นักมานุษยวิทยากับงานสนามในคุก

 |  ระเบียบวิธีวิจัย และการศึกษาภาคสนาม
ผู้เข้าชม : 3036

นักมานุษยวิทยากับงานสนามในคุก

ความท้าทายเมื่ออยู่ในเรือนจำ

           ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษาชีวิตของคนที่อยู่ในเรือนจำและห้องขังมากขึ้น (Wacquant, 2002) เรื่องท้าทายสำหรับนักมานุษยวิทยาก็คือ การสร้างความร่วมมือและการขออนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอำนาจควบคุมเรือนจำและวิธีการปฏิบัติตนของคนที่เป็นนักโทษ เจ้าหน้าที่ผู้คุม ตำรวจ นักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ ญาติของนักโทษ และคนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความปลอดภัยและสวัสดิภาพของนักโทษ การทำงานเพื่อเก็บข้อมูลในเรือนจำจึงเต็มไปด้วยข้อจำกัดและเป็นเรื่องท้าทายต่อการสร้างความรู้ใหม่ ๆเกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ที่ถูกกักกัน ไร้อิสรภาพ และตัดขาดจากโลกภายนอก Padovani et al (2019) กล่าวว่า เรือนจำมิได้เป็นเพียงพื้นที่คุมขังนักโทษและผู้ที่ทำผิดกฎหมาย แต่เรือนจำสะท้อนการแสดงออกถึงความชอบธรรม การต่อต้าน การลงโทษ การกีดกัน และความยุติธรรมทางสังคมที่มีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ Strathern (1999) กล่าวว่าการทำงานในคุกของนักมานุษยวิทยาคือการศึกษาช่องโหว่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสถานที่คุมขังนักโทษ ซึ่งท้าทายต่อการทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเรือนจำ นักมานุษยวิทยาจะวิเคราะห์ช่องโหว่เหล่านั้นอย่างไร

           นักมานุษยวิทยาที่เข้าไปทำงานในเรือนจำและห้องขังต่างมีประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งความสัมพันธ์ ความผูกพัน และความแปลกแยกกับผู้ต้องขัง ตลอดจนการร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ในเรือนจำ ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เห็นความรู้สึกและความใกล้ชิดของคนที่ต้องพึ่งพาอาศัยหรือสอดส่องดูแลกัน เมื่อนักมานุษยวิทยาทำงานกับคนกลุ่มต่าง ๆ คนเหล่านั้นมักจะคาดหวังให้ทำบางสิ่งซึ่งอาจลักลั่นและไม่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ สถานะสังคม อัตลักษณ์ทางเพศ เชื้อชาติ และความเชื่อทางศาสนา Rhodes (2013) อธิบายว่าการทำงานเพื่อศึกษาคนที่อยู่ในคุกก็เหมือนกับการทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึง ในขณะที่ Wacquant (2002) กล่าวว่าข้อจำกัดที่นักมานุษยวิทยาต้องพบเจอในเรือนจำคือการถูกกีดกันมิให้เข้าถึงข้อมูล เนื่องจากเจ้าหน้าที่คิดว่าสิ่งต่าง ๆ ในเรือนจำคือความลับที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เมื่อเรือนจำและสถานที่คุมขังนักโทษถูกนิยามว่าเป็นเขตห้วงหามที่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด ทำให้นักมานุษยวิทยาทำงานอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะการถูกประกบด้วยเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบการทำงานของนักมานุษยวิทยา เจ้าหน้าที่จะไม่ปล่อยให้นักมานุษยวิทยาทำงานอย่างอิสระและต้องอยู่ในสายตาตลอดเวลา

