วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย – Thai Culture and Behavior/ Ruth Benedict ผู้เขียน; พรรณี ฉัตรพลรักษ์ ผู้แปล

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 6008

วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย – Thai Culture and Behavior/ Ruth Benedict ผู้เขียน; พรรณี ฉัตรพลรักษ์ ผู้แปล

           Thai Culture and Behavior เขียนโดย Ruth Fulton Benedict นักมานุษยวิทยารุ่นบุกเบิกของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2486 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 และถูกแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย โดยพรรณี ฉัตรพลรักษ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์เจ้าพระยาในปี พ.ศ. 2524

           Ruth Fulton Benedict ใช้วิธีการศึกษาสังคมไทยผ่านงานวรรณกรรมชิ้นสำคัญหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น Siam: A handbook of Practical, Commer, and Political Information ของ Walter Armstrong Graham, Kingdom of the Yellow Robe ของ Ernest Young, Siamese tales Old and New ของ Reginald le May, Thailand: The New Siamของ Virginia Malean Thompson, Siam in transition ของ Kenneth Perry Landon รวมถึง My Boyhood in Siam ของ กุมุท จันทร์เรือง1

           ผู้เขียนได้ใช้ระเบียบวิธีทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรมในการเขียนงานครั้งนี้ และตระหนักดีว่าการศึกษาผ่านเอกสารโดยมิได้อาศัย สังเกต ลงมือทำ และดำเนินการศึกษาด้วยตนเองในเมืองไทยนั้นเป็นข้อจำกัดอย่างใหญ่หลวงของการศึกษา และการศึกษาในครั้งนี้จึงดำเนินไปด้วยข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัด

 

Kingdom of the Yellow Robe ของ Ernest Young

มีให้บริการที่ห้องสมุด ศมส.

 

Siamese tales Old and New ของ Reginald le May

มีให้บริการที่ห้องสมุด ศมส.

 

Siam in transition ของ Kenneth Perry Landon

มีให้บริการที่ห้องสมุด ศมส.

 

           ถึงแม้ว่าการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นงานที่ผู้เขียนกล่าวว่ามีการใช้ข้อมูลอย่างจำกัด และมีจุดอ่อนที่ผู้เขียนไม่สามารถเข้าไปทำการศึกษาด้วยตนเองในพื้นที่ แต่ศาสตราจารย์ Lauriston Sharp ผู้อำนวยการหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะการศึกษาตะวันออกไกล มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (ในปี พ.ศ. 2489) ได้กล่าวถึงงานชิ้นนี้ เมื่อครั้งที่หลักสูตรฯ ได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ว่า

“...หนังสือเล่มนี้จึงเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นทีเดียวของการใช้ระเบียบวิธีทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรม (Cultural Anthropology) ในการศึกษาพิจารณา “วัฒนธรรมที่อยู่ห่างไกล” ได้เป็นผลสำเร็จ แม้ว่าข้อมูลที่ใช้ได้จะมีอยู่อย่างไม่สมบูรณ์และไม่เพียงพอ...”2

 

           ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ กล่าวถึงความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ไว้ในบทกล่าวนำว่า

“...จึงถือได้ว่าเป็นงานทางมานุษยวิทยาที่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับประเทศไทยเล่มแรก แต่ความสำคัญของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ความสามารถในการเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้แก่นักมานุษยวิทยารุ่นต่อมาเพื่อนำเอาไปเป็นรูปแบบของการศึกษาสังคมไทย..”3

 

           เนื้อหาของหนังสือแบ่งเป็น 2 ภาค ได้แก่ ภาคหนึ่ง ประกอบด้วย ประเพณีดั้งเดิม ศาสนา และวัยผู้ใหญ่ ภาคสอง ได้แก่ วัยเด็ก และลักษณะพิเศษบางประการของคนไทย

 

