10 พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่สืบต่องานคราฟท์จากมรดกภูมิปัญญา

 |  มรดกวัฒนธรรม และภูมิปัญญา
ผู้เข้าชม : 2756

10 พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่สืบต่องานคราฟท์จากมรดกภูมิปัญญา

“เพราะการสงวนรักษาวัตถุสิ่งของ ไม่ได้เป็นหนทางเดียวของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม”

เดวิด โลเวนทอล (Lowenthal 1985:384)

           เรามักเห็นเพียงว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือพิพิธภัณฑ์ชุมชน เป็นสถานที่เก็บรักษาและจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้พื้นบ้านในหลากหลายวัฒนธรรม จริงๆ แล้วบทบาทการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์ ไม่ได้จบแค่เก็บ-อนุรักษ์-จัดแสดงวัตถุที่จับต้องได้เพียงเท่านั้น แต่เลยไปถึงการส่งเสริม สืบทอด ต่อยอด ความรู้ที่แฝงอยู่ในวัตถุ ส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป

           เราอยากชวนมาทำความรู้จักงานคราฟท์จากพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่ได้รับการสืบสานและฟื้นฟูให้มีชีวิตชีวาในหลากหลายรูปแบบ เป็นการเปิดมุมมองใหม่ต่อพิพิธภัณฑ์ในศตวรรษที่ 21 ในฐานะพื้นที่ทางสังคมที่สงวนรักษามรดกวัฒนธรรมทั้ง “สิ่งของ” ที่จับต้องได้ และ “ความรู้” ที่จับต้องไม่ได้ ในงานช่างฝีมืออันเป็นภูมิปัญญาบรรพชนที่ส่งทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

           -1-

           ผ้าขาวม้าตาจัก

           พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองขาว จ.กาญจนบุรี

           การเยี่ยมชมการผลิตผ้าขาวม้าในชุมชนกลายเป็นจุดแวะที่พลาดไม่ได้ หากมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหนองขาว ผ้าขาวม้าตาจัก บ้านหนองขาว อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เป็นภูมิปัญญาที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากความเชื่อและศรัทธาของผู้หญิงที่มีต่อคนที่ตนรักและนับถือ เป็นผ้าที่จะทอเป็นพิเศษให้ผู้ชายและสมาชิกในครอบครัว ใช้สำหรับพาดบ่าไปวัดหรือไปงานสำคัญ ใช้ในพิธีบวชนาค เป็นชุดของทิดสึกใหม่ ใช้เป็นเครื่องแต่งตัวของเจ้าบ่าวที่ฝ่ายหญิงทอให้ และใช้ตกแต่งห้องหอในวันแต่งงาน เรียกได้ว่ามีบทบาทสำคัญกับวิถีชีวิตของคนบ้านหนองขาว

           ผ้าขาวม้าตาจัก เป็นลายเอกลักษณ์ดั้งเดิมของหนองขาว ลักษณะการทอเป็นการเพิ่มลวดลายคั่นกลางตาผ้าและตาจักทุกตา ด้วยการทอเอ็นคั่นกลางตาในแนวยืน และทอยกลายคั่นกลางตาในแนวพุ่ง ลวดลายเรียงร้อยล้อกันไปทุกตาตลอดผืนผ้า ทำให้มีสีสันสดเป็นมันวาวดูคล้ายผ้าไหม

           ปัจจุบันผ้าขาวม้าบ้านหนองขาวได้รับความนิยมแพร่หลาย กลายเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญที่สร้างรายได้ในชุมชน มีศูนย์ทอผ้าในชุมชนเพื่อผลิตและจำหน่าย ทั้งผ้าผืนแบบดั้งเดิม และผลิตภัณฑ์แปรรูป

           อ่านข้อมูลพิพิธภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่นี่

           https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/355

 

