นักมานุษยวิทยากับงานสนามในป่าอะเมซอน

 |  ระเบียบวิธีวิจัย และการศึกษาภาคสนาม
ผู้เข้าชม : 1640

นักมานุษยวิทยากับงานสนามในป่าอะเมซอน

ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าอะเมซอน

           อะเมซอน (Amazon) คือป่าฝนเขตร้อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พื้นที่ประมาณ 7 ล้านตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำจืดประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก (Bett, 2017) พื้นที่นี้จึงเต็มไปด้วยพืชสัตว์และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งเป็นถิ่นอาศัยของมนุษย์หลากหลายวัฒนธรรม รู้จักในนามโลกแห่งชาวอะเมซอน (Amazonian world) มนุษย์ที่อาศัยในเขตนี้ล้วนผูกพันและพึ่งพาอาศัยทรัพยกรธรรมชาตินานาชนิดทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต (Benchimol, 2002) ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมจึงเปรียบเสมือนเป็นชีวิตและวิญญาณของชาวอะเมซอน คนพื้นเมืองยังชีพด้วยการล่าสัตว์ เก็บผลผลิตจากป่า ทำกสิกรรมแบบเผาและถางป่าหมุนเวียนไปแต่ละช่วงเวลาและฤดูกาล นอกเหนือจากคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในเขตป่าแล้ว คนกลุ่มอื่นที่อพยพเข้ามาทีหลัง เช่น ชาวยุโรปที่เข้ามาในช่วงอาณานิคม คนผิวดำเชื้อสายแอฟริกาที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นทาสเพื่อทำงานในไร่ของชาวตะวันตก รวมถึงคนอพยพเดินทางมาจากทวีปอื่น ๆ ความหลากหลายและผสมผสานทางเชื้อชาติคือลักษณะเฉพาะของคนที่อยู่ในเขตป่าอะเมซอน

           ความรู้ของคนท้องถิ่นเกี่ยวกับทรัพยกรธรรมชาติและระบบนิเวศในป่าอะเมซอนคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของมนุษย์ดำเนินไปบนความสัมพันธ์กับพืช สัตว์ และภูมิประเทศ (Filho, 2006) ความรู้ในที่นี้หมายถึง ความเข้าใจวิถีของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิด เติบโต เสื่อมสลาย และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มนุษย์ในป่าอะเมซอนต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการหมุนเวียนของฤดูกาล ลมฟ้าอากาศ การเปลี่ยนแปลงความชื้น อุณหภูมิ แสงแดด น้ำฝน และระดับน้ำในห้วยหนองคลองบึง รู้จักการออกหากินและธรรมชาติของสัตว์ รู้สรรพคุณของสมนุไพร การเติบโตและขยายพันธุ์ของพืช ความรู้เหล่านี้ล้วนอาศัยการสังเกตและอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เมื่อการพัฒนาสมัยใหม่เข้ามาในเขตป่าอะเมซอนตั้งแต่ช่วงอาณานิคมตะวันตก ธรรมชาติในอะเมซอนก็เริ่มถูกรบกวนจากวิธีคิดแบบทุนนิยมและการเพาะปลูกเพื่อการค้า เกิดปัญหาการตัดไม้และทำลายระบบนิเวศที่ส่งผลกระทบต่อคนพื้นเมืองและสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์