           ภาคหนึ่ง

           ประเพณีดั้งเดิม

           ผู้เขียนได้กล่าวถึงความเป็นมาของคนไทยว่าได้เคลื่อนย้ายลงมาจากมาณฑลทางใต้ของจีน มีการก่อตั้งราชวงศ์กษัตริย์ไทยในระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมของคนไทยที่ผู้เขียนสรุปไว้ มีหัวข้อดังต่อไปนี้

           1. กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

           กล่าวถึงความสำคัญของกษัตริย์ว่าเป็นผู้ที่ทรงไว้ซึ่งอำนาจเด็ดขาด สามารถกระทำตามความพอพระทัยของกษัตริย์ รวมถึงการใช้ภาษาชั้นสูงสำหรับกษัตริย์ การหมอบคลานเมื่อกษัตริย์ประทับอยู่ ธรรมเนียมเกี่ยวกับฝ่ายใน วันหยุดราชการซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และพระราชประเพณีในการตั้งรัชทายาท

           2. ระบบราชการ

           กล่าวถึงระบบยศถาบรรดาศักดิ์เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ยศถาบรรดาศักดิ์นี้จะเป็นเครื่องกำหนดตำแหน่งรวมถึงความมั่งคั่ง และที่ดินตามยศถาบรรดาศักดิ์

           3. ชาวบ้าน

           กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของชาวชนบทไทยที่มักอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ริมทางน้ำหรือตามป่าละเมาะ ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการประมง ในแต่ละหมู่บ้านจะมีการเลือก “ผู้ใหญ่บ้าน” ขึ้นมา และผู้ใหญ่บ้าน 10–20 หมู่บ้าน จะเลือก “กำนัน” เพื่อจัดการเรื่องราวต่าง ๆ

           ผู้เขียนยังกล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำนา การเพาะปลูก การเกณฑ์ทหาร และยังได้กล่าวถึงการที่ประเทศไทยมีจำนวนประชากรน้อย อาจสืบเนื่องมาจากนโยบายในการกวาดล้างพลเมืองของผู้ชนะสงคราม

           ประเด็นส่งท้ายในเรื่องประเพณีดั้งเดิมนี้ ผู้เขียนได้กล่าวถึงการติดต่อกับยุโรปและการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย โดยกล่าวถึงการติดต่อกับชาติตะวันตกที่เข้ามาติดต่อและได้ทิ้งทักษะบางอย่างไว้ให้ อาทิ ชาวโปรตุเกสได้สอนให้รู้จักการหล่อปืนใหญ่และปืนคาบศิลา หรือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงมีคอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นผู้ให้คำปรึกษาในด้านการค้า การเดินเรือและการมีด่านเก็บภาษี ทั้งนี้ ในด้านการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยนั้น เริ่มจากการยกเลิกประเพณีหมอบกราบที่นับว่าเป็นแบบอย่างในการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย และการปลดปล่อยทาสนับว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของประเทศ รวมถึงความทันสมัยในการฉีดวัคซีนกับประชาชนและการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยยกเลิกระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

           ศาสนา

           กล่าวถึงการนับถือพระพุทธศาสนาในสังคมไทย และ “วัด” ในพุทธศาสนานั้นมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย ซึ่งการสร้างวัดขึ้นใหม่นับว่าเป็นหนทางในการสร้างบุญกุศลที่ใหญ่ที่สุด ผู้เขียนยังให้รายละเอียดของวัดและพระสงฆ์ โดยกล่าวว่ากิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์นั้นมีเพียงการตื่นแต่เช้าตรู่ ออกบิณฑบาตร หลังจากฉันอาหารเช้าแล้วมักจะเทอาหารเหลือให้กับสุนัข และพระสงฆ์ไม่ต้องรับผิดชอบสิ่งใดนอกจากแสวงหาความรู้และไม่ได้บำเพ็ญภาวนาทั้งวัน พระสงฆ์ไม่จำเป็นต้องบวชตลอดชีวิต มีกฎในการบวชอยู่หนึ่งข้อว่า ชายไทยทุกคนเมื่ออายุครบ 20 ปีแล้วให้บวชเป็นพระ และช่วงเวลาที่บวชน้อยที่สุดก็คือ 3 เดือน

