Experimenting with Ethnography: A Companion to Analysis

 |  ระเบียบวิธีวิจัย และการศึกษาภาคสนาม
ผู้เข้าชม : 3100

Experimenting with Ethnography: A Companion to Analysis

รูปที่ 1 ปกหนังสือ Experimenting with Ethnography: A Companion to Analysis
หมายเหตุจาก. ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


Ethnography คืออะไร?

           ชาย โพธิสิตา (2548) ให้ความหมายของชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography) ไว้ว่า “ชาติพันธุ์วรรณนา หมายถึง กระบวนการสังเกตพฤติกรรม และวิถีชีวิตของกลุ่มทางสังคมและวัฒนธรรมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แล้วรายงานโดยละเอียดถึงพฤติกรรม ความเชื่อ ความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ ตลอดจนค่านิยมอันเป็นผลมาจากพฤติกรรมของคนในกลุ่มนั้น ๆ ”

           นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ (ม.ป.ป.) ให้ความหมายของชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnography) ไว้ว่า “การศึกษาวัฒนธรรมและสังคมของมนุษย์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยผู้ศึกษาจะเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ เข้าไปพูดคุย และสังเกตอย่างมีส่วนร่วมในเหตุการณ์และกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มคนที่ศึกษาเป็นระยะเวลายาวนานและนำข้อมูลมาเขียนเรียบเรียงและอธิบายให้เห็นวิถีชีวิตของคนกลุ่มนั้น”

           กล่าวได้ว่า คำว่า ชาติพันธุ์วรรณนา หรือ Ethnography เป็นการทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้คนในรูปแบบสังคมและวัฒนธรรม โดยเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ทั้งการสังเกต พูดคุย เขียนรายละเอียดต่าง ๆ และถูกนำเสนอออกมาเป็นงานเขียนหรืองานวิจัย ซึ่งชาติพันธุ์วรรณนา จะเน้นถึงวิธีการทำความเข้าใจในวัฒนธรรม เช่น การทำความเข้าใจในวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปวิธีการศึกษาจึงถูกพัฒนาให้มีหลากหลายและมีความแพร่หลายมากขึ้น

           จากการประชุมทางวิชาการมานุษยวิทยา 66 ชีวิตภาคสนาม หรือ Life, Ethnographically! ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้นำเสนอให้เห็นว่า รูปแบบ ขั้นตอน วิธีการเก็บข้อมูล และการตรวจสอบสนามได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตัวอย่างเช่น หัวข้อการประชุม งานภาคสนามตามรอยมานุษยวิทยา ของ ชาร์ล เอฟ คายส์ ในประเด็นที่ 1 ตามรอยมานุษยวิทยาศาสนา ผ่านงานภาคสนามของชาร์ล คายส์ ที่มหาสารคามและแม่สะเรียง โดย รศ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว กล่าวว่า การศึกษางานภาคสนามของอาจารย์คายส์ นอกจากการลงพื้นที่ศึกษาในแนวทางสังคมและวัฒนธรรมแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการศึกษาผ่านเอกสาร ตำนาน และการประยุกต์ใช้อุปกรณ์สื่อเทคโนโลยี เช่น กล้องถ่ายภาพและเครื่องบันทึกเสียง จากความหลากหลายของการศึกษาดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงต้องการแนะนำหนังสือเรื่อง หนังสือ Experimenting with Ethnography: A Companion to Analysis จึงเป็นหนังสือที่จะแสดงให้เห็นถึงวิธีการศึกษาชาติพันธุ์วรรณนาในหลายมิติให้ผู้อ่านได้รู้จักมากขึ้น

           หนังสือ Experimenting with Ethnography: A Companion to Analysis มีบรรณาธิการ 2 ท่าน คือ Andrea Ballestero รองศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาที่ Rice University ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Brit Ross Winthereik ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการทำการวิจัยชาติพันธุ์วรรณนาที่ IT University of Copenhagen โดยหนังสือเล่มนี้ได้ตีพิมพ์ที่สำนักพิมพ์ Duke University Press ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2021