นักมานุษยวิทยาในเขตอะเมซอน

           ในช่วงทศวรรษ 1950 นักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษชื่อ Audrey Butt Colson เดินทางไปศึกษาวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองเผ่า Akawaio ในประเทศกายอานา ชนเผ่า Pemon และชนเผ่า Kapon ในประเทศบราซิลและเวเนซูเอล่า การศึกษาของ Colson (2009) พบว่าพื้นที่อาศัยของชนพื้นเมืองมีการอยู่ร่วมกันของญาติพี่น้องฝ่ายแม่และพ่อ กระจายตัวอยู่ทั่วไปในเขตประเทศกายอานา ซูรินาม เวเนซูเอล่า และบราซิล การตระหนักว่าใครเป็นคนกลุ่มเดียวกันพิจารณาได้จากการตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณเดียวกัน ถ้าครอบครัวใดย้ายออกจากที่อาศัยเดิม ที่ดินนั้นจะตกเป็นของคนในชุมชน ความคิดเรื่องที่อยู่อาศัยของคนพื้นเมืองมิใช่ทรัพย์สินที่เป็นสมบัติของคนใดคนหนึ่ง นอกจากนั้นนักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษชื่อ Peter Rivière ทำงานสนามอยู่ในหมู่บ้านของชนเผ่า Tiriyo ในประเทศซูรินาม และคนท้องถิ่นที่เลี้ยงสัตว์ในประเทศบราซิล สิ่งที่ Rivière สนใจคือการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความคิดและจักรวาลวิทยากับการจัดระเบียบทางสังคมของคนพื้นเมือง โดยเฉพาะแบบแผนของการแต่งงานและระบบเครือญาติที่มีความยืดหยุ่นและไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว (Rivière, 1969; 1984) นอกจากนั้น ยังมีการเสนอว่าร่างกายของคนพื้นเมืองในเขตอะเมซอนเป็นพื้นที่เชิงการเมืองที่สร้างการแบ่งแยกระหว่างคนในกลุ่มและคนนอกกลุ่ม สถานะของบุคคลจึงเป็นเอกเทศที่มีสัญลักษณ์และประวัติศาสตร์ของตัวเอง คำอธิบายของ Rivière ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาประวัติศาสตร์ทางชาติพันธุ์ (indigenous ethnohistories) ที่อธิบายผ่านโลกทัศน์ของคนพื้นเมืองที่ต่างไปจากการเขียนประวัติศาสตร์ที่เป็นเส้นตรงแบบตะวันตก และการหันมาสนใจศึกษาบุคคลในฐานะผู้กระทำการ พื้นที่และเวลาในประสบการณ์ของชาว อะเมซอนดำรงอยู่ร่วมกัน ตัวอย่างเช่น บ้านที่อยู่อาศัยเปรียบเสมือนเป็นทั้งพื้นที่และเวลาที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ข้อมูลของชนพื้นเมืองที่ Colson และ Rivière ได้เก็บรวบรวมไว้มีทั้งภาพถ่าย วัตถุสิ่งของ ซึ่งเป็นหลักฐานที่นำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ Pitt Rivers ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

           Philippe Descola นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสที่ทำงานในพื้นที่ชนพื้นเมืองเผ่า Achuar ในประเทศเอกวาดอร์ ในช่วงปี ค.ศ.1976-1978 ทำให้เขาอธิบายภูมิปัญญาและ โลกทัศน์ของคนพื้นเมืองที่ทำให้เกิดการดูแลรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Descola, 1994) ในสังคมของชาว Achuar สิ่งที่มนุษย์ปฏิบัติในชีวิตประจำวันสัมพันธ์กับคติความเชื่อเรื่องวิญญาณและอำนาจเหนือธรรรมชาติที่ดำรงอยู่ในระบบนิเวศและพื้นที่อาศัย Descola เรียกสังคมลักษณะนี้ว่า “สังคมของธรรมชาติ” (society of nature) หมายถึง ธรรมชาติทั้งพืช สัตว์ ดิน น้ำ อากาศ ล้วนมีจิตวิญญาณที่มีบทบาทในการควบคุมการกระทำของมนุษย์ ในขณะที่มนุษย์จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเพื่อติดต่อสื่อสารกับวิญญาณในธรรมชาติ ซึ่งเป็นวิธีจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ

           การศึกษาของ Descola ซึ่งสนใจความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับกิจกรรมของมนุษย์ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการแยกธรรมชาติออกจากตัวมนุษย์แบบคู่ตรงข้าม ทำให้มองธรรมชาติเป็นวัตถุเชิงสัญลักษณ์และความหมายซึ่งมนุษย์ใช้เพื่อจัดระเบียบกฎเกณฑ์ทางสังคม คำอธิบายนี้ยังแยกวัฒนธรรมออกจากธรรมชาติ รวมทั้งการเลือกศึกษาเฉพาะกิจกรรมการเพาะปลูกของผู้หญิงกับการล่าสัตว์ในป่าของผู้ชาย ทำให้ Descola มองกิจกรรมทางสังคมผ่านการใช้แรงงานและเวลาทำงานที่เป็นผลมาจากข้อจำกัดของสภาพแวดล้อมซึ่งผลิตซ้ำวิธีคิดแยกคู่ตรงข้ามวัฒนธรรมกับธรรมชาติ ต่อมาในปี ค.ศ.1996 Deacola เขียนหนังสือเรื่อง The spears of twilight: life and death in the Amazon jungle บอกเรื่องราวชีวิตของชาว Achuar ที่กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยชี้ให้เห็นความคิดและความรู้สึกของชาว Achuar ผ่านบทกวี งานศิลปะ วิถีชีวิต พิธีกรรม และการทำสงคราม Deacola เขียนเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงแรกที่เข้าไปศึกษาชีวิตของชาว Achuar จนกระทั่งช่วงท้ายของการศึกษาซึ่งใช้เวลายาวนานถึง 16 ปี เนื้อหาของหนังสือแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกบอกเล่าชีวิตของชาว Achuar ที่ยังชีพในป่า ทำการเพาะปลูกและล่าสัตว์ ส่วนที่สองอธิบายเรื่องราวทางสังคม ส่วนที่สามอธิบายความเชื่อทางศาสนา ความคิดสำคัญที่ปรากฏในหนังสือเรื่องนี้คือ การแสดงบทบาทของนักมานุษยวิทยาในฐานะผู้เข้าใจและตีความสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่คนพื้นเมืองอาจมองข้าม ซึ่ง Deacola อาศัยทฤษฎีโครงสร้างนิยมของ Claude Lévi-Strauss มาเป็นกรอบการวิเคราะห์ สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำว่าการทำงานของ Deacola ไม่สามารถสลัดตัวเองออกจากวิธีคิดแบบคู่ตรงข้ามไม่ว่าจะเป็นการแยกผู้ศึกษาออกจากผู้ถูกศึกษา แยกภาษาเขียนออกจากภาษาคำบอกเล่า

           การศึกษาของ Mark Harris (2000) ในพื้นที่ที่เรียกว่าคาโบคลอส เป็นที่ลุ่มน้ำ อะเมซอนที่มีน้ำท่วมสลับกับฤดูแล้ง ชนพื้นเมืองในพื้นที่นี้เป็นผู้ที่มีเชื้อสายผสมระหว่างคนท้องถิ่นกับชาวยุโรปและชาวแอฟริกัน อัตลักษณ์ของคนกลุ่มนี้จึงวางอยู่บนการเป็นผู้อพยพ เป็นชนชั้นแรงงานที่พึ่งพาระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ยังชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์ จับปลา และเพาะปลูก ระดับน้ำที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลามีผลต่อการปรับตัว เช่น เมื่อถึงหน้าน้ำหลาก พวกเขาจะต้อนสัตว์เลี้ยงให้อยู่บนสิ่งปลูกสร้างที่ยกพื้นสูงเหนือน้ำ Harris อธิบายว่าการทำความเข้าใจชีวิตของคนกลุ่มนี้มิได้พิจารณาจากการเป็นแรงงาน แต่ควรทำความเข้าใจจากการอยู่กับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การขึ้นลงของน้ำในช่วงเวลาต่าง ๆ เปรียบเสมือนจังหวะชีวิตที่ทำให้คนเหล่านี้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เปลี่ยนไป การเข้าใจระดับน้ำที่ไม่คงที่ยังหมายถึงการปรับตัวที่จะอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ไม่คงที่ นอกจากนั้น การยังชีพของชาวนาลุ่มน้ำอะเมซอนล้วนอาศัยเครือข่ายสังคมของญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านในการช่วยเหลือกัน เช่น จับปลา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ป่า และการออกไปรับจ้างทำงานในเมืองในบางเวลา คนกลุ่มนี้จึงมีทักษะที่จะติดต่อสื่อสารกับคนต่างกลุ่ม ขณะเดียวกันก็มีวิถีปฏิบัติในแบบของตัวเองที่สามารถมีชีวิตรอดได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

           นักมานุษยวิทยาชาวบราซิลชื่อ Eduardo Viveiros de Castro ผู้มีผลงานวิชาการโดดเด่นและเสนอแนวคิดเรื่องทัศนพิสัยนิยมแบบชาวอเมรินเดียน (Amerindian perspectivism) ซึ่งอธิบายให้เห็นว่าคนท้องถิ่นในพื้นที่ป่าอะเมซอนมีทัศนะและมโนทัศน์เกี่ยวกับความจริงที่ต่างไปจากตะวันตก มุมมองต่อโลกของคนพื้นเมือง โดยเฉพาะชนเผ่า Araweté ในบราซิลซึ่ง Viveiros de Castro เข้าไปศึกษา มิได้แยกคู่ตรงข้ามระหว่าง “ธรรมชาติ” กับ “วัฒนธรรม” (Holbraad & Pedersen, 2017) วิธีคิดตะวันตกนี้มองธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียว ในขณะที่มองวัฒนธรรมเป็นความแตกต่างตามความคิดและความเชื่อของคน ในทางกลับกันโลกทัศน์ของคนพื้นเมืองในอะเมซอนมองธรรมชาติเป็นความหลากหลาย ส่วนวัฒนธรรมคือสิ่งที่เป็นเอกภาพ Viveiros de Castro เสนอว่าวิธีคิดของคนพื้นเมืองมองเห็นและให้ความหมายต่อสิ่งต่าง ๆ ด้วยโลกทัศน์แบบมนุษย์ ในขณะที่สัตว์ พืช และวัตถุ อื่น ๆ ล้วนมองเห็นมนุษย์ด้วยมุมมองของตัวเอง มุมองละความคิดของมนุษย์จึงต่างไปจากมุมมองของสิ่งอื่น นอกจากนั้น การมีมุมมองต่อโลกไม่เหมือนการมีแนวคิดเกี่ยวกับโลก เพราะแนวคิดเป็นการสร้างขอบเขตของความจริงที่ตายตัว ซึ่งต่างไปจากมุมมองที่อาศัยผัสสะและความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ Viveiros de Castro กล่าวว่าสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ล้วนมองดูตัวเองในแบบที่ไม่เหมือนกัน

           ในพื้นที่อาศัยเขตป่าอะเมซอน การมองโลกเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งต่าง ๆ สามารถแปรสภาพกลายเป็นสิ่งอื่นได้เสมอ Viveiros de Castro รวบรวมคติความเชื่อ ตำนาน เรื่องเล่า จักรวาลวิทยา และพิธีกรรมทางศาสนาของคนพื้นเมืองในอะเมซอนเพื่ออธิบายพลังของวิญญาณ ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหมอผี ร่างทรงและผู้สื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติจึงเป็นผู้ที่ประสานเชื่อมโยงโลกที่แตกต่างหลากหลายเข้าด้วยกัน ร่างกายของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นล้วนดำรงอยู่ในฐานะเครื่องบ่งชี้ถึงความแตกต่างซึ่งวางอยู่บนจักรวาลวิทยาคนละประเภท คนพื้นเมืองในอะเมซอนมองว่าร่างของมนุษย์แต่ละคนคือรูปแบบของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน ซึ่งต่างไปจากร่างของสัตว์ชนิดอื่น ดังนั้น ชนพื้นเมืองจึงมิได้แยกความต่างทางร่างกายบนเกณฑ์ของปัจเจก แต่มองมนุษย์มีร่างกายชนิดเกียวกันบนเกณฑ์ของประเภทสิ่งมีชีวิตที่ต่างไปจากสัตว์ ในแง่นี้ จะเห็นว่าร่างกายของมนุษย์ในฐานะเป็นสิ่งของประเภทเดียวกัน ส่งผลให้มนุษย์เชื่อมโยงเข้าหากัน เช่น เมื่อแม่กินอะไรเข้าร่างกายก็ย่อมจะส่งผลต่อร่างกายของลูกในครรภ์ คนพื้นเมืองในอะเมซอนจึงมองเห็นสายสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกันในฐานะเป็นพี่น้องที่เกิดมาจากครรภ์มารดาเดียวกัน

