คุณค่าของความรู้ที่หายไปในระบบวิจัยด้านสังคมศาสตร์

 |  ระเบียบวิธีวิจัย และการศึกษาภาคสนาม
ผู้เข้าชม : 4790

คุณค่าของความรู้ที่หายไปในระบบวิจัยด้านสังคมศาสตร์

           ในปัจจุบัน ความไม่สมดุลระหว่างความรู้แบบวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ถือเป็นปัญหาสำคัญในระบบวิจัยของไทย ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้การทำความเข้าใจชีวิตของประชาชนมักมองผ่านดัชนีความสำเร็จเชิงตัวเลขและวัตถุวิสัย แนวทางดังกล่าวนี้ตอกย้ำการใช้ความรู้เพื่อสร้างผลผลิตเชิงเศรษฐกิจแบบสุดโต่ง จนทำให้ชีวิตประชาชนเป็นเพียงกลไกในระบบทุนนิยมที่ต้องต่อสู้แย่งชิงและแข่งขัน เพื่อจะกระเสือกกระสนและดิ้นรนทำให้ตนเองมีทรัพย์สินเงินทองและประสบความสำเร็จเชิงวัตถุ ดังจะเห็นได้จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง การมีชีวิตที่ยากลำบากของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย การไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง การไม่เข้าใจชีวิตของแรงงานข้ามชาติ อคติต่ออัตลักษณ์ทางอุดมการณ์ เชื้อชาติ ศาสนา และความหลากหลายทางเพศ การขาดโอกาสและสวัสดิการของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสจำนวนมาก ช่องว่างระหว่างช่วงวัยของคนรุ่นใหม่กับผู้สูงอายุที่อยู่ในครัวเรือนและชุมชนเดียวกัน ตัวอย่างเหล่านี้คือผลจากการขาดความรู้ทางสังคมศาสตร์และการมองข้ามข้อวิพากษ์วิจารณ์ ที่นักสังคมศาสตร์ได้พยายามสร้างความรู้และชี้ให้เห็นผลที่คาดไม่ถึงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ รวมไปถึงระบอบอำนาจที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่ม และในขณะเดียวกันก็บีบคั้นคนบางกลุ่มจนสิ้นไร้ไม้ตอก ทิศทางในการขับเคลื่อนความรู้ที่เป็นอยู่จำเป็นต้องอาศัยการศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่มากไปกว่าแนวทางข้างต้น เพื่อเป็นบทสะท้อนทิศทางและวางเป้าหมายต่อการสร้างความรู้เพื่อการพัฒนาของประเทศ ที่เข้าถึงมิติความเป็นมนุษย์ในลักษณะต่าง ๆ

           ในปี พ.ศ. 2566 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินโครงการสำรวจภูมิทัศน์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อสำรวจสถานะความรู้และคุณูปการของงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ วิเคราะห์ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง การกระจายตัว และพัฒนาการของประเด็นวิจัย ตลอดจนประเมินความก้าวหน้าและช่องว่างที่ยังขาดแคลน (gap of knowledge) สำรวจและวิเคราะห์ระบบวิจัยผ่านข้อคิดเห็นของนักวิจัยคนสำคัญด้านสังคมศาสตร์ในการยกระดับสถานะความรู้และคุณูปการของงานวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากำลังคนด้านการวิจัย รวมถึงแนวทางการสร้างระบบสนับสนุนทุนวิจัยของ สกสว. ด้านสังคมศาสตร์ ที่จะช่วยยกระดับสถานะความรู้และคุณูปการของการวิจัยสังคมศาสตร์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างต่อไปในภายหน้า งานสัมมนา วาระการวิจัยสังคมศาสตร์และเครือข่ายนักวิจัยสังคมศาสตร์ของประเทศไทย ครั้งที่ 1 “ภูมิทัศน์สังคมศาสตร์ไทย สถานะ คุณค่า และทิศทางการพัฒนา” ที่จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) วางอยู่บนปัญหาท้าทายที่ระบบวิจัยของไทยกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะในด้านสังคมศาสตร์ เพื่ออธิบายให้เห็นสภาพปัญหาและที่มาที่ไปของงานสัมมนาข้างต้น ผู้เขียนขอนำเสนอบทสรุปย่อรายงานโครงการดังต่อไปนี้


