การท่องเที่ยวกับบ้านใหม่ของปูเสฉวน

 |  พืช สัตว์ สิ่งของที่มากกว่ามนุษย์
ผู้เข้าชม : 1704

การท่องเที่ยวกับบ้านใหม่ของปูเสฉวน

           ช่วงต้นเดือนมีนาคม ผู้เขียนเดินทางไปติดตามการทำงานของชุมชนแห่งหนึ่งในแถบ บางเทา จังหวัดภูเก็ต เมื่อมีเวลาว่างช่วงกลางคืน ผู้เขียนได้รับการเชิญชวนจากเพื่อน ๆ และอาจารย์ในโครงการวิจัยไปเดินริมทะเลช่วงบริเวณปลายหาดบางเทา ระหว่างที่เดินเล่นอยู่นี้เองผู้เขียนและคนอื่น ๆ พบปูเสฉวนออกมาเดินอยู่บนหาดทรายริมทะเลเยอะในระดับหนึ่ง (ไม่ถึงกับหนาแน่น) ปูเสฉวนเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่ริมชายหาดและมีโอกาสพบได้หลายแห่งในประเทศไทยและมีข่าวพูดถึงในแวดวงอนุรักษ์อยู่เป็นระยะจากการลดลงของเปลือกหอยและถิ่นที่อยู่อาศัย ตลอดจนภาพปูเสฉวนหันไปพึ่งพาวัสดุอื่นนอกเหนือจากเปลือกหอย แม้ปูเสฉวนที่พบที่หาดบางเทาจะยังใช้เปลือกหอยอยู่แต่สิ่งที่สะดุดตาผู้เขียน คือ เปลือกหอยที่ปูเสฉวนเหล่านี้แบกอยู่นั้น ไม่ใช่เปลือกหอยทะเล แต่เป็นเปลือกหอยทากที่อาศัยบนบกและหอยที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดซึ่งทั้งสองเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่น บทความนี้จึงชวนผู้อ่านไปสำรวจความเป็นเมืองของเกาะภูเก็ตที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนไปใช้เปลือกหอยต่างถิ่นของปูเสฉวนเหล่านี้

ภาพที่ 1 ปูเสฉวนที่พบบริเวณตอนใต้หาดบางเทากับเปลือกหอยทากยักษ์แอฟริกา
ภาพ: ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ ถ่ายเมื่อ 2 มีนาคม 2567


การท่องเที่ยวนำความเป็นเมืองมาสู่ชายหาด

           กิจกรรมการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลมีอัตราการขยายตัวสูงเป็นอันดับต้น ๆ พัฒนาการท่องเที่ยวในชายฝั่งทะเลดำเนินไปโดยการปรับให้รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีต่อจุดหมายปลายทาง พื้นที่ชายฝั่งจึงถูกแปรสภาพไปตามความคาดหวังของนักท่องเที่ยว การทำความเข้าใจภูเก็ตในฐานะเมืองแห่งการท่องเที่ยวอาจต้องเข้าใจกระบวนการกลายเป็นเมือง (Urbanization) ที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวและมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การใช้ประโยชน์ที่ดินในเกาะภูเก็ตเสียก่อน

           ภายหลังการซบเซาของเศรษฐกิจดีบุกที่เคยเป็นหัวใจสำคัญของจังหวัดภูเก็ตในช่วงต้นทศวรรษ 2520 กระแสความนิยมและการขยายตัวการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเริ่มต้นขึ้นและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ที่เงินบาทอ่อนค่าลงได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ยิ่งทำให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของไทยจนภูเก็ตสามารถสร้างรายได้มากถึงร้อยละ 21 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั่วประเทศในปี 2549 (พอพันธุ์, 2558, 260-262) การท่องเที่ยวนำมาซึ่งเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศไทย มูลค่าและโอกาสทางเศรษฐกิจดึงดูดให้เกิดการพัฒนาและการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พื้นที่ติดทะเลในจังหวัดภูเก็ตเป็นที่หมายปองของนักธุรกิจที่ต้องการลงทุนทำธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมหรูเพื่อแสวงหากำไรจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้ที่ดินชายฝั่งทะเลในเกาะภูเก็ตมีราคาสูงมากตามเม็ดเงินที่จะได้จากการท่องเที่ยวและพักผ่อนริมทะเลอันเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่านักท่องเที่ยวในประเทศ

           สำหรับพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในอดีต สิ่งปลูกสร้างมีอัตราการก่อตัวบริเวณหาดในลักษณะบางเบา อันเนื่องมาจากช่วงแรกเริ่มการท่องเที่ยว โรงแรมขนาดใหญ่เน้นสร้างในทำเลที่อยู่ในตัวเมืองหรือริมเส้นทางคมนาคมสายหลัก นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ได้ต้องการอยู่ริมทะเลในตอนกลางคืน กิจกรรมการท่องเที่ยวภูเก็ตในอดีตจึงเป็นการเดินทางไปริมทะเลตอนกลางวัน และกลับมาที่พักตอนกลางคืน รวมถึงปัญหาขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายอย่างในบริเวณพื้นที่ริมทะเลนอกเส้นทางคมนาคมหลัก แต่เมื่อการท่องเที่ยวแบบพักตากอากาศริมทะเลเริ่มนิยมขึ้นในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เมื่อสาธารณูปโภคในภูเก็ตพัฒนาและขยายตัวไปมากขึ้น นักลงทุนและนักท่องเที่ยวเริ่มหันมาให้ความสนใจพื้นที่ชายทะเลมากขึ้น พื้นที่ริมทะเลเริ่มถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและที่พักเพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ภูเก็ตยังเป็นหมุดหมายของการพัฒนาให้เป็นเมืองหลักตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งผลให้กระบวนการกลายเป็นเมือง (Urbanization) กระจายออกสู่พื้นที่เกษตรกรรมเดิมในภูเก็ต เปลี่ยนที่นาและท้องทุ่งเป็นอาคารพาณิชย์ ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจับจองพื้นที่ริมชายหาดเป็นสมบัติส่วนตัวและให้ราชการออกโฉนดให้ ในขณะที่รัฐก็เร่งให้มีถนนและไฟฟ้าเข้าถึงพื้นที่รอบนอก ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของภูเก็ตไปสู่การกลายเป็นเมืองท่องเที่ยว (ญาณ์นภัส, 2554, 88-118)

           การขยายตัวของการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ภูเก็ตเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ ความเป็นเมืองท่องเที่ยวทำให้นิเวศและความเป็นเมืองได้ขยับขยายจนรุกประชิดริมชายทะเล แม้ภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ณ สถานที่อันเป็นจุดหมายปลายทางจะเป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยว แต่การท่องเที่ยวชายทะเลเองก็คาดหวังความสะดวกสบายมากในระดับหนึ่ง มิใช่ธรรมชาติแบบบุกป่าฝ่าดง ที่เพิ่งจะได้รับความนิยมในระยะหลัง การท่องเที่ยวมักให้ความสำคัญกับการเดินทาง ที่พัก กิจกรรม และจุดหมายปลายทางหรือสถานที่ท่องเที่ยว ความสะดวกสบายอาจหมายถึงสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ชีวิตในสังคมเมืองคาดหวังจะให้สถานที่ปลายทางมีเหมือนกับที่บ้านของตนเองที่อยู่ในเมืองใหญ่มีอยู่ทั่วไปแล้ว

           การท่องเที่ยวหยิบนำเอาความสมบูรณ์ของธรรมชาติมาเป็นสินค้าผ่านการท่องเที่ยวและสร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในขณะที่การท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลมีพื้นฐานอยู่บนความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและภูมิทัศน์ แต่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม กลายเป็นว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจกลายเป็นขั้วตรงข้ามของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องยอมสละความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติเพื่อแลกกับการเจริญเติบโตของการท่องเที่ยว ซ้ำร้ายการพัฒนาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวยังขัดแย้งกับเป้าหมายของการท่องเที่ยวด้วย (Zahedi, 2008, 45-46) เช่นเดียวกับในภูเก็ต ธุรกิจที่พักและสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งให้ความสำคัญกับการแข่งขันกันดึงดูดนักท่องเที่ยว ความเป็นเมืองในฐานะความสะดวกสบายกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการลงทุนการแข่งขันในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ธุรกิจการท่องเที่ยวหลายแห่งลงทุนปรับสภาพพื้นที่ให้มีทัศนียภาพที่สวยงามและสะดวกสบายสอดคล้องกับกิจกรรมของมนุษย์ พร้อมกันกับการดูแลให้สวยงามน่าเที่ยวอยู่เสมอ ธรรมชาติอันเป็นจุดหมายปลายทางจึงเปลี่ยนจากธรรมชาติบริสุทธิ์ดั้งเดิม ไปเป็นธรรมชาติประดิษฐ์ ที่มนุษย์บริหารจัดการและจำลองสร้างธรรมชาติขึ้นมาใหม่ตามความต้องการของมนุษย์


เมืองแห่งการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนชีวิตปูเสฉวน

           พื้นที่หาดบางเทาเดิมก่อนที่จะมีการทำเหมืองแร่ดีบุกก็มีการทำเกษตรกรรม สันนิษฐานว่าบริเวณตอนในของหาดบางเทามีลักษณะนิเวศเป็นทุ่งหญ้าชายฝั่งริมทะเล ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม จนกระทั่งอุตสาหกรรมดีบุกซบเซาและภูเก็ตกลายเป็นการท่องเที่ยว พื้นที่บริเวณชายหาดบางเทาจึงกลายเป็นแหล่งโรงแรมและร้านอาหารที่สร้างติดกับริมหาดบางเทา กิจกรรมการปรับสภาพพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดให้มีการสั่งวัสดุและพันธุ์พืช-สัตว์สำหรับตกแต่งสถานที่ท่องเที่ยวจากภายนอกเกาะภูเก็ต และในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงสวยงามและพืชสวยงามเองก็เชื่อมต่อกับต่างประเทศด้วย อุตสาหกรรมพืชสวยงามหรือไม้ประดับ (Ornamental plants) นำมาสู่การเคลื่อนย้ายสายพันธุ์จากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง และทำให้สายพันธุ์หนึ่งปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่ในระบบนิเวศใหม่ ธุรกิจการท่องเที่ยวที่ปรับสภาพแวดล้อมเลียนแบบธรรมชาติล้วนพึ่งพาพืชพรรณในตลาดที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม แต่การเลือกนำเอาพันธุ์พืชและสัตว์มาจากต่างถิ่นโดยตั้งใจก็อาจติดเอาสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้ตั้งใจจำหรือติดมาโดยบังเอิญได้ โดยหนึ่งในนั้นคือหอยทากยักษ์แอฟริกา (Lissachatina fulica)

           ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนอาจคุ้นเคยกับหอยทากยักษ์แอฟริกา ซึ่งพบเห็นได้ตามสวนสาธารณะในเมือง สวนหลังบ้าน จนถึงพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหน้าฝนที่จะพบได้บ่อยเป็นพิเศษ หอยทากชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานในหลายประเทศทั่วโลก จากความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่และอัตราการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยมักพบกระจายตัวในเขตเมืองมากกว่าเนื่องมาจากปัจจัยด้านแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมที่หอยทากชนิดนี้จะกินใบไม้ตามต้นไม้ดอกไม้ในสวนในเมืองและเศษอาหารประเภทพืชผักเป็นหลัก (Hadfield, 2020) ส่วนในภาคเกษตรกรรมถูกจัดว่าเป็นศัตรูพืชที่จะเข้าทำลายผลผลิต โดยเฉพาะในบราซิลที่มีปัญหาหอยทากยักษ์แอฟริการะบาดในเมืองและพื้นที่เกษตรกรรมกล้วย บล็อกโคลี มันหวาน มะเขือเทศ และกะหล่ำปลี (Instituto Oswaldo Cruz, 2022) ส่วนในทางการแพทย์หอยชนิดนี้ยังเป็นพาหะของหนอนพยาธิตัวกลมที่ก่อโรคในคนและสัตว์ โดยเฉพาะโรคพยาธิปอดหนูที่เป็นสาเหตุโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในคน สันนิษฐานว่าหอยทากยักษ์แอฟริกาเข้ามาพร้อมกับความเป็นเมืองของเกาะภูเก็ตที่มีการเดินทางและเคลื่อนย้ายระหว่างคน สัตว์ สิ่งของระหว่างภายในพื้นที่และนอกพื้นที่เกาะภูเก็ต และการขยายตัวของเมืองและปรับภูมิทัศน์ให้อิงกับธรรมชาติของแหล่งท่องเที่ยวเปิดโอกาสให้หอยทากยักษ์แอฟริกาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในนิเวศชายทะเลได้โดยพึ่งพาแหล่งอาหารและน้ำจืดจากมนุษย์

           ที่หาดบางเทา ผู้เขียนพบปูเสฉวนหลายตัวที่ใช้เปลือกหอยทากยักษ์แอฟริกาแทนเปลือกหอยทะเล เนื่องมาจากปัญหาขาดแคลนเปลือกหอยที่เหมาะสม ช่วงเวลาที่ผู้เขียนเดินสำรวจบริเวณหาดทรายบริเวณที่พบปูเสฉวน พบว่าแทบไม่มีเปลือกหอยขนาดใหญ่สำหรับปูเสฉวนเลย นี่จึงอาจเป็นสาเหตุให้ปูเสฉวนหันไปใช้เปลือกหอยทากยักษ์แอฟริกาแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้พบว่ามีเพียงปูเสฉวนขนาดใหญ่เท่านั้นที่ใช้เปลือกหอยทากยักษ์แอฟริกา ส่วนปูเสฉวนขนาดเล็กยังคงเลือกใช้เปลือกหอยทะเลที่ยังพอพบเห็นได้ในชายหาดบางเทา ภายใต้การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศชายหาดไปเป็นเมืองตามการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินของคนในจังหวัดภูเก็ต ความเป็นเมืองที่ขยายตัวประชิดชายหาดนำพาหอยทากต่างถิ่นมาสู่ริมทะเลที่ปูเสฉวนซึ่งเป็นสัตว์พื้นถิ่นเองก็มีการปรับตัวให้เข้ากับสังคมมนุษย์และใช้ประโยชน์จากเปลือกหอยทากในช่วงเวลาที่พื้นที่ริมชายหาดของหาดบางเทากลายเป็นโรงแรม ร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวไปแล้ว

ภาพที่ 2 ปูเสฉวนที่พบบริเวณแนวกำแพงปูนของโรงแรมแห่งหนึ่งริมหาดบางเทา
บริเวณซอกหินในกำแพงยังพบปูเสฉวนขนาดเล็กอีกจำนวนมากด้วย
ภาพ: ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ ถ่ายเมื่อ 2 มีนาคม 2567