           Viveiros de Castro เชื่อว่าในพื้นที่ป่าอะเมซอน สิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์ล้วนมีจักรวาลวิทยา นั่นหมายถึงการมีวัฒนธรรมที่ไม่ต่างกัน (monoculturalism) และสิ่งที่ต่างกันคือรูปร่างรูปทรงที่แสดงออกไม่เหมือนกัน (corporal diversity) หรือเรียกว่าความหลากหลายของธรรมชาติ (multinaturalism) คำอธิบายนี้เข้าใจแบบง่าย ๆ ว่า มีวัฒนธรรมเพียงหนึ่ง แต่มีธรรมชาติที่หลากหลาย (one culture, many nature) ข้อสังเกตนี้โต้แย้งกระบวนทัศน์ตะวันตกและความรู้ทางมานุษยวิทยาที่เคยมองวัฒนธรรมเป็นความหลากหลาย (plurality of cultures) มายาวนาน Viveiros de Castro เชื่อว่าชีวิตในเขตป่าอะเมซอนล้วนมองเห็นตัวเองเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความคิดและสามารถเข้าใจโลกที่เป็นอยู่


สนามในป่าอะเมซอนกับจุดเปลี่ยนทางภววิทยา

           จากการศึกษาของ Viveiros de Castro โดยอาศัยการอยู่ร่วมกันของสายพันธุ์ ต่าง ๆ ในเขตป่าอะเมซอน นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “กระบวนการกลายเป็นอะเมซอน” (Amazonianization) ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อวงการมานุษยวิทยา โดยเฉพาะการรื้อกระบวนทัศน์วัฒนธรรมและการดำรงอยู่ของโลกหลายแบบ เป็นความพยายามที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการมองโลกซึ่งเปลี่ยนจากความคิดที่ว่าสิ่งต่าง ๆ มองโลกด้วยวิธีการที่ต่างกัน ไปสู่ความคิดที่ว่าสิ่งต่าง ๆ ล้วนมองเห็นโลกในแบบเดียวกันแต่ต่างกันที่ความหมายของวัตถุที่มอง (see in the same way . . . different things) ความคิดนี้เปรียบเสมือนการทดลองมองมุมใหม่ที่ใช้พื้นที่อะเมซอนเป็นกรณีศึกษา Holbraad and Pedersen (2017) ตั้งข้อสังเกตว่าหากความหลากหลายทางธรรมชาติ (multinaturalism) ในเขตอเมรินเดียนส์ (Amerindians) ประกอบด้วยสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน และเห็นสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น วิธีคิดทางมานุษยวิทยาก็คือ ความหลากหลายทางธรรมชาติต้องประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายที่ทำในสิ่งที่คล้ายกัน สิ่งนี้ทำให้ Viveiros de Castro เสนอความคิดเกี่ยวกับ “ภววิทยาที่มีหลายประเภท” (multiple ontologies) ซึ่งเสมือนใช้คำนี้แทนคำว่า “วัฒนธรรมที่หลากหลาย” หากวิธีการมองโลกคือภววิทยาในความหมายของ Viveiros de Castro ฉะนั้นอาจไม่ต่างจากจารีตทางมานุษยวิทยาที่อธิบายโลกทัศน์ของมนุษย์ในฐานะเป็นวัฒนธรรม

           Holbraad and Pedersen (2017) กล่าวว่าความเข้าใจเรื่องภววิทยาของ Viveiros de Castro มีความต่างจากข้อถกเถียงทางปรัชญา กล่าวคือ ภววิทยาที่มีหลากหลายถูกตีความเท่ากับการมีโลกที่หลากหลาย นักวิชาการที่เชื่อในภววิทยาที่หลากหลายมักจะมองโลกที่มากกว่าหนึ่งแบบ เช่น Michael Scott (2013) Philippe Descola (2013) ความคิดเรื่องมุมมองที่หลากหลายในฐานะเป็นการมองเห็นโลกถูกทำให้กลายเป็นภววิทยาที่แตกต่างกัน ในความคิดของ Viveiros de Castro ความหลากหลายของธรรมชาติคือที่มาของภววิทยาที่หลากหลาย นำไปสู่คำอธิบายที่ว่าทุกสิ่งต่างมีวิธีการมองเห็นโลกในแนวเดียวกัน แต่สิ่งที่เห็นนั้นจะมีความหมายที่ไม่เหมือนกัน เพราะมีการนิยามสิ่งนั้นต่างกัน เช่น นักมานุษยวิทยามองเห็นสร้อยคอเป็นเครื่องประดับ ในขณะที่ชนพื้นเมืองมองสร้อยคอเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษ การให้ความหมายต่อวัตถุจึงกลายเป็นที่มาของความแตกต่างทาง ภววิทยา สำหรับ Viveiros de Castro นอกจากจะเสนอวีธีคิดเกี่ยวกับ ทัศนพิสัยนิยม เขายังเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องสิทธิให้กับชนพื้นเมืองในบราซิลซึ่งถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนภายนอก


บรรณานุกรม

Benchimol, S. (2002). Sustainable Development of the Amazon: Scenario, Perspectives and Indicators. Manaus: Valer.

Bett, G. (2017). The Amazon Anthropology. Philosophy Study, 7(9), 477-484.

Butt Colson, A. (2009). Land: its occupation, management, use and conceptualization. The case of the Akawaio and Arekuna of the Upper Mazaruni District, Guyana. Panborough: Last Refuge

Descola, P. (1994). In the Society of Nature: A Native Ecology in Amazonia. Cambridge: University of Cambridge Press

Descola, P. (1996). The spears of twilight: life and death in the Amazon jungle. Janet Lloyd (trans.). New York: New Press.

Descola, P. (2013). Beyond Nature and Culture. Janet Lloyd (trans.). Chicago: University of Chicago Press.

Filho, J. M. (2006). The Golden Book of the Amazon. Rio de Janeiro: Ediouro,

Harris, M. (2000). Life on the Amazon. The anthropology of a Brazilian peasant village. Oxford: Oxford University Press.

Holbraad, M. & Pedersen, M.A. (2017). Natural Relativism: Viveiros de Castro’s Perspectivism and Multinaturalism in Holbraad, M. & Pedersen, M.A. The Ontological Turn: An Anthropological Exposition, (pp. 157–198). Cambridge: Cambridge University Press.

Rivière, P. (1969). Marriage among the Trio: a principle of social organisation. Oxford: Clarendon Press.

Rivière, P. (1984). Individual and society in Guiana: a comparative study of Amerindian social organization. Cambridge: Cambridge University Press.

Scott, M. (2013). The Anthropology of Ontology (Religious Science?). Journal of the Royal Anthropological Institute (N.S.), 19(4), 859-872.

Viveiros de Castro, E. (1998). Cosmological Deixis and Amerindian Perspectivism. The Journal of the Royal Anthropological Institute 4(3), 469-488.


ผู้เขียน

ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ นักมานุษยวิทยา งานสนาม ป่าอะเมซอน ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share