เสียงของ ‘เด็ก’ ที่หายไปในงานวัฒนธรรมชุมชน
บทความนี้เขียนขึ้นจากข้อสังเกตบางอย่างที่เริ่มพบตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีแต่ไม่ได้คิดกับมันต่อมากนัก และค่อย ๆ ทยอยเห็นภาพนี้บ่อยชัดขึ้นเมื่อทำวิจัยภาคสนามในชุมชนกะเหรี่ยงโผล่ว จังหวัดอุทัยธานี หรือไปปฏิบัติงานด้านใดด้านหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ “การพัฒนา” “อัตลักษณ์” และ “วัฒนธรรมชุมชน” ณ ที่ต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา 2-3 ปี สิ่งที่ผู้เขียนสังเกตคือ ในหลายกิจกรรมของชุมชนต่าง ๆ ที่ผู้เขียนเข้าไปมีส่วนร่วมหรือสังเกตการณ์ ส่วนใหญ่แล้วเป็นกิจกรรมที่ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุและผู้ใหญ่วัยทำงานเกือบทั้งสิ้น จึงเป็นที่มาของคำถามว่า “เสียงและตัวเด็กหล่นหายไปไหนในการทำงานชุมชน?” ซึ่งเป็นที่มาของการพยายามค้นหาที่มาที่ไปของการที่มีเพียงผู้ใหญ่และผู้เฒ่าผู้แก่เท่านั้นที่มีส่วนในการทำงานวัฒนธรรมชุมชน (และยิ่งเห็นชัดเมื่อเป็นงานเกี่ยวกับการสร้างภาพแทนชุมชน)
หรืองานชุมชนคืองานผู้ใหญ่เดินนำ เด็ก(ต้อง)ฟังและทำตาม ?
เมื่อพูดถึงงานวัฒนธรรมชุมชน งานของของยุกติ มุกดาวิจิตร (2548) อธิบายให้เห็นภาพการผลิตสร้างความรู้ความเข้าใจและความหมายของ “วัฒนธรรมชุมชน” ผ่านการทำงานทางสังคมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ทำให้ที่ผ่านมางานวัฒนธรรมชุมชนส่วนใหญ่ถูกผลิตสร้างขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านความเหลื่อมล้ำของการสร้างความหมาย (หรือการเขียนของนักพัฒนาและนักวิชาการ) และอาจด้วยปัญหาของการพัฒนาภายใต้วาทกรรมวัฒนธรรมชุมชนที่ยึดเอาวัฒนธรรมเป็นศูนย์กลางหรือหัวใจของการพัฒนานี้เองที่อาจสร้างปัญหาให้กับชุมชนได้ โดยเฉพาะเมื่อวัฒนธรรมชุมชนถูกผลิตสร้างแบบโรแมนติกเพื่อต่อต้านการพัฒนากระแสหลักและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ความเป็นเมือง และสิ่งอื่นใดที่มีศักยภาพบ่อนทำลายวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิมอันดีงามนี้และเปลี่ยนให้กลายเป็นสังคมสมัยใหม่ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วไม่ว่าจะเป็นงานศึกษาวัฒนธรรมชุมชนแบบหิวกระหายอัตลักษณ์และความแปลกแยกอันโดดเด่นของความเป็นชุมชน หรืองานด้านการพัฒนาชุมชนที่มีพื้นฐานอยู่บนวัฒนธรรมชุมชนที่แปลกใหม่ (Exotic) ตลอดจนกระบวนการผลิตสร้างความรู้ที่ชักนำไปสู่การค้นหาและทำความเข้าใจวัฒนธรรมของชุมชนหรือกลุ่มสังคมใดสังคมหนึ่งผ่านแนวทางการศึกษา “ภูมิปัญญาชุมชน” ในความหมายลักษณะที่ว่าภูมิปัญญาเป็นผลผลิตจากระบบการผลิตสร้างความรู้ของคนในชุมชน
“...ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายทั่วไปในสังคม ในวงการต่างๆ ของรัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน...เริ่มใช้กันอย่างแพร่หลาย..เกิดการหันมาเน้นความสำคัญของท้องถิ่น ยกย่องความรู้และวิถีชีวิตท้องถิ่น…”
– บางส่วนจากบทนำหนังสือรวมบทความประชุมประจำปีเรื่อง ภูมิปัญญากับการสร้างพลังชุมชน (2548)
แม้การส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการส่งเสริมโดยขาดการพิจารณาถึงผลที่จะได้รับอย่างรอบคอบ และอาจสร้างปัญหาในภายหลังได้ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ดูจะเป็นเพียงส่วนน้อย เมื่องานศึกษาและพัฒนาวัฒนธรรมชุมชนผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่นยังคงฝังรากลึกอยู่ในแวดวงวิชาการ ที่อาจเริ่มตั้งแต่ในชั้นเรียน ที่นักศึกษาสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชนล้วนต่างถูกสอนในชั้นเรียนผ่านการพูดคุยและศึกษากับชาวบ้าน ‘ที่ถือครองภูมิปัญญา’และเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และหลักฐานในการผลิตผลงานเพื่อส่งอาจารย์ เมื่อภูมิปัญญาเท่ากับองค์ความรู้ และองค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่นหมายถึงสิ่งที่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ความเป็นชุมชน แหล่งข้อมูลที่จะนำมาใช้อ้างอิงจึงมุ่งไปยังผู้มากด้วยประสบการณ์ชีวิตที่ประสบพบเจอและตกผลึกออกมาเป็นองค์ความรู้ดังเช่นผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ อันเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะนึกถึงและไปหาเป็นอันดับแรกในการทำงานวิชาการและงานพัฒนาในชุมชน