           Rhodes (2004) กล่าวว่าเมื่อเข้าไปศึกษาชีวิตนักโทษที่ถูกควบคุมในเรือนจำของรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอพบว่านักโทษทุกคนจะต้องปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบที่เข้มงวดของเรือนจำ ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไปในเรือนจำ นักโทษจะถูกถ่ายภาพเพื่อใช้สำหรับทำบัตรประจำตัว สีหน้าและอาการของนักโทษแต่ละคนที่ถูกถ่ายภาพมีหลากหลาย บางคนแสดงความเหนื่อยล้า เฉยเมย หดหู่ ซึมเศร้า และหวาดกลัว อาการต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ Rhodesรู้สึกกระวนกระวายใจและอยากรู้ว่านักโทษแต่ละคนกำลังคิดอะไรอยู่ ชีวิตของนักโทษที่กำลังถูกควบคุมและกักขังภายใต้กฎระเบียบของเรือนจำบ่งบอกให้เห็นการทำให้มนุษย์กลายเป็นเครื่องมือของระบบลงโทษ ภาพถ่ายของนักโทษที่แสดงสีหน้าต่าง ๆ เป็นภาพที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องการ ภาพที่ถูกต้องตามกฎของเรือนจำคือนักโทษจะต้องไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ต้องทำหน้านิ่ง ๆ ไม่เอียงคอ ไม่หันหน้าหนี และต้องมองตรงไปที่กล้องเท่านั้น แต่สำหรับนักมานุษยวิทยาภาพถ่ายที่นักโทษแสดงความรู้สึกในแบบต่าง ๆ คือสิ่งที่น่าสนใจและควรค่าการแก่เรียนรู้อารมณ์ของมนุษย์ที่อยู่ในสภาวะตึงเครียด


ตัวตนที่ปรากฏอยู่ในเรือนจำ

           เรื่องราวที่ถูกปกปิดในเรือนจำเป็นสิ่งที่สาธารณะไม่เคยรู้ แต่ในทางตรงกันข้ามเทคโนโลยีและนวัตกรรมของการคุมขังและลงโทษคนที่ทำผิดกฎหมายถูกสร้างและพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น (Dyer, 2000) เรือนจำจึงเป็นพื้นที่ศึกษาสำหรับนักวิชาการที่ต้องการวิเคราะห์อำนาจที่สร้างระเบียบวินัยและควบคุมชีวิตมนุษย์ (Alford, 2000) เรือนจำถูกมองว่าเป็นเขตที่ควบคุมคนให้อยู่ในพื้นที่กักกันและห้ามมิให้คนภายนอกเข้าไปรุกล้ำ กล่าวคือเป็นทั้งการควบคุมและการแบ่งแยกคน ตัวอย่างเรือนจำในสหรัฐอเมริกา นักมานุษยวิทยาพบว่านักโทษส่วนใหญ่คือกลุ่มคนผิวดำและคนผิวสีที่เป็นชาวต่างชาติ สถานการณ์นี้ทำให้ห้องขังคือพื้นที่ของการตอกย้ำอคติทางเชื้อชาติและการเหยียดสีผิว ชาวอเมริกันผิวขาวมักจะตีตราคนผิวดำว่าเป็นอาชญกรและคนที่อันตราย คุกและเรือนจำจึงเป็นสัญลักษณ์ของการกีดกันและเหยียดหยามทางเชื้อชาติ ขณะเดียวกันก็เป็นเขตแดนที่น่าหวาดกลัวสำรหับคนผิวขาว (Davis, 1998; Parenti, 1999; Rhodes, 2001) กลุ่มคนผิวดำและคนเชื้อชาติอื่นที่ถูกควบคุมในเรือนจำจะเผชิญหน้ากับกฎระเบียบที่เข้มงวดและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่ใช้ในการควบคุมตรวจสอบพฤติกรรมของนักโทษ ซึ่ง Abu-Jamal (1995) เรียกพื้นที่เรือนจำว่าเป็นดินแดนใต้พิภพแห่งความสิ้นหวัง

           Feldman (1991) เคยเก็บข้อมูลในเรือนจำของประเทสไอร์แลนด์ พบว่านักโทษเผชิญหน้าความรุนแรงและการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เพื่อทำร้ายนักโทษที่ฝ่าฝืนกฎของเรือนจำ Feldman พยายามใช้เวลาพูดคุยกับนักโทษเพื่อทำความเข้าใจการมีชีวิตและวิธีการต่อต้านขัดขืนของนักโทษ โดยเฉพาะการใช้กำลังเพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ที่พยายามทำร้ายพวกเขา ร่างกายของนักโทษจึงเป็นพื้นที่ของการแสดงการต่อต้านขัดขืน ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่สำหรับการเฆี่ยนตีและปราบให้อยู่ใต้อำนาจ ในขณะที่การทำงานของ Fleischer (1989) พบว่าตัวเขาเองใช้ชีวิตในเรือนจำเสมือนเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และมักมองเห็นการกระทำของนักโทษขัดแย้งกับกฎระเบียบของเรือนจำ ประสบการณ์นี้บ่งบอกว่าเมื่อนักมานุษยวิทยาต้องอยู่ร่วมกับเจ้าหน้าที่และนักโทษ การเปรียบเทียบพฤติกรรมของคนสองกลุ่มเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด Fleischer คิดว่าในสถานการณ์ที่ผู้คุมเรือนจำใช้กำลังปราบนักโทษที่ทำผิดกฎคือวิถีทางสำหรับการสร้างความสงบ ภายในสังคมของเรือนจำ สิ่งที่ผู้คุมต้องปฏิบัติคือการรักษากฎและควบคุมนักโทษให้อยู่ในความเชื่อฟัง ส่วนการทำงานในเรือนจำเป็นเวลานานเกือบ 10 ปี ของ Thomas (1993) เขาพบว่ามีรู้สึกเหมือนตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับนักโทษ นักโทษเป็นเหมือนเพื่อนที่รู้ใจ ความรู้สึกที่เขามีกับนักโทษลึกซึ้งและหล่อหลอมให้เกิดความผูกพัน

           Howes (1994) พบว่าชีวิตของนักโทษหญิงแตกต่างไปจากนักโทษชาย เนื่องจากพื้นที่เรือนจำเต็มไปด้วยความรุนแรงที่สร้างความอึดอัดใจให้กับผู้หญิง เรือนจำในฐานะพื้นที่ของการแสดงอำนาจแบบผู้ชายจึงกดทับผู้หญิง (Naffine, 1996) การศึกษาความรู้สึกของนักโทษหญิงจึงมีความสำคัญเพื่อที่จะเรียนรู้ว่าเรือนจำได้ปรับเปลี่ยนตัวตนของผู้หญิงอย่างไร และผู้หญิงจะเผชิญหน้ากับอำนาจผู้ชายอย่างไร การทำงานในเรือนจำชื่อ Linhó ในประเทศโปรตุเกสซึ่งมีผู้ถูกคุมขังจำนวน 500 คน นักมานุษยวิทยาผู้หญิงชื่อ Frois (2016) มีโอกาสพูดคุยกับนักโทษหญิงและชาย เจ้าหน้าที่เรือนจำ ผู้คุม ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่ทำงานกับเรือนจำ เพื่อทำความเข้าใจว่าคนเหล่านี้ใช้ชีวิตอย่างไรในเรือนจำซึ่งเป็นสถานที่ที่มีกฎที่เข้มงวด นักโทษส่วนใหญ่ที่ถูกคุมขังที่นี้จะเป็นกลุ่มคนที่ทำความผิดร้ายแรงและถูกจำคุกมากกว่า 7 ปี Frois ได้รับการอนุญาตให้เข้าไปสัมภาษณ์นักโทษโดยอยู่ในเขตโรงเรียนซึ่งอาคารที่อยู่ติดกับเรือนจำ โรงเรียนแห่งนี้ถูกสร้างไว้สำหรับให้นักโทษมาผักผ่อน อ่านหนังสือ ฟังเพลง และใช้คอมพิวเตอร์ เมื่อ Frois มาถึงสถานที่ที่ถูกจัดเตรียมไว้ ผู้คุมจะเป็นคนกำหนดว่านักโทษคนใดที่จะสามารถพูดกับเธอได้ เมื่อนักโทษมาพบกับเธอ เธอรู้สึกว่าการพูดคุยกับนักโทษมิใช่การพูดในฐานะที่คนสองคนมีความเท่าเทียมกัน ในทางตรงกันข้าม นักโทษจะอยู่ในฐานะของคนที่ถูกควบคุมจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ นักโทษจึงอยู่ในอาการระมัดระวังตัวตลอดเวลา เพื่อที่จะสร้างความเป็นกันเองกับนักโทษ Frois พยายามหาเวลาว่างที่ปราศจากการควบคุมของเจ้าหน้าที่เข้าไปสังเกตนักโทษที่กำลังพักผ่อนในเขตโรงเรียน เธอชวนนักโทษเล่นหมากฮอสเพื่อทำให้เกิดความผ่อนคลาย เธอพบว่านักโทษแต่ละคนไม่รู้จักกัน โดยเฉพาะนักโทษที่มาใหม่จะแยกตัวเองออกจากนักโทษคนอื่น

           ในฐานะที่เป็นผู้หญิงที่ต้องเข้าไปทำงานวิจัยในเรือนจำ Frois คิดว่านักโทษชายกำลังแสดงความเป็นชายให้นักโทษคนอื่นรับรู้ การพูดคุยกับ Frois คือสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่านักโทษคนนั้นได้รับความสนใจจากผู้หญิง นักโทษชายคนอื่นจะสังเกตกิริยาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ Frois พูดกับนักโทษ แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำจะเตือนเธอเสมอว่าคุกคือพื้นที่อันตราย ไม่ควรอยู่ตามลำพังกับนักโทษ เธอจะต้องมีเจ้าหน้าที่นำทางและคอยดูแลความปลอดภัย เธอไม่สามารถเดินไปในสถานที่ต่าง ๆ ในเรือนจำได้อย่างอิสระ เจ้าหน้าที่ย้ำให้เธอตระหนักว่าคุกที่มีนักโทษจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จะต้องทำงานหนักและไม่สามารถทำงานตามลำพัง ทุกครั้งที่มีการเดินตรวจพื้นที่ เจ้าหน้าที่จะต้องมีเพื่อนไปด้วยเสมอ Frois คิดว่าการเป็นผู้หญิงในเรือนจำหมายถึงการเป็นเครื่องทดสอบความเป็นชายของนักโทษซึ่งพวกเขาไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามได้ เรือนจำที่กักขังนักโทษชายไว้ในที่เดียวกันจึงมีความปรารถนาที่จะใกล้ชิดกับผู้หญิง ฉะนั้น เมื่อ Frois เข้าไปสัมภาษณ์นักโทษชาย เธอจึงเป็นเป้าหมายของนักโทษที่ต้องการแสดงความเป็นชาย

           Frois, Osuna and de Lima (2019) ตั้งข้อสังเกตว่าการทำงานในเรือนจำของนักมานุษยวิทยา ความเป็นหญิงและชายที่ติดตัวไปกับนักมานุษยวิทยามีผลต่อปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในเรือนจำ เพราะเรือนจำคือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการจัดระเบียบกฎเกณฑ์ทางเพศที่เข้มงวด Hammersley (2015) กล่าวในทำนองเดียวกันว่านักมานุษยวิทยาไม่อาจคาดหมายได้ว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในเรือนจำจะดำเนินไปเหมือนกับที่เกิดขึ้นในสังคมภายนอก Frois, Osuna and de Lima (2019) อธิบายว่านักมานุษยวิทยาผู้หญิงที่เข้าไปศึกษาเรือนจำที่มีนักโทษชายจะถูกมองเป็นเป้าหมายของการถูกคุกคามทางเพศ ในขณะที่นักมานุษยวิทยาผู้หญิงที่เข้าไปศึกษาชีวิตนักโทษหญิงในเรือนจำ จะไม่ถูกมองเป็นผู้เสี่ยงภัยทางเพศ เรือนจำของนักโทษหญิงจะเป็นพื้นที่สำหรับการเปรียบเทียบความงามของผู้หญิงที่นักโทษแต่ละคนจะแสดงผ่านเสื้อผ้าที่สวมใส่และการดูแลทะนุถนอมผิวพรรณของตัวเอง เจ้าหน้าที่และนักโทษต่างบอกเล่าและตอกย้ำการแบ่งแยกและความต่างของผู้หญิงและผู้ชายอย่างชัดเจน (Ugelvik, 2014)


ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในคุก

           ประสบการณ์ที่นักมานุษยวิทยามีระหว่างเก็บข้อมูลในคุก อาจทำให้เห็นว่านักมานุษยวิทยาตระหนักถึงตัวตนของนักโทษ ตัวตนของเจ้าหน้าที่และสะท้อนการมีตัวตนของตัวเองในเวลาเดียวกัน ตัวตนที่แตกต่างเหล่านี้ถูกควบคุมภายใต้โครงสร้างอำนาจและการจัดระเบียบกฎเกณฑ์ของระบบการลงโทษและการคุมความประพฤติอาชญากรFrois, Osuna and de Lima (2019) ชี้ให้เห็นว่าเมื่อต้องอยู่ในคุก ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างนักมานุษยวิทยาและนักโทษ หรือกับเจ้าหน้าที่ของเรือนจำจะมีความเปราะบางและอ่อนไหว ทั้งนี้ต่างฝ่ายต่างควบคุมความไว้วางใจวึ่งกันและกัน เรือนจำจึงเป็นพื้นที่ของการต่อรองทางอำนาจ การสร้างความแย่งแยกและการดีกัน รวมถึงการเผชิญหน้าในความขัดแย้ง ทุกคนที่อยู่ในเรือนจำล้วนเจอกับสภาวะเช่นนี้ นอกจากนั้น การมีตัวตนในคุกจะแสดงออกด้วยการแบ่งแยกสัญชาติที่นักโทษแต่ละคนมีติดตัวมา

           Crewe et al. (2016) อธิบายว่าการทำงานในคุกของนักมานุษยวิทยา คือการเข้าไปสัมผัสกับคนที่กำลังรู้สึกอับอายขายหน้า รู้สึกผิด และรู้สึกถึงการทำสิ่งชั่วร้าย การพูดคุยกับนักโทษในเรือนจำจึงเต็มไปด้วยบรรยากาศที่คลุมเครือและน่าอัดอัดใจ เรื่องราวต่าง ๆ ที่นักโทษบอกกับนักมานุษยวิทยา บ่งบอกว่าในอดีตของพวกเขาเป็นอย่างไร เติบโตมาจากครอบครัวแบบไหน ฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของเขาอยู่ในระดับใด สิ่งใดที่กระตุ้นให้เขาทำความผิด เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้นักมานุษยวิทยาเห็นว่านักโทษแต่ละคนต่างเป็นทั้งผู้กระทำและถูกกระทำในความรุนแรง (Bahre, 2015) ซึ่งสวนทางกับภาพจำและวาทกรรมของสื่อมวลชนที่มักนิยามนักโทษว่าเป็นคนที่น่ากลัวและเหี้ยมโหด Jewkes (2011) กล่าวว่าการพูดคุยกับนักโทษในเรือนจำทำให้เธอได้รับมิตรภาพ นักโทษหลายคนส่งมอบบทกวี เรื่องแต่ง จดหมาย ภาพถ่าย งานศิลปะ และของที่ระลึกที่พวกเขาทำขึ้นเมื่ออยู่ในห้องขัง นักโทษบางคนได้พูดคุยเกี่ยวกับความทรงจำ บางคนร้องไห้ บางคนรู้สึกโกรธที่กฎหมายลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม บางคนขอร้องให้ช่วยหาวิธีพาเขาออกไปจากคุก

           Jewkes อธิบายว่าความสัมพันธ์ที่นักโทษมีกับนักมานุษยวิทยาคือชุดความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงและไม่มีทฤษฎีใดอธิบายได้ ความสัมพันธที่เกิดขึ้นขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยให้เกิดการสะท้อนและตรวจสอบตัวตนระหว่างนักมานุษยวิทยาและนักโทษ เรื่องราวและประสบการณ์ที่นักมานุษยวิทยาพบเจอและได้สัมผัสเมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำ คือความรู้เกี่ยวกับคนที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก การนำเรื่องราวของนักโทษมาบอกเล่าต่อสังคมจึงเต็มไปด้วยความหล่อแหลม นักมานุษยวิทยาตระหนักว่าเบื้องหลังข้อเขียนทางวิชาการเกี่ยวกับชีวิตของนักโทษ คือเรื่องราวของความรู้สึกที่นักมานุษยวิทยาไม่สามารถเขียนออกมาได้ แต่เป็นสิ่งที่ทำให้นักมานุษยวิทยาเห็นบทบาทหน้าที่ของตัวเองในโลกที่เป็นจริงที่มีความเปราะบางและมีความขัดแย้งจากคนที่มีความไม่เท่าเทียมของอำนาจ


บรรณานุกรม

Abu-Jamal, M. (1995). Live from Death Row. Reading, MA: Addison-Wesley.

Alford, C. F. (2000). What would it matter if everything Foucault said about prison were wrong? Discipline and Punish after Twenty years. Theory Society, 29,125-46.

Bahre, E. (2015). BÄHRE, Erik. Etnography’s blind spot. Intimacy, violence, and fieldwork relations in South Africa. Social Analysis, 59 (3), 1-16

Crewe, B. & Ievins, A. (2015). Closeness, Distance and Honesty in Prison Ethnography. In Deborah Drake, Rod Earle & Jennifer Sloan. (Eds.). The Palgrave Handbook of Prison Ethnography. (pp.124-142). New York, Palgrave Macmillan.

Davis, A.Y. (1998). Race and criminalization: black Americans and the punishment industry. In J. James. The Angela Y. Davis Reader. (pp. 61–73). Oxford: Blackwell.

Dyer, J. (2000). The Perpetual Prison Machine: How America Profits from Crime. Boulder, CO: Westview.

Feldman, A. (1991). Formations of Violence: The Narrative of the Body and Political Terror in Northern Ireland. Chicago: University of Chicago Press

Frois, C. (2016). Close Insecurity: inmates’ perceptions and discourses in Portugal. Social Anthropology, 24(3), 309-323.

Frois, C., Osuna, C. & de Lima, A.P. (2019). Ethnography in Contexts of Incarceration: Exploring potentials and limits. Cadernos Pagu, 55, http://dx.doi.org/10.1590/18094449201900550000

Hammersley, M. (2015). Research “Inside” Viewed from “Outside”: Reflections on Prison Ethnography. In D. Drake DRAKE, R. Earle, & J. Sloan. (Eds.). The Palgrave Handbook of Prison Ethnography. (pp.21-39). Hampshire; New York, Palgrave Macmillan.

Howe, A. (1994). Punish and Critique: Towards a Feminist Analysis of Penality. New York: Routledge.

Jewkes, Y. (2011). Autoethnography and Emotion as Intellectual Resources: Doing Prison Research Differently. Qualitative Inquiry, 18(1), 63–75.

Naffine, N. (1996). Feminism and Criminality. Philadelphia: Temple University Press.

Padovani, N.C., Hasselberg, I. & Boe, C.S. (2019). Anthropological Engagements with the Prison: gender perspectives. Cadernos Pagu, 55, http://dx.doi.org/10.1590/18094449201900550000

Parenti, C. (1999). Lockdown America: Police and Prisons in the Age of Crisis. New York: Verso.

Rhodes, L.A. (2001). Toward an Anthropology of Prisons. Annual Review of Anthropology, 30, 65-83.

Rhodes, L. (2004), Total Confinement: Madness and Reason in the Maximum Security Prison. Berkeley: University of California Press.

Rhodes, L.A. (2013). Ethnographic imagination in the field of the prison, Criminal Justice Matters, 91(1), 16-17.

Strathern, M. (1999). Property, substance and effect: anthropological essays on persons and things. London: Athlone.

Thomas, J. (1993). Doing Critical Ethnography. Newbury Park, CA: Sage.

Ugelvik, T. (2014). Power and Resistance in Prison: Doing Time, Doing Freedom. London; New York, Palgrave Macmillan.

Wacquant, L. (2002). The Curious Eclipse of Prison Ethnography in the Age of Mass Incarceration. Ethnography, 3(4), 371-39.


ผู้เขียน
ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานายวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ นักมานุษยวิทยา งานสนาม คุก ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา