ราษฎร์บัณฑิตยสถานในท้องถิ่นอินเทอร์เน็ตไทย

 |  วัฒนธรรมร่วมสมัย
ผู้เข้าชม : 2064

ราษฎร์บัณฑิตยสถานในท้องถิ่นอินเทอร์เน็ตไทย

           ค่ำวันหนึ่งคุณกำลังก้าวขึ้นคร่อม “รถเครื่อง” (มอเตอร์ไซค์) อาสาออกไปซื้อของให้เพื่อน ๆ แต่ด้วยความเป็นคนซุ่มซ่าม เพื่อนชาวใต้จึงทักท้วงว่าคน “หลาเหิน” (ไม่ดูตาม้าตาเรือ) อย่างเธออย่าไปเลย เพื่อนชาวสุโขทัยสำทับทันทีว่าทางก็เป็นหลุมเป็นบ่อ ขี่ไประวัง “ต๊กกะบวก” (ตกหลุม) ส่วนเพื่อนชาวโคราชก็ถามด้วยความเป็นห่วงว่า “ให่ฉันไป๋ก๊ะแก่เดิ้งดาวะเห่อเวย” (ให้ฉันไปกับเธอด้วยได้มั้ย)

           คำและประโยคในเครื่องหมายคำพูดข้างต้นถูกใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนในบางพื้นที่ของประเทศไทย ในความเป็นจริงคงเป็นไปได้ยากที่ภาษาหลายถิ่นจะถูกนำมาใช้สนทนากันเช่นในสถานการณ์สมมตินี้ เว้นเสียแต่ว่าที่แห่งนั้นจะตั้งอยู่ในอินเทอร์เน็ต

           อินเทอร์เน็ตถูกวิจารณ์ว่าเป็นตัวเร่งการสูญสิ้นของภาษาจำนวนมากด้วยการแบ่งแยกทางดิจิทัล (digital divide) ซึ่งทำให้ชนกลุ่มน้อยไม่อาจเข้าถึงด้วยภาษาของตนเอง1 ส่วนเครื่องมือค้นหาข้อมูล (search engine) ก็ขับเคลื่อนด้วยอำนาจเชิงอัลกอริทึม (algorithmic power) ที่ครอบงำโลกออนไลน์ด้วยอคติแบบมีตะวันตกเป็นศูนย์กลาง2 ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่ในโลกของผู้ใช้ภาษาอังกฤษอันเป็นภาษาอันดับหนึ่งของอินเทอร์เน็ต3 ภาษาถิ่นก็ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะหดหายไปเช่นกัน

           อย่างไรก็ดี อินเทอร์เน็ตก็มีบริบทที่หลากหลายในตัวเอง หรืออาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ออนไลน์ก็มีหลายท้องถิ่น แพล็ตฟอร์มที่ใช้ภาพและเสียงเป็นสื่อหลักมีข้อจำกัดด้านภาษาน้อยมาก มีผู้ผลิตพ็อดคาส (podcast) ที่ริเริ่มโครงการนำภาษาถิ่นในสหราชอาณาจักรกลับมาใช้4 และมีการโต้แย้งว่าสื่อสังคม (social media) มีส่วนทำให้เส้นแดนของภาษาและไวยกรณ์พร่าเลือนลงอย่างมาก และเป็นช่องทางที่เปิดให้เกิดการเรียนรู้ข้ามภาษาได้เป็นอย่างดี5

           การเติบโตของสื่อสังคมในประเทศไทยในระยะหลายปีมานี้ เปิดโอกาสให้คำในภาษาถิ่นต่างๆ ที่เคยถูกเบียดบังด้วยภาษาทางการ ได้กลับมามีชีวิตโลดแล่นอยู่ในสังคมออนไลน์ เกิดการแลกเปลี่ยนความหมายข้ามพื้นที่และเวลา คนภาคอื่นๆ ได้รู้จัก “กระแหล่ง”6 ที่ไม่ใช่กระดิ่งแขวนคอวัวควายตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่เป็นคำใช้พูดหยิกแกมหยอกในแถบตะวันตกของไทยตั้งแต่ราชบุรีลงไปถึงประจวบคีรีขันธ์ ในขณะที่คนราชบุรีต่างวัยก็ได้แลกเปลี่ยนกันว่าคำเดียวกันนี้ถูกใช้อย่างไรในปัจจุบันเทียบกับเมื่อ 40 ปีก่อน7

           โพสเฟสบุ๊ก (facebook) ที่มีเนื้อหาชักชวนให้มาร่วมแลกเปลี่ยนคำในภาษาถิ่น มักถูกริเริ่มโดยเพจ (fanpage) ที่ยึดโยงตัวเองเข้ากับจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง โพสลักษณะนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง มีการให้ความเห็นจำนวนหลายพันไปจนถึงเกินหมื่นครั้ง และเมื่อมีจังหวัดหนึ่งเริ่มก็มักจะมีจังหวัดหรือภูมิภาคอื่น ๆ เลียนแบบตามมา ความนิยมนี้เป็นภาพสะท้อนของยุคสมัยที่ผู้คนเคลื่อนย้ายถิ่นฐานจนเป็นปกติ การพูดคุยเกี่ยวกับภาษาถิ่นของตนเองจึงมอบความรู้สึกมีตัวตนและเชื่อมโยงกับบ้านเกิด (sense of identity and belonging)8 แม้จะอยู่ไกลจากถิ่นฐานของตน