           -2-

           เย็บ-ปัก-ปะ ดอกหน้าหมอนในแบบคนไทยทรงดำ

           พิพิธภัณฑ์ปานถนอม จ.เพชรบุรี

           การทำหมอนถือเป็นงานฝีมือที่สำคัญของหญิงไทยดำในอดีต นอกจากจะทำขึ้นเพื่อใช้งานในบ้านเรือนเป็นปกติแล้ว ยังเป็นการทำเตรียมไว้สำหรับเป็นเครื่องเรือนของตนหลังจากแต่งงานแล้วด้วย

           หมอนของชาวไทยดำ มีลักษณะเป็นท่อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า จุดเด่นอยู่ที่ปลายหมอนทั้งสองข้างจะมีลายเย็บปักปะผ้าอย่างสวยงาม สีที่คนไทยทำใช้มี 5 สีหลักได้แก่ แดง ส้ม (เหลืองหมากสุก) ขาว เขียว และดำ ส่วนลวดลายบนผืนผ้าล้วนมีความหมาย เป็นการสื่อความถึงคติความเชื่อวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน

           เช่น ลายดอกแปด เป็นลายที่เกิดจากจินตนาการของบรรพบุรุษไทยดำ โดยการอัญเชิญแถนแปดองค์มาประดิษฐ์ลายผ้า ประกอบด้วย แถนหลวง แถนสิง แถนแนน แถนชาด แถนบัวก่าล่าวี แถนแม่นาง แถนนุ่งขาว และแถนบุญ ยามมีชีวิตอยู่ ผู้ใดแต่งกายด้วยเสื้อผ้าลายดอกแปดจะได้รับการคุ้มครองจากแถน และถ้าเสียชีวิต แถนก็จะปกป้องดูแลวิญญาณของคนผู้นั้น

           ปัจจุบันการทำลายหน้าหมอนได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ขยายวงไปสู่กลุ่มแม่บ้านเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชน สำคัญคือเมื่อยิ่งมีคนสืบสานการทำหมอนมากขึ้น ลวดลายใหม่ๆ ก็ถูกคิดค้นประดิษฐ์มากขึ้นตามไปด้วย

           อ่านรายละเอียดพิพิธภัณฑ์ได้ที่นี่

           https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/424

           อ่านรายละเอียดลายหน้าหมอนได้ที่นี่

           https://www.sac.or.th/databases/traditional-objects/th/equipment-detail.php?ob_id=220

 

           -3-

           ย่ามจก ยกมุก

           ศูนย์ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าและสิ่งถักทอไทยวน สระบุรี

     

           คนยวนที่อำเภอเส้าไห้ จังหวัดสระบุรี อพยพย้ายถิ่นฐานจากเมืองเชียงแสนมาเมื่อเกือบสองร้อยปีที่แล้ว ผ้าทอเป็นงานฝีมือที่คนเชื้อสายไทยวนสืบต่อกันมากจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วลูกหลานชาวยวนในนาม “ศูนย์ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าและสิ่งถักทอไทยวน สระบุรี” ได้พยายามฟื้นฟูและสืบต่อภูมิปัญญาการทอผ้าของคนยวนสระบุรีที่เกือบสูญหายไปจากชุมชน จากแม่เฒ่าอายุเกือบร้อยปี

           ภูมิปัญญาการทอจก ยกมุก เป็นเทคนิคอัตลักษณ์ของคนไทยวนสระบุรี ทางศูนย์ฯ อนุรักษ์การทอลวดลายแบบโบราณ และต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เช่น ย่าม รูปทรงแบบโบราณตามย่ามเก่าคือ ท้องกว้าง ขาสั้น ให้สีสันที่เข้ากับรสนิยมของคนยุคปัจจุบัน

           ย่ามหรือโถงของคนยวน มีลักษณะแตกต่างไปตามการใช้งาน เช่น โถงมุก ใช้วิธีทอ ยกมก คนยวนสระบุรีนิยมใช้โถงมุกกันมาก เป็นผ้าที่มีอัตลักษณ์ไม่เหมือนใคร, โถงเป๋อ สำหรับใส่ของใช้ไปสวนไปนา, โถงดำด้านเก็บปาก เป็นโถงที่มีสีเดียว มักเป็นสีดำหรือน้ำเงิน เก็บปากด้วยการจก เป็นลวดลาย

           อ่านรายละเอียดพิพิธภัณฑ์ได้ที่นี่

           https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1578

 

           -4-

           เบ้าขนมก้อ

           พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านตำบลตะโล๊ะหะลอ จ.ยะลา

           "ขนมก้อ" หรือ "ตือปงปูตู" ขนมพื้นบ้านของชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนคือ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ใช้ในพิธีกรรมตามคติพราหมณ์-ฮินดู เบ้าสำหรับทำขนมก้อมีรูปร่างและลวดลายสวยงามแตกต่างกันไป เช่น รูปเขาพระสุเมรุ รูปปลา รูปกลม ภายใต้รูปลักษณ์มีความเชื่อที่แฝงอยู่ว่า การทำขนมก้อรูปเขาพระสุเมรุเป็นการอัญเชิญเทวดาให้มาสถิตในพิธีกรรมที่เป็นมงคล เช่น เข้าสุหนัต งานแต่งงาน

           เบ้าขนมก้อโบราณที่งดงาม ไม่ได้แค่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ตะโล๊ะหะลอ หากแต่เป็นแรงบันดาลใจให้พิพิธภัณฑ์ทำขึ้นใหม่ เลียนแบบเบ้าขนมรูปเขาพระสุเมรุอันเก่าที่เคยมีใช้ในชุมชนแต่เจ้าของเดิมขายไปแล้ว เบ้าขนมก้ออันใหม่นี้ทำขึ้นเพื่อเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ และให้กลุ่มแม่บ้านตะโล๊ะหะลอใช้ประโยชน์ เมื่อต้องการทำขนม หรือคนในชุมชนแต่งงานก็สามารถขอยืมเบ้าขนมก้อนี้ไปใช้ได้ นอกจากนี้ยังต่อยอดทำเบ้าขนมก้อรูปทรงอื่นๆ เช่น นกเงือก นกยูง หัวม้า หัวช้าง ไดโนเสาร์ ดอกชบา ฯลฯ

           ขนมก้อของกลุ่มแม่บ้านตะโล๊ะหะลอนอกจากรสชาติอร่อยแล้ว ยังมีรูปทรงสวยงามเป็นเอกลักษณ์ อันมีฝีมือช่างที่สืบสานงานฝีมือของท้องถิ่นไว้อย่างน่าประทับใจ ต่างจากขนมก้อก้อนกลมๆ ที่วางขายทั่วไปในตลาด จึงมักมีคนมาสั่งขนมของกลุ่มแม่บ้านไปใช้ในงานมงคลเสมอ

           อ่านรายละเอียดพิพิธภัณฑที่นี่

           https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1142

           อ่านรายละเอียดเบ้าขนมก้อได้ที่นี่

           https://www.sac.or.th/databases/traditional-objects/th/equipment-detail.php?ob_id=83

 

           -5-

           ลวดลายพื้นถิ่นแห่งเมืองลังกาสุกะ

           พิพิธภัณฑ์ขุนละหาร จ.นราธิวาส

     

           พิพิธภัณฑ์ขุนละหาร สะสมลวดลายที่ปรากฏบนงานศิลปะพื้นบ้านต่างๆ เช่น ลวดลายของช่องลม ลายเครือเถาบนบานประตูและหน้าต่าง ลวดลายของเรือกอและ ไว้มากกว่า 200 ลาย และตั้งใจว่าไม่อยากให้ลวดลายเหล่านี้จัดแสดงอยู่แต่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ทำอย่างไร ภูมิปัญญาเก่าๆ ในชุมชนจึงจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน นำไปสู่การเปิดพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่เวิร์คช้อป สอนวาดลวดลายพื้นถิ่นที่มีความหมายแฝงอยู่ทั้งสิ้น เช่น ลวดลายดอกลังกาสุกะ ที่เชื่อกันว่าหากเขียนหรือแกะสลักลวดลายนี้บนไม้หรือหิน จะเป็นมงคลแก่ผู้ครอบครอง เช่น แกะบนหัวกริช แม่พิมพ์ขนมก้อ กรงนก บันได

           ลวดลายที่มีความหมาย ประกอบกับสีสันที่สดใสแบบฉบับชาวใต้ พิพิธภัณฑ์ได้ต่อยอดวาดลงบนผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยอื่นๆ เช่น โต๊ะ บานประตู กรอบหน้าต่าง โคมไฟ นอกจากจะฝึกฝีมือช่างรุ่นใหม่ในการเขียนลวดลายโบราณแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

           อ่านรายละเอียดพิพิธภัณฑ์ได้ที่นี่

           https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1246

 

           -6-

           ชุดตุ๊กตาบาร์บี้ผ้าพิมพ์ลายโบราณ

           พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ จ.แพร่

           เมื่อผู้ใหญ่มาชมพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ จะซาบซึ้งกับผ้าโบราณที่พิพิธภัณฑ์จัดแสดง แต่เด็กๆ มักไม่ค่อยสนใจ พิพิธภัณฑ์จึงสร้างสรรค์ชุดตุ๊กตาบาร์บี้ที่ทำจากผ้าพิมพ์ขึ้นเพื่อสร้างจุดสังเกตจุดจดจำใหม่ๆ ให้กับผู้ชม โดยเฉพาะเด็กๆ จะรู้สึกสนุกและเข้าใจในเรื่องราวที่พิพิธภัณฑ์นำเสนอ

           ลวดลายโบราณของผ้าซิ่นที่อยู่บนร่างตุ๊กตา เป็นลวดลายจริงและมีสัดส่วนเท่ากับของจริง ถือเป็นงานทดลองของพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพผ้าโบราณด้วยกล้องดิจิทัล จากนั้นนำภาพมาพิมพ์ลงบนผ้าขาว ปรับแต่งให้ได้ขนาดและสัดส่วนเท่าของจริง

           พิพิธภัณฑ์มองเลยไปว่า วิธีการนี้เป็นการเก็บสำเนาลายผ้าโบราณไปด้วยในตัว ในอนาคตจะสามารถนำลวดลายที่เก็บไว้ กลับมาผลิตซ้ำได้เรื่อยๆ ทั้งด้วยวิธีการทอแบบดั้งเดิม รวมไปถึงประยุกต์ด้วยวิธีพิมพ์ลงบนผืนผ้าขาว ซึ่งอยู่ในระหว่างการทดลอง

           อ่านรายละเอียดพิพิธภัณฑ์ได้ที่นี่

           https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/740

 

           -7-

           แม่พิมพ์พระโคนสมอ งานคราฟท์ในวัด

           พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก จ.นนทบุรี

           แม่พิมพ์พระโคนสมอ สร้างโดยพระครูไพศาลภัทรกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดชมภูเวกองค์ก่อน พระโคนสมอเป็นพระพิมพ์สมัยอยุธยา มีความงามกว่าพระพิมพ์อื่นๆ นิยมนำพระพิมพ์นี้ไปติดบนแผงที่จำหลักลายลงรักปิดทองอย่างสวยงาม ซึ่งมีจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก

           การทำพระโคนสมอสูญหายจากวัดและชุมชนไปนาน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งพุทธศิลป์ และฟื้นฟูภูมิปัญญาดั้งเดิมของวัดชมภูเวก เมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ทางวัดจึงได้นำแม่พิมพ์พระโคนสมอนี้มาใช้สร้างพระพิมพ์ดินเผาที่สวยงามอีกครั้ง จำนวน 84,000 องค์ เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ในพระไตรปิฎก และพยายามจะสืบทอดให้การทำพระพิมพ์ดินเผาคงอยู่กับวัดและชุมชนต่อไป

           อ่านรายละเอียดพิพิธภัณฑ์ได้ที่นี่

           https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1457

 

           -8-

           เครื่องกระดาษ และของใช้ไหว้เจ้า

           บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเมืองเจริญไชย

     

           บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเมืองเจริญไชย ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 21 ย่านเยาวราช รอบๆ ชุมชนแวดล้อมไปด้วยวัดและศาลเจ้าสำคัญที่คนจีนนิยมมากราบไหว้บูชา คือ วัดเล่งเน่ยยี่ ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี้ยะ ศาลเจ้าไต้ฮงกง ศาลเจ้ากว๋องสิว

           ชุมชนเจริญไชยจึงกลายเป็นแหล่งค้าเครื่องกระดาษและของไหว้เจ้าที่มีขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดในประเทศไทย สินค้าที่จำหน่ายล้วนแต่เป็นงานฝีมือ อาทิ กระดาษเงินกระดาษทองพับเป็นรูปผลไม้และดอกไม้ต่างๆ ซึ่งเป็นฝีมือช่างดั้งเดิมที่หาจากร้านค้ากระดาษไหว้เจ้าในแหล่งอื่นไม่ได้อีกแล้ว

           “กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเจริญไชย” ก่อตั้งขึ้นและใช้บ้านเก่าเล่าเรื่อง เป็นพื้นที่ทำกิจกรรม มีเป้าหมายทั้งฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชน งานช่างฝีมือ และประเพณีหลายอย่าง เช่น ประเพณีไหว้พระจันทร์ และเพื่อต่อสู้ในเชิงวัฒนธรรม ในห้วงเวลาที่พื้นที่ส่วนหนึ่งของชุมชนถูกเวนคืนและไม่ต่อสัญญาอันเนื่องมาจากการสร้างสถานีรถไฟฟ้าวัดมังกร

           อ่านรายละเอียดพิพิธภัณฑ์

           https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/38

 

           -9-

           สไบมอญ

           ศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไทยรามัญเจ็ดริ้ว จ.สมุทรสาคร

     

           ผ้าสไบมอญหรือที่ชาวมอญเจ็ดริ้วเรียกว่า “หญาดฮะเหริ่มโตะ” คนเจ็ดริ้วสันนิษฐานว่าที่เรียกเช่นนั้นน่าจะเป็นความหมายของผ้าที่มีลวดลายพัฒนามาจากลายของโตก ลายที่ใช้แต่เดิมเป็นลายดาวล้อมเดือน ลายดอกมะเขือ ปัจจุบันพัฒนาลวดลายหลากหลายมากขึ้น และประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย เช่น ลายดอกไม้ต่างๆ ดอกกุหลาบ ดอกลิลลี่ กล้วยไม้ ผึ้ง ส่วนริมผ้าจะใช้วิธีการสอยเก็บริมผ้า เน้นด้ายที่มีสีสันสดใส

           ผ้าสไบเป็นเครื่องแต่งกายชิ้นสำคัญของคนมอญที่ขาดไม่ได้ ใช้ทั้งในงานมงคลและอวมงคล เคยมีคนเฒ่าคนแก่ที่เป็นมอญเจ็ดริ้วกล่าวว่า หากผู้ใดไปวัดแล้วไม่ห่มสไบ เหมือนควายที่ไม่มีเขา

           ปัจจุบันผ้าสไบได้รับการรื้อฟื้นให้กลับมาใช้งานอย่างแพร่หลายอีกครั้ง และได้ส่งต่อความรู้ในการทำอย่างแพร่หลาย หนึ่งในนั้นคือเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดเจ็ดริ้ว ที่เรียนรู้และต่อยอด นำผลงานส่งประกวดจนได้รับรางวัล ปัจจุบันลวดลายสไบมอญได้วิวัฒน์ไปตามจินตนาการของผู้ทำ แต่ยังคงไว้ซึ่งลายปักที่อ่อนช้อยงดงาม

