเสียงเหล่านั้นสะท้อนปรากฎการณ์ทางสังคมที่มนุษย์ปฏิบัติ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงไป
Feld & Brenneis (2004) อธิบายว่าชาติพันธุ์นิพนธ์แห่งเสียง (ethnographies of sound) คือวิธีการที่ “เสียง” ถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลเพื่อขยายขอบเขตความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมที่นักมานุษยวิทยาศึกษา ดังนั้น เสียงจึงมิได้จำกัดอยู่เฉพาะเสียงสนทนาระหว่างชาวบ้านกับนักมานุษยวิทยา หรือเป็นเสียงเฉพาะเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่นักมานุษยวิทยาสนใจบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ หากแต่เสียงทุกชนิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ล้วนมีความสำคัญ หรืออาจเรียกว่า ภูมิประเทศแห่งเสียง (soundscapes) อันหมายถึงเสียงนานาชนิดที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อม ทั้งเสียงที่มนุษย์สร้างและเสียงจากธรรมชาติ (Helmreich, 2007) ภูมิประเทศแห่งเสียงจึงเป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาความหมายของเสียงที่ปรากฎ Feld(2015) อธิบายว่าเสียงที่เกิดขึ้นในภูมิประเทศมีปฏิสัมพันธ์ต่อมนุษย์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เสียงจึงเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ช่วยทำให้มนุษย์เข้าใจความหมายของโลกและการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ ซึ่ง Feld เรียกสิ่งนี้ว่า “ญาณวิทยาแห่งเสียง” หรือ acoustemology (มาจากคำว่า acoustic epistemology) แนวคิดนี้พยายามทำความเข้าใจความต่างของเสียงที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์กับเสียงที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม Samuels et al. (2010) อธิบายว่าภูมิประเทศแห่งเสียงมิควรแยกว่าเสียงชนิดใดคือสิ่งที่มนุษย์สร้าง หรือเสียงแบบใดที่มิใช่มนุษย์สร้าง เพราะการทำความเข้าใจเสียงในภูมิประเทศต้องมองเห็นความสัมพันธ์ร่วมกันไม่ว่าเสียงจะมาจากแหล่งใด Geurts (2002) ตั้งข้อสังเกตว่าผัสสะของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานและรูปแบบที่เหมือนกัน ในขณะที่สังคมสมัยใหม่มักจะยึดผัสสะแบบสังคมตะวันตกที่จำแนกเป็น รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เป็นมาตรฐานกลางในการอธิบายประสบการณ์ทางความรู้สึก แต่คนในวัฒนธรรมอื่นผัสสะที่นอกเหนือจาก 5 ประเภทนี้อาจมีความสำคัญเช่นกัน ดังนั้น ผัสสะจากการได้ยินและการฟังเสียงในแต่ละสังคมอาจมีรูปแบบที่ต่างกัน ข้อสังเกตดังกล่าวทำให้เกิดการทบทวนว่า “เสียง” ที่ปรากฏอยู่ในสภาพแวดล้อมมีคุณค่าในแบบตัวเองที่ไม่อาจใช้มาตรฐานทางผัสสะแบบตะวันตกไปประเมินได้
ในการศึกษา “เสียง” ที่เกิดขึ้นในศาสตร์ต่างๆ เป้าหมายของการศึกษาอาจมีจุดเน้นที่ไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ในแวดวงดนตรีศึกษา เสียงจะถูกวิเคราะห์ในฐานะเป็นตัวบทและเรื่องราวที่บ่งชี้เกี่ยวกับจังหวะ ทำนองที่มีโครงสร้างอย่างใดอย่างหนึ่ง นักวิชาการด้านดนตรีจะศึกษา “เสียง” เพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของท่วงทำนองที่ทำให้เกิดดนตรี ส่วนนักมานุษยวิทยาที่สนใจศึกษาเสียงพยายามทำความเข้าใจว่ามนุษย์ใช้เสียงเพื่อสร้างความหมายให้กับโลกและสิ่งต่างๆ อย่างไร ในแง่นี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องพัฒนาทักษะการได้ยินของตนเองเพื่อที่จะรับฟังเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากสภาพร่างกายและอวัยวะที่รับฟังเสียงของมนุษย์แต่ละคนย่อมจะมีขีดจำกัดที่ต่างกัน บางคนอาจได้ยินเสียงที่แผ่วบางได้ บางคนต้องอาศัยเสียงดังเพียงพอเพื่อที่จะได้ยิน ขีดจำกัดของอวัยวะรับฟังเสียงจึงเป็นเงื่อนไขและเป็นตัวแปรที่ทำให้นักมานุษยวิทยาแต่ละคนได้ข้อมูลเสียงที่ไม่เหมือนกัน นอกจากนั้น วิธีการและขั้นตอนการบันทึกเสียงก็มีความสำคัญ เพราะสะท้อนว่าคุณภาพของเสียงที่บันทึกเป็นอย่างไร การบันทึกเสียงในสภาพแวดล้อมยังต้องคำนึงถึงเสียงที่หลากหลาย (polyvocality) นักมานุษยวิทยาควรบันทึกเสียงทุกประเภทที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะเสียงชนิดต่างๆ อาจช่วยให้เข้าใจปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น
ตัวอย่างการศึกษาของ Rice et al (2021) เกี่ยวกับเสียงที่เกิดขึ้นในสวนสัตว์ในประเทศอังกฤษ พบว่ามนุษย์ที่เข้าไปชมสัตว์มีปฏิสัมพันธ์ทางเสียงที่สัตว์เปล่งออกมา เสียงของสัตว์สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชม การศึกษานี้พยายามทำความเข้าใจว่าสวนสัตว์ที่มนุษย์คุ้นเคยและมักจะรับรู้ผ่านสายตาและการจ้องมองสัตว์ คือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเสียงที่แตกต่างหลากหลาย ขณะเดียวกัน ทำให้ผู้เข้าไปเที่ยวสวนสัตว์รับรู้การมีอยู่ของสัตว์ที่ต่างไปจากการมอง เมื่อผู้คนสนใจเสียงที่เกิดขึ้น พวกเขาจะตั้งใจฟัง ไม่ส่งเสียงดัง เพื่อสัมผัสถึงเสียงของสัตว์ที่มีรูปแบบและลักษณะที่ไม่เหมือนกัน ความเงียบและการไม่ส่งเสียงขณะมองดูสัตว์คือการแสดงความตั้งใจและมีสมาธิต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถือเป็นวิธีการใหม่ที่ผู้เที่ยวสวนสัตว์ไม่เคยสนใจมาก่อน จะเห็นว่า การเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับสัตว์ผ่านเสียงคือรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสายพันธุ์ที่สร้างประสบการณ์ใหม่ โดยเฉพาะท่าทีที่มนุษย์แสดงออกกับสัตว์อาจเปลี่ยนแปลงไปจากการใช้สายตาจ้องมอง เมื่อการฟังเสียงสัตว์จำเป็นต้องอาศัยสมาธิ ความตั้งใจและความละเอียดอ่อน อาจทำให้มนุษย์ค้นพบว่าการรับรู้ถึงการมีชีวิตของสัตว์จำเป็นต้องใส่ใจในรายละเอียด การมองดูสัตว์แบบเดิมๆ ที่มักจะสนใจเฉพาะรูปร่างและพฤติกรรมของมัน อาจทำให้เห็นการมีอยู่ของสัตว์ในขอบเขตที่สายตามองเห็นเท่านั้น แต่จะไม่เข้าใจความรู้สึกอื่นๆ ที่สัตว์แสดงออกมา ประสบการณ์จากการได้ยินเสียงอาจทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเที่ยวสวนสัตว์และอาจทำให้ตระหนักว่ามนุษย์ควรแสดงพฤติกรรมอย่างไรในการสัมผัสถึงชีวิตของสัตว์ที่แตกต่างหลากหลาย Rice et al (2021) กล่าวว่าช่วงเวลาที่มนุษย์เข้าไปเที่ยวสวนสัตว์คือช่วงเวลาที่มนุษย์ควรได้รับการพักผ่อนและมีโอกาสอยู่กับความเงียบ ทำให้เวลาในสวนสัตว์เป็นเวลาที่มนุษย์สามารถได้ยินเสียงและช่วยทำให้เห็นการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่น
เอกสารอ้างอิง
Barrett, G. D. (2016). After sound: Toward a critical music. New York, NY: Bloomsbury Academic.