           นอกจากพระพุทธศาสนาแล้วยังได้กล่าวถึงการนับถือผีวิญญาณ ซึ่งเป็นความเชื่ออีกรูปแบบหนึ่งที่พบได้ในประเทศไทย เช่น ทางภาคเหนือของประเทศไทยผู้ที่สามารถทำพิธีไล่ผีนั้นมักได้รับช่วงอำนาจสืบกันมาทางสายตระกูล รวมถึงมีการเข้าทรงมาเกี่ยวข้องกับพิธีไล่ผีนี้อีกด้วย รวมถึงการที่คนไปเสี่ยงทายกับผีเพื่อให้ได้ตัวเลขนำโชคมาซื้อหวย

 

           วัยผู้ใหญ่

           กล่าวถึงชีวิตครอบครัวของคนไทยที่โดยเฉลี่ยนมีสมาชิก 5–6 คน มีบ้านที่สร้างด้วยไม้ไผ่ ใช้เสายกพื้น และมีรั้วรอบ มีที่นาประมาณ 20 ไร่ มีกิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการสีข้าวของสตรี การสมรสและการคลอดบุตร รวมทั้งกล่าวถึงกิจกรรมสันทนาการอย่าง “การเล่นเพลง” “ละคร” “ยี่เก” “การเล่นว่าว” และ “การเล่นพนัน”

           ในส่วนนี้ ผู้เขียนได้อภิปรายถึงลักษณะของคนไทยว่า

“...ยอมทำงานและทำอย่างสนุกสนานเท่าที่จะทำได้ เมื่อวานเสร็จก็มีอิสระที่จะใช้เวลาว่างของตน คนไทยไม่มีการสร้างวัฒนธรรมใดในการปิดกั้นตนเอง และส่วนมากมักตามใจตัวและใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานรื่นเริง...”

 

           ภาคสอง

           วัยเด็ก

           กล่าวถึงวิธีปฏิบัติในการเลี้ยงดูเด็กของคนไทยตั้งแต่เกิดจนเติบโต ทั้งเรื่องของการให้นม ให้อาหาร การหัดเดิน หัดว่ายน้ำ การใส่เครื่องประดับตกแต่งร่างกายในเด็ก การสอนให้พี่คนโตช่วยพ่อแม่ดูแลน้อง และการละเล่นของเด็กไทย ซึ่งผู้เขียนได้ให้ความคิดเห็นของตนและเทียบเคียงกับการเลี้ยงดูเด็กตามวัฒนธรรมของตะวันตกไว้เป็นบางส่วน ทั้งยังกล่าวถึงพิธีโกนจุกซึ่งนับว่าเป็นพิธีเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายสำหรับเด็ก

 

           ลักษณะพิเศษบางประการของคนไทย

           ในบทนี้ ผู้เขียนกล่าวถึงลักษณะพิเศษของคนไทย 3 ลักษณะ ได้แก่ ชีวิตที่รักความสนุกสนาน ใจเย็น และความมีอำนาจของชาย

           1. ชีวิตที่รักความสนุกสนาน

           ผู้เขียนได้กล่าวว่าคนไทยนั้นเป็นผู้ที่มีชีวิตรักความสนุกสนาน งานประเพณีต่าง ๆ ของคนไทยนั้นมักเป็นงานรื่นเริง ทำให้รู้สึกสนุกสนาน รวมถึงการ “ดื่ม” เพื่อให้เกิดความร่าเริง

           2. ใจเย็น

           ผู้เขียนกล่าวว่าคนไทยมีลักษณะนิสัย ทัศนคติและอารมณ์ที่คล้ายคลึงกับคนตะวันออกไกลและโอเชียเนียที่เรียกว่า “อารมณ์เย็น” อันหมายถึง การไม่เป็นคนช่างกังวล การดำเนินชีวิตสุขสบาย รวมทั้งหมายถึงท่าทีที่เยือกเย็นต่อการงาน ความรับผิดชอบ หรือความลำบาก

           3. ความมีอำนาจของชาย

           ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างสุภาษิตที่ใช้เปรียบเปรยความมีอำนาจของผู้ชายไว้เป็นภาษิตว่า “ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร” โดยอ้างถึงผู้ให้ข้อมูลว่า ภาษิตนี้ใช้ในการสั่งสอนหญิงเพื่อให้รักษาคุณค่า ความดีงามของตนไว้ เพราะการเปรียบหญิงเหมือนเป็นข้าวสารนั้นสามารถ “ถูกรับประทาน” ได้เพียงครั้งเดียว จากชายคนเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นการสั่งสอนที่สนับสนุนความมีอำนาจเหนือกว่าของฝ่ายชาย

           หนังสือเล่มนี้ ให้ภาพสะท้อนวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวไทยในลักษณะที่ผู้เขียนไม่เคยประสบพบเจอกับสังคมไทยด้วยตนเอง จะเห็นได้ว่า รูปแบบวัฒนธรรมที่ผู้เขียนนำเสนอนั้นเป็นเพียงส่วนย่อยของวัฒนธรรมไทย วิถีชีวิตและพฤติกรรมของคนไทย และในบางครั้งเป็นการนำเสนอมุมมองของชาวตะวันตก ที่ “นั่งมอง” วัฒนธรรมของชาวไทยด้วยมโนทัศน์ที่ว่าวัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมชนบท วัฒนธรรมเกษตรกรรมและในบางครั้งก็อาจมีความผิดพลาดของข้อมูล เช่น ชายไทยทุกคนเมื่ออายุครบ 20 ปีแล้วให้บวชเป็นพระ หรือ แต่ละครอบครัวมีที่นาประมาณ 20 ไร่

           วัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตามมุมมองของ Ruth Fulton Benedict ยังคงเป็นวัฒนธรรมที่ยึดโยงกับความหมายว่า เป็นแบบแผน เป็นสิ่งที่ดีงาม ถึงแม้ว่าข้อจำกัดในการเขียนหนังสือเล่มนี้จะเป็นเรื่องที่ผู้เขียนไม่สามารถเดินทางมาศึกษาสังคมไทยได้ด้วยตนเองและมีข้อมูลให้ใช้ได้อย่างจำกัด แต่หนังสือเล่มนี้ก็ช่วยให้เห็นมุมมองที่ “คนอื่น” มีต่อ “คนไทย” และ เป็นการศึกษามานุษยวิทยาวัฒนธรรมในประเทศไทย ผ่านวิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยาอย่างเป็นระบบ

           หนังสือเรื่องนี้รวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องมานุษยประเทศไทย พร้อมให้บริการที่ห้องสมุด
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ห้องสมุด หรือติดต่อเพื่อขอยืมหนังสือผ่านทาง Facebook Fanpage: ห้องสมุด ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร – SAC Library และ Line: @sac-library


1  คำนำผู้เขียน, หน้า (8)-(9)

2  คำนำหนังสือ โดย ลอริสตัน ชาร์ป, หน้า (13)–(14)

3  บทกล่าวนำ: หนังสือของรูธ เบเนดิกต์ โดย อานันท์ กาญจนพันธุ์, หน้า (17)


ผู้เขียน

จรรยา ยุทธพลนาวี

รักษาการผู้จัดการฝ่ายบริการสารสนเทศ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ มานุษยวิทยาประเทศไทย มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พฤติกรรมของไทย Thai Culture Behavior จรรยา ยุทธพลนาวี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share