           อินเทอร์เน็ตอาจมีด้านที่กลืนกลายให้ประชากรต้องเลือกใช้ “ภาษาไทย” ในการสื่อสารในโลกออนไลน์ แต่การตั้งค่าภาษาบนสื่อสังคม ไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการแสดงออกและยังเอื้อให้ผู้คนสามารถปลุกภาษาถิ่นให้ฟื้นขึ้นมาอยู่ในปริมณฑลสาธารณะอย่างมีชีวิตชีวายิ่งกว่าที่เคย

           การถกเถียงเพื่อเสนอคำแปลที่ “ยากจะแปลเป็นภาษากลาง” ยังมีนัยของการสร้างความรู้ในทำนองเดียวกับที่นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบัญญัติความหมายของคำต่าง ๆ ขึ้นมา ทว่าเป็นกระบวนการที่เปิดเผยต่อสาธารณะและเป็นประชาธิปไตยในทุกขั้นตอน ผู้อ่านสามารถกดตอบสนอง (reaction) ให้แก่คำแปลที่ถูกใจ ซึ่งเป็นดั่งผลโหวตที่แสดงให้เห็นว่าคำแปลใดได้รับความนิยมมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อตามใครคนใดคนหนึ่ง แต่ยังอาจเข้าไปร่วมถกเถียง ให้เหตุผลโต้แย้งหรือสนับสนุนได้อย่างเสรี

           ยิ่งไปกว่านั้น หลายโพสยังเป็นการทำให้ภาษาถิ่นมีร่องรอยดิจิทัลปรากฎขึ้นในอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก คำที่ไม่เคยปรากฎในผลการค้นหาของกูเกิล (Google) กลับมีตัวตนขึ้นมาให้สามารถสืบค้นได้ในโลกออนไลน์ และยังถูกรวบรวมเข้าไว้ด้วยกันภายใต้โพสหนึ่ง งานที่จะต้องอาศัยนักภาษาศาสตร์9 ทุ่มเทเวลาและแรงกายเก็บรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจาย กลับก่อตัวเป็นชุดข้อมูลขนาดใหญ่ได้ในเวลาชั่วข้ามคืน ข้อมูลเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนให้นำมาจัดระบบและสานต่อในเชิงความรู้ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในสหราชอาณาจักร อย่างเช่น Friends of Norfolk Dialect (FOND) กลุ่มอนุรักษ์ภาษาถิ่นในภาคตะวันออก หรือ Dictionars o the Scots Leid พจนานุกรมภาษาถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลสกอตแลนด์

           คำในภาษาถิ่นมักเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางอารมณ์และคำคุณศัพท์ที่ “ยากจะแปลเป็นภาษากลาง” และแม้จะมีคำแปลที่ใกล้เคียงมาก ก็จะต้องอาศัยคำอธิบายเกี่ยวกับบริบทการใช้งานและประวัติศาสตร์ของคำนั้นประกอบ ตัวอย่างเช่น คำว่า “จั้งกาบ” ในภาคใต้ตอนล่างซึ่งน่าจะมีที่มาจากคำมลายูที่แปลว่า “พูดคุย” แต่เป็นการพูดคุยที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง ‘ชาวเน็ต’ บางส่วนมองว่ามีความหมายในเชิงลบคือ ‘พูดมาก’ แต่ก็มีคำอธิบายอื่น ๆ เช่น เป็นการใช้เวลาว่างระหว่างวันของคนสมัยก่อนนั่งคุยกันอย่างออกรสในหมู่บ้าน10

           คำเหล่านี้มาพร้อมกับเรื่องราวที่ต้องพรรณนาแบบหลายชั้น ซึ่งเพิ่มความรุ่มรวยให้กับภาษา และยังอาจเลื่อนไหลไปสู่อัตลักษณ์แบบอื่น ๆ เช่น กลายมาเป็นภาษาของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่ม ‘ชายแท้’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางภาษาที่ได้รับความสนใจในปีที่ผ่านมา คำที่กลุ่ม LGBTQ+ ใช้จำนวนหนึ่งหยิบยืมมาจากคำในภาษาถิ่น เช่น “เคียว” ในภาษาถิ่นภาคเหนือ เช่นเดียวกับการเรียกกันด้วยสรรพนาม “จารย์” ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งกลายมาเป็นคำพูดติดปาก “อย่างตึงอะจารย์” ในหมู่ชายไทยโดยทั่วไป และล่าสุดถูกแย่งยึดไปใช้โดยกลุ่ม LGBTQ+ ในเชิงยั่วล้ออีกต่อหนึ่ง

           การมาประกอบกันของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลายกับเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ทำให้ ‘ภาษาไทย’ ฉบับทางการถูกท้าทาย ดัดแปลง ผสมผสานกับวิถีชีวิตแบบใหม่ มีการประชุมกันเพื่อสอบทาน ตีความและนำเสนอคำแปลใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา ทุกคนสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ราษฎร์บัณฑิตยสถาน’ ได้จากที่บ้าน ที่ทำงาน หรือกระทั่งบนเตียงนอนของตัวเอง โฉมหน้าของภาษาไทยยุคดิจิทัลในท้องถิ่นอินเทอร์เน็ตไทยได้เปลี่ยนไปแล้วโดยไม่ต้องขออนุญาตจากใคร และยังมีศักยภาพที่จะไปต่อได้อีกไกลหากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม ภาษาของเราจะมีพลังสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น มีความเป็นกวีที่ลึกซึ้งขึ้น และที่สำคัญคือโอบรับ อัตลักษณ์ท้องถิ่นให้เป็นมากกว่าเครื่องประดับของความหลากหลาย แต่เป็นส่วนหนึ่งการสร้างโฉมหน้าวัฒนธรรมใหม่ ๆ อย่างมีศักดิ์ศรีทัดเทียมกัน


อ้างอิง

Chonka, Peter, Stephanie Diepeveen, and Yidnekachew Haile. “Algorithmic Power and African Indigenous Languages: Search Engine Autocomplete and the Global Multilingual Internet.” Media, Culture & Society, June 22, 2022, 01634437221104705. https://doi.org/10.1177/01634437221104705.

Kornai, András. “Digital Language Death.” PLOS ONE 8, no. 10 (October 22, 2013): e77056.https://doi.org/10.1371/journal.pone.0077056.

Nast, Condé. “Languages Are Dying, but Is the Internet to Blame?” Wired UK. Accessed November 30, 2022.https://www.wired.co.uk/article/linguistic-diversity-online.

The-Thitsar, Myat. “Empowering or Endangering Minorities? Facebook, Language, and Identity in Myanmar.” Asian Ethnicity 23, no. 4 (October 2, 2022): 718–40. https://doi.org/10.1080/14631369.2021.1951596.

Thorpe, Vanessa, Vanessa Thorpe Arts, and Media Correspondent. “That’s Blatherskite! Podcasts Plan to Save Endangered Dialects.” The Observer, November 20, 2022, sec. Science. https://www.theguardian.com/science/2022/nov/20/thats-blatherskite-podcasts-plan-to-save-endangered-dialects.

Valentine, Gill, Deborah Sporton, and Katrine Bang Nielsen. “Language Use on the Move: Sites of Encounter, Identities and Belonging.” Transactions of the Institute of British Geographers 33, no. 3 (2008): 376–87.


1  Kornai, András. “Digital Language Death.” PLOS ONE 8, no. 10 (October 22, 2013): e77056.https://doi.org/10.1371/journal.pone.0077056.

2  Chonka, Peter, Stephanie Diepeveen, and Yidnekachew Haile. “Algorithmic Power and African Indigenous Languages: Search Engine Autocomplete and the Global Multilingual Internet.” Media, Culture & Society, June 22, 2022, 01634437221104705.https://doi.org/10.1177/01634437221104705.

3  https://www.statista.com/statistics/262946/share-of-the-most-common-languages-on-the-internet/

4  Thorpe, Vanessa, Vanessa Thorpe Arts, and Media Correspondent. “That’s Blatherskite! Podcasts Plan to Save Endangered Dialects.” The Observer, November 20, 2022, sec. Science. https://www.theguardian.com/science/2022/nov/20/thats-blatherskite-podcasts-plan-to-save-endangered-dialects.

5  Nast, Condé. “Languages Are Dying, but Is the Internet to Blame?” Wired UK. Accessed November 30, 2022.https://www.wired.co.uk/article/linguistic-diversity-online.

6  กระดี๊กระด๊า มีความหมายเชิงลบ แต่ใช้ได้กับเพื่อนที่สนิทกัน

7  ดูความคิดเห็นในโพส facebook shorturl.at/EKLNT

8  Valentine, Gill, Deborah Sporton, and Katrine Bang Nielsen. “Language Use on the Move: Sites of Encounter, Identities and Belonging.” Transactions of the Institute of British Geographers 33, no. 3 (2008): 376–87.

9  https://www.soas.ac.uk/courseunits/introduction-language-documentation-and-description

10  ดูความคิดเห็นใน facebook shorturl.at/orX78


ผู้เขียน

สรัช สินธุประมา

นักวิชาการ


 

ป้ายกำกับ ราษฎร์บัณฑิตยสถาน อินเทอร์เน็ต สมุดไทยดำ สรัช สินธุประมา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share