Barz, G. F., & Cooley, T. J. (2008). Shadows in the field: New perspectives for fieldwork in ethnomusicology (2nd ed.). Oxford, U.K.: Oxford University Press.
Bauer, M. W. (2000). Analysing noise and music as social data. In M. W. Bauer & G. Gaskell (Eds.), Qualitative researching with text, image, and sound (pp. 263–281). London: SAGE.
Clifford, J., & Marcus, G. E. (1986). Writing culture: The poetics and politics of ethnography. Berkeley: University of California Press.
Edwards, B. H. (2017). Epistrophies: Jazz and the literary imagination. Cambridge, MA: Harvard University Press.
Erickson, F. (2004). Talk and social theory: Ecologies of speaking and learning in everyday life. Malden, MA: Polity Press.
Erlmann, V. (2004). Hearing cultures: Essays on sound, listening, and modernity. New York, NY: Bloomsbury Press.
Feld, S., & Brenneis, D. (2004). Doing ethnography in sound. American Ethnologist, 31(4), 461– 474.
Feld, S. (2015). Acoustemology. In D. Novak & M. Sakakeeny (Eds.), Keywords in sound (pp. 12–21). Durham, NC: Duke University Press.
Gershon, W. S. (2012). Sonic ethnography as method and in practice: Urban students, sounds, and making sense of science. Anthropology News, 53 (5), 5 and 12.
Gershon, W. S. (2013). Vibrational affect: Sound theory and practice in qualitative research. Cultural Studies ←→ Critical Methodologies, 13(4), 257–262.
Gershon, W. S. (2017). Sound curriculum: Sonic studies in educational theory, method, and practice. New York, NY: Routledge
Gershon, W.S. (2019). Sonic Ethnography in Theory and Practice. Retrieved from https://www.academia.edu/40244434/Sonic_Ethnography_in_Theory_and_Practice
Geurts, K. L. (2002). Culture and the senses: Bodily ways of knowing in an African community. Berkeley: University of California Press.
Gottleib, A., & Graham, P. (2012). Braided worlds. Chicago, IL: University of Chicago Press.
Helmreich, S. (2007). An anthropologist underwater: Immersive soundscapes, submarine cyborgs, and transductive ethnography. American Ethnologist, 34(4), 621–641.
Pink, S. (2010). The future of sensory anthropology/the anthropology of the senses. Social Anthropology, 18(3), 331–333.
Rice, T., Reed, A., Badman-King, A., Hurn, S., & Rose, P. (2021). Listening to the zoo: Challenging zoo visiting conventions, Ethnos, DOI:10.1080/00141844.2021.1966070
Samuels, D. W., Meintjes, L., Ochoa, A. M., & Porcello, T. (2010). Soundscapes: Toward a sounded anthropology. Annual Review of Anthropology, 39, 329–345.
Steinskog, E. (2018). Afrofuturism and Black sound studies: Culture, technology, and things to come. Cham, Switzerland: Palgrave.
Sterne, J. (2012). The sound studies reader. New York, NY: Routledge.
Tsing, A. L. (2005). Friction: An ethnography of global connection. Princeton, NJ: Princeton University Press.
ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยและพัฒนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ป้ายกำกับ วิธีวิทยาแบบติดตาม ชาติพันธุ์นิพนธ์ ผู้ไร้เสียง Methodology Sonic ethnography นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