           เมื่อเปิดหนังสือเล่มนี้ ส่วนแรกของหนังสือจะนำเสนอบทนำที่กล่าวถึงภาพรวมของหนังสือการวิจัยชาติพันธุ์วรรณนาที่จะไม่ชวนตั้งคำถามว่า “การวิจัยชาติพันธุ์วรรณนาคืออะไร (What’s Ethnography)” แต่กล่าวถึง “การวิจัยชาติพันธุ์วรรณนาเป็นอย่างไร (How’s Ethnography)” โดยนำบทความถึง 19 บทความ และ 2 บทส่งท้าย มาแสดงให้เห็นถึงแนวทางและเครื่องมือในการทำงาน เพื่อให้ได้มุมมองหลากหลาย แตกต่างจากเดิม เข้าใจได้ง่ายและสามารถปรับใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์ ซึ่งนำไปสู่การตอบคำถามดังกล่าวได้

           บทความได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น คือ

           1. Bodily Practices and Relocations กล่าวถึง ด้านการสร้างอัตลักษณ์ทางสังคมผ่านทางกายภาพ รวมถึงการย้ายถิ่นฐาน เช่น บทความ Tactile Analytics: Touching as a Collective Act โดย Patricia Alvarez Astacio อธิบายวิธีการศึกษาผ่านการสัมผัสโดยมือ (Touching) สัมผัสไปที่สิ่งทอขนอัลปากา (Alpaca Wool) โดยให้ผู้ร่วมศึกษาสัมผัสสิ่งทอเหมือนกัน และหลังการแบ่งปันประสบการณ์สู่กันของผู้ร่วมศึกษา ทำให้ทราบว่า การสัมผัสนั้นแม้จะเป็นสิ่งทอขนอัลปากาเหมือนกัน แต่หากผู้สัมผัสสิ่งทอนั้นในสถานที่แตกต่างกัน จะทำให้สัมผัสถึงความรู้สึกและเรื่องราวผ่านสิ่งทอนี้ไม่เหมือนกันได้ เนื่องจากสมองที่สั่งการ กรอบความคิดภายในผู้เขียน บริบททางสังคม และความรู้สึกที่มีอยู่เดิม จะสร้างความรู้สึกที่ไม่เหมือนกันภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว

           2. Physical Objects เป็นหัวข้อที่กล่าวถึง การศึกษาโดยใช้วิธีการจัดการและการเปรียบเทียบกับวัตถุจริง เช่น บทความ Relocating Innovation: Postcards from Three Edges โดย Endre Dányi, Lucy Suchman, และ Laura Watts ที่อาศัยวิธีการศึกษาจากการเขียนและส่งไปรษณียบัตร (Post card) จาก 3 แหล่ง คือ โรงงานพลังงานหมุนเวียน ณ เมือง Orkney ประเทศ Scotland, The Hungarian Parliament ใน Budapest และ ศูนย์วิจัย The Xerox Palo Alto ใน California's Silicon Valley เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบสิ่งที่อยู่ในไปรษณียบัตร ทั้งวิธีการเขียน ภาพบนไปรษณียบัตรและเวลาที่ใช้ส่งไปรษณียบัตร ที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยอารยธรรมและนวัตกรรมผ่านวัตถุดังกล่าว เช่น กังหันลมที่โรงงานพลังงานหมุนเวียน ผ่านภาพบนไปรษณียบัตรและการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านข้อความบนไปรษณียบัตร

           3. Infrastructural Play การทำงานเป็นระบบโดยการใช้เครื่องมือดิจิทัลหรือเครื่องมืออื่น ๆ เช่น บทความ Sound Recording as Analytic Technique โดย Brit Ross Winthereik และ James Maguire โดยทำการศึกษาจากการอัดเสียงในห้องไร้เสียงสะท้อน หรือ Anechoic Chamber และจัดทำออกมาในรูปแบบ Podcast ซึ่งการจัดทำ Podcast ในห้องไร้เสียงมีสภาพแวดล้อมที่เงียบมาก จนได้ยินเสียงพูดของตนเอง ทำให้ผู้พูดรับรู้ถึงวิธีการพูด น้ำเสียง จังหวะ และอารมณ์ของผู้พูด รวมถึงการทำ Podcast ผู้เขียนต้องเขียน วิเคราะห์ ทบทวนบทที่จะพูด ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เขียนสัมผัสถึงความคิดต่าง ๆ ผ่านเสียง ได้ทบทวนและพบมุมมองที่กว้างมากขึ้นจากการฟัง Podcast ที่จัดทำขึ้นมา นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการศึกษาที่ไม่ได้แทนที่วิธีการศึกษาแบบเดิม เช่น การเขียนหรือการจดบันทึก แต่เป็นอีกวิธีที่ผู้อ่านสามารถเลือกนำไปปรับใช้ได้