           นอกจากปูเสฉวนที่ใช้เปลือกหอยทากยักษ์แอฟริกาแล้ว ในบริเวณเดียวกันยังพบปูเสฉวนที่มีขนาดใกล้เคียงกันใช้เปลือกหอยเชอรี่ (Pomacea canaliculate) ซึ่งหอยเชอรี่นี้อาจมีที่มาทั้งจากการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำจืดอย่างในลำคลองที่เชื่อมกับหาดบางเทาหรือบึงในเหมืองแร่ดีบุกเก่า และจากร้านอาหารที่จำหน่ายเมนูอาหารจากหอยเชอรี่หรือชุมชนที่มีวัฒนธรรมการรับประทานหอยเชอรี่ เช่น นำมาทำลาบ ก้อย คั่วกะทิ ส้มตำ และเมนูอื่น ๆ ซึ่งมักพบเห็นวัฒนธรรมการบริโภคหอยเชอรี่ในร้านอาหารอีสานหรือชุมชนอีสานที่อพยพย้ายถิ่นมาหางานทำในภูเก็ตและเช่าที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณบางเทาก็เป็นได้

ภาพที่ 3 และ 4 ปูเสฉวนที่พบบริเวณปากคลองตอนใต้ของชายหาดบางเทากำลังอาศัยอยู่ในเปลือกหอยเชอรี่
ภาพ: ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์ ถ่ายเมื่อ 2 มีนาคม 2567


           การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกใช้เปลือกหอยของปูเสฉวน จึงสัมพันธ์กับกิจกรรมของมนุษย์ในลักษณะต่าง ๆ การลดลงของเปลือกหอยริมทะเลอาจสัมพันธ์กับการทำประมงอย่างเข้มข้นที่เพิ่มสูงขึ้นและการเก็บเปลือกหอยไปทำเป็นของที่ระลึกสำหรับจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ส่งผลให้เปลือกหอยทะเลขนาดใหญ่มีน้อยลงหรือหายไปจากพื้นที่ชายหาด ปูเสฉวนจึงต้องปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอดโดยด้วยการหันไปใช้เปลือกหอยทากบกที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นแทนที่เปลือกหอยทะเลที่พบน้อยลง ปูเสฉวนที่ใช้เปลือกหอยต่างถิ่นนี้จึงสะท้อนให้เห็นกิจกรรมของมนุษย์ในมิติต่าง ๆ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศในท้องถิ่น ในขณะที่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นนอกเหนือจากมนุษย์ก็เริ่มปรับตัวและอยู่ร่วมกับกิจกรรมของมนุษย์ ภายใต้ความเป็นเมืองและมนุษยสมัยของเกาะภูเก็ตที่การใช้ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเข้มข้นมากขึ้นและยังไม่มีใครเหลียวแลปัญหาของปูเสฉวน ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจเห็นปูเสฉวนเกือบทั้งหมดหันมาพึ่งพามนุษย์อย่างเต็มรูปแบบผ่านการใช้เปลือกหอยต่างถิ่นเหล่านี้


อ้างอิง

Zahedi, S. (2008). Tourism impact on coastal environment. WIT Transactions on The Built Environment, 99, 45-57.

พอพันธุ์ อุยยานนท์. (2558). ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ 5 ภูมิภาคของไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ญาณ์นภัส สกุลบุญพาณิชย์. (2554). ประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ตสมัยใหม่ พ.ศ. 2500 – 2550. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

Instituto Oswaldo Cruz. (2022, 25 August). African snail: what are the real risks for the population?. https://www.ioc.fiocruz.br/en/noticias/caramujo-africano-quais-os-reais-riscos-para-populacao.

อรวรรณ พู่พิสุทธิ์. (2022). หอยทากยักษ์แอฟริกากลายเป็นชนิดพันธุ์รุกรานในหลายประเทศทั่วโลก. https://www.tm.mahidol.ac.th/helminth/2022/12/29/snail-km/.

Hadfield, M. G. (2020). Snail that eat snails. In Tsing, A. L., Deger, J., Keleman Saxena, A., & Zhou, F. Feral atlas: the more-than-human Anthropocene. Stanford University Press. https://feralatlas.supdigital.org/poster/snails-that-eat-snails.


ผู้เขียน
ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์
นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ การท่องเที่ยว ปูเสฉวน บ้าน บางเทา ภูเก็ต ธนพล เลิศเกียรติดำรงค์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share
Facebook Messenger Icon คลิกที่นี่เพื่อสนทนา