สังคมศาสตร์: พัฒนาการฉบับย่อจากโลกถึงไทย

           การก่อตัวขึ้นของสังคมศาสตร์ในยุคแรก ๆ เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศของความรู้แบบวิทยาศาสตร์ การขยายตัวของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ส่งผลให้รากความคิดของสังคมศาสตร์มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ของสังคม หรือเรียกกันทั่วไปว่าสังคมศาสตร์แบบปฏิฐานนิยม (positivism) ซึ่งให้ความสำคัญกับการมุ่งศึกษาสังคมในเชิงสถิติ การคิดคำนวณเชิงปริมาณ และภาวะเป็นกลางของความรู้ อย่างไรก็ดี พัฒนาการของสังคมศาสตร์ในระยะหลังมีความโน้มเอียงไปทางมนุษยนิยม (humanism) ซึ่งให้ความสำคัญกับการศึกษาสังคมผ่านประสบการณ์ คุณค่า ความหมาย ตลอดจนการวิพากษ์มากขึ้นเป็นลำดับ เหตุการณ์สงครามเย็นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสังคมศาสตร์ในประวัติศาสตร์โลก เนื่องด้วยสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศผู้นำชัยชนะมาสู่สงคราม ให้ความสำคัญกับสังคมศาสตร์ที่อาศัยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกัน วิธีคิดแบบวิพากษ์ในสังคมศาสตร์ก็ถูกเชื่อมโยงกับลัทธิมาร์กซ์และขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับมหาอำนาจของโลกเสรีในช่วงสงครามอุดมการณ์ หรือก็คือสมัยสงครามเย็น

           ในช่วงเวลาเดียวกัน สังคมศาสตร์ถูกนำเข้าสู่ประเทศไทยในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยสร้างความทันสมัย ฉากหลังของการนำสังคมศาสตร์เข้าสู่ประเทศไทยดังกล่าวคือการรับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในรูปแบบต่าง ๆ จากสหรัฐอเมริกา เพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่กำลังลุกลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดเริ่มต้นของระบบวิจัยไทยเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ นั่นคือการเกิดขึ้นของ วช. เมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยมุ่งนำการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ไปปรับใช้เพื่อพัฒนาประเทศ สังคมศาสตร์ที่ประเทศไทยได้รับมาโดยแรกเริ่มจึงเป็นสังคมศาสตร์แบบปฏิฐานนิยม ต่อมาเมื่อประเทศไทยยกระดับไปสู่ประเทศรายได้ปานกลาง มีการตั้ง สกว. ขึ้นในปี พ.ศ. 2535 เพื่อส่งเสริมงานวิจัยที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ การลงทุน การจัดการทรัพยากร ตลอดจนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความรู้สังคมศาสตร์ที่ระบบวิจัยให้ความสำคัญยังเป็นแบบปฏิฐานนิยม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2562 มีการตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามมาด้วยการปฏิรูประบบวิจัย โดยยุบเลิก สกว. และก่อตั้ง สกสว. ขึ้นมาในฐานะหน่วยงานกลางที่ขับเคลื่อนระบบวิจัยของไทย โดยที่ วช. เดิมกลายเป็นหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) หน่วยหนึ่งในระบบที่ปฏิรูปขึ้นมาใหม่


ระบบวิจัยก่อนการปฏิรูป

           ก่อนการปฏิรูประบบวิจัยของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2562 แหล่งทุนสำคัญที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่นักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ในระบบวิจัยคือ วช. และ สกว. การพิจารณาฐานข้อมูลงานวิจัยของ สกว. และ วช. ในช่วง 10 ปีก่อนการปฏิรูป คือระหว่างปี พ.ศ. 2553 – 2562 พบว่าการประเมินผลการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ของ สกว. ยังใช้หลักการเดียวกับการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และน่าสังเกตว่าในช่วงเวลา 10 ปีดังกล่าว ประเภทของโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดคือโครงการประเภทวิจัยและพัฒนา ถึงร้อยละ 70.67 ในขณะที่ วช. ให้ความสำคัญกับสาขาวิชาด้านศิลปกรรมและการศึกษา สกว. มุ่งเน้นการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในระดับมหาวิทยาลัยสูงถึงร้อยละ 94.32 บนข้อเท็จจริงที่โจทย์การวิจัยของสังคมศาสตร์ถูกกำกับโดยนโยบายระดับชาติ ไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ตลอดจนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผ่านการแปลงมาสู่ยุทธศาสตร์การวิจัยต่าง ๆ ทิศทางการสร้างความรู้ที่ สกว. และ วช. สนับสนุน จึงสัมพันธ์กับการสร้างความรู้เพื่อประโยชน์ที่โจทย์และผลของการวิจัยจะตอบสนองต่อนโยบายและความต้องการของผู้บริหารประเทศเป็นสำคัญ


คุณค่าของความรู้สังคมศาสตร์

           กล่าวได้ว่า คุณค่าของความรู้สังคมศาสตร์ที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับการหยิบเนื้อหาขึ้นมาใช้ประโยชน์ตามกรอบการวิจัยและการนำไปใช้ประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ทว่าคุณค่าของความรู้สังคมศาสตร์ไม่ได้มีเพียงความจำเป็นต้องการข้างต้น หากแต่มีอยู่อย่างหลากหลายตามแต่การประเมินคุณค่าทั้งจากภายในและภายนอก ตั้งแต่ทัศนะต่อความรู้ (มนุษย์นิยม-ปฏิฐานนิยม) ซึ่งจะกำหนดว่าความรู้ทางสังคมศาสตร์จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ตลอดจนจะเข้าถึงความรู้นั้นด้วยวิธีการแบบใด เป้าหมายของความรู้ (การวางพื้นฐานเพื่อการเติบโตทางปัญญา-การประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดโดยแรกเริ่มว่าความรู้นั้นจะมีคุณค่าแบบใดและถูกใช้ภายใต้วัตถุประสงค์ใด หน้าที่ของความรู้ (การนิยามและอธิบายปัญหา-การแทรกแซงแก้ไขเพื่อหาทางออกจากปัญหา) ซึ่งแสดงให้เห็นความคาดหวังต่อหน้าที่และการดำรงอยู่ในสังคมของความรู้สังคมศาสตร์ ตลอดจนบทบาทของความรู้ (ตรวจสอบและวิพากษ์ให้เห็นจุดอ่อน-รับใช้และตอบสนองความต้องการของรัฐและผู้มีอำนาจ) ที่จะขับเคลื่อนโลกแห่งความเป็นจริงในลักษณะใด ภายใต้การประเมินคุณค่าเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าสภาวะขัดแย้งปรากฏขึ้นในแง่มุมต่าง ๆ อย่างเด่นชัด การพิจารณาคุณค่าของความรู้นำไปสู่การสร้างเครื่องมือแบบคู่แกนและตัวแปรที่เรียกว่า กรอบการประเมินความรู้สังคมศาสตร์หลายมิติ สำหรับใช้วิเคราะห์และปรับสมดุลในลักษณะของตัวแบบในอุดมคติ (ideal type) ผ่านการมองคุณค่าแบบต่าง ๆ ของสังคมศาสตร์ที่มากไปกว่าการใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาและการมองความรู้ทางสังคมศาสตร์ในระนาบเดียวกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์

           จากการนำกรอบการประเมินความรู้สังคมศาสตร์หลายมิติดังกล่าวมาใช้วิเคราะห์ฐานข้อมูลการวิจัยของ สกว. และ วช. ในรอบ 10 ปี คือ พ.ศ. 2553 -2562 พบว่าในคู่แกนแรก การวิจัยส่วนใหญ่คือร้อยละ 67.64 มีแนวโน้มเป็นการวิจัยแบบปฏิฐานนิยม ในขณะที่แนวโน้มการวิจัยแบบเป็นกลางและแบบมนุษยนิยมมีร้อยละ 16.74 และ 15.62 ตามลำดับ ในคู่แกนที่สอง พบว่าการวิจัยส่วนใหญ่ร้อยละ 53.13 มีแนวโน้มเป็นการวิจัยแบบประยุกต์ ในขณะที่การวิจัยแบบเป็นกลางและแบบพื้นฐานมีมีร้อยละ 22.95 และ 23.92 เป็นลำดับ ส่วนในคู่แกนที่สาม พบว่างานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยเชิงนโยบายร้อยละ 61.84 ร้อยละ 29.72 เป็นงานวิจัยแบบเป็นกลาง และงานวิจัยแบบวิพากษ์มีเพียงร้อยละ 8.44 และคู่แกนสุดท้าย พบว่างานวิจัยส่วนใหญ่ร้อยละ 75.37 มุ่งเสนอทางออก ในขณะที่งานวิจัยเป็นกลางมีร้อยละ10.75 และแบบอธิบายมีร้อยละ 13.94 จากการวิเคราะห์ดังกล่าว ทำให้เห็นว่างานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ในช่วง 10 ปีก่อนการปฏิรูประบบวิจัย ให้ความสำคัญกับคุณค่าของความรู้แบบปฏิฐานนิยม การวิจัยประยุกต์ การวิจัยเพื่อตอบโจทย์นโยบาย และการวิจัยที่ชี้ให้เห็นทางออกของปัญหา ในขณะที่คุณค่าของความรู้แบบมนุษย์นิยม การวิจัยพื้นฐาน การวิจัยเชิงวิพากษ์ และการวิจัยเพื่อนิยามและอธิบายสภาพปัญหา ถูกให้ความสำคัญน้อยในการให้ทุนสนับสนุนความรู้ ในระบบวิจัยที่โอบอุ้มความรู้ที่มีคุณค่าบางอย่างตามความต้องการ ความรู้ที่มีคุณค่าอีกอย่างซึ่งถูกมองข้ามได้แต่ถูกทำให้หล่นหายไป

กราฟแสดงค่าร้อยละของความถี่การให้คะแนนทั้ง 4 ตัวแปร
จากฐานข้อมูลงานวิจัย วช. และ สกว. พ.ศ 2553 – 2562

 

แผนภาพแสดงการกระจายตัวโดยค่าร้อยละของการสร้างความรู้ตามตัวแบบ 4 คู่แกน 8 ตัวแปรจากฐานข้อมูลงานวิจัย วช. และ สกว. พ.ศ 2553 – 2562


ปัญหารุมเร้าในระบบวิจัย

           นอกเหนือไปจากการสำรวจงานวิจัยที่ถูกวางกรอบโดยยุทธศาสตร์และนโยบายในระบบวิจัยเพียงอย่างเดียว การทำงานของระบบวิจัยที่อยู่ภายใต้เป้าหมายของรัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมคุณค่าของความรู้บางแบบ และในขณะเดียวกันก็ทำให้คุณค่าของความรู้บางแบบหายไปจากระบบ กล่าวได้ว่าแหล่งทุนในสังกัดของรัฐอย่าง วช. และ สกว. เป็นแหล่งทุนที่เป็นที่พึ่งหลักสำหรับนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ แต่กระนั้นเอง แหล่งทุนดังกล่าวกลับสร้างข้อจำกัดมากมายให้กับนักวิจัย ปัญหาที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่ การกำหนดให้ต้องระบุผลผลิตของงานวิจัยให้ตรงกับยุทธศาสตร์ของรัฐ การใช้แพลตฟอร์มสำหรับยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยเข้ามากำกับประเด็นการศึกษา การสร้างภาระทางเอกสารและการทำบัญชีสำหรับการวิจัยภาคสนาม ขั้นตอนและความซับซ้อนเชิงกระบวนการที่ไม่จำเป็นในการรับทุน ตลอดจนการกำกับแนวทางการวิจัยเพื่อให้ได้ผลผลิตเชิงนโยบายและนวัตกรรม นอกจากนี้แล้ว ยังมีปัญหาอื่น ๆ ในระบบที่ทับถมและส่งผลต่อกันเป็นทอด ๆ เช่น การจ่ายเงินทุนวิจัยล่าช้า การใช้ปีงบประมาณเป็นกรอบเวลาทำงานวิจัยของนักวิจัย ความไม่ยืดหยุ่นของการจัดการทุน การเมืองในระบบราชการ การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิไม่ตรงกับประเด็นและวิธีการทำวิจัย การที่ลักษณะการให้ทุนบางแบบถูกมองว่าเป็นการสร้างระบบอุปถัมภ์ รวมถึงการที่แหล่งทุนมองการสร้างความรู้เป็นเรื่องของการรับใช้มากกว่าการสร้างปัญญา ในประเด็นหลังนี้ การสร้างความรู้เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐมากกว่าที่จะเป็นการชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา ถูกมองว่าไม่นำไปสู่การนำเสนอความรู้และวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ อีกทั้งการใช้ยุทธศาสตร์และนโยบายการวิจัยมาเป็นกรอบชี้นำแนวทางการทำงานวิจัยได้สร้างภาวะกลับหัวกลับหางในการสร้างความรู้ นั่นคือแทนที่การสร้างความรู้งานวิจัยจะเข้ามาช่วยกำหนดหน้าตาของนโยบายรัฐ กลับเป็นรัฐที่กำหนดนโยบายลงมาควบคุมการสร้างความรู้ในแบบที่รัฐต้องการ ดังนี้เอง นอกเสียจากคุณค่าของความรู้บางอย่างจะถูกกีดกันในระดับนโยบายแล้ว ปัญหารุมเร้าในระบบวิจัยเองยังผลักไสให้นักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ซึ่งจะผลิตงานที่ให้ความรู้ในคุณค่าแบบดังกล่าวถอยห่างออกจากระบบวิจัยอีกด้วย


การพัฒนาระบบวิจัยด้านสังคมศาสตร์

           เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมศาสตร์หลังการปฏิรูปให้ได้ผล ควรมีการ (1) จัดทำและประกาศ “วาระการวิจัยด้านสังคมศาสตร์” ที่ตระหนักและส่งเสริมคุณค่าที่หลากหลายของความรู้ด้านสังคมศาสตร์ ตลอดจนยกระดับสถานะของความรู้ด้านสังคมศาสตร์ให้ทัดเทียมกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (2) ปรับแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 การเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมและความเป็นมนุษย์ควบคู่กันไป (3) จัดทำโครงร่างการใช้ประโยชน์จากการวิจัยด้าสังคมศาสตร์ที่ระบุกรอบและแนวทางการส่งเสริมคุณค่าและการใช้ประโยชน์จากการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ให้กว้างกว่าเพื่อรับใช้นโยบายของรัฐ หรือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรม (4) ปฏิรูปองค์กรสนับสนุนการวิจัยด้านสังคมศาสตร์โดยจัดตั้งหน่วยบริหารจัดการทุนด้านสังคมศาสตร์โดยเฉพาะ ปรับบทบาทของหน่วยบริหารจัดการทุนให้ทำงานเชิงรุก สร้างระบบนิเวศของการเรียนรู้อย่างเหมาะสม (5) สร้างระบบติดตามประเมินการส่งเสริมความหลากหลายของความรู้และการใช้ประโยชน์ของสังคมศาสตร์เพื่อให้เกิดกลไกป้อนกลับและการปรับตัว และ (6) สร้างธรรมาภิบาลของระบบวิจัย โดยสร้างการมีส่วนร่วมของสาธารณะและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทบทวนระบบบริหารให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดงานเอกสาร การจัดการ และระเบียบราชการซึ่งถือเป็นภาระอื่น ๆ นอกเหนือไปจากการทำงานวิจัย รวมถึงติดตามและตรวจสอบข้อสังเกตเรื่องความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะอุปถัมภ์ ตลอดจนการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่สอดคล้องกับโครงการวิจัย การปรับปรุงระบบวิจัยด้านสังคมศาสตร์เช่นนี้จะช่วยสร้างสมดุลความรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม เกิดการใช้ความรู้เพื่อการตรวจสอบการทำงานของรัฐ ทำให้ความรู้ทางสังคมเป็นความรู้เพื่อสาธารณะ ตลอดจนให้วิสัยทัศน์และปัญญาช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยบนพื้นฐานการทำงานวิจัยได้อย่างเหมาะสม