           อ่านรายละเอียพิพิธภัณฑ์ได้ที่นี่

           https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1563

 

           -10-

           ผ้าลูกแก้วลายปลาเสือตอ

           พิพิธภัณฑ์จันเสน จ.นครสวรรค์

     

           ผ้าลายปลาเสือตอเป็นผ้าที่ได้จากการทอผ้าของคุณรัตนา เตยสันเที๊ยะ หนึ่งในกลุ่มของสมาชิกกลุ่มสตรีทอผ้าจันเสน ได้นำหมี่ลายดอกแก้วมาทอสลับกับด้ายพุ่งสีฟ้าบนด้ายยืนสีม่วง 4:4 เส้น สอดดิ้นสีฟ้าสลับกันไป ทำให้เกิดลายผ้าขึ้นมาใหม่ ลายนี้เหมือนกับปลากำลังโบกครีบหางแหวกว่ายน้ำเหมือนกับปลาเสือตอ ได้รับคัดเลือกจากจังหวัดนครสวรรค์ให้เป็นผ้าพื้นเมืองประจำจังหวัดนครสวรรค์

           กลุ่มสตรีทอผ้าด้วยกี่กระตุก เกิดจากดำริของท่านเจ้าอาวาสวัดจันเสน ต้องการให้คนในชุมชนมีรายได้เสริม และผลิตสินค้าชุมชนขายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ด้วย โดยทางกลุ่มได้คิดค้นลายผ้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของชุมชน เช่น ลายปลาเสือตอ ลายจันทวา ลายผักกูด นอกจากนี้ยังนำผ้ามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อสำเร็จรูป กล่องทิชชู่ ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋า

           ไม่เพียงแต่ผลทางเศรษฐกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความใกล้ชิดที่ผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยเหลือกันในการทำงาน เกิดค่านิยมในหมู่บ้านว่า หากใครพอมีเวลาวก็จะมาช่วยเหลืองานวัดและพิพิธภัณฑ์

           อ่านรายละเอียดพิพิธภัณฑ์ได้ที่นี่

           https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/233

 

อ้างอิง

จุฑามาศ ลิ้มรัตนพันธุ์, 2555. “ผ้าพิมพ์ลายโบราณกับชุดตุ๊กตา.” ใน ภูมิรู้สู้วิกฤต เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ตีพะลี อะตะบู และรุ้งตะวัน อ่วมอินทร์, 2559. “เบ้าตือปงปูตู ที่พิพิธภัณฑ์ตะโล๊ะหะลอ จ.ยะลา.” ใน Re-collection ย้อนทวนความหมายของ(ไม่)ธรรมดา เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์, 2561. มรดกวัฒนธรรมที่ไม่เป็นกายภาพกับพิพิธภัณฑ์: มุมมองใหม่ในการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์, 2555. “บ้านเก่าเล่าเรื่อง ชุมชนเจริญไชย.” ใน ภูมิรู้สู้วิกฤต เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

พยุง ใบแย้ม และนวลพรรณ บุญธรรม, 2559. “ผ้าขาวม้าของคนหนองขาว.” ใน Re-collection ย้อนทวนความหมายของ(ไม่)ธรรมดา เล่ม 2. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

พิศาล บุญผูก และวีระชาติ ปั้นทอง 2562. พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดชมภูเวก. นนทบุรี: สำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2565. ฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน. https://www.sac.or.th/databases/traditional-objects/th/index.php (เข้าถึง 17 มีนาคม 2565).

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2565. ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย. https://db.sac.or.th/museum/ (เข้าถึง 17 มีนาคม 2565).


ผู้เขียน

ปณิตา สระวาสี

นักวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)


 

ป้ายกำกับ เทศกาลพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น งานคราฟท์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ปณิตา สระวาสี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Share