ภาพแทนชุมชนที่ถูกสร้างขึ้น จึงเกิดขึ้นผ่านความร่วมมือของปราชญ์หรือผู้สูงอายุของชุมชนผู้ถือครองภูมิปัญญา อันจะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตภาพแทนชุมชน, นักวิชาการและ NGO ที่เข้ามาช่วยพัฒนาภูมิปัญญาที่เป็นนามธรรมหรือมีอยู่แต่ไม่โดดเด่นให้แสดงภาพที่ชัดมากขึ้น ส่งผลให้งานวัฒนธรรมชุมชนสร้างความรู้สึกเป็นของแท้ดั้งเดิม เป็นสิ่งดีงาม หรือแย่หน่อยก็ถูกมองว่าล้าหลัง เป็นการหวนกลับไปสู่อดีตอันดีงามเกินจริง (bouncing back) ในขณะที่เมื่อพูดถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชน กิจกรรมพัฒนาชุมชนส่วนใหญ่ได้กลายไปเป็นงานของคนที่มีคุณลักษณะเฉพาะกลุ่ม เป็นงานของผู้สูงวัยหรือผู้มีความรู้ในท้องถิ่น ภาพแทนชุมชนจึงไม่ต่างอะไรจากจินตนาการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบางกลุ่ม ที่ผู้เขียนเลี่ยงจะบอกว่าเป็นของชุมชนองค์รวม เพราะมีบ้างที่ผู้เขียนรู้สึกว่าภาพแทนของบางชุมชนถูกผลิตสร้างขึ้นโดยคนภายนอกมากกว่าคนในชุมชน หรือเป็นเพียงคนบางกลุ่มในชุมชน เพราะวัฒนธรรมบางอย่างก็ไม่ใช่สิ่งที่มีร่วมกัน (common) แต่เป็นของบางกลุ่มที่มีความโดดเด่นและถูกนำมาใช้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน อาทิ องค์ความรู้เรื่องสมุนไพรพื้นบ้านที่มีอยู่แค่ในหมอพื้นบ้านหรือผู้นำจิตวิญญาณเท่านั้น
ที่น่าแปลกใจคือเด็กมีบทบาทน้อยมากในกิจกรรมวัฒนธรรมชุมชน โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงงานชุมชนที่อวดอ้างสรรพคุณการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชน (PAR) ดังที่เอกรินทร์ พึ่งประชา (2567, 28 มีนาคม) ระบุถึงปัญหาของการวิจัยแบบ PAR ที่มองชุมชนแบบองค์รวมโดยไม่คำนึงถึงความหลากหลายของสมาชิกชุมชน อันเป็นรากสาเหตุสำคัญของปัญหาความขัดแย้งในชุมชน (และปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากการทำงานชุมชน) เด็กส่วนใหญ่ถูกวางบทบาทให้เป็นผู้รับแนวคิดและนำไปปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกมองว่าเป็นปัญหา เป็นภัยอันเลวร้ายต่ออนาคตของวัฒนธรรมชุมชนอันดีงาม ที่เรามักพบเห็นในงานประชุมหรืองานวัฒนธรรมชุมชนศึกษา เมื่อพูดถึงปัญหาหรือข้อจำกัดของวัฒนธรรม มักมีการพูดคำว่า “ขาดการสืบทอด”, “เด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจ” ที่ซึ่งงานวัฒนธรรมชุมชนกำลังปรักปรำและผลักภาระไปให้กับคนกลุ่มย่อยของสังคม(ชุมชน) หรือไม่ก็กล่าวโทษวัฒนธรรมสมัยใหม่จากภายนอกหรือโลกาภิวัตน์
ผู้เขียนเคยไปช่วยงานอบรมเครื่องมือ 7 ชิ้น ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่จังหวัดแห่งหนึ่ง ในระหว่างการอบรมมีกิจกรรมที่พูดถึงทุนและความท้าทายของวัฒนธรรมชุมชน กลุ่มที่ผู้เขียนดูแลประกอบด้วยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น-ปลาย ผลปรากฏว่าคำตอบที่เด็กมัธยมพูดถึงงานชุมชนด้านประเพณีและความเชื่อเรื่องผีมีเพียงคำตอบสั้น ๆ ว่า “งมงาย” และเป็นความท้าทายหรือปัญหามิใช่ทุนชุมชนเชิงบวกแต่อย่างใด เมื่อสอบถามเพิ่มเติมพบว่าเด็กมองว่าการที่ผู้สูงอายุในครอบครัวเลือกที่จะปรึกษาปัญหากับหมอผีและคนทรงมากกว่าฟังคนในครอบครัวคือสิ่งที่เป็นปัญหา ที่ตลกร้ายคือปัญหานั้นเป็นปัญหาสุขภาพที่ในงานเองก็มีผู้เข้าอบรมและสถานที่จัดงานเป็นโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานร่วมกับหมอผีด้วยเช่นเดียวกัน ความพยายามในการแก้ไขปัญหาสุขภาพด้วยการเชื่อมโยงความรู้ทางการแพทย์แบบพื้นบ้านและสมัยใหม่ดูจะไม่ใช่ทางออกในสายตาของเด็กในชุมชน ที่สุดท้ายแล้วกลับยิ่งทำให้คนเหล่านั้นยึดมั่นในความเชื่อเรื่องผีมากยิ่งขึ้นไปอีก อีกทั้งเมื่อมองไปที่กลุ่มอื่น แน่นอนว่าคำตอบของปัญหาวัฒนธรรมในแนวขาดการสืบทอดที่กล่าวไปย่อหน้าก่อนหน้านี้ก็ปรากฏให้เห็นในกลุ่มที่สมาชิกเป็นผู้ใหญ่หรือผู้มีการศึกษาในท้องถิ่นเช่นครูและนักพัฒนาชุมชน
การเป็นผู้ด้อยอำนาจและคนกลุ่มน้อยในสังคม ทำให้เสียงของเด็กในฐานะกลุ่มวัฒนธรรมย่อยไม่มีความหมายหรือไม่มีพลังอำนาจในการสร้างตัวตนหรือสื่อสารให้เห็นกับคนภายนอก แม้เด็กจะบอกว่าความเชื่อเรื่องผีเป็นสิ่งงมงาย แต่เด็กก็ไม่ได้ปฏิเสธกิจกรรมทุกอย่าง ในทางตรงกันข้าม เด็กเหล่านี้เองก็กำลังทำงานด้านวัฒนธรรมอย่างเช่นการประชาสัมพันธ์งานเทศกาลผีตาโขนผ่านช่องทางออนไลน์ (รวมถึงทักมาชวนผู้เขียนให้ไปเที่ยวงานด้วย) และสนุกไปกับงานชุมชนในแบบของตนเอง เพียงแต่สิ่งที่เด็กอยากจะทำไม่สามารถสื่อสารออกมาเมื่อเผชิญหน้ากับผู้ใหญ่ในพื้นที่ทางการเมืองของงานชุมชนที่เต็มไปด้วยอำนาจของผู้ใหญ่ได้ เด็กเหล่านี้จึงเลี่ยงจะมีปากมีเสียงกับผู้ใหญ่ ปฏิเสธที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไม่มีสิทธิมีเสียงในพื้นที่ของ‘งานชุมชน’
การวางตัวแบบ ‘เพื่อน’ และมาม่าเกาหลี as method
แน่นอนว่าการเป็นเด็กมิได้หมายถึงการเป็นผู้ไร้เดียงสาหรือไม่มีความคิดความอ่าน ตามอคติที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก (Adultism) แม้ความเป็นเด็กจะถูกกำหนดโดยอายุและช่วงวัยเป็นหลักก็ตาม การใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านกะเหรี่ยงเฉลี่ยครั้งละไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ต่อเดือนในช่วง 1 ปีที่ทำงานวิจัยนิเวศการเมืองของชุมชน ทำให้ผู้เขียนได้สร้างความสนิทสนมกับกลุ่มเด็กผู้ชายช่วงวัยประถมในชุมชน จากการที่พื้นที่หลับนอนของผู้เขียนคือศาลาส่วนกลางของชุมชน ซึ่งเป็นจุดเดียวที่มีสัญญานอินเทอร์เน็ต WiFi ทำให้ผู้เขียนเริ่มทำความรู้จักกลุ่มเด็กที่จับจองพื้นที่ในศาลาเพื่อเล่นเกมมือถือ ส่วนเด็กผู้หญิงแม้จะเป็นกลุ่มที่เข้ามาใช้พื้นที่ศาลาเพื่อเล่นโทรศัพท์เหมือนกัน แต่ผู้เขียนก็ไม่ได้ทำความรู้จักสนิทสนมมากเพราะกำแพงหรือเส้นแบ่งทางเพศยังคงมีอยู่ในวัฒนธรรมไทย เช่นเดียวกับที่ปริตตา (2555) ระบุในประสบการณ์งานภาคสนามในคณะละครรำแก้บน ที่พบข้อจำกัดเส้นแบ่งทางเพศทำให้ไม่ได้สนิทสนมกับเด็กผู้ชายในคณะละครรำมากนัก
เท่าที่สังเกต เด็กชายกะเหรี่ยงกลุ่มนี้รู้ดีว่าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในชุมชนของตนเองมีความเกรงอกเกรงใจคนนอกอย่างเช่นผู้เขียน เมื่อสนิทจนเป็นเพื่อนเล่นกันได้ในระดับนึง เด็กเหล่านี้จึงเริ่มใช้ผู้เขียนเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างข้ออ้างในการทำกิจกรรมบางอย่างที่เดิมเคยถูกห้ามปรามไว้หลายอย่าง ดังเช่น การเล่นน้ำในลำธารในวันปกติ ที่ได้คำตอบว่าปกติเด็กกลุ่มนี้จะถูกห้ามปรามเพราะเป็นช่วงที่มีการเรียน จะได้รับอนุญาตให้เล่นน้ำแค่วันหยุดหรือช่วงปิดเทอมและเล่นได้เฉพาะบางจุดเท่านั้นเพราะไม่มีผู้ใหญ่ไปคุม ทำให้ตลอดเวลาที่ผู้เขียนทำงานภาคสนาม ผู้เขียนต้องสละช่วงเวลาตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึง 6 โมงไปกับการออกไปเล่นกับเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไปเล่นน้ำในลำธารในหมู่บ้าน
ขั้นกว่าของการใช้คนนอกเป็นเครื่องมือเพื่อสนองผลประโยชน์ของตนเอง คือเด็กเหล่านี้ชวนผู้เขียนไปเล่นน้ำในลำธารนอกหมู่บ้าน ที่ปกติจะถูกห้ามหรือได้ไปเล่นเพียงไม่กี่ครั้ง โดยเด็กไปบอกกล่าวกับพ่อแม่ว่ามีผู้ใหญ่ไปด้วย ซึ่งก็คือผู้เขียนเอง แต่ในขณะเดียวกันเมื่อไปถึงก็ให้ผู้เขียนลงไปเล่นน้ำร่วมกันด้วย สถานะของผู้เขียนจึงเป็นทั้งเพื่อนเล่นและผู้ใหญ่ไปพร้อม ๆ กัน มีครั้งหนึ่งที่เด็กกลุ่มนี้ชวนไปเล่นน้ำระหว่างที่กำลังพูดคุยกับสมาชิกชุมชนที่เป็นผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัวของเด็กกลุ่มนี้ ว่าจะพาไปเล่นน้ำที่ไกล ๆ เพื่อ “พาพี่...(ผู้เขียน) ไปสำรวจสัตว์น้ำในลำธาร” แสดงให้เห็นว่าเด็กกลุ่มนี้เรียนรู้คนนอกว่าเข้ามาเพื่อทำอะไร และในขณะเดียวกันผู้เขียนเองก็เริ่มเห็นว่า เด็กกลุ่มนี้ก็เป็นผู้มีศักยภาพมากพอที่จะให้ข้อมูลเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศของชุมชนได้ ผู้เขียนจึงเริ่มทดลองวางแผนการเก็บข้อมูลโดยมีเด็กเป็นผู้ให้ข้อมูลหลัก ผ่านโลกทัศน์หรือความเข้าใจ และภาษาในแบบของเด็กกลุ่มนั้นเอง
ผู้เขียนเริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับเด็ก ๆ ผ่านการนำเสนอวัฒนธรรมจากภายนอก ซึ่งอาจมองอย่างติดตลกได้ว่ากำลังใช้กลไกอันโหดร้ายที่ขัดแย้งกับสิ่งที่นักวัฒนธรรมชุมชนหลายคนพยายามหลีกเลี่ยงให้ชุมชนอยู่ห่างจากความเป็นเมืองหรือโลกาภิวัตน์ ที่ทุกครั้งที่เดินทางไปชุมชน ผู้เขียนจะพกอาหารและขนมติดไม้ติดมือไปเป็นของฝากให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กด้วย ปกติแล้วสิ่งที่ผู้ใหญ่และเด็กอยากได้จากผู้เขียนคือ กุ้งสดที่หาซื้อได้ยากในชุมชนและมีราคาแพง (ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนเหล่านี้รู้ว่าพื้นเพบ้านของผู้เขียนประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งอยู่ฉะเชิงเทรา) และอาหารเกาหลี-ญี่ปุ่นที่เด็กเห็นในสื่อออนไลน์แล้วอยากกินตาม (มาม่าเกาหลีซองดำยี่ห้อซัมยังคือวัตถุทางการผูกมิตรอันดับหนึ่ง) แน่นอนว่าผู้เขียนพบข้อจำกัดของการเล่นตามที่ ปริตตา (2555) ระบุถึงข้อจำกัดของอายุและเส้นแบ่งระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก นับว่าเป็นโชคดีที่ผู้เขียนเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี และอาจหน้าเด็กอยู่บ้างจึงทำให้เด็กกล้าที่จะเป็นเพื่อนเล่นกับผู้เขียน และการพูดคุยกับเด็กก็ทำให้เห็นความเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยในสังคม และความขัดแย้งทางความคิดระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่
เมื่ออยู่ในชุมชน ช่วงวันหยุดผู้เขียนพยายามศึกษาเก็บข้อมูลจากเด็กผ่านกระบวนการเล่น หรือ “playing as method” เหมือนในงานของนิฌามิล (2566) ที่ศึกษาโลกของเด็กมอแกลนผ่านการเล่นน้ำทะเล ที่ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปยังชุมชนด้วยครั้งหนึ่ง (ขออภัยที่รบกวนเวลาอันมีค่าไปกับขอเล่นน้ำทะเลกับน้องสายลม(นามสมมติ) ที่พาพวกเราไปเล่นน้ำทะเลตามที่ผู้เขียนเอ่ยปากขอไว้และน้องยินดีพาไป อย่างไรก็ตาม วิธีการที่ผู้เขียนตั้งคำถามกับเด็กในชุมชนกะเหรี่ยงแตกต่างจากวิธีการของนิฌามิลที่พยายามเลี่ยงถามแบบอ้อม ๆ หรืออ่านบรรยากาศก่อนถาม เพราะผู้เขียนเลือกที่จะยิงคำถามแบบตรงไปตรงมา เนื่องจากสถานะของผู้เขียนถูกรับรู้จากคนทั้งชุมชนอยู่แล้วว่าเป็นคนนอก เป็นคนเมือง และเป็นเด็ก(นักศึกษา)ที่เข้ามาในชุมชนแบบไม่รู้จักชุมชนหรือวัฒนธรรมกะเหรี่ยงมาก่อน สถานะของผู้เขียนในฐานะเพื่อนเล่นสลับกับผู้ใหญ่ผู้ดูแลเด็กในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน และการเป็นคนนอก/คนเมือง/ผู้ไม่รู้ เหมือนกับเปิดโอกาสให้ผู้เขียนสามารถตั้งคำถามกับอะไรต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า แม้แต่กับเด็ก ๆ เองที่ก็ยินดีตอบคำถามในแบบของเด็ก (ที่อาจจะมีคำตอบแบบกวน ๆ ติดเล่นโผล่ออกมาบ้าง)
หากนิเวศวัฒนธรรมพื้นบ้านของผู้ใหญ่มีระบบการจำแนกพื้นที่ในชุมชนตามทรัพยากร สภาพพื้นที่ และรูปแบบการใช้งานแล้ว เด็กกลุ่มนี้ก็มีการจำแนกพื้นที่ไม่ต่างกัน การจำแนกและระบุพื้นที่ทางกายภาพที่สัมพันธ์กับพันธุ์ปลาในลำธารในเด็กและผู้ใหญ่แทบไม่ต่างกัน ต่างกันเพียงแค่เป้าหมายขององค์ความรู้ที่ในเด็กมีไปเพื่อจับปลามาเล่น หรือเหมือนกันเมื่อต้องการจับมาบริโภค (แน่นอนว่าเด็กจับปูและปลามาให้ผู้เขียนทอดแทนที่จะให้พ่อแม่เป็นคนทอดเพราะกลัวโดนด่า) เผลอ ๆ มีความละเอียดในรายละเอียดเล็ก ๆ มากกว่าผู้ใหญ่เสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางโลกทัศน์และภาษา สุดท้ายแล้วเมื่อต้องเขียนงานในภาษาผู้ใหญ่ ผู้เขียนจึงต้องเก็บข้อมูลจากฝั่งผู้ใหญ่และผู้สูงอายุด้วย อีกทั้งยังเพิ่มช่วงเวลาในการสัมภาษณ์แบบกลุ่ม โดยหยิบยกเอาตัวอย่างที่ได้จากการเก็บข้อมูลมาใช้เป็นหัวข้อการสนทนา ซึ่งพบว่าได้ข้อมูลที่ละเอียดมากกว่าการถามแบบวงกว้างอย่างเช่น พืชชนิดไหนนำมากิน/ทำยา/ทำบ้าน/ประกอบพิธีกรรม ฯลฯ ทำให้ผู้เขียนค้นพบว่าการเก็บข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพในฝั่งมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ วิธีการสัมภาษณ์แบบเดินไปคุยไปในพื้นที่ที่อยากได้ข้อมูล (Walk in the wood) ช่วยให้บทสนทนาลื่นไหลไม่ติดขัด อีกทั้งยังเป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งได้ผลทั้งในกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่ ในขณะที่ฝั่งของเด็กจะมีกระบวนการทำงานเพิ่มมากขึ้นคือการเพิ่มขั้นตอนการทำงาน ที่อาจมองว่ายุ่งยากได้เมื่อต้องแปลงสารและภาษาที่ออกมาจากเด็กให้เป็นภาษาที่ผู้ใหญ่และคนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย
กลุ่มเด็กชายกะเหรี่ยงยังเป็นกลุ่มแรกที่ทำให้ผู้เขียนรู้ถึงข้อจำกัดของการส่งต่อความรู้ผ่านการปฏิบัติจริงที่ผู้ใหญ่มักพูดว่าขาดการสืบทอด เพราะความจริงกลุ่มเด็กไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกเขตหมู่บ้านตามอำเภอใจโดยไม่มีผู้ใหญ่ไปด้วย ซึ่งต่างจากเรื่องเล่าของผู้ใหญ่ที่วิ่งเล่นในไร่ได้เต็มที่เมื่อสมัยเป็นเด็ก หรือที่ผู้ใหญ่มักบอกว่าเรียนรู้จากธรรมชาติหรือสังเกตเรียนรู้จากพ่อแม่ ไม่แน่ใจว่าเพราะอันตรายจากสัตว์มีพิษ ความห่างไกลจากชุมชน อุบัติเหตุตกเขา(ที่ผู้เขียนโดนมาแล้ว) ทำให้ผู้ใหญ่เลือกที่จะทิ้งเด็กไว้ที่หมู่บ้านและทำงานในไร่แค่กลุ่มผู้ใหญ่ด้วยกัน หรือเป็นเพราะสารเคมีนานาชนิดที่ถูกนำมาใช้ทำการเกษตร ที่ตอนแรกผู้ใหญ่พยายามปิดบังไม่ให้ผู้เขียนรู้หรือนำไปบอกเล่ากับคนภายนอกเพราะจะขัดกับภาพแทนนักอนุรักษ์ที่สร้างขึ้นเพื่อนัยยะทางการเมือง แม้ตอนหลังจะผ่อนปรนให้ผู้เขียนนำไปเผยแพร่หรือบอกเล่าได้ในระดับหนึ่ง แต่ภาพแทนนักอนุรักษ์ในงานวัฒนธรรมชุมชนนี้เองที่ได้ย้อนกลับสร้างปัญหากับการใช้ประโยชน์ในลำธารของเด็ก ภายหลังจากที่ฝายอนุรักษ์ถือกำเนิดขึ้นทับซ้อนกับพื้นที่เล่นน้ำของเด็ก
พื้นที่ทางสังคมของ ‘ฝาย’ และ ‘เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา’ ระหว่างคนกลุ่มย่อยในสังคม
ภายหลังการทำงานกับคนภายนอก ชาวกะเหรี่ยงเริ่มหันมาสร้างฝายบนพื้นที่ ‘ทางจิตวิญญาณ’ หนึ่งในพื้นที่ที่มาการใช้ประโยชน์จากคนหลากหลายกลุ่มมากที่สุดในหมู่บ้าน ฝายอนุรักษ์น้ำเริ่มปรากฏให้เห็นในชุมชนภายหลังชุมชนร่วมมือกับ NGO ในท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐในการสนับสนุนวัฒนธรรมชุมชนในฐานะที่วัฒนธรรมกะเหรี่ยงมีความสัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติตามวาทกรรมกะเหรี่ยงนักอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้ต่อรองกับหน่วยงานด้านป่าไม้หลังจากมีความขัดแย้งด้านที่ดินทำกินมาอย่างยาวนาน ความซับซ้อนของที่มาแนวคิดเรื่องฝายสัมพันธ์กับแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่แบบป่าต้นน้ำอนุรักษ์ ทำให้การทำฝายถูกมองว่าเป็นการอนุรักษ์และเก็บน้ำไว้ใช้ในยามจำเป็น ในขณะเดียวกันก็ถูกทำให้ดูเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมกะเหรี่ยงในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนกับทรัพยากรน้ำ ด้วยการแนะนำของคนภายนอก ทำให้แกนนำในชุมชนเริ่มหันมาทำฝายเพื่อใช้เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุจัดแสดงในยามที่มีคนจากภายนอกเข้ามาทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรมในชุมชน อาทิ งานด้านวัฒนธรรมกะเหรี่ยง งานด้านสิทธิมนุษยชน งานด้านอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นต้น หากพูดให้ละเอียดมากขึ้น ฝายจะถูกสร้างขึ้นในช่วงหลังฤดูฝนราวเดือนพฤศจิกายน เพื่อใช้ประกอบภาพแทนในงานสถาปนาพื้นที่คุ้มครองฯ ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร เดือนธันวาคม หลังจากนั้นจะถูกปล่อยทิ้งร้างไปจนถึงกลางปีถัดไปเพื่อรอวันถูกทำลายโดยน้ำป่าในช่วงฤดูฝน
การสร้างฝายขัดแย้งกับความจริงของธรรมชาติแหล่งน้ำในชุมชนที่จะมีน้ำไหลน้อยในช่วงฤดูร้อน และจะมีน้ำป่าเป็นประจำในช่วงฤดูฝน ทำให้ฝายถูกทำลายทุกปี (ความจริงคือทุกครั้งที่มีน้ำป่า) งบประมาณในการเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งจึงถูกผันไปให้กับการทำฝายใหม่ทุกครั้งทุกปี ในขณะที่ฝายกำลังถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและข้อเท็จจริงที่สร้างผลเสียจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศมากกว่าการอนุรักษ์จากบรรดานักสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย ฝายในชุมชนนี้เองก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตะกอนในลำธารและการเปลี่ยนแปลงทางน้ำไปกัดเซาะตลิ่ง อีกทั้งวัสดุในการทำฝายเองก็สร้างขยะทุกครั้งที่ถูกทำลายซึ่งไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แต่แม้กิจกรรมจึงขัดแย้งกับภาพแทนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสายตานักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม แต่กลับส่งผลอย่างมากต่อการสร้างภาพแทนกะเหรี่ยงนักอนุรักษ์ แม้แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยังสนับสนุนการสร้างฝายเพื่ออนุรักษ์น้ำไว้ใช้ในชุมชน แม้ในความเป็นจริงลำห้วยนี้จะไหลผ่านหมู่บ้านไม่ใช่พื้นที่เกษตร และหลายบ้านหันมาใช้น้ำประปาหมดแล้ว แต่วาทกรรมการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำยังมีผลมาก โดยเฉพาะในกิจกรรมการเคลื่อนไหวในกลุ่มชาติพันธุ์ที่หันมาจับประเด็นทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลังจากมีฝายเกิดขึ้น ประเด็นด้านความหลากหลายทางชีวภาพเองก็ทำให้พื้นที่ฝายถูกสร้างความหมายใหม่เป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลา หลังจากที่การสร้างฝายทำให้มีน้ำกักเก็บไว้มากพอจนเหมือนบ่อน้ำนิ่ง และมีปลาขนาดใหญ่อาศัยอยู่ และเช่นเคย หน่วยงานภายนอกนำการอนุรักษ์พันธุ์ปลามาเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมกะเหรี่ยงนักอนุรักษ์ และเริ่มตั้งกฎในการห้ามจับสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงที่มีคนนอกเข้ามาในชุมชน เพื่อไม่ให้วิถีชีวิตของสมาชิกชุมชนขัดแย้งกับภาพแทนที่สร้างขึ้นมา
ข้อสังเกตที่ผู้เขียนพบคือ หากไม่นับช่วงเวลาที่มีกิจกรรมที่มักนิยมใช้พื้นที่ริมน้ำเป็นสถานที่จัดงาน ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากลำห้วยบริเวณดังกล่าวมากที่สุด ไม่ใช่ NGO หรือแกนนำ สมาชิกชุมชนใดที่เป็นผู้ใหญ่หรือวัยรุ่น แม้คำกล่าวอ้างเรื่องพื้นที่ทางจิตวิญญาณจะมีจริงแต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เฉพาะเวลาที่มีงานเท่านั้นที่พื้นที่นี้จะถูกใช้งาน อันที่จริงแล้วเหตุผลในการใช้พื้นที่เพื่อทำงานภาพแทนชุมชนมีมากยิ่งกว่าพิธีกรรมของชุมชนเสียอีก ผู้ใช้ประโยชน์กลุ่มหลักอย่างแท้จริงนั้น จริง ๆ แล้วคือกลุ่มเด็กผู้ชายที่มักมาเล่นน้ำหรือเดินหาจับสัตว์น้ำริมลำห้วย แต่เมื่อมีฝาย เด็กไม่สามารถลงเล่นน้ำได้อย่างอิสระโดยปราศจากผู้ใหญ่ดูแล เนื่องจากระดับน้ำมีความลึกที่มากขึ้นจนสร้างความกังวลให้กับบรรดาผู้ปกครองของเด็ก แม้ไม่ได้เล่นน้ำแต่เด็กกลุ่มนี้ก็ยังคงใช้พื้นที่ละแวกนั้นอยู่ตามเดิม บางครั้งผู้เขียนเห็นกลุ่มเด็กชายมาก่อกองทราย หยิบเอาของเล่นจากบ้านมาเล่นรวมกันริมน้ำที่เป็นลานโล่ง ๆ หรือรวมกลุ่มกันเอาหนังสติ๊กมาหายิงนกเล่น หรือมีกลุ่มเด็กหญิงมานั่งริมน้ำหรือสันฝายเพื่อพูดคุยอะไรบางอย่างที่ผู้เขียนไม่สนิทมากพอจะเข้าไปสอบถามหรือเสนอหน้าไปร่วมวงสนทนา
การใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าวนี้เองจึงเห็นความแตกต่างและความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ระหว่างกลุ่มคนในสังคม แม้วาทกรรมความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติจะถูกนำมาใช้เพื่อเป็นภาพแทนกะเหรี่ยง แต่ความสัมพันธ์ในแบบของเด็กก็แตกต่างจากผู้ใหญ่และความไม่เท่าเทียมในการสื่อสารและใช้ประโยชน์ เหมือนกับเด็กที่เน้นการเล่นน้ำและจับสัตว์น้ำเป็นหลักนั้นก็ถูกห้ามปรามในช่วงที่มีคนนอกเข้ามา เพราะพื้นที่และกิจกรรมทางสังคมของเด็กทับซ้อนและขัดแย้งกับพื้นที่ตามความหมายอนุรักษ์ของผู้ใหญ่ (จินตนาการว่าเรากำลังพูดถึงชาวกะเหรี่ยงนักอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ที่สถาปนาเป็นพื้นที่อนุรักษ์ แต่รอบข้างคือภาพเด็กที่กำลังเอาหนังสติ๊กยิงนกอยู่ในพื้นที่อย่างย้อนแย้ง) ภาพของเด็กชายในชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นที่เล่นน้ำอย่างสนุกสนานเสียงดังจึงถูกเปลี่ยนเป็นเด็กชายในชุดกะเหรี่ยงทำตัวนิ่งเงียบเรียบร้อยตามคำสั่งของผู้ใหญ่(ผู้ปกครอง)ที่สั่งให้ทำเพื่อนำเสนอภาพให้คนภายนอกในวันงาน แม้สุดท้ายกลุ่มเด็กจะหาช่องโหว่และโอกาสเพื่อหลบหนีจากผู้ใหญ่ทางใดทางหนึ่งเพื่อมาแอบจับสัตว์น้ำริมลำธารในจุดที่ไกลสายตาผู้ใหญ่และคนนอกเหมือนเดิมก็ตาม
อันที่จริงฝายในมุมมองของเด็กก็มีความต่างจากผู้ใหญ่ แม้ฝายและพื้นที่อนุรักษ์วังปลาจะส่งผลกระทบต่อการใช้พื้นที่ลำห้วยของเด็ก แต่เมื่อผู้เขียนสอบถามหลังจากรอเวลาสนิทกันจนถึงวันที่ฝายพังไปเรียบร้อยแล้ว พบว่าตัวเด็กเองก็ไม่ได้ไม่เห็นด้วยหรือไม่ชอบเพราะถูกจำกัดหรือเพราะความหมายผลกระทบตามเหตุผลของนักสิ่งแวดล้อม (ที่เด็กเองก็ไม่ได้มีสำนึกในเรื่องของการอนุรักษ์หรือต้องการถูกผูกมัดให้ดูแลสภาพแวดล้อมธรรมชาติอยู่แล้ว) ตรงกันข้ามเด็กกลับชอบให้มีฝายอยู่ในชุมชน เพราะจะได้มีพื้นที่เสมือนสระว่ายน้ำให้ว่ายน้ำได้อย่างสะใจมากขึ้น แม้จะไม่ได้เล่นบ่อยอยู่บ้างก็ตามเพราะฝายเองก็มีเวลาคงอยู่ที่จำกัด ผู้ใหญ่บางคนเองเมื่อรู้ว่าเด็กชอบฝายก็ไม่ได้แสดงท่าทีคัดค้านอะไรแม้จะไม่ชอบภาพแทนนักอนุรักษ์ที่ขัดแย้งกับความจริง ด้วยข้อจำกัดของสภาพชุมชนที่ยังไม่มีแม้สัญญาณโทรศัพท์ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่อาจซื้อโทรศัพท์ให้ลูกใช้จนต้องไปรวมตัวกันเพื่อนั่งมองดูเพื่อนในชุมชนที่ยืมโทรศัพท์ผู้ใหญ่มาดูคลิปหรือเล่นเกมที่ศาลาชุมชนอีกที สระน้ำจากฝายจึงอาจเป็นเครื่องสันทนาการเพียงไม่กี่อย่างในชุมชนชนบทในป่าเขาที่เด็กสามารถเล่นสนุกและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และเป็นประโยชน์แก่ผู้ใหญ่ผู้ปกครองที่ไม่ต้องเสียเงินจ่ายเพื่อซื้อเครื่องสันทนาการสมัยใหม่ที่มีราคาแพงมากในสภาพเศรษฐกิจชุมชนที่มีหนี้สินจากภาคการเกษตรอยู่เต็มไปหมด
‘เด็ก’ subaltern ในโลกของผู้ใหญ่
แน่นอนว่าเสียงของเด็กที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่เสียงที่มาจากการสื่อสารหรือพูดออกมาด้วยตัวเอง หากแต่เป็นการถูกเล่าผ่านคนกลาง ที่ถูกแปลงสารเพื่อเปลี่ยนประเด็นความสนใจและตอบโจทย์เป้าหมายของคนกลุ่มอื่นแทน เหมือนดังเช่นปัญหาในการสื่อสารของชาวกะเหรี่ยงโผล่วในงานของ บัณฑิต ไกรวิจิตร (2561) ที่ใช้แนวคิด Subaltern ศึกษาการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสิทธิในที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงถูกนำเสนอในฐานะคนอนุรักษ์ที่ตอนโจทย์คนนอก แต่ย้อนแย้งกับวิถีชีวิตของตนเอง ภาพแทนของวัฒนธรรมกะเหรี่ยงที่เกิดจากการทำงานแบบผู้ใหญ่เป็นใหญ่ (Adultism) ทำให้เด็กในชุมชนจึงมีสถานะเป็น subaltern เด็กส่วนใหญ่จึงไม่รู้สึกยินดีนักที่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่ตนเองถูกบังคับหรือจัดวางตำแหน่งที่ไม่มีสิทธิมีเสียงมากพอจะเสนอความคิดเห็นหรือโต้แย้งในบางประการดังเช่นกรณีตัวอย่างของเด็กกับความเชื่อเรื่องผีที่กล่าวไปข้างต้น หรือแม้จะเป็นสิ่งที่ตนเองพูดออกมาว่าชอบ แต่ก็ไม่อาจมันใจได้ว่านั่นคือเสียงของเด็กจริง ๆ ดังเช่นกรณีของเด็กกะเหรี่ยงเมื่อถูกถามว่าชอบฝายหรือไม่ในงานกิจกรรมที่มีคนนอกเป็นจำนวนมาก เด็กให้คำตอบว่าชอบเพราะเป็นพื้นที่ทางสังคมแบบเด็ก(ที่เล่น) หากแต่คำตอบถูกนำไปแปลงให้เป็นภาษาอนุรักษ์และสร้างความชอบธรรมให้ฝายโดยผู้ใหญ่ในชุมชน ที่แม้แต่ผู้เขียนเองก็นำเรื่องราวของกลุ่มเด็กมาเล่าและแปลงสารให้เป็นภาษาของผู้ใหญ่ดังที่ปรากฎในงานเขียนชิ้นนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการใช้เสียงของเด็กเพื่อนำมาเขียนงานวิจัย กลับพบปัญหาและความท้าทายบางประการที่ทำให้ผู้เขียนไม่สามารถนำมาเขียนโดยมีเด็กเป็นsubject ได้
เมื่อผู้เขียนนำเรื่องราวของเด็กกับลำห้วยและฝายมานำเสนอความคืบหน้าในโครงการวิจัย กลับถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของผู้ให้ข้อมูล และปฏิเสธการให้เด็กเป็นผู้ให้ข้อมูลหลักในรายงานวิจัยนิเวศชุมชน อีกทั้งข้อจำกัดของงานวิจัยในไทยอย่างจริยธรรมการวิจัยในคน ที่ไม่อนุญาตให้ทำวิจัยในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีเนื่องมาจากปัญหาด้านกฎหายและศีลธรรม ซึ่งจริง ๆ อาจใช้วิถีอื่นใดโดยมีผู้ปกครองยินยอม แต่ด้วยบริบทและประสบการณ์ในอดีตจากการเซ็นเอกสารโดยไม่รู้ภาษาไทยของชุมชนจนส่งผลกระทบด้านที่ดินและสิทธิมาถึงปัจจุบัน ทำให้ชุมชนหวาดกลัวทุกครั้งที่ต้องมีการเซ็นเอกสารแม้แต่จะเซ็นเอกสารจ่ายเงินจ่ายค่าตอบแทนที่พัก การให้เซ็นเอกสารที่แทบเป็นไปได้ยากกับผู้ใหญ่ด้วยกันเอง จึงยิ่งยากเข้าไปใหญ่เมื่อต้องอธิบายหลักการทำงานของหนังสือยินยอม และการเซ็นแทนเด็ก ซึ่งแน่นอนว่าสุดท้ายด้วยความยุ่งยากทำให้ผู้เขียนล้มเลิกความพยายามเพราะเกรงว่าจะสร้างปัญหาให้กับการทำงานในชุมชนในด้านอื่น ๆ
น่าสนใจว่าความจริงของจริยธรรมการวิจัย กำลังวางตัวเป็นศีลธรรมแบบผู้ใหญ่ที่ปิดกั้นเสียงของเด็กอย่างชอบธรรมตามกฎหมายอยู่หรือไม่ เด็กไม่มีบทบาทหรือมีสิทธิมีเสียงในการวิจัยอยู่เลยจริงหรือไม่? เพราะจากการไปฟังบรรยายประสบการณ์การทำงานชุมชนจากบรรดานักวิชาการหรืออาจารย์หลาย ๆ คน กลับพบว่ามีเรื่องเล่าของเด็กเป็นจำนวนมากจากการที่บรรดานักวิชาการเหล่านั้นล้วนไปพบเจอกับเด็กในช่วงที่ใช้ชีวิตทำงานเก็บข้อมูลภาคสนาม ทว่ากลับสูญหายไปในรายงานวิจัยซึ่งเป็นผลผลิตของโครงการ ที่สุดท้ายก็หันไปเน้นเสียงของผู้ใหญ่แทนตามแบบฉบับวัฒนธรรมชุมชนแบบภูมิปัญญาที่เน้นเสียงของผู้ใหญ่และฟังดูน่าเชื่อถือหรือมีน้ำหนักเป็นหลักแทน
ผู้เขียนเองก็ไม่ได้ปฏิเสธถึงข้อจำกัดนานาประการของการทำให้มีเด็กอยู่ในพื้นที่สื่อสาร ความจริงของต้นทุนเวลาที่เป็นปัญหาทั้งในผู้ใหญ่ที่ต้องทำกิจกรรมในไร่อย่างขะมักเขม้นจนไม่สามารถดูแลเด็กจนเป็นข้อห้ามไป หรือการศึกษาภาคบังคับและการบ้านในระบบการศึกษาส่วนกลางเองก็ทำให้ตัวเด็กมีภาระติดพัน ที่ผู้เขียนเองก็ไม่ค่อยได้ทำความรู้จักกับเด็กมากนักในช่วงที่เปิดเทอม นอกเหนือจากไปช่วยสอนหรือช่วยทำการบ้านช่วงเย็น ซึ่งก็ไม่ได้มีการไปเล่นหรือทำกิจกรรมอื่นใดเพราะผู้ปกครองห้ามจนกว่าจะทำการบ้านเสร็จ ผู้เขียนเองก็เคยเป็นเด็กจึงเข้าใจถึงความเหนื่อยและความหน่ายจากการเรียน ที่หากยังต้องไปทำงานอื่นใดต่อก็คงไม่อภิรมย์สักเท่าไหร่
อันที่จริงแล้วงานฝายในบทความนี้เองก็เป็นเพียงเสี้ยวเล็ก ๆ ที่ผู้เขียนพบเจอและตั้งข้อสังเกตหลังจากอ่านงานภววิทยาแม่น้ำโขง (2565) และมองเห็นความซับซ้อนและหลากหลายของคนใน ‘ชุมชน’ มากกว่ามองว่าสมาชิกชุมชนหรือวัฒนธรรมคน-ธรรมชาติเป็นไปตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกอธิบายแบบกลุ่มก้อนเดียว (solidarity)สุดท้ายนี้ผู้เขียนก็ไม่อาจรู้ได้ว่าทั้งพื้นที่วัฒนธรรมชุมชน ภาพแทนชุมชน หรือแวดวงวิชาการจะเปิดกว้างและมีพื้นที่ให้เด็กได้สื่อสารตามความคิด โลกทัศน์หรือภาษาของตัวเอง ‘ความสนุก’ ในแบบของเด็กจะถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบสร้างวัฒนธรรมชุมชน หรือภาพแทนชุมชนที่มองเห็นความเชื่อมโยงไปถึงตัวเด็กได้หรือไม่ แต่อย่างน้อย ๆ ในภววิทยาของฝายในพื้นที่อนุรักษ์/จิตวิญญาณของชุมชนกะเหรี่ยงนี้ ผู้เขียนมองเห็นเด็กได้บ่อยและชัดเจนมากยิ่งกว่าผู้ใหญ่ในชุมชนหรือนักพัฒนา/นักวิชาการจากภายนอกเสียอีก เพียงแต่เสียงของพวกเขาไม่มากพอที่จะสื่อสารหรือไม่ได้คิดเสียด้วยซ้ำว่าต้องสื่อสารออกไป เพราะในทัศนะความเป็นเด็ก จะพูดอะไรออกไปก็คงไม่น่าเชื่อถือเท่าผู้ใหญ่ เลยเลือกที่จะไม่พูดหรือยอมทนต่อให้ผ่าน ๆ ไปเพื่อที่จะได้ไปอยู่ในพื้นที่ทางสังคมที่ตัวเองสะดวกใจและมีสิทธิมีเสียงมากกว่าพื้นที่แห่งนี้ของผู้ใหญ่มากกว่า….
อ้างอิง
บัณฑิต ไกรวิจิตร. (2561). การรวมชีวิตป่าเข้าสู่ปริมณฑลทางการเมืองหลากหลายสายพันธุ์: การพูดของชาวกะเหรี่ยงโผล่วคนเบี้ยล่าง. วารสารมานุษยวิทยา, 1(2), 71-128.
ปริตตา เฉลิ่มเผ่า กออนันตกูล. (2555). อัตลักษณ์ซ้อนของนักมานุษยวิทยาในบ้านเกิด. ใน คนใน ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
ยุกติ มุกดาวิจิตร. (2548). อ่าน ‘วัฒนธรรมชุมชน’ วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนววัฒนธรรมชุมชน. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (2548). ภูมิปัญญากับการสร้างพลังชุมชน. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
เอกรินทร์ พึ่งประชา. (2567, 28 มีนาคม). PAR (Participatory Action Research) เครื่องมือวิจัยที่อาจย้อนกลับมาทำร้าย “ชุมชน” และ “นักวิจัย”. https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/586.
กนกวรรณ มะโนรมย์. (2565). ภววิทยาแม่น้ำโขง: เขื่อน น้ำของ และผู้คน. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์.
ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ เด็ก วัฒนธรรมชุมชน ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์