วาระการวิจัยสังคมศาสตร์

           จากสรุปย่อรายงานการวิจัยข้างต้น จะเห็นได้ถึงภาพคร่าว ๆ ของการเมืองว่าด้วยความรู้ในระบบสนับสนุนการวิจัย นั่นคือสภาวะที่ความรู้บางแบบถูกยกย่อง ในขณะที่ความรู้บางแบบถูกด้อยค่า หรือถูกเลือกหยิบขึ้นมาใช้เฉพาะบางคุณค่าที่มีแนวทางคล้อยตามความรู้ที่ถูกยกย่อง ปัญหาดังกล่าวเป็นผลมาจากยุทธศาสตร์และนโยบายการวิจัยที่กำกับการทำงานของระบบวิจัยของรัฐ ซึ่งให้คุณค่ากับการนำความรู้สังคมศาสตร์ไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในมิติการพัฒนาเศรษฐกิจ พาณิชย์และอุตสาหกรรม รวมถึงการตั้งธงว่าข้อค้นพบของการวิจัยจำเป็นต้องตอบสนองหรือมีคุณค่าต่อการแปลงผลลัพธ์ให้เป็นนโยบาย การทำงานวิจัยตามความสนใจหรือแม้แต่ลักษณะเฉพาะของสาขาวิชาที่ไม่ตอบสนองต่อแนวทางดังกล่าวจึงยากต่อการได้รับการสนับสนุน ขั้นตอนที่ไม่จำเป็นตลอดจนระเบียบที่ยุ่งยากและไม่ยืดหยุ่น ไม่ดึงดูดใจนักวิชาการที่มีความสามารถเข้ารับการสนับสนุนในระบบวิจัย ประกอบกับประเด็นเรื่องธรรมาภิบาลที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่ขาดคุณภาพ การเมืองในระบบราชการและการอุปถัมภ์ทางวิชาการ ชี้ให้เห็นว่าระบบนิเวศทางการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ไม่เอื้อต่อการทำงานวิจัยตามเส้นทางความสนใจของแต่ละคนและแนวทางในอาชีพอย่างเสรี

           การทำงานวิจัยของนักสังคมศาสตร์ไม่ใช่เพียงนั่งอ่าน นั่งคิด นั่งเขียน แล้วได้ผลงานวิจัยออกมาเป็นเรื่องเป็นราวโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกอื่น ๆ การทำงานวิจัยของนักสังคมศาสตร์จำนวนมากพึ่งพาข้อมูลจากสนามวิจัย ผู้ให้ข้อมูล การประสานงาน ตลอดจนการสนับสนุนในลักษณะต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยด้านสังคมศาสตร์จึงจำเป็นต้องมีระบบสนับสนุน ในการเข้าสู่ระบบวิจัยที่ผ่านมา หากประเด็นและแนวทางของการทำงานวิจัยของนักสังคมศาสตร์ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายการวิจัยของระบบวิจัยไทย พวกเขาก็จำเป็นต้องแสวงหาการสนับสนุนจากแหล่งทุนอื่น ๆ เช่น องค์กรหรือมูลนิธิจากต่างประเทศ ภายใต้การแข่งขันเพื่อเข้าถึงทุนสนับสนุนการวิจัย หากคนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนประเภทนี้ได้ พวกเขาก็ยากที่จะทำงานวิจัยได้ตามความสนใจของตนเอง เพื่อให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงการสนับสนุนได้อย่างเสมอหน้าสำหรับการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ การทำให้เกิดวาระเพื่อให้เห็นทิศทางของการทำงานวิจัยและการสนับสนุนการวิจัยเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ดี การทำให้เกิดวาระดังกล่าวไม่ใช่การนำประเด็นหรือหัวข้อที่นักวิจัยแต่ละคนศึกษามาเป็นวาระระดับบุคคล เพราะถึงอย่างไรความสนใจที่กลายเป็นวาระก็จะไปผูกกับยุทธศาสตร์หรือนโยบายที่อยู่นอกบุคคล ในแง่นี้ เมื่อวาระยังเป็นเรื่องของประเด็นศึกษา และหากวาระย่อยของบุคคลไม่สอดคล้องกับวาระใหญ่ของนโยบาย วาระที่หมายถึงเส้นทางความสนใจของแต่ละคนก็ไม่สามารถดำเนินการได้หรือดำเนินการได้ยาก และหากวาระใหญ่ของนโยบายเป็นการบอกว่าควรมีการศึกษาเรื่องอะไร สถานการณ์ของระบบวิจัยด้านสังคมศาสตร์ก็ไม่น่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลง

           ความคิดเห็นของนักวิชาการบางคนที่บอกว่า “สายวิทยาศาสตร์ไม่เห็นเค้ามี ‘วาระการวิจัย’ เลย เค้าจะทำอะไรเค้าก็ทำ...วาระก็คือเส้นทางความสนใจของแต่ละคน” ตอกย้ำความสำคัญของสภาพปัญหาที่โครงการนี้นำมาเป็นโจทย์ตั้งแต่แรกเริ่ม ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ถูกให้คุณค่ามากกว่าสังคมศาสตร์เป็นทุนเดิม ส่งผลให้คุณค่าของความรู้สังคมศาสตร์บางอย่างหายไป เหลือแต่เพียงคุณค่าที่สอดคล้องกับแนวทางแบบวิทยาศาสตร์ การหายไปของคุณค่าเหล่านี้ในระบบวิจัยไม่ใช่การหายไปอย่างเป็นธรรมชาติซึ่งผู้คนไม่เชื่อถือหรือเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี แต่เป็นการหายไปจากการกำกับควบคุมโดยนโยบาย ความไม่ดึงดูดของระเบียบต่าง ๆ ตลอดจนการเมืองและการอุปถัมภ์ที่ดำรงอยู่ในระบบวิจัย กล่าวได้ว่า คุณค่าของความรู้ที่หายไปไม่ใช่เพราะไม่มีคนทำหรือไม่มีใครอยากทำ แต่ไม่มีคนทำเพราะไม่ได้รับการสนับสนุน ในขณะเดียวกัน หัวข้อการวิจัยที่ไม่ค่อยมีใครอยากทำแต่ได้รับการสนับสนับสนุนให้ทำ ทำให้เกิดการผลิตงานวิจัยที่นักวิจัยต้องตะแบงทำทั้งที่ไม่อยากทำอยู่มาก การพูดถึงวาระจึงไม่ควรเป็นเพียงเรื่องของบุคคลและหัวข้อการวิจัย แต่ควรเป็นเรื่องของการประเมินคุณค่าของงานวิจัยที่ระบบจะให้การสนับสนุน

           ดังกล่าวมานี้ เมื่อวาระเคลื่อนจากการกำหนดว่าควรมีการศึกษาเรื่องอะไรมาสู่การประเมินคุณค่าของงานวิจัยที่ระบบจะให้การสนับสนุน นักวิจัยด้านสังคมศาสตร์สามารถศึกษาเรื่องราวและประเด็นต่าง ๆ ได้ตามเส้นทางความสนใจของตนเอง หากแต่ความสนใจนั้นจะต้องถูกประเมินว่ามีคุณค่าของความรู้แบบไหน อย่างไร ระบบวิจัยที่ผ่านมาสนับสนุนคุณค่าแบบไหน และควรสนับสนุนคุณค่าแบบไหนต่อไปเพื่อปรับสมดุลของความรู้ การทำให้เกิดวาระที่เป็นเรื่องของคุณค่าจึงไม่ใช่การตีกรอบว่านักวิจัยควรทำอะไรหรือควรศึกษาอะไร อันจะนำไปสู่การตะแบงทำเพื่อได้ได้ทุนสนับสนุนการวิจัยมาสร้างผลงานวิชาการเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต หรือเติมเต็มเงื่อนไขทางอาชีพต่าง ๆ ในระบบมหาวิทยาลัย แต่เป็นเรื่องของการสร้างระบบสนับสนุนที่ความสนใจของแต่ละคนจะไม่ถูกทิ้งขว้างเพียงเพราะความรู้ที่ถูกสร้างมีคุณค่าไม่เข้ากรอบที่แต่เดิมถูกตีไว้