           4. Incommensurabilities การนำกรอบแนวคิด 2 อย่างที่แตกต่างกันมาเปรียบเทียบและอภิปราย เช่น บทความ Decolonizing Knowledge Devices โดย Ivan da Costa Marques เป็นการอาศัยวิธีการศึกษาจากการเลือกพื้นที่ กำหนดขอบเขตการศึกษาให้ชัดเจนในพื้นที่ที่ผู้เขียนลงศึกษา สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น และบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ในแง่ของอิทธิพลของอาณานิคม เพื่อทราบถึงแนวคิดและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับอาณานิคม โดยผู้เขียนเลือกศึกษาประเทศบราซิลที่เคยเป็นประเทศอาณานิคมในยุโรปมาก่อน และเลือกเจาะจงศึกษากรณีโปรแกรมการวิจัยในมหาวิทยาลัยประเทศบราซิล ทำให้ทราบถึงแนวคิดกับสิ่งของส่วนมากในประเทศบราซิลได้รับอิทธิพลจากยุโรป รวมถึงแนวทางการวิจัยสังคมศาสตร์และแนวทางการวิจัยวิทยาศาสตร์ ที่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์นำแนวคิดทางยุโรปหรืออเมริกันมาปรับใช้ได้ เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เป็นจริงและได้รับการพิสูจน์แล้ว กลับกันหากเป็นแนวคิดทางสังคมศาสตร์จะนำแนวคิดทางยุโรปหรืออเมริกันมาใช้ไม่ได้เสมอไป เนื่องจากสังคมและวัฒนธรรมในประเทศบราซิลแตกต่างจากยุโรปหรืออเมริกันมาก

           บทความทั้งหมดในหนังสือจะเป็นรูปแบบเดียวกันคือ การกล่าวถึงเนื้อหา ตามด้วยระเบียบในการปฏิบัติ (Protocol) และมีหมายเหตุ (Note) เพื่อให้ผู้อ่านค้นพบวิธีการทำงานของตนเองและสามารถนำวิธีต่าง ๆ ในหนังสือไปปรับใช้ได้ ยกตัวอย่างบทความภายในหนังสือเรื่อง Drawing as Analysis: Thinking in Images, Writing in Words โดย Rachel Douglas-Jones ซึ่งอยู่หัวข้อ Physical Objects ได้ว่าการใช้วิธีการวาดภาพ เป็นสิ่งหนึ่งในการวิเคราะห์ Rachel ได้เสนอว่าการวาดจะทำให้เราสามารถเห็น “ภาพ” งานที่เรากำลังทำอยู่ได้ ซึ่งอาจได้มุมมองการทำงานที่แตกต่างจากเดิม ทั้งรูปแบบรวมถึงแนวทางในการสังเคราะห์งานชาติพันธุ์วรรณา โดยการวาดนี้ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความสวยงามแต่เป็นการใช้การวาดรูปแบบง่าย ๆ เช่น วงกลม, สี่เหลี่ยม, เส้น สร้างภาพและกำหนดการทำงานให้ชัดเจน ยกตัวอย่างการวาดรูปทั้ง 3 แบบดังนี้

           แบบที่ 1 Temporary Totalities: Making Things Visible เป็นการวาดภาพออกมา โดยอาศัยข้อมูลที่ได้ศึกษามา ทั้งข้อมูลการสัมภาษณ์ การสังเกต การพูดคุย และอื่น ๆ สร้างออกมาเป็นภาพในแต่ละหัวข้อ วิธีการนี้ทำให้ใช้การเขียนพรรณนาน้อยลง และใช้คำสั้น ๆ เพื่อประกอบภาพรวมให้เห็นชัดมากขึ้นว่างานจะออกมาเป็นในรูปแบบใด


รูปที่ 2 ภาพตัวอย่างจากการวาดภาพแบบที่ 1 Temporary Totalities: Making Things Visible
หมายเหตุจาก. หนังสือ Experimenting with Ethnography: A Companion to Analysis หน้า 101


           แบบที่ 2 Indeterminacies: Separating And Distinguishing หลังจากวาดที่ทำให้เห็นภาพรวม การวาดรูปแบบนี้จะเป็นการวาดที่เลือกนำสิ่งที่ต้องทำหรือข้อมูลมาตกผลึก ตั้งคำถามและจัดหมวดหมู่ให้ เพื่อแบ่งว่าสิ่งไหนควรจัดการอย่างไร


รูปที่ 3 ภาพตัวอย่างจากการวาดภาพแบบที่ 2 Indeterminacies: Separating And Distinguishing
หมายเหตุจาก. หนังสือ Experimenting with Ethnography: A Companion to Analysis หน้า 101


           แบบที่ 3 Analysis As Ordering, Organizing, And Aporia การวาดในรูปแบบสุดท้ายจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มา นำมาทำการจัดลำดับและจัดระบบการทำงาน โดยใช้สี่เหลี่ยมแบ่งออกถึงความแตกต่างและช่องว่างของงานที่ต้องจัดการ


รูปที่ 4 ภาพตัวอย่างจากการวาดภาพแบบที่ 3 Analysis As Ordering, Organizing, And Aporia
หมายเหตุจาก. หนังสือ Experimenting with Ethnography: A Companion to Analysis หน้า 102-103


           บทความที่ยกตัวอย่างมานี้จึงน่าสนใจมาก เนื่องจากช่วงเวลาการอ่านหนังสือสอบของนักเรียนและนักศึกษาในประเทศไทยหลายคนต่างก็ใช้วิธีการจัดการข้อมูลในรูปแบบ Mind Mapping ซึ่งอาศัยการวาดภาพและไล่ความสำคัญของข้อมูล เพื่อให้ตนเองเข้าใจเนื้อหา ดังนั้นวิธีการตามบทความ Drawing as Analysis: Thinking in Images, Writing in Words จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่มีรูปแบบใกล้เคียงกัน โดยอาศัยวิธีการวาดเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการข้อมูล ซึ่งแม้แต่นักเรียนและนักศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความถนัด หากเข้าใจกระบวนการการวาดในรูปแบบ Drawing as Analysis ทั้งนี้การ Drawing as Analysis ยังเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ทำวิจัยชาติพันธุ์วรรณนาให้เห็นภาพของการทำงานชัดเจนมากขึ้น ได้เห็นความแตกต่างของข้อมูล และสามารถนำภาพวาดต่าง ๆ มาเป็นข้อสรุปที่หลากหลายได้ ซึ่งในบทความนี้เน้นว่าการวาดที่ไม่จำเป็นต้องวาดให้ “สวย” แต่วาดให้เข้าใจเพื่อใช้ต่อยอดในการ “วิเคราะห์” งานต่อไปได้

           และในบทนี้ยังทิ้งท้ายด้วยระเบียบในการปฏิบัติ (Protocol) ที่เป็นข้อความสั้น ๆ ให้เข้าใจสิ่งสำคัญที่บทความพยายามจะสื่อมากขึ้น ได้แก่ พยายามเปลี่ยนจากการเขียเป็นการวาด หรือ ใช้พื้นที่ว่างในการสร้างสรรค์การวาดของเราโดยไม่ต้องคิดถึงความสวยและปล่อยเวลาไป และมีหมายเหตุ (Note) ที่เป็นคำแนะนำจากผู้เขียน เช่น ผู้ดูแลหลายคนสามารถให้ความช่วยเหลือผู้เขียนได้แต่อาจจะมีข้อจำกัด

           หนังสือ Experimenting with Ethnography: A Companion to Analysis ถือได้ว่าเป็นหนังสือที่ดีมากสำหรับผู้ที่กำลังทำการทำวิจัยชาติพันธุ์วรรณนา เพราะมีการนำเสนอเนื้อหาวิเคราะห์งานวิจัยชาติพันธุ์วรรณนาของผู้เขียนบทความหลายท่าน ซึ่งจะได้ความรู้ แนวทาง เครื่องมือและวิธีการทำงานวิจัยชาติพันธุ์วรรณนา ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้หลายรูปแบบ ทั้งนี้ผู้เขียนยังได้วิเคราะห์วิธีการทำงาน (Protocol) ของแต่ละบทความ เพื่อชี้ให้เห็นสิ่งสำคัญของบทความ วิธีการทำงานของผู้เขียนบทความ และเสนอวิธีการนำแนวทางนั้นไปปรับใช้ในงานอื่น ๆ และมีหมายเหตุ (Note) ให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาแนวทางของแต่ละบทมากขึ้น ซึ่งบทความต่าง ๆ นี้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเลือกอ่านในหัวข้อเฉพาะทางที่ตนเองกำลังศึกษาอยู่ได้ ได้แก่ Bodily Practices and Relocations, Physical Objects, Infrastructural Play และ Incommensurabilities

           หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังทำการทำวิจัยชาติพันธุ์วรรณนาโดยเฉพาะ เนื้อหาภายในเป็นภาษาอังกฤษที่ใช้คำศัพท์เฉพาะทาง และสิ่งที่น่าสนใจสำหรับหนังสือเล่มนี้คือ หนังสือได้นำเสนอแนวทางและเครื่องมือในการทำงานที่ทำให้เห็นมุมมองหลากหลายในยุคปัจจุบัน ที่แตกต่างจากเดิม ทำให้ผู้อ่านหรือคนที่กำลังทำงานชาติพันธุ์วรรณาได้เห็นรูปแบบการทำงาน รวมถึงแนวทางในการสังเคราะห์และวิเคราะห์งานชาติพันธุ์วรรณา ซึ่งผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้หรือต่อยอดได้ตามลักษณะงานของตน สุดท้ายแล้วข้าพเจ้าหวังว่าหนังสือ Experimenting with Ethnography จะเป็นหนังสือที่จะเป็นเพื่อน (Companion) ผู้อ่านที่สามารถตอบคำถามได้อย่างดีและครบครันในการวิเคราะห์ (to Analysis) และค้นคว้าทดลองหาแนวทาง (Experimenting) การทำวิจัยชาติพันธุ์วรรณนา และสร้างแนวทางในการทำงานของผู้อ่านได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสืออื่นของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรพร้อมให้บริการที่ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


บรรณานุกรม

Rachel Douglas-Jone. (2021). "Drawing as Analysis: Thinking in Images, Writing in Words", Experimenting with Ethnography: A Companion to Analysis, Andrea Ballestero, Brit Ross Winthereik

Martyn Hammersley. (2022). Experimenting with Ethnography: A Companion to Analysis, The AAG Review of Books, 10:1, 11-12, DOI:10.1080/2325548X.2022.1999733

วิภา วิเสโส, และพจนารถ สารพัด. (2563). การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนากับการสร้างความเข้าใจการดูแลในครอบครัวภายใต้บริบทของสังคมวัฒนธรรมไทย. วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, 28(2), 124-128. http://dspace.lib.buu.ac.th/xmlui/handle/1234567890/4208

TKpark. (2020). Ethnography พลิกมุมมองการวิจัยพฤติกรรมผู้ใช้บริการห้องสมุด. สืบค้น 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.tkpark.or.th/eng/articles_detail/1589261526924
/Ethnography-พลิกมุมมองการวิจัยพฤติกรรมผู้ใช้บริการห้องสมุด

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (ม.ป.ป.). Ethnography. สืบค้น 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/48

ชัชชล อัจนากิตติ. (ม.ป.ป.). Multispecies Ethnography. สืบค้น 20 กรกฎาคม 2566, จาก https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/166

ชาย โพธิสิตา. (2021). ศาสตร์และศิลป์การวิจัยเชิงคุณภาพ. กรุงเทพมหานคร: สํานักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


ผู้เขียน
วรินกานต์ ศรีชมภู
นักบริการสารสนเทศ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ ชาติพันธุ์วรรณนา ระเบียบวิธีวิจัยและการศึกษาภาคสนาม นักมานุษยวิทยา ethnography วรินกานต์ ศรีชมภู

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share