ชาติพันธุ์นิพนธ์ของความทรงจำ (Memory Ethnography)
การศึกษาความทรงจำ
Haripriya (2020) กล่าวว่าความทรงจำคือการจัดระเบียบประสบการณ์ในอดีต (experience of past) และถูกนำไปใช้ในหลายรูปแบบเพื่อเรียกคืนเรื่องราวในอดีตให้กลับมาใหม่ ในกระบวนการเก็บข้อมูลของนักมานุษยวิทยาซึ่งมีการพูดคุยสนทนากับผู้คนจำนวนมาก ย่อมเป็นเรื่องที่นักมานุษยวิทยาและคนที่พูดคุยด้วยล้วนใช้ความทรงจำของตัวเองและอธิบายสิ่งเหล่านั้นออกมา ทำให้ข้อมูลของนักมานุษยวิทยาเป็นเรื่องของความทรงจำของมนุษย์ที่หลากหลาย หรือเรียกว่าเป็น “ความทรงจำร่วม” (collective memory) สิ่งสำคัญคือ กลไกของการสร้างความทรงจำดำเนินไปอย่างไร และความทรงจำของใครที่กำหนดชี้นำเรื่องราวทางสังคม ในแง่นี้ การท้าทาย “ความทรงจำที่มีอำนาจชี้นำ” (hegemonic memory) จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากมองว่าความทรงจำเป็นพรมแดนของความหมาย ความทรงจำจะถูกใช้ไปเพื่อเป้าหมายอย่างไรในบริบทต่าง ๆ
เท่าที่ผ่านมาการศึกษา “ความทรงจำร่วม” ได้รับอิทธิพลมาจากนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส Maurice Halbwachs งานเขียนสำคัญของเขาคือเรื่อง On collective memory เขียนในปี ค.ศ. 1950 โดยอธิบายว่าสังคมมีความทรงจำร่วมที่ก่อตัวขึ้นจากโลกทัศน์ของผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ปัจเจกย่อมมีความทรงจำที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ทางสังคม เรื่องราวในอดีตของคนแต่ละคนล้วนสัมพันธ์กับการอยู่ร่วมกับคนอื่น ความคิดและประสบการณ์ของปัจเจกที่หลากหลายจะเป็นส่วนผสมอยู่ในความทรงจำร่วม (Connerton, 1989) ดังนั้น กลุ่มทางสังคมแต่ละกลุ่มย่อมมีความทรงจำร่วมของตัวเองและต่างจากกลุ่มอื่น (Russell, 2006) คำอธิบายดังกล่าวทำให้เข้าใจว่าความทรงจำทางสังคมกลายเป็นการแสดงออกของคนหมู่มากที่รำลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญ สัญลักษณ์ของความทรงจำร่วมทางสังคมเห็นได้จากการสร้างอนุสาวรีย์ของคนหรือเหตุการณ์สำคัญ รวมทั้งการจัดพิธีเพื่อรำลึกถึงเรื่องราวในอดีต ความทรงจำร่วมในลักษณะนี้มีผลต่อการสร้างตัวตนของบุคคล
Halbwachs (1992) กล่าวว่าความทรงจำร่วมของปัจเจกเริ่มต้นในครอบครัว สิ่งต่าง ๆ ที่บุคคลกระทำกับคนในครอบครัวจะกลายเป็นความทรงจำ จากนั้น การเข้าร่วมพิธีทางศาสนาและทำงานร่วมกับคนอื่นจะสร้างประสบการณ์ร่วมให้คน ๆ นั้น ความทรงจำของบุคคลเกิดขึ้นได้บนทัศนคติ ความรู้สึก และมุมมองที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ ทำให้การรำลึกถึงเรื่องราวในอดีตของบุคคลแฝงไว้ด้วยความเชื่อส่วนตัวค่อนข้างสูง ประเด็นนี้นักประวัติศาสตร์มักไม่นิยมนำความเห็นส่วนตัวของบุคคลมาเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ (Hutton, 1988) นอกจากนั้น Halbwachs เชื่อว่าความทรงจำของบุคคลยังทำให้เกิดการแสดงพฤติกรรมทางสังคมที่ต่างกัน เช่น ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงมีการสร้างความหมายชีวิตที่ต่างไปจากชนชั้นแรงงานที่มีฐานะยากจน Halbwachs กล่าวว่าความทรงจำร่วมมีกฎอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือกฎแห่งการกระจัดกระจาย (Law of Fragmentation) หมายถึงการมีความจำของบุคคลที่หลากหลาย และกฎของการรวมตัว (Law of Concentration) หมายถึงการที่คนในสังคมมีความทรงจำในเหตุการณ์เดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในสังคมที่มีความแตกต่างทางชนชั้น เชื้อชาติ เพศ วัย และฐานะทางสังคม ความทรงจำร่วมที่ปรากฎขึ้นถูกสร้างจากคนกลุ่มใด คำถามนี้ทำให้ตั้งข้อสงสัยต่อคำอธิบายของ Halbwachs ซึ่งมองความทรงจำเป็นผลผลิตของคนหมู่มากที่มีประสบการณ์ร่วมกัน แต่ไม่เห็นกลุ่มอำนาจที่ชี้นำสังคม รวมทั้งการแยกประวัติศาสตร์ออกจากความทรงจำ เพื่อทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของเหตุผล และความทรงจำเป็นเรื่องความรู้สึก Schwartz, Fukuoka and Takita-Ishi (2005) กล่าวว่าในสังคมที่มีความแตกต่างของคน การตีความและให้ความหมายต่อเรื่องราวในอดีตย่อมจะไม่เหมือนกัน ดังนั้น การมีความทรงจำและประวัติศาสตร์จึงขึ้นอยู่กับวิธีคิด การตีความ มุมมอง ความเชื่อ ความรู้สึก และโลกทัศน์ที่ต่างกัน รวมทั้งความสามารถทางระบบประสาทในสมองที่จดจำเรื่องราวในอดีต
มนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรม เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยการอาศัยการจดจำ การเรียนการสอนในห้องเรียนก็ล้วนเต็มไปด้วยกระบวนการจดจำ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือเพื่อให้จดจำสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นเนื้อหาวิชา การเขียนคำตอบในข้อสอบก็เป็นการใช้ความจำเพื่อเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ที่เคยอ่านและได้ยินมาจากคำสอนในห้องสอน สิ่งนี้เรียกว่า “การเรียนด้วยการท่องจำ” (rote learning) ส่วนข้อเขียนต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือและตำราต่าง ๆ คือความรู้ที่มาจากการจดจำ เมื่อมันถูกเขียนเป็นตัวอักษรมันจะกลายเป็นการบันทึกความจำและมีไว้เพื่อมิให้หลงลืม (Haripriya, 2020)
บันทึกความทรงจำและคำบอกเล่า
Knight (2007) กล่าวว่าการเขียนบันทึกความทรงจำ เปรียบเสมือนรายงานความจำที่ยังมิได้ปรุงแต่ง เป็นผลผลิตที่ถูกทำขึ้นจากความจำของมนุษย์ ดังนั้น การเขียนบันทึกความจำจึงเกี่ยวข้องกับตัวของผู้เขียนที่มีอำนาจในการเขียนและไม่เขียนบางอย่าง ในการศึกษาของ Lappin (1999) พบว่า “ความจำ” แตกต่างจาก “บันทึกความทรงจำ” การเขียนบันทึกเพื่อจดจำเรื่องราวต่าง ๆ นั้น มีลักษณะล่อแหลมในการเขียนสิ่งที่เป็นจริง กับการเขียนตามความรู้สึก ทำให้บันทึกความจำถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่ผู้เขียนอาจแต่งเติมเสริมเรื่องราวที่ไม่ตรงกับความจริง การศึกษาเหตุการณ์ที่ถูกเขียนในบันทึกความทรงจำจึงมีการตั้งคำถามว่าเรื่องที่บันทึกเหล่านั้น ผู้เขียนมีความซื่อตรงกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น กรณีบันทึกของ Wilkomirski เรื่อง Fragments: Memories of a Childhood, 1939–1948 (1997) เกี่ยวกับความทรงจำในค่ายกักกันและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีการถกเถียงในหมู่นักเขียนและนักวิชาการว่าเรื่องราวในบันทึกนี้เป็นเรื่องจริงหรือเป็นเพียงเรื่องแต่ง นอกจากนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้บันทึกของ Wilkomirski จะเป็นเรื่องแต่ง แต่ก็ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและรู้สึกถึงความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า “บันทึกความทรงจำ” คือเครื่องมือของความจำที่ปรากฎอยู่ในรูปแบบของข้อเขียน บันทึกประเภทนี้อาจใช้เปรียบเทียบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชนิดอื่น ๆ ที่บันทึกโดยเอกสาราชการและหน่วยงานของรัฐ ข้อมูลในบันทึกความทรงจำอาจต่างไปจากข้อมูลในเอกสารราชการ ในแง่นี้จะพบว่า ความทรงจำของคนชายขอบและกลุ่มที่เสียเปรียบทางสังคมเป็นสิ่งที่รัฐไม่สนใจและไม่ถูกรวมอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติ ดังนั้น ความทรงจำที่อยู่นอกเอกสารของรัฐจึงมีความสำคัญที่จะสร้างความเข้าใจต่อเรื่องราวในอดีตที่รัฐมองข้าม อาจกล่าวได้ว่าบันทึกความทรงจำเป็นงานเขียนที่คล้ายบันทึกอัตชีวประวัติ ซึ่งอธิบายเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของคน ๆ หนึ่ง เรื่องที่เขียนในบันทึกและประวัติส่วนตัวจึงสัมพันธ์กับบริบทสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และฐานะของผู้เขียน (Khun, 2000) ในกรณีงานชาติพันธุ์นิพนธ์ของนักมานุษยวิทยา มีความคล้ายคลึงกับบันทึกความทรงจำของบุคคล กล่าวคือ นักมานุษยวิทยาเขียนเรื่องราวที่ตนเองพบเจอในพื้นที่และนำมาอธิบายให้เป็นเรื่องราวด้วยกรอบแนวคิดบางอย่าง เรื่องที่เขียนล้วนมาจากความจำ (Polleri, 2017) กล่าวอีกนัยหนึ่งคืองานชาติพันธุ์นิพนธ์คือกระบวนการสร้างความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ประกอบสร้างขึ้นจากความทรงจำที่นักมานุษยวิทยาเคยมีประสบการณ์ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรม และนำประสบการณ์ในอดีตมาเรียบเรียงให้เป็นความรู้
ส่วนการศึกษาของ Cavanaugh (2009) พบว่าชาวนาในเมืองเบรอ์กาโม่ ประเทศอิตาลี รำลึกถึงเรื่องราวในอดีตโดยอาศัยคำพูด การบอกเล่า และการเขียนบทกวี ภาษาพูดและภาษาเขียนจึงมีความสำคัญต่อการบอกเล่าเรื่องอดีต ซึ่งในการใช้ภาษา ผู้พูดและผู้เขียนจะแสดงความคิดและความรู้สึกของตนเองเข้าไปในภาษาด้วย กระบวนการพูดสนทนาเกี่ยวกับเรื่องอดีตยังดำเนินไปบนการตอบโต้ระหว่างผู้พูด ซึ่งแต่ละฝ่ายล้วนแสดงความรู้สึกออกมาจากคำพูด ทำให้การพูดถึงอดีตเต็มไปด้วยอารมณ์ Cavanaugh เรียกการใช้ภาษาในการตอบโต้กันว่า “สุนทรียะทางสังคมของภาษา” (social aesthetics of language)
เทคโนโลยีของความจำ
การเก็บข้อมูลในพื้นที่ นักมานุษยวิทยามักจะใช้การจดบันทึกเพื่อช่วยจำสิ่งต่าง ๆ เมื่อกลับมาเขียนงานชาติพันธุ์นิพนธ์ สิ่งที่เป็นความทรงจำจะถูกเรียกกลับมาเพื่อทำให้เขียนเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ Srinivas (2000) ตั้งข้อสังเกตว่าการเขียนของนักมานุษยวิทยาล้วนอาศัยความทรงจำ ในการย้อนเรื่องราวที่พบเห็นและพูดคุยกับชาวบ้าน นักมานุษยวิทยาจะรำลึกถึงชื่อคน ชื่อสถานที่ เหตุการณ์ คำบอกเล่า และเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมา ถ้าจำไม่ได้ก็จะกลับไปดูที่เขียนไว้ในบันทึก เพื่อตรวจสอบว่าเรื่องที่เกิดขึ้นคืออะไร ปัจจุบันมีเทคโนโลยีช่วยจำหลายชนิด เช่น เครื่องบันทึกเสียง การถ่ายวิดีโอ ทำให้การบันทึกข้อมูลในพื้นที่ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว นักมานุษยวิทยาจึงจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น กระบวนการสร้างความจำแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นไฟล์เสียง ไฟล์ภาพ ไฟล์วิดีโอที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน สิ่งต่าง ๆ จะถูกบันทึกไว้ในดิจิทัล ทำให้เกิดความจำแบบดิจิทัล (digital memory) ซึ่งมนุษย์จะไม่ใช่คนที่ต้องจดจำทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับตัวเอง
เทคโนโลยีแห่งความจำจะทำให้การถ่ายเทข้อมูลต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างง่ายและรวดเร็ว Haripriya (2020) อธิบายว่าถึงแม้เราจะมีเทคโนโลยีช่วยจำ แต่ความจำของมนุษย์ก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ เมื่อความจำถูกถ่ายไปสู่อุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ความจำเหล่านั้นย่อมจะผสมปนเปกัน ดังนั้น นักมานุษยวิทยาจำเป็นต้องมีวิธีการจัดการกับเทคโนโลยีความจำ ในแง่นี้ ความทรงจำจึงกลายเป็นเรื่องของปฏิบัติการในเวลาปัจจุบัน ที่มนุษย์ต้องทำให้ความจำนั้นดำรงอยู่และนำความจำออกมาใช้งาน ความจำจึงเกิดขึ้นในบริบทปัจจุบัน เรื่องสำคัญที่เกิดกับความทรงจำ จึงมิใช่เรื่องราวของอีดตที่ผ่านมา หากแต่เป็นเรื่องของคนในปัจจุบันที่กำลังใช้และถ่ายทอดความทรงจำนั้นไปสู่สังคมและคนอื่น ๆ ประเด็นที่น่าสงสัยคือ มนุษย์แยกสิ่งที่เป็นอดีตออกจากสิ่งปัจจุบันได้อย่างไร มีเส้นแบ่งระหว่างอดีตและปัจจุบันหรือไม่ อดีตกับปัจจุบันแยกได้อย่างชัดเจนหรือไม่ คำถามเหล่านี้ทำให้ย้อนกลับมาทบทวนสิ่งที่เป็นความทรงจำ
จากการสร้างความทรงจำที่ถ่ายทอดไปเป็นตัวหนังสือ และเปลี่ยนไปสู่การใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการบันทึกสิ่งต่าง ๆ การเปลี่ยนวิธีสร้างความทรงจำนี้สะท้อนให้เห็นบทบาทของเทคโนโลยีที่ทำให้ความทรงจำปรากฎ ดำรงอยู่ และสืบทอดไปในอนาคต ปัจจุบันมนุษย์พึ่งพาเทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อเก็บข้อมูลซึ่งถือเป็นวิธีการสร้างความทรงจำ อุปกรณ์ช่วยจำจึงเป็นกลไกของปัจจุบันที่ถูกใช้โดยมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต กล้องดิจิทัล และกล้องวงจรปิด ความจำจึงสัมพันธ์กับวิธีการจัดการกับอุปกรณ์ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เก็บไว้จะถูกนำไปใช้งานเพื่อตอบสนองบางสิ่งบางอย่าง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือปกป้องคุ้มครองความทรงจำที่น่าเชื่อถือ ในขณะที่ความจำโดยสมองของมนุษย์เริ่มไม่มีความหมายและถูกมองเป็นความจำที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ (Haripriya, 2020) สมองในฐานะ “หน่วยความจำอินทรีย์” (organic memory) เริ่มมีสถานะที่ด้อยกว่าเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัล ซึ่งเป็น “หน่วยความจำเครื่องกล” (machine memory) เทคโนโลยีของความจำจะเข้ามาแทนที่สมองของมนุษย์
ประเด็นความน่าเชื่อถือของความจำที่เกิดจากเทคโนโลยีและสมองของมนุษย์ เป็นเรื่องของประสิทธิภาพของความจำ วิธีสร้างความจำทั้งสองแบบนี้มีผลต่อความสัมพันธ์ของมนุษย์และการสร้างตัวตนทางสังคม ทั้งเทคโนโลยีและสมองต่างทำให้ความทรงจำมีแบบแผนที่เปลี่ยนไป รวมทั้งความทรงจำกลายเป็นชุดข้อมูลที่ถูกปกป้องดูแลเหมือนสมบัติที่มีค่า และถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์บางอย่าง Haripriya (2020) กล่าวว่าวิธีการใช้ความทรงจำของมนุษย์สามารถทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามและสิ่งที่เลวร้ายได้ในเวลาเดียวกัน ดังเช่นปรากฎอยู่ในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เรื่อง Black Mirror ตอน The Entire History of You (2011) ซึ่งบอกเล่าถึงเทคโนโลยีที่บันทึกความทรงจำของมนุษย์และสามารถทำให้มนุษย์กลับมาดูความทรงจำของตัวเองได้ แต่ที่น่าหวาดกลัวก็คือ ความทรงจำของคน ๆ หนึ่งสามารถนำมาเปิดเผยให้คนอื่นได้รับรู้ ดังนั้น เทคโนโลยีความจำที่พบในปัจจุบัน เช่น การโพสต์ภาพและข้อความลงในเฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) และติ๊กต็อก (TikTok) สิ่งเหล่านี้คือการสร้างความทรงจำที่มีคนจำนวนมากรับรู้ และมันทิ้งร่องรอยเอาไว้จำนวนมาก
เทคโนโลยีความจำได้เปลี่ยน “ความทรงจำ” ให้เป็นวัตถุที่ถูกใช้ประโยชน์และยังทำให้ความหมายของอดีตกับปัจจุบันคลุมเครือมากขึ้น Scott (1999) อธิบายว่าความทรงจำคือการนำเสนอช่วงเวลาอื่น การส่งต่อช่วงเวลาเพื่อให้ปรากฎอยู่ในช่วงเวลาใหม่ และการให้เวลาเพื่อการสร้างความทรงจำ ประเด็นสำคัญคือ ความทรงจำทำให้มนุษย์รู้สึกกระวนกระวายใจเนื่องจากมันคือตัวบ่งชี้ประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ในอดีต ขณะเดียวกัน ความทรงจำก็คือสิ่งที่ถูกจัดการในช่วงเวลาปัจจุบัน สิ่งที่เป็นอดีตจึงมิใช่แก่นแท้ที่ถาวร เพราะเรื่องราวของอดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการของการจดจำ (act of remembering) (Haripriya, 2020)
เอกสารอ้างอิง
Cavanaugh, J.R. (2009). Living Memory: The Social Aesthetics of Language in a Northern Italian Town. Oxford: Wiley-Blackwell.
Connerton, P. (1989). How societies remember. Cambridge, UK: Cambridge University Press.
Halbwachs, M. (1992). On collective memory. Chicago: University of Chicago Press.
Haripriya, S. (2020). Memory, Ethnography and the Method of Memory. Sociological Bulletin, 69(2) ,1-16.
Hutton, P. H. (1988). Collective Memory and Collective Mentalities: The Halbwachs-Ariés Connection. Historical Reflections,15 (2), 311–322.
Kuhn, A. K. (2000). A journey through memory. In S. Radstone (Ed.). Memory and methodology (pp. 179–196). London, UK: Berg.
Knight, L. W. (2007). Sibling rivalry: History and memoir. Women’s Review of Books, 24(4),12–14.
Lappin, E. (1999). The man with two heads. Granta 66: Truth + Lies (Summer 1999), 7–65.
Polleri, M. (2017). Ethnographic Memories. Contingent Horizons The York University Student Journal of Anthropology, 3(1), 7-18.
Russell, N. (2006). Collective Memory before and after Halbwachs. The French Review, 79 (4), 792–804.
Schwartz, B., Fukuoka, K., & Takita-Ishi, S. (2005). Collective memory: Why culture matters. In M. D. Jacobs and N. W. Hanrahan (Eds.). The Blackwell companion to the sociology of culture. Oxford, UK: Blackwell.
Scott, C. E. (1999). The time of memory. Albany, NY: State University of New York Press.
Srinivas, M.N. (2000). Ex igni renascimur: The remembered village and some thoughts on memory ethnography. Current Anthropology, 41(2): 163–168.
ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ป้ายกำกับ ชาติพันธุ์นิพนธ์ ความทรงจำ Memory ethnography ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