           การมีเสรีภาพทางวิชาการที่นักวิจัยสามารถศึกษาประเด็นที่ตนเองสนใจไปพร้อมกับการเข้าถึงระบบสนับสนุนนั้นเป็นเรื่องดีและควรส่งเสริมให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี การทำให้มีเสรีภาพทางวิชาการในลักษณะนี้เกิดขึ้นนั้นไม่ง่ายเหมือนใช้ปากพูด จับปากกาเขียน หรือใช้นิ้วกดแป้นพิมพ์ สำหรับนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ สถานการณ์ที่ “ใครมีแนวทางวิจัยอะไรในเส้นทางอาชีพของตัวเอง ก็ทำไป” เป็นไปได้ยากหากปราศจากระบบวิจัยที่ดีเข้ามาสนับสนุน ในสภาวะที่ระบบวิจัยด้านสังคมศาสตร์ในปัจจุบันยังขาด “เสรีภาพทางวิชาการ” การสัมมนาวาระการวิจัยสังคมศาสตร์และเครือข่ายนักวิจัยสังคมศาสตร์ของประเทศไทย เป็นความตั้งใจหนึ่งที่จะสร้างเสรีภาพทางวิชาการในลักษณะข้างต้นให้เกิดขึ้น ในโอกาสที่นักสังคมศาสตร์สาขาวิชาต่าง ๆ จะได้มาแสดงความเห็นต่อทิศทางการวิจัยในสาขาวิชาของตนเอง ตลอดจนสะท้อนสภาพปัญหาที่เป็นอยู่เพื่อแสวงหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข ผ่านการมองเห็นคุณค่าที่หลากหลายของความรู้ ดังนี้เอง การกำหนดวาระการวิจัยอาจไม่ใช่เพื่อปิดหนทางหรือตีกรอบจากข้างบนลงมาเพื่อให้คนข้างล่างทำตาม แต่เป็นไปเพื่อไขเปิดให้ตระหนักถึงคุณค่าของความรู้ที่หลากหลาย ยกระดับสถานะของความรู้ด้านสังคมศาสตร์ให้ทัดเทียมกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนปฏิรูปองค์กรสนับสนุนการวิจัยด้านสังคมศาสตร์และสร้างระบบนิเวศของการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น บางที ก่อนที่เราจะมาชั่งน้ำหนักวาระการวิจัยว่าเป็นการส่งเสริมหรือทำลายเสรีภาพทางวิชาการ เราอาจจำเป็นต้องชั่งคุณค่าของความรู้ที่มีอยู่เพื่อตามหาคุณค่าที่หายไป อันจะนำไปสู่การสนับสนุนให้มี “เสรีภาพทางวิชาการ” ที่ “ใครมีแนวทางวิจัยอะไรในเส้นทางอาชีพของตัวเอง ก็ทำไป” สามารถเป็นไปได้ในระบบสนับสนุนที่ความรู้แบบต่าง ๆ มีคุณค่าทัดเทียมกัน


อ้างอิง

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์, สุธาสินี บุญเกิด, และธิติมา อุรพีพัฒนพงษ์. 2566. โครงการสำรวจภูมิทัศน์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.). ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).


ผู้เขียน
วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์
นักวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ คุณค่า ความรู้ ระบบวิจัย สังคมศาสตร์ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา